ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าเจี๋ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจี๋ย)
เจี๋ย
ภาพสลักที่ศาลแห่งหนึ่งในเทศมณฑลเจียเสียง (嘉祥縣) แสดงภาพเจี๋ยถือง้าว อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ ประทับนั่งบนสตรีสองนาง เป็นสัญลักษณ์แห่งการข่มเหง
ตำแหน่งพระมหากษัตริย์จีน
บิดามารดาบิดา: ฟา (發)

เจี๋ย (จีน: ; พินอิน: Jié; ตามประเพณีเชื่อว่า มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1728–1675 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นผู้ปกครองคนที่ 17 และคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์เซี่ย (夏朝) ในประเทศจีน ถือกันมาแต่เดิมว่า เป็นทรราชที่กดขี่ประชาราษฎร์ นำความพินาศมาสู่ราชวงศ์[1]

ราว 1600 ปีก่อนคริสตกาล ทาง (汤) ผู้ปกครองราชวงศ์ชาง (商朝) ปราบเจี๋ยได้ ทำให้ราชวงศ์เซี่ยซึ่งอยู่มากว่า 500 ปีต้องสิ้นสุดลง และราชวงศ์ชางเข้าสู่อำนาจแทน[2]

ครอบครัว

[แก้]

เจี๋ยเป็นบุตรของฟา (發) ผู้ปกครองคนที่ 16 แห่งราชวงศ์เซี่ย

ชื่อเดิมของเจี๋ย คือ ลฺหวี กุ่ย (履癸)[3]

การปกครองเซี่ย

[แก้]

เจี๋ยสืบราชสมบัติต่อจากบิดาในปีเหรินเฉิน (壬辰)[4][5]

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว เขาใช้ชีวิตเสเพลสุรุ่ยสุร่าย และโหดร้ายต่อไพร่ฟ้าของตน[3] แต่ละวันสาละวนอยู่กับกิจกรรมทางเพศ ความบันเทิง และความฟุ่มเฟือย[2] เขายังไม่ชอบให้ผู้ใดมาวิจารณ์ชีวิตตน และหลายคนก็หวาดกลัวเขาอย่างยิ่ง[6]

มีบันทึกว่า ในช่วงสามปีแรกของรัชกาล เขาสั่งให้ทำลายหอหรง (容台) และได้ปราบกบฏชาว Quanyi ที่รุกรานเข้ามาถึง Qi ด้วย[4][5] ช่วงเดียวกัน เขาเห็นว่า วังของตนเรียบง่ายเกินไป จึงสั่งให้สร้างวังแห่งใหม่ เรียก "ชิงกง" (傾宮; "วังเอียง") ต้องเกณฑ์ราษฎรนับหมื่นมาทำ ทั้งเรียกระดมทรัพยากรนับไม่ถ้วน เจ็ดปีจึงเสร็จ ไพร่ฟ้าทุกข์ยากสาหัส[7]

ในปีที่ 6 ของรัชกาล เขาจัดงานรื่นเริงต้อนรับทูตต่างชาติ ทั้งยังออกรับทูตจาก Qizhong ที่เขามองว่าเป็นชาวป่าเถื่อน ครั้นปีที่ 11 ของรัชกาล เขาเรียกเจ้าประเทศราชทั้งปวงมาเข้าเฝ้า เจ้าแห่งราชอาณาจักร Youmin ไม่มา เขาจึงจัดทัพไปตีราชอาณาจักรดังกล่าวจนได้ชัยชนะ[4][5]

ในปีที่ 13 ของรัชกาล เขาย้ายเมืองหลวงจากเจินสฺวิน (斟鄩) ไปยังเหอหนาน (河南)[4][5] ช่วงนั้น เขาเริ่มใช้เสลี่ยงที่ให้มนุษย์แบก เรียกว่า เหนี่ยน (輦)[4][5]

ปีที่ 14 ของรัชกาล เขานำทัพไปยังหมินชาน (岷山) ที่ซึ่งเขาได้เจอกับธิดาสองคนของกษัตริย์แห่งหมินชาน เขาเอานางทั้งสองเป็นชายา โดยเปลี่ยนชื่อให้เป็น เฉา (苕) และฮฺวา (华) ตามลำดับ เขาลุ่มหลงหญิงสองนางนี้มาก กระทั่งยอมเลิกรากับชายาเดิม คือ เม่ย์ สี่ (妹喜) แล้วสร้างตำหนักบนยอดวังของตนเพื่อให้นางทั้งสองอยู่อาศัย[4][5]

เอกสาร เลี่ย-นฺหวี่-จฺว้าน (列女傳) ระบุว่า นางบำเรอคนโปรดคนหนึ่งของเขานามว่า มั่ว สี่ (妺喜) เป็นหญิงรูปงามแต่จิตใจต่ำทราม[8][9] นางขอให้เขาสั่งขุดบ่อแล้วเอาสุราเทลงไป[9] เพื่อที่นางและเขาจะได้ล่องเรืออยู่ในบ่อสุรานั้น ทั้งอนุญาตให้ชายหญิงที่เมามายร่วมเพศหมู่กันบนเรือได้[10] เอกสารยังว่า ครั้งหนึ่ง นางสั่งให้ชาย 3,000 คนลงไปดื่มสุราในบ่อให้เกลี้ยง แต่เมื่อคนใดจมสุรา นางก็หัวเราะชอบใจ[9][10] เหตุการณ์เหล่านี้ยังมีบันทึกในเอกสาร หานชือว่าย-จฺว้าน (韓詩外傳)[10][11]

เจี๋ยมักบริโภคอาหารพิสดาร ผักต้องมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ปลาต้องมาจากทะเลตะวันออก (東海) เครื่องปรุงต้องทำจากขิงที่ขึ้นในภาคใต้ เกลือที่ใช้ก็ต้องมาจากภาคเหนือ[3] ต้องใช้แรงงานคนมากมายในการจัดหาของกินดังกล่าวมาเปรอปรนเขา ผู้ใดจัดหามาให้ผิดก็ถูกประหารทันที[3]

เจี๋ยยังมักดื่มสุราชิงฉุน (清醇; "เหล้าใส") ซึ่งต้องปรุงพิเศษ ถ้าปรุงมาไม่ถูกใจ เขาก็สั่งประหารผู้ปรุง ผู้คนมากมายถูกประหารไปเพราะเหตุนี้[3] เขายังมักดื่มสุราโดยนั่งอยู่บนหลังผู้อื่นเหมือนขี่ม้า[3] ครั้งหนึ่ง เขาจะขี่หลังอัครมหาเสนาบดีของตน แต่อัครมหาเสนาบดีผู้นั้นตรากตรำมาทั้งวัน ไม่อาจเป็นม้าให้เขาได้อีก จึงขอให้เจี๋ยงดเว้นสักวัน แต่เจี๋ยสั่งประหารทันที[3] กวาน หลงเฝิง (關龍逢) อัครมหาเสนาบดีคนใหม่ ทูลเขาว่า พฤติกรรมของเขาทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธา ทั้งภูเขาและสายน้ำ (江山) ก็ไม่เข้าข้างเขาอีกต่อไป เขาฟังแล้วโกรธ สั่งประหารกวาน หลงเฝิง ทันทีเช่นกัน[3]

เอกสารประวัติศาสตร์ยังบันทึกปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผิดประหลาดในรัชกาลเจี๋ยเอาไว้ เริ่มในปีที่ 10 ของรัชกาล ที่มีดาวห้าดวงเรียงตัวกันบนฟากฟ้า ต่อมาเกิดฝนดาวตก และแผ่นดินไหว[4][5] ครั้นปีที่ 29 เจี๋ยสั่งขุดอุโมงค์น้ำไหลผ่านภูเขา Qu แต่ภูเขาถล่มในปีถัดมา[4][5] นอกจากนี้ ยังเกิดภัยธรรมชาติในช่วงฤดูหนาวที่หลิงซุ่ย (聆隧)[4][5] เอกสารจากปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (秦朝) ว่า ช่วงท้ายของรัชกาลเจี๋ย มักเกิดน้ำแข็งในยามเช้าของฤดูร้อน ทั้งเกิดเกล็ดหิมะตลอดเดือนกรกฎาคม ต่อมา ฝนถล่มอาคารบ้านเรือน อากาศก็แปรปรวน ฤดูร้อนกลับหนาว ฤดูหนาวกลับร้อน พืชพันธุ์ธัญญาผลสูญเสียสิ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เหตุการณ์เหล่านี้ คือ ฤดูหนาวจากภูเขาไฟ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภูเขาไฟระเบิดเมื่อราว 1628 ปีก่อนคริสตกาล[12]

จุดจบของเซี่ย

[แก้]

ราชวงศ์เซี่ยปกครองประเทศราชน้อยใหญ่หลายแห่ง หนึ่งในนั้น คือ รัฐชาง (商國) ซึ่งนับวันยิ่งทวีอำนาจ ผู้ปกครองรัฐชาง นามว่า ทาง เห็นว่า เจี๋ยปฏิบัติต่อราษฎรอย่างโหดร้าย จึงอาศัยเหตุนี้มาแสวงหาเสียงสนับสนุนในการโค่นล้มราชวงศ์เซี่ย ซึ่งก็ได้รับจากรัฐเล็กต่าง ๆ กว่า 40 รัฐ[13] ครั้งหนึ่ง ทางแถลงต่อผู้สนับสนุนว่า เขาไม่ประสงค์จะสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ก็จำเป็นต้องทำตามอาณัติสวรรค์ (天命) เพื่อยุติทุรยุคที่เจี๋ยก่อขึ้น[13] เขายังว่า เจี๋ยหมดอาณัติจะปกครองแผ่นดินแล้ว แม้แต่แม่ทัพนายกองของเจี๋ยเองก็ไม่ฟังคำสั่งของเจี๋ยอีก[13]

ราวปีที่ 17 ของรัชกาลเจี๋ย ทางส่งอี อิ่น (伊尹) เป็นทูตมายังเหอหนาน เมืองหลวงของราชวงศ์เซี่ย อี อิ่น อยู่เหอหนานราวสามปีจึงกลับคืนไปยังรัฐชาง[4][5] เวลาเดียวกัน รัฐชางก็เริ่มเคลื่อนพลไปยึดครองเมืองต่าง ๆ โดยในปีที่ 26 ของรัชกาลเจี๋ย ชางเอาชนะ Wen ได้ สองปีต่อมา คุนอู๋ (昆吾) มาตีรัฐชาง นำไปสู่สงครามระหว่างรัฐทั้งสองในหลายปีถัดมา[14] ทำให้ชางต้องชะลอโครงการล้มล้างเซี่ยออกไป กระนั้น ชางก็ยังสามารถขยายฐานอำนาจเรื่อย ๆ จนสามารถจัดตั้งทัพจากเหล่าประเทศราชต่าง ๆ ได้ที่จิ่งปั๋ว (景亳)[4][5] กองทัพชางบุกไปยึดมี่-ซฺวี (密須), หฺวา (滑), และกู้ (顧) ได้[14] ขณะเดียวกัน Zhong Gu ราชบัณฑิตคนสำคัญของเซี่ย ก็หนีออกจากเซี่ยมาเข้าด้วยชาง[4][5][14]

ในปีที่ 31 ของรัชกาลเจี๋ย ทางส่งทหารจากเอ๋อร์ (陑) ไปตีที่มั่นของราชวงศ์เซี่ยและคุนอู๋พร้อมกัน คุนอู๋ถูกพิชิตอย่างรวดเร็ว[4][5] เวลานั้น ราชวงศ์เซี่ยเสื่อมอำนาจลงมาก และหนีไปตั้งมั่นอยู่ริมแม่น้ำเหลือง (黄河)[6] ทหารฝ่ายชางรุกไปตีเซี่ยจนเกิดเป็นยุทธการหมิงเถียว (鸣条之战) ซึ่งสองฝ่ายสู้กันท่ามกลางพายุใหญ่ ผลลัพธ์ คือ กองทัพเซี่ยพ่ายแพ้ราบคาบ[4][5]

เจี๋ยลี้ภัยไปอยู่ยัง Sanzong[4][5] ขุนพลอู้จื่อ (戊子) นำกำลังออกติดตามเจี๋ย จับตัวได้ที่ Jiaomen และถอดเขาออกจากตำแหน่งกษัตริย์ เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์เซี่ย แต่ภายหลัง ก็ให้ปล่อยตัวเจี๋ยไป ณ หนานจ้าว (南詔)[4][5][14] เจี๋ยไปล้มป่วยจนเสียชีวิตในที่สุด[13] ส่วนทางเองก็สืบตำแหน่งผู้ปกครองแผ่นดินต่อ นับเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ชาง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 劉煒/著. [2002] (2002) Chinese civilization in a new light 中華文明傳真#1 原始社會:東方的曙光. Publishing Company. ISBN 962-07-5314-3. pg 150.
  2. 2.0 2.1 王恆偉. (2005) (2006) 中國歷史講堂 #1 遠古至春秋. 中華書局. ISBN 962-8885-24-3. p 26.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 王恆偉. (2005) (2006) 中國歷史講堂 #1 遠古至春秋. 中華書局. ISBN 962-8885-24-3. p 27.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 Bamboo annals Xia chapter on Xia Jie under the name Gui (癸).
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 Virginia.edu. "Virginia.edu contents of Bamboo annal." Xia chapter. Retrieved on 2010-10-03.
  6. 6.0 6.1 戴逸, 龔書鐸. [2002] (2003) 中國通史. 史前 夏 商 西周. Intelligence press. ISBN 962-8792-80-6. p 51.
  7. 戴, 逸; 龔, 書鐸. 史前‧夏‧商‧西周. 中國通史(學生彩圖版) (ภาษาจีน). Hong Kong. pp. 50, 51, 60–63. ISBN 978-962-8792-80-1.
  8. Virginia.edu. "Virginia.edu เก็บถาวร 2006-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." etext scan. Retrieved on 2010-10-03.
  9. 9.0 9.1 9.2 Lienü zhuan (列女傳) scroll 7 chapter on Jie of Xia with Mo Xi
  10. 10.0 10.1 10.2 S.J Marshall. [2002] (2002) The Mandate of Heaven: Hidden History in the I Ching. Columbia university press. ISBN 0-231-12299-3, ISBN 978-0-231-12299-3. p 177-178.
  11. Han shi waizhuan (韓詩外傳) scroll 2.
  12. Pang, Kevin (1985). "Three Very Large Volcanic Eruptions in Antiquity and Their Effects on the Climate of the Ancient World". Eos. 66 (46): 816.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 王恆偉. (2005) (2006) 中國歷史講堂 #1 遠古至春秋. 中華書局. ISBN 962-8885-24-3. p 30.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 高明士, 国真梁. [2007] (2007). 中國通史. 五南圖書出版股份有限公司. ISBN 957-11-4312-X, 9789571143125. p46.