ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด
ส่วนหนึ่งของชุดการเมือง |
ระบบการลงคะแนน |
---|
สถานีย่อยการเมือง |
ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (อังกฤษ: first-past-the-post; ย่อ: FPTP หรือ FPP) หรือบางกรณีเรียกอย่างเป็นทางการว่า ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าแบบผู้แทนเขตละหนึ่งคน (อังกฤษ: Single-member plurality voting; ย่อ: SMP) เป็นระบบการเลือกตั้งซึ่งผู้ออกเสียงลงคะแนนระบุผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ตนเลือกในบัตรเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดชนะ บางทีเรียกระบบเลือกตั้งแบบนี้ว่า "ผู้ชนะกินรวบ" (winner takes all) การออกเสียงลงคะแนนแบบระบบแบ่งเขตคะแนนสุงสุดนี้เป็นวิธีการลงคะแนนแบบใช้คะแนนนำ (ไม่จำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดของเขตนั้น)[1] ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดเป็นคุณลักษณะที่พบได้ทั่วไปของระบบเลือกตั้งที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบผู้แทนคนเดียว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และมีการใช้ระบบดังกล่าวในประเทศเกือบหนึ่งในสามของโลก ตัวอย่างเช่น แคนาดา อินเดีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ตลอดจนอาณานิคมและดินแดนในอารักขาทั้งในปัจจุบันและอดีต
หลายประเทศใช้ระบบแบ่งคะแนนสูงสุดนี้กับการเลือกตั้ง โดยนิยมใช้คู่กับระบบสัดส่วนแบบไม่มีการชดเชยที่นั่ง ตัวอย่างเช่น การลงคะแนนระบบคู่ขนาน ในบางประเทศนิยมใช้ระบบสัดส่วนแบบมีการชดเชยที่นั่ง เช่น ระบบลงคะแนนแบบสัดส่วนผสม หรือระบบลงคะแนนเสียงเดียวผสม ในบางประเทศที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแบบสัดส่วนนั้นจะใช้ระบบคะแนนสูงสุดในการเลือกประมุขแห่งรัฐ
ระบบแบ่งคะแนนสูงสุดสามารถใช้ได้ทั้งเขตเลือกตั้งแบบผู้แทนคนเดียว หรือหลายคนก็ได้ โดยในเขตที่มีผู้แทนเพียงคนเดียว ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด (ไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง) ชนะการเลือกตั้ง ส่วนในเขตที่มีผู้แทนหลายคน ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดโดยเรียงลำดับคะแนนสูงสุดลงมา จะชนะการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้งที่มีสามที่นั่ง ผู้มีสิทธิลงคะแนนไม่เกินสามคะแนน และผู้สมัครจำนวนสามคนที่มีคะแนนสูงสุดชนะการเลือกตั้งในเขตนั้น
ในระบบการเลือกตั้งแบบหลายรอบ (รันออฟ) ใช้ระบบนี้ในการนับคะแนนในแต่ละรอบ โดยในรอบแรกขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละการเลือกตั้ง จะเป็นตัวตัดสินว่าผู้สมัครรายใดจะได้เข้าไปในรอบที่สอง และ/หรือรอบสุดท้าย
กรณีศึกษา
[แก้]ในระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดนั้นผู้ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้รับเลือกตั้ง ในกรณีศึกษาตัวอย่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ในปีค.ศ. 2011 ผู้สมัครประธานาธิบดี โทนี ตัน ได้รับคะแนนเสียงรวมมากว่าผู้สมัครรายอื่นทั้งหมด ดังนั้นเขาจึงได้รับชัยชนะไปถึงแม้ผู้สมัครในลำดับที่สองนั้นได้รับคะแนนน้อยกว่าเพียงร้อยละ 0.35 เท่านั้น โดยหากพิจารณาจากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดนั้น โทนี ตันไม่ได้รับเสียงข้างมาก (คะแนนเสียงที่ไม่ได้เลือกโทนี ตันมีมากถึงร้อยละ 64.8)
ผู้สมัคร | คะแนน | % |
---|---|---|
โทนี ตัน | 745,693 | 35.20 |
เอเดรียน ตัน | 738,311 | 34.85 |
ตัน จี เซ | 530,441 | 25.04 |
ตัน กิน เลียน | 104,095 | 4.91 |
รวม | 2,118,540 | 100.00 |
ที่มา:Singapore Elections เก็บถาวร 2022-04-20 ที่ archive.today |
ผลกระทบ
[แก้]ระบบการเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบง่าย เพราะง่ายต่อการจัดการเลือกตั้ง ไม่ต้องสนใจว่าผู้ได้รับเลือกตั้งจะได้คะแนนเท่าใด ขอให้ชนะเป็นที่หนึ่งในเขตนั้นก็ใช้ได้ ซึ่งความง่ายของการเลือกตั้งในระบบนี้กลับเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นระบบที่ไม่ชอบธรรม เพราะในการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ผลการเลือกตั้งมักปรากฏว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งได้รับคะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้ที่เลือกผู้สมัครจากพรรคอื่นหรือคนอื่นที่เหลือกว่าร้อยละ 50 กลับไม่มีผลใดๆ และไม่มีที่นั่งในสภาที่จะเป็นปากเสียงแทนประชาชนส่วนใหญ่ที่เหลือทั้งหมด[2]
ผลกระทบหลักของการลงคะแนนแบบนี้คือ พรรคการเมืองใหญ่ที่มีความนิยมจะได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นโดยไม่เป็นสัดส่วน โดยอาจทำให้พรรคการเมืองนั้นสามารถมีเสียงข้างมากในสภาได้เพียงพรรคเดียว ในสหราชอาณาจักร จากการเลือกตั้งทั้งหมด 24 ครั้ง ตั้งแต่ปีค.ศ. 1922 มีถึง 19 ครั้ง ที่ได้รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2005
พรรคการเมือง | ที่นั่ง | ที่นั่ง % | คะแนน % | คะแนน |
---|---|---|---|---|
แรงงาน | 355 | 56.5 | 36.1 | 9,552,436 |
อนุรักษนิยม | 198 | 31.5 | 33.2 | 8,782,192 |
เสรีประชาธิปไตย | 62 | 9.9 | 22.6 | 5,985,454 |
ชาติสกอต | 6 | 1.0 | 1.6 | 412,267 |
ไพลด์คัมรี | 3 | 0.5 | 0.7 | 174,838 |
อื่นๆ | 4 | 0.6 | 5.7 | 1,523,716 |
รวมทั้งสิ้น | 628 | 26,430,908 |
ในตัวอย่างข้างต้น พรรคแรงงานได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 36 ของผู้เลือกตั้งทั้งประเทศเท่านั้น โดยสองพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดรวมกันเป็นร้อยละ 69 ของคะแนนทั้งหมด และร้อยละ 88 ของที่นั่ง ในทางกลับกันพรรคเสรีประชาธิปไตยนั้นได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 20 แต่ได้ที่นั่งเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ระบบการลงคะแนนนี้จะช่วยปัญหาด้านคะแนนเสียงสูญเปล่าหากใช้ในการเลือกตั้งแบบสองพรรค
ปัญหาด้านคะแนนสูญและรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ลงคะแนนจำนวนมากออกเสียงลงคะแนนให้พรรคการเมืองจำนวนมากกว่าสามพรรคขึ้นไปดังเช่นในแคนาดา ประเทศแคนาดาใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดเช่นกัน แต่มีแค่ผลการเลือกตั้งเพียงสองครั้งจากทั้งหมดหกครั้งที่เกิดรัฐบาลเสียงข้างมาก
ข้อสนับสนุน
[แก้]ผู้สนับสนุนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดล้วนเห็นตรงกันว่าระบบนี้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และบัตรลงคะแนนง่ายต่อการนับและจัดการมากกว่าบัตรลงคะแนนในแบบจัดลำดับ
ผลการเลือกตั้งจากระบบการลงคะแนนนี้เอื้อต่อการมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา[3] จึงสามารถให้อำนาจแก่รัฐบาลในด้านนิติบัญญัติที่จำเป็นต่อการจัดสรรและผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศที่นโยบายด้านนิติบัญญัติของรัฐบาลที่ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมากจากประชาชน แต่อย่างไรก็ตามหากเมื่อใดที่รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัตินั้นไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนแล้วอาจมีปัญหาว่านโยบายต่างๆ นั้นเอื้อประโยชน์ให้เพียงแก่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาล (ซึ่งจะเห็นได้ชัดในกรณีที่เขตเลือกตั้งแบ่งชัดเจนเป็นกลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มศาสนา หรือกลุ่มประชาชนต่างจังหวัด/ในเมือง)
นอกจากนี้ผู้สนับสนุนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดยังกล่าวถึงระบบสัดส่วน (PR) ซึ่งมักจะทำให้เกิดพรรคขนาดเล็กจำนวนมากซึ่งมักจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศโดยใช้อำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองใหญ่ (ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการใช้เกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำ) โดยระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดนั้นจะไม่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นยกเว้นแต่ในกรณีที่พรรคการเมืองนั้นมีคะแนนนิยมมากในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง โดยนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ฮาเร็ตซ์ของอิสราเอลกล่าวถึงปัญหาของรัฐสภาอิสราเอลซึ่งมีความเป็นสัดส่วนมากนั้น "ให้อำนาจมากแก่พรรคการเมืองขนาดเล็กโดยบังคับให้รัฐบาลจะต้องยอมแก่การแบล็กเมลเพื่อแลกกับข้อตกลงทางการเมือง"[4][5] โทนี แบลร์กล่าวสนับสนุนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดว่าระบบอื่นๆ ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีอำนาจมาก ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลมากกว่าคะแนนเสียงที่พรรคเล็กนั้นได้รับ[6]
การยอมให้ผู้ใดเข้ามานั่งในรัฐสภาที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งของตนนั้น ถูกกล่าวไว้โดยเดวิด แคเมอรอนว่าเป็นการ "ทำให้รัฐสภานั้นเต็มไปด้วยตัวเลือกรองที่ไม่มีใครต้องการและก็ไม่มีใครค้านเช่นกัน"[7] วินสตัน เชอร์ชิลวิจารณ์ถึงระบบคะแนนเสียงเผื่อเลือกว่า "เป็นระบบที่ได้คะแนนที่ไม่มีคุณค่าจำนวนมากซึ่งลงให้กับผู้สมัครที่ไม่มีคุณค่าที่สุด"[8]
ข้อวิจารณ์
[แก้]จำนวนผู้แทนไม่สอดคล้อง
[แก้]ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดมักได้รับการวิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการสะท้อนถึงคะแนนเสียงโดยรวมต่อจำนวนที่นั่งในสภาที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้รับ โดยกล่าวได้ว่าความต้องการพื้นฐานของระบบการเลือกตั้งนั้นคือการเลือกผู้แทนให้เหมาะสมกับจำนวนของคะแนนเสียงซึ่งระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ โดยมักจะทำให้เกิด "เสียงข้างมากแบบผิดๆ" โดยพรรคการเมืองใหญ่จะได้รับที่นั่งมากเกิน (มีเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติแต่ไม่ได้รับเสียงข้างมากในคะแนนนิยมของพรรค) และพรรคการเมืองเล็กจะได้รับที่นั่งน้อยเกินไป จากรูปภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งทั่วไปในแคนาดา ปีค.ศ. 2015 แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องของจำนวนที่นั่งในสภาต่อคะแนนนิยม
เสียงข้างมากกลับ
[แก้]เสียงข้างมากกลับ (majority reversal) หรือ การเลือกตั้งแบบกลับหัวกลับหาง (election inversion)[9][10] คือสถานการณ์ที่พรรคการเมืองใดได้รับคะแนนนิยมรวมเสียงข้างมากแต่แพ้การเลือกตั้ง หรือไม่ได้รับที่นั่งเป็นจำนวนเสียงข้างมาก ตัวอย่างสำคัญที่เกิดขึ้นแก่พรรคการเมืองอันดับสอง (นับจากคะแนนนิยมทั้งประเทศ) ที่ได้รับที่นั่งเสียงข้างมากในสภาเกิดขึ้นในกานา ปีค.ศ. 2012 นิวซีแลนด์ ปีค.ศ. 1978 และ 1981 และในสหราชอาณาจักร ปีค.ศ. 1951 โดยกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นคือผลการเลือกตั้งในแคนาดา ปีค.ศ. 2019 ซึ่งพรรคการเมืองลำดับสอง (จากคะแนนนิยมทั้งประเทศ) ได้รับที่นั่งในสภาเกินกึ่งหนึ่ง
ถึงแม้ในกรณีพรรคการเมืองใดที่ชนะคะแนนนิยมมากว่าครึ่งหนึ่งในการแข่งขันแบบสองพรรคการเมือง ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองลำดับสองจะได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง โดยเกิดขึ้นในเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ในปีค.ศ. 1966 ค.ศ. 1998 และค.ศ. 2020 และในเบลีซ ปีค.ศ. 1993
ถึงแม้ว่าหากทุกที่นั่งจะต้องได้รับคะแนนนิยมเท่ากัน พรรคการเมืองอันดับสอง (นับจากคะแนนนิยมทั้งประเทศ) ยังสามารถชนะที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งได้โดยการแบ่งคะแนนเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การชนะที่นั่งด้วยคะแนนนำแบบฉิวเฉียดในเขตหนึ่งและการแพ้ด้วยคะแนนที่ห่างมากนั้นถือว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการชนะที่นั่งในเขตด้วยคะแนนนำแบบท่วมท้นและการแพ้ด้วยคะแนนฉิวเฉียด สำหรับการได้รับจำนวนที่นั่งเสียงข้างมากนั้นพรรคการเมืองเพียงจำเป็นต้องเอาชนะเพียงแค่ในเขตเลือกตั้งหลักๆ ที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีเพียงสองพรรคการเมืองกับจำนวนเขตเลือกตั้งที่เท่ากันก็หมายถึงแค่จำนวนคะแนนเสียงเพียงแค่หนึ่งส่วนสี่ของคะแนนทั้งหมดเท่านั้น
ปัญหาด้านภูมิศาสตร์
[แก้]โดยทั่วไปแล้วระบบการลงคะแนนนี้เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองที่สามารถกระชับคะแนนนิยมลงในเฉพาะเขตเลือกตั้งใดๆ (หรือกล่าวโดยรวมคือตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์) เนื่องจากจะทำให้สามารถชนะที่นั่งได้จำนวนมากและไม่ทำให้เกิดปัญหาคะแนนสูญในพื้นที่อื่นๆ
สมาคมเพื่อการปฏิรูประบบเลือกตั้งสหราชอาณาจักร (ERS) กล่าวไว้ว่าพรรคการเมืองระดับภูมิภาคนั้นล้วนได้ประโยชน์การระบบนี้ "ด้วยพื้นฐานด้านภูมิศาสตร์ พรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กแต่แข่งขันทั้งประเทศนั้นยังสามารถแข่งขันได้ดี"[11]
ในอีกด้านหนึ่ง พรรคการเมืองรองต่างๆ ที่ไม่สามารถกระชับคะแนนเสียงได้ในพื้นที่ใดๆ เลย มักจะได้รับที่นั่งเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าคะแนนเสียงที่ได้รับ เนื่องจากมักจะแพ้เกือบทุกที่นั่งที่แข่งขัน และทำให้คะแนนเกือบทั้งหมด "สูญเปล่า"[12]
นอกจากนี้สมาคมเพื่อการปฏิรูประบบเลือกตั้งสหราชอาณาจักร ยังกล่าวว่าระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนมากนั้น "พรรคการเมืองเล็กที่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ใดๆ นั้นจะชนะที่นั่งได้ยาก"[11]
กลุ่ม Make Votes Matter ของสหราชอาณาจักร กล่าวถึงผลการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 2017 ว่า "พรรคกรีน พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรค UKIP (ซึ่งล้วนเป็นพรรครอง และไม่มีฐานเสียงในพื้นที่) ได้รับคะแนนเสียงรวมทั้งหมดถึงร้อยละ 11 แต่ได้ที่นั่งในสภาเพียงร้อยละ 2" และในการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 2015 "พรรคการเมืองทั้งสามพรรคนี้ได้รับคะแนนเสียงรวมถึงเกือบร้อยละ 25 ของคะแนนเสียงทั้งหมด แต่ก็ยังได้รับส่วนแบ่งที่นั่งในสภาเพียงแค่ร้อยละ 1.5"[13]
โดยตามแผนภูมิด้านล่าง[14] พรรค UKIP ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสาม (3.9 ล้านคะแนน/ร้อยละ 12.6) แต่ได้ที่นั่งไปเพียงที่นั่งเดียว ซึ่งเท่ากับที่นั่งละ 3.9 ล้านคะแนน[13] ในขณะที่พรรคอนุรักษนิยมได้เพียงที่นั่งละ 34,000 คะแนนเท่านั้น
จำนวนผู้แทนตามภูมิศาสตร์ที่บิดเบือน
[แก้]ลักษณะเฉพาะของระบบการลงคะแนนนี้สามารถทำให้เกิดปัญหาจำนวนผู้แทนที่บิดเบือนได้อันเนื่องมาจากการสหสัมพันธ์ของคะแนนเสียงของพรรคการเมืองต่อพื้นที่ภูมิศาสตร์นั้นๆ
ตัวอย่างเช่น พรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรเป็นผู้แทนในที่นั่งเกือบทั้งหมดของเขตชนบทในอังกฤษ และเกือบทั้งหมดของอังกฤษตอนใต้ ในขณะที่พรรคแรงงานเป็นผู้แทนส่วนใหญ่ของเขตเมืองในอังกฤษเกือบทั้งหมดและเกือบทั้งหมดในอังกฤษตอนเหนือ รูปแบบนี้ซ่อนจำนวนคะแนนจำนวนมากของพรรคการเมืองรองอยู่ โดยพรรคการเมืองต่างๆ นั้นอาจจะกลายเป็นพรรคการเมืองจากพื้นที่สำคัญในแต่ละภาคที่ไม่มีผู้แทนในสภาเลยย่อมกระตุ้นให้ประชนชนเกิดความรู้สึกภูมิภาคนิยมมากขึ้น โดยผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเลือกเหล่านี้ย่อมกลายเป็นพลเมืองที่ไร้ผู้แทน
ในการเลือกตั้งทั่วไปในแคนาดา ปีค.ศ. 2019 พรรคอนุรักษนิยมเอาชนะไปถึงร้อยละ 98 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในรัฐอัลเบอร์ตา/รัฐซัสแคตเชวันด้วยคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 68 ซึ่งหมายความว่าประชาชนทั้งหมดที่ไม่ได้เลือกพรรคอนุรักษนิยมนั้นไม่มีผู้แทน โดยจากผลการเลือกตั้งนั้นทำให้ดูเหมือนว่าประชาชนทุกคนในสองรัฐนี้สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งในความจริงแล้วเป็นเพียงแค่คำกล่าวเกินจริง[15]
การลงคะแนนเชิงกลยุทธ์
[แก้]เช่นเดียวกันกับการลงคะแนนแบบอื่นๆ ระบบการลงคะแนนนี้เอื้อให้เกิดการลงคะแนนเชิงกลยุทธ์ขึ้น โดยผู้ลงคะแนนจะมีแรงจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้สมัครที่คาดว่าจะชนะ ซึ่งแทนที่จะเลือกผู้สมัครรายที่ชอบแต่อาจจะไม่มีโอกาสชนะได้โดยหากลงคะแนนเลือกไปจะทำให้คะแนนที่ออกเสียงไปสูญเปล่า
จึงสามารถสรุปได้อย่างสุดโต่งว่า "คะแนนเสียงทั้งหมดที่ออกเสียงให้แก่ผู้สมัครรายใดๆ ยกเว้นผู้ได้รับคะแนนเป็นอันดับที่สองนั้นถือเป็นคะแนนสำหรับผู้ชนะ" เนื่องจากเพราะว่าคะแนนเสียงสำหรับผู้สมัครรายอื่นๆ นั้นคือคะแนนเสียงที่ไม่สนับสนุนผู้สมัครอันดับสองซึ่งอาจจะกลายเป็นผู้ชนะแทนได้ โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ค.ศ. 2000 ผู้สนับสนุนอัล กอร์ ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตนั้นเชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาพ่ายแพ้แก่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน จอร์จ ดับเบิลยู บุช คือส่วนหนึ่งของคะแนนเสียง (ร้อยละ 2.7) ที่ลงคะแนนให้กับราลฟ์ นาเดอร์ จากพรรคกรีน และเอ็กซิทโพลล์ยังระบุว่าผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้คงจะเลือกกอร์ (ร้อยละ 45) มากกว่าบุช (ร้อยละ 27) โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ชี้ขาดโดยผลการเลือกตั้งในรัฐฟลอริดา ซึ่งบุชเอาชนะกอร์โดยคะแนนเสียงมากกว่าเพียง 537 คะแนน (ร้อยละ 0.0009) ซึ่งน้อยกว่าจำนวนคะแนนที่พรรคกรีนได้รับในรัฐฟลอริดาเป็นจำนวนมาก (97488 คะแนน หรือ ร้อยละ 1.635)
ในปวยร์โตรีโก มีแนวโน้มที่ผู้สนับสนุนพรรคเอกราชจะเปลี่ยนไปสนับสนุนผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยนิยมแทน โดยปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เกิดชัยชนะในหลายครั้งถึงแม้ว่าพรรคก้าวหน้าใหม่จะมีคะแนนเสียงมากที่สุดในเกาะ และยังได้รับการยอมรับว่าชาวปวยร์โตริโกนั้นเรียกเหล่าผู้สนับสนุนพรรคเอกราชที่ลงคะแนนให้กับพรรคประชาธิปไตยนิยมนั้นเป็น "แตงโม" เนื่องจากภายนอกนั้นเป็นสีเขียวแต่เนื้อในนั้นเป็นสีแดง (อิงตามสีประจำพรรค)
เนื่องจากผู้ลงคะแนนจะต้องคาดการณ์ผู้สมัครสองลำดับแรก ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจึงสามารถถูกบิดเบือนได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ผู้ลงคะแนนบางรายจะออกเสียงตามอย่างผู้ลงคะแนนคนอื่นๆ โดยย่อมเปลี่ยนแปลงความตั้งใจดั้งเดิมของผู้ลงคะแนน
- สื่อได้รับอำนาจมากเนื่องจากผู้ลงคะแนนบางคนจะเชื่อตามสื่อว่าผู้ใดคาดว่าจะเป็นผู้นำในลำดับต้นๆ ถึงแม้ว่าผู้ลงคะแนนจะไม่เชื่อในสื่อเองยังเชื่อว่ายังมีผู้ลงคะแนนอื่นๆ ที่ยังเชื่อถือสื่ออยู่ และดังนั้นผู้สมัครรายต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมากนั้นย่อมจะกลายเป็นผู้สมัครยอดนิยม
- ผู้สมัครรายใหม่ที่ไม่เคยเข้ารับเลือกตั้งมากก่อน ซึ่งอาจจะได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่ อาจจะถูกตัดสินว่าไม่เป็นผู้สมัครตัวเต็งคนสำคัญไปได้ และดังนั้นจึงทำให้เสียแรงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนไปโดยผลของลงคะแนนเชิงกลยุทธ์
- วิธีนี้อาจสนับสนุนให้ผู้ลงคะแนนนั้นออกเสียง ไม่สนับสนุน มากกว่าออกเสียง สนับสนุน ตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร (เฉพาะในบริเตนใหญ่) ได้มีการส่งเสริมให้ออกเสียงไม่สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมโดยการเลือกพรรคแรงงาน และพรรคเสรีประชาธิปไตยในอังกฤษและเวลส์ และตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ให้เลือกพรรคชาติสกอตในสกอตแลนด์ โดยขึ้นอยู่กับว่าพรรคไหนในสามพรรคนี้มีโอกาสจะชนะในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ได้ โดยพฤติกรรมนี้นั้นยากที่จะวัดตามวัตถุประสงค์ได้
ผู้เสนอระบบการลงคะแนนอื่นๆ สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวกล่าวว่าจะช่วยให้ลดปัญหาการลงคะแนนเชิงกลยุทธ์ และลดผลกระทบเรื่องเสียงแตก ตัวอย่างของระบบลงคะแนนเหล่านี้ได้แก่ระบบลงคะแนนแบบจัดลำดับ เช่น ระบบจัดลำดับความชอบ รวมถึงระบบสองรอบ และระบบที่ผ่านการทดสอบมาน้อย เช่น ระบบการลงคะแนนแบบคะแนนอนุมัติ และวิธีกงดอร์แซ
ผลกระทบต่อพรรคการเมือง
[แก้]ตามกฎของดูว์แวร์แฌซึ่งเป็นแนวคิดด้านรัฐศาสตร์ซึ่งกล่าวถึงการเลือกตั้งที่ใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดย่อมจะนำไปสู่ระบบสองรอบในที่สุด เจฟฟรีย์ ซาชส์ นักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายว่า:
เหตุผลหลักของลักษณะเฉพาะเรื่องระบบเสียงข้างมากในอเมริกานั้นคือระบบการลงคะแนนสำหรับรัฐสภา สมาชิกรัฐสภานั้นได้รับเลือกจากเขตเลือกตั้งแบบมีผู้แทนเขตละคนโดยวิธีนับคะแนนแบบคะแนนสูงสุด ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครรายใดที่มีคะแนนเสียงนำจะได้รับที่นั่งในรัฐสภาไป ส่วนพรรคการเมืองที่แพ้นั้นย่อมจะไม่ได้สิทธิในการเป็นผู้แทนเลย ระบบการเลือกตั้งนี้มักจะส่งผลให้เกิดพรรคการเมืองหลักเพียงจำนวนน้อย ซึ่งอาจจะมีเพียงสองพรรคเท่านั้น โดยหลักการนี้ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่ากฎของดูว์แวร์แฌ ซึ่งพรรคการเมืองขนาดเล็กนั้นถูกบดขยี้ในระบบการเลือกตั้งแบบนี้
— จากหนังสือ The Price of Civilization โดยเจฟฟรีย์ ซาชส์[16]
อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้การเลือกตั้งระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดมักจะมีสภานิติบัญญัติแบบหลายพรรค (ถึงแม้ว่ามักจะมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคอยู่เสมอ) ยกเว้นในกรณีของสหรัฐ[17][18]
นอกจากนี้ยังมีคำวิพากษ์ถึงกฎของดูว์แวร์แฌว่าในขณะที่ใช้ในการเลือกตั้งระดับชาตินั้นระบบคะแนนนำอาจทำให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ส่วนในระดับเขตเลือกตั้งนั้นการได้คะแนนเสียงข้างมากพิเศษนั้นอาจนำให้เกิดปัญหาคะแนนเสียงแตกได้[19]
กรณีการผิดเพี้ยนในการมีผู้แทนตามภูมิศาสตร์ทำให้พรรคการเมืองมีจงใจในการปล่อยปละละเลยเขตที่คะแนนเสียงของพรรคไม่แข็งแรงในซึ่งในไปสู่การที่พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลนั้นไม่ได้ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งนั้นพรรคการเมืองต่างๆ มักจะมุ่งเน้นไปที่เขตที่เป็นที่นั่งที่เปลี่ยนข้างเสมอ (swing seats) เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้ที่นั่งเพิ่มในเขตนี้ได้ ในขณะที่เขตเลือกตั้งที่ถือเป็นที่นั่งปลอดภัย (safe seats) มักจะไม่อยู่ในแผนการรณรงค์หาเสียงอย่างเข้มแข็ง[20] พรรคการเมืองนั้นล้วนปฏิบัติในแนวทางเดียวกันคือมุ่งเน้นไปในเขตที่สำคัญ รณรงค์หาเสียงและนโยบายให้แก่เขตเหล่านั้นที่อาจเปลี่ยนมาเลือกพรรคได้ซึ่งถือเป็นคะแนนเป้าหมายอันมีคุณค่าต่อพรรคการเมืองนั้นๆ[21][22][12]
คะแนนสูญ
[แก้]คะแนนสูญ (waste votes) คือจำนวนคะแนนเสียงที่ออกให้แก่ผู้สมัครรายที่แพ้การเลือกตั้ง และสำหรับผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งนั้นหมายความถึงคะแนนเสียงส่วนเกินจากจำนวนที่ต้องการเพื่อได้รับชัยชนะ ตัวอย่างเช่นในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร ค.ศ. 2005 คะแนนเสียงจำนวนร้อยละ 52 ถูกออกให้แก่ผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้ง และอีกร้อยละ 14 เป็นคะแนนเสียงส่วนเกิน ซึ่งสองส่วนนี้รวมกันเป็นจำนวนคะแนนสูญเปล่าถึงร้อยละ 70 จึงอาจกล่าวได้ว่าคะแนนเสียงส่วนใหญ่จำนวนมากนั้นอาจไม่ส่งผลใดต่อการผลการเลือกตั้งได้ จึงทำให้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดมีส่วนร่วมในการลงคะแนนน้อยกว่าประเทศที่ใช้ระบบการลงคะแนนแบบอื่นๆ[23]
การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ
[แก้]เนื่องจากระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดนั้นทำให้เกิดคะแนนสูญจำนวนมาก การเลือกตั้งในระบบนี้จึงง่ายต่อการแบ่งเขตแบบเอาเปรียบได้ (Gerrymandering) โดยเขตเลือกตั้งที่ถูกแบ่งโดยเอาเปรียบนั้นจะแบ่งเขตให้เพื่อมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองในอำนาจจะได้รับเลือกในสมัยถัดไป โดยแบ่งเขตให้มีผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองเป็นเสียงข้างมากในเขตนั้นๆ
การโกงการเลือกตั้ง
[แก้]เนื่องจากตัวแปรของผู้สมัครรายอื่นที่มีนโยบายคล้ายกันและทำให้เกิดเสียงแตกนั้นทำให้มีข้อสงสัยถึงการส่งผู้แทนแบบนอมินีขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงลำดับความนิยมของผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัครที่เป็นนอมินีนั้นอาจได้รับรางวัลเป็นแรงจูงใตเพื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรายนี้อาจจะถอนตัวในนาทีสุดท้ายแทน
พรรคการเมืองเล็กอาจลดความสำเร็จของพรรคการเมืองประเภทเดียวกันที่ขนาดใหญ่ที่สุด
[แก้]ในระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด พรรคการเมืองขนาดเล็กอาจได้แบ่งคะแนนเสียงและที่นั่งจากพรรคการเมืองใหญ่ที่นโยบายคล้ายคลึงกัน และดังนั้นจึงทำให้เป็นประโยชน์ต่อพรรคเล็กที่นโยบายแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ค.ศ. 2000 ผู้สมัครนโยบายฝ่ายซ้าน ราล์ฟ นาเดอร์ ได้แย่งคะแนนเสียงจากผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายซ้ายอย่างอัล กอร์ จึงนำไปสู่การกล่าวหาว่านาเดอร์นั้นเป็นผู้สมัครที่ทำให้พรรคเดโมแครตเสียงแตก
ที่นั่งปลอดภัย
[แก้]ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดที่ใช้ในเขตเลือกตั้งตามภูมิศาสตร์นั้นมักจะทำให้ได้ผลลัพธ์ (โดยเฉพาะในพรรคการเมืองใหญ่) เป็นจำนวนที่นั่งปลอดภัย (safe seats) จำนวนมาก กล่าวคือผู้แทนรายเดิมจากเขตนั้นจะได้รับเลือกอยู่เสมอเว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในพฤติกรรมการลงคะแนน ในสหราชอาณาจักร สมาคมเพื่อการปฏิรูปการเลือกตั้งประมาณว่ามีที่นั่งในสภาเกินครึ่งหนึ่งเป็นที่นั่งปลอดภัย[24] โดยสมาชิกรัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายสมาชิกรัฐสภาเมื่อปีค.ศ. 2009 นั้นส่วนมากเป็นสมาชิกที่อยู่ในเขตที่นั่งปลอดภัย[25][26]
อย่างไรก็ตาม ในระบบการลงคะแนนอื่นๆ เช่น ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อยังทำให้มีนักการเมืองที่มีภูมิคุ้มกันจากแรงกดดันในการเลือกตั้งได้โดยง่าย
อาจกระตุ้นการเมืองแบบสุดโต่ง
[แก้]ลดความแตกต่างทางการเมือง
[แก้]จากรายงานของกลุ่ม Makes Votes Matter ระบุว่าระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดจะสร้างแรงจูงใจให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ต่างๆ ในการหาเสียงนโยบายให้กับผู้ลงคะแนนทั้งหมดอย่างคล้ายคลึงกัน ผลกระทบนี้จึงทำให้ลดความแตกต่างทางการเมืองภายในประเทศเนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่นั้นมักจะเลือกดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน[27] ACE Electoral Knowledge Network ยังกล่าวว่าการใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในอินเดียนั้นเป็น "มรดกตกทอดของจักรวรรดิอังกฤษ"[28]
การรณรงค์เพื่อทดแทนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด
[แก้]ในหลายประเทศที่ใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดนั้นล้วนมีการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วน (เช่น ในสหราชอาณาจักร[29] และแคนาดา[30]) โดยในประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นส่วนมากใช้ระบบการลงคะแนนแบบสัดส่วน (PR)[31] ในกรณีของสหราชอาณาจักรนั้นได้มีการรณรงค์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1970[32] อย่างไรก็ตามในประเทศเหล่านี้ ผู้รณรงค์การปฏิรูปนั้นมักจะถูกกีดกันโดยพรรคการเมืองใหญ่ที่ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติซึ่งย่อมมีแรงจูงใจในการต่อต้านความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบการลงคะแนนที่เป็นที่มาของอำนาจโดยที่ไม่ได้มีคะแนนเสียงข้างมาก
เกณฑ์วิธีการลงคะแนน
[แก้]นักวิชาการได้จัดลำดับระบบการลงคะแนนโดยใช้การคำนวนทางคณิตศาสตร์เพื่อหาเกณฑ์วิธีการลงคะแนน ซึ่งอธิบายถึงลักษณะเฉพาะที่ดีของในแต่ละระบบ
เกณฑ์เสียงข้างมาก
[แก้]เกณฑ์เสียงข้างมาก (Majority criterion) หมายถึงกรณีที่ "ผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงข้างมาก (เกินร้อยละ 50) ของคะแนนเสียงทั้งหมด ดังนั้นผู้สมัครรายนั้นจะได้ชนะการเลือกตั้ง" ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดนั้นเข้าเกณฑ์ข้อนี้ (ถึงแม้ว่าผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 50 ก็ยังสามารถเป็นผู้ชนะได้) อย่างไรก็ตามเกณฑ์นี้ใช้นับได้ในแต่ละเขตเลือกตั้งเท่านั้น แต่เมื่อนำคะแนนเสียงทั้งหมดสำหรับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในสภาจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์นี้
เกณฑ์เสียงข้างมากร่วมกัน
[แก้][33] เกณฑ์เสียงข้างมากร่วมกัน (Mutual majority criterion) กล่าวถึงว่า "หากผู้สมัครจำนวน x คนได้คะแนนเสียงข้างมาก (เกินร้อยละ 50) ดังนั้นหนึ่งในผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ชนะ" ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดไม่เข้าเกณฑ์นี้[33]
เกณฑ์ผู้ชนะของกงดอร์แซ
[แก้][34] เกณฑ์ผู้ชนะแบบกงดอร์แซ (Condorcet winner criterion) ระบุว่า "หากผู้สมัครรายหนึ่งสามารถเอาชนะในการแข่งขันแบบทีละคู่กับผู้สมัครรายอื่นๆ ทีละราย ดังนั้นผู้สมัครรายนั้นจะต้องชนะการเลือกตั้ง" ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดไม่เข้าเกณฑ์นี้[34]
เกณฑ์ผู้แพ้ของกงดอร์แซ
[แก้][34] เกณฑ์ผู้แพ้แบบกงดอร์แซ (Condorcet loser criterion) ระบุว่า "หากผู้สมัครรายหนึ่งแพ้ในการแข่งขันแบบทีละคู่กับผู้สมัครรายอื่นๆ ทีละราย ดังนั้นผู้สมัครรายนั้นจะต้องไม่ชนะการเลือกตั้ง" ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดไม่เข้าเกณฑ์นี้[34]
เกณฑ์ความเป็นอิสระของตัวเลือกที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
[แก้]เกณฑ์ความเป็นอิสระของตัวเลือกที่ไม่เกี่ยวข้องกัน (Independence of irrelevant alternatives criterion) ระบุว่า "ผลการเลือกตั้งจะคงไม่เปลี่ยนแปลงไปถึงแม้ว่าผู้สมัครรายหนึ่งที่ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้เข้าลงแข่งขันในการเลือกตั้ง" ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดไม่เข้าเกณฑ์นี้
เกณฑ์ความเป็นอิสระของตัวโคลน
[แก้]เกณฑ์ความเป็นอิสระของตัวโคลน (Independence of clones criterion) ระบุว่า "ผลการเลือกตั้งจะคงไม่เปลี่ยนแปลงหากแม้ว่าจะมีผู้สมัครที่เหมือนกันและได้รับความนิยมพอๆ กันตัดสินใจลงแข่งเลือกตั้ง" ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดไม่เข้าเกณฑ์นี้
รายชื่อประเทศที่ใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด
[แก้]รายชื่อประเทศดังต่อไปนี้ยังใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (First-past-the-post) สำหรับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในระดับชาติ[35][36]
- แอนทีกาและบาร์บิวดา
- อาร์เจนตินา
- อาเซอร์ไบจาน
- บาฮามาส
- บาร์เบโดส
- บังกลาเทศ
- เบลีซ
- เบอร์มิวดา (สหราชอาณาจักร)
- ภูฏาน
- บอตสวานา
- บราซิล (วุฒิสภากลาง)
- แคนาดา (สภาสามัญชน)
- หมู่เกาะเคย์แมน (สหราชอาณาจักร)
- โกตดิวัวร์
- หมู่เกาะคุก (นิวซีแลนด์)
- ดอมินีกา
- เอริเทรีย
- เอสวาตินี
- เอธิโอเปีย
- แกมเบีย
- กานา
- กรีเนดา
- อินเดีย(เฉพาะโลกสภาเท่านั้น)
- อิหร่าน (เฉพาะสมาชิกในแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตละคนในสภาคอบเรกาน)
- อิรัก
- จาเมกา
- เคนยา
- คูเวต
- ลาว
- ไลบีเรีย
- หมู่เกาะมาร์แชลล์
- มัลดีฟส์
- มาลาวี
- มาเลเซีย
- มอริเชียส
- ไมโครนีเชีย
- พม่า
- ไนจีเรีย
- นีวเว (นิวซีแลนด์)
- โอมาน
- ปากีสถาน
- ปาเลา
- โปแลนด์ (วุฒิสภา)
- เซนต์คิตส์และเนวิส
- เซนต์ลูเชีย
- เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
- ซามัว
- เซเชลส์
- สิงคโปร์ (สำหรับประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งแบบผู้แทนเขตละคน (SMCs) แต่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตหลายเบอร์)
- เซียร์ราลีโอน
- หมู่เกาะโซโลมอน
- เกาหลีใต้ (253 ที่นั่งจากทั้งหมด 300 ที่นั่ง)
- ไต้หวัน (73 ที่นั่งจากทั้งหมด 113 ที่นั่ง)
- ตองงา
- ตรินิแดดและโตเบโก
- ตูวาลู
- ยูกันดา
- สหราชอาณาจักร
- สหรัฐ
- หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐ (สหรัฐอเมริกา)
- หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (สหราชอาณาจักร)
- เยเมน
- แซมเบีย
รายชื่อประเทศที่เคยใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในอดีต
[แก้]- อาร์เจนตินา (สภาผู้แทนราษฎรใช้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ โดยมีเพียงสองครั้งที่ใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด โดยครั้งแรกระหว่างปีค.ศ. 1902 และ 1905 โดยใช้เพียงแค่สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีค.ศ. 1904[37] และครั้งที่สองระหว่างปีค.ศ. 1951 และ 1957 โดยใช้เพียงแค่ในการเลือกตั้งทั่วไปปีค.ศ. 1951 และ 1954)[38]
- ออสเตรเลีย (เปลี่ยนไปใช้การลงคะแนนแบบหลายรอบในทันทีในปีค.ศ. 1918 และสำหรับวุฒิสภาเปลี่ยนเป็นแบบถ่ายโอนคะแนนเสียงในปีค.ศ. 1948)
- เบลเยียม (เริ่มใช้เมื่อปีค.ศ. 1831 ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อในปีค.ศ. 1899)-[39] ส่วนสมาชิกรัฐสภายุโรปสำหรับคณะผู้เลือกตั้งประชาคมผู้ใช้ภาษาเยอรมันยังคงใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดอยู่[40]
- ไซปรัส (เปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วนในปีค.ศ. 1981)
- เดนมาร์ก (เปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วนในปีค.ศ. 1920)
- ฮ่องกง (เริ่มใช้เมื่อปีค.ศ. 1995 และเปลี่ยนไปใช้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อในปีค.ศ. 1998)
- ญี่ปุ่น (เปลี่ยนไปใช้ระบบคู่ขนานในการเลือกตั้งปีค.ศ. 1993)
- เลบานอน (เปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วนในปีค.ศ. 2017)
- เลโซโท (เปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมและระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อในปีค.ศ. 2002)
- มอลตา (เปลี่ยนไปใช้แบบถ่ายโอนคะแนนเสียงในปีค.ศ. 1921)
- เม็กซิโก (เปลี่ยนไปใช้ระบบคู่ขนานในปีค.ศ. 1977)
- เนปาล (เปลี่ยนไปใช้ระบบคู่ขนาน)[41]
- เนเธอร์แลนด์ (เปลี่ยนไปใช้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อในปีค.ศ. 1917)[42]
- นิวซีแลนด์ (เปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมในปีค.ศ. 1996)
- ปาปัวนิวกินี (เปลี่ยนไปใช้การลงคะแนนแบบหลายรอบในทันทีในปีค.ศ. 2002)[43]
- ฟิลิปปินส์ (เปลี่ยนไปใช้ระบบคู่ขนานในปีค.ศ. 1998 สำหรับสภาผู้แทนราษฎร และระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ในปีค.ศ. 1941 สำหรับวุฒิสภา)
- โปรตุเกส (เปลี่ยนไปใช้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ)[44]
- แอฟริกาใต้ (เปลี่ยนไปใช้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อในปีค.ศ. 1996)
- แทนซาเนีย (เปลี่ยนไปใช้ระบบคู่ขนานในปีค.ศ. 1995)
ดูเพิ่ม
[แก้]- การลงคะแนนแบบเสียงเดียวโอนไม่ได้
- การลงคะแนนแบบคะแนนอนุมัติ
- การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่ายกเขต
- การเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เมืองรัตน์ ฤทัยชนก. "การเลือกตั้ง วิถีแห่งประชาธิปไตย". สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. p. 2. สืบค้นเมื่อ 6 June 2021.
- ↑ ไวทยางกูร, เฉลิมพล (ดร.) (26 April 2018). "การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ระบบเสียงส่วนใหญ่-ระบบสัดส่วน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 6 July 2005.
- ↑ Andy Williams (1998). UK Government & Politics. Heinemann. p. 24. ISBN 978-0-435-33158-0.
- ↑ Ilan, Shahar. "Major Reforms Are Unlikely, but Electoral Threshold Could Be Raised". Haaretz.com. สืบค้นเมื่อ 8 May 2010.
- ↑ Dr.Mihaela Macavei, University of Alba Iulia, Romania. "Advantages and disadvantages of the uninominal voting system" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-24. สืบค้นเมื่อ 8 May 2010.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ P. Dorey (17 June 2008). The Labour Party and Constitutional Reform: A History of Constitutional Conservatism. Palgrave Macmillan UK. pp. 400–. ISBN 978-0-230-86315-9.
- ↑ "David Cameron. "David Cameron: why keeping first past the post is vital for democracy." Daily Telegraph. 30 Apr 2011
- ↑ Larry Johnston (13 December 2011). Politics: An Introduction to the Modern Democratic State. University of Toronto Press. pp. 231–. ISBN 978-1-4426-0533-6.
- ↑ Michael Geruso, Dean Spears, Ishaana Talesara. 2019. "Inversions in US Presidential Elections: 1836-2016." NBER paper
- ↑ "slides by Nicholas R. Miller". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-09-10.
- ↑ 11.0 11.1 "First Past the Post". www.electoral-reform.org.uk (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-12-16.
- ↑ 12.0 12.1 "First Past the Post". www.electoral-reform.org.uk (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-12-05.
- ↑ 13.0 13.1 "Make Votes Matter—Everything wrong with First Past the Post—Proportional Representation". Make Votes Matter (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2019-12-16.
- ↑ "File:First-past-the-post 2015.svg", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2019-12-14
- ↑ "First Past the Post". www.conservativeelectoralreform.org. Conservative Action for Electoral Reform. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 November 2017. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ Sachs, Jeffrey (2011). The Price of Civilization. New York: Random House. p. 107. ISBN 978-1-4000-6841-8.
- ↑ Dunleavy, Patrick (18 June 2012). "Duverger's Law is a dead parrot. Outside the USA, first-past-the-post voting has no tendency at all to produce two party politics". blogs.lse.ac.uk.
- ↑ Dunleavy, Patrick; Diwakar, Rekha (2013). "Analysing multiparty competition in plurality rule elections" (PDF). Party Politics. 19 (6): 855–886. doi:10.1177/1354068811411026. S2CID 18840573.
- ↑ Dickson, Eric S.; Scheve, Kenneth (2010). "Social Identity, Electoral Institutions and the Number of Candidates". British Journal of Political Science. 40 (2): 349–375. CiteSeerX 10.1.1.75.155. doi:10.1017/s0007123409990354. JSTOR 40649446.
- ↑ "First Past the Post is a 'broken voting system'". www.ippr.org. Institute for Public Policy Research. 2011-01-04. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ Terry, Chris (2013-08-28). "In Britain's first past the post electoral system, some votes are worth 22 times more than others". www.democraticaudit.com. London School of Economics. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ Galvin, Ray. "What is a marginal seat?". www.justsolutions.eu. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ Drogus, Carol Ann (2008). Introducing comparative politics: concepts and cases in context. CQ Press. pp. 257. ISBN 978-0-87289-343-6.
- ↑ "General Election 2010: Safe and marginal seats". www.theguardian.com. Guardian Newspapers. 2010-04-07. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ Wickham, Alex. ""Safe seats" almost guarantee corruption". www.thecommentator.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-15. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ "FactCheck: expenses and safe seats". www.channel4.com. Channel 4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-08. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
- ↑ "First Past the Post". Make Votes Matter. สืบค้นเมื่อ 26 June 2020.
- ↑ "India - First Past the Post on a Grand Scale". ACE Electoral Knowledge Network. สืบค้นเมื่อ 25 June 2020.
- ↑ "What We Stand For". electoral-reform.org.uk.
- ↑ "Home". Fair Vote Canada.
- ↑ "Electoral Systems around the World". FairVote.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-11. สืบค้นเมื่อ 18 July 2020.
- ↑ "Labour Campaign for Electoral Reform - About LCER". labourcampaignforelectoralreform.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-11. สืบค้นเมื่อ 2021-09-10.
- ↑ 33.0 33.1 Kondratev, Aleksei Y.; Nesterov, Alexander S. (2020). "Measuring Majority Power and Veto Power of Voting Rules". Public Choice. 183 (1–2): 187–210. arXiv:1811.06739. doi:10.1007/s11127-019-00697-1. S2CID 53670198.
- ↑ 34.0 34.1 34.2 34.3 Felsenthal, Dan S. (2010) Review of paradoxes afflicting various voting procedures where one out of m candidates (m ≥ 2) must be elected. In: Assessing Alternative Voting Procedures, London School of Economics and Political Science, London, UK.
- ↑ "Countries using FPTP electoral system for national legislature". idea.int. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2018.
- ↑ "Electoral Systems". ACE Electoral Knowledge Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015.
- ↑ Milia, Juan Guillermo (2015). El Voto. Expresión del poder ciudadano. Buenos Aires: Editorial Dunken. pp. 40–41. ISBN 978-987-02-8472-7.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Law 14,032". Sistema Argentino de Información Jurídica.
- ↑ Encarta-encyclopedie Winkler Prins (1993–2002) s.v. "Kiesstelsel. §1.1 Federale verkiezingen". Microsoft Corporation/Het Spectrum.
- ↑ News, Flanders (17 April 2019). "Elections 2019: The European Parliament". vrtnws.be.
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Bhuwan Chandra Upreti (2010). Nepal: Transition to Democratic Republican State : 2008 Constituent Assembly. Gyan Publishing House. pp. 69–. ISBN 978-81-7835-774-4.
- ↑ Encarta-encyclopedie Winkler Prins (1993–2002) s.v. "Kiesstelsel. §1.1 Geschiedenis". Microsoft Corporation/Het Spectrum.
- ↑ "PNG voting system praised by new MP". ABC. 12 December 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 January 2005. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.
- ↑ "Which European countries use proportional representation?". www.electoral-reform.org.uk (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-12-01.