ข้ามไปเนื้อหา

ระบบแบ่งเขตหลายเบอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การลงคะแนนแบบหลายเสียงถ่ายโอนคะแนนไม่ได้ (อังกฤษ: multiple non-transferable vote, MNTV) หรือเรียกอีกอย่างว่า การลงคะแนนระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่ายกเขต (plurality-at-large voting) และ การลงคะแนนแบบยกชุด (block vote) เรียกอย่างง่ายว่า ระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ คือระบบการลงคะแนนแบบไม่เป็นสัดส่วนที่ใช้สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนมากกว่าหนึ่งคนต่อหนึ่งเขตเลือกตั้งโดยคล้ายคลึงกับวิธีเลือกตั้งแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (plurality election) โดยผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้รับการเลือกพร้อมกันหลายคน โดยเป็นการลงคะแนนที่เอื้อต่อพรรคการเมืองยอดนิยมในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ซึ่งมักจะได้รับเลือกยกพรรคในแต่ละเขตซึ่งอาจะทำให้มีการชนะแบบถล่มทลาย

คำว่า "คะแนนนำหลายคน" โดยปกติถูกใช้เรียกการเลือกตั้งผู้แทนที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเพื่อเป็น "ผู้แทน" ของสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด (ตัวอย่างเช่น เมือง รัฐ หรือจังหวัด ประเทศ สมาคม หรือองค์กร) โดยระบบที่ใช้ในประเทศหรือเขตแดนที่แบ่งเป็นเขตเลือกตั้งหลายเขตที่มีผู้แทนมากกว่าหนึ่งคนนั้น เรียกว่า "การลงคะแนนยกชุด" ซึ่งเป็นระบบการลงคะแนนแบบไม่จำกัด ซึ่งตรงกันข้ามกับการลงคะแนนแบบจำกัด ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้น้อยกว่าจำนวนผู้แทนในเขตนั้น

ในระบบนี้มักจะมีการลงคะแนนเพียงรอบเดียว แต่บางกรณีมีถึงสองรอบ ซึ่งพบในระบบสองรอบ เช่นในการเลือกตั้งท้องถิ่นในฝรั่งเศส ซึ่งผู้สมัครที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดจะต้องเข้ารับการเลือกตั้งใหม่ในรอบที่สอง

คำว่า "การลงคะแนนแบบยกชุด" บางทียังใช้หมายถึงการเลือกตั้งแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในเขตที่มีผู้แทนได้หลายคน ในระบบนี้ แต่ละพรรคส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร แล้วให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนได้หนึ่งคะแนน พรรคที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะได้รับเลือกตั้งยกบัญชี

การนับคะแนน

[แก้]

ในการลงคะแนนแบบนี้ ผู้สมัครทั้งหมดจะแข่งกันในเขตเลือกตั้งเดียวกัน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้ตามสิทธิ (จำนวนคะแนนที่เลือกได้นั้นขึ้นอยู่กับเขตเลือกตั้ง เช่น เลือกกาได้ 3 เบอร์ เป็นต้น) โดยจำกัดที่หนึ่งคะแนน ต่อหนึ่งตัวผู้สมัครเท่านั้น (มิฉะนั้นจะกลายเป็นระบบสะสม)[1] โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครข้ามพรรคการเมืองได้[2] โดยเมื่อนับคะแนนแล้ว ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด (ซึ่งจำนวนผู้สมัครที่จะได้รับเลือกขึ้นอยู่กับเขตเลือกตั้ง) ถือเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (เกินครึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด)

Rory Red 46,000 คะแนน ชนะเลือกตั้ง
Rachel Red 46,000 คะแนน ชนะเลือกตั้ง
Brian Blue 38,000 คะแนน ชนะเลือกตั้ง
Beryl Blue 36,000 คะแนน
Boris Orange 34,000 คะแนน

กลยุทธ์ในการลงคะแนน

[แก้]

การลงคะแนนระบบนี้ เหมือนกับระบบเสียงส่วนใหญ่ที่ใช้เลือกผู้แทนเพียงคนเดียวนั้น ง่ายต่อการใช้กลยุทธ์ในการลงคะแนน โดยผู้สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ไม่เป็นที่นิยมนั้นจะเลี่ยงไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ตนเองสนับสนุนเพราะกลัวที่จะเสียคะแนนโดยเปล่าประโยชน์ จึงเทคะแนนให้กับผู้สมัครที่มาจากพรรคการเมืองใหญ่แทน

ในระบบนี้ พรรคการเมืองนั้นได้ประโยชน์จากการเสนอชื่อผู้แทนของตน โดยในกรณีที่มีจำนวนผู้แทนมากกว่าจำนวนที่นั่งในเขตเลือกตั้งทำให้เกิดปัญหาเสียงแตกขึ้น ในทางเดียวกันพรรคการเมืองย่อมส่งผู้สมัครเต็มอัตราในแต่ละเขตเลือกตั้งเพราะต้องการไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น (คู่แข่ง) ได้รับเลือกแทน

ผลกระทบ

[แก้]

ผลกระทบของระบบการลงคะแนนแบบนี้มีหลายประเด็น โดยประเด็นส่วนใหญ่คือเสียงที่ได้นั้นไม่เป็นสัดส่วน โดยมักจะทำให้เกิดการเทคะแนนเสียงไปให้กับพรรคการเมืองใหญ่มากกว่า โดยในกรณีนี้ผู้สมัครทุกคนในเขตนั้นจะได้รับเลือกไปด้วยยกชุด ถึงแม้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนให้กับผู้สมัครจากหลายพรรคการเมืองถ้าต้องการ แต่หากเสียงส่วนมากในเขตนั้นนิยมพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะป้องกันการเทคะแนนเสียงได้เลย เช่นเดียวกันกับในระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first past the post) นั้นหากมีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าชิงตำแหน่งกัน ยิ่งทำให้ยากต่อการได้รับเสียงส่วนมาก

การเลือกตั้งในแบบนี้มักทำให้เกิดการเป็นพันธมิตรกันในต่างพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งแทนที่จะเป็นพันธมิตรกันในสภาแบบพรรคร่วมฯ ในขณะที่การลงคะแนนแบบยกชุดถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเหตุให้เกิดการเทคะแนนไปยังพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มีข้อดีคือพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นมีเสียงจำนวนมาก และมีความเข้มแข็ง ซึ่งลดโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาการชะงักงันทางการเมือง

การลงคะแนนแบบที่คล้ายกัน

[แก้]

แบบแบ่งเขตยกพรรค

[แก้]

การลงคะแนนแบบแบ่งเขตยกพรรค (party block vote) คือระบบที่นำมาใช้ในการลงคะแนนเสียงผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งจะได้ที่นั่งทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้น โดยไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด คือใช้เขตเดียวหลายเบอร์ ผู้ลงคะแนนเลือกได้เบอร์เดียว คือเลือกระหว่างบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคมากกว่าเลือกระหว่างตัวบุคคล พรรคการเมืองซึ่งชนะได้เสียงมากกว่าเพื่อนจะได้ที่นั่งทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ และบัญชีรายชื่อที่ส่งผู้สมัครก็ได้รับเลือกตั้งทั้งแผง ระบบนี้ใช้ทั้งระบบหรือบางส่วนในแคเมอรูน ชาด จิบูตี และสิงคโปร์[3]

แบบเสียงข้างมากยกเขต

[แก้]

การลงคะแนนแบบเสียงข้างมากยกเขต (majority-at-large voting) เป็นระบบเดียวกัน แต่ผู้สมัครรายที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดจะต้องลงแข่งในรอบที่สอง

การใช้งาน

[แก้]

ประเทศไทยใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหลายเบอร์ในช่วงก่อน ค.ศ. 1997[4] และใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. City of Hendersonville, NC เก็บถาวร มิถุนายน 25, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Reynolds, Andrew; Reilly, Ben; Ellis, Andrew (2005). Electoral System Design: The New International IDEA Handbook. Stockholm, Sweden: International Institute for Democracy and Electoral Assistance. p. 44. ISBN 978-91-85391-18-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 21, 2016.
  3. จันทร์อ่อน, พงศ์ศักดิ์. "การออกแบบระบบเลือกตั้ง:คู่มือเล่มใหม่ของ International IDEA" (PDF). สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 6 June 2021.
  4. เมืองรัตน์ ฤทัยชนก. "การเลือกตั้ง วิถีแห่งประชาธิปไตย". สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 6 June 2021.