เบ็งเก
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ไซโต มูซาชิโบ เบ็งเก (Saitō Musashibō Benkei, 西塔武蔵坊弁慶) หรือที่นิยมเรียกว่า เบ็งเก เป็นพระนักรบที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในยุคสงครามเฮจิ เบ็งเกเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกพ่อแม่นำมาทิ้งไว้ที่วัดในป่า (บางตำนานก็ว่าเกิดจากพ่อซึ่งเป็นคนในวัดข่มขืนแม่ซึ่งเป็นลูกสาวช่างตี เหล็กแถวนั้น) เบ็งเกถูกชุบเลี้ยงมาโดยเหล่าพระในวัด มีลักษณะแตกต่างจากคนอื่นทั่วไป คือรูปร่างใหญ่โตตั้งแต่เด็ก (อายุ 17 ปี สูงถึง 2 เมตร) ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดผิดมนุษย์ ประกอบกับท่าทางที่แข็งแรงดุดันและชาติกำเนิดที่น่าเศร้า ชาวบ้านละแวกนั้นจึงหวาดกลัวปนรังเกียจ และมักเรียกเขาว่า "โอนิวากะ" (鬼若) แปลว่า เจ้าลูกยักษ์ เบ็งเกจึงบวชเป็นพระนักรบพร้อมกับฝึกวิชาการต่อสู้ไปด้วย และเติบโตขึ้นมาเป็นพระนักรบที่เก่งกาจแข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้น
เบ็งเกออกจากวัดไปตอนอายุ 17 ปี เนื่องจากถูกพระในวัดที่ตนบวชอยู่ใส่ร้าย หลังจากนั้นเบ็งเกได้กลายเป็นอลัชชี (นักบวชนอกรีต) อยู่ที่สะพานโกะโจ กรุงเกียวโต คอยดักปล้นฆ่าเหล่าทหารและซามูไรที่ผ่านไปมาและยึดอาวุธของคน เหล่านั้นไว้ เบ็งเกรวบรวมดาบไปได้ถึง 999 เล่ม แต่ที่สุดแล้วเขาก็ต้องพ่ายแพ้แก่คู่ต่อสู้คนที่ 1,000 ที่ใช้ความรวดเร็วกว่า คือ มินาโมโตะ โนะ โยชิตสึเนะ เด็กหนุ่มวัยเพียง 14 ปี ทายาทคนรองของตระกูลเก็นจิ ซึ่งมีความมุ่งมั่นจะรวบรวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นให้จงได้ เบ็งเกยอมรับความพ่ายแพ้และเห็นความตั้งใจจริงของโยชิตสึเนะผู้เอาชนะตนได้ แม้จะอายุน้อยกว่า จึงได้ปฏิญาณตัวขอเป็นข้ารับใช้ต่อโยชิตสึเนะนับตั้งแต่บัดนั้นตราบจนวันตาย
เรื่องราวของเบ็งเกเป็นที่เลื่องลือในเรื่องของความซื่อสัตย์ต่อโยชิตสึเนะ ทั้งคู่เป็นทั้งสหายร่วมรบและบ่าวผู้ปกป้องนายเหนือหัวอย่างไม่คิดชีวิต บั้นปลายชีวิตของทั้งคู่จบลงที่ หลังจากโยชิตสึเนะได้ร่วมรบกับฟูจิวาระ โนะ โยริโตโมะ ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดา จนกระทั่งโยริโตโมะได้ขึ้นเป็นใหญ่แล้ว โยชิตสึเนะกลับถูกโยริโตโมะกล่าวหาว่าเป็นกบฏ และต้องจบชีวิตด้วยการคว้านท้องตัวเองในตำหนักด้วยวัยเพียง 30 ปี โดยขณะที่โยชิตสึเนะกำลังทำพิธีคว้านท้องตนเองนั้น เบ็งเกก็ยืนปักหลั่นเฝ้าอยู่หน้าประตู ไม่ยอมให้นายเหนือหัวถูกลบหลู่เกียรติจนจบชีวิตด้วยน้ำมือทหารของโยริโตโมะที่บุกเข้ามา ด้วยการถูกธนูระดมยิงร่างจนเต็มไปหมด แต่กระนั้นเบ็งเกก็ไม่ยอมล้มลง แต่ยืนตายอย่างทะนง ซึ่งการยืนตายของเบ็งเกนั้นถูกกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก เรียกกันว่า "เบ็งเกโนะ ทาชิ โอโจ" (弁慶の立往生) แปลว่า การยืนตายแบบเบ็งเก
การอ้างอิงในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]เบ็งเกถูกอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่นอย่างมาก เช่น
- มังงะเรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เล่มที่ 9 ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ เมื่อ โมริ โคโกโร่ ได้ไปเที่ยวพักผ่อนที่บ่อน้ำร้อนที่จังหวัดโทะชิงิกับเพื่อนเก่าในชมรมยูโดสมัยมหาวิทยาลัย และมีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ยูมิ ถูกฆาตกรรม โคนัน สามารถพิสูจน์ตัวคนร้ายได้โดยใช้หลักการยืนตายแบบเบ็งเก
- ภาพยนตร์ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน: คดีฆาตกรรมแห่งเมืองปริศนา อ้างอิงเรื่องราวของเบ็งเกและตำนานที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อครั้งที่ไดกิ คาเมดะ ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทของสมาคมมวยโลก กับเด่นเก้าแสน กระทิงแดงยิม ที่โอซากะ คาเมดะก็ได้แต่งชุดเบ็งเกขึ้นเวทีด้วย
- ในเรื่อง ไยบะ เจ้าหนูซามูไร เบ็งเกได้ฟื้นคืนชีพโดยโอนิมารูและได้รับมอบหมายให้ไปชิงลูกแก้วในตำนานแต่กลับถูกไยบะซึ่งเพิ่งออกมาจากลูกแก้วแห่งความมืดได้แช่แข็งด้วยลูกแก้วน้ำแข็งและถูกมุซาชิปลิดชีพ(ในร่างวัว)
- ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์โทกูซัตสึของญี่ปุ่นเรื่อง มาสค์ไรเดอร์โกสต์ มีการใช้วิญญาณของเบ็งเกมาเป็นร่างต่อสู้ของมาสค์ไรเดอร์โกสต์ มีชื่อร่างว่า"เบ็งเกดามาชี่"
- ในเกม Fate Grand Order เบ็งเกได้ถูกอัญเชิญออกมาเป็นข้ารับใช้ หรือ เซอร์แวนท์ (Servant) ในคลาส แลนเซอร์ 2ดาว