ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยแอสตัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยแอสตัน
Aston University
คติพจน์อังกฤษ: Forward
ไทย: จงก้าวไปข้างหน้า
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล
สถาปนา22 เมษายน พ.ศ. 2509 ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2499 วิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงแอสตัน
พ.ศ. 2438 วิทยาลัยเทคนิคนครเบอร์มิงแฮม
ที่ตั้ง,
สีดำ-แดง
           
           
เครือข่ายACU
EUA
AACSB
เว็บไซต์http://www.aston.ac.uk/

มหาวิทยาลัยแอสตัน (Aston University) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร ตั้งที่ตำบลแอสตัน ซึ่งเป็นชุมชนใจกลางเมืองเบอร์มิงแฮม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2438 ในฐานะวิทยาลัยเทคนิคนครเบอร์มิงแฮม ต่อมาได้เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงเมื่อ พ.ศ. 2499[1] และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงตราพระราชบัญญัติให้เป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2509[2]

มหาวิทยาลัยแอสตันเปิดสอนในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคม-ภาษาศาสตร์ และมีชื่อเสียงในด้านสาขาวิชาบริหารธุรกิจ

ประวัติ

[แก้]
สำนักงานมหาวิทยาลัยแอสตัน

มหาวิทยาลัยแอสตัน ก่อกำเนิดขึ้นจากวิทยาลัยเทคนิคนครเบอร์มิงแฮม (Birmingham Metropolitan Technical College) ซึ่งแยกตัวออกจากสถาบันศึกษาเบอร์มิงแฮมและมิดแลนด์ (ก่อตั้ง พ.ศ. 2418) เมื่อปี พ.ศ. 2438 ทำการสอนในสาขาวิชาเคมี ฟิสิกส์ โลหวิทยา และวิศวกรรมไฟฟ้า[3] อนึ่งชื่อ มิดแลนด์ มาจากชื่อของจังหวัดเวสต์มิดแลนด์[ม 1]ซึ่งเมืองเบอร์มิงแฮมมีฐานะเป็นอำเภอสังกัดอยู่ กิจการของวิทยาลัยดำเนินเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2494 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีเบอร์มิงแฮม ต่อมา วิทยาลัยจึงได้ยกสถานะเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงแอสตัน[ม 2] ตามชื่อของตำบลที่ตั้งและสบคลองในพื้นที่ของวิทยาลัย มีการสร้างอาคารในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2492 - 2498 เพื่อรองรับการขยายตัวของวิทยาลัย[3] ครั้นแล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดสถาบัน เมื่อปี พ.ศ. 2499[4]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้มีพระราชบัญญัติให้แปรสภาพบรรดาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงทั้งหมดให้เป็นมหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้ได้รวมถึงมหาวิทยาลัยแอสตันด้วย โดยในพระราชบัญญัติได้เขียนชื่อมหาวิทยาลัยไว้ว่า มหาวิทยาลัยแอสตัน ณ เบอร์มิงแฮม (University of Aston at Birmingham) คติพจน์ของมหาวิทยาลัยคือ จงก้าวไปข้างหน้า[5] ซึ่งเป็นคติพจน์เดียวกับคติพจน์ของเทศบาลนครเบอร์มิงแฮม

เมื่อ พ.ศ. 2526 มหาวิทยาลัยจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ รับให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจที่ต้องการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมของตน[6]

ที่ตั้ง

[แก้]

มหาวิทยาลัยมีที่ตั้งกลางใจเมือง เรียกว่า "วิทยาเขตกอสตากรีน" (Gosta Green Campus) ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟเบอร์มิงแฮมนิวสตรีต และสถานีรถไฟเบอร์มิงแฮมมัวร์สตรีต พื้นที่ของมหาวิทยาลัยมีคลองดิกเบท (Digbeth Canal) และคลองเบอร์มิงแฮมแอนด์เฟซเลย์ (Birmingham and Fazeley Canal) ไหลผ่านและบรรจบกันเป็นสามแยก บริเวณสบคลองนั้นเรียกว่า สามแยกแอสตัน (Aston Junction) ภายในมหาวิทยาลัยประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักศึกษาหลายอย่าง รวมถึงห้องสมุด-ศูนย์คอมพิวเตอร์รวมกันอยู่ภายในบริเวณเดียวกันอีกด้วย

ส่วนงาน

[แก้]

มหาวิทยาลัยแอสตันแบ่งส่วนงานทางวิชาการออกเป็นสำนักวิชาและวิทยาลัย 4 แห่ง แต่ละแห่งดูแลสาขาวิชาแตกต่างกันดังนี้

  • สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
    • สาขาวิชาวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์
    • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
    • สาขาวิชาระบบและการจัดการวิศวกรรม
    • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
    • สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการออกแบบ
  • สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสุขภาพ
    • สาขาวิชาโสตสัมผัสวิทยา (audiology)
    • สาขาวิชาชีววิทยา
    • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
    • สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์
    • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์
    • สาขาวิชาจิตวิทยา
  • สำนักวิชาภาษาและสังคมศาสตร์
    • สาขาวิชาภาษาสมัยใหม่และการแปล
    • สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์ และยุโรปศึกษา
    • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
    • สาขาวิชาสังคมวิทยาและนโยบายสาธารณะ
  • วิทยาลัยบริหารธุรกิจแอสตัน
    • สาขาวิชานิติศาสตร์
    • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และยุทธศาสตร์
    • สาขาวิชาการเงินและการบัญชี
    • สาขาวิชาการตลาด
    • สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ
    • สาขาวิชาจิตวิทยาองค์กร

วิชาการ

[แก้]

มหาวิทยาลัยแอสตันเปิดสอนในหลายสาขาวิชา โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านบริหารธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง หลักสูตรด้านบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยได้รับการรับรองจาก European Quality Improvement System สมาคมบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Association of MBAs) และมูลนิธีพัฒนาการจัดการยุโรป (European Foundation for Management Development)[7] นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังทำอันดับได้ดีมากจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในด้านบริหารธุรกิจทั่วสหราชอาณาจักร[8]

ในสาขาวิชาอื่น มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 47 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยอายุน้อยกว่าห้าสิบปี[9] พร้อมทั้งได้อันดับที่ 12 จากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเมื่อครั้งมีการประเมินศักยภาพการวิจัย[10]

หอพักนักศึกษา

[แก้]
หอพักเลคไซด์
หอพักเก่าของมหาวิทยาลัยที่ถูกทุบทำลายแล้ว

นอกเหนือจากการทำกิจกรรมกับสโมสรนักศึกษาแล้ว นักศึกษาที่มีความจำเป็นเช่นเป็นนักศึกษาต่างชาติหรือมาจากต่างเมืองไกล ๆ อาจพักในหอพักของมหาวิทยาลัยซึ่งในอดีตมีแบบใช้ห้องน้ำรวม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นห้องแบบมีห้องน้ำในตัวทั้งหมด หอพักของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ไม่ไกลจากกลางใจเมืองและอาคารเรียน

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2520 มหาวิทยาลัยสร้างหอพักสามแห่งคือ หอดาลตัน ลอเรนซ์ และสแตฟฟอร์ด ซึ่งทั้งหมดเป็นหอพักแบบใช้ห้องน้ำ-ห้องครัวรวมกัน สำหรับหอสแตฟฟอร์ดนั้น แต่ละชั้นได้แบ่งออกเป็นสองตอน แต่ละตอนมีห้องพัก 9 ห้อง ใช้ห้องน้ำและห้องครัวรวมกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยได้สร้างหอพักเลคไซด์เพิ่มเติม และได้ทุบทำลายหอพักเก่าทั้งสามทิ้งเพื่อสร้างอาคารสูงสำหรับเป็นหอพักนักศึกษา-อาจารย์ ตั้งชื่อว่าหอแฮเรียตมาร์ติโน (Harriet Martineau) และหอแมรีสเติร์จ (Mary Sturge)[11][12]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. หรือเคาน์ตี (county) ซึ่งในอังกฤษมีสถานะเทียบเท่าจังหวัดอันมีผู้ว่าราชการจังหวัดประจำ นิยมเรียกโดยทั่วไปว่าแคว้น โปรดดู เคาน์ตีในสหราชอาณาจักร ประกอบ
  2. วิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูง (College of Advanced Technology) ในสหราชอาณาจักรเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะด้าน มีอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2496 - 2509 วิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นสูงในสหราชอาณาจักรมีดังนี้ คือ แอสตัน ลัฟเบอระ (Loughborough) นอร์แทมป์ตันลอนดอน เชลซี บรูเนล บริสตอล คาร์ดิฟฟ์ ซอลฟอร์ด และแบรดฟอร์ด ปัจจุบันทั้งหมดได้กลายสภาพเป็นมหาวิทยาลัย ยกเว้นวิทยาลัยฯเชลซีที่ถูกยุบเข้ากับราชวิทยาลัยลอนดอน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "College optometrists.org". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-11. สืบค้นเมื่อ 2014-05-03.
  2. Complete University Guide
  3. 3.0 3.1 "History and Traditions". Aston University. 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-19. สืบค้นเมื่อ 2008-12-31.
  4. "1950s". Aston.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-16. สืบค้นเมื่อ 2014-04-27.
  5. "History and traditions". Aston.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 2014-04-27.
  6. "1980s". Aston.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-20. สืบค้นเมื่อ 2014-04-27.
  7. "The pope as a turnaround CEO". The Economist.
  8. "Business school rankings from the Financial Times - Aston Business School". Rankings.ft.com. สืบค้นเมื่อ 2014-04-27.
  9. "QS World University Rankings 2013". Top Universities. 2013-08-27. สืบค้นเมื่อ 2014-04-27.
  10. "Aston's performance in the Research Excellence Framework". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2014. สืบค้นเมื่อ 16 July 2015.
  11. "Accommodation Harriet Martineau and Mary Sturge Residences". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2013.
  12. "Attachment". aston.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-27. สืบค้นเมื่อ 2014-04-27.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]