ประเทศมาเลเซีย
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
มาเลเซีย Malaysia (มลายู) | |
---|---|
ที่ตั้งของ ประเทศมาเลเซีย (เขียวเข้ม) | |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | กัวลาลัมเปอร์[fn 1] 3°8′N 101°41′E / 3.133°N 101.683°E |
ศูนย์กลางบริหาร | ปูตราจายา[fn 2] 2°56′N 101°42′E / 2.933°N 101.700°E |
ภาษาราชการ และภาษาประจำชาติ | มลายู |
ภาษาที่ได้รับการยอมรับ | อังกฤษ |
กลุ่มชาติพันธุ์ |
|
ศาสนา (ค.ศ. 2020)[5] | |
เดมะนิม | ชาวมาเลเซีย |
การปกครอง | สหพันธ์ ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยโดยเลือกตั้ง |
• ยังดีเปอร์ตวนอากง (กษัตริย์) | สมเด็จพระราชาธิบดีอิบราฮิม |
อันวาร์ อิบราฮิม | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
• สภาสูง | เดวันเนอการา (วุฒิสภา) |
• สภาล่าง | เดวันรักยัต (สภาผู้แทนราษฎร) |
เอกราช | |
31 สิงหาคม ค.ศ. 1957[6] | |
22 กรกฎาคม ค.ศ. 1963 | |
31 สิงหาคม ค.ศ. 1963[7] | |
16 กันยายน ค.ศ. 1963 | |
พื้นที่ | |
• รวม | 330,803 ตารางกิโลเมตร (127,724 ตารางไมล์) (อันดับที่ 67) |
0.3 | |
ประชากร | |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2020 | 32,447,385[8] |
98 ต่อตารางกิโลเมตร (253.8 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 116) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 1.096 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[9] (อันดับที่ 31) |
• ต่อหัว | 33,113 ดอลลาร์สหรัฐ[9] (อันดับที่ 54) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 434.059 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[9] (อันดับที่ 36) |
• ต่อหัว | 13,108 ดอลลาร์สหรัฐ[9] (อันดับที่ 63) |
จีนี (ค.ศ. 2015) | 41[10] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021) | 0.803[11] สูงมาก · อันดับที่ 62 |
สกุลเงิน | ริงกิต (RM) (MYR) |
เขตเวลา | UTC 8 (เวลามาตรฐานมาเลเซีย) |
รูปแบบวันที่ | วว-ดด-ปปปป |
ไฟบ้าน | 240 โวลต์, 50 เฮิร์ซ |
ขับรถด้าน | ซ้าย |
รหัสโทรศัพท์ | 60 |
รหัส ISO 3166 | MY |
โดเมนบนสุด | .my |
มาเลเซีย (มลายู: Malaysia) เป็นประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยรัฐ 13 รัฐ และดินแดนสหพันธ์ 3 ดินแดน และมีพื้นที่รวม 330,803 ตารางกิโลเมตร (127,724 ตารางไมล์) แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ถูกแบ่งด้วยทะเลจีนใต้ ได้แก่ มาเลเซียตะวันตก และมาเลเซียตะวันออก มาเลเซียตะวันตกมีพรมแดนทางบกและทางทะเลร่วมกับไทย และมีพรมแดนทางทะเลร่วมกับสิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย มาเลเซียตะวันออกมีพรมแดนทางบกและทางทะเลร่วมกับบรูไนและอินโดนีเซีย และมีพรมแดนทางทะเลกับร่วมฟิลิปปินส์และเวียดนาม เมืองหลวงของประเทศคือกัวลาลัมเปอร์ ในขณะที่ปูตราจายาเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลาง ด้วยประชากรจำนวนกว่า 30 ล้านคน มาเลเซียจึงเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 42 ของโลก ตันจุงปีไย (Tanjung Piai) จุดใต้สุดของแผ่นดินใหญ่ทวีปยูเรเชียอยู่ในมาเลเซีย มาเลเซียเป็นประเทศในเขตร้อน และเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง (megadiverse country) โดยมีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นเป็นจำนวนมาก
มาเลเซียมีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรมลายูหลายอาณาจักรที่ปรากฏในพื้นที่ แต่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา อาณาจักรเหล่านั้นก็ทยอยขึ้นตรงต่อจักรวรรดิบริเตน โดยอาณานิคมกลุ่มแรกของบริเตนมีชื่อเรียกรวมกันว่านิคมช่องแคบ ส่วนอาณาจักรมลายูที่เหลือกลายเป็นรัฐในอารักขาของบริเตนในเวลาต่อมา ดินแดนทั้งหมดในมาเลเซียตะวันตกรวมตัวกันเป็นครั้งแรกในฐานะสหภาพมาลายาในปี พ.ศ. 2489 มาลายาถูกปรับโครงสร้างเป็นสหพันธรัฐมาลายาในปี พ.ศ. 2491 และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 มาลายารวมกับบอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์เป็นมาเลเซียเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 แต่ไม่ถึงสองปีถัดมา คือในปี พ.ศ. 2508 สิงคโปร์ก็ถูกขับออกจากสหพันธ์[12]สาธารณรัฐวาดีเบีย
มาเลเซียเป็นประเทศพหุชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรมซึ่งมีบทบาทอย่างมากในด้านการเมือง ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดมีเชื้อสายมลายู โดยมีชนกลุ่มน้อยกลุ่มสำคัญคือ ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มต่าง ๆ รัฐธรรมนูญประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ยังให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ระบบรัฐบาลมีรูปแบบคล้ายคลึงกับระบบรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ ระบบกฎหมายมีพื้นฐานอยู่บนระบบคอมมอนลอว์ ประมุขแห่งรัฐเป็นพระมหากษัตริย์หรือที่เรียกว่ายังดีเปอร์ตวนอากง ทรงได้รับเลือกจากบรรดาเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซียตะวันตก 9 รัฐ โดยทรงดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ส่วนหัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี
นับตั้งแต่ได้รับเอกราช มาเลเซียเป็นประเทศที่มีประวัติทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย โดยมีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเติบโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปีเป็นเวลาเกือบ 50 ปี[13] ระบบเศรษฐกิจแต่เดิมได้รับการขับเคลื่อนด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ แต่ก็กำลังขยายตัวในภาควิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว การพาณิชย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทุกวันนี้ มาเลเซียเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รองจากอินโดนีเซียและไทย) เป็นสมาชิกจัดตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และองค์การความร่วมมืออิสลาม และเป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เครือจักรภพแห่งชาติ และขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ประวัติศาสตร์
[แก้]ยุคก่อนประวัติศาสตร์
[แก้]ประเทศมาเลเซียปัจจุบันไม่ค่อยมีหลักฐานแสดงความยิ่งใหญ่ในอดีตเหมือนประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างที่ กัมพูชามีเมืองพระนคร อินโดนีเซียมีโบโรบูดูร์ หลักฐานทางโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดที่พบได้แก่ กะโหลกศีรษะมนุษย์ ยุคโฮโมเซเปียน ในถ้ำนียะห์ รัฐซาราวัก โรงเครื่องมือหินที่พบในโกตาตัมปัน รัฐเปรัก หลักฐานดังกล่าวบ่งชี้ว่ามนุษย์ในยุคแรกเริ่มของบริเวณนี้เป็นนักล่าสัตว์ และผู้เพาะปลูกเร่ร่อนของ ยุคหินกลาง อาศัยอยู่ตามเพิงหินและถ้ำในภูเขาหินปูนของคาบสมุทร ใช้เครื่องมือหินตัดบดและล่าสัตว์ป่า ราว 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีกลุ่มคนยุคหินใหม่อพยพมาจากจีนตอนใต้เข้ามาสู่บริเวณนี้ และด้วยความที่มีเครื่องมือทันสมัยกว่า รู้จักวิธีเพาะปลูก ในที่สุดจึงขับไล่พวกที่มาอยู่ก่อนเข้าไปในภูเขาและป่าชั้นในของแหลมมลายู หลังจากนั้นราว 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช ก็มีกลุ่มคนยุคเหล็กและยุคสำริด ใช้โลหะเป็นอาวุธ รู้จักค้าขาย ก็มาขับไล่พวกเดิมให้อยู่ในป่าลึกเข้าไปอีก พวกที่มาใหม่นี้ต่อมากลายเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของชาวมาเลเซียในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมาเลเซียในยุคโบราณมีไม่มากนัก นักประวัติศาสตร์จึงมักถือเอาช่วงเวลาที่ มะละกา ปรากฏตัวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญทางชายฝั่งคาบสมุทรมลายูเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มาเลเซีย
พงศาวดารมลายูกล่าวว่ากษัตริย์ปรเมศวรเป็นผู้ตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อต้นมะละกา ( A Malaka tree-ต้นมะขามป้อม) ซึ่งในขณะที่พระองค์ทรงพักผ่อนใต้ร่มต้นไม้นี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นกระจงหันเตะสุนัขล่าสัตว์ แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่นี้ แม้แต่สัตว์ก็ยังมีเลือดนักสู้ จึงนับเป็นลางที่ดีที่ทำให้พระองค์ตัดสินใจตั้งหลักปักฐานที่นี่ และสร้างมะละกาให้กลายเป็นอาณาจักรชายฝั่งทะเลที่รุ่งเรืองต่อมา อีกคำสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่ามะละกามาจากคำอาหรับที่ว่า มะละกัด (Malakat) หรือศูนย์กลางการค้าอันเป็นชื่อที่พ่อค้ามักใช้เรียกเกาะวอเตอร์ (Water Island) ที่อยู่ใกล้ ๆ นานแล้ว
มะละกาจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย
[แก้]มะละกาเป็นเมืองท่าสำคัญ ก่อตั้งขึ้นประมาณ ค.ศ. 1400 ตั้งอยู่บนช่องแคบมะละกาซึ่งคร่อมเส้นทางการค้าสำคัญทางทะเลจากตะวันออกสู่ตะวันตก ระหว่างสองเมืองสำคัญอย่างจีนกับอินเดีย ถือเป็นท่าเรือที่ดีเพราะไม่มีป่าโกงกาง น้ำลึกพอให้เรือเทียบท่าและมีเกาะสุมาตราเป็นที่กำบังพายุ
การเมืองการปกครอง
[แก้]มาเลเซียมีการปกครองแบบสหพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางทำหน้าที่ดูแลเรื่องสำคัญ ๆ เช่น การต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง ตุลาการ การคลัง และอื่น ๆ ขณะที่ในแต่ละรัฐมีรัฐบาลของรัฐดูแลด้านศาสนา ประเพณี สังคม เกษตรกรรม การคมนาคมภายในรัฐ บางรัฐเช่นกลันตัน มีระบบราชการในรูปแบบของตนเอง นอกจากนี้ในแต่ละรัฐจะมีสภาแห่งรัฐที่มาจากการเลือกตั้งทุก ๆ 5 ปี เหมือนกันหมด
ประมุข
[แก้]สมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งสุลต่าน 9 รัฐ ได้แก่ ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง เซอลาโงร์ เกอดะฮ์ กลันตัน เนอเกอรีเซิมบีลัน เปรัก และปะลิส ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นดำรงตำแหน่ง วาระละ 5 ปี ส่วนอีก 4 รัฐ คือ ปีนัง มะละกา ซาบะฮ์ และซาราวัก ไม่มีสุลต่านปกครอง
ตามปกติสุลต่านที่มีอาวุโสสุงสุดจะได้รับเลือก โดยต้องได้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังอาจได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมัยที่ 2 อีกได้ หากสุลต่านจากรัฐอื่น ๆ ได้ดำรงตำแหน่งยังดีเปอร์ตวนอากงเรียบร้อยแล้ว
อำนาจส่วนใหญ่ของยังดีเปอร์ตวนอากงเกี่ยวข้องกับพิธีการต่าง ๆ นอกจากนั้นมีอำนาจในทางบริหาร และนิติบัญญัติ คือ กฎหมายที่ออกมาจะต้องประกาศใช้ ถูกยับยั้ง หรือ ได้รับการแก้ไขในนามพระองค์ มีอำนาจเกี่ยวกับการกำหนดสมัยประชุมสภา แต่งตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก หรือที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจอภัยโทษ แต่งตั้งประธานศาลและผู้พิพากษาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐบาล นอกจากนี้ยังสามารถประกาศภาวะฉุกเฉิน พอเสียชีวิต โดยถ้ารัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็น ยังดี เปอร์ตวน อากง จะเป็นผู้ประกาศพระบรมราชโองการ และเมื่อประกาศใช้แล้วจะไม่มีพระบรมราชโองการใดมาเปลี่ยนแปลงได้
ฝ่ายบริหาร
[แก้]นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำสูงสุด มาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่สมาชิกได้รับเลือกเข้ามานั่งในสภามากที่สุด หรืออาจเป็นหัวหน้าพรรคที่เป็นแกนนำในสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นพลเมืองของสหพันธรัฐโดยกำเนิดเท่านั้น และต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสุงสุดในระบบราชการ รวมทั้งมีหน้าที่ถวายคำแนะนำชี้แจงนโยบายการปกครองและการบริหารรัฐให้แก่ยังดีเปอร์ตวนอากง ส่วนรองหัวหน้าพรรคจะได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไปด้วย ถือเป็นผู้มีอำนาจรองจากนายกรัฐมนตรีและเป็นบุคคลที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากนายกรัฐมนตรี
ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มีกลุ่มผู้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินคือคณะรัฐมนตรี โดยมีการเลือกรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เอาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งด้วยระบบการเมืองของมาเลเซียที่มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก อีกทั้งหลายพรรคตั้งขึ้นมาโดยอาศัยเชื้อชาติ ศาสนา การเลือกสรรบุคคลจึงเป็นเรื่องยากเพราะต้องคำนึงถึงอัตราส่วนตัวแทนพรรค และตัวบุคคลว่าจะทำงานร่วมกันกับตัวแทนของเชื้อชาติอื่น ๆ ได้หรือไม่
ฝ่ายนิติบัญญัติ
[แก้]องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของมาเลเซียคือรัฐสภา รัฐสภาจะทำหน้าพิจารณากฎหมายต่าง ๆ และทำการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ รวมถึงตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกโดยรัฐสภาของมาเลเซียประกอบด้วยสองสภาได้แก่ 1.เดวัน รักยัต (Dewan Rakyat) หรือสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 222 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไป โดยจะมีการเลือกตั้งทุก 5 ปี 2.เดวัน เนกรา (Dewan Negara) หรือวุฒิสภา มีสมาชิก 70 คน โดยเลือกตั้งสมาชิกก 26 คนมาจาก ทั้ง 13 รัฐ รัฐละ 2 คน ส่วนอีก 44 คนมาจากการแต่งตั้งโดย ยัง ดี-เปอร์ตวน อากง ภายใต้คำแนะนำของนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี อำนาจทางการเมืองจะอยู่กับ เดวัน รักยัต ในขณะที่ เดวัน เนกรามีอำนาจยับยั้งกฎหมายต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็ยการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
พรรคการเมือง
[แก้]ฝ่ายตุลาการ
[แก้]สถาบันทางตุลาการทั้งประเทศยกเว้นศาลอิสลาม อยู่ภายใต้ระบบสหพันธรัฐ อำนาจตุลาการเป็นอิสระมาก ปราศจากการควบคุมหรือแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ
สถาบันตุลาการสูงสุดหรือศาลฎีกา ทำหน้าที่รับข้อพิจารณาเรื่องอุทธรณ์จากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐด้วย จากศาลสูงสุดไล่ลงมาเป็นขั้น ๆ จนถึงระดับท้องถิ่นมีศาลประเภทต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมได้ ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมจะมีศาลอิสลามและศาลของชนพื้นเมืองเป็นฝ่ายพิจารณา นอกจากนี้ยังมีศาลประเภทอื่น ๆ เช่น ศาลสูง (ศาลรองจากศาลสูงสุด) ศาลเฉพาะ (ศาลที่ทำคดีอาญามีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี กับศาลแพ่งที่ต้องคืนทรัพย์ไม่เกิน 2 หมื่นริงกิต) ศาลแขวง (ศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งที่มีโทษสถานเบา) ศาลท้องถิ่น (ศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่มีการกระทำความผิดเล็กน้อย เน้นการรอมชอม) ศาลเด็ก (ศาลที่พิจารณาคดีของบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี) เป็นต้น
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศสหพันธรัฐ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 รัฐ และ 3 ดินแดนสหพันธ์[14] โดย 11 รัฐ กับ 2 ดินแดนสหพันธ์ อยู่ในมาเลเซียตะวันตก และอีก 2 รัฐ กับ 1 ดินแดนสหพันธ์ อยู่ในมาเลเซียตะวันออก แต่ละรัฐแบ่งเป็นเขต แต่ละเขตแบ่งเป็นมูกิม (mukim) ในรัฐซาบะฮ์และรัฐซาราวัก เขตในรัฐจะถูกจัดกลุ่มโดยบาฮาเกียน (ภาษามลายู: Bahagian, อังกฤษ: division)[15]
ดินแดนสหพันธ์เป็นดินแดนที่รัฐบาลกลางปกครองโดยตรง ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวง), ปูตราจายา (เมืองราชการ) และลาบวน (ศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศนอกชายฝั่ง) โดยทั้งกัวลาลัมเปอร์และปูตราจายาอยู่ในพื้นที่รัฐเซอลาโงร์ ส่วนลาบวนอยู่ใกล้รัฐซาบะฮ์
ต่างประเทศ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทย
[แก้]มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ ความสัมพันธ์มาเลเซีย–ไทย (อภิปราย) |
ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป
[แก้]ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาเลเซียเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 และมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กัวลาลัมเปอร์ เอกอัครราชทูต ณ กัวลาลัมเปอร์ คนปัจจุบันคือ นายกฤต ไกรจิตติ ซึ่งเดินทางไปรับหน้าที่เมื่อวันที่ 2 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง ได้แก่ (1) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และ (2) สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งตั้งสำนักงานในมาเลเซียได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารทั้งสามเหล่าทัพ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานแรงงาน และสำนักงานประสานงานตำรวจ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาเลเซีย
มาเลเซียมีสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้แก่ ดาโต๊ะ นาซีระห์ บินตี ฮุสซัยน์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และมีสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา และกงสุญใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา ได้แก่ นายไฟซัล แอต มุฮัมมัด ไฟซัล บิน ราซาลี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย (Joint Commission : JC) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy : JDS) คณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ซึ่งทั้ง 3 ระดับเป็นกรอบความร่วมมือของฝ่ายทหารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และความร่วมมือชายแดน คณะกรรมการด้านความมั่นคงกรอบอื่น ๆ เฉพาะเรื่อง อาทิ คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และความร่วมมือในกรอบ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) และอาเซียน และ (2) ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศและการเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจ (Confidence Building Measures) บนพื้นฐานของกรอบ 3Es ได้แก่ การศึกษา (Education) การจ้างงาน (Employment) และการประกอบกิจการ (Entrepreneurship)
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
[แก้]ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียมีพลวัตร รวมทั้งตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงการมี “จุดมุ่งหมาย” ร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีเพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงในอาเซียนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง
[แก้]กองทัพไทยกับมาเลเซียมีการฝึกทางทหารระหว่างกันเป็นประจำ ได้แก่ (1) LAND EX THAMAL ซึ่งเป็นการฝึกประจำปีเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2536 (2) THALAY LAUT ซึ่งมีการฝึกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2523 จัดขึ้นทุก 2 ปี โดยไทยกับมาเลเซียสลับกันเป็นเจ้าภาพ (3) SEA EX THAMAL เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2522 มีพื้นที่ฝึกบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการร่วมชายแดนทางทะเลระหว่างไทย–มาเลเซียทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน (4) AIR THAMAL เป็นการฝึกการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธีตามบริเวณชายแดนไทย–มาเลเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยทำการฝึกทุกปี ประกอบด้วยการฝึกภาคสนามสลับกับการฝึกปัญหาที่บังคับการ และสลับกันเป็นเจ้าภาพ และ (5) JCEX THAMAL เป็นการฝึกร่วม/ผสมภายใต้กรอบการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงครามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 3–7 มีนาคม พ.ศ. 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซียและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซียเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารและเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยประจำปี พ.ศ. 2555 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี และเมื่อวันที่ 17–19 เมษายน พ.ศ. 2555 รองผู้บัญชาการทหารบกและผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงกลาโหมได้เดินทางเยือนมาเลเซียเพื่อเข้าร่วม Defence Services Asia – DSA 2012) ครั้งที่ 13 และมาเลเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย–มาเลเซีย (HLC) ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 14–16 พฤษภาคม 2555 ที่กัวลาลัมเปอร์ โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
[แก้]การค้า
ในปี 2554 มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 การค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่า 24,724.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (749,626.68 ล้านบาท) ไทยส่งออก 12,398.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (373,606.62 ล้านบาท) และนำเข้า 12,326.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (376,020.05 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 72.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เสียเปรียบดุลการค้าเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน 2,4613.43 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้ารวมปี 2553 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียมีมูลค่า 18,688.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (560,654.99 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 6,602.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (198,073.34 ล้านบาท) ทั้งนี้ การค้าชายแดนประกอบเป็นสัดส่วนร้อยละ 74 ของการค้ารวมระหว่างไทยกับมาเลเซีย
สินค้าส่งออกของไทยไปมาเลเซีย ได้แก่ ยางพารา คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซียประกอบด้วย น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่และโลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
การลงทุน
ในปี 2554 มาเลเซียลงทุนในไทยจำนวน 34 โครงการ มีมูลค่า 6,135 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสาขาการบริการยานยนต์ การเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 21 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 3,863 ล้านบาท มาเลเซียสนใจมาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมาเลเซียมีศักยภาพในการลงทุน และการลงทุนในไทยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากไทยมีแรงงานและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ดีกว่ามาเลเซีย ทั้งนี้ Malaysia Industrial Development Authority (MIDA) อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่มีภาคการลงทุนของไทยลงทุนด้วยจำนวน 3 โครงการ มีมูลค่า 2,415 ล้านบาท นักลงทุนไทยที่สนใจไปลงทุนในมาเลเซียได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เครือซีเมนต์ไทย กลุ่มบริษัทสามารถ และร้านอาหารไทย
การท่องเที่ยว
ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางมาประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 2.47 ล้านคน ขณะที่มีนักท่องเที่ยวไทยไปมาเลเซียจำนวน 1.52 ล้านคน
แรงงานไทย
ปัจจุบัน มีแรงงานไทยในมาเลเซียประมาณ 210,000 คน โดยเป็นแรงงานถูกกฎหมายประมาณ 6,600 คน ทั้งนี้ ในปี 2553 มีแรงงานต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในมาเลเซียจำนวน 458,698 คน โดยแรงงานจากอินโดนีเซียจัดเป็นลำดับหนึ่ง ร้อยละ 55.81 และแรงงานไทยจัดอยู่ในลำดับ 9 ร้อยละ 1.45 มาเลเซียมีความต้องการแรงงานไทยสาขาก่อสร้าง งานนวดแผนไทย งานบริการ การเกษตรชายแดน อุตสาหกรรมและงานแม่บ้าน ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นบังคับใช้ ค่าจ้างขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ไทยกับมาเลเซียมีความร่วมมือด้านแรงงานในกรอบคณะทำงานร่วมด้านความร่วมมือแรงงานภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-มาเลเซีย
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
[แก้]ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียประกอบด้วย (1) กลุ่มแรงงานไทยในร้านต้มยำของมาเลเซีย (ร้านอาหารไทย) จำนวนมากกว่า 10,000 คน และ (2) กลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งศึกษาระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลายในโรงเรียนสอนศาสนาของรัฐบาลมาเลเซียจำนวน 350 คน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายสยาม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทยอาศัยอยู่ใน 4 มณฑลในภาคใต้ตอนล่างของสยาม เนื่องจากเมื่อปี 2452 รัฐบาลสยามตกลงมอบ 4 มณฑลให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษกับการให้อังกฤษยอมรับอธิปไตยของสยามในส่วนอื่นของประเทศ คนเหล่านี้จึงตกค้างและกลายเป็นพลเมืองของมาเลเซียในปัจจุบัน คนสยามดังกล่าวมีการสืบทอดวัฒนธรรมไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสื่อสารในท้องถิ่น
ความร่วมมือทางวิชาการ
[แก้]ไทยและมาเลเซียมีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ลงนามเมื่อ 21 สิงหาคม 2550 และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุดมศึกษาระหว่างไทยกับมาเลเซีย ลงนามเมื่อ 19 มกราคม 2554 ซึ่งดำเนินความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและมาเลเซีย การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และการให้ทุนการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิชาการไทย–มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Think Tank and Scholar Network) โดยมีศูนย์ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Institute of Strategic and International Studies ของมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานหลัก
กองทัพ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
กองทัพมาเลเซียประกอบด้วย กองทัพเรือมาเลเซีย,กองทัพมาเลเซียและกองทัพอากาศมาเลเซีย ไม่มีการเกณฑ์ทหารและอายุที่กำหนดสำหรับการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจคือ 18 ปี โดยใช้งบประมาณเป็น 1.5% ของ GDP ของประเทศและใช้กำลังของกองทัพเป็น 1.23% ของกำลังคนของมาเลเชีย
เศรษฐกิจ
[แก้]โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
[แก้]ตั้งแต่สมัยอาณานิคม การส่งออกดีบุก ยางพารา และน้ำมันปาล์มก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียมาโดยตลอดเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอาณานิคม รวมทั้งชาวยุโรปด้วย เมื่อถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกพร้อมควบคุมประเทศ อุตสาหกรรมดีบุก ยางพาราและนำมันปาล์มต่างซบเซาลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพารายังต้องแข่งกันกับยางสังเคราะห์ที่เติบโตขึ้นในช่วงสงคราม อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามสิ้นสุด ทั้งยางพาราและน้ำมันปาล์มก็กลับมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ยางธรรมชาติได้รับการพิสูจน์ว่าดีกว่ายางสังเคราะห์ แม้ว่าสวนยางจะประสบความยุ่งยากบ้างในช่วงที่มลายาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในปี ค.ศ. 1948 – 1960 ส่วนปาล์มก็มีการปลูกไปทั่วในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1950 ทั้งยังมีเงินทุนหลั่งไหลเข้ามา พร้อม ๆ กับเป็นช่วงที่ตลาดการค้าโพ้นทะเลเฟื่องฟู ทำให้มาเลเซียกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงนั้น ต่างกับดีบุกที่มีการส่งออกมาตรการประหยัดการใช้ดีบุก ส่งผลให้ราคาดีบุกขึ้น ๆ ลง ๆ จนผลสุดท้ายอุตสาหกรรมนี้ลดความสำคัญลงไป นอกจากนี้สินค้าส่งออกที่สำคัญขณะนั้นยังได้แก่ ไม้ซุงจากเกาะบอร์เนียวเหนือ และพืชเชิงพานิชย์ต่าง ๆ เช่น เนื้อมะพร้าวแห้ง ปอมะนิลา โกโก้
การกำหนดแนวทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเจริญเติบโตของประเทศไปพร้อมกับการแก้ปัญหาสังคมและการเมืองถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ยังเป็นสหพันธ์มลายาฉบับแรก ๆ (ช่วงปี ค.ศ. 1956–1960) เน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ พยายามผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าแต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะตลาดการค้าในประเทศยังเล็กมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยพยายามทำให้รายได้กระจายไปสู่ประชากรอย่างทั่วถึง ให้ทุกคนมีงานทำ
ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศมาเลเซีย ได้แก่ การว่างงานและความยากจน โดยเฉพาะกลุ่มชาวมลายูในชนบท รัฐบาลจึงพยายามพัฒนาที่ดินและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ถนนหนทาง โรงเรียน สถานพยาบาล ระบบชลประทาน แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ชาวจีนซึ่งถือว่าเป็นคนมาอยู่ใหม่ ไม่ใช่เจ้าของที่กลับขยันขันแข้ง เข้ามาหักร้างถางพง และมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวมลายูที่อยู่มาก่อน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชาวมลายูกับชาวจีนขณะนั้น ทำให้บางคนถึงกับคิดว่าในอนาคตชาวจีนจะควบคุมประเทศ ในขณะที่ชาวมลายูจะถูกไล่เข้าป่าดงดิบซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
หลังจากได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1957 เศรษฐกิจของมาเลเซียก็เติบโตขึ้น แล้วเริ่มเปลี่ยนจากการทำดีบุกกับยางพาราเป็นหลักไปเป็นทำอุตสาหกรรมที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่ที่คุกคามเศรษฐกิจคือ ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติซึ่งเกิดปะทุขึ้นรุนแรงจนนำไปสู่จลาจลในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1969 รัฐบาลซึ่งขณะนั้นนำโดยพรรคอัมโนจึงคิดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy-NEP) ออกมาแก้ปัญหา นำออกมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1970 โดยเนื้อหาสำคัญคือ ให้สิทธิพิเศษแก่พวก "ภูมิบุตร" หรือพลเมืองเชื้อสายมลายูเช่น กำหนดสัดส่วนข้าราชการส่วนใหญ่ให้เป็นชาวมลายู ให้สิทธิการเข้าเรียน จัดแบ่งที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพานิชย์ให้แก่พลเมืองเชื้อสายมลายูก่อนพลเมืองเชื้อสายจีนหรืออินเดีย
นโยบายดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียดีขึ้น สัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวมลายูในบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ระหว่างปี ค.ศ. 1997 - 1998 ที่ทำให้การถือหุ้นตกไปอยู่ในมือชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวมลายูเองก็มักลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไรในระยะสั้น มีวัฒนธรรมการเล่นพวกพ้องที่เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม ช่วงนั้นมาเลเซียได้รู้วิธีการจัดการและกลลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยให้มาเลเซียปรับตัวได้ดีเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกอีกครั้งในปี ค.ศ. 2008-2009 โดยเศรษฐกิจมาเลเซียหดตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม พลเมืองของประเทศมาเลเซียทั้งเชื้อชาติมลายู อินเดียและจีน ส่วนหนึ่งเห็นว่าควรยกเลิก NEP ไป เพราะเป็นนโยบายที่เลือกปฏิบัติ ส่วนนักลงทุนต่างชาติตะวันตกเห็นว่า NEP มีผลเสีย เนื่องจากทำให้พวกภูมิบุตรเอาแต่รอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล บ้างก็วิจารณ์กันว่าแท้จริงแล้ว NEP อาจมีเพื่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของพรรคอัมโน เนื่องจากเป็นนโยบายที่อำนวยผลประโยชน์ต่อพลเมืองเชื้อสายมลายู ซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรค
ในปี ค.ศ. 2010 เศรษฐกิจมาเลเซียเจริญเติบโตอย่างมาก ธนาคารของมาเลเซียมีเงินทุนที่มั่นคง ใช้การบริการแบบอนุรักษนิยม ไม่มีนโยบายให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งสัมพันธ์กับวิกฤติซับไพร์ที่เกิดในอเมริกา ธนาคารแห่งชาติมีนโยบายรักษาสภาพคล่องในการลงทุน ห้ามลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงตามระแสการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงและหนี้ต่างประเทศต่ำ
ในที่สุดปี ค.ศ. 2010 นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่มาจากพรรคอัมโนได้ยกเลิกข้อบังคับสิทธิพิเศษแก่ชาวมลายูในด้านต่าง ๆ รวมถึงทางด้านเศรษฐกิจ เช่น กำหนดให้บริษัทที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีชาวมลายูถือหุ้นอย่างน้อย ร้อยละ 30 และประกาศต้นแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model-NEM) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Transformation Program-ETP) หลักการสำคัญของ NEM ได้แก่ การเพิ่มรายได้ให้ประชาชน กระจายรายได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน และให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นโยบายหรือการลงทุนต่าง ๆ ภายใต้ NEM จึงต้องคำนึงถืองผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
มาเลเซียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค มุ่งให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันชีวภาพ เครื่องสำอาง และพลาสติก อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซพลังงานธรรมชาติ อุตสาหกรรมภาคบริการ เกษตรกรรม พลังงานทางเลือก รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่าง เพลง ภาพยนตร์ ศิลปะ และการแสดงด้วย นอกจากนี้ยังมีการวางแผนที่จะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ รวมถึงเป็นศูนย์ทางการเงินของอิสลาม
- ยุทธศาสตร์ของ NEM
เพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของมาเลเซียบรรลุเป้าหมาย จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ NEM 8 ประการขึ้นมา ได้แก่
- ผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- เพิ่มคุณภาพของแรงงานชาวมาเลเซีย และลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ
- ส่งเสริมการแข่งขันภายในมาเลเซีย
- สร้างความแข้มแข็งให้ระบบราชการ
- ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ด้อยโอกาศอย่างโปร่งใส และเป็นมิตรกับระบบตลาด
- สร้างความรู้และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- ส่งเสริมปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
- โครงการ FELDA จัดสรรที่ดินแก่ชาวมลายู
เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลที่คิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวมลายูในชนบท คือโครงการ FELDA (Federal Land Development Authority) โครงการนี้จะให้ทุนแก่เจ้าของสวนยางรายย่อย โดยจะช่วยอุดหนุนสำหรับปลูกต้นยางที่มีผลผลิตสูงและต้านทางโรคได้มาก ในโครงการนี้ผู้รับเหมาจะต้องถางที่ดินระหว่าง 1,600–2,000 เฮกตาร์ให้โล่งแล้วปลูกยาง จากนั้นแบ่งที่ดินออกเป็นระหว่าง 3.2–4 เฮกตาร์เพื่อจัดสรรให้แก่ชาวมลายู ชาวมลายูเหล่านี้จะได้รับปุ๋ยและเงินยังชีพช่วยเหลือขึ้นอยู่กับผลงานรายวันในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สุดท้ายแล้วค่าใช้จ่ายในกาพัฒนาที่ดินต้องคืนให้แก่รัฐภายใน 10–15 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ยางพาราจะโตเต็มที่พอดี แม้แผนโครงการ FELDA แต่สุดท้ายก็มีชาวมลายูเข้าร่วมเพียงเล็กน้อย และบางคนยังคัดค้านโครงการนี้อีกด้วย
- มาเลเซีย ก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมฮาลาล
อุตสาหกรรมอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากในมาเลเซีย คืออุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาหารอิสลามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสินค้าประเภทอื่น เช่น ยา เครื่องสำอาง ของใช้ประเภทสบู่ ยาสีฟัน เครื่องหนัง ฯลฯ และเกี่ยวข้องกับการบริการ เช่น การจัดเลี้ยง โรงแรม การฝึกอบรม ธนาคาร สื่อสารมวลชน โลจิสติกส์ และท่องเที่ยวด้วย มาเลเซียวางเป้าหมายให้อุตสาหกรรมฮาลาลของตนเป็นศูนย์กลางของโลก โดยมีการจัดตั้ง Halal Industry Development Corporation-HDC ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ให้เป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล HDC ได้จัดทำ The Halal Industry Master Plan สำหรับปี ค.ศ. 2008–2020 โดยจัดแผนการดำเนินงานเป็น 3 ระยะได้แก่ - มุ่งเตรียมความพรอมให้มาเลเซียก้าวไปเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดย HDC จะเป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยส่งเสริม ผลักดัน และให้การสนับสนุนการค้า การลงทุนในอุตสาหกรรมฮาลาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง - มุ่งเน้นความสนใจไปที่ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ส่วนตัว ให้การพัฒนาคุณภาพ นวัตกรรมและการทำการตลาด - ระยะนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมฮาลาล จากระดับท้องถิ่นสู่ผู้นำในระดับสากล รวมถึงการก่อตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาล ผดดยระยะที่สามนี้วางแผนอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 2015–2020
- ทรัพยากรที่สำคัญ ยางพารา น้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ไม้สัก
- อุตสาหกรรมหลัก อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร
- สินค้าส่งออกที่สำคัญ ไม้ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว ปิโตเลียม เฟอร์นิเจอร์ ยาง น้ำมันปาล์ม
- สินค้านำเข้าที่สำคัญ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม สินค้าแปรรูป สินค้าอาหาร
- ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ไทย ฮ่องกง
- ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ไทย
การท่องเที่ยว
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ในปี 2559 มาเลเซียมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 26,757,392 คนเพิ่มขึ้น 4.0% จาก 25,721,251 คนในปี 2558 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ไทย บรูไน และอินเดีย ตามลำดับ
ประชากรศาสตร์
[แก้]เชื้อชาติ
[แก้]ประเทศมาเลเซียมีปัญหาประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ในอดีตเคยเกิดสงครามกลางเมืองเนื่องจากการกีดกันทางเชื้อชาติ ประเทศมาเลเซียประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูร้อยละ 50.4 เป็นชาวภูมิบุตร (Bumiputra) คือบุตรแห่งแผ่นดิน รวมไปถึงชนดั้งเดิมของประเทศอีกส่วนหนึ่ง ได้แก่กลุ่มชนเผ่าในรัฐซาราวัก และรัฐซาบะฮ์มีอยู่ร้อยละ 11[16] ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียนั้น ชาวมลายูนั้นคือมุสลิม และอยู่ในกรอบวัฒนธรรมมลายู แต่ชาวภูมิบุตรที่ไม่ใช่ชาวมลายูนั้น มีจำนวนกว่าครึ่งของประชากรในรัฐซาราวัก (ได้แก่ชาวอิบัน ร้อยละ 30) และร้อยละ 60 ของประชากรรัฐซาบะฮ์ (ได้แก่ชาวกาดาซัน-ดูซุน ร้อยละ 18 และชาวบาเจา ร้อยละ 17)[16] นอกจากนี้ยังมีชนพื้นเมืองดั้งเดิมของคาบสมุทรมลายูอีกกลุ่มหนึ่ง คือ โอรังอัซลี
ประชากรกลุ่มใหญ่ที่ไม่ใช่ชาวภูมิบุตรหรือชนดั้งเดิมเป็นพวกที่เข้ามาใหม่ โดยเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน มีอยู่ร้อยละ 23.7 ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย อีกร้อยละ 7.1 ของประชากร[16] ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวทมิฬ แต่ยังมีชาวอินเดียกลุ่มอื่น อย่างเกรละ, ปัญจาบ, คุชราต และปาร์ซี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย โดยอาศัยอยู่ในรัฐทางตอนเหนือของประเทศ มีคนเชื้อสายชวาและมีนังกาเบาในรัฐทางตอนใต้ของคาบสมุทรอย่าง รัฐยะโฮร์
ชุมชนลูกครึ่งคริสตัง (โปรตุเกส-มลายู) ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และชุมชนลูกครึ่งอื่น ๆ อย่าง ฮอลันดาและอังกฤษ ส่วนมากอาศัยในรัฐมะละกา ส่วนลูกครึ่งเปอรานากัน หรือชาวจีนช่องแคบ (จีน-มลายู) ส่วนมากอาศัยอยู่ในรัฐมะละกา และมีชุมชนอยู่ในรัฐปีนัง
ศาสนา
[แก้]ในปี ค.ศ. 2010[17] ประเทศมาเลเซียมีผู้นับถือศาสนา แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาอิสลาม 61.3% ศาสนาพุทธ 19.8% ศาสนาคริสต์ 9.2% ศาสนาฮินดู 6.3% ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า 1.3% ศาสนาอื่น ๆ 2% ไม่มีศาสนา 0.1%
มิได้ระบุศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้สิทธิเสรีภาพต่อพลเมืองเท่าเทียมกัน อุปถัมภ์ค้ำจุนทุกศาสนา และประกาศให้วันสำสัญทางศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์เป็นวันหยุดราชการ โดยมีกำหนดในปฏิทินอย่างชัดเจน
ภาษา
[แก้]ภาษาราชการของมาเลเซียคือภาษามลายู หรือเรียกว่า บาฮาซา มลายู (Bahasa Melayu) หรือบาฮาซา มาเลเซีย (Bahasa Malaysia) ซึ่งเป็นภาษาหลักของประชากรส่วนใหญ่ของมาเลเซีย นอกจากภาษามลายูแล้วยังมีภาษาพื้นเมืองที่ใช้กันในชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ภาษาอีบัน พบในรัฐซาราวัก ภาษาดูซุนและกาดาซาน พบในรัฐซาบะห์ เป็นต้น ส่วนภาษาอังกฤษพบว่ามีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในทางราชการ[ต้องการอ้างอิง]
กีฬา
[แก้]ฟุตบอล
[แก้]วัฒนธรรม
[แก้]มาเลเซียประกอบด้วยชนจากหลายเผ่าพันธุ์ (พหุสังคม) รวมกันอยู่ บนแหลมมลายูมากว่า 1,000 ปี ประกอบด้วยเชื้อชาติใหญ่ ๆ 3 กลุ่ม คือ ชาวมลายู ชาวจีน และชาวอินเดีย อาศัยอยู่บนแหลมมลายู ส่วนชนพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น อิบัน (Ibans) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐซาราวัค และคาดาซัน (Kadazans) อาศัยอยู่ในรัฐซาบะฮ์ ด้วยประชากรหลากหลายเชื้อชาติภายในประเทศ ทำให้เกิดการหล่อหลอมของวัฒนธรรมและส่งผลต่อ การดำรงชีวิตของชาวมาเลเซีย จึงเกิดประเพณีที่สำคัญมากมาย อาทิเช่น
- การรำซาบิน (Zapin) :เป็นการแสดงการฟ้อนรำหมู่ ซึ่งเป็นศิลปะพื้นเมืองของชาวมาเลเซีย โดยเป็นการฟ้อนรำที่ได้รับอิทธพลมาจาก ดินแดนอาระเบีย โดยมีผู้แสดงเป็นหญิง ชาย จำนวน 6 คู่ เต้นตามจังหวะของกีตาร์แบบอาระเบีน และ กลอง เล็กสองน้าที่บรรเลงจากช้าไปเร็ว
- เทศกาลทาเดา คาอามาตัน (Tadau Kaamatan) :เป็นเทศกาลประจำปีในรัฐซาบะฮ์ จัดในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวและเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ โดยจะมีพิธีกรรมตามความเชื่อในการทำเกษตร และมีการแสดงระบำพื้นเมือง และขับร้องบทเพลงท้องถิ่นเพื่อเฉลิมฉลองอีกด้วย
อาหาร
[แก้]นาซี ลามัก, ข้าวบนใบตอง, ชาก๋วยเตี๋ยว, ชาบูสไตล์จีน, ไก่สะเต๊ะ เนื้อสะเต๊ะ, โรตีชะไน, ลอดช่อง
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Malaysian Flag and Coat of Arms". Malaysian Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 October 2013. สืบค้นเมื่อ 9 September 2013.
- ↑ "Current Population Estimates Malaysia 2016–2017". Department of Statistics, Malaysia. สืบค้นเมื่อ 14 July 2017.
- ↑ Department of Statistics Malaysia 2020.
- ↑ "The States, Religion and Law of the Federation" (PDF). Constitution of Malaysia. Judicial Appointments Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 June 2017. สืบค้นเมื่อ 29 October 2017.
Islam is the religion of the Federation; but other religions may be practised in peace and harmony in any part of the Federation.
- ↑ "Population Distribution and Basic Demographic Characteristic Report 2010 (Updated: 05/08/2011)". Department of Statistics, Malaysia. 29 July 2011. สืบค้นเมื่อ 11 June 2018.
- ↑ Mackay, Derek (2005). Eastern Customs: The Customs Service in British Malaya and the Opium Trade. The Radcliffe Press. pp. 240–. ISBN 978-1-85043-844-1.
- ↑ "31 Ogos 1963, Hari kemerdekaan Sabah yang rasmi". AWANI. 14 May 2021. สืบค้นเมื่อ 1 September 2021.
- ↑ "Population and Housing Census of Malaysia 2020". Department of Statistics, Malaysia. p. 48. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 February 2022. สืบค้นเมื่อ 23 March 2022.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 "World Economic Outlook Database, April 2022". IMF.org. International Monetary Fund. April 2022. สืบค้นเมื่อ April 19, 2022.
- ↑ "Gini Index". World Bank. สืบค้นเมื่อ 20 December 2018.
- ↑ "Human Development Report 2021/2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
- ↑ Baten, Jörg (2016). A History of the Global Economy. From 1500 to the Present. Cambridge University Press. p. 290. ISBN 9781107507180.
- ↑ "Malaysia". United States State Department. 14 July 2010. สืบค้นเมื่อ 14 September 2010.
- ↑ "Understanding the Federation of Malaysia". The Star. 2 November 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-05. สืบค้นเมื่อ 3 November 2015.
- ↑ "Malaysia Districts". Statoids. สืบค้นเมื่อ 3 November 2010.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 CIA World Factbook - Based on 2004 estimate [1] เก็บถาวร 2010-12-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ [2] Religion in Malaysia
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Clifford, Hugh Charles (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 17 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 471–475.
- Clifford, Hugh Charles (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 17 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 475–478.
- Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 17 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 478–484.
- Graham, Walter Armstrong (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 17 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 484.
- Malaysia. The World Factbook. Central Intelligence Agency.
- Malaysia from UCB Libraries GovPubs
- ประเทศมาเลเซีย ที่เว็บไซต์ Curlie
- Malaysia profile from the BBC News
- Wikimedia Atlas of Malaysia