ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยการชลประทาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยการชลประทาน
ชื่อย่อวชป.
คติพจน์ศักดิ์ศรี สามัคคี และวิริยะ
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของกรมชลประทาน
สถาปนา1 สิงหาคม พ.ศ. 2481 (86 ปี)
ผู้อำนวยการชัยยะ พึ่งโพธิ์สภ
ผู้ศึกษา421 คน (2566)[1]
ที่ตั้ง
เลขที่ 200 หมู่ 1 ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
สี███ สีเลือดหมู
เว็บไซต์www.irricollege.rid.go.th

วิทยาลัยการชลประทาน เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมโยธา-ชลประทาน สมทบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[2]

ประวัติ

[แก้]
  • พ.ศ. 2481 สถาบันพัฒนาการชลประทาน ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2481 โดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่า "โรงเรียนการชลประทาน" ตั้งอยู่ที่บริเวณกรมชลประทาน ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และได้เปิดรับนิสิตรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2481 ในหลักสูตรอนุปริญญาตรี ทางด้านชลประทาน ผลิตนายช่างชลประทานให้กับกรมชลประทาน ตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นที่ 10 (หยุดสอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2492)
  • พ.ศ. 2497 กรมชลประทานได้ขอรวมโรงเรียนการชลประทานเข้ากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยตั้งขึ้นเป็นใหม่ เรียกว่า "คณะวิศวกรรมชลประทาน" เปิดสอนในหลักสูตรปริญญา "ช่างชลประทานบัณฑิต (ชป.บ.)" สำหรับนิสิตตั้งแต่รุ่นที่ 11 จนถึงรุ่นที่ 19 ศึกษาในหลักสูตร 5 ปี
  • พ.ศ. 2507 คณะวิศวกรรมชลประทาน ได้เปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิศวกรรมชลประทานบัณฑิต(หลักสูตร 4 ปี) ตั้งแต่นิสิตรุ่นที่ 20
  • พ.ศ. 2509 คณะวิศวกรรมชลประทาน ได้ถูกผนวกเข้ากับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีสถานะเป็นภาควิชาเรียกว่า "ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน" (ภายหลังภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน ได้ย้ายไปสอน ณ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2522 และแยกออกจากวิทยาเขตบางเขน ในปี พ.ศ. 2546)
  • พ.ศ. 2510 โรงเรียนการชลประทานได้เปิดตัวขึ้นมาใหม่ โดยเปิดสอนนิสิตตั้งแต่รุ่นที่ 23 จนถึงรุ่นที่ 47 มีทั้งหมด 3 หลักสูตร ดังนี้

หลักสูตร พ.ศ. 2510 เป็นหลักสูตรอนุปริญญาตรี มีเป้าหมายเพื่อให้นิสิตมีความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมถึงมีความรู้ในวิชาวิศวกรรมพื้นฐานสูงขึ้น เช่น วิชาวิศวกรรมโยธา ชลศาสตร์ และอุทกวิทยา และมีความรู้ในวิชาชลประทานมากพอในการปฏิบัติงานในหน้าที่ช่างชลประทานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เป็นหลักสูตรที่เตรียมไว้สำหรับผู้ที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในอนาคต ซึ่งใช้สอนนิสิตทั้งหมด 7 รุ่น ตั้งแต่รุ่นที่ 23 จนถึงรุ่นที่ 29 หลักสูตร พ.ศ. 2517 เป็นหลักสูตรอนุปริญญาตรี โดยมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เหมาะแก่งานชลประทานมากขึ้น ให้น้ำชลประทานเกิดประโยชน์มากที่สุด เน้นถึงการปฏิบัติงานในไร่นา และงานใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำในขณะนั้นคือการจัดรูปที่ดิน ซึ่งใช้สอนนิสิตทั้งหมด 5 รุ่น ตั้งแต่รุ่นที่ 30 จนถึงรุ่นที่ 34 หลักสูตร พ.ศ. 2522 โรงเรียนการชลประทานได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ เปลี่ยนเป็นเรียนภาคทฤษฎี 3 ปี และเรียนภาคปฏิบัติในสนามและอบรมระเบียบต่าง ๆ อีก 24 สัปดาห์ ซึ่งใช้สอนนิสิตจำนวน 13 รุ่น ตั้งแต่รุ่นที่ 35 จนถึงรุ่นที่ 47

  • พ.ศ. 2535 โรงเรียนการชลประทานได้รับการยกฐานะเป็น "วิทยาลัยการชลประทาน" และได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการรับนิสิตเข้าศึกษาโดยอยู่ภายใต้ข้อผูกพันกับกรมชลประทาน พร้อมกันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี โดยเปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชลประทาน ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวกับภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ผลิตบัณฑิตตั้งแต่รุ่นที่ 48 จนถึงรุ่นที่ 59 และได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นวิศวกรรมโยธา-ชลประทานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549
  • พ.ศ. 2542 สืบเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีการลดจำนวนของข้าราชการลง วิทยาลัยการชลประทานจึงได้รับนิสิตเข้าศึกษาโดยไม่ผูกพันกับกรมชลประทาน โดยเริ่มรับในรุ่นที่ 55 ปี พ.ศ. 2542 เป็นรุ่นแรก จนถึงปัจจุบัน โดยยังคงใช้หลักสูตรเดิมในการเรียน ซึ่งมีนิสิตได้สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งในภาครัฐและเอกชนจำนวนมากแล้ว

หลักสูตร

[แก้]
  • หลักสูตรช่างชลประทานบัณฑิต (ปัจจุบัน ยุติการสอนแล้ว)
  • หลักสูตรประกาศนียบัตรการชลประทาน หลักสูตร ๓ ปี ครึ่ง (ปัจจุบัน ยุติการสอนแล้ว)
  • หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา-ชลประทาน (เป็นหลักสูตรของภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกัน)
  • หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชลประทาน (ภาคพิเศษ)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-18. สืบค้นเมื่อ 2020-02-18.