พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ | |
---|---|
พระมหากษัตริย์อังกฤษ | |
ครองราชย์ | 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1272 – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 |
ราชาภิเษก | 19 สิงหาคม ค.ศ. 1274 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ |
พระราชสมภพ | 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน อังกฤษ |
สวรรคต | 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307
~(68 ปี) บรัฟบายแซนด์ส คัมเบอร์แลนด์ อังกฤษ |
พระมเหสี | เลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ มาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ |
พระราชบุตร | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ กับอีก 8 พระองค์ |
ราชวงศ์ | แพลนแทเจเนต |
พระราชบิดา | พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ |
พระราชมารดา | เอลินอร์แห่งพรอว็องส์ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ |
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1[1] แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Edward I of England) (17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 – 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307) หรือพระนามเดิมคือ เอ็ดเวิร์ด ลองแชงก์ส (อังกฤษ: Edward Longshanks) เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในราชวงศ์แพลนแทเจเนต
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 รู้จักกันในนามว่า “Longshanks” เพราะพระวรกายที่สูงราว 6 ฟุต 2 นิ้ว[2] หรือ “ผู้พระราชทานกฎหมาย” (the Lawgiver) เพราะทรงเป็นผู้ปฏิรูปกฎหมายของอังกฤษ และ “ผู้ปราบชาวสกอต” (Hammer of the Scots) [3] เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239 ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนของประเทศอังกฤษ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ และพระนางเอลินอร์แห่งพรอว็องส์ ได้อภิเษกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา และต่อมากับพระนางมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1272 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ที่บรัฟบายแซนด์ส คัมเบอร์แลนด์ อังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ได้รับชัยชนะต่อเวลส์และทรงพยายามปราบปรามสกอตแลนด์แต่ไม่สำเร็จ
แม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 จะเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่ 4 ที่มีพระนามว่า “เอ็ดเวิร์ด” หลังจาก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมรณสักขี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี แต่การลำดับนามเดียวกันด้วยตัวเลขเป็นประเพณีของชาวนอร์มัน ฉะนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสามพระองค์ที่ทรงปกครองอังกฤษก่อนหน้าการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันจึงมิได้รับการเรียงลำดับแต่ทรงใช้พระสมัญญานามเพื่อบ่งความแตกต่างของแต่ละพระองค์แทน เอ็ดเวิร์ด ลองแชงค์จึงกลายเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1
ในปี ค.ศ. 2002 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงได้รับเลือกเป็นลำดับ 94 ในบรรดาชาวอังกฤษ 100 คนที่ถือกันว่าสำคัญที่สุด [ต้องการอ้างอิง]
เบื้องต้น
[แก้]พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอนเมื่อค่ำวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1239[4] เป็นพระเชษฐาของมาร์กาเร็ตแห่งอังกฤษ สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ เบียทริซแห่งอังกฤษ ดัชเชสแห่งบริตตานีและเบอร์กันดี และเอ็ดมันด์ ครุชแบ็ก เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ (Edmund Crouchback, 1st Earl of Lancaster) พระนามว่า “เอ็ดเวิร์ด” เป็นพระนามที่รับพระราชทานตามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมรณสักขี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี [5] เพราะพระเจ้าเฮนรีพระราชบิดาทรงเลื่อมใสลัทธิบูชานักบุญเอ็ดเวิร์ด เมื่อยังพระเยาว์พระองค์ทรงอยู่ในความดูแลของฮิวห์ กิฟฟาร์ด (บิดาของกอดฟรีย์ กิฟฟาร์ดผู้ต่อมาเป็นอัครมหาเสนาบดีและบิชอปแห่งวูสเตอร์) ระหว่างปี ค.ศ. 1239 จนกระทั่งกิฟฟาร์ดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1246[6] หลังจากนั้นบาร์โทโลมิว เพ็ค (Bartholomew Pecche) ก็รับหน้าที่แทน ในบรรดาพระสหายเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็ได้แก่เฮนรีแห่งอัลเมน (Henry of Almain) บุตรชายของริชาร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์พระอนุชาของพระเจ้าเฮนรี[7]
ดินแดนผืนแรกที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับพระราชทานคือดินแดนแกสโคนี แต่ในปี ค.ศ. 1248 ปีหนึ่งก่อนหน้าที่จะพระราชทานให้กับพระเจ้าเฮนรีพระราชโอรส ทรงแต่งตั้งให้ไซมอนแห่งมอนฟอร์ต เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ที่ 6 (Simon de Montfort, 6th Earl of Leicester) ไปเป็นข้าหลวงที่แกสโคนีเป็นเวลาเจ็ดปี ฉะนั้นแม้ว่าเอ็ดเวิร์ดจะมีฐานะเป็นเจ้าของแกสโคนีแต่พระองค์ก็ไม่ทรงมีอำนาจและรายได้จากแกสโคนีแต่อย่างใด[8]
ในปี ค.ศ. 1254 ทางอังกฤษวิตกว่าราชอาณาจักรกัสติยาจะรุกรานอาณาบริเวณแกสโคนีของอังกฤษ เพื่อเป็นการป้องกันจากการรุกรานพระเจ้าเฮนรีจึงทรงตกลงจัดให้พระราชโอรสเสกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา ผู้ทรงเป็นกึ่งพระขนิษฐา (half-sister) ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา[9]โดยมีข้อตกลงในการอภิเษกสมรสที่พระเจ้าอัลฟอนโซทรงเรียกร้องว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดต้องทรงได้รับมอบดินแดนที่มีทำรายได้ 15,000 มาร์ค (น้ำหนัก) ต่อปี เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดขณะนั้นยังมีพระชนมายุได้ไม่ถึง 15 พรรษา[10] แม้ว่าพระเจ้าเฮนรีจะพระราชทานสินสอดเป็นจำนวนพอสมควรแต่ก็มิได้พระราชทานความเป็นอิสระแก่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเท่าใดนัก เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับดินแดนสำหรับการเสกสมรสที่รวมทั้งดินแดนส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์และเวลส์ และดินแดนในอังกฤษเองที่รวมทั้งรัฐเอิร์ลเชสเตอร์[11] แต่พระเจ้าเฮนรีพระราชบิดาก็ยังทรงกุมอำนาจในที่ดินที่พระราชทานแก่พระราชโอรสโดยเฉพาะในไอร์แลนด์ ฉะนั้นอำนาจของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงมีเพียงจำกัด[12]
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสกสมรสกับเลโอนอร์แห่งกัสติยา (พระชนมายุ 13 พรรษา) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1254 ที่อารามซานตามาริอาเรอัลเดอูเอลกัส (Abbey of Santa Maria la Real de Huelgas) ในกัสติยา[13] ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสธิดาด้วยกันอย่างน้อยสิบห้าหรือสิบหกพระองค์[14] การสวรรคตของพระนางเอลินอร์ในปี ค.ศ. 1290 เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงและเป็นที่โทมนัสต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นอันมาก พระองค์ถึงกับมีพระราชโองการให้สร้างกางเขนเอลินอร์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสีทั้งหมดสิบสองอันในทุกที่ที่ขบวนแห่พระศพพักกลางคืนระหว่างที่เคลื่อนพระจากลิงคอล์นไปยังเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในกรุงลอนดอน[15]
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสกสมรสอีกครั้งเมื่อพระชนมายุ 60 พรรษาที่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1299 กับมาเกอรีตแห่งฝรั่งเศส (พระชนมายุ 17 พรรษา) ผู้รู้จักกันในพระนาม “ไข่มุกแห่งฝรั่งเศส” โดยประชาชนอังกฤษ มาเกอรีตเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (ฟิลิปผู้กล้าหาญ) และมาเรียแห่งบราบันต์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระนางมาเกอรีตมีพระราชโอรสธิดาด้วยกันสามพระองค์
ระหว่างปี ค.ศ. 1254 ถึงปี ค.ศ. 1257 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลฝักฝ่ายในราชสำนักที่รู้จักกันว่า “ซาวอยาร์ดส์” (Savoyards) ผู้เป็นพระญาติของพระนางเอลินอร์แห่งพรอว็องส์พระราชมารดา[16] ผู้ที่เป็นผู้นำคนสำคัญของกลุ่มนี้คือปีเตอร์ที่ 2 แห่งซาวอยพระปิตุลาของพระราชินี[17] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1257 เป็นต้นไปพระองค์ก็ทรงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายปัวเตแวงหรือลูซิยอง– ผู้เป็นกึ่งพระอนุชาของพระองค์ – ที่นำโดยวิลเลียมแห่งวาเลนซ์ เอิร์ลแห่งเพมโบรคที่ 1 (William de Valence, 1st Earl of Pembroke)[18] ทั้งสองกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มชาวต่างประเทศที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น จึงเป็นที่เกลียดชังและต่อต้านโดยชนชั้นปกครองของอังกฤษ[19]
ความทะเยอทะยาน
[แก้]เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเอลินอร์เสด็จกลับอังกฤษในปี ค.ศ. 1255 และทรงเริ่มแสดงความเป็นอิสระทางด้านการเมืองจากพระราชบิดามาตั้งแต่ปีนั้น โดยการทรงเลือกข้างในกรณีความขัดแย้งในแกสโคนีซึ่งเป็นนโบายที่ตรงกันข้ามกับพระราชบิดาที่มักจะทรงใช้การไกล่เกลี่ยประนีประนอม[20] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1258 กลุ่มขุนนาง 58 คนที่ไม่มีความพอใจต่อการปกครองของรัฐบาลก็ร่างเอกสารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปต่อพระเจ้าเฮนรี–เอกสารที่รู้จักกันว่าบทบัญญัติออกซฟอร์ด (Provisions of Oxford)– ที่ส่วนใหญ่เป็นคำร้องต่อต้านกลุ่มขุนนางเชื้อสายฝรั่งเศสลูซิยอง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงเข้าข้างลูซิยองและทรงเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อบทบัญญัติ แต่ขบวนการปฏิรูปประสบความสำเร็จ ความคิดเห็นของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงและในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1259 พระองค์ก็หันไปเป็นฝ่ายเดียวกับผู้นำการปฏิรูปริชาร์ด เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 6 แห่งกลอสเตอร์ (Richard de Clare, 6th Earl of Hertford) อย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1259 พระองค์ก็ทรงประกาศว่าทรงสนับสนุนจุดประสงค์ในการปฏิรูปของกลุ่มขุนนางและผู้นำซีมงแห่งมงฟอร์[21]
เบื้องหลังของการเปลี่ยนพระทัยของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดอาจจะเป็นเพียงเพื่อหาผลประโยชน์เท่านั้น เพราะไซมอนแห่งมองฟอร์ตอยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนพระองค์ในเรื่องแกสโคนีได้[22] เมื่อพระเจ้าเฮนรีเสด็จไปฝรั่งเศสในเดือนพฤศจิกายนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็แข็งข้อโดยการประทานตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ให้แก่ขุนนางฝ่ายปฏิรูป พระเจ้าเฮนรีทรงเชื่อว่าพระราชโอรสมีแผนที่จะโค่นราชบัลลังก์ของพระองค์[23] หลังจากที่เสด็จกลับอังกฤษพระองค์ก็ไม่ทรงยอมให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเข้าเฝ้า แต่ในที่สุดก็ทรงยอมเมื่อได้รับการไกล่เกลี่ยโดยเอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์และบอนนิเฟสแห่งซาวอยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี[24] ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1260 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ถูกส่งตัวไปต่างประเทศ ซึ่งทำให้ทรงมีโอกาสได้ไปรวมตัวกับฝ่ายลูซิยองผู้ถูกเนรเทศกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง[25]
เมื่อเสด็จกลับอังกฤษเมื่อต้นปี ค.ศ. 1262 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงมีความขัดแย้งกับพันธมิตรของพระองค์ทางด้านการเงิน ปีต่อมาพระองค์ก็นำกองทัพไปรณรงค์ในเวลส์เพื่อกำราบลูวเวลลินกริฟฟุด (Llywelyn the Last หรือ Llywelyn ap Gruffydd) แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าใดนัก[26] ในขณะเดียวกันไซมอนแห่งมองฟอร์ตที่ออกไปจากอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1261 ก็กลับมาและมาฟื้นฟูขบวนการปฏิรูปของขุนนางขึ้นอีกครั้ง[27] พระเจ้าเฮนรีททรงยอมรับข้อเรียกร้องของขุนนางแต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด–ผู้หันมาเข้าข้างพระราชบิดา– ไม่ทรงยอมและหันกลับไปเข้ากับฝ่ายที่พระองค์เป็นปฏิปักษ์ในปีก่อนหน้านั้น–ที่ได้แก่เฮนรีแห่งอัลเมน และจอห์นแห่งวอเรน เอิร์ลแห่งเซอร์รีย์ที่ 7– และทรงเข้ายึดพระราชวังวินด์เซอร์คืนจากกลุ่มผู้ปฏิวัติ[28] ทั้งสองฝ่ายจึงอัญเชิญให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสทรงเป็นตุลาการในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่นำมาซึ่งความตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงอาเมียง” (Mise of Amiens) โดยฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายได้เปรียบอันเป็นการปูรากฐานไปสู่ความขัดแย้งครั้งต่อไป[29]
การสงคราม
[แก้]ระหว่างปี ค.ศ. 1264 ถึงปี ค.ศ. 1267 เป็นช่วงระยะเวลาของสงครามขุนนาง (Barons' War) ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขุนนางที่นำโดยไซมอนแห่งมอนฟอร์ต และฝ่ายผู้สนับสนุนของพระเจ้าเฮนรี[30] ยุทธการครั้งแรกเกิดขึ้นที่กลอสเตอร์ ซึ่งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถยึดคืนได้จากฝ่ายศัตรู แต่เมื่อโรเบิร์ต เดอ เฟอร์เริร์ส เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ 6 (Robert de Ferrers, 6th Earl of Derby) ยกกำลังมาสนับสนุนผู้ก่อการ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเจรจาสงบศึกกับเอิร์ลแห่งดาร์บีซึ่งต่อมาพระองค์ก็ทรงละเมิดสัญญาสงบศึกนี้ จากนั้นเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จนำทัพไปยึดนอร์แธมป์ตันคืนจากซีมงที่ 6 เดอ มงฟอร์บุตรของซีมง เดอ มงฟอร์ ก่อนที่จะเสด็จไปตอบโต้การรณรงค์ในบริเวณดาร์บีของฝ่ายตรงข้าม[31] ในที่สุดฝ่ายขุนนางและฝ่ายกษัตริย์ก็ปะทะกันในยุทธการหลุยส์ (Battle of Lewes) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1264 แม้ว่ากองทัพของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ก็ทรงได้รับความพ่ายแพ้ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและเฮนรีแห่งอัลเมนถูกจับเป็นเชลยโดยไซมอนแห่งมอนฟอร์ต[32]
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงถูกนำตัวไปจำขังอยู่จนเดือนมีนาคมและแม้หลังจากการทรงถูกปลดปล่อยแล้วก็ยังคงถูกควบคุมทุกฝีก้าว[33] เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พระองค์ก็ทรงหลบหนีไปกับผู้คุมและไปสมทบกับกิลเบิร์ต เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 7 แห่งฮาร์ตเฟิร์ด (Gilbert de Clare, 7th Earl of Hertford) ผู้ที่เพิ่งหันมาสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์เพียงไม่นานก่อนหน้านั้น[34] ในขณะเดียวกันฝ่ายมงฟอร์ก็มีผู้สนับสนุนน้อยลงจนทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถยึดวูสเตอร์และกลอสเตอร์คืนได้อย่างง่ายดาย[35] มงฟอร์จึงหันไปเป็นพันธมิตรกับเลเวลินคนสุดท้ายและเริ่มนำทัพไปทางตะวันออกไปสมทบกับซีมงที่ 4] บุตรชาย เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสามารถจู่โจมฝ่ายมอนฟอร์ตโดยไม่รู้ตัวที่ปราสาทเค็นนิลเวิร์ธ (Kenilworth Castle) เมื่อไซมอนที่ 4 จนมุมก่อนที่จะถูกตัดออกจากกำลังของไซมอนแห่งมอนฟอร์ต[36] กองกำลังทั้งสองจึงประจันหน้ากันเป็นครั้งที่สองซึ่งเป็นยุทธการใหญ่ของสงครามขุนนางในยุทธการอีฟแชม (Battle of Evesham) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1265 ซีมง เดอ มงฟอร์ไม่มีหนทางที่จะต่อสู้กับกองทัพที่มีกำลังเหนือกว่าได้และในที่สุดก็พ่ายแพ้ ถูกสังหารและย่ำยีกลางสนามรบ[37]
หลังจากการเสียชีวิตของซีมงสงครามก็ยังไม่ยุติลง เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยังทรงดำเนินการรณรงค์ต่อไป เมื่อมาถึงคริสต์มัสพระองค์ก็ทรงทำความตกลงกับซีมงที่ 4 และผู้สนับสนุนที่ไอล์ออฟแอ็กซ์โฮล์ม (Isle of Axholme) ในลิงคอล์นเชอร์ และในเดือนมีนาคมพระองค์ก็สามารถโจมตีบริเวณบริเวณห้าเมืองท่า (Cinque Ports) ในบริเวณเค้นท์และซัสเซ็กส์ได้สำเร็จ[38] ฝ่ายข้าศึกถอยเข้าไปยึดที่มั่นไว้ในปราสาทเค็นนิลเวิร์ธซึ่งเป็นปราสาทที่ยากต่อการโจมตี ฝ่ายก่อการที่ยึดปราสาทไว้ไม่ยอมแพ้จนกระทั่งมีการร่างสัญญาประนีประนอมที่เรียกว่าข้อตกลงเค็นนิลเวิร์ธ (Dictum of Kenilworth)[39] ในเดือนเมษายน ส่วนบรรยากาศทั่วไปทางด้านอื่นก็ดูเหมือนว่ากลอสเตอร์จะร่วมก่อการปฏิรูปขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจจะทำให้เกิดสงครามขึ้นอีก แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันในข้อตกลงเค็นนิลเวิร์ธได้ สถานการณ์ที่คุกรุ่นก็ราลง[40] แต่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมิได้ทรงมีส่วนในการเจรจาตกลงครั้งนี้เท่าใดนักเพราะมัวแต่ทรงหันไปหมกมุ่นกับการวางแผนการเดินทางไปเข้าร่วมการทำสงครามครูเสดที่จะมาถึง[41]
สงครามครูเสดและการขึ้นครองราชย์
[แก้]เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1268 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพร้อมกับเอ็ดมันด์ ครุชแบ็ก เอิร์ลที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระอนุชาและเฮนรีแห่งอัลเมนพระญาติทรงรับกางเขนในพิธีการออกสงครามที่ใหญ่โตหรูหรา ในบรรดาผู้ร่วมพิธีก็มีผู้เป็นศัตรูเก่าเช่นเอิร์ลแห่งกลอสเตอร์ แต่ที่ในที่สุดกลอสเตอร์ก็ไม่ได้ไปสงคราม[42] เมื่อบ้านเมืองราบคาบลงปัญหาเดียวในการเข้าร่วมสงครามคือการขาดทุนทรัพย์[43] พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสผู้ทรงเป็นผู้นำในการสงครามครั้งนี้ทรงให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยืมทุนทรัพย์สำหรับการทำสงครามเป็นจำนวนประมาณ 17,500 ปอนด์[44] ซึ่งก็เป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอ ก้อนที่เหลือได้มาจากการเก็บภาษีฆราวาส (Laity) ซึ่งไม่ได้บังคับใช้กันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1237[44] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1270 รัฐสภาก็อนุมัติการเก็บ “ภาษีหนึ่งในยี่สิบ” ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่เคลื่อนไหวได้เช่นสัตว์เลี้ยงเป็นอัตราร้อยละห้า[45] เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการทรงยอมรับ “มหากฎบัตร” โดยพระเจ้าเฮนรีอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังอนุมัติกฎจำกัดสิทธิของธุรกิจการยืมเงินของชาวยิวด้วย[46] เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็เสด็จลงเรือจากโดเวอร์เพื่อเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส[47] ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่ากองกำลังที่ทรงนำไปด้วยมีจำนวนเท่าใด แต่ประมาณกันว่าคงทรงนำอัศวินราว 225 คนพร้อมทั้งทหารที่รวมด้วยกันทั้งหมดแล้วก็คงไม่เกินกว่า 1,000 คน[43]
จุดประสงค์แรกของการเดินทางไปสงครามก็เพื่อไปช่วยกองทัพคริสเตียนที่ถูกล้อมอยู่ในที่มั่นที่เอเคอร์ในราชอาณาจักรเยรูซาเลม แต่พระเจ้าหลุยส์ทรงหันทัพไปทางทูนิสทางแอฟริกาตอนเหนือก่อน พระเจ้าหลุยส์และพระอนุชาชาร์ลแห่งอ็องฌูผู้ตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี ตกลงกันโจมตีอีเมียร์ (emir) ทางเหนือของแอฟริกาเพื่อยึดเป็นที่ตั้งมั่นในบริเวณตอนเหนือของแอฟริกา[48] แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จและต้องเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมากด้วยโรคระบาดรวมทั้งพระเจ้าหลุยส์เองก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม[49] เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปถึงทูนิส พระเจ้าชาร์ลส์ (ชาร์ลส์แห่งอองชู) ก็ได้ไปทรงลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับอีเมียร์เรียบร้อยไปแล้ว การเดินทางไปสงครามครูเสดของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงถูกเลื่อนไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิปีต่อมา แต่พายุร้ายนอกฝั่งซิซิลีทำให้พระเจ้าชาร์ลส์และพระเจ้าฟิลลิปที่ 3 (ผู้ครองฝรั่งเศสต่อจากพระเจ้าชาร์ลส์) ทรงเปลี่ยนพระทัยในการเดินหน้าต่อไปในการทำสงคราม[50] เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงทรงตัดสินพระทัยเดินทัพต่อไปเพียงพระองค์เดียวและเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1271 พระองค์ก็ขึ้นฝั่งที่เอเคอร์[51]
สถานการณ์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จไปถึงเป็นสถานการณ์ที่ออกจะเปราะบาง เยรูซาเลมเสียเมืองไปแล้วในปี ค.ศ. 1187 เอเคอร์กลายเป็นศูนย์กลางสุดท้ายที่เหลือของราชอาณาจักรเยรูซาเลมที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของคริสเตียน[52] ประเทศกลุ่มอิสลามโดยการนำของ ไบบาร์ส (Baibars) แห่งราชวงศ์บาหรี (Bahri dynasty) อยู่ในฐานะได้เปรียบ และดูจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของเอเคอร์ แม้ว่ากองทัพของพระองค์จะเป็นส่วนสำคัญในการเป็นกองหนุนให้เอเคอร์แต่ก็เป็นกองกำลังที่เสียเปรียบต่อกองทัพที่มีพลานุภาพมากกว่าของไบบาร์ส ความพยายามที่จะจู่โจมเซนต์จอร์จเดอเลอเบนย์ (St Georges-de-Lebeyne) ที่ไม่ไกลจากเอเคอร์ในเดือนมิถุนายนก็ประสบความล้มเหลว[53] การโจมตีของมองโกลที่อเล็พโพ (Aleppo) ในซีเรียทางตอนเหนือทำให้เสความสนใจจากเอเคอร์ของกองทัพฝ่ายอิสลามอยู่ระยะหนึ่ง[54] ในเดือนพฤศจิกายนเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ทรงบุกเข้าปล้นสะดมคาคุน (Qaqun) ของฝ่ายมุสลิม ซึ่งถ้ายึดได้ก็อาจจะใช้เป็นที่มั่นสำหรับการยึดกรุงเยรูซาเลมคืนได้ แต่ทั้งการรุกรานของฝ่ายมองโกลและการรุกรานคาคุนของพระองค์ต่างก็ล้มเหลว สถานการณ์จึงเลวร้ายลงตามลำดับ ฉะนั้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1272 ฮิวจ์ที่ 3 แห่งไซปรัส (Hugh III of Cyprus) ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรเยรูซาเลมเพียงในนามก็ทรงยอมลงพระนามในสัญญาสงบศึกสิบปีกับไบบาร์ส[55] เมื่อเริ่มแรกเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ไม่ทรงยอมรับสัญญานี้ แต่หลังจากที่ทรงถูกลอบทำร้ายโดยนักลอบสังหาร (assassin) ชาวมุสลิมในเดือนมิถุนายนแล้ว พระองค์ก็ทรงจำต้องยอมหยุดยั้งการรณรงค์ต่อไปแม้ว่าจะทรงสังหารนักลอบสังหารได้ก็ตาม จากการลอบทำร้ายครั้งนี้ทำให้ทรงได้รับบาดเจ็บที่พระกรโดยกริชอาบยาและทรงได้รับบาดเจ็บต่อมาอีกหลายเดือนหลังจากนั้น[56]
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมิได้เสด็จออกจากเอเคอร์จนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน และไม่ได้ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนปีก่อนหน้านั้นจนกระทั่งเมื่อเสด็จไปถึงซิซิลี[57] แม้ว่าจะทรงมีความโทมนัสต่อการสูญเสียแต่มิได้ทำให้ทรงรีบเสด็จกลับอังกฤษในทันที แต่กลับทรงค่อยๆ เสด็จเดินทางขึ้นไปทางเหนือของยุโรปอย่างสบายๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพลานามัยยังอ่อนแออยู่ หรืออาจจะทรงมีความคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนก็ได้[58] เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษขณะนั้นอยู่ในสภาพที่มั่นคงหลังการความไม่สงบต่างๆ ในกลางคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการประกาศให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทันทีหลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแทนที่จะรอประกาศจนเมื่อได้ทำการสวมมงกุฎพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเช่นในอดีต การประกาศทันทีจึงกลายมาเป็นประเพณีที่ทำกันมาตั้งแต่บัดนั้น[59] พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับอังกฤษทางแผ่นดินโดยเสด็จผ่านอิตาลีและฝรั่งเศส ขณะที่เสด็จผ่านกรุงโรมพระองค์ก็เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา และเมื่อผ่านฝรั่งเศสก็ทรงถือโอกาสปราบปรามการก่อความไม่สงบในแกสโคนีไปด้วย[60] พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จกลับถึงอังกฤษเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1274 และทรงเข้าทำพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม[61]
เสวยราชสมบัติ
[แก้]เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 3เสด็จสวรรคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกำลังทำสงครามครูเสดอยู่ทางตะวันออก แต่ทรงมาได้ข่าวการสวรรคตที่ซิซิลีเมื่อพระองค์เสด็จกลับจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว
ในระยะแรกเอ็ดเวิร์ดมีพระประสงค์ที่จะใช้นาม “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4” ตามพระนามกษัตริย์แซ็กซอนสามพระองค์ที่ปกครองอังกฤษก่อนหน้านั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม พระองค์มารู้จักกันในพระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” โดยไม่มีลำดับตัวเลข เมื่อพระราชโอรสที่มีพระนามเดียวกันขึ้นเสวยราชย์ก็ทรงใช้พระนามว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2” และ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” จึงกลายเป็น “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” ซึ่งเป็นการริเริ่มการลำดับหมายเลขหลังพระนามพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นอร์มันได้รับชัยชนะต่ออังกฤษในปี ค.ศ. 1066 เป็นต้นมา แม้ว่าพระนาม “เอ็ดเวิร์ด” จะเป็นพระนามที่ใช้ทั้งก่อนและหลังจากนอร์มันได้รับชัยชนะก็ตาม
สงครามกับเวลส์
[แก้]พระราชกรณีกิจชิ้นแรกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดคือการทำสงครามเพื่อยึดครองเวลส์ หลังจากสงครามขุนนางแล้วลูวเวลลินกริฟฟุด (Llywelyn the Last หรือ Llywelyn ap Gruffydd) ก็ฉวยโอกาสภายใต้สนธิสัญญามอนต์กอมรีในปึ ค.ศ. 1267 ในการขยายดินแดนไปทางใต้จนไปถึงดินแดนดินแดนมาร์ชเวลส์ (Welsh Marches) ที่เป็นของอังกฤษและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าลูวเวลลินคือเจ้าชายแห่งเวลส์[62] แม้ว่าจะยังสวามิภักดิ์ต่ออังกฤษ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวที่พระราชบิดาได้ทรงลงนามไว้ และในปี ค.ศ. 1275 โจรสลัดของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยับยั้งเรือที่นำเอเลเนอร์แห่งมอนฟอร์ตธิดาของไซมอนแห่งมอนฟอร์ตจากประเทศฝรั่งเศสไปยังเวลส์เพื่อจะไปแต่งงานกับลูวเวลลินกริฟฟุด และทรงจำขังเอเลเนอร์ไว้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ หลังจากที่ลูวเวลลินกริฟฟุดไม่ยอมเข้ามาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ในฐานะเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1274 และปี ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงรวบรวมกองทัพเพื่อยกไปปราบปรามลูวเวลลินกริฟฟุดในเวลส์เป็นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1276 จนถึงปี ค.ศ. 1277 หลังจากที่พ่ายแพ้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแล้วลูวเวลลินกริฟฟุดก็ถูกบังคับให้แสดงความสวามิภักดิ์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยึดดินแดนต่างๆ ที่กริฟฟุดยึดไปคืน นอกจากดินแดนเพียงเล็กน้อยที่กุนนาร์ด แต่ทรงยอมให้รักษาตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ไว้และทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้แต่งงานกับเอเลเนอร์แห่งมอนฟอร์ต
ในปี ค.ศ. 1282 ดาฟุดกริฟฟุดน้องชายของลูวเวลลินกริฟฟุดที่เคยเป็นพันธมิตรกับอังกฤษอยู่ระยะหนึ่งเริ่มแข็งข้ออีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงปราบปรามได้สำเร็จ และทรงจับดาฟุดกริฟฟุดมาทรมานและประหารชีวิตในปีต่อมา หลังจากนั้นก็ทรงก่อสร้างปราสาทหินใหญ่โตหลายแห่งตามชายแดนรอบอังกฤษและในเวลส์เองเพื่อป้องการการแข็งข้อของเวลส์
ราชรัฐเวลส์จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษภายใต้พระราชบัญญัติรัดด์แลนในปี ค.ศ. 1284 และในปี ค.ศ. 1301 นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยังทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์โตขึ้นเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ซึ่งกลายมาเป็นประเพณีที่เป็นตำแหน่งสำหรับพระราชโอรสองค์โตของพระมหากษัตริย์อังกฤษเกือบทุกพระองค์ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ยกเว้นแต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3
สงครามกับสกอตแลนด์
[แก้]หลังจากที่ทรงกำราบเวลส์ได้สำเร็จ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงหันมาทางสกอตแลนด์ ทรงตั้งพระทัยจะจัดการเสกสมรสพระราชโอรสองค์โตกับมาร์กาเร็ตแห่งสกอตแลนด์ แต่มาร์กาเร็ตมาเสียชีวิตเสียก่อนโดยไม่มีผู้สืบเชื้อสายที่เห็นได้ชัด คณะผู้พิทักษ์สกอตแลนด์ (Scottish Guardians) จึงอัญเชิญให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาเป็นผู้ตัดสินว่าใครควรจะเป็นผู้สืบราชสมบัติสกอตแลนด์ต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามแย่งราชสมบัติกันในสกอตแลนด์ แต่ก่อนที่จะมีความคืบหน้าแต่อย่างใด พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเรียกร้องให้สกอตแลนด์แต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็น “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” (Lord Paramount of Scotland) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชอาณาจักร หลังจากการต่อต้านในระยะแรกสกอตแลนด์ก็ยอมรับข้อเรียกร้องของพระองค์
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นประธานในศาลขุนนางที่ประชุมกันที่ปราสาทเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1292 ที่ตัดสินสนับสนุนจอห์นแห่งสกอตแลนด์ (จอห์น บาลลิโอล) ผู้ที่มีสิทธิในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าผู้อื่น หลังจากที่จอห์นแห่งสกอตแลนด์ขึ้นครองราชย์แล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงใช้ตำแหน่ง “เจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งสกอตแลนด์” ในการลดอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่โดยการทรงเรียกตัวบาลลิโอลมาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1293 นอกจากนั้นก็ยังทรงแสดงพระประสงค์ให้จอห์นสนับสนุนพระองค์ทั้งทางการเงินและทางการทหารในการต่อสู้กับฝรั่งเศส บาลลิโอลไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องข้อหลังนี้ได้และหันไปทำสัญญากับฝรั่งเศสและเตรียมตัวรุกรานอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงตอบโต้โดยการนำกองทัพที่ประกอบด้วยทหาร 25,000 คนเข้าทำลายเมืองเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีด และสังหารประชาชนไปราว 11,000 คนซึ่งเป็นประชาชนเกือบทั้งเมือง ระหว่างการรณรงค์ในสกอตแลนด์พระองค์ก็ทรงใช้เครื่องมือยิงหินที่เรียกว่า “วอร์วูลฟ” (Warwolf) อย่างแพร่หลาย
หลังจากที่ทรงยึดเบอร์ริค-อัพพอน-ทวีดได้แล้ว พระองค์ก็ทรงเดินทัพต่อไปยังดันบาร์และเอดินบะระห์และทรงนำหินแห่งสโคน (Stone of Scone) จากเพิร์ธลงมายังแอบบีเวสต์มินสเตอร์ จอห์นแห่งสกอตแลนด์สละราชสมบัติและถูกจำขังในหอคอยแห่งลอนดอนอยู่สามปีก่อนที่จะเดินทางไปลี้ภัยพำนักอยู่ในฝรั่งเศส เจ้าของที่ดินอิสระทั้งหมดในสกอตแลนด์ถูกบังคับให้สาบานความสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงปกครองสกอตแลนด์เช่นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษที่นำโดยอุปราชอังกฤษ
กลุ่มการต่อต้านในสกอตแลนด์ก็เริ่มก่อตัวขึ้น (ดูสงครามประกาศอิสรภาพสกอตแลนด์) ในบรรดาการต่อต้านพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงประหารชีวิต วิลเลียม วอลเลซ เมื่อวันที่ 23 สืงหาคม ค.ศ. 1305 หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อวอลเลซที่ศึกฟอลเคิร์ค ในปี ค.ศ. 1298
บั้นปลาย
[แก้]ในบั้นปลายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสูญเสียพระราชินีเลโอนอร์แห่งกัสติยาพระชายา และรัชทายาทก็ไม่ทรงมีบุคลิกของผู้นำที่เห็นได้ชัดตามพระราชประสงค์ พระประสงค์ที่จะปราบสกอตแลนด์ให้ราบคาบในขณะที่ยังทรงมีชีวิตอยู่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1307 ที่เบอร์หบายแซนด์สในคัมเบอร์แลนด์ไม่ไกลจากเขตแดนสกอตแลนด์ขณะที่ทรงเดินทัพไปรณรงค์กลุ่มผู้ต่อต้านอีกกลุ่มหนึ่งในสกอตแลนด์ภายใต้การนำของโรเบิร์ต บรูซ ตามจดหมายเหตุกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระราชประสงค์ที่จะให้กองทัพคงดำเนินการต่อไปหลังจากการเสด็จสวรรคตไปแล้ว โดยการนำพระอัฐิของพระองค์ไปด้วยและให้นำพระหทัยของพระองค์ไปฝังไว้ที่ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ และทรงบรรจุพระบรมศพของพระราชบิดาไว้ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ภายในโลงตะกั่วเรียบๆ ที่ต่อมาจารึกด้วยคำว่า “Scottorum malleus” หรือ “ผู้ปราบชนสกอต”[63] รอเวลาที่จะเปลี่ยนเป็นโลงทองเมื่อสกอตแลนด์ถูกปราบปรามสำเร็จและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1774 เมื่อสมาคมโบราณคดีแห่งลอนดอนเปิดโลงพระศพก็พบว่าพระวรกายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังอยู่ในสภาพดีไม่เน่าเปื่อยมาเป็นเวลา 467 ปี ร่างของพระองค์ยังนอนอยู่ในโลงตะกั่วเดิมแม้ว่าราชบัลลังก์สกอตแลนด์จะรวมตัวกับราชบัลลังก์อังกฤษในปี ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษหลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคต การรวมตัวเป็นสหภาพระหว่างสองอาณาจักรมาสำเร็จตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ในชื่อว่าราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์
พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ในพระนามว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
การปกครองและกฎหมาย
[แก้]ไม่เช่นพระเจ้าเฮนรีที่ 3พระราชบิดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงมีความสนพระทัยในระบบการปกครองของรัฐบาลและทรงริเริ่มการปฏิรูปหลายด้านเพื่อให้อำนาจในการปกครองของรัฐบาลและการบริหารมาตกอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์มากขึ้น รัฐสภาเริ่มมีการประชุมอย่างเป็นปกติมากขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แม้จะยังมีอำนาจในการเก็บภาษีอย่างจำกัดแต่ก็ยังทรงได้รับการขยายอำนาจในการเก็บภาษีของพระองค์ได้กว้างขึ้นกว่าในรัชสมัยของพระราชบิดา
หลังจากที่เสด็จกลับจากสงครามครูเสดครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 1274 แล้วก็มีการสืบสวนเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจในทางที่ผิดในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิดการบันทึกการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน (Hundred Rolls) ในปี ค.ศ. 1275 รายละเอียดของพระราชบัญญัติเป็นการเริ่มลดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ข้อบกพร่องต่างๆ ที่พบระหว่างการสืบสวนทำให้เกิดพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับตลอดรัชสมัยของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1275 พระราชบัญญัติเวสต์มินสเตอร์ฉบับแรกก็ได้รับการอนุมัติเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในบันทึกการสำรวจทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน พระราชบัญญัติที่คล้ายคลึงกันก็ได้รับอนุมัติต่อมาเรื่อยจนโรเบิร์ต เบอร์เนลล์ที่ปรึกษาคนสนิทของพระองค์เสียชีวิต ในปี ค.ศ. 1292
การประหัตประหารชนยิว
[แก้]ในปี ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกบทกฎหมายจำกัดสิทธิชาวยิว (Statute of the Jewry) ซึ่งบ่งกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ที่มีผลต่อชนยิวในอังกฤษ ข้อที่เด่นก็ได้แก่การระบุว่าธุรกิจการกู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยสูงเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หรือชนยิวต้องติดเครื่องหมายเหลืองบนเสื้อนอก
พระราชกฤษฎีกาขับไล่
[แก้]ในปี ค.ศ. 1290 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงออกพระราชกฤษฎีกาขับไล่ชาวยิว (Edict of Expulsion) ซึ่งระบุไล่ชาวยิวทั้งหมดออกจากอังกฤษ ระหว่างการประหัตประหารชนยิว พระองค์ก็มีพระราชโองการจับหัวหน้าชนยิวกว่า 300 คนไปจำขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนก่อนที่มีพระราชโองการให้ประหารชีวิต นอกจากนั้นก็ยังมีไล่เข่นฆ่าชาวยิวที่พบตามบ้านเรือนและยังทรงยึดทรัพย์สินของชนยิวด้วย
สาเหตที่ทรงออกพระราชกฤษฎีกายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าเป็นเพราะข่าวลือที่เริ่มจะหนาหูที่กล่าวหาว่าชนยิวเที่ยวไล่จับเด็กคริสเตียนฆ่าเพื่อนำไปทำพิธีทางศาสนา และเฉพาะในกรณีของไอแซ็คแห่งพูเลท์ผู้ถูกจับในข้อหาว่าฆ่าเด็กคริสเตียนที่ออกซฟอร์ด อีกเหตุผลหนึ่งกล่าวว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ทางการเงิน แม้ว่าการให้กู้เงินจะเป็นอาชีพที่แพร่หลายในหมู่ชนยิวและบางครั้งก็มีการกล่าวหาว่าเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าเหตุ แต่อาชีพนี้ก็มิได้เป็นอาชีพที่ทำเงินได้มากเท่าใดนักเมื่อมาถึงรัชสมัยของพระองค์ (ชาวยิวถูกเก็บภาษีอย่างสูงในสมัย พระเจ้าจอห์น และในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 พระราชบิดา) นอกจากนั้นก่อนปี ค.ศ. 1292 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการหนุนหลังทางการเงินอย่างพอเพียงจากเฟรสโกบาลดี (Frescobaldi) ซึ่งเป็นบริษัทการเงินของอิตาลี ซึ่งทำให้เหตุผลหลังนี้เป็นไปได้ยาก แต่สาเหตุที่มีเหตุผลที่สุดก็น่าจะเป็นการที่ทรงได้รับเงินหนุนหลังจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากชนยิวขณะเดียวกับที่บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างผ่อนปรนระหว่างผู้ต่างศาสนาก็เริ่มลดลงหลังจากการประชุมสภาบาทหลวงแห่งแลตเตอรันครั้งที่ 4 (Fourth Lateran Council) ในปี ค.ศ. 1215 [64] นอกจากนั้นเราก็ยังควรเข้าใจว่าการขับไล่ชนยิวมิได้เกิดเฉพาะแต่ในอังกฤษแต่เป็นบรรยากาศของการต่อต้านชนยิวที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในยุโรปในคริสต์ศตวรรที่ 13 เช่นในกรณีที่ฝรั่งเศสขับไล่ชาวยิวจากเมืองทุกเมือง และพระราชมารดาของพระองค์เองพระราชินีเอเลเนอร์ก็มีคำสั่งไล่ชนยิวออกจากพรอวองซ์ในปี ค.ศ. 1275
พระบรรพบุรุษ
[แก้]16. เจฟฟรีย์ที่ 5 เคานต์แห่งอ็องฌู | ||||||||||||||||
8. พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ | ||||||||||||||||
17. จักรพรรดินีมาทิลดา | ||||||||||||||||
4. พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ | ||||||||||||||||
18. วิลเลียมที่ 10 แห่งอากีแตน | ||||||||||||||||
9. อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน | ||||||||||||||||
19. เอนอร์แห่งชาเทลเลอร์โรท์ | ||||||||||||||||
2. พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ | ||||||||||||||||
20. วิลเลียมที่ 6 เคานต์แห่งแห่งอ็องกูเลม | ||||||||||||||||
10. แอมเยอร์ เคานต์แห่งแห่งอ็องกูเลม | ||||||||||||||||
21. มาร์เกอรีตแห่งตูรีน | ||||||||||||||||
5. พระนางอิซาเบลลาแห่งอองกูแลม | ||||||||||||||||
22. ปีเตอร์ เดอ คอร์เทเนย์ | ||||||||||||||||
11. อลิซ เดอ คอร์เทเนย์ | ||||||||||||||||
23. เอลิซาเบธ เดอ คอร์เทเนย์ | ||||||||||||||||
1. พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ | ||||||||||||||||
24. พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน | ||||||||||||||||
12. อัลฟอนโซที่ 2 เคานต์แห่งพรอวองส์ | ||||||||||||||||
25. ซานชาแห่งกัสติยา | ||||||||||||||||
6. ราโมน เบอรองแกร์ที่ 4 เคานต์แห่งพรอวองส์ | ||||||||||||||||
26. เรนูเคานท์แห่งฟอร์คาลเคียร์ | ||||||||||||||||
13. เจอร์เซ็นดาที่ 2 แห่งซาบรัน | ||||||||||||||||
27. แกร์ซองด์แห่งฟอร์คาลเคียร์ | ||||||||||||||||
3. พระนางเอลินอร์แห่งพรอวองส์ | ||||||||||||||||
28. ฮัมเบิร์ตที่ 3 แห่งซาวอย | ||||||||||||||||
14. ทอมัสที่ 1 แห่งซาวอย | ||||||||||||||||
29. เบียทริซแห่งเวนัวส์ | ||||||||||||||||
7. เบียทริซแห่งซาวอย | ||||||||||||||||
30. วิลเลียมที่ 1 แห่งเจนีวา | ||||||||||||||||
15. มาร์เกอรีตแห่งเจนีวา | ||||||||||||||||
31. เบียทริซแห่งฟอซินยี | ||||||||||||||||
พระราชโอรสธิดา
[แก้]พระราชโอรสธิดากับพระนางเอลินอร์
[แก้]- เอเลเนอร์ (ราว 17 มิถุนายน ค.ศ. 1264 หรืออาจจะเป็นค.ศ. 1269 - 12 ตุลาคม ค.ศ. 1298) เดิมทรงเป็นคู่หมั้นของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอนผู้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะได้เสกสมรส ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1293 เสกสมรสกับเฮนรีที่ 3 เคานต์แห่งบาร์
- โจน (ค.ศ. 1265 - ก่อนวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1265) ประสูติที่ปารีสหรืออาจจะที่แอบเบวิลล์ Ponthieu และสิ้นพระชนม์ที่ฝรั่งเศส พระศพฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
- จอห์น (ราววันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1266 - 1 สิงหาคม หรือ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1271) อาจจะประสูติที่พระราชวังวินด์เซอร์หรือที่ปราสาทเค็นนิลเวิร์ธ และสิ้นพระชนม์ที่ปราสาทวอลลิงฟอร์ด ขณะที่อยู่ในความดูแลของพระอัยการิชาร์ด เอิร์ลที่ 1 แห่งคอร์นวอลล์ พระศพฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
- เฮนรี (13กรกฎาคม ค.ศ. 1267/ค.ศ. 1268 - 14 ตุลาคม, ค.ศ. 1274) ประสูติที่พระราชวังวินด์เซอร์ และอาจจะสิ้นพระชนม์ที่เมอร์ตันในเซอร์รีหรือที่ปราสาทกิลด์ฟอร์ด
- แอลิส สมภพที่วังวูดสต็อค และอาจจะสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา บางครั้งเชื่อว่าเป็นคนคนเดียวกับอิสซาเบลลาผู้เกิดเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1279 แต่ไม่น่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกต้องเพราะอิสซาเบลลาสิ้นชีวิตในปีเดียวกับปีที่เกิด
- จูเลียนา (ค.ศ. 1271 - 28 พฤษภาคม หรือ 5 กันยายน ค.ศ. 1271) ประสูติที่เอเคอร์ในปาเลสไตน์
- โจนแห่งเอเคอร์ (ค.ศ. 1272 - 23 เมษายน ค.ศ. 1307) สมภพที่เอเคอร์ในปาเลสไตน์ เสกสมรสกับกิลเบิร์ต เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 7 แห่งฮาร์ตเฟิร์ด และต่อมากับราล์ฟ เดอ มอนเธอร์เมอร์ บารอนแห่งมอนเธอร์เมอร์ที่ 1 และสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักส่วนพระองค์ในซัฟโฟล์ค
- อัลฟอนโซ เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ (24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1273 - 19 สิงหาคม หรือ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1284) อาจจะประสูติที่เบยอนน์ หรือที่บอร์โดซ์ หรือที่แกสโคนี หรือที่เมน และสิ้นพระชนม์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ พระศพฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
- มาร์กาเร็ต (11 กันยายน ค.ศ. 1275 - ค.ศ. 1318) สมภพที่พระราชวังวินด์เซอร์ เสกสมรสกับจอห์นที่ 2 แห่งบราบังท์ พระศพฝังที่บรัสเซลส์
- เบเร็นเจเรีย (1 พฤษภาคม ค.ศ. 1276 - 27 มิถุนายน ค.ศ. 1278) สมภพที่วังเค็มพ์เต็นในเซอร์รี เสกสมรสกับx พระศพฝังที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์
- แมรี (11 มีนาคม หรือ 22 Lเมษายนl ค.ศ. 1278 - 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1332) สมภพที่พระราชวังวินด์เซอร์ ทรงบวชเป็นชีและประทับที่เอมส์บรีในแคว้นวิลท์เชอร์
- อิสซาเบลลา (12 มีนาคม ค.ศ. 1279 - ค.ศ. 1279) อาจจะสมภพที่วังวูดสต็อค หรือที่ปราสาทมาร์ลเบรอในแคว้นวิลท์เชอร์ พระศพฝังที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์
- เอลิซาเบธแห่งรัดด์แลน (ค.ศ. 1282 - ราว 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1316) สมภพที่ปราสาทรัดด์แลนในเวลส์ เสกสมรสครั้งแรกกับจอห์นที่ 1 เคานต์แห่งฮอลแลนด์ ครั้งที่สองกับฮัมฟรีย์เดอโบฮุน เอิร์ลแห่งแฮรฟอร์ดที่ 4 ครั้งที่สามกับเอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ และสิ้นพระชนม์จากการให้กำเนิดพระบุตรที่เคว็นเด็นในเอสเซ็กส์ พระศพฝังที่แอบบีวอลเด็นในเอสเซ็กส์
- พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (25 เมษายน ค.ศ. 1284 - 21 กันยายน ค.ศ. 1327) เสด็จพระราชสมภพที่ปราสาทคายร์นาร์วอนในเวลส์ เสกสมรสกับอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส และสิ้นพระชนม์โดยถูกปลงพระชนม์ที่ปราสาทบาร์คลีย์ในแคว้นกลอสเตอร์เชอร์ พระบรมศพฝังที่มหาวิหารกลอสเตอร์
- เบียทริซ (หลังวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1286 - ค.ศ. x) อาจจะสมภพที่แกสโคนีหรืออากีแตน
- บลานช์ (ค.ศ. 1289/ค.ศ. 1290- ?)
พระราชโอรสธิดากับพระนางมาเกอรีต
[แก้]- ทอมัสแห่งบราเธอตัน เอิร์ลแห่งนอร์โฟล์คที่ 1 (1 มิถุนายน ค.ศ. 1300 - 4 สิงหาคม หรือ 20 กันยายน ค.ศ. 1338) ประสูติที่บราเธอตันในแคว้นยอร์คเชอร์ เสกสมรสกับแอลิซ เฮลส์ และต่อมากับแมรี บรูส์ พระศพฝังที่เบอรีเซนต์เอ็ดมันด์
- เอ็ดมันด์แห่งวูดสตอค เอิร์ลที่ 1 แห่งเคนต์ (5 สิงหาคม ค.ศ. 1301 - 19 มีนาคม ค.ศ. 1330) ประสูติที่วังวูดสตอค เสกสมรสกับมาร์กาเรต เวค บารอนเนสเวกที่ 3 แห่งลิดเดลล์ และสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกสังหารโดยอิซาเบลลาแห่งฝรั่งเศสและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 1 หลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ถูกโค่นราชบัลลังก์
- เอลินอร์ (4 พฤษภาคม ค.ศ. 1306 - ค.ศ. 1311) สมภพที่วินเชสเตอร์และสิ้นพระชนม์ที่เอมส์บรีในแคว้นวิลท์เชอร์ พระศพฝังที่อารามบิวลีในแคว้นแฮมพ์เชอร์
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 246
- ↑ Because of his 6 foot 2 inch (188 cm) frame as compared with an average male height of 5 foot 7 inch (170 cm) at the time.
- ↑ His tombstone, reads Edwardus Primus Scotorum Malleus hic est, 1308. Pactum Serva Latin for "Here is Edward I, Hammer of the Scots"; though this inscription was probably added in the 16th century.
- ↑ เพรสต์วิค, “เอ็ดเวิร์ดที่ 1”, 4
- ↑ “พจนานุกรมชีวประวัติแห่งชาติออกซฟอร์ด” “เอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ”
- ↑ Prestwich 1997, pp. 5–6
- ↑ Prestwich (2004).
- ↑ Prestwich 1997, pp. 7–8
- ↑ Morris 2008, pp. 14–8
- ↑ Prestwich 1997, p. 10
- ↑ Prestwich 1997, p. 11
- ↑ Prestwich 1997, pp. 11–4
- ↑ Morris 2008, p. 20
- ↑ Morris 2008, p. 231
- ↑ Morris 2008, pp. 230–1
- ↑ Prestwich 2007, p. 96
- ↑ Morris 2008, p. 7
- ↑ Henry III's mother Isabella of Angoulême married Hugh X of Lusignan after the death of King John of England; Prestwich 2005, p. 94.
- ↑ Prestwich 2007, p. 95
- ↑ Prestwich 1997, pp. 15–6
- ↑ Carpenter, David (1985). "The Lord Edward's oath to aid and counsel Simon de Montfort, 15 October 1259". Bulletin of the Institute of Historical Research. 58: 226–37.
- ↑ Prestwich 1997, pp. 31–2
- ↑ Prestwich 1997, pp. 32–3
- ↑ Morris 2008, pp. 44–5
- ↑ Prestwich 1997, p. 34
- ↑ Powicke 1962, pp. 171–2
- ↑ Maddicott 1994, p. 225
- ↑ Prestwich 1997, p. 41
- ↑ Prestwich 2007, p. 113
- ↑ This conflict is often referred to as the Second Barons' War, to distinguish it from the civil war– or the First Barons' War– of 1215-1217.
- ↑ Prestwich 1997, pp. 42–3
- ↑ Sadler 2008, pp. 55–69
- ↑ Prestwich 1997, pp. 47–8
- ↑ This was Gilbert de Clare, 7th Earl of Hertford, son of the aforementioned Richard de Clare, 6th Earl of Hertford; Prestwich 1997, pp. 48–9.
- ↑ Prestwich 1997, pp. 49–50
- ↑ Powicke 1962, pp. 201–2
- ↑ Sadler 2008, pp. 105–9
- ↑ Prestwich 1997, p. 55
- ↑ The Dictum restored land to the disinherited rebels, in exchange for a fine decided by their level of involvement in the wars; Prestwich 2007, p. 117
- ↑ ข้อสำคัญในข้อตกลงคือผู้ที่ถูกยึดทรัพย์สินไปก่อนหน้านั้นสามารถเรียกที่ดินคืน “ก่อน” ที่จะจ่ายค่าปรับPrestwich 2007, p. 121
- ↑ Prestwich 1997, p. 63
- ↑ Morris 2008, pp. 83, 90–2
- ↑ 43.0 43.1 Prestwich 1997, p. 71
- ↑ 44.0 44.1 Prestwich 1997, p. 72
- ↑ This meant a grant of 1/20 of all movable property.
- ↑ Maddicott, John (1989). "The Crusade Taxation of 1268-70 and the Development of Parliament". ใน P. R. Coss; S. D. Lloyd (บ.ก.). Thirteenth Century England II. Woodbridge: Boydell Press. pp. 93–117. ISBN 0851155138.
- ↑ Morris 2008, p. 92
- ↑ Riley-Smith 2005, p. 210
- ↑ The disease in question was either dysentery or typhus; Riley-Smith 2005, pp. 210–1
- ↑ Riley-Smith 2005, p. 211
- ↑ Prestwich 1997, p. 75
- ↑ Morris 2008, p. 95
- ↑ Prestwich 1997, p. 76
- ↑ Morris 2008, pp. 97–8
- ↑ Prestwich 1997, p. 77
- ↑ The anecdote of Queen Eleanor saving Edward's life by sucking the poison out of his wound is almost certainly a later fabrication; Prestwich 1997, p. 78
- ↑ Prestwich 1997, pp. 78, 82
- ↑ Prestwich 1997, p. 82
- ↑ Though no written proof exists, it is assumed that this arrangement was agreed on before King Edward's departure; Morris 2008, p. 104
- ↑ Prestwich 1997, pp. 82–5
- ↑ Powicke 1962, p. 226
- ↑ Carpenter 2003, p. 386
- ↑ "EDWARD I (r. 1272-1307)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-07. สืบค้นเมื่อ 2007-07-08.
- ↑ “สารานุกรมแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เคมบริดจ์” หน้า 126. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ค.ศ. 1985
บรรณานุกรม
[แก้]- Barrow, G. W. S. (Geoffrey Wallis Steuart) (1965). Robert Bruce and the Community of the Realm of Scotland. London: Eyre and Spottiswoode. OCLC 655056131.
- Brand, Paul (2003). Kings, Barons and Justices: The Making and Enforcement of Legislation in Thirteenth-Century England. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-37246-1.
- Brears, Peter (2010). "Food Supply and Preparation at the Edwardian Castles". ใน Williams, Diane; Kenyon, John (บ.ก.). The Impact of Edwardian Castles in Wales. Oxford: Oxbow Books. pp. 85–98. ISBN 978-1-84217-380-0.
- Brown, A. L. (Alfred Lawson) (1989). The Governance of Late Medieval England 1272–1461. London: Edward Arnold. ISBN 0-804-71730-3. OL 16832664M.
- Burt, Caroline (2013). Edward I and the Governance of England, 1272–1307. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-88999-5.
- Carpenter, David (2007). "King Henry III and Saint Edward the Confessor: the origins of the cult". English Historical Review. cxxii (498). doi:10.1093/ehr/cem214.
- —— (1985). "The Lord Edward's oath to aid and counsel Simon de Montfort, 15 October 1259". Bulletin of the Institute of Historical Research. 58 (138): 226–237. doi:10.1111/j.1468-2281.1985.tb01170.x.
- —— (2004). The Struggle for Mastery: Britain, 1066–1284. London: Penguin Books. ISBN 978-0-140-14824-4. OL 7348814M.
- Cathcart King, David James (1988). The Castle in England and Wales: An Interpretative History. London: Croom Helm. ISBN 0-918-40008-2.
- Cazel, Fred A. (1991). "Edward I, by Michael Prestwich". Speculum. 66 (1): 225–227. doi:10.2307/2864011. JSTOR 2864011.
- Chancellor, John (1981). The Life and Times of Edward I. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 0-297-77840-4. OL 3817070M.
- Coldstream, Nicola (2010). "James of St George". ใน Williams, Diane; Kenyon, John (บ.ก.). The Impact of Edwardian Castles in Wales. Oxford: Oxbow Books. pp. 37–45. ISBN 978-1-842-17380-0.
- Cornell, David (2009). Bannockburn: The Triumph of Robert the Bruce. Yale University Press. ISBN 978-0-300-14568-7. OCLC 256769491. OL 23958360M.
- Davies, R. R. (2000). The Age of Conquest: Wales, 1063–1415. Oxford University Press. ISBN 0-198-20878-2.
- —— (1984). R. A. Griffiths; I. G. Jones; K. O. Morgan (บ.ก.). Welsh Society and Nationhood. Cardiff: University of Wales Press. ISBN 0-7083-0890-2.
- Denton, J. H. (1989). "Edward I by Michael Prestwich". English Historical Review. 104 (413): 981–984. doi:10.1093/ehr/CIV.413.981.
- Duffy, Mark (2003). Royal Tombs of Medieval England. Stroud: Tempus. ISBN 978-0-7524-2579-5.
- Friar, Stephen (2003). The Sutton Companion to Castles. Stroud: Sutton Publishing. ISBN 978-0-750-93994-2.
- Gillingham, John (2008), "Hard on Wales", Times Literary Supplement, London: Times Literary Supplement, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-25, สืบค้นเมื่อ 2023-02-15.
- Gorski, Richard (2009). "Botetourt, John, first Lord Botetourt (d. 1324)". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford, UK: Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/2966. (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- Haines, Roy Martin (2003). King Edward II: His Life, his Reign and its Aftermath, 1284–1330. Montreal, Canada and Kingston, Canada: McGill-Queen's University Press. ISBN 978-0-773-53157-4.
- Hamilton, J.S. (2010). The Plantagenets: History of a Dynasty. Continuum. ISBN 978-1-441-15712-6. OL 28013041M.
- Harding, V. (2002). The Dead and the Living in Paris and London, 1500–1670. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-81126-2.
- Harriss, G. L. (Gerald Leslie) (1975). King, Parliament and Public Finance in Medieval England to 1369. Oxford University Press. ISBN 0-198-22435-4. OL 5255143M.
- Goldsmith, Jeremy (2009), "A Great and Terrible King: Edward I and the Forging of Britain", Reviews in History, University of London, ISSN 1749-8155.
- Jenks, Edward (1902). Edward Plantagenet: The English Justinian or the Making of Common Law. New York: G. P. Putnam's Sons. ISBN 0-836-95070-4. OL 8205523M.
- Jobson, Adrian (2012). The First English Revolution: Simon de Montfort, Henry III and the Barons' War. London, UK: Bloomsbury. ISBN 978-1-847-25226-5.
- Krieger, Larry; Neill, Kenneth; Jantzen, Steven (1992), World History: Perspectives on the Past, D.C. Health and Company, ISBN 0-669-25598-X, OL 7629944M.
- Lilley, Keith D. (2010). "The Landscapes of Edward's New Towns: Their Planning and Design". ใน Williams, Diane; Kenyon, John (บ.ก.). The Impact of Edwardian Castles in Wales. Oxford: Oxbow Books. pp. 99–113. ISBN 978-1-842-17380-0.
- Lloyd, Simon (1986). "Gilbert de Clare, Richard of Cornwall and the Lord Edward's Crusade". Nottingham Medieval Studies. 30: 46–66. doi:10.1484/J.NMS.3.133.
- Loomis, Roger Sherman (1953). "Edward I, Arthurian Enthusiast". Speculum. 28 (1): 114–127. doi:10.2307/2847184. JSTOR 2847184. S2CID 164043032.
- Maddicott, John (1983). "The Mise of Lewes, 1264". English Historical Review. 98 (338): 588–603. doi:10.1093/ehr/xcviii.ccclxxxviii.588.
- —— (1989). "The Crusade Taxation of 1268–70 and the Development of Parliament". ใน P. R. Coss; S. D. Lloyd (บ.ก.). Thirteenth Century England. Vol. 2. Woodbridge: Boydell Press. pp. 93–117. ISBN 0-85115-513-8.
- —— (1994). Simon de Montfort. Cambridge University Press. ISBN 0-521-37493-6.
- —— (2010). The Origins of the English Parliament, 924–1327. Oxford University Press. ISBN 978-019-958550-2.
- McFarlane, K. B. (1981). The Nobility of Later Medieval England. London: Hambledon. ISBN 0-950-68825-8.
- Morris, Marc (2009). A Great and Terrible King: Edward I and the Forging of Britain. London: Windmill Books. ISBN 978-0-09-948175-1.
- Parsons, John Carmi (2008). "Margaret (1279?–1318)". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford, UK: Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/18046. (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- —— (1984). "The Year of Eleanor of Castile's Birth and her Children by Edward I". Medieval Studies. XLVI. doi:10.1484/J.MS.2.306316.
- Phillips, Seymour (2011). Edward II. New Haven, US and London, UK: Yale University Press. ISBN 978-0-300-17802-9.
- Plucknett, Theodore Frank Thomas (1949). Legislation of Edward I. Oxford: Clarendon Press. OCLC 983476.
- Powicke, F. M. (Frederick Maurice) (1947). King Henry III and the Lord Edward: The Community of the Realm in the Thirteenth Century. Oxford: Clarendon Press. OCLC 1044503.
- —— (1962). The Thirteenth Century, 1216–1307 (2nd ed.). Oxford: Clarendon Press. OCLC 3693188.
- Prestwich, Michael (1972). War, Politics and Finance under Edward I. London: Faber and Faber. ISBN 0-571-09042-7.
- —— (1997). Edward I. English Monarchs. Yale University Press. ISBN 978-0-300-07209-9. OL 704063M.
- —— (2003). The Three Edwards: War and State in England, 1272–1377 (2nd ed.). London, UK: Routledge. ISBN 978-0-415-30309-5.
- —— (2005). Plantagenet England: 1225–1360 (new ed.). Oxford University Press. ISBN 978-019-822844-8. OL 3404029M.
- —— (2008). "Edward I (1239–1307)". Oxford Dictionary of National Biography. Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/8517. ISBN 978-019-861412-8. สืบค้นเมื่อ 28 February 2019. (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- —— (2010). "Edward I and Wales". ใน Williams, Diane; Kenyon, John (บ.ก.). The Impact of Edwardian Castles in Wales. Oxford: Oxbow Books. pp. 1–8. ISBN 978-1-842-17380-0.
- Raban, Sandra (2000). England Under Edward I and Edward II, 1259–1327. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-22320-7. OL 22376314M.
- Riley-Smith, Jonathan (2005). The Crusades: A History. London: Continuum. ISBN 0-826-47269-9.
- Rodwell, Warwick (2013). The Coronation Chair and Stone of Scone: History, Archaeology and Conservation. Oxford: Oxbow Books. ISBN 9781782971528.
- Runciman, Steven (1958). The Sicilian Vespers: A History of the Mediterranean World in the Later Thirteenth Century. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-60474-2.
- Sadler, John (2008). The Second Barons' War: Simon de Montfort and the Battles of Lewes and Evesham. Barnsley: Pen and Sword Military. ISBN 978-1-844-15831-7.
- Salzman, Louis Francis (1968). Edward I. London: Constable. ISBN 0-486-12766-4. OL 18353247M.
- Spencer, Andrew (2014). Nobility and Kingship in Medieval England: The Earls and Edward I, 1272–1307. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-02675-9.
- Stubbs, William (1880). The Constitutional History of England. Vol. 2. Oxford: Clarendon.
- Sutherland, Donald (1963). Quo Warranto Proceedings in the Reign of Edward I, 1278–1294. Oxford: Clarendon Press. OCLC 408401.
- Templeman, G. (1950). "Edward I and the Historians". Cambridge Historical Journal. 10 (1): 16–35. doi:10.1017/S1474691300002663. JSTOR 3021067.
- Tout, Thomas Frederick (1920). Chapters in the Administrative History of Mediaeval England: The Wardrobe, the Chamber and the Small Seals. Vol. 2. Manchester: Manchester University Press. OCLC 832154714.
- Watson, Fiona J. (1998). Under the Hammer: Edward I and the Throne of Scotland, 1286–1307. East Linton: Tuckwell Press. ISBN 1-862-32031-4.
- Waugh, Scott L. (2004a). "Edmund, first earl of Kent (1301–1330)". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford, UK: Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/8506. (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- —— (2004b). "Thomas, 1st Earl of Norfolk (1300–1338)". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford, UK: Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/27196. (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
- Wheatley, Abigail (2010). "Caernarfon Castle and its Mythology". ใน Williams, Diane; Kenyon, John (บ.ก.). The Impact of Edwardian Castles in Wales. Oxford: Oxbow Books. pp. 129–139. ISBN 978-1-842-17380-0.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 (royal.gov.uk)
- ปราสาทของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่เวลส์ เก็บถาวร 2008-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าเฮนรีที่ 3 | พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ (ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท) (ค.ศ. 1272 – ค.ศ. 1307) |
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 |