ข้ามไปเนื้อหา

เกาะแคโรไลน์

พิกัด: 09°57′18″S 150°12′45″W / 9.95500°S 150.21250°W / -9.95500; -150.21250
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เกาะแคโรไลน์
ภาพถ่ายทางอากาศของนาซาแสดงส่วนประกอบของเกาะแคโรไลน์ ทิศเหนืออยู่ทางขวามือบนของภาพเกาะเล็กใหญ่สุด 2 เกาะ คือ เนกไอลิต (บน) และเซาท์ไอลิต (ล่าง)
เกาะแคโรไลน์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก
เกาะแคโรไลน์
เกาะแคโรไลน์
เกาะแคโรไลน์ตั้งอยู่ในคิริบาส
เกาะแคโรไลน์
เกาะแคโรไลน์
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งมหาสมุทรแปซิฟิก
พิกัด09°57′18″S 150°12′45″W / 9.95500°S 150.21250°W / -9.95500; -150.21250
กลุ่มเกาะหมู่เกาะไลน์
เกาะทั้งหมดประมาณ 39 เกาะเล็กเกาะน้อย
พื้นที่699 เฮกตาร์ (1,730 เอเคอร์)
ระดับสูงสุด6 ม. (20 ฟุต)
การปกครอง
ประชากรศาสตร์
ประชากรไม่มีใครอยู่

เกาะแคโรไลน์ (อังกฤษ: Caroline Island) หรือ แคโรไลน์อะทอลล์ (อังกฤษ: Caroline Atoll) บ้างเรียก เกาะมิลเลนเนียม (อังกฤษ: Millennium Island) และ เกาะเบสซีซา (อังกฤษ: Beccisa Island) เป็นเกาะปะการังวงแหวนไร้คนอาศัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะไลน์ใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง

ชาวยุโรปพบเกาะนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณ ค.ศ. 1606 ใน ค.ศ. 1868 สหราชอาณาจักรอ้างสิทธิเหนือเกาะ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศคิริบาสหลังได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1979 เกาะแคโรไลน์แทบไม่มีคนบุกรุก และถือเป็นเกาะเขตร้อนในสภาพดั้งเดิมมากที่สุดเกาะหนึ่ง แม้มีการทำปุ๋ยขี้นก การเก็บเกี่ยวลูกมะพร้าวแห้งและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 เกาะนี้เป็นถิ่นอาศัยของปูมะพร้าวใหญ่สุดแห่งหนึ่งของโลกและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์นกทะเลโดยเฉพาะนกจำพวกนกนางนวลแกลบดำที่สำคัญอีกด้วย

ปัจจุบันเกาะนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า[1] เมื่อ ค.ศ. 2014 รัฐบาลคิริบาสจัดตั้งเขตห้ามทำประมง 12 ไมล์ทะเลรอบหมู่เกาะไลน์ใต้[2]

เกาะนี้ขึ้นชื่อจากบทบาทในการเฉลิมฉลองสหัสวรรษ หลังมีการปรับเปลี่ยนเส้นแบ่งเขตวันสากลใน ค.ศ. 1994 ทำให้เกาะแคโรไลน์เป็นหนึ่งในจุดแรก ๆ บนโลกที่ย่างเข้าวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ในปฏิทิน

ภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ

[แก้]

เกาะแคโรไลน์ตั้งอยู่ใกล้ปลายทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่เกาะไลน์ ทอดข้ามเส้นศูนย์สูตรอยู่ทางใต้ห่างจากหมู่เกาะฮาวาย 1,500 กม. ในมหาสมุทรแปซิฟิกกลาง เป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของทรายและหินปูนบนแนวปะการัง เกาะมีรูปจันทร์เสี้ยวเล็กน้อย มีพื้นที่ 3.76 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะเล็ก 39 เกาะล้อมรอบลากูนแคบ ๆ ขนาด 8.7 × 1.2 กิโลเมตร หรือมีพื้นที่ 6.3 ตารางกิโลเมตร อะทอลล์มีขนาดซึ่งนับรวมแผ่นดิน ลากูนและปะการังแนวราบมีขนาดทั้งสิ้น 13 × 2.5 กิโลเมตร หรือพื้นที่ 24 ตารางกิโลเมตร เกาะเล็กมีความสูงเพียง 6 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามวิถีของเส้นแบ่งเขตวันสากล เกาะแคโรไลน์เป็นจุดตะวันออกสุดบนโลก

เกาะแคโรไลน์ประกอบด้วยเกาะเล็กขนาดใหญ่ 3 เกาะ ประกอบด้วย เนกไอลิต พื้นที่ 1.04 ตารางกิโลเมตรอยู่ทางตอนเหนือ, ลองไอลิต พื้นที่ 0.76 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลากูน และเซาท์ไอลิต พื้นที่ 1.07 ตารางกิโลเมตรทางตอนใต้[3] ส่วนเกาะเล็กขนาดเล็กอื่นที่เหลือส่วนใหญ่ได้ชื่อระหว่างการสำรวจระบบนิเวศของแอนจิลาและแคเมอรอน เคปเลอร์ ใน ค.ศ. 1988 แบ่งเป็นกลุ่มเกาะหลักสี่กลุ่มคือ เซาท์เนกไอลิตส์, เซ็นทรัลลีเวิร์ดไอลิตส์, เซาเทิร์นลีเวิร์ดไอลิตส์ และวินด์เวิร์ดไอลิตส์ (ดูแผนที่ประกอบ) กลุ่มเกาะของแคโรไลน์มีอายุสั้นตลอดช่วงการสังเกตหนึ่งศตวรรษ มีบันทึกว่าเกาะเล็กสุดหลายเกาะปรากฏหรือหายไปทั้งหมดหลังพายุใหญ่ ส่วนรูปร่างของเกาะเล็กขนาดใหญ่ก็เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ[3][4]

ลากูนศูนย์กลางมีขนาดประมาณ 6 × 0.5 กิโลเมตร เป็นลากูนตื้นลึกสุดประมาณ 5–7 เมตร มีแนวปะการังและกลุ่มปะการังบนพื้นทรายแคบ ๆ ข้ามไปมา ปะการังแนวราบปกติขยายไปประมาณ 500 เมตร จากฝั่ง แม้บางแหล่งรายงานว่าขยายไปกว่าหนึ่งกิโลเมตรจากฝั่ง ทำให้การจอดเรือมีอันตรายยกเว้นเมื่อน้ำขึ้น [3] ไม่มีที่ขึ้นฝั่งธรรมชาติ ที่ทอดสมอหรือช่องน้ำลึกเข้าสู่ลากูนศูนย์กลาง น้ำซึ่งล้นเข้าสู่ลากูนจากช่องตื้นเมื่อน้ำขึ้นขังอยู่ในปะการังโดยรอบและยังเสถียรอยู่แม้มีน้ำขึ้นลงมหาสมุทร ปกติขึ้นฝั่งส่วนมากที่รอยแยกเล็ก ๆ ในปะการัง ณ มุมตะวันออกเฉียงเหนือของเซาท์ไอลิต[4]

เกาะเล็กของเกาะแคโรไลน์จำนวนมากมีร่องน้ำตื้นคั่น ด้านหน้าเป็นหาดซากปะการังและไม้พุ่ม Tournefortia บนลองไอลิต ในพื้นหลัง ป่า Pisonia และแถวต้นปาล์มมะพร้าวที่มิใช่พื้นเมืองบนเนกไอลิต

ในบางส่วนของลากูนมีความหนาแน่นของหอยมือเสือยักษ์มากถึงสี่ตัวต่อตารางฟุต[2] ชนิดที่พบบ่อยสุด คือ หอยมือเสือแม็กซิมา (Tridacna maxima) และหอยมือเสือยักษ์ (Tridacna gigas)[2] นอกจากนี้ลากูนยังเป็นถิ่นอาศัยอนุบาลของปลาหลายชนิดรวมทั้งชนิดที่สำคัญและถูกจับอย่างหนัก เช่น ปลาฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ปลานโปเลียน (Cheilinus undulatus) ที่ใกล้สูญพันธุ์[5]

เกาะแคโรไลน์ (วงกลมสีแดงด้านล่างขวา) เป็นเกาะที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศคิริบาส

เกาะแคโรไลน์ไม่มีแหล่งน้ำจืดนิ่งแต่เนกไอลิตและเซาท์ไอลิตนั้นมีชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินอยู่ และมีการสร้างบ่อน้ำเพื่อเจาะเอาน้ำดื่มสำหรับนิคมชั่วคราว[6] ดินบนเกาะเลวพอ ๆ กัน ลักษณะเป็นกรวดปะการังและทรายเป็นหลัก โดยมีองค์ประกอบอินทรีย์ที่สำคัญอยู่เฉพาะศูนย์กลางของเกาะที่มีสภาพเป็นป่าเสถียรเท่านั้น การทับถมของปุ๋ยขี้นกทำให้บริเวณที่มีปุ๋ยนี้อุดมด้วยไนโตรเจน แต่แม้ในบริเวณที่มีอายุมากสุดและมีพืชพรรณมากที่สุดของเกาะ ดินก็ยังหนาไม่กี่เซนติเมตร[4]

เกาะแคโรไลน์มีลักษณะอากาศแบบทะเลเขตร้อน ซึ่งมีลักษณะร้อนชื้นตลอดปี บันทึกทางอุตุนิยมวิทยามีน้อย แต่ปกติอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 28 ถึง 32 องศาเซลเซียส ตลอดปี[7] อยู่ในบริเวณที่มีหยาดน้ำฟ้าผกผันมาก แต่ประมาณว่ามีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,500 มม. ต่อปี น้ำขึ้นลงอยู่ในลำดับที่ 0.5 เมตร และลมค้าซึ่งปกติพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หมายความว่า มุมเกาะมีคลื่นลมแรงสุด[4]

เกาะแห่งนี้เป็นหนึ่งในเกาะที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก[8] อยู่ห่างจากเกาะฟลินต์ (Flint Island) เกาะใกล้สุด 230 กม. อยู่ห่างจากนิคมถาวรใกล้สุดบนคิริสมาสประมาณ 1,500 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงตาราวา เมืองหลวงของประเทศคิริบาส ประมาณ 4,200 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปใกล้สุด ประมาณ 5,100 กิโลเมตร

สัตว์และพืช

[แก้]
เกาะแคโรไลน์มีประชากรปูมะพร้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก

แม้มนุษย์มีผลกระทบเป็นครั้งคราวต่อเกาะแคโรไลน์เป็นเวลากว่าสามศตวรรษ แต่เกาะนี้ยังถือเป็นเกาะเขตร้อนสภาพใกล้เคียงดั้งเดิมหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ยังเหลืออยู่[4] และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเกาะปะการังรูปวงแหวนแปซิฟิกที่บริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่ง[9] สภาพแทบไม่ถูกรบกวนของเกาะทำให้เกาะแคโรไลน์ได้รับกำหนดให้เป็นแหล่งมรดกโลกและเขตสงวนชีวมณฑล มีการสำรวจนิเวศวิทยาบันทึกสัตว์และพืชของเกาะเป็นระยะในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ โครงการสำรวจชีววิทยามหาสมุทรแปซิฟิกเยี่ยมเกาะใน ค.ศ. 1965 การสำรวจเกาะไลน์ ค.ศ. 1974 หน่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติใน ค.ศ. 1988 และ ค.ศ. 1991[10]

เกาะแคโรไลน์มีพืชพรรณหนาแน่น เกาะเล็ก ๆ ส่วนมากมีเขตพืชพรรณวงแหวนสามวง ได้แก่ เขตนอกพรมพืชล้มลุก ซึ่งประกอบด้วย Heliotropium anomalum เป็นหลัก เขตในกว่าเป็นไม้พุ่ม ซึ่งมีงวงช้างทะเล (Heliotropium foertherianum) เป็นหลัก และบริเวณป่าใจกลางมักซึ่งมีไม้ต้น Pisonia grandis มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการนำต้นมะพร้าวและมีอยู่ปริมาณค่อนข้างมากในเกาะเล็กขนาดใหญ่ ๆ แบบรูปพรรณพืชนี้เป็นเหมือนกันในเกาะเล็กขนาดใหญ่ ๆ ส่วนเกาะเล็กขนาดเล็กไม่มีป่าใจกลางและเกาะเล็กสุดจะมีเฉพาะไม้ล้มลุกเตี้ยเท่านั้น[4] พืชที่พบมากอื่น เช่น Suriana maritima และยอ (Morinda citrifolia)[11]

เกาะแคโรไลน์เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของนกทะเลหลายชนิด สำคัญที่สุดคือ นกนางนวลแกลบดำ (Onychoprion fuscata) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500,000 ตัว โดยพบมากบนเกาะเล็กฝั่งตะวันออก และนกโจรสลัดใหญ่ (Fregata minor) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 10,000 ตัว เกาะแคโรไลน์และเกาะฟลินต์ที่อยู่ใกล้เคียงเป็นถิ่นอาศัยของปูมะพร้าว (Birgus latro) ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในโลก[3] นอกจากนี้ สัตว์เฉพาะถิ่นอื่นมีหอยมือเสือซึ่งพบมากบริเวณลากูนศูนย์กลาง เต่าตนุ ปูเสฉวน และกิ้งก่าอีกหลายชนิด[11]

เต่าตนุ (Chelonia mydas) ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ทำรังบนหาดเกาะแคโรไลน์ แต่มีรายงานผู้ตั้งถิ่นฐานล่าสุดบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์[11] นกชนิด Numenius tahitiensis ซึ่งอพยพมาจากอะแลสกาก็จัดเป็นสายพันธุ์เสี่ยงอีกด้วย

เกาะแห่งนี้มีพืชต่างถิ่นกว่า 20 ชนิดที่มนุษย์นำเข้ามา เช่น เถาเลื้อยอย่างเช่นผักบุ้งทะเลซึ่งเริ่มแพร่พันธุ์ มนุษย์นำแมวและหมาเลี้ยงร่วมกับผู้ตั้งถิ่นฐานจำนวนหนึ่งได้ขับประชากรนกทะเลออกจากเกาะเล็กโมนูอะตา-อะตา

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ก่อนประวัติศาสตร์

[แก้]

เชื่อว่าเกาะแคโรไลน์กำเนิดจากจุดร้อนภูเขาไฟที่ถูกกัดกร่อนและกลายเป็นที่อยู่ของแนวปะการังและค่อย ๆ เติบโตขึ้นเหนือผิวมหาสมุทร แม้ยังเข้าใจกระบวนการทางธรณีวิทยานี้เพียงเล็กน้อย แต่การวางตัวของหมู่เกาะไลน์ (ประมาณจากเหนือไปใต้) แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเกาะเหล่านี้น่าจะกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ล้านปีมาแล้ว ก่อนที่แผ่นแปซิฟิกจะเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัว และจุดร้อนเดียวกันนี้ยังก่อให้เกิดกลุ่มเกาะตูอาโมตูอีกด้วย[12]

มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวพอลินีเชียบนเกาะเล็กใหญ่ ๆ ก่อนมีการติดต่อกับชาวยุโรป[4] คณะสำรวจเกาะนี้ยุคแรก ๆ ค้นพบสุสานและลานแผ่นแบบและมีมาราเอ (marae) ซึ่งเป็นลานชุมชนและลานศักดิ์สิทธิ์ บนฝั่งตะวันตกของเนกไอลิต ตราบจนปัจจุบัน นักโบราณคดียังไม่ได้สำรวจสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้

การพบและบันทึกแรก ๆ

[แก้]
คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสและอเมริกันบรรจบกัน ณ เกาะแคโรไลน์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1883 เพื่อสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่กินเวลานานผิดปกติ สมาชิกคณะสำรวจผู้หนึ่งวาดภาพนี้

เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน อาจพบเกาะแคโรไลน์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1521[13][14]

บันทึกการเห็นเกาะแคโรไลน์ต่อมาของชาวยุโรปคือ บันทึกของเปดรู ฟือร์นังดึช ดือ ไกรอช นักสำรวจชาวโปรตุเกสที่ล่องเรือในนามของสเปน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1606 บันทึกของเขาเรียกเกาะนี้ว่า "ซานเบร์นาร์โด" (San Bernardo)[4] ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1795 กัปตันวิลเลียม รอเบิร์ต บรอตัน แห่งเรือหลวง พรอวิเดนซ์ ค้นพบเกาะนี้และตั้งชื่อเกาะว่าแคโรไลนา (ต่อมาเป็นแคโรไลน์) เพื่อยกย่องธิดาของเซอร์เซอร์ฟิลิป สตีเวนส์ แห่งกระทรวงทหารเรือ[4] ต่อมาเรือล่าปลาวาฬสัญชาติอังกฤษ ซะพลาย พบเกาะนี้อีกครั้งใน ค.ศ. 1821 และตั้งชื่อว่า "เกาะธอนตัน" ตามชื่อกัปตันเรือ เกาะแห่งนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น "เกาะเฮิสต์" (Hirst Island) "เกาะคลาร์ก" (Clark Island) และ "เกาะอินดิเพนเดนซ์" (Independence Island) การเดินทางถึงครั้งแรก ๆ ซึ่งมีบันทึกเกี่ยวกับเกาะ คือ การเดินทางของยูเอสเอส ดอลฟิน ใน ค.ศ. 1825 (ร้อยโท ไฮรัม พอลดิง เป็นผู้บันทึก) และเรือล่าวาฬใน ค.ศ. 1835 (เฟรเดอริก ดีเบลล์ เบนเนตต์ บันทึกในหนังสือ คำบรรยายของการล่องเรือล่าปลาวาฬรอบโลกระหว่างปี ค.ศ. 1833–1836 (Narrative of a Whaling Voyage Round the Globe From the Year 1833–1836)

ค.ศ. 1846 คอลลีและลูเซ็ตต์ บริษัทสัญชาติตาฮีตี พยายามสร้างชุมชนเลี้ยงปศุสัตว์และปลูกมะพร้าวขนาดเล็กบนเกาะ ซึ่งประสบความสำเร็จทางการเงินจำกัด ส่วนใน ค.ศ. 1868 เรือหลวง เรนเดีย ของบริเตนอ้างสิทธิเหนือแคโรไลน์ ซึ่งบันทึกผู้อยู่อาศัย 27 คนในนิคมแห่งหนึ่งบนเซาท์ไอลิต เมื่อ ค.ศ. 1872 รัฐบาลบริติชให้เช่าเกาะนี้แก่บริษัทโฮลเดอร์บราเธอส์ จำกัด โดยมีจอห์น ที. แอรันเดล เป็นผู้จัดการ (เป็นชื่อชื่อเกาะเล็กเกาะหนึ่งด้วย)[6] จอห์น ที. แอรันเดลและคณะรับสัญญาเช่าใน ค.ศ. 1881 จนใน ค.ศ. 1885 แอรันเดลตั้งไร่ใหญ่มะพร้าว แต่ต้นมะพร้าวติดโรคและไร่ใหญ่ล้มเหลวไป[4] อีกทั้งบริษัทโฮลเดอร์บราเธอส์ จำกัด ที่มีแอรันเดลเป็นผู้จัดการนั้น ยังทำฟาร์มปุ๋ยขี้นกใน ค.ศ. 1874 ด้วย โดยพบฟอสเฟตกว่า 10,000 ตัน จนหมดไปจากเกาะในราว ค.ศ. 1895[4] นิคมบนเกาะอยู่จนกระทั่ง ค.ศ. 1904 ชาวพอลินีเชีย 6 คนสุดท้ายย้ายออกจากเกาะนี้ไปนีวเว[4]

คณะสำรวจนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเดินทางจากเปรูมาเกาะแคโรไลน์ด้วยเรือยูเอสเอส ฮาร์ตเฟิร์ด เพื่อมาชมสุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1883 คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสก็สังเกตสุริยุปราคาจากเกาะแคโรไลน์เช่นกัน และกองทัพเรือสหรัฐทำแผนที่เกาะ[6] โยฮันน์ พาลีซา สมาชิกคณะสำรวจคนหนึ่ง ค้นพบดาวเคราะห์น้อยในปีเดียวกันซึ่งเขาตั้งชื่อว่า แคโรไลนา เพื่อรำลึกถึงการเยือนเกาะแคโรไลน์[15]

คริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้]

เอส.อาร์. แมกซ์เวลล์แอนด์คอมปานีเช่าเกาะนี้และตั้งถิ่นฐานใหม่ใน ค.ศ. 1916 ครั้งนี้สร้างขึ้นเพื่อส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้งโดยเฉพาะ มีการถางป่าอย่างกว้างขวางในเซาท์ไอลิตเพื่อปลูกต้นมะพร้าวซึ่งไม่ใช่พืชท้องถิ่น[4] ทว่า การลงทุนธุรกิจนี้ประสบหนี้สิน และนิคมของอเกาะเริ่มมีประชากรลดลง เมื่อ ค.ศ. 1926 เหลือผู้อยู่อาศัยเพียง 10 คน และใน ค.ศ. 1936 นิคมเหลือครอบครัวชาวตาฮิตีเพียง 2 ครอบครัวก่อนย้ายออกไปในปลายคริสต์ทศวรรษ 1930[6]

เกาะแคโรไลน์ไม่มีคนอาศัยและไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากนั้น เกาะยังอยู่ภายใต้เขตอำนาจของบริเตน ซึ่งข้าหลวงใหญ่แปซิฟิกตะวันออกของบริเตนเข้าควบคุมอีกครั้งใน ค.ศ. 1943 และปกครองโดยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเซ็นทรัลและเซาเทิร์นไลน์ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1972 หมู่เกาะเซ็นทรัลและเซาเทิร์นไลน์รวมทั้งเกาะแคโรไลน์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมหมู่เกาะกิลเบิร์ตและเอลลิส ซึ่งได้อัตตาณัติใน ค.ศ. 1971 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปลดปล่อยอาณานิคมของบริเตน[16]

ค.ศ. 1979 หมู่เกาะกิลเบิร์ตกลายเป็นรัฐเอกราชคิริบาส หมู่เกาะแคโรไลน์เป็นจุดตะวันออกสุดของคิริบาส ทั้งเกาะมีรัฐบาลสาธารณรัฐคิริบาสเป็นเจ้าของ มีกระทรวงกลุ่มไลน์และฟีนิกซ์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่บนคิริสมาสเป็นผู้ดูแล สหรัฐสละการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะของสหรัฐ (ภายใต้รัฐบัญญัติหมู่เกาะปุ๋ยขี้นก) ในสนธิสัญญาตาราวาใน ค.ศ. 1979 และวุฒิสภาสหรัฐให้สัตยาบันใน ค.ศ. 1983[17]

เกาะนี้มีคนอาศัยอีกช่วงสั้น ๆ ระหว่าง ค.ศ. 1987 ถึง ค.ศ. 1991 โดยรอน ฟอลคอเนอร์ และแอน ภรรยา พร้อมลูก 2 คนซึ่งพัฒนานิคมพึ่งพาตนเองเป็นส่วนใหญ่บนเกาะ หลังการโอนความเป็นเจ้าของ ฟอลคอเนอร์ถูกรัฐบาลคิริบาสฟ้องขับไล่ออกจากเกาะ หนังสือ ทูเกเธอร์อะโลน (ISBN 1-86325-428-5) ซึ่งฟอลคอเนอร์เขียน บันทึกนิยายการพำนักของพวกเขาบนเกาะแคโรไลน์[18]

มีการให้เช่าเกาะแก่อูรีมา เฟลิกซ์ ผู้ประกอบการชาวเฟรนช์พอลินีเชีย ในคริสต์ทศวรรษ 1990 เขาสร้างที่อยู่อาศัยเล็ก ๆ บนเกาะเล็กเกาะหนึ่งและมีรายงานว่าวางแผนพัฒนาเกาะ เกาะยังมีผู้เก็บเกี่ยวมะพร้าวแห้งชาวพอลินีเซียเวียนมาเป็นบางครั้งภายใต้ความตกลงกับรัฐบาลคิริบาสในตาราวา[10]

การเปลี่ยนเส้นแบ่งเขตวัน

[แก้]
หลังมีการปรับแนวเขตเวลาเมื่อ ค.ศ. 1994 ทำให้เกาะแคโรไลน์ (จุดสีแดงในแผนที่) เป็นดินแดนตะวันออกสุดที่อยู่เส้นแบ่งเขตวันสากลฝั่งตะวันตก

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1994 ประเทศคิริบาสประกาศเปลี่ยนเขตเวลาของหมู่เกาะไลน์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1994 การเปลี่ยนเขตเวลานี้เลื่อนเส้นแบ่งเขตวันสากลไปทางทิศตะวันออก 1,000 กิโลเมตรในคิริบาส โดยวางคิริบาสทั้งหมดอยู่ในฝั่งตะวันตกของเส้นแบ่งเขตวัน แม้ข้อเท็จจริงว่าลองจิจูด 150 องศาตะวันตกซึ่งตรงกับเวลา UTC−10 แทนเขตเวลาอย่างเป็นทางการ UTC 14 ปัจจุบันหมู่เกาะแคโรไลน์อยู่ในเขตเวลาเดียวกับหมู่เกาะฮาวาย (เขตเวลามาตรฐานฮาวาย–อะลูเชียน) แต่เร็วกว่า 1 วัน[19] การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกาะแคโรไลน์เป็นดินแดนตะวันออกสุดในเขตเวลาเร็วสุด (บางนิยามว่า เป็นจุดตะวันออกสุดบนโลก) และเป็นแผ่นดินจุดแรก ๆ ที่เห็นอาทิตย์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 เมื่อ 5:43 น. ตามเวลาท้องถิ่น

เหตุผลการย้ายที่แถลงไว้เป็นคำสัญญาระหว่างการรณรงค์ของเตบูโรโร ติโต (Teburoro Tito) อดีตประธานาธิบดีคิริบาส เพื่อขจัดความสับสนที่ประเทศคิริบาสทอดข้ามเส้นแบ่งเขตวัน ฉะนั้นจึงมีวันต่างกันสองวันเสมอ ทว่า ข้าราชการคิริบาสไม่ฝืนใจที่พยายามฉวยสถานภาพใหม่ของประเทศที่เป็นดินแดนแรกที่เห็นรุ่งอรุณใน ค.ศ. 2000[20] ประเทศแปซิฟิกอื่น รวมทั้งประเทศตองงาและหมู่เกาะแชทัมของนิวซีแลนด์ประท้วงการย้ายนี้ โดยคัดค้านว่าละเมิดการอ้างเป็นดินแดนแห่งแรกที่เห็นรุ่งเช้าใน ค.ศ. 2000[21]

ใน ค.ศ. 1999 เพื่อใช้ประโยชน์จากความสนใจของสาธารณะขนานใหญ่ต่อการเฉลิมฉลองการย่างเข้า ค.ศ. 2000 ยิ่งขึ้น จึงมีการเปลี่ยนชื่อเกาะแคโรไลน์เป็นเกาะมิลเลนเนียม แม้เป็นเกาะที่ไม่มีคนอาศัย แต่มีการจัดการเฉลิมฉลองพิเศษบนเกาะ มีการแสดงของวงการบันเทิงพื้นเมืองชาวคิริบาสและประธานาธิบดีติโตเข้าร่วมด้วย[22] มีนักร้องและนักเต้นชาวคิริบาสเดินทางจากเมืองหลวงกรุงตาราวา กว่า 70 คน[23] และมีนักข่าวประมาณ 25 คน มีการแพร่สัญญาณการเฉลิมฉลองครั้งนี้ผ่านดาวเทียมทั่วโลกและมีผู้ชมประมาณหนึ่งพันล้านคน[22]

แม้สื่อและรัฐบาลอ้าง แต่เกาะแคโรไลน์มิใช่แผ่นดินจุดแรกที่เห็นรุ่งอรุณของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 ตามเวลาท้องถิ่น เกียรตินั้นเป็นของจุดของดินแดนระหว่างระหว่างธารน้ำแข็งดิบเบิล (Dibble Glacier) กับอ่าววิกตอร์ (Victor Bay) บนชายฝั่งแอนตาร์กติกาตะวันออก ณ พิกัด 66°03′S 135°53′E / 66.050°S 135.883°E / -66.050; 135.883 ซึ่งเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อน 35 นาที[24] เนื่องจากจุดนี้อยู่ใกล้วงกลมแอนตาร์กติก และพื้นที่ที่อยู่เลยวงกลมแอนตาร์กติกได้รับผลจากแสงอาทิตย์ตลอดเวลาในเดือนธันวาคม นิยามของจุดที่แน่ชัดจึงเป็นปัญหาการแยกแยะระหว่างดวงอาทิตย์ตกและดวงอาทิตย์ขึ้นทันทีในมุมมองของผลการหักเหบรรยากาศ

คริสต์ศตวรรษที่ 21 และอนาคต

[แก้]

เกาะแคโรไลน์อยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 6 เมตร จึงจะเป็นอันตรายหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น รัฐบาลคิริบาสประเมินว่า น้ำทะเลอาจท่วมเกาะใน ค.ศ. 2025[23] สหประชาชาติจัดให้เกาะแคโรไลน์อยู่ในกลุ่มเกาะที่อยู่ในอันตรายมากที่สุดจากการเพิ่มของระดับน้ำทะเล[25]

สมุดภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Edward R. Lovell, Taratau Kirata & Tooti Tekinaiti (September 2002). "Status report for Kiribati's coral reefs" (PDF). Centre IRD de Nouméa. สืบค้นเมื่อ 15 May 2015.
  2. 2.0 2.1 2.2 Warne, Kennedy (September 2014). "A World Apart – The Southern Line Islands". National Geographic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-21. สืบค้นเมื่อ 15 May 2015.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Line Islands - Millennium". Oceandots.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 Kepler, Angela K.; Cameron B. Kepler (February 1994). "The natural history of the Caroline Atoll, Southern Line Islands" (PDF). Atoll Research Bulletin. 397–398.
  5. Katie L. Barott (3 June 2010). "The Lagoon at Caroline/Millennium Atoll, Republic of Kiribati: Natural History of a Nearly Pristine Ecosystem" (PDF). PLoS ONE. 5 (6). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-14. สืบค้นเมื่อ 22 January 2017.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Bryan, E.H. (1942). American Polynesia and the Hawaiian Chain. Honolulu: Tongg Publishing Company.
  7. "Republic of Kiribati". Atlapedia Online. สืบค้นเมื่อ 2006-07-12.
  8. "More Isolated Islands". Island Directory Tables. U.N. Earthwatch. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-16. สืบค้นเมื่อ 2006-06-12.
  9. "Islands by Human Impact Index". United Nations Environment Programme. 18 February 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 July 2006.
  10. 10.0 10.1 Scott, Derek A., บ.ก. (1993). A Directory of Wetlands in Oceania. Slimbridge, UK: International Waterfowl and Wetlands Research Bureau. ISBN 0-9505731-2-4.
  11. 11.0 11.1 11.2 Teataata, Aobure (1998). "Wetlands". United Nations Environment Programme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 February 2008.
  12. "Pacific Ocean - Line Islands". Oceandots.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-23. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
  13. "Morison Rates Magellan Above Columbus as a Seaman". New York Times.
  14. Matthew James. The Great Explorers.
  15. Schmadel, L.D. (2000). Dictionary of Minor Planet Names (4th ed.). Berlin: Springer-Verlag Telos. ISBN 3-540-66292-8.
  16. Gwillim Law (2005). "Island Groups of Kiribati". Statoids.
  17. "Treaty of Friendship Between the United States of America and the Republic of Kiribati". 1979.
  18. Falconer, Ron (2004). Together Alone. Australia: Bantam Books. ISBN 1-86325-428-5.
  19. Harris, Aimee (August 1999). "Date Line Politics". Honolulu Magazine. p. 20. สืบค้นเมื่อ 2006-06-10.
  20. Kristof, Nicholas D. (March 23, 1997). "Tiny Island's Date-Line Jog in Race for Millennium". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-10.
  21. Letts, Quentin (January 25, 1996). "Pacific braces for millennium storm over matter of degrees". The Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-10.
  22. 22.0 22.1 "2000 greeted with song, dance". Japan Times. Associated Press. January 1, 2000.
  23. 23.0 23.1 "Millennium Island greets Y2K warmly". ClimateArk.org. Associated Press. December 30, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2005. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.
  24. U.S. Naval Observatory (2003). "First Sunrise of the New Millennium". Astronomical Applications Department. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-22. สืบค้นเมื่อ 2017-12-27.
  25. "Islands of Kiribati". U.N. Earthwatch Islands Directory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-11. สืบค้นเมื่อ 2006-06-11.

แหล่งข้อมูล

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]