พระเสี่ยง
พระเสี่ยง | |
---|---|
ชื่อเต็ม | พระเสี่ยง |
ชื่อสามัญ | หลวงพ่อพระเสี่ยง |
ประเภท | พระพุทธรูป |
ศิลปะ | ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง |
ความกว้าง | 8 นิ้ว |
ความสูง | 24 นิ้ว |
วัสดุ | ทองสัมฤทธิ์ |
สถานที่ประดิษฐาน | พระอุโบสถ วัดมณีโคตร |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระเสี่ยง หรือ หลวงพ่อพระเสี่ยง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อจากทองสัมฤทธิ์ หน้าตัก 8 นิ้ว สูง 24 นิ้ว หนักประมาณ 100 กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และสวยงามมาก ประดิษฐานอยู่ที่ วัดมณีโคตร ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
ประวัติ
[แก้]ในคราวสงครามระหว่างไทยกับลาว การทำสงครามในสมัยก่อนจะยึดพื้นที่แล้วกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินของผู้แพ้ไปด้วย ตามตำนานหลายเล่มเขียนไว้ว่า พระพุทธรูปประจำวันเกิดของธิดาเจ้าเมืองล้านช้าง เมืองหลวงพระบาง เดิมชื่อ "เสี่ยง" แต่วันเดือนปีใดไม่ปรากฏ แต่เป็นพระพุทธรูปที่มีอยู่ในเมืองหลวงพระบางมานานหลายสมัยสืบทอดกันมา
เนื่องจากการรบราฆ่าฟันกันพระพุทธรูปจึงได้ตกมาอยู่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2321 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กองทัพไทยได้ยกทัพไปตีนครเวียงจันทน์ พระเจ้าธรรมวงศ์แห่งเวียงจันทน์ นำเอาพระเสี่ยงไปไว้ที่เมืองเชียงคำ ต่อมาได้นำไปไว้ที่วัดโพนชัยเมืองเวียงจันทน์อีก และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งกองทัพไปปราบ ฝ่ายลาวรู้ว่ากองทัพไทยเข้ามาตีเวียงจันทน์ จึงมีผู้นำเอาพระเสี่ยงไปหลบซ่อนไว้ในถ้ำภูเขาควายใกล้เมืองมหาชัยเสียก่อน
เมื่อปี พ.ศ. 2400 กิตติศัพท์ข่าวลือเกี่ยวกับอภินิหารของพระเสี่ยง ได้ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ส่งราชเสวกซึ่งเป็นเชื้อชาติลาวชื่อ โสฌังกูร ไปยังแคว้นลาวด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง เมื่อไปถึงเมืองมหาชัยจึงอ้างพระบรมราชโองการอัญเชิญเอาพระพุทธรูปที่สำคัญมาพร้อมกัน มีพระใส พระแสน พระเสริม พระสุกและพระเสี่ยง ใส่แพล่องมาตามแม่น้ำงึม ขณะที่ล่องแพมานั้น เมื่อมาถึงปากน้ำงึมกลางแม่น้ำโขง พระสุกได้แสดงอภินิหารเกิดพายุแรงจนแพแตก ทำให้พระสุกจมลงกลางแม่น้ำโขงตรงบ้านปากเป อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย นับแต่นั้นมาจึงไม่มีใครเคยเห็นพระสุก ต่อจากนั้นก็นำเอาพระใส พระแสน พระเสริมและพระเสี่ยง ใส่แพขึ้นมาตามลำน้ำโขงจนถึงเมืองโพนพิสัย จึงได้อัญเชิญพระเสี่ยงประดิษฐานไว้ที่วัดมณีโคตร ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย จนถึงปัจจุบัน
เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา มีผู้คิดจะเอาพระเสี่ยงไปไว้ที่กรุงเทพมหานคร แต่ในสมัยนั้นรถไม่มี จึงได้อัญเชิญพระเสี่ยงขึ้นหลังช้าง พระเสี่ยงก็ได้แสดงอภินิหารให้ช้างหนักจนไปไม่ได้ พระเสี่ยงตกจากหลังช้าง เป็นเหตุให้หูหัก เกศคต ทำชาวบ้านมีความเห็นว่าท่านไม่อยากไปอยู่ที่อื่นก็เป็นได้
อ้างอิง
[แก้]- สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดหนองคาย
- จารึกวัดมณีโคตร[ลิงก์เสีย]