เขตการค้าเสรี
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ประวัติการค้าระหว่างประเทศ |
มุมมองการเมือง |
การค้าโดยชอบธรรม |
การค้าเสรี |
การค้าคุ้มกัน |
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ |
การให้สิทธิพิเศษทางการค้า |
เขตการค้าเสรี |
สหภาพศุลกากร |
ตลาดร่วม |
สหภาพทางเศรษฐกิจ |
เขตการค้าเสรี (อังกฤษ: Free trade area, FTA) เป็นกลุ่มประเทศที่ได้ทำข้อตกลงที่จะทำการค้าแบบเสรี โดยกำจัด การเก็บภาษีศุลกากร การจำกัดส่วนแบ่ง (โควตา) และการให้สิทธิพิเศษ กับสินค้าส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ทั้งหมด) ที่ทำการค้าขายระหว่างกัน[ต้องการอ้างอิง]
ความเป็นมาของเขตการค้าเสรี
[แก้]นโยบายการค้าเสรี (อังกฤษ: Free Trade Policy) มีรากฐานมาจากทฤษฎีการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (อังกฤษ: The Theory of Comparative Advantage) ที่เสนอว่า “แต่ละประเทศควรจะเลือกผลิตแต่เฉพาะสินค้าที่ตนมีต้นทุนการผลิตได้เปรียบโดยเปรียบเทียบมากที่สุด แล้วนำสินค้าที่ผลิตได้นั้นไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ประเทศอื่นมีต้นทุนการผลิตได้เปรียบ ถึงแม้ว่าประเทศหนึ่งจะอยู่ในฐานะเสียเปรียบอีกประเทศหนึ่งในการผลิตสินค้าทุกชนิดก็ตาม ประเทศทั้งสองก็ย่อมจะทำการค้าต่อกันได้ โดยแต่ละประเทศจะเลือกผลิตเฉพาะสินค้าที่เมื่อเปรียบกับสินค้าอื่นแล้ว ประเทศตนสามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด แล้วนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตขึ้นกับอีกประเทศหนึ่ง”
นโยบายการค้าเสรีไม่สนับสนุนการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงและขจัดข้อบังคับต่าง ๆ ที่กีดกันการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นประเทศที่ใช้นโยบายการค้าเสรีจะมีลักษณะโดยทั่วไป ดังนี้
- ดำเนินการผลิตตามหลักการแบ่งงานกันทำ กล่าวคือ เลือกผลิตแต่สินค้าที่ประเทศนั้นมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงและมีต้นทุนการผลิตต่ำ
- ไม่มีการเก็บภาษีคุ้มกัน (Protective Duty) เพื่อคุ้มครองช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศแต่อย่างใด คงเก็บแต่ภาษีศุลกากรเพื่อเป็นรายได้ของรัฐ
- ไม่ให้สิทธิพิเศษหรือกีดกันสินค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีการเก็บภาษีอัตราเดียวและให้ความเป็นธรรมแก่สินค้าของทุกประเทศเท่า ๆ กัน
- ไม่มีข้อจำกัดทางการค้า (Trade Restriction) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ไม่มีการควบคุมการนำเข้าหรือการส่งออกที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ยกเว้นการควบคุมสินค้าบางอย่างที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ศีลธรรมจรรยาหรือความมั่นคงของรัฐเท่านั้น
เขตการค้าเสรี หมายถึง การรวมกลุ่มเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายในกลุ่ม ที่ทำข้อตกลงลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือเป็น 0% และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่ม การทำเขตการค้าเสรีในอดีตมุ่งในด้านการเปิดเสรีด้านสินค้า (Goods) โดยการลดภาษีและอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีเป็นหลัก แต่เขตการค้าเสรีในระยะหลัง ๆ นั้น รวมไปถึงการเปิดเสรีด้านบริการ (Service) และการลงทุนด้วย[1]
เขตการค้าเสรีที่สำคัญในปัจจุบัน คือ NAFTA และ AFTA และขณะนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ในระหว่างการเจรจาทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคอเมริกา (อังกฤษ: Free Trade Area of the Americas: FTAA) โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้การเจรจาเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2548[ต้องการอ้างอิง] รูปแบบเขตการค้าเสรีแบ่งได้ 2 ชนิดคือ
- สหภาพศุลกากร (อังกฤษ: Custom Union) หมายถึง การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในระดับที่ลึกและกว้างกว่าเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) เพราะมีลักษณะที่เป็นตลาดร่วม (Single Market) ซึ่งไม่มีกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิกในสหภาพศุลกากรเก็บภาษีศุลกากรอัตราเดียวกัน (Common Level) กับทุกประเทศนอกกลุ่ม สหภาพศุลกากรจึงทำให้ประเทศในกลุ่มมีสภาพเป็นเสมือนประเทศเดียวกันหรือตลาดเดียวกัน สหภาพศุลกากรที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป (อังกฤษ: European Union) (กำลังจะขยายสมาชิกภาพโดยรับประเทศในยุโรปตะวันออกบางประเทศเข้าร่วมด้วย) และ MERCOSUR
- พันธมิตรทางเศรษฐกิจ (อังกฤษ: Closer Economic Partnership: CEP) หมายถึง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีการพัฒนารูปแบบไปจากที่เคยมีมา โดยมีกรอบความร่วมมือที่กว้างขวางกว่าเขตการค้าเสรี อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเกี่ยวกับ CEP หรือขอบเขตของ CEP อาจจะแตกต่างไป โดยทั่วไป CEP (หรือศัพท์อื่นที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน) ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้า สินค้า บริการและการลงทุน และแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
- CEP ที่มีเขตการค้าเสรี เป็นหัวใจสำคัญ และรวมไปถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การประสานนโยบายการแข่งขัน และการจัดซื้อโดยรัฐ เป็นต้น ดังกรณี CEP ระหว่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และความร่วมมือที่อาเซียนกำลังจะเจรจากับจีน ในกรณีดังกล่าวนี้ CEP จึงเป็นกรอบความร่วมมือทั้งในเชิงลึกและกว้างกว่าเขตการค้าเสรี โดยปกติ
- CEP ที่ไม่มีการทำเขตการค้าเสรี แต่อาจมีการลดภาษีศุลกากร (ไม่ใช่การลดถึงขั้นต่ำสุด หรือเป็น 0 ดังเช่นกรณี FTA) และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าด้วย รวมทั้งมีการร่วมมือกันในด้านอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง เช่น CEP ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทั้ง FTA และ Custom Union ต่างก็เป็นกระบวนการในการผนึกความร่วมมือ และหรือการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) และเป็นปัจจัยเร่งการเปิดเสรีที่ก้าวไปเร็วกว่าการเปิดเสรีตามข้อผูกพันของ WTO รวมทั้งเป็นการเตรียมการเปิดเสรีตามเป้าหมายภายใต้ปฏิญญาโบกอร์ของ APEC ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้วเปิดเสรีอย่างเต็มที่ภายในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) และ ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาเปิดเสรีภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) [ต้องการอ้างอิง]
ในที่นี้ การใช้คำว่า "เขตการค้าเสรี" นั้น หมายถึง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษในลักษณะที่เป็นการกล่าวอย่างกว้าง ๆ คลุมไปทั้ง FTA, Customs Union และ CEP ส่วนการใช้คำว่า FTA หรือCustom Union หรือCEPนั้น หมายถึง ความร่วมมือในรูปแบบนั้น ๆ เป็นกรณี ๆ ไป
อย่างไรก็ดี เขตการค้าเสรีนั้น ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากในระดับหนึ่ง และหากต้องการให้ได้ผลจริงจัง ก็จะต้องพัฒนาไปสู่การเป็นสหภาพศุลกากรโดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงการหลบหนีภาษีในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากประเทศนอกกลุ่มจะพยายามส่งสินค้าเข้าทางประเทศที่ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่มีภาษีต่ำไปสู่ประเทศในเขตการค้าที่มีภาษีสูง ยกตัวอย่างโดยสมมติว่าประเทศไทยมีเขตการค้าเสรีกับประเทศมาเลเซีย แต่ประเทศไทยเก็บภาษีศุลกากรการนำเข้าสิ่งทอเพียง 10% ในขณะที่มาเลเซียเก็บภาษีสินค้าเดียวกันในอัตรา 30% พ่อค้าจีนก็จะพยายามนำเข้าสิ่งทอทางประเทศไทยเพื่อเสียภาษีเพียง 10% แล้วนำไปแปรรูปเล็กน้อย เช่น บรรจุห่อใหม่เพื่อแปลงสภาพให้เป็นสินค้าประเทศไทยแล้ว นำไปขายในประเทศมาเลเซียอันจะทำให้เขาเลี่ยงภาษีได้ 20% กล่าวคือ เขตการค้าเสรีจะต้องใช้ทรัพยากรของภาครัฐเป็นจำนวนมาก เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าที่รัดกุม ซึ่งทางออกที่ดีที่สุด คือ การแปลงภาษีศุลกากรของประเทศในเขตการค้าเสรีให้เท่ากันทั้งหมด หรือแปลงให้เป็นสหภาพศุลกากรโดยเร็วนั่นเอง
เป้าหมายของเขตการค้าเสรี
[แก้]เขตการค้าเสรีสะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่าง ๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ FTA ถือเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ สามารถใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่สินค้าของตน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตใน FTA จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก FTA จึงทำให้สินค้าที่ผลิตภายในกลุ่มได้ เปรียบในด้านราคากว่าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม
แนวทางในการจัดทำเขตการค้าเสรีที่ดีควรมีรูปแบบ ดังนี้
- ทำให้กรอบกว้าง (Comprehensive) เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win) การเจรจาทำความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกสาขา ทั้งการเปิดเสรีทางการค้า (สินค้าและบริการ) การลงทุน และการขยายความร่วมมือทั้งในสาขาที่ร่วมมือกันตลอดจนประสานแนวนโยบายและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นับว่าเป็นการทำข้อผูกพันเพิ่มเติมจากข้อผูกพันที่แต่ละประเทศมีอยู่แล้วในฐานะสมาชิก WTO จึงเป็นข้อผูกพันใน WTO (WTO plus)
- ทำให้สอดคล้องกับกฎ WTO โดยที่ WTO กำหนดเงื่อนไขให้มีการเปิดเสรีโดยคลุมการค้าสินค้า/บริการ ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมทำเขตการค้าเสรีอย่างมากพอ (Substantial) และสร้างความโปร่งใสโดยแจ้งต่อ WTO ก่อนและหลังการทำความตกลงตั้งเขตการค้าเสรี รวมทั้งเปิดให้ประเทศสมาชิกตรวจสอบความตกลง
- แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทนกัน (Reciprocity) ในกรณีที่ คู่เจรจาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ควรเรียกร้องความยืดหยุ่นเพื่อให้มีเวลานานกว่าในการปรับตัวหรือทำข้อผูกพันในระดับที่ต่ำกว่า
- กำหนดกลไกและมาตรการป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีจะรวมถึงเรื่องกฎเกณฑ์และขั้นตอนในการใช้มาตรการป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน เช่น การเก็บภาษี การต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) ภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการคุ้มกัน (Safeguards) ซึ่งใช้กฎเกณฑ์ของ WTO เป็นพื้นฐาน แต่ปรับปรุงให้ตรงตามความประสงค์ของประเทศที่ร่วมเจรจา หรือบางกรณีอาจมีการตกลงที่จะระงับการใช้มาตรการ AD, CVD ระหว่างกัน
เขตการค้าเสรีกับประเทศไทย
[แก้]ข้อมูลโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ [2][3]
เขตการค้าเสรีที่ได้ลงนามและมีผลใช้บังคับแล้ว
[แก้]- ในนามประเทศไทย
- เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) - จัดตั้งปี พ.ศ. 2535
- ไทย - อินเดีย (ITFTA) - มีผลเริ่มลดภาษีรายการสินค้าเร่งลดภาษีเบื้องต้น 82 รายการ (Early Harvest Scheme) 1 กันยายน พ.ศ. 2547 - ลดภาษีเป็น 0 วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2549
- ไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) - มีผลใช้บังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2548
- ไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP) - มีผลใช้บังคับ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
- ไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) - มีผลใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
- ไทย - เปรู - มีผลเริ่มลดภาษีรายการสินค้าเร่งลดภาษีเบื้องต้น (Early Harvest Scheme) 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
- ไทย - ชิลี - ลงนาม 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556
- ไทย - ศรีลังกา - ลงนาม 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
- ในนามอาเซียน
- อาเซียน - จีน (ACFTA) - ลงนาม 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
- อาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) - ลงนาม 11 เมษายน พ.ศ. 2551
- อาเซียน - เกาหลีใต้ (AKFTA) - ลงนาม 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
- อาเซียน - ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) - ลงนาม 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
- อาเซียน - อินเดีย (AIFTA) - ลงนาม 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- อาเซียน - ฮ่องกง (AHKFTA) - ลงนาม 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
เขตการค้าเสรีที่อยู่ระหว่างการเจรจา
[แก้]- ไทย - แคนาดา (TCFTA)
- ไทย - ปากีสถาน
- ไทย - ตุรกี
- ไทย - สหภาพยุโรป
- ไทย - เอฟต้า
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "กรมศุลกากร - Thai Customs". www.customs.go.th.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-11. สืบค้นเมื่อ 2013-12-16.
- ↑ http://www.thairath.co.th/column/oversea/worldsky/319058