หมอนรองเข่า
หมอนรองเข่า (meniscus) | |
---|---|
หัวกระดูกแข้งขวาที่มองจากด้านบน แสดงหมอนรองเข่าและจุดที่ยึดกับเอ็น | |
ข้อเข่าซ้ายมองจากข้างหลัง แสดงเอ็นยึดภายใน | |
รายละเอียด | |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | meniscus |
ภาษากรีก | μηνίσκος ("meniskos") |
MeSH | D000072600 |
TA98 | A03.0.00.033 |
TA2 | 1544 |
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์ |
หมอนรองเข่า หรือ หมอนรองกระดูกเข่า หรือ เมนิสคัส[1] หรือ กระดูกอ่อนมินิสคัส[1] (อังกฤษ: meniscus พหูพจน์เป็น menisci หรือ meniscuses) เป็นโครงสร้างทางกายวิภาค เป็นกระดูกอ่อนเส้นใย (fibrocartilage) รูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งต่างกับแผ่นรองข้อต่อ (articular disc) เพราะแบ่งช่องข้อต่อออกเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น[2] มนุษย์มีเมนิสคัสอยู่ที่ข้อเข่า ข้อมือ ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ ข้อต่อสเตอร์โนคลาวิคิวลาร์ และข้อต่อขากรรไกร[3] ส่วนสัตว์อื่น ๆ อาจมีในข้อต่ออื่น ๆ ด้วย
โดยทั่วไปแล้ว คำว่า "เมนิสคัส" หมายถึงกระดูกอ่อนในเข่า ไม่ว่าจะเป็นเมนิสคัสด้านข้าง (lateral meniscus) หรือด้านใน (medial meniscus) ทั้งสองเป็นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่ให้ความมั่นคงเชิงโครงสร้างแก่หัวเข่าเมื่อมีแรงดึงและแรงบิด เมนิสคัสยังอาจรู้จักในชื่อกระดูกอ่อน "เสี้ยวพระจันทร์" ซึ่งหมายถึงรูปร่างที่เป็นครึ่งวงเดือนหรือพระจันทร์เสี้ยว
คำว่า "เมนิสคัส" มาจากคำกรีกโบราณคือ μηνίσκος (meniskos) ซึ่งแปลว่า "พระจันทร์เสี้ยว"[4]
โครงสร้าง
[แก้]เมนิสคัสของเข่าเป็นแผ่นเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนเส้นใยสองแผ่นซึ่งทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานที่ข้อเข่าระหว่างขาท่อนล่าง (กระดูกแข้ง) และขาท่อนบน (กระดูกต้นขา) มีลักษณะเว้าด้านบนและแบนด้านล่าง เชื่อมกับกระดูกหน้าแข้ง ยึดติดกับรอยเว้าเล็ก ๆ ที่อยู่ระหว่างปุ่มกระดูก (condyle) 2 ปุ่มของกระดูกหน้าแข้ง (คือยึดอยู่กับ intercondyloid fossa) เมื่อไล่จากริมกระดูกรอบนอกเข้าไปตรงกลาง ส่วนตรงกลางจะไม่ยึดอยู่กับอะไร ๆ โดยรูปร่างจะเรียวลงเป็นชั้นบาง ๆ[5] เลือดจะไหลจากริมรอบนอกเข้าไปตรงกลาง แต่เพราะการไหลเวียนของเลือดลดลงตามอายุ และส่วนตรงกลางไม่มีเส้นเลือดเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ ก็จะทำให้การบาดเจ็บหายช้าลง
ในภาพเอ็มอาร์ไอ เมนิสคัสจะปรากฏมีสีไม่เข้ม[6]
หน้าที่
[แก้]เมนิสคัสทำหน้าที่กระจายน้ำหนักของร่างกายและลดแรงเสียดทานเมื่อเคลื่อนไหว เนื่องจากปุ่มกระดูกของกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งมาบรรจบกัน (แต่ก็ย้ายตำแหน่งเมื่องอและเหยียดขา) เมนิสคัสจึงช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกาย โดยนี่ต่างกับกระดูกในเอ็นกล้ามเนื้อ (sesamoid bone) ซึ่งทำจากเนื้อเยื่อกระดูก และมีหน้าที่ปกป้องเอ็นที่อยู่ใกล้เคียงและเพิ่มประสิทธิภาพเชิงกลของเอ็น
ความสำคัญทางคลินิก
[แก้]การบาดเจ็บ
[แก้]ในวงการกีฬาและศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ การกล่าวถึง "กระดูกอ่อนฉีกขาด" หมายถึงการบาดเจ็บที่เมนิสคัสชิ้นใดชิ้นหนึ่ง การบาดเจ็บมีสองประเภทหลัก คือ การฉีกขาดเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บหรือเล่นกีฬา และการฉีกขาดเรื้อรังหรือแบบสึกหรอ แบบเฉียบพลันมีหลายรูปแบบ (แนวตั้ง แนวนอน เป็นรัศมี แบบเฉียง แบบซับซ้อน) และหลายขนาด มักรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมโดยขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย เนื่องจากแทบจะหายเองไม่ได้ การฉีกขาดเรื้อรังจะรักษาตามอาการ คือด้วยกายภาพบำบัดโดยอาจฉีดยาหรือให้ยาแก้อักเสบร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ หากการฉีกขาดยังคงทำให้ปวด บวม หรือเข่าทำงานผิดปกติ ก็สามารถตัดหรือซ่อมแซมกระดูกอ่อนด้วยการผ่าตัดได้
การฉีกขาดของเมนิสคัสด้านใน (medial meniscus)[7] อาจเกิดโดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการบาดเจ็บสามอย่าง พร้อมกับการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า (anterior cruciate ligament) และเอ็นข้างเข่าด้านใน (medial collateral ligament)
การจัดการแบบอนุรักษนิยม
[แก้]แพทย์มักรักษาแบบอนุรักษนิยมเป็นอันดับแรกสำหรับการฉีกขาดที่เล็กหรือเรื้อรัง ซึ่งดูเหมือนไม่ต้องผ่าตัดซ่อมแซม โดยอาจให้ปรับเปลี่ยนกิจกรรม ทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว[ต้องการอ้างอิง]
การรักษาด้วยการผ่าตัด
[แก้]การผ่าตัดเมนิสคัสซึ่งพบบ่อยที่สุดมีสองแบบ โดยขึ้นอยู่กับประเภทและตำแหน่งของการฉีกขาด อายุของผู้ป่วย และการตัดสินของแพทย์ เมนิสคัสที่บาดเจ็บมักจะได้รับการซ่อมแซมหรือตัดออก (meniscectomy) ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมด แต่ละอย่างมีข้อดีและข้อเสีย การศึกษาหลายชิ้นแสดงว่าเมนิสคัสมีประโยชน์ ดังนั้นแพทย์จึงพยายามซ่อมแซมเมื่อเป็นไปได้ แต่เมนิสคัสมีเลือดไหลเวียนไม่ดี ดังนั้นจึงอาจหายยาก ดั้งเดิมแล้วเชื่อว่าถ้าไม่มีโอกาสหาย ก็ควรตัดเมนิสคัสที่เสียหายและทำงานไม่ดีออก แต่ก็มีงานศึกษาอย่างน้อยงานหนึ่งที่แสดงว่า การตัดเมนิสคัสที่ฉีกเหตุเสื่อมไม่ให้ผลดีอย่างมีนัยสำคัญ[8] แต่การกลับไปทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวมากอาจเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ผ่าตัด เนื่องจากรอยฉีกอาจพลิกไปมาแล้วทำให้เข่าล็อค
แนวทางปฏิบัติทางคลินิกในปี 2017 แนะนำอย่างชัดเจนว่าไม่ควรผ่าตัดสำหรับโรคเข่าเสื่อมเกือบทุกราย[9]
กำเนิดศัพท์
[แก้]คำว่าเมนิสคัสมาจากคำภาษากรีกว่า μηνίσκος meniskos ซึ่งหมายถึง "พระจันทร์เสี้ยว" คำนี้เคยใช้ระบุสิ่งที่มีรูปโค้งทั่ว ๆ ไป เช่นสร้อยคอหรือแนวรบ[4]
คลังภาพ
[แก้]เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 meniscus, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, อังกฤษ-ไทย: คลังศัพท์ไทย โดย สวทช.,
กระดูกอ่อนมินิสคัส, เมนิสคัส [การแพทย์]
- ↑ Platzer, Werner (2004). Color Atlas of Human Anatomy, Vol. 1: Locomotor System (5th ed.). Thieme. p. 208. ISBN 3-13-533305-1.
- ↑ "Meniscus". Stedman's Medical Dictionary, 27th edition. eMedicine - Lippincott Williams & Wilkins. 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-21. สืบค้นเมื่อ 2008-02-20.
- ↑ 4.0 4.1 Diab, Mohammad (1999). Lexicon of Orthopaedic Etymology. Taylor & Francis. p. 199. ISBN 90-5702-597-3.
- ↑ Gray, Henry (1918). "7b. The Knee-joint". Gray's Anatomy of the Human Body. 7b. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-23. สืบค้นเมื่อ 2008-02-20.
- ↑ Nguyen, Jie C.; De Smet, Arthur A.; Graf, Ben K.; Rosas, Humberto G. (July 2014). "MR Imaging–based Diagnosis and Classification of Meniscal Tears". RadioGraphics (ภาษาอังกฤษ). 34 (4): 981–999. doi:10.1148/rg.344125202. ISSN 0271-5333. PMID 25019436.
- ↑ Shelbourne, KD; Nitz, PA (1991). "The O'Donoghue triad revisited. Combined knee injuries involving anterior cruciate and medial collateral ligament tears". Am J Sports Med. 19 (5): 474–7. doi:10.1177/036354659101900509. PMID 1962712. S2CID 45964892.
- ↑ Sihvonen, R; Paavola, M; Malmivaara, A; Itälä, A; Joukainen, A; Nurmi, H; Kalske, J; Järvinen, TL (2013-12-26). "Arthroscopic Partial Meniscectomy versus Sham Surgery for a Degenerative Meniscal Tear". The New England Journal of Medicine. 369 (26): 2504–2514. doi:10.1056/NEJMoa1305189. PMID 24369076.
- ↑ Siemieniuk, Reed A. C.; Harris, Ian A.; Agoritsas, Thomas; Poolman, Rudolf W.; Brignardello-Petersen, Romina; Velde, Stijn Van de; Buchbinder, Rachelle; Englund, Martin; Lytvyn, Lyubov (2017-05-10). "Arthroscopic surgery for degenerative knee arthritis and meniscal tears: a clinical practice guideline". British Medical Journal (ภาษาอังกฤษ). 357: j1982. doi:10.1136/bmj.j1982. ISSN 1756-1833. PMC 5426368. PMID 28490431.