ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เซเฮเทปอิบเร เซเวเซคทาวี (หรือ เซโฮเทปอิบเรที่ 1 หรือ เซเฮเทปอิบเรที่ 2 ขึ้นอยู่กับนักวิชาการ) เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณในต้นสมัยช่วงระหว่างกลางที่สอง พระองค์อาจจะเป็นฟาโรห์พระองค์ที่ห้า[1]หรือสิบ[2]แห่งราชวงศ์ที่สิบสาม

ตำแหน่งตามลำดับเวลา

[แก้]

ตำแหน่งของฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร เซเวเซคทาวีภายในราชวงศ์ที่สิบสามนั้นไม่ชัดเจนนัก ในบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูริน ซึ่งเป็นบันทึกพระนามที่เขียนขึ้นในช่วงต้นสมัยรามเสส ปรากฏฟาโรห์จำนวนสองพระองค์ที่ทรงใช้พระนาม "เซเฮเทปอิบเร" ทั้งในคอลัมน์ที่ 7[3] (ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฏพระนามของฟาโรห์จากราชวงศ์ที่สิบสาม) โดยฟาโรห์ "เซเฮเทปอิบเร" พระองค์แรกปรากฏเป็นฟาโรห์พระองค์ที่สี่ของราชวงศ์ และฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรอีกพระองค์อยู่ลำดับที่แปด ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุตำแหน่งตามลำดับเวลาที่แน่นอนของฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร เซเวเซคทาวีได้โดยการใช้หลักฐานเพียงบันทึกพระนามแห่งตูรินเท่านั้น ตามที่นักไอยคุปต์วิทยา คิม รีฮอล์ต และดาร์เรล เบเกอร์กล่าวว่า ฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร เซเวเซคทาวีเป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบของราชวงศ์ ซึ่งครองราชย์เป็นระยะเวลาสองปีตั้งแต่ 1783 จนถึง 1781 ปีก่อนคริสตกาล[2][4] พวกเขาเชื่อว่า ฟาโรห์ "เซเฮเทปอิบเร" พระองค์แรกเป็นการบันทึกพระนามผิดพลาด ซึ่งน่าจะเป็นพระนามของฟาโรห์โฮเทปอิบเร เกมาอู ซิฮาร์เนดจ์เฮริเตฟ พวกเขายังเสนอความเห็นอีกว่าผู้เขียนบันทึกดังกล่าวไม่ได้บันทึกพระนามฟาโรห์อีกสองพระองค์คือ ฟาโรห์เนริคาเร และฟาโรห์อเมนิ เกมาอู ซึ่งส่งผลให้ลำดับตำแหน่งของฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร เซเวเซคทาวี ซึ่งเดิมทีแล้วพระองค์เป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบของราชวงศ์แต่กลับกลายมาเป็นฟาโรห์พระองค์ที่แปดแทน[2] ในทางกลับกัน เดตเลฟ ฟรานเคอ และเยอร์เกน ฟอน เบ็คเคอราท ได้มองว่า ฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร เซเวเซคทาวี เป็นฟาโรห์ "เซเฮเทปอิบเร" พระองค์แรกที่ปรากฏพระนามอยู่ในในบันทึกพระนามแห่งตูริน และด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์เป็นฟาโรห์พระองค์ที่ห้าของราชวงศ์ โดยฟรานเคอและฟอน เบ็คเคอราทต่างก็ระบุให้ฟาโรห์ "เซเฮเทปอิบเร" พระองค์ที่สองกับ ฟาโรห์โฮเทปอิบเร เกมาอู ซิฮาร์เนดจ์เฮริเตฟ เป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกัน[5][6][7]

หลักฐานรับรอง

[แก้]

เป็นเวลานานแล้วที่ฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรเป็นที่ทราบจากบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูรินและตราประทับทรงกระบอกที่ทำจากลาพิสลาซูลิเพียงชิ้นเดียว โดยตราประทับที่ไม่ทราบที่มาถูกซื้อโดยนักสะสมส่วนตัวในกรุงไคโรและในที่สุดก็ขายให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนในปี ค.ศ. 1926 ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่นั้น[8] บนตราประทับปรากฏพระนามครองราชย์ของฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรและตราประทับถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แด่ "เทพีฮาธอร์, สตรีแห่ง[ไบบลอส]"[2] ตราประทับถูกจารึกเพิ่มเติมด้วยชื่อผู้ปกครองเมืองของไบบลอสในอักษรคูนิฟอร์มนามว่า ยาคิน-อิลู โดยนักโบราณคดี วิลเลียม เอฟ. อัลไบร์ทได้ระบุคร่าวๆ ว่า ยาคิน-อิลู กับผู้ปกครองนามว่า ยาคิม ซึ่งปรากฏอยู่บนจารึกที่ค้นพบในไบบลอสร่วมกับยันตินู บุตรชายของเขา ซึ่งนั่งอยู่บนบัลลังก์ถัดจากคาร์ทูชของฟาโรห์เนเฟอร์โฮเทปที่ 1[2][9] หากสมมติฐานของอัลไบร์ทถูกต้อง ฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรจะเป็นรุ่นหนึ่งที่ลบออกจากฟาโรห์เนเฟอร์โฮเทปที่ 1

หลักฐานรับรองร่วมสมัยที่สำคัญของฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรคือ จารึกที่ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1980 และถูกค้นพบก่อนหน้านี้ที่ญะบัล เซอิตที่บริเวณริมทะเลแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองกาเลนา จารึกดังกล่าวปรากฏพระนามฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรร่วมกับพระนามฮอรัส "เซเวเซคทาวี" ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นร่วมสมัยกับรัชสมัยของพระองค์ และจะยืนยันการมีอยู่ของฟาโรห์พระองค์นี้ต่อไป[4][10]

นอกจากนี้ พบตราประทับสคารับจำนวน 2 ชิ้นที่พบในเศษซากจากสุสานพีระมิดทางเหนือที่อัล-ลิชต์ ซึ่งปรากฏพระนามฟาโรห์เซเฮเทปอิบเรที่เขียนโดยไม่มีกรอบคาร์ทูช[11] พบตราประทับที่เทล อัล-อัยยูลจากสมัยสำริดตอนกลาง (สมัยช่วงระหว่างกลางที่สองตามประวัติศาตร์อียิปต์)[12] แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าตราประทับเหล่านี้จะอ้างถึงบุคคลคนเดียวกันหรือไม่

อ้างอิง

[แก้]
  1. Thomas Schneider: Ancient Egyptian Chronology - Edited by Erik Hornung, Rolf Krauss, And David a. Warburton, available online, see p. 176
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 K.S.B. Ryholt, The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, c.1800–1550 BC, Carsten Niebuhr Institute Publications, vol. 20. Copenhagen: Museum Tusculanum Press, 1997, excerpts available online here.
  3. Position within the papyrus: Column 7, line 8 and 7.12 - The column starts with rulers of the Twelfth Dynasty
  4. 4.0 4.1 Darrell D. Baker: The Encyclopedia of the Pharaohs: Volume I - Predynastic to the Twentieth Dynasty 3300–1069 BC, Stacey International, ISBN 978-1-905299-37-9, 2008, p. 359-360
  5. Detlef Franke: Zur Chronologie des Mittleren Reiches (12.-18. Dynastie) Teil 1 : Die 12. Dynastie, in Orientalia 57 (1988)
  6. Jürgen von Beckerath: Untersuchungen zur politischen Geschichte der Zweiten Zwischenzeit in Ägypten, Glückstadt, 1964
  7. Jürgen von Beckerath: Chronologie des pharaonischen Ägyptens, Münchner Ägyptologische Studien 46. Mainz am Rhein, 1997
  8. Seal of Sehetepibre at the MMA, picture and context.
  9. W. M. F. Albright: An Indirect Synchronism between Egypt and Mesopotamia, cir. 1730 BC, BASOR 99 (1945)
  10. P. Mey, G. Castel, J.-P. Goyon: Installations rupestres du moyen et du nouvel empire au Gebel Zeit (près de Râs Dib), In: Mitteilungen des deutschen Archäologischen Institutes Kairo 36 (1980), 303-305, fig. 1 [1], pl. 80 [a]
  11. MMA 09.180.1203, 09.180.1204; see Ben-Tor, Daphna (2007). Scarabs, Chronology, and Interconnections: Egypt and Palestine in the Second Intermediate Period. Friburg: Academic Press. p. 111, Pl. 49:5-61.
  12. Petrie, William Flinders; Mackay, Ernest J. H .; Murray, Margaret A. (1952). City of Shepherd Kings and Ancient Gaza V. London: British School of Egyptian Archaeology, University College. Pl. V:124.