อาวุธเคมีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สารเคมีพิษถูกใช้เป็นอาวุธมานานหลายพันปี แต่การใช้อาวุธเคมีในวงกว้างเกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1][2] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายขวัญ สร้างความบาดเจ็บและคร่าชีวิตทหารในสนามเพลาะ อาวุธเหล่านี้มีตั้งแต่แก๊สน้ำตาที่ก่อความระคายเคืองไปจนถึงฟอสจีน คลอรีนและแก๊สมัสตาร์ดที่ทำให้เสียชีวิต การสงครามเคมีเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 90,000 รายจากผู้ประสบภัยแก๊สทั้งหมด 1.2 ล้านราย[3] แก๊สต่างจากอาวุธส่วนใหญ่ที่พัฒนาในช่วงนี้เนื่องจากมีการคิดค้นวิธีป้องกันอย่างหน้ากากกันแก๊สในภายหลัง อย่างไรก็ตามแก๊สถูกใช้เป็นอาวุธมากขึ้นในช่วงปลายสงครามแม้ประสิทธิผลโดยรวมจะลดลง บางครั้งการสงครามเคมีนี้แสดงภาพของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็น "สงครามของนักเคมี" และเป็นช่วงเวลาที่อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเกิดขึ้น[4][5]
ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ใช้แก๊สน้ำตาในรูปแบบระเบิดมือในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914[6] การใช้แก๊สเป็นอาวุธในวงกว้างเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคม ค.ศ. 1915 เมื่อฝ่ายเยอรมันโจมตีฝ่ายรัสเซียในยุทธการที่โบลิมอฟด้วยกระสุนปืนใหญ่บรรจุไซลิลโบรไมด์ซึ่งเป็นสารก่อระคายเคืองแต่ล้มเหลว[7] คลอรีนเป็นแก๊สพิษร้ายแรงชนิดแรกที่ใช้ในสงคราม โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 กองทัพเยอรมันปล่อยแก๊สคลอรีนถึง 168 ตันในยุทธการที่อีเปอร์ครั้งที่สอง[8] ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1915 ฝ่ายเยอรมันใช้แก๊สคลอรีนในการสู้รบกับทหารรัสเซียที่รักษาป้อมโอโซเวียซก่อนจะล่าถอยในเหตุการณ์การโจมตีของคนตาย[9]
แต่เนื่องจากคลอรีนเป็นแก๊สสีเขียวมีกลิ่นแรงจึงตรวจจับได้ง่าย ต่อมาฝรั่งเศสจึงพัฒนาฟอสจีนซึ่งเป็นแก๊สพิษร้ายแรงไม่มีสี กลิ่นคล้าย "หญ้าตัดใหม่" ขึ้นในปี ค.ศ. 1915[10] เดือนธันวาคม ค.ศ. 1915 กองทัพเยอรมันได้ใช้แก๊สผสมฟอสจีน-คลอรีนในการโจมตีกองทัพบริติชใกล้เมืองอีเปอร์[11] ขณะที่แก๊สมัสตาร์ดซึ่งเป็นสารพุพองถูกใช้เป็นอาวุธครั้งแรกโดยฝ่ายเยอรมันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917 หลายสัปดาห์ก่อนยุทธการที่พาสเชนเดล[7][12] หลังจากนั้นแก๊สกลายเป็นอาวุธมาตรฐานที่ใช้สนับสนุนการโจมตี แต่อำนาจทำลายล้างลดลงเนื่องจากมาตรการรับมือที่ดีขึ้น
การใช้แก๊สพิษโดยคู่สงครามหลักทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถือเป็นอาชญากรรมสงครามเนื่องจากละเมิดปฏิญญากรุงเฮกว่าด้วยแก๊สสำลัก ค.ศ. 1899 และอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการสงครามทางบก ค.ศ. 1907 ซึ่งห้ามการใช้ "สารพิษหรืออาวุธมีพิษ" ในสงคราม[13][14] ความน่ากลัวและความรู้สึกต่อต้านจากสาธารณะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการโจมตีด้วยแก๊สน้อยลงในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กระนั้นแก๊สพิษมีบทบาทสำคัญในฮอโลคอสต์[15]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Adrienne Mayor (2003). Greek Fire, Poison Arrows and Scorpion Bombs: Biological and Chemical Warfare in the Ancient World. Overlook Books. ISBN 1-58567-348-X.
- ↑ Andre Richardt (2012). CBRN Protection: Managing the Threat of Chemical, Biological, Radioactive and Nuclear Weapons. Wiley-VCH. ISBN 978-3-527-32413-2.
- ↑ Duffy, Michael (22 August 2009). "Weapons of War – Poison Gas". firstworldwar.com. สืบค้นเมื่อ 25 October 2009.
- ↑ Reddy, Chris (2 April 2007). "The Growing Menace of Chemical War". Woods Hole Oceanographic Institution. สืบค้นเมื่อ 30 July 2007.
- ↑ Saffo, Paul (2000). "Paul Saffo presentation". Woods Hole Oceanographic Institution. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2007. สืบค้นเมื่อ 30 July 2007.
- ↑ Feigenbaum, Anna (August 16, 2014). "100 Years of Tear Gas". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ January 5, 2023.
- ↑ 7.0 7.1 Heller, Charles E (September 1984). "Chemical Warfare in World War I: The American Experience, 1917–1918". US Army Command and General Staff College.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ General R. Hure, L'Armee d'Afrique 1830–1962, Charles-Lavauzelle, 1972, p. 283.
- ↑ Allan, Laura. "'The Attack Of The Dead Men' Is One Of The Most Horrifying Battles You've Never Heard Of". Ranker.com.
- ↑ Nye, Mary Jo (1999). Before big science: the pursuit of modern chemistry and physics, 1800–1940. Harvard University Press. p. 193. ISBN 0-674-06382-1.
- ↑ Staff (2004). "Choking Agent: CG". CBWInfo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2007. สืบค้นเมื่อ 30 July 2007.
- ↑ Fries, Amos A. (Amos Alfred); West, Clarence J. (Clarence Jay) (1921). Chemical Warfare. University of California Libraries. New York [etc.] McGraw-Hill Book Company, inc. p. 176.
- ↑ Telford Taylor (1993). The Anatomy of the Nuremberg Trials: A Personal Memoir. Little, Brown and Company. ISBN 0-316-83400-9.
- ↑ Thomas Graham; Damien J. Lavera (2003). Cornerstones of Security: Arms Control Treaties in the Nuclear Era. University of Washington Press. pp. 7–9. ISBN 0-295-98296-9.
- ↑ "Gassing Operations". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 December 2017. สืบค้นเมื่อ 30 November 2017.