ราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์
ราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ราว 2686 ปีก่อนคริสตกาล–ราว 2613 ปีก่อนคริสตกาล | |||||||||
เมืองหลวง | เมมฟิส | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาอียิปต์ | ||||||||
ศาสนา | ศาสนาอียิปต์โบราณ | ||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ยุคสัมฤทธิ์ | ||||||||
• ก่อตั้ง | ราว 2686 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||||
• สิ้นสุด | ราว 2613 ปีก่อนคริสตกาล | ||||||||
|
สมัยและราชวงศ์ของอียิปต์โบราณ |
---|
ทั้งหมดก่อนคริสต์ศักราช |
ดูเพิ่ม: รายชื่อฟาโรห์ตามช่วงเวลาและราชวงศ์ |
ราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์ เป็นราชวงศ์แรกในช่วงสมัยราชอาณาจักรเก่า รวมถึงราชวงศ์อื่น ๆ ของสมัยราชอาณาจักรเก่า ได้แก่ ราชวงศ์ที่สี่ ห้า และหก เมืองหลวงในสมัยอาณาจักรเก่าอยู่ที่เมืองเมมฟิส
ประวัติราชวงศ์
[แก้]หลังจากความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์ที่สองแห่งอียิปต์ ซึ่งอาจจะรวมถึงสงครามกลางเมือง อียิปต์เข้ามาอยู่ในช่วงรัชสมัยการปกครองของฟาโรห์ดโจเซอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์[1] ทั้งในบันทึกพระนามแห่งตูรินและบันทึกพระนามแห่งอไบดอสได้บันทึกพระนามของฟาโรห์ทั้งหมดจำนวน 5 พระองค์[2] ในขณะที่บันทึกพระนามแห่งซักกอเราะฮ์ซึ่งบันทึกไว้แค่เพียงจำนวน 4 พระองค์ และมาเนโธได้บันทึกถึงจำนวนฟาโรห์ 9 พระองค์[3] ซึ่งฟาโรห์หลายพระองค์ตามมาเนโธนั้นอาจจะทรงไม่มีตัวตนหรืออาจจะเป็นเพียงแค่ฟาโรห์พระองค์เดียวกันที่มีหลายพระนาม
- บันทึกพระนามแห่งตูริน ซึ่งบันทึกพระนามของฟาโรห์เนบคา, ดโจเซอร์, ดโจเซอร์ติ, ฮูดเจฟาที่ 1 และฮูนิ
- บันทึกพระนามแห่งอไบดอส ซึ่งบันทึกพระนามของฟาโรห์เนบคา, ดโจเซอร์, เตติ, เซดเจส และเนเฟอร์คาเร
- บันทึกพระนามแห่งซักกอเราะฮ์ ซึ่งบันทึกพระนามของฟาโรห์ดโจเซอร์, ดโจเซอร์เตติ, เนบคาเร และฮูนิ
- มาเนโธ ซึ่งบันทึกพระนามของฟาโรห์เนเคอร์โรเฟส (เนบคา), โทซอธรอส (ดโจเซอร์), ทิเรอิส (ดโจเซอร์ติ/เซคเอมเคต), เมโซคริส (ซานัคต์, น่าจะเป็นพระองค์เดียวกับฟาโรห์เนบกา), โซอิฟิส (ดโจเซอร์), โทเซอร์ทาซิส (ดโจเซฮร์ติ/เซคเอมเคต), อาเคส (เนบทาวี เนบคาเร แต่ไม่น่าเป็นไปได้กับฟาโรห์คาบา ซึ่งอาจจะไม่มีตัวตน), เซฟูริส (กาเฮดเจต) และเคอร์เฟเรส (ฮูนิ)
หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าฟาโรห์คาเซคเอมวีทรงเป็นผู้ปกครองพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่สอง ซึ่งสืบพระราชบัลลังก์ต่อโดยฟาโรห์ดโจเซอร์ ซึ่งในเวลานั้นปรากฏเพียงพระนามฮอรัสนามว่า เนทเจริเคต เท่านั้น ผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ของฟาโรห์ดโจเซอร์ คือ ฟาโรห์เซคเอมเคต ซึ่งทรงพระนามเนบติว่า ดเจเซอร์ติ ฟาโรห์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์คือ ฟาโรห์ฮูนิ ซึ่งอาจจะเป็นพระองค์เดียวกันกับฟาโรห์กาเฮดเจต หรืออาจจะเป็นไปได้น้อยกว่าคือ ฟาโรห์คาบา ซึ่งมีพระนามฮอรัสจำนวนสามพระองค์ที่เหลืออยู่ของฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สามที่ทราบก็คือ ซานัคต์ คาบา และกาเฮดเจต โดยหนึ่งในสามพระองค์นี้ เป็นไปได้มากที่สุดว่าฟาโรห์ซานัคต์จะทรงพระนามเนบติว่า เนบคา[2]
การระบุช่วงเวลากับราชวงศ์ที่สามก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเช่นเดียวกัน ซึ่งชอว์กำหนดช่วงเวลาโดยประมาณตั้งแต่ 2686 ถึง 2613 ปีก่อนคริสตกาล[4] บันทึกพระนามแห่งตูรินได้ระบุว่าราชวงศ์ที่สามขึ้นมาปกครองอียิปต์ประมาณ 75 ปี ส่วนเบนส์และมาเล็คกำหนดให้ราชวงศ์ที่สามอยู่ในช่วงระหว่าง 2650–2575 ปีก่อนคริสตกาล[2] ในขณะที่ด็อดสันและฮิลตันกำหนดให้อยู่ในช่วง 2584–2520 ปีก่อนคริสตกาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การประมาณการเหล่านี้จะแตกต่างกันมากกว่าหนึ่งศตวรรษ[1]
นักวิชาการบางคนเสนอแหล่งกำเนิดทางใต้ของราชวงศ์ที่สาม ฟลินเดอรส์ เพตรี นักไอยคุปต์วิทยา เชื่อว่าราชวงศ์ที่สามมีต้นกำเนิดมาจากซูดานตามหลักฐานเชิงสัญลักษณ์ ในขณะที่ เอส. โอ. วาย. เคย์ตา นักมานุษยวิทยาชีวภาพมีมุมมองที่แตกต่างออกไปและแย้งว่าต้นกำเนิดในอียิปต์ตอนใต้นั้น “มีความเป็นไปได้พอๆ กัน”[5] ซึ่งอ้างถึงการศึกษาทางรังสีเอกซ์และมานุษยวิทยาก่อนหน้านี้ซึ่งชี้ให้เห็นว่าขุนนางจากราชวงศ์ที่สามมี "ความสัมพันธ์กับนิวเบีย" ผู้เขียนยังตีความภาพเหมือนของฟาโรห์ดโจเซอร์ว่ามีความคล้ายคลึงเล็กน้อยกับ "ภาพเหมือนของผู้พิชิตชาวกรีก/โรมันในช่วงปลายราชวงศ์" และอ้างถึงการทบทวนหลักฐานเชิงสัญลักษณ์ที่ดำเนินการโดยนักมานุษยวิทยา จอห์น เดรค เป็นหลักฐานสนับสนุน[6] ในบทความแยกต่างหาก เคย์ตาตั้งข้อสังเกตว่าซากโบราณคดีของชนชั้นสูงทางใต้และลูกหลานของพวกเขา ซึ่งกล่าวถึงโดยอ้างถึงผู้ปกครองจากราชวงศ์ที่สองและฟาโรห์ดโจเวอร์ ในที่สุดก็ถูกฝังพระบรมศพไว้ทางตอนเหนือ ไม่ใช่ที่อไบดอสของประเทศอียิปต์[7]
รายนามฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สาม
[แก้]ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่สามทรงปกครองอียิปต์เป็นเวลาประมาณ 75 ปี เนื่องจากการค้นพบทางโบราณคดีเมื่อเร็วๆ นี้ในอไบดอส โดยเปิดเผยว่า ฟาโรห์ดโจเซอร์ทรงเป็นผู้จัดการพิธีฝังพระบรมศพของฟาโรห์คาเซคเอมวี ซึ่งเป็นฟาโรห์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่สอง ปัจจุบันจึงเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ฟาโรห์ดโจเซอร์ทรงเเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่สาม ในฐานะผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์โดยตรงของฟาโรห์คาเซคเอมวี และเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสุสานของพระองค์[8] การค้นพบดังกล่าวกลับขัดแย้งกับงานเขียนก่อนหน้านี้ เช่น วิลกินสัน ในปี ค.ศ. 1999 ซึ่งเสนอความเห็นว่า ฟาโรห์เนบคา/ซานัคต์ ทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองไม่ได้ห่างกันทางสายโลหิตมากนัก ทั้งสองอาจจะเป็นเชื้อพระวงศ์ร่วมกับฟาโรห์เซคเอมเคต[9][10] ในฐานะพระราชโอรสของฟาโรห์คาเซคเอมวีกับพระนางนิมาอัตฮัป พระมเหสีผู้เป็นที่โปรดปรานของพระองค์
พระนามฮอรัส | พระนามประสูติ | จำนวนปีที่ทรงครองราชย์ | สถานที่ฝังพระบรมศพ | พระมเหสี | |
---|---|---|---|---|---|
เนทเจริเคต | ดโจเซอร์ | 19 หรือ 28 | พีระมิดแห่งดโจเซอร์ที่ซักกอเราะฮ์ | เฮเทปเฮอร์เนบติ | |
เซคเอมเคต | ดโจเซอร์ติ | 6–7 | พีระมิดที่ถูกฝังที่ซักกอเราะฮ์ | ดเจเซเรตเนบติ | |
ซานัคต์ | เนบคา | 6–28 ปี, ขึ้นอยู่กับการระบุตัวตน ซึ่งอาจจะเป็นไปได้มากว่า 6, 18, หรือ 19 ปี | อาจจะที่มาสตาบา เค 2 ที่เบอิต คัลลัฟ | ||
คาบา | เตติ | 6 ? 24, ถ้าเป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกันกับฟาโรห์ฮูนิ | พีระมิดขั้นบันไดที่ซาวเยต อัล'อัรยัน | ||
ไม่แน่ชัด, กาเฮดเจต? | ฮูนิ | 24 | ไมดุม ? | ดเจฟัตเนบติเมอร์เอสอังค์ที่ 1 |
ในขณะที่มาเนโธได้ให้ฟาโรห์เนเคโรเฟส และฟาโรห์เนบคา (หรือฟาโรห์ซานัคต์) ตามบันทึกพระนามแห่งตูริน เป็นฟาโรห์พระองค์แรกของราชวงศ์ที่สาม[2] นักไอยคุปต์วิทยาร่วมสมัยหลายคนเชื่อว่า ฟาโรห์ดโจเซอร์เป็นฟาโรห์องค์แรกของราชวงศ์นี้ โดยชี้ให้เห็นลำดับที่ผู้ปกครองก่อนหน้าบางพระองค์ของฟาโรห์คูฟู ถูกกล่าวถึงในบันทึกปาปิรุสเวสต์คาร์ ซึ่งเสนอให้ว่าควรวางตำแหน่งรัชสมัยของฟาโรห์เนบคาไว้ระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์ดโจเซอร์และฟาโรห์ฮูนิและไว้วางไว้ก่อนหน้ารัชสมัยฟาโรห์ดโจเซอร์ ที่สำคัญกว่านั้น มีการพบตราประทับปรากฏพระนามของฟาโรห์ดโจเซอร์ที่ทางเข้าสุสานของฟาโรห์คาเซคเอมวีที่อไบดอส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าควรเป็นฟาโรห์ดโจเซอร์แทนที่จะเป็นฟาโรห์ซานัคต์ที่จะเป็นผู้จัดการการฝังพระบรมศพและสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์[2] ผู้จดบันทึกพระนามแห่งตูรินได้เขียนพระนามของฟาโรห์ดโจเซอร์ด้วยหมึกสีแดง ซึ่งบ่งชี้ว่าชาวอียิปต์โบราณรับรู้ถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของฟาโรห์พระองค์นี้ในวัฒนธรรมของพวกเขา ไม่ว่าในกรณีใด ฟาโรห์ดโจเซอร์เป็นฟาโรห์ที่รู้จักกันดีที่สุดของราชวงศ์นี้ สำหรับการทรงโปรดให้ราชมนตรีอิมโฮเทปสร้างพีระมิดขั้นบันไดที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่
การระบุตัวตนของฟาโรห์เนบคากับฟาโรห์ซานัคต์นั้นยังคลุมเครืออยู่ แม้ว่านักไอยคุปต์วิทยาหลายคนยังคงสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าฟาโรห์ทั้งสองพระองค์นี้นั้นเป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกัน แต่ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากความคิดเห็นดังกล่าวขัดกับหลักฐานที่เป็นตราดินเหนียวที่แตกเป็นเสี่ยงๆ ชิ้นเดียวที่ค้นพบในปี ค.ศ. 1903 โดยจอห์น การ์สแตง แม้ว่าได้รับความเสียหาย แต่ตราประทับก็แสดงให้เห็นเซเรคของฟาโรห์ซานัคต์พร้อมกับคาร์ทูชที่ปรากฏรูปแบบของเครื่องหมายของคำว่า "คา" โดยมีที่ว่างเพียงพอสำหรับเครื่องหมายสำหรับ "เนบ" ระยะเวลาการครองราชย์ของฟาโรห์เนบคาถูกกำหนดไว้ที่ 18 ปีโดยทั้งในมาเนโธและบันทึกพระนามแห่งตูริน แม้ว่าสิ่งสำคัญคือต้องสังเกตว่าแหล่งข้อมูลเหล่านี้เขียนขึ้นหลังจากมีพระชนม์ชีพของพระองค์ 2300 และ 1400 ปี ดังนั้นความแม่นยำนั้นจึงไม่แน่นอน ตรงกันข้ามกับฟาโรห์ดโจเซอร์ ทั้งฟาโรห์ซานัคต์และฟาโรห์เนบคาได้รับการยืนยันว่ามีวัตถุโบราณน้อยมากสำหรับผู้ปกครองที่ปกครองเกือบสองทศวรรษ บันทึกพระนามแห่งตูรินได้ให้กำหนดช่วงเวลาการปครองเพียงหกปีกับผู้ปกครองก่อนหน้าของฟาโรห์ฮูนิที่ไม่ปรากฏพระนาม โทบี วิลกินสันได้เสนอความเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวควรจะเป็นของฟาโรห์ซานัคต์ (ซึ่งระบุตัวตนโดยสรุปว่าเป็นฟาโรห์เนบคา) เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอยู่ไม่มากนักของพระองค์ แต่ก็อาจเป็นระยะเวลาการครองราชย์ของฟาโรห์คาบา หรือแม้แต่ฟาโรห์กาเฮดเจต ผู้ทรงเป็นฟาโรห์ที่มีตัวตนคลุมเครือ (วิลกินสันยังกำหนดให้ฟาโรห์เนบคาเป็นฟาโรห์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่สามก่อนหน้าฟาโรห์ฮูนิ แต่ก็ไม่ได้เป็นที่ทราบแน่ชัดหรือแม้แต่การสนับสนุนอย่างท่วมท้นในหมู่ชาวไอยคุปต์วิทยา)
นักวิชาการบางคนเชื่อว่าอิมโฮเทปมีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของฟาโรห์ฮูนิ ส่วนฟาโรห์เซคเอมเคตกลับไม่เป็นที่ทราบมากนัก แต่พระองค์ทรงครองราชย์นานหกหรือเจ็ดปีตามที่ปรากฏในบันทึกพระนามแห่งตูรินและศิลาแห่งปาแลร์โมตามลำดับ ความพยายามที่จะเทียบเคียงฟาโรห์เซคเอมเคตกับฟาโรห์โทเซอร์ทาซิสจากมาเนโธ ซึ่งกำหนดให้พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา 19 ปี แทบจะไม่มีการสนับสนุนใด ๆ เนื่องจากสภาพของหลุมฝังพระบรมศพของพระองค์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ และพีระมิดที่ถูกฝัง ซึ่งมีความเชื่อกันว่าฟาโรห์เนบคาอาจจะทรงโปรดให้สร้างพีระมิดขั้นบันไดที่ซาวเยต อัล'อัรยัน ซึ่งเป็นพีระมิดมีขนาดเล็กกว่าที่ตั้งใจไว้มาก แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะการสึกกร่อนตามธรรมชาติหรือเป็นเพราะสร้างไม่เสร็จตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับหลุมฝังพระบรมศพของฟาโรห์เซคเอมเคต ไม่ว่าในกรณีใด ระยะเวลาการครองราชย์ของฟาโรห์คาบานั้นยังคลุมเครือ นักไอยคุปต์วิทยาบางคนเชื่อว่า ฟาโรห์คาบาเป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกันกับฟาโรห์ฮูนิ แต่ถ้าฟาโรห์คาบาทรงเป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกันกับฟาโรห์ที่ได้รับบันทึกพระนามว่า ฟาโรห์ฮูดเจฟาที่ 2 และฟาโรห์เซดเนส พระองค์อาจจะทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 6 ปีได้
เส้นเวลาของราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Dodson, Hilton, The Complete Royal Families of Ancient Egypt, 2004
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Toby A.H. Wilkinson, Early Dynastic Egypt, Routledge, 2001
- ↑ Aidan Dodson: The Layer Pyramid of Zawiyet el-Aryan: Its Layout and Context. In: Journal of the American Research Center in Egypt (JARCE), No. 37 (2000). American Research Center (Hg.), Eisenbrauns, Winona Lake/Bristol 2000, ISSN 0065-9991, pp. 81–90.
- ↑ Shaw, Ian, บ.ก. (2000). The Oxford History of Ancient Egypt. Oxford University Press. p. 480. ISBN 0-19-815034-2.
- ↑ Keita, S. O. Y. (March 1992). "Further studies of crania from ancient Northern Africa: An analysis of crania from First Dynasty Egyptian tombs, using multiple discriminant functions". American Journal of Physical Anthropology (ภาษาอังกฤษ). 87 (3): 245–254. doi:10.1002/ajpa.1330870302. ISSN 0002-9483. PMID 1562056.
- ↑ Keita, S. O. Y. (1993). "Studies and Comments on Ancient Egyptian Biological Relationships". History in Africa. 20: 129–154. doi:10.2307/3171969. ISSN 0361-5413. JSTOR 3171969. S2CID 162330365.
- ↑ Keita, S. O. Y. (March 1992). "Further studies of crania from ancient Northern Africa: An analysis of crania from First Dynasty Egyptian tombs, using multiple discriminant functions". American Journal of Physical Anthropology (ภาษาอังกฤษ). 87 (3): 245–254. doi:10.1002/ajpa.1330870302. ISSN 0002-9483. PMID 1562056.
- ↑ Bard, Kathryn (2015). An Introduction to the Archaeology of Ancient Egypt (2 ed.). John Wiley & Sons. pp. 140–145. ISBN 978-1-118-89611-2.
- ↑ Toby A. H. Wilkinson: Early Dynastic Egypt. Routledge, London 2001, ISBN 0415260116, pp. 80–82, 94–97.
- ↑ Silke Roth: Die Königsmütter des Alten Ägypten von der Frühzeit bis zum Ende der 12. Dynastie (= Ägypten und Altes Testament, vol. 46). Harrassowitz, Wiesbaden 2001, ISBN 3-447-04368-7, pp. 59–61, 65–67.
บรรณานุกรม
[แก้]- Clayton, Peter A. Chronicle of the Pharaohs: The Reign-by-Reign Record of the Rulers and Dynasties of Ancient Egypt. London: Thames & Hudson Ltd., 2006. ISBN 0500286280.
ก่อนหน้า | ราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ราชวงศ์ที่สอง | ราชวงศ์แห่งอียิปต์ (ประมาณ 2890 - 2686 ปีก่อนคริสตกาล) |
ราชวงศ์ที่สี่ |