Nepenthes rajah
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนี้มีชื่อบทความเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีชื่อสามัญเป็นภาษาไทย |
Nepenthes rajah | |
---|---|
หม้อล่างขนาดใหญ่ของ Nepenthes rajah บนยอดเขากีนาบาลู เกาะบอร์เนียว | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Caryophyllales |
วงศ์: | Nepenthaceae |
สกุล: | Nepenthes |
สปีชีส์: | N. rajah |
ชื่อทวินาม | |
Nepenthes rajah Hook.f. (1859) | |
จุดสีเขียวแสดงถึงการกระจายพันธุ์ของ Nepenths rajah บนเกาะบอร์เนียว | |
ชื่อพ้อง | |
|
Nepenthes rajah (มลายู: rajah, ราชา) เป็นพืชกินสัตว์ชนิดหนึ่งในวงศ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นพืชถิ่นเดียวที่พบได้ในภูเขากีนาบาลูและภูเขาทามบูยูกอนที่ใกล้กันในรัฐซาบะฮ์ ประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว[2] N. rajah ขึ้นบนดินแบบเซอร์เพนทีน ร่วน และชื้น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 – 2,650 เมตร N. rajah ได้รับการจัดเป็นพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยโดย IUCN และอยู่ในบัญชีที่ 1 ของ ไซเตส
N. rajah ถูกพบครั้งแรกโดยฮักฮ์ โลว (Hugh Low) บนภูเขากีนาบาลูในปี ค.ศ. 1858 และถูกจัดจำแนกลักษณะในปีนั้นเองโดยโยเซพ ดาลตัน ฮุคเกอร์และตั้งชื่อตามเจมส์ บรุค คนขาวคนแรกที่ได้ปกครองรัฐซาราวัก (White Rajah) ฮุคเกอร์เรียกมันว่า "พืชที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา"[3] ตั้งแต่ถูกค้นพบจนเริ่มมีการปลูกเลี้ยงในปี ค.ศ. 1881 เป็นเวลายาวนานที่ N. rajah เป็นที่ต้องการอย่างมาก เป็นพืชที่ไม่ค่อยได้เห็นนักในนักสะสมทั่วไปเพราะหายาก มีราคาแพง และต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จนกระทั่งมีเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ราคาของ N. rajah จึงลดลงมาอย่างมาก ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เลี้ยง
N. rajah มีหม้อที่ใหญ่มาก สูงได้ถึง 35 เซนติเมตร กว้าง 18 เซนติเมตร[4] ซึ่งสามารถจุน้ำได้ถึง 3.5 ลิตร[5] และมีน้ำย่อยถึง 2.5 ลิตร ทำให้มันอาจเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ใหญ่ที่สุดในสกุล ส่วนลักษณะอื่น ๆ ของ N. rajah ไม่ว่าจะเป็นใบ สายดิ่ง ก็พบได้น้อยมากในชนิดอื่น ๆ
มีการพบซากสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในหม้อของ N. rajah (มีการยืนยันว่าพบหนูตกลงไปในหม้อของ N. rajah[6]) มันเป็น 1 ใน 2 ชนิดของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่มีรายการว่าสามารถดักจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ตามธรรมชาติ ซึ่งอีกชนิดหนึ่งก็คือ N. rafflesiana นอกจากนี้ยังมีสัตว์มีกระดูกสันหลัง รวมถึงกบ สัตว์เลื้อยคลาน และนกบางชนิด แต่โดยปกติแล้วอาหารของมันก็คือแมลงและมด
ถึงแม้หม้อข้าวหม้อแกงลิงจะดักและกินสัตว์หลายชนิดก็ตาม แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่ได้รับประโยชน์ซึ่งเป็นการพึ่งพากันทั้ง 2 ฝ่าย เหมือนเป็นสัญลักษณ์พิเศษประจำต้นไม้ และเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในที่อื่นได้ เรียกว่า nepenthebionts (สิ่งมีชีวิตที่อาศัยหม้อข้าวหม้อแกงลิง) ในส่วนของ N. rajah เองก็มีลูกน้ำ 2 ชนิดที่อาศัยอยู่ และได้ชื่อวิทยาศาสตร์ตามมันว่า: Culex rajah และ Toxorhynchites rajah
ลูกผสมตามธรรมชาติของ N. rajah กับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นในป่าสามารถแยกออกจากกันได้ง่ายมาก เพราะลูกผสมที่พบบนภูเขากีนาบาลู (ยกเว้น N. lowii) จะโตช้าเหมือน N. rajah ซึ่งไม่มีชนิดไหนคล้ายกับมันในตอนนี้
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]1ฮุคเกอร์ได้จัดจำแนก N. rajah เป็นสปีชีส์ในปี ค.ศ. 1859 และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์ เจมส์ บรุค คนผิวขาวคนแรกที่ได้ปกครองรัฐซาราวัก : (White Rajah) [7] คำว่า rajah ในภาษามลายูแปลว่า "ราชา" ในอดีต ชื่อของ N. rajah เขียนว่า Nepenthes Rajah[3][8][9][10][11] ซึ่งเป็นการเขียนที่ผิดหลักเกณฑ์ (ที่ถูกต้องคือ Nepenthes rajah) [12] บางครั้ง N. rajah ก็ถูกเรียกว่า Giant Malaysian Pitcher Plant (หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์แห่งมาเลเซีย) [13] หรือ Giant Pitcher Plant (หม้อข้าวหม้อแกงลิงยักษ์)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]Nepenthes rajah เป็นไม้เลื้อยเหมือนกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นในสกุล ลำต้นทอดยาวไปบนดิน และจะยึดเกี่ยวเพื่อดึงตัวสูงขึ้น เมื่อเจอวัตถุที่สามารถค้ำจุนมันได้ ลำต้นหนา (≤30 มิลลิเมตร) ยาวประมาณ 3 เมตร และอาจยาวได้ถึง 6 เมตร[15] N. rajah ไม่สร้างไหลเหมือนหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น แต่จะแตกกอแทน เมื่อมีอายุมากขึ้น
ใบ
[แก้]ใบถูกสร้างขึ้นมาตลอดลำต้นด้วยระยะห่างที่เท่า ๆ กัน และยึดติดกับลำต้นไว้ด้วยก้านใบที่ยาวลู่ไปตามใบจรดสายดิ่ง ปลายสายดิ่งจะมีตุ่มนิ่ม ๆ เล็ก ๆ เมื่อถูกกระตุ้นทางสรีรวิทยาก็จะพัฒนาจนกลายเป็นกับดัก ด้วยเหตุนี้หม้อนั้นพัฒนามาจากใบไม่ใช่ดอกอย่างที่เข้าใจกัน แผ่นใบมีสีเขียวเหมือนกับใบไม้ทั่วไป
ใบของ N. rajah มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เหมือนหนัง ขอบใบพริ้วเป็นคลื่น มีลักษณะคล้ายโล่ตรงบริเวณสายดิ่งเชื่อมต่อกับข้างใต้แผ่นใบ ก่อนที่จะถึงปลายใบ ลักษณะนี้พบใน N. rajah เด่นชัดกว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น และยังพบใน N. clipeata อีกด้วย อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่ลักษณะเฉพาะที่พบใน 2 ชนิดนี้เท่านั้น ในหม้อข้าวหม้อแกงลิงหลาย ๆ ชนิดที่โตเต็มที่ก็จะแสดงลักษณะนี้ออกมาเหมือนกันเพียงแต่ไม่เด่นชัดเท่า ๆ นั้น สายดิ่งจะเชื่อมต่อตรงจุดห่างจากปลายใบประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50 เซนติเมตร[14] มีเส้นใบ 3 - 5 ยาวขนานตามยาวไปกับแผ่นใบและเส้นใบย่อยยาวไปจรดขอบใบ ใบเป็นรูปหอกยาวประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร
หม้อ
[แก้]หม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงทุกชนิดมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันคือประกอบได้ด้วยตัวหม้อ มีฝาหม้ออยู่ด้านบนที่คอยป้องกันน้ำฝนตกลงไปเจือจางของเหลวในหม้อ มีวงแข็งเป็นมัน หรือที่เรียกว่าเพอริสโตมล้อมรอบทางเข้าไปสู่ตัวหม้อ (ยกเว้นหม้อบนของ N. inermis ที่ไม่มี) มีปีกเป็นคู่ยาวไปตลอดด้านหน้าหม้อของหม้อล่างสันนิษฐานว่าไว้ให้แมลงไต่จากพื้นมาสู่ปากหม้อ แต่ปีกจะลดขนาดลงหรือหายไปเมื่อกลายเป็นหม้อบน สำหรับแมลงที่บินได้ที่เป็นเหยื่อหลักของหม้อบน
N. rajah ก็เหมือนกับชนิดอื่น ๆ ในสกุล ที่ผลิตหม้อขึ้นมา 2 ชนิด หม้อล่างโดยทั่วไปมีขนาดใหญ่ มีสีสันมากกว่าหม้อบน เป็นรูปไข่ ในหม้อล่างสายดิ่งจะอยู่ด้านหน้าของหม้อด้านเดียวกับปากและปีก จากตัวอย่างที่เก็บได้หม้ออาจมีขนาดสูงถึง 40 เซนติเมตร สามารถจุน้ำได้ถึง 3.5 ลิตร[5] และภายในบรรจุไปด้วยน้ำย่อยถึง 2.5 ลิตร แม้ว่าโดยสว่นมากแล้วจะมีไม่เกิน 200 มิลลิลิตร[16] N. rajah อาจมีหม้อล่างใหญ่ที่สุดในสกุล คู่แข่งของมันก็เห็นจะมีเพียง N. merrilliana, N. truncata และ N. rafflesiana ไจแอนท์ฟอร์มเท่านั้น หม้อจะพบวางเอนกอยู่บนพื้นไม่ก็อยู่รอบ ๆ วัตถุที่สามารถค้ำยันมันไว้ได้ สีภายนอกของมันมีสีแดงถึงม่วง ส่วนภายในมีสีเขียวมะนาวถึงม่วง ตัดกับส่วนอื่นของต้นที่มีสีเขียวเหลือง หม้อล่างของ N. rajah สามารถแยกจากหม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นบนเกาะบอร์เนียวได้ง่าย[17]
เมื่อต้นโตเต็มที่ก็จะสร้างหม้อบน ที่เล็กกว่ารูปกรวยและสีสันน้อยกว่าหม้อล่าง สายดิ่งจะอยู่ด้านหลังของหม้อ หม้อบนที่แท้จริงควรเป็นเช่นนั้น แต่หม้อบนของ N. rajah กลับไม่ค่อยได้เห็นนัก เพราะลำต้นของมันไม่เคยยาวเกิน 1-2 เมตร ก่อนจะแห้งและกลายเป็นรากให้หน่อใหม่ที่แตกขึ้นมา[18]
เป็นเพราะหม้อล่างและหม้อบนมีความแตกต่างทางด้านรูปร่างลักษณะ ตามความสามารถที่ดึงดูดและจับเหยื่อต่างชนิดกัน มันจึงไม่มีหม้อกลาง
เพอริสโตมของ N. rajah มีลักษณะพิเศษเป็นจักกว้างที่ขอบ มีแดงดึงดูดใจ มีสันแคบสั้นบนเพอริสโตม มีฟันที่ปลายที่ขอบเส้นด้านในตลอดรอบปาก ปีกทั้งคู่ยาวจากสายดิ่งไปสุดใต้ปาก
ฝาหม้อของ N. rajah มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล ซึ่งเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของชนิดนี้ มีรูปไข่และมีสันหนาคล้ายกระดูกงูเรือผ่าตรงกลางยาวตลอดฝา มีเดือยเดี่ยวยื่นออกมาด้านหลังฝายาวประมาณ 20 มิลลิเมตร[4]
N. rajah มีต่อมน้ำหวานขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ทั่วทั้งหม้อ ซึ่งต่างจากชนิดอื่น ๆ ทำให้ง่ายต่อการจดจำ ในผิวของหม้อ จะมีต่อมทั้งหมดอยู่ 300 - 800 ต่อม/ตารางเซนติเมตร[11]
ดอก
[แก้]เราสามารถจะเห็นดอกของ N. rajah ได้ตลอดทั้งปี ดอกจำนวนมากจะถูกสร้างขึ้นบนช่อดอกที่เกิดจากบริเวณส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกนั้นจะมีขนาดประมาณ 80 - 120 เซนติเมตร[4][5] แต่ละดอกของ N. rajah จะอยู่บนก้านดอกย่อย (ก้านคู่) หรือเป็นช่อดอกที่เรียกว่า "ช่อกระจะ" (ตรงข้ามกับช่อแยกแขนงที่มีก้านดอกย่อยหลายดอก) สีเหลืองออกน้ำตาล มีกลิ่นหอมแรง กลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ถึงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและยาวน้อยกว่า 8 มิลลิเมตร[4] N. rajah มีดอกแบบดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นเหมือนหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น ฝักมีสีน้ำตาลส้ม ยาว 10 - 20 มิลลิเมตร (ดูรูป)
ลักษณะอื่น ๆ
[แก้]- ระบบรากของ N. rajah จะยาวและแผ่ขยายออกไปกว้างมาก แม้ว่ามันจะเป็นระบบรากที่ตื้นเหมือนหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น ๆ ก็ตาม
- ทุกส่วนของจะพบขนสีขาวเมื่อต้นไม้ยังมีอายุน้อย แต่ขนเหล่านี้จะหายไปและเปลี่ยนเป็นขนแข็ง (indumentum) แทน
- สีของหม้อที่แห้งหรือตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์พืชที่เก็บมาจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม (ดูรูป).
- มีความแตกต่างน้อยมากในจำนวนประชาการของ Nepenthes rajah ตามธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีรูปแบบหรือความหลากหลายอื่น ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ ยิ่งไปกว่านั้น N. rajah ยังไม่มีชื่อพ้อง[19]ไม่เหมือนกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากกว่า
เหยื่อ
[แก้]Nepenthes rajah เป็นพืชกินสัตว์ที่มีเหยื่อหลายประเภท บางครั้งก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก มีการบันทึกไว้อย่างน้อย 2 ครั้งที่พบหนูตกลงไปในหม้อ ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1862 โดยสเพนเซอร์ เซนต์ จอห์น (Spenser St. John) ผู้ติดตามของฮักฮ์ โลวในการปีนขึ้นยอดเขากีนาบาลูทั้ง 2 ครั้ง[20] และในปี ค.ศ. 1988 แอนเทีย ฟิลลิปซ์ (Anthea Phillipps) และ แอนโทนี แลมบ์ (Anthony Lamb) ได้ยืนยันสิ่งที่ถูกบันทึกไว้นี้อีกครั้งด้วยการพบซากหนูอยู่ในหม้อขนาดใหญ่ของ N. rajah[6][20] ทำให้ N. rajah เป็นที่รู้กันดีว่าบางครั้งมันสามารถดักเหยื่อที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กได้ รวมถึงกบ สัตว์เลื้อยคลาน และ นกบางชนิด สัตว์พวกนี้ที่ตกลงไปในกับดักน่าจะเป็นสัตว์ป่วย หาที่หลบภัย หรือกระหายน้ำจนมาดื่มน้ำจากในหม้อของ N. rajah และแน่ใจได้ว่าร่างกายของสัตว์เหล่านั้นคงไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ปกติ[21] แต่แมลงและมดต่างหากที่เป็นเหยื่อหลักของมัน[16] สัตว์ขาปล้องอื่น ๆ เช่น ตะขาบก็มีรายงานว่าพบซากในหม้อของ N. rajah ด้วย
N. rafflesiana เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นเพียงชนิดเดียวที่มีเอกสารยืนยันว่าสามารถจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติเป็นอาหารได้ ในบรูไนมีการพบซากกบ ตุ๊กแก และ จิ้งเหลนในหม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้เหมือนกัน[22][21] แม้แต่หนูก็เคยมีรายงานบันทึกไว้[23] ในวันที่ 29 กันยายน ปี ค.ศ. 2006 ที่ Jardin botanique de Lyon (สวนพฤกษศาสตร์แห่งเมืองลียง) ในประเทศฝรั่งเศสได้พบว่า N. truncata ที่ได้เลี้ยงไว้ มีหนูที่กำลังเน่าอืดอยู่ในหม้อ ซึ่งมีรูปถ่ายยืนยัน[24]
ผลกระทบซึ่งกันและกันกับสัตว์
[แก้]สัตว์อิงอาศัย
[แก้]ถึงแม้ว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะมีชื่อเสียงทางด้านดักและกินสัตว์ต่าง ๆ เป็นอาหาร แต่หม้อของมันก็ยังมีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิดหรือที่รู้จักกันในชื่อสัตว์อิงอาศัย (Fauna animals) เช่นแมลงวันและตัวอ่อนริ้น แมงมุม (โดยเฉพาะแมงมุมปู) ไร มด และปูบางชนิดเช่น Geosesarma malayanum แต่ที่พบมากที่สุดคือลูกน้ำซึ่งเป็นผู้บริโภคตัวอ่อนหรือไข่สัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิดในระหว่างการพัฒนาตัวเป็นยุง สัตว์ที่แสนพิเศษจำนวนมากนี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าไม่มีหม้อข้าวหม้อแกงลิง พวกมันจึงได้ชื่อว่า nepenthebionts (สิ่งมีชีวิติที่อาศัยหม้อข้าวหม้อแกงลิง) [25]
ความสัมพันธ์ที่ผสมผสานระหว่างสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก คำถามก็คือทำไมสัตว์เหล่านี้ต้องขโมยอาหารจากหม้อข้าวหม้อแกงลิง หรือ อะไรคือผลประโยชน์ที่ยุ่งเหยิงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยนัยยะของการอยู่ร่วมกันที่ต้องทดลองและสืบสวนและต้องอภิปรายกันต่อไป ชาร์ลส์ คลาร์ก (Charles Clarke) ชี้แจงว่าผู้ถูกอิงอาศัยเป็นเหมือนกับ"บ้านที่ผู้อิงอาศัยอาศัยอยู่ ได้รับการปกป้องและอาหารจากต้นไม้ ขณะที่ผู้อิงอาศัยก็ช่วยย่อยสลายเหยื่อ และรักษาระดับแบคทีเรียให้คงที่ไว้ในระดับต่ำ" [26]
การจำแนกชนิด
[แก้]ขนาดและรูปทรงหม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าสัตว์ผู้อิงอาศัยหลายชนิดจะมีการปรับตัวเป็นพิเศษให้เข้าหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดที่อิงอาศัยอยู่ ใน N. rajah ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ยุง 2 ชนิดที่มีชื่อตามมันว่า Culex (Culiciomyia) rajah และ Toxorhynchites (Toxorhynchites) rajah ถูกค้นพบโดยมัสซุฮิซะ สึคะโมะโตะ (Masuhisa Tsukamoto) ในปี ค.ศ. 1989 อ้างอิงจากลูกน้ำที่ถูกเก็บตัวอย่างจากในหม้อของ N. rajah บนภูเขกีนาบาลู 3 ปีก่อนหน้า[27] ทั้ง 2 ชนิดพบว่าอาศัยอยู่ร่วมกับตัวอ่อนของ Culex (Lophoceraomyia) jenseni Uranotaenia (Pseudoficalbia) moultoni และ Tripteroides (Rachionotomyia) sp. No. 2 ซึ่งที่ยังไม่ถูกจำแนกตามหลักอนุกรมวิธาน ใน C. rajah สึคะโมะโตะบันทึกไว้ว่า
ผิวลำตัวของมันถูกปกคลุมไปด้วยโพรโทซัว Vorticella ที่ยังมีชีวิต[28]
ในปัจจุบันยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับยุงชนิดนี้ที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าเป็นด้านชีววิทยาเมื่อกลายเป็นยุง ถิ่นที่อยู่ หรือความรู้ด้านแพทย์ที่สำคัญเกี่ยวกับทิศทางของโรค ซึ่งก็เหมือนกับ T. rajah ที่ไม่มีความรู้ด้านชีววิทยาเกี่ยวกับมันเลย ยกเว้นรู้แต่แค่ว่าไม่เป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออก
อีกชนิดหนึ่งคือ Culex shebbearei ในอดีตมีการบันทึกว่าเป็นสัตว์ผู้อิงอาศัยใน N. rajah พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1931 โดย เอฟ.ดับเบิลยู. เอ็ดวาดซ์ (F. W. Edwards) [29] อ้างอิงจากตัวอย่างของ เอช.เอ็ม. เพนด์ลิบูรี (H. M. Pendlebury) ในปี ค.ศ. 1929 ที่เก็บจากต้นไม้บนภูเขากีนาบาลู อย่างไรก็ตามสึคะโมะโตะมีการเขียนถึงข้อมูลใหม่ในชนิดนี้เพียงเล็กน้อย
มันดูเหมือนกันจนลงความเห็นได้ว่า C. rajah เป็นชนิดใหม่ที่ไม่มีชื่อเสียงนักและรู้จักกันในชื่อของ C. shebbearei กันมาเป็นเวลานาน มากกว่าที่จะคิดว่าเกิดมี C. shebbearei และ C. rajah n. sp. อาศัยอยู่ในหม้อของ Nepenthes rajah บนยอดเขากีนาบาลู[28]
ศัตรูพืช
[แก้]ปฏิกิริยาต่อกันระหว่างหม้อข้าวหม้อแกงลิงและสัตว์ท้องถิ่นนั้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อกันทั้งหมด บางครั้ง N. rajah ก็ถูกโจมตีโดยแมลงด้วยการกัดกินใบและอาจจะทั้งแผ่นใบเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งลิงและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกหากินตอนกลางคืนบางชนิดก็ฉีกทำลายหม้อเพื่อจะดื่มน้ำที่อยู่ข้างใน[30]
การจัดจำแนก
[แก้]N. maxima | N. pilosa | N. clipeata | ||||||
N. oblanceolata * | N. burbidgeae | N. truncata | ||||||
N. veitchii | N. rajah | N. fusca | ||||||
N. ephippiata | N. boschiana | N. stenophylla ** | ||||||
N. klossii | N. mollis | N. lowii | ||||||
* ปัจจุบันถูกพิจารณาว่ามีความคล้ายคลึงอย่างมากกับ N. maxima.
** Danser บันทึกว่าเป็นตัวอย่างของ N. fallax. | ||||||||
การกระจายตัวของ Regiae, โดย Danser (1928).
Note: ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่า N. maxima หายไปจากบอร์เนียว |
Nepenthes rajah ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นเลย โดยดูได้จากหม้อที่ผิดแปลก และลักษณะรูปร่างของใบ แต่อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะพิจารณาจัดมันให้อยู่ในสกุลหม้อข้าวหม้อแกงลิง เนื่องมาจาก ความเกี่ยวเนื่องในสกุลตามหลักการอนุกรมวิธาน ที่ N. rajah มีร่วมกับชนิดอื่น ๆ ในมัน
ศตวรรษที่ 19
[แก้]หม้อข้าวหม้อแกงลิงถูกแบ่งเป็นสกุลย่อยครั้งแรกในปี ค.ศ. 1873 เมื่อฮุคเกอร์ได้เขียนถึงสกุลนี้ลงในเอกสารตีพิมพ์ของเขา โดยฮุคเกอร์ได้แยก N. pervillei ออกจากชนิดอื่นบนข้อเท็จจริงที่ว่าเมล็ดของชนิดนี้ไม่มีสิ่งที่ยื่นต่อออกมาเหมือนกับที่พบชนิดอื่น ๆ (คิดว่าน่าจะหมายถึง N. madagascariensis) และจัดมันให้อยู่ในสกุลย่อย Anurosperma (มาจากภาษาละติน: anuro: ปราศจากเส้นประสาท, sperma: เมล็ด) และชนิดอื่น ๆ อยู่ในสกุลย่อย Eunepenthes (มาจากภาษาละติน : eu: จริง; หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่แท้จริง)
ความพยายามครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1895 โดย กึนเทอร์ ฟอน มันน์นาเกทท์ทา นูด์ แลร์เคนเนา เบค (Günther von Mannagetta und Lërchenau Beck) ในผลงานที่ชื่อ Monographische Skizze (ภาพร่าง) [31]ของเขา เบคคง 2 สกุลย่อยที่ถูกสร้างโดยฮุคเกอร์ไว้ แต่แบ่ง Eunepenthes ออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ : Retiferae, Apruinosae และ Pruinosae N. rajah ถูกจัดอยู่ใน Apruinosae (มาจากภาษาละติน: apruinosa: ไม่แข็งเย็น) แต่มีคนเห็นด้วยกับเบคน้อยมาก และส่วนมากจะใช้แค่พื้นฐานการจัดหมวดหมู่เท่านั้น
ศตวรรษที่ 20
[แก้]มีการพิจารณาแก้ไขการจัดหมวดหมู่ของหม้อข้าวหม้อแกงลิงใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1908 โดยจอห์น มิวร์เฮด แมกฟาร์แลน (John Muirhead Macfarlane) ในเอกสารตีพิมพ์ของเขา[32] น่าประหลาดที่แมกฟาร์แลนไม่ตั้งชื่อกลุ่มที่เขาทำการแบ่ง อาจเพราะความสนใจของเขาไม่ได้มุ่งเน้นพิจารณาลักษณะการแบ่งชั้นของสกุล
ในปี ค.ศ. 1928 บี.เอช. แดนเซอร์ (B. H. Danser) แจงไว้ในเอกสารสัมมนาของเขาที่ชื่อ The Nepenthaceae of the Netherlands Indies (หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์) ในนั้นเขาได้แบ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงออกเป็น 6 กลุ่ม (clade) จากลักษณะพื้นฐานของตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ที่เก็บไว้[33] แต่ละกลุ่มมีชื่อดังนี้: Vulgatae, Montanae, Nobiles, Regiae, Insignes และ Urceolatae. แดนเซอร์จัด N. rajah ไว้ใน Regiae (ภาษาละติน: ออกเสียง rēgia= ขนาดใหญ่) กลุ่ม Regiae แสดงตามตารางด้านขวามือ
พืชส่วนมากในกลุ่มนี้มีขนาดหม้อที่ใหญ่ รวมถึงใบกับก้านใบ มีขนหยาบสีน้ำตาลแดง มีช่อดอกแบบช่อกระจะ หม้อบนเป็นแบบทรงกรวย มีติ่งบนผิวใต้ฝาหม้อใกล้ยอด (ยกเว้น N. lowii) มีปากที่แบนราบหรือแผ่ออก ชนิดหลัก ๆ ใน Regiae ส่วมมากเป็นพืชประจำถิ่นในเกาะบอร์เนียว แต่พื้นฐานความรู้ในปัจจุบันในพืชสกุลนี้ ทำให้ต้องมีการไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกใน Regiae อย่างรอบคอบ ถึงแม้ความคล้ายคลึงจะไม่เป็นที่กล่าวถึงว่าเหมือนสกุลอื่น ๆ [34] และถึงแม้จะมีข้อขัดข้องบ้างก็ตาม แต่การจำแนกของแดนเซอร์ก็เป็นการพยายามที่ดี ที่พยายามจะทำให้ดีขึ้นจากแต่ก่อน
งานอนุกรมวิธานของแดนเซอร์ (1928) ถูกปรับปรุงใหม่โดย แฮร์มันน์ ฮาร์มส์ (Hermann Harms) ในปี ค.ศ. 1936 ฮาร์มส์แบ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็น 3 สกุลย่อย ได้แก่: Anurosperma Hooker.f. (1873) , Eunepenthes Hooker.f. (1873) และ Mesonepenthes Harms (1936) (ภาษาละติน: meso: กลาง) ชนิดของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่พบในสกุลย่อย Anurosperma และ Mesonepenthes แตกต่างจากใน Vulgatae ที่แดนเซอร์ได้จัดไว้ ฮาร์มส์เพิ่ม N. rajah ลงในสกุลย่อย Eunepenthes ร่วมกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงส่วนใหญ่ สกุลย่อย Anurosperma เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียงชนิดเดียว (monotypic) ในขณะที่ Mesonepenthes มีสมาชิกเพียง 3 ชนิดเท่านั้น และเขายังเพิ่มกลุ่ม Distillatoriae (ตาม N. distillatoria) อีกด้วย
รูปร่างลักษณะของต่อม
[แก้]ในปี ค.ศ. 1976 ไซเกะโอะ คุระตะ (Shigeo Kurata) เสนอว่าต่อมในหม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละชนิดและสามารถใช้แบ่งระหว่างความสัมพันธ์ใกล้ชิดในอนุกรมวิธานหรือใช้เป็นพื้นฐานในการจัดประเภทของพวกมัน คุระตะศึกษาต่อม 2 ชนิด คือ ต่อมน้ำหวานบนฝาหม้อ และ ต่อมย่อยอาหารในตัวหม้อ โดยอย่างหลังเขาแบ่งออกเป็น "ส่วนล่าง" "ส่วนบน" และ "ส่วนกลาง" ถึงแม้จะเป็นวิธีที่แปลกใหม่ที่นักพฤกษศาสตร์และนักอนุกรมวิธานที่ศึกษาในสกุลนี้ส่วนมากไม่ใส่ใจนัก แต่ก็เป็นวิธีที่ทำให้แยกชนิดที่คล้ายคลึงออกจากกันได้โดยง่าย เป็นการสนับสนุนการจัดชั้นในอนุกรมวิธานพื้นฐานในการแบ่งรูปร่างลักษณะ
การกระจายตัวของบริเวณที่มี phenolic และ leucoanthocyanins ใน N. × alisaputrana, N. burbidgeae และ N. rajah | |||||||||
Taxon | Specimen | ||||||||
N. × alisaputrana | J2442 | ||||||||
in vitro | |||||||||
N. burbidgeae | J2484 | ||||||||
N. rajah | J2443 | ||||||||
Key: 1: Phenolic acid, 2: Ellagic acid, 3: Quercetin, 4: Kaempferol, 5: Luteolin, 6: 'Unknown Flavonoid 1', 7: 'Unknown Flavonoid 3', 8: Cyanidin
±: จุดจางมาก, : จุดจาง, : จุดเข้ม, 3 : จุดเข้มมาก, -: ไม่มี, J = Jumaat แหล่งที่มา: OnLine Journal of Biological Sciences 2 (9) : 623–625.PDF |
การวิเคราะห์ทางไบโอ-เคมี
[แก้]เมื่อที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ มีการใช้การวิเคราะห์ทางชีวเคมีมาใช้หาความสัมพันธ์ของหม้อข้าวหม้อแกงลิงแต่ละชนิด ในปี ค.ศ. 1975 เดวิด อี. เฟร์บรอเทอส์ (David E. Fairbrothers) et al.[35] เป็นคนแรกที่เสนอให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติทางเคมีกับกลุ่มรูปร่างลักษณะ โดยอยู่บนทฤษฎีที่ว่าต้นไม้ที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนกันจะผลิตสารประกอบทางเคมีที่ให้ผลทางอายุรเวทที่เหมือนกัน[36]
ในปี ค.ศ. 2002 การจำแนกองค์ประกอบสารพฤกษเคมีและการวิเคราะห์โครมาโทกราฟีถูกใช้ในการศึกษา สารประกอบฟีนอลิก (phenolic) และลูโคแอนโทไซยานิน (leucoanthocyanin) ในลูกผสมตามธรรมชาติและชนิดที่คาดว่าน่าจะเป็นพ่อแม่ของมัน (รวมถึง N. rajah) จากรัฐซาบะฮ์และรัฐซาราวัก[36] การวิจัยใช้ใบจากตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์พืช 9 ตัวอย่าง 8 จุดที่ศึกษาประกอบไปด้วย : กรดฟีนอลิก, ฟลาโวนอล (flavonol), ฟราโวน (flavone), ลูโคแอนโทไซยานิน และ ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ที่ไม่รู้จัก 1 และ 3 ถูกระบุบจากข้อมูลโครมาโทกราฟี การกระจายพันธุ์ในลูกผสม N. × alisaputrana และชนิดที่คาดว่าเป็นพ่อแม่ N. rajah และ N. burbidgeae ถูกแสดงในตารางด้านซ้ายมือ ตัวอย่างของ N. × alisaputrana ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (in vitro) ก็ถูกทดสอบด้วย
ฟีนอลิกและกรดเอลลาจิกไม่พบใน N. rajah ขณะที่ความเข้มของแคมฟ์เฟอรอล (kaempferol) พบว่าจางมาก รูปแบบโครมาโทกราฟีของ N. × alisaputrana เป็นการศึกษาตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการสืบค้นชนิดของพ่อและแม่[36]
ไมริซีทิน (Myricetin) พบว่าไม่มีในการศึกษาในอนุกรมวิธาน ความเห็นเดียวกันนี้พบในผู้ศึกษาสมัยก่อน (อาร์.เอ็ม. ซม (R. M. Som) ในปี ค.ศ. 1988; เอ็ม. เจย์ (M. Jay) และ พี. เลบเบรทอน (P. Lebreton) ในปี ค.ศ. 1972) [37][38] มีการเสนอแนะว่าการไม่มีอยู่ของสารประกอบที่กระจายเป็นวงกว้างอย่างไมริซีทินในพวกหม้อข้าวหม้อแกงลิงอาจต้องพิจารณาเตรียมการ"เพิ่มการวินิจฉัยข้อมูลสำหรับ 6 ชนิดนี้"[39]
การเรียงตัว
[แก้]บรรดาโปรตีนและนิวคลีโอไทด์ของ N. rajah มีการนำมาเรียงตัวเป็นบางส่วนหรือสมบูรณ์ทั้งหมด ดังนี้ :
- translocated tRNA-Lys (trnK) pseudogene (DQ007139)[40]
- trnK gene & maturase K (matK) gene (AF315879)[41]
- trnK gene & maturase K (matK) gene (AF315880)[41]
- maturase K (AAK56010)[41]
- maturase K (AAK56011)[41]
ชนิดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด?
[แก้]ในปี ค.ศ. 1998 หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่โดดเด่นชนิดหนึ่งได้ถูกค้นพบในประเทศฟิลิปปินส์โดยแอนเดรส์ วิสทูบา (Andreas Wistuba) มีชื่อชั่วคราวว่า N. sp. Palawan 1 มีลักษณะคล้ายกับ N. rajah เป็นอย่างมาก ไม่ว่าทั้งหม้อ หรือรูปร่างลักษณะใบ (ภาพที่1ภาพที่2 เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนภาพที่3 เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) แต่เพราะภูมิประเทศที่ห่างไกลกันของทั้งสองชนิด ทำให้ไม่มีทางที่ทั้งสองชนิดจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ดังนั้นนี่อาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการวิวัฒนาการบรรจบ ที่พืชทั้งสองชนิดไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเลย กลับมามีลักษณะรูปร่างที่คล้ายกัน จากการวิวัฒนาการมาคนละสถานที่ เปรียบได้กับการสะท้อนซึ่งกันและกัน ในปี ค.ศ. 2007 หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ก็ได้ถูกจัดหมวดหมู่โดยวิสทูบาและโจชีม นาซ (Joachim Nerz) เป็น N. mantalingajanensis[42]
ประวัติ และความนิยม
[แก้]- สิ่งพิมพ์: Transact. Linn. Soc., XXII, p. 421 t. LXXII (1859) ; MIQ., Ill., p. 8 (1870) ; HOOK. F., in D.C., Prodr., XVII, p. 95 (1873) ; MAST., Gard. Chron., 1881, 2, p. 492 (1881) ; BURB., Gard. Chron., 1882, 1, p. 56 (1882) ; REG., Gartenfl., XXXII, p. 213, ic. p. 214 (1883) ; BECC., Mal., III, p. 3 & 8 (1886) ; WUNSCHM., in ENGL. & PRANTL, Nat. Pflanzenfam., III, 2, p. 260 (1891) ; STAPF, Transact. Linn. Soc., ser. 2, bot., IV, p. 217 (1894) ; BECK, Wien. Ill. Gartenz., 1895, p. 142, ic. 1 (1895) ; MOTT., Dict., III, p. 451 (1896) ; VEITCH, Journ. Roy. Hort. Soc., XXI, p. 234 (1897) ; BOERL., Handl., III, 1, p. 54 (1900) ; HEMSL., Bot. Mag., t. 8017 (1905) ; Gard. Chron., 1905, 2, p. 241 (1905) ; MACF., in ENGL., Pflanzenr., IV, 111, p. 46 (1908) ; in BAIL., Cycl., IV, p. 2129, ic. 2462, 3 (1919) ; MERR., Bibl. Enum. Born., p. 284 (1921) ; DANS., Trop. Nat., XVI, p. 202, ic. 7 (1927).[11]
- ภาพวาด: Transact. Linn. Soc., XXII, t. LXXII (1859) optima; Gard. Chron., 1881, 2, p. 493 (1881) bona, asc. 1 ; Gartenfl., 1883, p. 214 (1883) bona, asc. 1 ; Wien. Ill. Gartenfl., 1895, p. 143, ic. 1 (1895) asc. 1 ; Journ. Roy. Hort. Soc., XXI, p. 228 (1897) optima; Bot. Mag., t. 8017 (1905) optima; BAIL., Cycl., IV, ic. 2462, 3 (1919) asc. 1 ; Trop. Nat., XVI, p. 203 (1927) asc. 1.[11]
- ของสะสม: ภูเขากีนาบาลู บอร์เนียวเหนือ, IX 1913, พิพิธภัณฑ์พืชของพิพิธภัณฑ์รัฐซาราวัก (ไม่มีดอกและผล) ; Marai-parai Spur, 1-4 XII 1915, Clemens 11073, หอพรรณไม้, พิพิธภัณฑ์พืชของสวนพฤกษศาสตร์ Buitenzorg (เพศผู้และเพศเมีย) ; 1650 m, 1892, Haviland 1812/1852, พิพิธภัณฑ์พืชของพิพิธภัณฑ์รัฐซาราวัก (เพศผู้และเพศเมีย) [11]
เพราะขนาด รูปร่างที่แปลก และสีที่เด่นสะดุดใจ N. rajah จึงเป็นไม้กินแมลงยอดนิยมอย่างสูง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดในความนิยมของหมู่ผู้ที่ต้องการเพาะเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ มันสามารถกล่าวได้ว่า Nepenthes rajah เป็นเศษซากของความรู้อันน้อยนิดเกี่ยวกับพืชชนิดนี้นอกถิ่นกำเนิด เพราะมันต้องการสภาพแวดล้อมที่พิเศษ มีเพียงผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็ก ๆ ทั่วโลกที่นั้น ที่สามารถปลูกเลี้ยงได้ แต่กระนั้น N. rajah ก็ยังมีชื่อเสียงมากที่สุดในหมู่หม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นเพราะหม้อที่แสนวิเศษของมัน นับย้อนได้ไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18
ประว้ติ ตอนต้น
[แก้]N. rajah ถูกพบครั้งแรกโดยฮักฮ์ โลวบนยอดเขากีนาบาลูในปี ค.ศ. 1858.[12] และถูกจัดแนกในปีเดียวกันโดยโยเซพ ดาลตัน ฮุคเกอร์ ชื่อของมันตั้งเป็นเกรียติแก่เจมส์ บรุคซึ่งเป็นคนขาวคนแรกที่ได้ปกครองรัฐซาราวัก : (White Rajah) มีรายละเอียดอยู่ใน The Transactions of the Linnean Society of London ดังนี้ :[3]
Nepenthes Rajah, H. f. (Frutex, 4-pedalis, Low). Foliis maximis 2-pedalibus, oblongo-lanceolatis petiolo costaque crassissimis, ascidiis giganteis (cum operculo l-2-pedalibus) ampullaceis ore contracto, stipite folio peltatim affixo, annulo maximo lato everso crebre lamellato, operculo amplissimo ovato-cordato, ascidium totum æquante.— (ป้าย LXXII.)
Hab.—บอร์เนียว, ฝั่งทะเลเหนือ, บนกีนาบาลู, สูง 5,000 ฟุต (ต่ำ) พืชที่น่าอัศจรรย์นี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ชนิดที่โดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่ถูกค้นพบมาจนกระทั่งบัดนี้ และ ด้วยความเคารพ มันควรเทียบเคียงได้กับ Rafflesia Arnoldii ด้วยเหตุนี้มันควรจะได้ชื่อตามเพื่อนของฉัน "ราชาบรุค" ด้วยความช่วยเหลือจากเขาในพื้นที่นี้ มันจะได้เป็นอนุสรณ์ในหมู่นักพฤกษศาสตร์. . . . ฉันมีตัวอย่าง 2 ตัวอย่าง ใบและหม้อ มันคล้ายกันมากทีเดียว แต่หม้ออีกอันใหญ่เป็น 2 เท่าของอีกอัน ใบของตัวอย่างที่ใหญ่กว่ายาว 18 นิ้ว ไม่นับก้านใบที่หนาเหมือนหัวแม่มือกว้างกว่า 7-8 เท่า ใบคล้ายแผ่นหนังเรียบเกลี้ยง มีเส้นใบไม่ชัดเจน ก้านของหม้อต่อออกมาจากส่วนล่างตรงปลายใบยาว 20 นิ้ว หนาคล้ายนิ้ว หม้อมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว มีปีกชายครุย 2 ปีกด้านหน้า ถูกปกคลุมด้วยขนสีสนิม มีต่อมเป็นปุ่มทั่วไปภายใน และความกว้างของแอนนูลัส (วงปาก) ที่ปลิ้นออกมา มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1–1½ นิ้ว ฝาปิดมีก้านสั้น ยาว 10 นิ้ว กว้าง 8 นิ้ว
ช่อดอกเกือบไม่ได้ส่วน ช่อกระจะตัวผู้ ยาว 30 นิ้ว มีดอกประมาณ 20 ดอกบนนั้น ส่วนบนและดอกปกคลุมด้วยขนนุ่มสั้นเล็ก ๆ สีสนิม ก้านดอกเพียวบางเป็นแบบเดี่ยวหรือ 2 แฉก ให้ผลแบบช่อกระจะอ้วนสั้น ก้านยาว 1½ นิ้ว มักจะเป็นสองแฉก ผลแห้งแตกรูปแคปซูลยาว ¾ นิ้ว กว้าง ⅓ นิ้ว ออกจะบวมเต่ง ปกคลุมด้วยขนยาวนุ่มสีสนิม
สเพนเซอร์ เซนต์ จอห์นเขียนถึงการพบกับ N. rajah ของเขาบนภูเขากีนาบาลูใน Life in the Forests of the Far East ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1862:[43] ดังนี้
หลังปีนขึ้นสูง 800 ฟุตอีกครั้ง ก็นำพวกเรามาสู่ยอดเขามาเรอี พาเรอี (Marei Parei) ที่ที่พื้นดินเต็มไปด้วยหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่สวยงาม พืชที่เราตามหา พืชที่เรียกว่า Nepenthes Rajah ต้นยาวประมาณ 4 ฟุต มีใบกว้างเยียดยาวไปทุก ๆ ส่วน มีหม้อนอนเอนกบนพื้นรอบ ๆ ต้น มีรูปร่างที่น่าทึ่ง ฉันลองวัดมันอันนึง ได้ค่าดังนี้ : ความยาววัดจากด้านหลังยาวเกือบ 14 นิ้ว จากฐานถึงยอดในด้านหน้า 5 นิ้ว และฝาของมัน ยาว 1 ฟุตกว้าง 14 นิ้ว หม้อรูปไข่ ปากของมันมีจีบเป็นชั้น ๆ โดยรอบ ในแนวตั้งกว้าง 2 นิ้ว, ยอดในส่วนลู่แคบกว้าง ¾ นิ้ว ขอบยักรอบปากเป็นคลื่น ใกล้ ๆ กับก้านของหม้อลึก 4 นิ้ว เพื่อที่ว่าปากจะได้วางตัวอยู่บนมันในรูปสามเหลี่ยม สีของหม้อเก่าเป็นสีม่วงเข้ม, แต่หม้อทั่ว ๆ ไปด้านนอกมีสีม่วงสด, และเข้มขึ้นในส่วนล่างแล้วค่อย ๆ สว่างขึ้นไล่ไปถึงขอบปาก ด้านในมีสีเดียวกัน แต่เป็นมันวาว ฝามีสีม่วงสดตรงกลางและไล่มาเขียวที่ขอบ ก้านดอกเพศเมียยาว 1 ฟุตสั้นกว่าเพศผู้, และมีรูปแบบน้อยกว่าอย่างหลัง มันเป็นหนึ่งในผลงานน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ [...] หม้อก่อนที่ฉันจะสังเกตอย่างละเอียดนอนอยู่บนพื้นรอบ ๆ และต้นที่อายุยังน้อยมีหม้อเหมือนกันกับต้นที่มีอายุมาก ขณะที่คนของเราหุงข้าวทำอาหาร เราได้นั่งอยู่น่าเต็นท์เพลิดเพลินกับการทานช็อกโกเลตและสังเกตผู้ติดตามคนหนึ่งของเราใช้หม้อของ Nepenthes Rajah ในการขนน้ำ เมื่อเราสั่งให้เขานำมันมาให้เราดู พบว่ามันสามารถจุน้ำได้ถึง 4 ขวดไพนท หม้อนั้นมีเส้นรอบวงถึง 19 นิ้ว เราถึงกับย้อนไปหาหม้ออื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ และขณะเดียวกัน โลวที่ออกไปเตร็ดเตร่หาดอก ได้พบหม้อใบหนึ่งที่มีหนูตกลงไป
N. rajah ถูกเก็บกลับมาครั้งแรกสำหรับสถานเพาะเลี้ยงวีตช์ (Veitch Nurseries) โดยเฟรดเดอร์ริก วิลเลียม เบอร์บิดก์ (Frederick William Burbidge) ในปี ค.ศ. 1878 ระหว่างการเดินทางไปบอร์เนียวครั้งที่ 2 ของเขา[44] ในระยะสั้น ๆ หลังมีการเริ่มปลูกเลี้ยงในปี ค.ศ. 1881 N. rajah ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการอย่างมากในหมู่ผู้ปลูกเลี้ยงผู้มั่งคั่งในสมัยวิกตอเรีย บันทึกใน The Gardeners' Chronicle ของปี ค.ศ. 1881 พูดถึงต้นไม้ของวีตช์ดังนี้ : "N. rajah ที่เห็นยังมีอายุน้อย และมันจะกลายเป็นภาพวาดในหน้าหนังสือของเราเมื่อเร็ว ๆ นี้..."[45] 1 ปีให้หลัง N. rajah น้อยก็ปรากฏตัวที่ Royal Horticultural Society งานแสดงประจำปีเป็นครั้งแรก[46] ของตัวอย่างในงาน ถูกจัดแสดงโดยสถานเพาะเลี้ยงวีตช์เป็น N. rajah ต้นแรกที่ถูกปลูกเลี้ยงในยุโรป และชนะในประกาศนียบัตรชั้น 1[47] ในบัญชีราคาขายของวีตช์ในปี ค.ศ. 1889 N. rajah มีราคา £2.2s ต่อต้น[48] ในเวลานั้นความสนใจและความต้องการในหม้อข้าวหม้อแกงลิงเพิ่มขึ้นสูงมาก The Garden รายงานว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงถูกขยายพันธุ์เป็นพันต้นเพื่อตอบสนองความต้องการในยุโรปที่มีตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ความสนใจในหม้อข้าวหม้อแกงลิงก็ลดน้อยถอยลงเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ดูได้จากการปิดตัวลงของสถานเพาะเลี้ยงวีตช์และความสูญเสียต้นไม้ทั้งชนิดแท้และลูกผสมในการปลูกเลี้ยงหลาย ๆ ครั้ง รวมถึง N. northiana และ N. rajah ด้วย ในปี ค.ศ. 1905 ก็ถึงจุดสิ้นสุด N. rajah ของสถานเพาะเลี้ยงวีตช์ก็ได้ตายลง เพราะความต้องการตามธรรมชาติของต้นไม้นั้นยากที่จะสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองได้ง่าย ๆ [46] N. rajah ต้นสุดท้ายที่เหลือรอดในการปลูกเลี้ยง ณ.เวลานั้นอยู่ที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติที่ Glasnevin ใน เกาะไอร์แลนด์แต่มันก็ตายตามในไม่ช้า[46] ต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อมา N. rajah ถึงสามารถทำการปลูกเลี้ยงได้
ความนิยมที่กลับมา
[แก้]เมื่อไม่นานมานี้ความสนใจในหม้อข้าวหม้อแกงลิงก็กลับมาใหม่อีกครั้งทั่วโลก อาจเป็นเพราะไซเกะโอะ คุระตะ ผู้เขียนหนังสือ Nepenthes of Mount Kinabalu (หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งภูเขากีนาบาลู) (ค.ศ. 1976) ที่มีรูปถ่ายสีสวย ๆ ของหม้อข้าวหม้อแกงลิง ได้นำความสนใจเป็นอย่างมากมายมาสู่พืชที่พิสดารนี้
หม้อข้าวหม้อแกงลิง N. rajah ที่รู้จักกันดีในประเทศมาเลเซีย พืชท้องถิ่นของรัฐซาบะฮ์ ถูกนำมาใช้เพื่อโฆษณารัฐซาบะฮ์และอุทยานแห่งชาติกีนาบาลูให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและถูกใช้เป็นลักษณะพิเศษบนไปรษณียบัตร N. rajah ยังปรากฏว่าเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงยอดนิยมที่ปรากฏบนสิ่งพิมพ์ รวมถึง Nepenthes of Mount Kinabalu (หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งภูเขากีนาบาลู) (คุระตะ, ค.ศ. 1976) และ Nepenthes of Borneo (หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งบอร์เนียว) (คลาร์ก, ค.ศ. 1997) ที่ถูกพิมพ์ในโกทา กีนาบาลู (Kota Kinabalu) ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1996 ประเทศมาเลเซียได้จัดพิมพ์แสตมป์ 4 ดวง เป็นรูปหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดที่มีชื่อเสียง แสตมป์ราคา 30¢ 2 ดวง เป็นรูป N. macfarlanei และ N. sanguinea ส่วนราคา 50¢ อีก 2 ดวงเป็นรูป N. lowii และ N. rajah ออกจำหน่าย[49] แสตมป์ N. rajah ถูกกำหนด ให้มีการระบุบหมายเลยพิเศษในสองระบบระบุบหมายเลขแสตมป์ โดยมีของสก็อต แคททาล็อก (Scott catalogue) เป็นหมายเลข 580 และ Yvert et Tellier เป็นหมายเลข 600
นิเวศวิทยา
[แก้]ภูเขากีนาบาลู
[แก้]Nepenthes rajah มีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่ในวงแคบ จำกัดอยู่แค่ภูเขากีนาบาลูและภูเขาทามบูยูกอนที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติกีนาบาลู รัฐซาบะฮ์ ประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว[2] ภูเขากีนาบาลูเป็นภูเขาหินแกรนิตมีรูปร่างคล้ายโดม ซึ่งในทางธรณีวิทยานั้น ยังเป็นภูเขาที่มีอายุน้อยเกิดจากการแทรกและยกตัวของแผ่นหินแกรนิตที่อยู่ลึกลงไปใต้เปลือกโลก (granitic batholith) ที่ความสูง 4095.2 เมตรนี่เอง ทำให้มันเป็นภูเขาสูงที่สุดบนเกาะบอร์เนียวและเป็นหนึ่งในภูเขาสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[50] ที่ฐานล่างของภูเขาประกอบไปด้วยหินทรายและหินเฌล (shale) ที่แปลสภาพมาจากโคลนทรายใต้ท้องทะเลเมื่อราว ๆ 35 ล้านปีมาแล้ว แทรกไปด้วยหินเซอเพ็นทีน (serpentine) ที่อุดมไปด้วยแร่เหล็กและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแกนของแผ่นหินที่ยกตัวขึ้นมา มีสภาพเหมือนปลอกคอที่ล้อมรอบภูเขา ดินแบบนี้นี่เองที่ทำให้พืชบนภูเขากีนาบาลูหลาย ๆ ชนิดเป็นพืชถิ่นเดียว และพืชหายากหลาย ๆ ชนิดก็สามารถพบได้ที่นี่เช่นกัน
ธรณีวิทยา
[แก้]N. rajah จะขึ้นบนดินที่มีหินเซอเพ็นทีนที่ประกอบไปด้วยนิกเกิลและโครเมียมในปริมาณที่สูงซึ่งเป็นพิษกับพืชชนิดอื่นอีกหลาย ๆ ชนิดแต่ไม่มีผลต่อ N. rajah[13] ซึ่งหมายความว่ามันขึ้นในระบบนิเวศวิทยาที่แทบจะไม่มีการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่และสารอาหารกันเลย[51] ก็เหมือนระบบรากของ N. × alisaputrana[52] และ N. villosa[53] ที่รู้กันว่าทนต่อโลหะหนักในดินที่มีหินเซอเพ็นทีนปะปน มีแมกนีเซียมสูงและมีอัลคาไลเล็กน้อย เหมือนชั้นบาง ๆ บนหินอัลตราเมฟิก (หินที่มีเหล็กและแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบหลัก, ดินลูกรัง) ดินประเภทนี้มีประมาณ 16% ของอุทยานแห่งชาติกีนาบาลู ทำให้เกิดพืชถิ่นเดียวจำนวนมาก รวมถึงหม้อข้าวหม้อแกงลิงด้วย ซึ่งมีถึง 4 ชนิดในสกุล รวมถึง N. rajah ที่สามารถพบได้ในอุทยานแห่งนี้เท่านั้น
ปกติ N. rajah ขึ้นบนทุ่งหญ้าเปิดโล่งบนที่ลาดเอียงหรือบนที่ราบบนยอดเขา เฉพาะในพื้นที่ซึมน้ำ ดินไม่จับตัวแน่นและมีความชื้นสูง น้ำสามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีฝนตกมากแต่ดินก็ไม่แฉะ N. rajah มักพบขึ้นในพงหญ้าโดยเฉพาะหญ้าทรงกระเทียม
ภูมิอากาศ
[แก้]N. rajah ตามธรรมชาติขึ้นสูงจากระดับน้ำทะเล 1500–2650 เมตร [19][7] จึงจัดได้ว่าเป็นพืชที่สูง (highland) [54] เพราะในความสูงระดับนั้นเองทำให้อุณหภูมิในเวลากลางวันไม่เกิน 25 ℃ และเวลากลางคืนมีอากาศหนาวเย็น[55] และเพราะอุณหภูมิที่ลดลงในเวลากลางคืนทำให้ความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มจาก 65–75% ไปถึง 95% หรือมากกว่านั้น พืชที่ขึ้นสูงในระดับนั้นมักจะโตช้ามากหรือแทบจะไม่โตขึ้นเลยเพราะสิ่งแวดล้อมที่สุดโต่งนั้น ซึ่งมีสภาพมีลมและฝนที่รุนแรง แต่ก็ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่แกว่งไปมา มีโอกาสที่เมฆปกคลุมสูง เมื่อเมฆน้อยอุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชื้นสัมพัทธ์ลดลง ได้รับแสงมาก แต่เมื่อเมฆมาก อุณหภูมิและแสงจะลดลง ความชื้นสัมพัทธ์จะสูงขึ้น[56] ระดับน้ำฝนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3000 มิลลิเมตร
สถานะอนุรักษ์
[แก้]มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์
[แก้]Nepenthes rajah ถูกจัดอยู่ในสถานะมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ (EN – B1 2e) ในสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามบัญชีแดงโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) [1] อยู่ในรายการที่ 1 ส่วนที่ 2 ของพระราชบัญญัติสงวนพันธุ์สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ของประเทศมาเลเซียในปี ค.ศ. 1997[57] และในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) [58] ซึ่งเป็นข้อห้ามระดับนานาชาติเรื่องการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตที่มีรายชื่อในบัญชีที่นำออกมาจากป่าหรือได้มาโดยมิชอบโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เพราะความนิยมในหมู่ผู้สะสม ต้นไม้จำนวนมากยังถูกลักลอบนำออกมาจาป่าอย่าผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จะสามารถพบได้ในบริเวณอุทยานแห่งชาติกีนาบาลูเท่านั้น ความนิยมของมันในช่วงปี ค.ศ. 1970 นำไปสู่ การถูกบรรจุในบัญชีที่ 1 ของไซเตสในปี ค.ศ. 1981.[59] ร่วมกับ N. khasiana นอกจาก 2 ชนิดนี้ หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดที่เหลือมีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่ 2
ในอนาคตอันใกล้ของ N. rajah จะมีการลดระดับลงเป็นสภาวะ"สิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (VU) " หรือในบัญชีอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติจัดให้อยู่ในสภาวะ "สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (LR (cd) ) " [60] ตามข้อตกลงของศูนย์ติดตามผลการอนุรักษ์ (WCMC) และภายใต้องค์การนี้ได้พิจารณา N. rajah เป็น"สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์"ด้วยเช่นกัน ซึ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้แต่เดิมถูกจัดเป็น"สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (V) "โดย IUCN ในบัญชีสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามเบื้องต้น ค.ศ 1994
ถึงแม้ว่า N. rajah จะมีการกระจายตัวที่แคบ[61] แต่มันก็ไม่ใช่สถานที่ที่หายากที่จะมันจะสามารถขึ้นได้และประชาการไม่ถูกจำกัดด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว และอยู่ในที่ห่างไกลของอุทยานแห่งชาติกีนาบาลู ยิ่งกว่านั้น N. rajah มีใบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ยากจะตบตาศุลกากรโดยการตัดหม้อออกเมื่อถูกส่งออกอย่างผิดกฎหมาย
การมาถึงของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือเทคโนโลยีการสืบพันธุ์ภายนอก (in vitro) ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการผลิตพืชชนิดต่าง ๆ ออกมาจำนวนมากและมีราคาขายที่ต่ำ (ประมาณUS$20-$30 ในกรณีของ N. rajah) การขยายพันธุ์แบบภายนอก (In vitro) เป็นการเพาะพันธุ์ต้นไม้จากเซลล์ที่ได้จากต้นแม่ (ทั่ว ๆ ไปเป็นเมล็ด) เทคโนโลยีนี้ช่วยกำจัดนักสะสมที่ตั้งใจจะไปรัฐซาบะฮ์เพื่อเก็บต้นไม้ออกมาอย่างผิดกฎหมายให้หมดไป ทำให้ความต้องการไม้จากป่าลดลงอย่างรวดเร็ว[62]
ร็อบ แคนต์ลีย์ (Rob Cantley) นักอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงและนักโฆษณาให้เลือกซื้อหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้ประเมินสถานะของต้นไม้ในป่าดังนี้:[63]
หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้โตในค่านิยมย่อยที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 ข้อ หนึ่งคือถูกปกป้องด้วยอำนาจจากอุทยานแห่งชาติของรัฐซาบะฮ์ อีกหนึ่งโตในที่สาธารณะที่มีข้อห้ามที่เข้มงวดปราศจากการอนุญาต อย่าไรก็ตาม มีการปฏิเสธโดยค่านิยมของบางคนที่รู้มาก และบริเวณที่มีการลาดตระเวณน้อย ต้นไม้และถิ่นที่อยู่ที่ถูกทำลายโดยมาเกิดจากนักท่องเที่ยวที่ไม่มีความรับผิดชอบมากกว่านักสะสมพืชพันธุ์ ในเร็ว ๆ นี้ Nepenthes rajah จะกลายเป็นต้นไม้ธรรมดาสำหรับปลูกเลี้ยงเป็นผลมาจากความหาง่ายและราคาที่ไม่แพงจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ฉันเชื่อว่าในวันนี้การเก็บไม้จากป่าเพื่อการค้าจะเหลือน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม N. rajah สำหรับในเชิงพานิชย์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นมีขนาดต้นที่เล็กและมีด้วยกัน 4 แบบ เป็นแม่แบบที่ได้มาจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิวในลอนดอน อังกฤษ
การเก็บไม้ออกจากป่าอย่างผิดกฎหมายไม่ใช่เป็นภัยคุกคามชนิดเดียวเท่านั้น เอลนีโญหรือสภาพอากาศที่ผิดเพี้ยนในปี ค.ศ. 1997/98 มีผลรุนแรงต่อหม้อข้าวหม้อแกงลิงบนภูเขากีนาบาลู[64] ช่วงเวลาที่แห้งแล้งก่อให้เกิดการลดลงของประชากรในธรรมชาติอย่างรุนแรง เกิดไฟป่า 9 จุดในอุทยาน กินพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตรและเกิดกลุ่มหมอกควันขนาดใหญ่ ระหว่างเกิดเอลนีโญ ต้นไม้จำนวนมากถูกย้ายไปที่สถานอนุบาลของอุทยานเป็นการชั่วคราวเพื่อรักษามันไว้ ในภายหลังมันถูกย้ายไปสวนหม้อข้าวหม้อแกงลิงในเมซีเลา (Mesilau) (ดูต่อด้านล่าง) แต่มันกลับเป็นเจตนาร้ายแทน N. rajah เป็นหนึ่งในจำนวน 2-3 ชนิดที่ล้มตายลง การกระทำเช่นนี้ได้ส่งผลดีน้อยมากกับพืชพวกนี้ ต่อมาอันโบะว์ กุนซาลัม (Ansow Gunsalam) ได้สร้างสถานอนุบาลถาวรใกล้กับสถานีเมซีเลาที่ทำการของอุทยานแห่งชาติกีนาบาลูเพื่อปกป้องพืชที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในพื้นที่ รวมถึง N. rajah ด้วย
การกระจายตัวในวงแคบ
[แก้]Mesilau Nature Resort ที่เปิดใหม่ ใกล้ ๆ กับสนามกอล์ฟข้างหลังหมู่บ้านของ Kundasang เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ตามธรรมชาติได้อย่างแน่นอน[65] ที่นี่มี N. rajah นับโหลขึ้นใกล้กับจุดสูงสุดของพื้นที่ ทั้งต้นเล็ก ๆ และโตเต็มที่ หม้อมีขนาดใหญ่พอใช้ สูงประมาณ 35 เซนติเมตร ต้นไม้พวกนี้ที่นี่มีอายุมากกว่า 100 ปี สถานที่นี้มันถูกเรียกว่า "เส้นทางศึกษาธรรมชาติ Nepenthes rajah " เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 9:00 น. ถึง 16:00 น. ประชากรส่วนมากของหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้มักเกิดในส่วนที่ห่างไกลของอุทยานแห่งชาติกีนาบาลูและยากที่นักท่องเที่ยวจะเข้าถึง[65] นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวที่อุทยานสามารถเจอ N. rajah ที่แสดงในสถานอนุบาลที่อยู่ติดกับ "สวนภูเขา" ที่สำนักงานใหญ่อุทยานแห่งชาติกีนาบาลู[66]
สถานที่อื่น ๆ ในธรรมชาติที่เป็นที่นิยมที่สามารถพบ N. rajah มีที่ราบสูงมาเร เพเร (Marai Parai) แม่น้ำเมซีเลา ทางตะวันออกใกล้ ๆ ถ้ำเมซีเลา ส่วนบนของแม่น้ำโกโลปิสและด้านตะวันออกของภูเขาทามบูยูกอน[67]
ลูกผสมตามธรรมชาติ
[แก้]Nepenthes rajah เป็นที่รู้กันว่ามันสามารถผสมข้ามชนิดกับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นได้ง่ายเนื่องจากมันออกดอกตลอดทั้งปี Charles Clarke บันทึกไว้ว่า
N. rajah ประสบความสำเร็จมากกว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น ๆ ในการแพร่กระจายเกสรไปได้ไกลมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำกล่าวที่ว่า ที่ ๆ มีลูกผสมของ N. rajah อยู่นั้นไม่มีพ่อหรือแม่ขึ้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเลย
อย่างไรก็ตามละอองเกสรสามารถไปได้ไกลสุดประมาณ 10 กิโลเมตร[68]เท่านั้น ลูกผสมระหว่าง N. rajah กับหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นบนภูเขากีนาบาลูที่ถูกบันทึก[2]มีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ามาก แบบไม่มีลูกผสมชนิดไหนเหมือน (ยกเว้นลูกผสม N. lowii)
ปัจจุบันลูกผสมตามธรรมชาติที่ได้มีการบันทึกไว้มีดังนี้ :[19]
- N. burbidgeae × N. rajah [=N. × alisaputrana J.H.Adam & Wilcock (1992)]
- N. edwardsiana × N. rajah
- N. fallax × N. rajah
- N. fusca × N. rajah
- N. macrovulgaris × N. rajah
- N. rajah × N. tentaculata
- N. rajah × N. villosa [=N. × kinabaluensis Sh.Kurata (1976) nom.nud.]
ในสวนภูเขาของอุทยานกีนาบาลู มีลูกผสมที่หายากระหว่าง N. fallax และ N. rajah ลูกผสมชนิดนี้มีใบเหมือน N. fallax แต่มีฝาหม้อและปีกคล้าย N. rajah มีปากแข็งที่ได้มาจาก N. fallax และขนแข็งที่ริมฝาหม้อ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของลูกผสมชนิดนี้[69] พบได้ที่ความสูง 1500–2600 เมตร
ลูกผสม 2 ชนิดของ N. rajah ที่มีชื่อว่า : N. × alisaputrana และ N. × kinabaluensis มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่ 2 ของไซเตส และชนิดหลังถูกจัดอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ (EN (D) ) โดย IUCN[70]
Nepenthes × alisaputrana
[แก้]N. × alisaputrana (ชื่อเดิม : "Nepenthes × alisaputraiana") [71] ถูกตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ดาทูต แลมรี อารี (Datuk Lamri Ali) ผู้อำนวยการของอุทยานแห่งซาติรัฐซาบะฮ์ พบในอุทยานแห่งชาติกีนาบาลูในที่เปิดโล่งบนดินเซอเพนทีนเหนือระดับน้ำทะเล 2000 เมตร บ่อยครั้งพบอยู่ท่ามกลาง N. burbidgeae หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้มีชื่อเสียงจากการรวมลักษณะเด่นที่เกิดจากพ่อแม่ไว้ด้วยกัน โดยได้หม้อขนาดใหญ่จาก N. rajah (สูง ≤35 เซนติเมตร, กว้าง ≤20 เซนติเมตร) [72] ซึ่งไม่มีลูกผสมอื่นของ N. rajah จะเทียบเท่าได้ และได้ความสวยเด่นจาก N. burbidgeae มีเพอริสโตมกว้าง ฝาขนาดใหญ่ โค้งที่เหมือนกัน แต่กระนั้น N. × alisaputrana ก็คล้ายกับ N. rajah มากกว่า N. burbidgeae แต่สามารถแยกชนิดออกจาก N. rajah ได้ โดยต่างกันตรงรูปทรงของฝาหม้อ มีขนสีน้ำตาลสั้นปกคลุม มีสันแคบทรงกระบอกรอบปาก สีของหม้อมีสีเหลือง-เขียว มีจุดแดงหรือน้ำตาล และด้วยเหตุนี้ฟิลลิปซ์และแลมบ์ (ค.ศ. 1996) จึงให้ชื่อสามัญว่า Leopard pitcher-plant หรือ หม้อข้าวหม้อแกงลิงเสือดาว แม้ว่าชื่อนี้ไม่เป็นที่นิยมนัก เพอริสโตมมีสีเขียวถึงแดงดำมีแถบสีม่วง ใบบางรูปโล่ ต้นเลื้อยไต่ได้ดีและผลิตหม้อบนได้บ่อยและง่ายกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อก่อนก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นในรูปวาดใน Insect Eating Plants & How To Grow Them (พืชกินแมลงและการปลูกเลี้ยง) โดยอันเรียน แสลก (Adrian Slack) ปี ค.ศ. 1986) ในรูปวาดหม้อของ N. rajah กลับวาดเป็นหม้อของ N. burbidgeae × N. rajah[73][74]
Nepenthes × kinabaluensis
[แก้]N. × kinabaluensis เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงอีกชนิดหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีหม้อขนาดใหญ่ถึงจะไม่เท่ากับ N. rajah หรือ N. × alisaputrana เป็นลูกผสมทางธรรมชาติของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่โดดเด่น 2 ชนิดบนเกาะบอร์เนียว นั่นก็คือ N. rajah และ N. villosa N. × kinabaluensis สามารถพบได้ที่ภูเขากีนาบาลูเพียงที่เดียวเท่านั้น (จึงเป็นที่มาของชื่อ) และในภูเขาตัมบูยูกอนที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเป็นที่พ่อและแม่ของมันอยู่ร่วมกัน[75] เราสามารถพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จากทางเดินใกล้ถ้ำพากา (Paka) และ หลาย ๆ สถานที่ตามเส้นทางบนสันเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ ที่วางตัวอยู่ทางด้านตะวันตกของส่วนบนของแม่น้ำโกโลปิส (Kolopis) [76] สถานที่ที่เดียวที่เข้าถึงได้จากสถานที่ข้างต้นหรือที่รู้จักกันในชื่อเส้นทางสู่ยอดกีนาบาลู พบได้ระหว่างลายัง-ลายัง (Layang-Layang) และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สถานที่ที่มันขึ้นสูงประมาณ 2900 เมตรโดยไม่มีต้น Dacrydium gibbsiae และต้น Leptospermum recurvum ปกคลุม N. × kinabaluensis กระจายตัวที่ความสูง 2420 - 3030 เมตรจากระดับน้ำทะเล[20] มันขึ้นในที่โล่งของป่าเมฆ ลูกผสมชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่ได้จาก N. rajah คือสันที่ยกสูงที่ด้านในขอบเพอริสโตมและฟันที่ยาว มีปุ่มมากกว่าที่พบใน N. rajah และมีรูปร่างคล้ายแม่ของมัน (N. villosa มีสันปากที่ยกสูง) เพอริสโตมหยาบและแผ่ออก (แต่ไม่เป็นจักเหมือน N. rajah) ฝาหม้อกลมหรือรูปไตและแบน โดยทั่วไปหม้อมีขนาดใหญ่กว่าหม้อของ N. villosa และสายดิ่งต่อจากใต้ปลายใบห่างจากยอดประมาณ 1–2 เซนติเมตร คล้ายกับ N. rajah[77] ในต้นที่มีอายุมากสายดิ่งจะมีลักษณะคล้ายไม้ N. × kinabaluensis มีขนอุยปกคลุมหม้อและขอบใบกลาง ๆ ระหว่างพ่อและแม่ หม้อล่างมีปีกชายครุย 2 ปีก ส่วนหม้อบนปีกจะหายไป สีของหม้อมีความหลากหลายจากสีเหลืองถึงสีเลือดหมู N. × kinabaluensis ผลิตหม้อบนได้ง่ายกว่าพ่อและแม่ ลักษณะทั่วไปจะอยู่กึ่งกลางระหว่างพ่อและแม่ทำให้ง่ายต่อการระบุบมันออกจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่นของเกาะบอร์เนียว อย่างไรก็ตามก็ยังเกิดความสับสนขึ้นได้ เมื่อมันถูกระบุบเป็น N. rajah ใน Letts Guide to Carnivorous Plants of the World (Cheers, 1992) [78]
N. × kinabaluensis ถูกเก็บได้ครั้งแรกใกล้กับกัมบารังโอะห์ (Kambarangoh) โดยลิเลียน กิบบส์ (Lilian Gibbs) ในปี ค.ศ. 1910 และถูกจัดจำแนกโดยแมกฟาร์แลนเป็น "Nepenthes sp." ในปี ค.ศ. 1914[79] ถึงแม้ว่าแมกฟาร์แลนจะไม่ตั้งชื่อให้ต้นไม้ แต่เขาบันทึกไว้ว่า "จากรูปร่างลักษณะที่เห็นแสดงว่ามันเป็นลูกผสมระหว่าง N. villosa และ N. rajah"[80] มันได้ถูกจัดจำแนกครั้งสุดท้ายโดยคุระตะในปี ค.ศ. 1976 ว่า N. × kinabaluensis แต่ชื่อของมันกลับถูกเผยแพร่ในชื่อของ "หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งภูเขากีนาบาลู (Nepenthes of Mount Kinabalu) " เพราะ "kinabaluensis" เป็นชื่อตั้งไร้คำบรรยายจากการที่มันมีรายละเอียดไม่เพียงพอและข้อมูลที่ขาดคลานในตัวอย่าง ต่อมาชื่อถูกเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งโดยคุระตะในปี ค.ศ. 1984[81] และโดยอดัมและวิลคักในปี ค.ศ. 1996[82]
ลูกผสมหรือสปีชีส์?
[แก้]N. × alisaputrana และ N. × kinabaluensis สามารถสืบพันธุ์ได้ และเหตุนี้อาจมีการผสมระหว่างพวกมันเอง ไคลฟ์ เอ. สทีซ (Clive A. Stace) เขียนไว้ว่า
ลูกผสมที่เสถียรเมื่อมันมีการพัฒนาการกระจายพันธุ์, รูปร่างลักษณะ หรือพันธุกรรมของลักษณะจนห่างไกลที่จะเชื่อมโยงเข้ากับพ่อและแม่ของมัน, ... ถ้าลูกผสมกลายเป็นอิสระ, จำได้, สืบพันธุ์ด้วยตัวเอง, มันเป็น de facto (แท้จริง) คนละชนิดกัน[83]
N. hurrelliana และ N. murudensis เป็น 2 ชนิดตัวอย่างที่คาดกันว่าเป็นลูกผสมดั้งเดิม ส่วน N. × alisaputrana และ N. × kinabaluensis จะเสถียรเพียงพอที่จะเป็นชนิดใหม่หรือไม่ยังต้องมีการพิจารณา[20]กันต่อไป อันที่จริง N. kinabaluensis ถูกพรรณนาลักษณะเป็นสปีชีส์โดยเจ.เอช. อด้ม (J. H. Adam) และ ซี.ซี. วิลคัก (C. C. Wilcock) ในปี ค.ศ. 1996 อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะรองรับและก็ยังไม่มีการตีพิมพ์ในผลงานอื่น ๆ อีกเลย
เพราะดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นของมันในธรรมชาติ ลูกผสมระหว่างหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดที่เข้าคู่กัน สามารถแสดงออกมาเหมือนพ่อหรือแม่หรือทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับชนิดไหนเป็นแม่ชนิดไหนเป็นพ่อ เมื่อมีการผสมเพศเมีย (หรือฝัก) จะถูกอ้างอิงเป็นอันดับแรก ตามด้วยเพศผู้ (หรือเรณู) นี้คือความแบ่งแยกที่สำคัญมาก ลูกผสมปกติจะแสดงรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันตามชนิดที่ถูกผสม ฝักของแม่จะมีอำนาจเหนือกว่าในแทบทุก ๆ เรื่องและในกรณีลูกผสมจะคล้ายแม่มากกว่าพ่อที่ได้เรณูมา N. × kinabaluensis ในป่าส่วนมากจะแสดงลักษณะเกี่ยวดองกับ N. rajah มากกว่า N. villosa และเหตุนี้จึงคิดว่าน่าจะเป็น N. rajah × N. villosa อย่างไรก็ตามยังมีตัวอย่างที่พบว่าคล้าย N. villosa มากกว่า แสดงให้เห็นว่าอาจมีการผสมกลับกัน (ดู ภาพ เก็บถาวร 2011-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) เหมือนกับลูกผสม N. rajah อื่น ๆ ที่ไม่รู้ว่าลูกผสมนี้สืบพันธุ์ได้หรือไม่และนี้เป็นรากฐานความไม่แน่นอนที่เพิ่มในสับสนในความแตกต่างระหว่างลูกผสมที่เสถียรและชนิด
การปลูกเลี้ยง
[แก้]- ดูเพิ่ม: การปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง
Nepenthes rajah เป็นหนึ่งในหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ปลูกเลี้ยงได้ยากมาก
สิ่งแวดล้อม
[แก้]N. rajah เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ขึ้นบนภูเขาหรือเป็น "พืชที่สูง" โดยขึ้นสูงจากระดับน้ำทะเล 1500 - 2650 เมตร ดังนั้นจึงต้องการสภาพอากาศที่อุณหภูมิประมาณ 25 - 30 ℃[84] ในตอนกลางวัน และ อากาศเย็นในตอนกลางคืน อุณหภูมิประมาณ 10 - 15 ℃[84] นี่คือข้อสำคัญ แต่มันก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น (พออลุ่มอล่วยได้ ขอให้อยู่ในระดับนั้น) แต่อุณหภูมิในตอนกลางคืนต้องลดลงประมาณ 10 ℃ หรือมากกว่านั้นจากตอนกลางวัน นี่เป็นความต้องการที่สำคัญและเพิกเฉยไม่ได้ เพราะในระยะยาวจะทำต้นไม้ตาย หรืออย่างน้อยที่สุดก็แคระแกร็น
มันก็เหมือนหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดอื่น ที่ต้องการอากาศชื้นประมาณ 75% R.H.[84] จึงจะเติบโตได้ดีที่สุด และเพิ่มประมาณ 90% R.H. ในตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม N. rajah ทนต่อความชื้นที่แกว่งไปมาได้ และทนเป็นพิเศษเมื่อยังเล็ก แต่มีข้อแม้ว่าไม่ควรต่ำกว่า 50% R.H. ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องควบคุมความชื้นสัมพัทธ์จำหน่ายแล้ว
ในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ N. rajah ขึ้นในพื้นที่เปิดที่มันได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยงหลายคนได้ใช้โคมไฟเม็ตทอล ฮาลไลด์ (metal halide lamp) ในระดับ 500–1000 วัตต์ แทนแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ประสบความสำเร็จ โดยควรแขวนโคมสูงจากต้นไม้ 1 - 2 เมตร[84]ขึ้นกับสถานที่ ผู้เลี้ยงสามารถใช้แสงอาทิตย์โดยตรงก็ได้ แต่แนะนำสำหรับผู้เลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรที่มีแสงจัดเพียงพอสำหรับต้นไม้ และต้องได้รับแสง 12 ชั่วโมงให้เหมือนกับที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เพราะบอร์เนียวอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร[84]
เครื่องปลูกและการให้น้ำ
[แก้]สแฟกนัม มอสส์แบบเส้นใยยาว ๆ เป็นเครื่องปลูกที่เหมาะสมที่สุด หรือจะผสม พีทมอสส์, เพอร์ไลต์, เวอร์มิคูไลต์, ทราย, หินภูเขาไฟ, หินพัมมิซ, รากชายผ้าสีดา, เปลือกและรากกล้วยไม้ และ ถ่าน ลงไปด้วยก็ได้ เครื่องปลูกต้องระบายน้ำได้ดีแต่ไม่จับตัวกันแน่น และต้องชุ่มน้ำทั่วกระถางเมื่อมีการให้น้ำ และใช้มอสส์คลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้น
N. rajah มีระบบรากที่แผ่กว้างถึงต้องใช้กระถางที่มีขนาดกว้างเพียงพอสำหรับระบบรากของมัน[84] อย่าเปลี่ยนกระถางบ่อยเพราะต้นไม้จะชะงักหรืออาจตายได้[84]
น้ำที่ใช้แนะนำเป็นน้ำบริสุทธิ์ แม้ว่าจะใช้น้ำกระด้าง N. rajah ก็สามารถทนได้ แต่จะทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุและปฏิกิริยาทางเคมีในเครื่องปลูกได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อต้นไม้ในระยะยาว น้ำที่ให้ควรมีความสะอาดมากกว่า 100 p.p.m. ของสิ่งเจือปน[85] จะเป็นน้ำที่ผ่านกระบวนการออสโมซิสผันกลับ (reverse osmosis) หรือจะเป็นน้ำกลั่นก็ได้ ควรให้น้ำเป็นเวลา แต่ไม่ควรหล่อน้ำทิ้งไว้เพราะจะทำให้รากเน่าได้
การให้อาหารและการให้ปุ๋ย
[แก้]N. rajah เป็นพืชกินสัตว์ที่ต้องการสารอาหารแหล่งอื่นเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากดิน มันจึงจับเหยื่อเพื่อชดเชยแร่ธาตุที่ขาดแคลนเช่น ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม ในธรรมชาติสารอาหารของพืชสกุลนี้นอกจากที่ได้รับจากดินแล้วมันยังรวมถึงได้จากแมลงหรือเหยื่ออื่น ๆ ที่มันจับได้ แม้ว่ามันอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญในการปลูกเลี้ยง จากการทดลองของฟาร์มเพาะเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง[86] ปรากฏว่า"แร่ธาตุรองมีผลทำให้ใบมีสีสันที่ดีขึ้น มีแต่ประโยชน์โดยไม่มีโทษแต่อย่างใด" แต่อย่างไรก็ดีการทดลองนี้ก็ยังต้องมีการตรวจสอบผลการทดลอง จิ้งหรีดนั้นเหมาะสมที่สุดทั้งขนาดและราคา มันสามารถหาซื้อได้ง่าย วิธีให้ก็แค่ใส่มันลงไปในหม้อ ไม่ว่าทั้งยังเป็น ๆ หรือตายแล้วก็ได้
การให้ปุ๋ยเคมี (ที่ประกอบไปด้วย NPK) นั้น พบว่าถ้าให้มากเกินไป "จะทำลายต้นไม้และทำให้เกิดโรคได้ง่าย ซึ่งไม่มีประโยชน์" ดังนั้นการใช้ปุ๋ยเคมีควรใช้เจือจางกว่าที่ระบุบในฉลาก
จำไว้ว่าถ้าต้องการจะปลูกเลี้ยงให้สำเร็จ ให้ได้ดีนั้น เราต้องพยายามจำลองสภาพแวดล้อมจากถิ่นที่อยู่ของพืชชนิดนั้น ๆ ให้ได้ ที่สำคัญ N. rajah เป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่โตช้ามาก และใช้เวลาถึง 10 ปี จึงจะมีดอกนับตั้งแต่งอกจากเมล็ด และอาจใช้เวลาถึง 100 ปีจึงจะโตเต็มที่ ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เปลี่ยนไป N. rajah อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป
ความเข้าใจผิด
[แก้]ความที่ Nepenthes rajah เป็นที่รู้จักและต้องการอย่างมากมานานกว่าศตวรรษ ทำให้มีเรื่องเล่าขานมากมายเกี่ยวกับมัน ตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับตำนานที่มีชื่อเสียงของมันก็คือ N. rajah จะเติบโตเฉพาะในบริเวณที่มีละอองน้ำของน้ำตก บนดินที่มีธาตุเหล็กและแมกนีเซียมสูง (ดินอัลตราเมฟิก, ดินลูกรัง) ถึงแม้ว่าอย่างหลังจะเป็นจริง แต่ไม่พบ N. rajah แม้แต่ต้นเดียวในบริเวณละอองน้ำตก และเรื่องเล่านั้นดูเหมือนจะมีข้อเท็จจริงอยู่น้อยมาก[2] เหมือนความเข้าใจผิดนี้ถูกทำให้เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางโดยไซเกะโอะ คุระตะในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า Nepenthes of Mount Kinabalu (หม้อข้าวหม้อแกงลิงแห่งภูเขากีนาบาลู) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1976 ได้เขียนไว้ว่า
N. rajah มักพบในพื้นที่เปียกชื้นเช่นหนองน้ำหรือรอบบริเวณน้ำตก[7]
จากข้อเล่าลือจากข้อความบรรทัดบนนั้น ในข้อเท็จจริงแล้ว N. rajah นั้นขึ้นในบริเวณใกล้เคียงน้ำตก (บันทึกโดย ฮิวโก สไทเนอร์ (Hugo Steiner) , ค.ศ. 2002) "เป็นบริเวณที่มีอากาศชื้นเหมือนถูกจัดเตรียมไว้"[20] มันอาจเป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดนี้ขึ้นมา
ส่วนเรื่องเล่าอื่น ๆ ก็อย่างเช่น มันสามารถดักจับลิงตัวเล็ก ๆ หรือสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ ด้วยหม้อของมันได้ เช่นเดียวกับเรื่องเล่าลือทั้งหลายที่ถูกเล่าจนฝังใจกันมาเป็นเวลานาน แต่ก็สามารถอธิบายถึงความเข้าใจผิดในชนิดอื่น ๆ ได้[87] และมันน่าสนใจตรงในบันทึกของชื่อเรียกสามัญของหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เรียกว่า หม้อแกงลิง (Monkey Cups) นั้นเป็นชื่อที่มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ลิงมักจะมาดื่มน้ำฝนจากหม้อของพืชชนิดนี้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่านี้ยังมีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Clarke, Cantley, Nerz, Rischer & Wistuba 2000.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Clarke 1997, p. 123.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Hooker 1859.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Clarke 1997, p. 122.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Focus: Rajah Brooke's Pitcher PlantPDF (111 KB)
- ↑ 6.0 6.1 Phillipps 1988, p. 55.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Kurata 1976, p. 61.
- ↑ Masters 1881.
- ↑ Reginald 1883.
- ↑ Hemsley 1905.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Danser 1928, 38.
- ↑ 12.0 12.1 Phillipps & Lamb 1996, p. 129.
- ↑ 13.0 13.1 Gibson 1983.
- ↑ 14.0 14.1 Clarke 1997, pp. 120, 122.
- ↑ Clarke 1997, pp. 10, 120.
- ↑ 16.0 16.1 Clarke 2001b, p. 7.
- ↑ Clarke 2001b, p. 26.
- ↑ Clarke & Kruger 2005.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Clarke 1997, p. 120.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Steiner 2002, p. 112.
- ↑ 21.0 21.1 Clarke 1997, p. 33.
- ↑ Moran 1991.
- ↑ "I once found a perfect mouse skeleton in a pitcher of N. rafflesiana" เก็บถาวร 2003-10-19 ที่ archive.today — Ch'ien Lee
- ↑ [Anonymous] 2006.
- ↑ Beaver 1979, pp. 1–10.
- ↑ Clarke 1997, pp. 42–43.
- ↑ Tsukamoto 1989, p. 216.
- ↑ 28.0 28.1 Tsukamoto 1989, p. 220.
- ↑ Edwards 1931, pp. 25–28.
- ↑ Burbidge 1880.
- ↑ Beck von Mannagetta, G. Ritter 1895.
- ↑ Macfarlane 1908, pp. 1–91.
- ↑ Clarke 2001a, pp. 81–82.
- ↑ Clarke 2001a, p. 82.
- ↑ Fairbrothers, Mabry, Scogin & Turner 1975.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Adam, Omar & Wilcock 2002, p. 623.
- ↑ Som 1988.
- ↑ Jay & Lebreton 1972, pp. 607–613.
- ↑ Adam, Omar & Wilcock 2002, p. 624.
- ↑ Meimberg et al. 2006
- ↑ 41.0 41.1 41.2 41.3 Meimberg et al. 2001
- ↑ Nerz & Wistuba 2007.
- ↑ St. John 1862, pp. 324, 334.
- ↑ Phillipps & Lamb 1996, p. 20.
- ↑ [Anonymous] 1881.
- ↑ 46.0 46.1 46.2 Phillipps & Lamb 1996, p. 22.
- ↑ Phillipps & Lamb 1996, p. 21.
- ↑ Phillipps & Lamb 1996, p. 18.
- ↑ Ellis 2000.
- ↑ "Sabah Ministry of Tourism, Culture and Environment Homepage". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-23. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
- ↑ Adlassnig, Peroutka, Lambers & Lichtscheidl 2005.
- ↑ Clarke 2001b.
- ↑ Kaul 1982.
- ↑ "Vegetation Zones on Mount Kinabalu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-09-15. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
- ↑ Clarke 1997, p. 2.
- ↑ Clarke 1997, p. 29.
- ↑ "Wildlife Conservation Enactment 1997". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-27. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
- ↑ APPENDICES I AND II as adopted by the Conference of the PartiesPDF (120 KiB)
- ↑ Clarke 2001b, p. 29.
- ↑ Clarke 1997, pp. 170–172.
- ↑ Simpson 1991.
- ↑ Clarke 1997, p. 172.
- ↑ "Nineteenth meeting of the Animals Committee. Geneva (Switzerland) , 18–21 August 2003". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-28. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
- ↑ Clarke 2001a, p. 236.
- ↑ 65.0 65.1 Clarke 2001b, p. 38.
- ↑ Malouf 1995, p. 68.
- ↑ Kurata 1976, p. 64–65.
- ↑ Clarke 1997, p. 143.
- ↑ Steiner 2002, p. 124.
- ↑ Arx, Schlauer & Groves 2001, p. 44.
- ↑ Adam & Wilcock 1992.
- ↑ Clarke 2001b, p. 10.
- ↑ Clarke 1997, p. 157.
- ↑ Slack 1986.
- ↑ Clarke 1997, pp. 165–167.
- ↑ Kurata 1976, p. 65.
- ↑ Clarke 2001b, p. 19.
- ↑ Cheers 1992.
- ↑ Kurata 1976, p. 64.
- ↑ Macfarlane 1914, p. 127.
- ↑ Kurata 1984.
- ↑ Adam & Wilcock 1996.
- ↑ Stace 1980.
- ↑ 84.0 84.1 84.2 84.3 84.4 84.5 84.6 "On the Cultivation of Nepenthes rajah". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-11. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
- ↑ D'Amato 1998, p. 7.
- ↑ "Nepenthes Cultivation and Growing Guides". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-21. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
- ↑ D'Amato 1998, XV.
|
|
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ทั่วไป
[แก้]- Focus: Rajah Brooke's Pitcher Plant
- Captive Exotics Gallery: Nepenthes rajah เก็บถาวร 27 กันยายน 2013 ที่ archive.today
- Die Karnivoren-Datenbank: Nepenthes rajah (เยอรมัน)
รูปภาพ
[แก้]- Photographs of N. rajah in its natural habitat
- Images of N. rajah in natural habitat and tissue culture เก็บถาวร 2005-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Borneo Exotics: Nepenthes rajah เก็บถาวร 2005-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
การเพาะปลูก
[แก้]- N. rajah Cultivation Notes เก็บถาวร 2002-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Further Cultivation Notes เก็บถาวร 2006-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Plants with Attitude: Nepenthes rajah
- Growth of plant in cultivation over several years เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Large plants in cultivation เก็บถาวร 2004-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อื่น ๆ
[แก้]- The International Plant Names Index: Nepenthes rajah
- Nepenthes rajah entry from Danser's Monograph เก็บถาวร 2006-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- IUCN Red List of Threatened Species: Nepenthes rajah