เคลเมินส์ ฟ็อน เพียร์เค
เคลเมินส์ ฟ็อน เพียร์เค | |
---|---|
เพียร์เคในปี ค.ศ. 1906 | |
เกิด | เคลเมินส์ เพเทอร์ ฟ็อน เพียร์เค 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1874 เฮียร์ชชเต็ทเทิน ใกล้เวียนนา ออสเตรีย-ฮังการี |
เสียชีวิต | 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 เวียนนา ออสเตรีย | (54 ปี)
สัญชาติ | ออสเตรีย |
มีชื่อเสียงจาก | วัณโรค, ภูมิแพ้ |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา |
เคลเมินส์ เพเทอร์ ฟ็อน เพียร์เค (เยอรมัน: Clemens Peter von Pirquet; 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1874 – 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929) เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย เกิดใกล้กรุงเวียนนา มีน้องชายชื่อกีโด ฟ็อน เพียร์เค ซึ่งต่อมาเป็นนักฟิสิกส์[1] เรียนวิชาเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยอินส์บรุคและวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเลอเฟิน ก่อนจะเรียนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยกราซและฝึกงานที่คลินิกเด็กในเวียนนา[2] ในปี ค.ศ. 1906 เพียร์เคพบว่าผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนโรคฝีดาษมาก่อนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้รับวัคซีนอีกครั้ง เพียร์เคและเบ-ลอ ชิก กุมารแพทย์ชาวฮังการี/อเมริกัน จึงคิดค้นคำว่า "allergy" (มาจากคำในกรีก allos แปลว่า "อื่น ๆ" และ ergon แปลว่า "ปฏิกิริยา") เพื่ออธิบายปฏิกิริยาดังกล่าว[1]
ต่อมาเพียร์เคได้ศึกษาเชื้อโรคฝีดาษและค้นพบว่าทูเบอร์คูลิน สารที่โรแบร์ท ค็อค สกัดจากแบคทีเรียที่ก่อวัณโรคในปี ค.ศ. 1890 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองคล้ายกัน ชาร์ล ม็องตู แพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาแนวคิดนี้ต่อจนค้นพบการตรวจม็องตู ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยวัณโรคในปี ค.ศ. 1907[3]
ในปี ค.ศ. 1909 เพียร์เคปฏิเสธงานที่สถาบันปาสเตอร์ในปารีส ประเทศฝรั่งเศสและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ในบอลทิมอร์ สหรัฐ ปีต่อมา เพียร์เคกลับมาทำงานที่เมืองเบร็สเลาและเวียนนา ในปี ค.ศ. 1929 เพียร์เคและมารีอา คริสทีเนอ ฟัน ฮูเซิน ภรรยากระทำอัตวินิบาตกรรม[4]