ข้ามไปเนื้อหา

สุริยุปราคา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุริยุปราคา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
ภาพสเก็ตช์โคโรนาของดวงอาทิตย์โดยกัปตันบุลล็อก
แผนที่
ประเภท
แกมมา-0.0443
ความส่องสว่าง1.0756
บดบังมากที่สุด
ระยะเวลา6 นาที 45 วินาที
พิกัด10.6N 102.2E
ความกว้างของเงามืด245 กิโลเมตร
เวลา (UTC)
บดบังมากที่สุด5:12:10
แหล่งอ้างอิง
แซรอส133
บัญชี # (SE5000)9207

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้าถึง2ปี[1] และเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนี้กับราชอาคันตุกะยังบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนได้ชื่อว่า "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ส่วนประชาคมดาราศาสตร์สากลได้เรียกสุริยุปราคาในครั้งนี้ว่า "King of Siam's eclipse" (อุปราคาของพระเจ้ากรุงสยาม)[1] เหตุการณ์ดังกล่าวยังนำไปสู่การค้นพบธาตุฮีเลียม โดย ปีแยร์ ฌ็องซ็อง กัปตันบุลล็อกได้สเก็ตช์ลักษณะของโคโรนาของดวงอาทิตย์ ขณะสังเกตการณ์จากทะเลเซเลบีส[2]

การค้นพบฮีเลียม

[แก้]

นักดาราศาสตร์ ปีแยร์ ฌ็องซ็อง สังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้จากคุนตูร์ รัฐไฮเดอราบัด อินเดียของอังกฤษ นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรกนับตั้งแต่ทฤษฎีของกุสทัฟ เคียร์ชฮ็อฟซึ่งเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ. 2402 ว่า เส้นเฟราน์โฮเฟอร์ในสเปกตรัมของดวงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กับแถบเปล่งแสงของธาตุเคมีต่างชนิดที่มีอยู่ในดวงอาทิตย์ ฌ็องซ็องสังเกตการณ์สุริยุปราคาดังกล่าวด้วยสเปกโตรมิเตอร์ เขาสังเกตพบแถบสีเหลืองสว่าง (ความยาวคลื่น 587.49 นาโนเมตร) ในสเปกตรัมของเปลวสุริยะซึ่งไม่อาจเป็นธาตุโซเดียมอย่างที่เคยสันนิษฐานไว้เดิมได้ และในภายหลัง ก็สามารถสังเกตพบแถบเดิมโดยไม่จำเป็นต้องสังเกตในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาขึ้นก่อน ผลแบบเดียวกันยังถูกพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ นอร์แมน ล็อกเยอร์ และทั้งการสื่อสารของฌ็องซ็องและล็อกเยอร์ถูกนำเสนอไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2411[3][4]

การคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้]

การคำนวณสุริยุปราคาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ[5]

  1. คำนวณหาตำแหน่งของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โดยใช้ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ
  2. คำนวณเพื่อตรวจสอบว่า จะมีโอกาสเกิดอุปราคาได้หรือไม่
  3. คำนวณว่าการเกิดอุปราคาจะมีลักษณะอย่างไร จะเห็นได้ที่ไหน และเวลาเท่าไรถึงเท่าไรตามระบบเวลามาตรฐาน

พระองค์ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึงสองปี ว่าเส้นศูนย์ของอุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหว้ากอ ตรงละติจูด 11 องศา 38 ลิปดาเหนือ และลองติจูด 99 องศา 39 ลิปดาตะวันออก สุริยุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นนานที่สุดอยู่ตรงเชิงเขาหลวง โดยที่พระองค์ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ไม่มีอยู่ในหลักฐานการคำนวณของหอดูดาวกรีนิซ[5] ฝ่ายการคำนวณของกรีนิซนั้นแสดงเฉพาะแนวศูนย์กลางของการพาดผ่านของเงามืดเพียงเส้นเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยากรณ์ว่าอุปราคานั้นจะเห็นมืดทั้งดวงตั้งแต่ชุมพรถึงปราณบุรี[5] นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งก็ได้ทำนายสุริยุปราคาคราวนี้ด้วยเช่นกัน แต่คำนวณผิดพลาดไป 2 นาที[6]

การตรวจสอบย้อนหลังด้วยคอมพิวเตอร์

[แก้]
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพร่วมกับเจ้าเมืองสิงคโปร์และแขกต่างประเทศ

ค่ายหลวงหว้ากอ อยู่ในตำแหน่งใกล้กับเส้นกึ่งกลางของคราส โดยสูงค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย คราสเริ่มจับ (สัมผัสที่ 1) เวลา 10:32:23 น. จับหมดดวง (สัมผัสที่ 2) เวลา 12:00:31 น. กินลึกสุดเวลา 12:03:55 น. มุมเงยดวงอาทิตย์ 84.8° เริ่มคลายออก (สัมผัสที่ 3) เวลา 12:07:18 น. คลายหมดดวง (สัมผัสที่ 4) เวลา 13:35:13 น. ส่วนกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เห็นเป็นสุริยุปราคาชนิดบางส่วนโดยกินลึกถึง 96% เวลา 12:03:33 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทยในปัจจุบัน [7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย.
  2. The Indian eclipse, 1898 Report of the expeditions organized by the British ... By Edward Walter Maunder, British Astronomical Association
  3. Leggett, Hadley (August 18, 2009), Aug. 18, 1868: Helium Discovered During Total Solar Eclipse, wired.com, สืบค้นเมื่อ 2010-03-18.
  4. C. R. Hebd. Acad. Sci. Paris, 67: 836–41, 1868 http://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k3024c.image.r=comptes-rendus hebdomadaires Académie des Sciences.f836.langFR {{citation}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help).
  5. 5.0 5.1 5.2 "งานทางด้านการวิจัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2011-06-05.
  6. พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย[ลิงก์เสีย].
  7. Total Solar Eclipse of 1868 August 18.