ข้ามไปเนื้อหา

วัฒนธรรมกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัฒนธรรมกัมพูชาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติมีพื้นฐานมาจากศาสนาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู กัมพูชาได้รับอิทธิพลจากอินเดียทั้งทางด้านภาษาและศิลปะผ่านทางแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งจากการค้าทางทะเลทางไกลกับอินเดียและจีนจนเกิดอาณาจักรฟูนันขึ้นเป็นครั้งแรก

ประวัติศาสตร์

[แก้]
นครวัด

ยุคทองของกัมพูชาอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 – 19 ในยุคพระนครซึ่งมีอำนาจครอบคลุมพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดับหนึ่ง[1] แต่ก็ต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่งคือสยามกับไดเวียด สิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่สำคัญในสมัยนี้คือนครวัดและนครธม และยังมีปราสาทหินที่พบได้ทั่วไปในเขตแดนของกัมพูชา ไทย ลาว และเวียดนามในปัจจุบัน[2][3] อิทธิพลทางศิลปะของกัมพูชาทั้งสถาปัตยกรรม ดนตรี และนาฏศิลป์ได้ส่งผลต่อศิลปะของประเทศเพื่อนบ้านทั้งไทยและลาว

สถาปัตยกรรมและบ้านเรือน

[แก้]
บ้านของชาวเขมรในชนบท
พระราชวังพนมเปญ

สิ่งก่อสร้างในสมัยพระนครมักสร้างด้วยหิน ได้รับแรงบันดาลใจทางศาสนา ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู โดยสลักเรื่องเล่าทางศาสนาเหล่านี้ไว้บนผนัง รวมทั้งใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาในการตกแต่ง ตัวอย่างเช่น พระราชวังในพนมเปญใช้รูปครุฑซึ่งเป็นเทพกึ่งนกศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดูในการตกแต่ง

ชนบทสมัยใหม่ในกัมพูชา ชาวบ้านมักอาศัยในบ้านทรงสี่เหลี่ยมที่มีขนาดผันแปรไปตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือน สร้างด้วยไม้หรือไม้ไผ่ นิยมยกพื้นสูงเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปี มีบันไดไม้สำหรับขึ้นบ้าน โดยทั่วไปจะแบ่งเป็นสามห้องที่กั้นด้วยฟากไม้ไผ่ การสร้างบ้านจะอาศัยความ ร่วมมือกันระหว่างครอบครัวนั้นและเพื่อนบ้าน ครัวจะแยกออกจากบ้านอยู่ใกล้ๆหรืออยู่ข้างหลัง ห้องน้ำจะอยู่แยกต่างหากจากบ้าน ส่วนบ้านของชาวจีนและชาวเวียดนามจะสร้างบนพื้น ในเขตเมืองมักเป็นอาคารพาณิชย์

ศาสนา

[แก้]
แม่ชีที่นครวัด
พระภิกษุที่นครวัด

ชาวกัมพูชา 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท มี 1% นับถือศาสนาคริสต์ นอกจากนั้นเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาดั้งเดิม ศาสนาพุทธเข้ามาสู่กัมพูชาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10 และศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้เป็นศาสนาประจำรัฐตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ยกเว้นสมัยเขมรแดงครองอำนาจ[4]

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของชาวจามหรือเขมรมุสลิมและชนกลุ่มน้อยชาวมลายูในกัมพูชา ในช่วง พ.ศ. 2518 มีมุสลิมในกัมพูชาราว 150,000 - 200,000 คน และลดลงหลังจากที่เขมรแดงมีอำนาจในกัมพูชา ชาวจามนับถือทั้งนิกายสุหนี่และชีอะห์ ในกลุ่มชาวจามด้วยกันเองนั้นจะแบ่งเป็นมุสลิมแบบดั้งเดิมและแบบพื้นบ้าน

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาสู่กัมพูชาเมื่อราว พ.ศ. 2203 การเผยแพร่เป็นไปอย่างช้าๆ ใน พ.ศ. 2515 คาดว่ามีผู้นับถือศาสนาคริสต์ในกัมพูชาราว 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนิกายโรมันคาทอลิก ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2513 ก่อนจะมีการขับไล่ชาวเวียดนาม มีขาวคริสต์ในกัมพูชาที่เป็นชาวเวียดนามประมาณ 50,000 คน แต่หลังจากนั้น ชาวคริสต์ที่เหลืออยู่ในเวียดนามมักมีเชื้อสายยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส ในขณะที่การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ของมิชชันนารีจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้นหลังจากจัดตั้งสาธารณรัฐเขมร โดยเฉพาะการเผยแพร่ในหมู่ชาวเขมรบนและชาวจาม

ชนเผ่าบนที่สูงในกัมพูชามีระบบความเชื่อดั้งเดิมเป็นของตนเอง มีผู้นับถือราว 100,000 คน โดยเป็นการนับถือสิ่งต่างๆในธรรมชาติ ผู้นำศาสนาคือหมอผี โดยในบรรดาชาวเขมรบน ชาวราเดและชาวจรายมีระบบความเชื่อที่พัฒนาดีที่สุด

การดำเนินชีวิต

[แก้]

การเกิดและการตาย

[แก้]

การเกิดของเด็กเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจในครอบครัว การเกิดถือว่าเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และเด็ก สตรีที่ตายเพราะการคลอดบุตรจะเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของปีศาจ ดังนั้น หญิงที่ตั้งครรภ์จึงมีข้อห้ามต่างๆมากมาย ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ยังนิยมอยู่ในชนบท แต่น้อยลงแล้วในเขตเมือง[5]

ในมุมมองของชาวกัมพูชา การตายคือการสิ้นสุดของชีวิตหนึ่งและเป็นการเริ่มต้นของอีกชีวิตหนึ่ง ชาวพุทธในกัมพูชานิยมเผาศพและนำเถ้ามาเก็บในสถูปเจดีย์ในวัด

วัยเด็กและวัยรุ่น

[แก้]
เด็กหญิงชาวกัมพูชา

เด็กในกัมพูชาจะได้รับการเลี้ยงดูจนกว่าจะอายุประมาณ 2-4 ปี หลังจากนั้น เด็กจะมีอิสระมากขึ้น เด็กอายุ 5 ขวบจะสามารถช่วยดูแลน้องๆได้ เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มไปโรงเรียนเมื่ออายุ 7-8 ปี เมื่ออายุ 10 ขวบ เด็กหญิงจะเริ่มช่วยงานบ้านได้ ส่วนเด็กผู้ชายต้องช่วยงานในไร่นาภายใต้การควบคุมของผู้ใหญ่ วัยรุ่นมักจะจับกลุ่มในเพศเดียวกัน เด็กผู้ชายบางคนบวชเป็นสามเณร[5] ในยุคก่อนคอมมิวนิสต์ พ่อแม่มีอำนาจปกครองจนกว่าบุตรจะแต่งงาน การติดต่อระหว่างกลุ่มชนต่างอายุกัน จะต้องเลือกใช้คำพูดให้เหมาะสม

การแต่งงานและการหย่าร้าง

[แก้]
เจ้าบ่าวสวมชุดครุยและถือดาบ ส่วนเจ้าสาวสวมชุดสไบในงานแต่งงานแบบกัมพูชา

การเลือกคู่ครองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนโดยจะต้องดูภูมิหลังทางสังคมประกอบด้วย พ่อแม่มีส่วนในการพิจารณาแต่ก็อาจจะคัดค้านได้ ผู้ชายจะแต่งงานในช่วงอายุ 19 – 25 ปี ส่วนผู้หญิงในช่วงอายุ 16 – 22 ปี การแต่งงานตามประเพณีใช้เวลาถึง 3 วันแต่หลังจาก พ.ศ. 2523 ใช้เวลาเพียงวันครึ่ง มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันแต่งงาน ในชนบทจะมีการสวมด้ายมงคลและเวียนเทียน หลังแต่งงาน คู่สมรสจะไปอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น จะสร้างบ้านใหม่ใกล้ๆกัน[5]

การหย่าร้างนั้นถูกกฎหมาย เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องปกติ[5] ผู้ที่หย่าร้างแล้วสามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่หญิงจะรอไว้ 10 เดือน เด็กมักจะอยู่กับมารดา

ประเพณี

[แก้]
ซัมเปี๊ยะห์ (การทักทายแบบกัมพูชา)

ในวัฒนธรรมเขมรถือว่าศีรษะเป็นของสูง การสัมผัสศีรษะหรือหันเท้าไปทางศีรษะจึงไม่สุภาพ การทักทายจะใช้ “ซัมเปี๊ยะห์”ที่คล้ายการไหว้ของไทย การสบตากับผู้สูงอายุถือว่าไม่สุภาพ

การแต่งกาย

[แก้]
หญิงชาวเขมรกับกร็อมา
นางระบำสวมสัมพต จ็องกเบน

การแต่งกายของชาวกัมพูชาต่างกันไปตามชั้นของสังคม ชาวกัมพูชาพื้นเมืองนิยมใช้ผ้าขาวม้าหรือกร็อมาซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ชาวเขมรต่างไปจากเพื่อนบ้านคือลาว ไทย และเวียดนาม กร็อมานี้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น กันแดด ช่วยในการปีนป่ายใช้ห่อทารก ใช้เป็นผ้าขนหนูหรือใช้นุ่งเป็นโสร่ง หรืออาจทำเป็นตุ๊กตาผ้าสำหรับเด็ก ในสมัยเขมรแดง กร็อมาถือเป็นเครื่องแต่งกายมาตรฐาน

ชุดประจำชาติที่มีความนิยมอย่างยาวนานคือสัมพต เป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน อย่างไรก็ตาม เครื่องแต่งกายของชาวเขมรได้เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและศาสนา ในช่วงระยะเวลาระหว่างสมัยอาณาจักรฟูนันจนถึงจักรวรรดิเขมรเป็นช่วงที่ศาสนาฮินดูมีอิทธิพลมากต่อการแต่งกาย มีการสวมสัมพตและเครื่องประดับต่างๆ เมื่อชาวเขมรหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น ชาวเขมรเริ่มสวมเสื้อและกางเกง ความนิยมต่อเครื่องแต่งกายในแบบสมัยฮินดูลดลง ปัจจุบันมีเครื่องแต่งกายที่เรียกสไบ

สัมพตยังมีการสวมใส่ในกลุ่มเชื้อพระวงศ์ในสมัยอุดงนิยมสวมสไบปิดบ่าซ้ายและเปิดบ่าขวา นักแสดงแต่งกายด้วยสัมพตสระภาพและเครื่องประดับที่เรียกสเรงกอร์ และยังมีมงกุฏสำหรับเชื้อพระวงศ์เพื่อการตกแต่งตามฐานะ

อาหาร

[แก้]
อาม็อกเตร็ย อาหารกัมพูชายอดนิยม
ปร็อฮกทอด

อาหารกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะอาหารไทย อาหารเวียดนามและอาหารจีนแต้จิ๋ว อาหารกัมพูชาใช้น้ำปลาเป็นเครื่องปรุงรสสำคัญ มีการปรุงอาหารด้วยการผัดแบบจีน มีแกงใส่กะทิที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดีย กุยเตียวเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากก๋วยเตี๋ยวของจีนและมีบัญเจาเป็นขนมเบื้องญวนแบบกัมพูชา

อาหารกัมพูชามีการใช้ปลาร้าหรือปร็อฮก (ប្រហុក) ในการปรุงอาหาร เพื่อให้มีกลิ่นรสที่เฉพาะหรือใช้กะปิที่ทำจากกุ้ง กะทิเป็เครื่องปรุงหลักในอาหารคาวและอาหารหวานหลายชนิด รับประทานทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยข้าวเหนียวนิยมใช้ทำขนม เช่น ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน

อาหารกัมพูชามีลักษณะเฉพาะตามพื้นที่ ในกำปอตและแกบ อาหารที่มีชื่อเสียงคือปูพริกกำปอต (ក្តាមឆាម្រេចខ្ជី) ในไพลิน หมี่โกลาซึ่งเป็นอาหารของชาวกุลา ชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในกัมพูชาเป็นที่นิยม ทางภาคใต้จะพบอาหารเวียดนามมาก โดยเฉพาะบัญตรัง ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมในภาคใต้มากกว่าภาคกลาง อาหารของชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนเป็นที่นิยมในเสียมราฐและกำปงธม

ศิลปะและวรรณคดี

[แก้]

ทัศนศิลป์

[แก้]

ประวัติของทัศนศิลป์ในกัมพูชาย้อนหลังไปถึงยุคของนครวัดที่นิยมจารึกลงบนศิลา และได้รับศิลปะแบบตะวันตกเข้าสู่ประเทศด้วย แต่ศิลปะพื้นบ้านและศิลปะสมัยใหม่ตกต่ำลงในสมัยเขมรแดงที่มีการสังหารศิลปินและการทำลายศิลปะ ศิลปินที่รอดชีวิตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์กรเอกชนและต่างประเทศมากขึ้น

ดนตรี

[แก้]

ในช่วง พ.ศ. 2503 – 2513 สิน สีสมุทและรส ศรีสุทธาเป็นนักร้องที่โด่งดังในประเทศ หลังจากที่ทั้งสองคนเสียชีวิตได้มีนักร้องรุ่นใหม่เกิดขึ้นและกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น

ดนตรีคลาสสิกของกัมพูชาเช่นพิณเพียต นิยมบรรเลงในงานเทศกาลต่างๆ และประกอบการแสดงระบำ เครื่องดนตรีประกอบด้วยโรเนียตเอกหรือระนาดเอก โรเนียตทุงหรือระนาดทุ้ม กองวงตวจหรือฆ้องวงเล็กและกองวงทมหรือฆ้องวงใหญ่ กลองสัมโพ กลองสกอร์ทมและสราไลหรือปี่

นาฏศิลป์

[แก้]
ระบำเทพอัปสรา

นาฏศิลป์ในประเทศกัมพูชาแบ่งได้เป็นนาฏศิลป์คลาสสิก นาฏศิลป์พื้นบ้านและการแสดงทางสังคม นาฏศิลป์คลาสสิกเกิดขึ้นในราชสำนัก โดยได้รับอิทธิพลมาจากนาฏศิลป์ไทยในสมัยที่ยังเป็นประเทศราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 จะแสดงในงานเฉลิมฉลอง เทศกาลสำคัญและเพื่อการท่องเที่ยว ช่วง พ.ศ. 2503 เป็นยุคทองของนาฏศิลป์คลาสสิก บัลเลต์หลวงของกัมพูชาได้รับการยกย่องว่าเป็นความทรงจำของโลก นาฏศิลป์ของกัมพูชานิยมแสดงเกี่ยวกับเรื่องเรียมเกอร์หรือรามเกียรติ์ เช่นระบำสุวรรณมัจฉาและระบำมณีเมขลา ระบำอัปสราเป็นการแสดงของกัมพูชาที่กำเนิดจากรูปนางอัปสราสมัยพระนคร เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ริเริ่มโดยพระนโรดม บุปผาเทวีก่อนสมัยเขมรแดงปกครองประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของกัมพูชา

ระบำพื้นบ้านของกัมพูชาเป็นการแสดงที่รูปแบบไม่ได้กำหนดตายตัวเช่นระบำคลาสสิก การแต่งกายเป็นไปตามการแต่งกายของกลุ่มชน เช่น ชาวจาม ชาวเขมรบนเผ่าต่างๆ และชาวนา นิยมบรรเลงด้วยวงมโหรี ระบำเชิงสังคมเป็นการแสดงในโอกาสที่มีการเฉลิมฉลองทางสังคมเช่น รอมวง รอมกบัจ รอมสาละวันและลำเลียบ บางส่วนได้รับอิทธิพลจากการแสดงพื้นบ้านของลาวยกเว้นรอมกบัจที่ได้อิทธิพลจากระบำราชสำนักมาก

วรรณคดี

[แก้]
ภาพวาดเรื่องวรวงศ์

วรรณคดียุคเริ่มแรกของกัมพูชาเป็นจารึกบนศิลาซึ่งเล่าถึงการสืบเชื้อสายของราชวงศ์ การศาสนา อาณาเขตยึดครอง และการจัดการภายในราชอาณาจักร เอกสารภาษาเขมรที่เก่าแก่ที่สุดเป็นการแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาจากภาษาบาลี เขียนโดยพระสงฆ์ลงบนใบลาน

เรียมเกอร์เป็นรามายณะฉบับเขมรที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียและยังมีอิทธิพลต่อระบำคลาสสิก และเป็นเรื่องที่มีประวัติการนำมาแสดงเก่าแก่ที่สุดในกัมพูชา กัมพูชามีวรรณกรรมมุขปาฐะที่หลากหลาย ซึ่งไม่มีการเขียนจนกระทั่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป เรื่องที่มีชื่อเสียงมากคือวรวงศ์และสรวงศ์หรือวรวงศ์และเสารวงศ์ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าชายเขมรสององค์ มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่พระตะบอง ตุมเตียว เป็นเรื่องแนวความรักที่เป็นที่นิยมในกัมพูชา โครงเรื่องคล้ายโรมิโอและจูเลียตของเชคสเปียร์ โดยมีที่มาจากกวีนิพนธ์ของพระปทุมเถระ (โสม)

หนังตะลุง

[แก้]
นังสเบกธม

นัง สเบกมีลักษณะใกล้เคียงกับหนังใหญ่ในประเทศไทย วายังของมาเลเซียและอินโดนีเซียในบริเวณเกาะชวาและบาหลี ทำให้คาดว่าต้นกำเนิดของนัง สเบกมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีผู้นิยมน้อยลง นัง สเบกในกัมพูชามี 3 ชนิดคือ

  • นังสเบกธม ส่วนใหญ่เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ บรรเลงประกอบด้วยพิณพาทย์
  • นัง สเบก โตจ หรือนังกาลูน หรืออายัง ใช้หุ่นตัวเล็กกว่าและเล่นได้หลายเรื่องมากกว่า
  • สเบก เปาร์ ใช้หุ่นที่มีสี

ภาพยนตร์

[แก้]

ภาพยนตร์ในกัมพูชาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 พระนโรดม สีหนุเองทรงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์และในสมัยระบอบสังคมของพระองค์เป็นยุคทองของภาพยนตร์ก่อนจะตกต่ำลงในสมัยเขมรแดง

กีฬา

[แก้]
มวยกัมพูชา , ศอกตี , นครวัด (ศตวรรษที่ 12)
เยาวชนกัมพูชาที่ฝึกชกมวย

นับแต่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาในระดับโลกมากขึ้น ฟุตบอลกลายเป็นกีฬายอดนิยมเช่นเดียวกับศิลปะการต่อสู้เช่น ประดัลเสรี ปกกโต และมวยปล้ำกัมพูชา

ปกกโตเป็นศิลปะการต่อสู้แบบโบราณในกัมพูชา พบในภาพแกะสลักสมัยนครวัด และมีการแต่งกายคล้ายกับทหารโบราณของกัมพูชา และถือเป็นศิลปะการสู้รบของทหาร ประดัลเสรีเป็นมวยพื้นบ้านของกัมพูชา มีภาพสลักของการต่อสู้ที่คล้ายประดัลเสรีที่นครวัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจุดกำเนิดของกีฬามวยในภูมิภาค มวยปล้ำกัมพูชาเป็นกีฬายอดนิยมอย่างหนึ่งในกัมพูชา นิยมจัดแข่งขันช่วงเทศกาลปีใหม่

สหพันธ์ฟุตบอลกัมพูชาเป็นผู้ควบคุมกีฬาฟุตบอลในกัมพูชา และฟุตบอลทีมชาติกัมพูชา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 และเป็นสมาชิกฟีฟ่าตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียใน พ.ศ. 2500 สนามกีฬาแห่งชาติพนมเปญเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ จุคนได้ 50,000 คน ตั้งอยู่ในพนมเปญ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Khmer Empire | Infoplease". www.infoplease.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2012. สืบค้นเมื่อ 15 January 2023.
  2. "Guillaume Epinal, " Quelques remarques relatives aux découvertes monétaires d'Angkor Borei ", in: Numismatique asiatique" (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 27 November 2023.
  3. "On the Trail of Khmer Ruins in Thailand". www.thaiairways.com. สืบค้นเมื่อ 27 November 2023.
  4. "CIA World Factbook - Cambodia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-29. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Federal Research Division. Russell R. Ross, ed. "Families". Cambodia: A Country Study. Research completed December 1987. This article incorporates text from this source, which is in the public domain.[1]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]