เชลิเซอราตา
หน้าตา
(เปลี่ยนทางจาก Chelicerata)
เชลิเซอราตา ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Middle Cambrian–Present, 508 – 0 Mya | |
---|---|
แมงดาแอตแลนติก (Limulus polyphemus) อยู่ในชั้น Merostomata เป็นเชลิเซอราตา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ไฟลัมย่อย: | Chelicerata Heymons, 1901 |
ชั้น | |
ไฟลัมย่อยเชลิเซอราตา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Chelicerata) หรือ เชลิเซอเรต (อังกฤษ: Chelicerate) เป็นไฟลัมย่อยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในไฟลัมอาร์โธพอดา (Arthropoda) หรือ อาร์โธพอด ถือกำเนิดมาแล้วกว่า 600 ล้านปี
ลักษณะโดยรวมของสัตว์ในไฟลัมย่อยนี้คือ ไม่มีกราม และไม่มีหนวด ลำตัวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เซฟาโลทอแรกซ์ และส่วนท้อง เซฟาโลทอแรกซ์เป็นส่วนที่รวมส่วนหัวและส่วนอกเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเปลือกแข็งชิ้นเดียวคลุมอยู่เรียก คาราเพช ระยางค์ทั้ง 6 คู่ ประกอบด้วยระยางคู่แรกเป็นระยางค์หนีบ ระยางค์คู่ที่ 2 คือ เพดิพาลพ์ ช่วยในการฉีกอาหาร ระยางค์อีก 4 คู่ เป็นขาเกิน ส่วนท้องไม่มีระยางค์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่
การจำแนก
[แก้]- ชั้นอะแรคนิดา (Arachnida) ประกอบด้วยสมาชิกในกลุ่มประมาณ 80,000 ชนิด อาศัยอยู่บนบก กระจายทั่วไป บางจำพวกเป็นปรสิตทั้งในพืชและสัตว์ ระบบแลกเปลี่ยนแก๊สมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ในน้ำมาเป็นบนบก โดยมีชั้นอีพิคิวติเคิลหุ้มด้วยไข ป้องกันการสูญเสียน้ำ ของเสียเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่ไม่ละลายน้ำ สัตว์ในชั้นนี้แบ่งออกเป็น 13 อันดับ ที่รู้จักกันดีคือ แมงป่อง เป็นอะแรคนิดที่มีขนาดใหญ่ มีเพดิพาลท์ขนาดใหญ่และยาวเป็นก้ามหนีบด้วย ปลายสุดของส่วนท้องมีต่อมพิษ ด้านบนของส่วนหัวมีตา 1 คู่ อยู่บริเวณกึ่งกลางของคาราเพช และมีตาด้านข้างอีก 3 คู่ ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวใต้ก้อนหิน ขอนไม้ และออกหาเหยื่อในเวลากลางคืน พบได้ทั่วไปในเขตร้อน และแมงมุม มีประมาณ 32,000 ชนิด ส่วนท้องไม่มีปล้องเชื่อมต่อกับ เซฟาโรทอแรกซ์ เป็นรอยต่อคอดกิ่วชัดเจน เพดิพาลท์มีขนาดเล็กเหมือนขาเดิน แมงมุมมีตา 8 ตา ทางด้านหน้าของหัว แมงมุมบางชนิดสร้างใยได้ ใย เป็นโปรตีนที่มีกรดอะมิโนเรียงต่อซ้ำกัน ใยแมงมุมมีความแข็งแรงเทียบเท่าไนลอน แต่สามารถยืดยาวออกได้มากกว่าถึง 2 เท่า ต่อมสร้างใยตั้งอยู่ที่ส่วนท้องเปิดเข้าสู่อวัยวะชักใยเรียก สปินเนอเรท ที่ส่วนท้ายของท้อง ใยที่สร้างขึ้นเมื่อปล่อยออกมาจะมีลักษณะเป็นของเหลว เมื่อถูกกับอากาศเส้นใยจะแข็งตัวขึ้น แมงมุมใช้ใยในการดักจับเหยื่อ และช่วยผสมพันธุ์ และรวมถึงเห็บ และไร ซึ่งเป็นปรสิตของพืชและสัตว์ด้วย
- ชั้นเมอโรสโรมาตา (Merostomata) สมาชิกในกลุ่มนี้ได้แก่ แมงดาทะเล ในปัจจุบันเหลือเพียง 5 ชนิด จัดว่าเป็นเชลิเซอราตาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวถึง 60 เซนติเมตร ที่พบเป็นฟอสซิลยาวถึง 2 เมตร ด้านหลังของคาราเพชมีตาประกอบ 1 คู่ ด้านล่างของเซฟาโรทอแรกซ์เป็นที่ตั้งของระยางค์ทั้ง 6 คู่ โดยระยางค์ขา 3 คู่ มีลักษณะเป็นก้ามหนีบ ยกเว้นขาคู่สุดท้ายใช้ในการกวาดโคลน หรือทราย ปล้องส่วนท้องจะรวมกัน ด้านท้ายสุดจะยื่นยาวออกเป็นหาง ด้านล่างของส่วนท้องเป็นที่ตั้งของเหงือก 5 คู่ และมีแผ่นปิดเหงือก แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่ใช้ระยางค์ขาคู่สุดท้ายดันขุดดินไปด้านหลังเพื่อฝังตัวลงในโคลนหรือทราย การดำรงชีวิตเป็นทั้งกินพืชและกินซาก รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม[3] [4]
- ชั้นพิคโนโกนิดา (Pycnogonida) ได้แก่ แมงมุมทะเล เป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กรูปร่างคล้ายปูหรือปูปลอม มีประมาณ 1,300 ชนิด ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มี 8 ขา แต่บางชนิดมี 10 หรือ 12 ขา กินของเหลวหรือเนื้อเยื่อของดอกไม้ทะเล, ปะการัง, ฟองน้ำ รวมถึงทากทะเล[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Wainwright, S. A., Biggs, W. D., and Gosline, J. M. (1982), Mechanical Design in Organisms, Princeton University Press, pp. 162–163, ISBN 0-691-08308-8
- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ Margulis, Lynn; Schwartz, Karlene (1998), Five Kingdoms, An Illustrated Guide to the Phyla of Life on Earth (third ed.), W.H. Freeman and Company, ISBN 0-7167-3027-8
- ↑ The Chelicerata
- ↑ แมงมุมทะเลขายาว
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ เชลิเซอราตา
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิสปีชีส์มีข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ Chelicerata