ข้ามไปเนื้อหา

อาวาโมริ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาวาโมริจากโรงกลั่นสุราคิกู-นตสึยุ เกาะมิยาโกะ จังหวัดโอกินาวะ
ฮาบูชู ซึ่งเป็นอาวาโมริที่มีงูดองอยู่ภายใน

อาวาโมริ (ญี่ปุ่น: 泡盛โรมาจิawamori) หรืออามูอิ (โอกินาวะ: アームイ āmui) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น อาวาโมริทำจากข้าวเมล็ดยาว[1]นำไปหมักแล้วตามด้วยกลั่น

ประวัติ

[แก้]
อาวาโมริบรรจุขวดวางขายในร้าน

ประวัติของอาวาโมริตั้งต้นมาจากการค้าขายระหว่างโอกินาวะหรืออาณาจักรรีวกีวในขณะนั้นกับอาณาจักรอื่น โดยมีต้นกำเนิดมาจากเหล้าขาวของไทย[2] วิธีการกลั่นอาวาโมรินั้นถ่ายทอดมาจากอาณาจักรอยุธยาเมื่อสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งโอกินาวะหรืออาณาจักรรีวกีวในขณะนั้นเป็นตัวกลางหลักในการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และญี่ปุ่น อาวาโมริจะใช้ข้าวจากไทยเป็นวัตถุดิบทั้งหมด ชาวโอกินาวะได้พัฒนากระบวนการกลั่นจากเทคนิคที่ได้เรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะอากาศท้องถิ่นและให้สามารถนำราโคจิซึ่งเป็นราท้องถิ่นมาใช้หมักได้[2] อาณาจักรรีวกีวได้ส่งอาวาโมริเป็นเครื่องบรรณาการให้กับจีนและญี่ปุ่นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง 19

หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งปรากฏชื่ออาวาโมริ (泡盛) ได้แก่บันทึกของขวัญจากพระเจ้าโช เทแห่งอาณาจักรรีวกีวพระราชทานแก่โทกูงาวะ อิเอ็ตสึนะ โชกุนคนที่สี่ของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเมื่อ ค.ศ. 1671 ซึ่งกษัตริย์แห่งอาณาจักรรีวกีวเคยพระราชทานอาวาโมริเป็นของขวัญมาก่อนแล้ว แต่ในเอกสารฉบับก่อนหน้าจะบันทึกชื่อไว้ว่าเป็นโชจู (焼酒 หรือ 焼酎)[3]

ใน ค.ศ. 2017[4] ผู้ผลิตอาวาโมริรายใหญ่สามรายในจังหวัดโอกินาวะได้ร่วมมือกันเพื่อขยายตลาดเพื่อส่งออกอาวาโมริไปยังสหรัฐและยุโรปเนื่องจากยอดขายในประเทศลดลง[5] ผลิตภัณฑ์ใช้ชื่อตราสินค้าว่า "Ryukyu 1429" และเริ่มวางจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019[6]

การผลิต

[แก้]

แม้ว่าอาวาโมริจะเป็นสุรากลั่นเหมือนกับโชจู แต่อาวาโมริกับโชจูก็มีความแตกต่างที่สำคัญหลายประการ ประการแรก อาวาโมริมาจากการหมักครั้งเดียวในขณะที่โชจูมาจากการหมักสองครั้ง นอกจากนี้ อาวาโมริจะใช้ข้าวแบบไทยซึ่งเป็นข้าวเมล็ดยาว แตกต่างจากข้าวญี่ปุ่นซึ่งเป็นเมล็ดสั้นที่ใช้ผลิตโชจู[7] ประการสุดท้าย อาวาโมริจะใช้ราโคจิดำซึ่งเป็นราโคจิท้องถิ่นของโอกินาวะ ในขณะที่โชจูจะใช้ราโคจิขาว ดำ และเหลือง[8]

คูซุ

[แก้]
อาวาโมริที่บ่มในห้องเก็บเฉพาะที่โรงกลั่นสุราทารางาวะ เกาะมิยาโกะ จังหวัดโอกินาวะ

อาวาโมริที่บ่มเป็นเวลาอย่างน้อยสามปีจะเรียกว่า "คูซุ" (ญี่ปุ่น: 古酒โรมาจิkusu แปลว่า สุราเก่า) ซึ่งมาจากคำอ่านในภาษาโอกินาวะและจะใช้เฉพาะกับอาวาโมริ ในขณะที่ในส่วนอื่นของญี่ปุ่นจะอ่านว่า "โคชุ" และจะใช้กับสาเกเก่า[9] คูซุที่บ่มเก็บไว้กว่า 200 ถึง 300 ปีส่วนใหญ่สูญหายไประหว่างยุทธการที่โอกินาวะในสงครามโลกครั้งที่สอง[10] ในปัจจุบันคูซุที่เชื่อกันว่าเก็บไว้นานที่สุดอยู่ที่โรงกลั่นสุราชิกินะ เขตชูริ นครนาฮะ ซึ่งมีอายุประมาณ 100 ถึง 150 ปี[11] และมีความพยายามที่จะบ่มคูซุอายุ 200 และ 300 ปีใหม่อีกครั้ง[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pellegrini, Christopher (July 22, 2014). The Shochu Handbook – An Introduction to Japan's Indigenous Distilled Drink. Telemachus Press. p. 21. ISBN 978-1940745282.
  2. 2.0 2.1 Nakasone, Ronald Y. (2002). Okinawan diaspora. University of Hawaii Press.
  3. "泡盛とは | 泡盛基礎知識 | 泡盛の名前の由来". 琉球泡盛 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-06-27.
  4. "3 Okinawan liquor makers hold strategy meeting with foreign marketing specialists to develop the "Awamori Brand"". Ryukyu Shimpo - Okinawa, Japanese newspaper, local news (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-08-26.
  5. "Public and private sectors push to revive Okinawa's struggling awamori industry". The Japan Times Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-10-12. ISSN 0447-5763. สืบค้นเมื่อ 2019-08-26.
  6. "Japanese Awamori Spirits Draw Attention at London Show". nippon.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-07-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-16. สืบค้นเมื่อ 2019-08-26.
  7. Chris., Bunting; クリス・バンティング. (2011). Drinking Japan : a guide to Japan's best drinks and drinking establishments. Tokyo: Tuttle Pub. ISBN 9784805310540. OCLC 654312874.
  8. Taiki Futagami. "The white koji fungus Aspergillus luchuensis mut. kawachii. Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry, Volume 86, Issue 5". Japan Society for Bioscience, Biotechnology, and Agrochemistry. pp. 574–584. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2023. สืบค้นเมื่อ 9 April 2023.
  9. John Gauntner (2004). "Shochu & Awamori". Sake World. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 November 2010. สืบค้นเมื่อ 2016-11-06.
  10. "沖縄で現存する最古150年物の泡盛古酒を訪ねた". 琉球新報 Style (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-06-27.
  11. "沖縄最古の泡盛". 沖縄泡盛酒造所 有限会社 識名酒造 - 古風味豊かな琉球泡盛「時雨」・「歓」 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-06-27.
  12. "古酒とは | 古酒は沖縄の宝 | 現存する最古の古酒は?". 琉球泡盛 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-06-27.[ลิงก์เสีย]