ข้ามไปเนื้อหา

พระเสริม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเสริม
ชื่อเต็มพระเสริม
ชื่อสามัญหลวงพ่อพระเสริม
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง
ความกว้าง2 ศอก 1 นิ้ว
วัสดุทองสีสุก (โลหะสำริดที่มีทองคำเป็นส่วนผสมหลัก)
สถานที่ประดิษฐานพระประธานในพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระเสริม (ພຮະເສີມ) เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างเวียงจันทน์ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนบัลลังก์แอวขัน ปางมารวิชัย พระเกตุโมลีเป็นเอกลักษณ์โดยมีเส้นเปลวพระรัศมีเรียวและปลายม้วน หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณ์งดงามโดดเด่นมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร อีกทั้งได้รับยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 พระพุทธรูปลาวอันงดงามที่สยามอัญเชิญมาจากลาวโดยอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ส่วนพระพุทธรูปล้านช้างอีก 2 องค์ที่อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหารนั้น คือ พระแสน (พระแสนมหาชัย) และพระสายน์ (พระใส)

ประวัติ

[แก้]

ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระราชธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ (ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง) ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้น 3 องค์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แล้วขนานนามพระพุทธรูปตามพระนามว่า พระสุก พระเสริม และพระใส พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ พระสุกนั้นเป็นพระประจำพี่ผู้ใหญ่ พระเสริมประจำองค์กลาง ส่วนพระใสประจำองค์สุดท้อง

ตามประวัติการสร้างเล่าว่า มีพิธีการทางบ้านเมืองและทางวัดช่วยกันใหญ่โต มีคนสูบเตาหลอมทองอยู่ไม่ขาดระยะเป็นเวลา 7 วัน แล้วทองก็ยังไม่ละลาย ถึงวันที่ 8 เวลาเพล เหลือญาครู (หลวงตา) กับสามเณรน้อยรูปหนึ่งสูบเตาอยู่ ได้ปรากฏชีปะขาว (ตาผ้าขาว) ตนหนึ่งมาขอช่วยทำ ญาครู (หลวงตา) กับเณรน้อยจึงไปฉันเพล ฝ่ายญาติโยมที่มาส่งเพลจะลงไปช่วยแต่มองไปเห็นชีปะขาวจำนวนมากช่วยกันสูบเตาอยู่ แต่เมื่อถามพระดูแล้วพระมองลงไปก็เห็นเป็นชีปะขาวตนเดียว พอฉันเพลเสร็จคนทั้งหมดจึงลงมาดูก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง เหตุเพราะได้เห็นทองทั้งหมดถูกเทลงในเบ้าทั้ง 3 เบ้า ส่วนชีปะขาวได้หายตัวไปไร้ร่องรอย

หลังสร้างเสร็จพระสุก พระเสริม และพระใส ได้ประดิษฐานไว้ที่อาณาจักรล้านช้าง ณ นครหลวงเวียงจันทน์มาช้านาน คราใดที่เกิดสงครามบ้านเมืองไม่สงบสุขชาวเมืองก็จะนำพระพุทธรูปทั้งสามไปซ่อนไว้ที่ภูเขาควาย หากเหตุการสงบแล้วจึงนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิม ส่วนหลักฐานที่ว่าประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครเวียงจันทน์ตั้งแต่เมื่อใดนั้นยังไม่มีปรากฏแน่ชัด ทราบเพียงว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดเหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์ขึ้นที่เวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียสิ้น จึงให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ได้เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ เมื่อเมืองเวียงจันทน์สงบแล้วจึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใสมาที่จังหวัดหนองคาย

มีคำบอกเล่าว่า คราที่อัญเชิญมานั้นไม่ได้อัญเชิญมาจากเมืองนครหลวงเวียงจันทน์โดยตรง แต่อัญเชิญมาจากภูเขาควายซึ่งชาวเมืองนำไปซ่อนไว้ การอัญเชิญนั้นได้ประดิษฐานหลวงพ่อทั้งสามไว้บนแพไม้ไผ่ล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงเวินแท่นได้เกิดอัศจรรย์ คือ แท่นของพระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุแรงจัดพัดแพจนเอียง ชะเนาะที่ขันพระแท่นติดกับแพไม่สามารถที่จะทนน้ำหนักของพระแท่นไว้ได้ บริเวณนั้นจึงชื่อว่า “เวินแท่น” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ครั้นล่องแพต่อมาจนถึงแม่น้ำโขงบริเวณปากงึมเฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้บังเกิดฝนฟ้าคะนอง พระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำ ท้องฟ้าที่วิปริตต่างๆ จึงหายไป บริเวณนั้นจึงได้ชื่อ “เวินสุก” ตั้งแต่นั้นมา ด้วยเหตุข้างต้น การอัญเชิญครั้งนี้จึงเหลือแต่พระเสริมและพระใสมาถึงหนองคาย สำหรับพระเสริมนั้นสยามได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใสได้อัญเชิญไปไว้ยังวัดหอก่องหรือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ ณ ปัจจุบัน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัยลงไปยังกรุงเทพมหานคร ขุนวรธานีจะอัญเชิญพระใสไปพร้อมกับพระเสริมด้วยแต่เกิดปาฏิหาริย์ โดยพราหมณ์ผู้อัญเชิญนั้นไม่สามารถขับเกวียนนำพระใสไปได้ แม้จะใช้กำลังคนหรืออ้อนวอนอย่างไรก็ตามจนในที่สุดเกวียนได้หักลง เมื่อหาเกวียนใหม่มาแทนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้อีก จึงปรึกษาตกลงกันว่าให้อัญเชิญพระใสมาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแทนพระเสริม ซึ่งอัญเชิญไปกรุงเทพมหานคร เมื่ออธิษฐานดังกล่าวพอเข้าหามเพียงไม่กี่คนก็อัญเชิญพระใสมาได้

ส่วนพระเสริมที่อัญเชิญไปกรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งที่มีการแห่พระเสริมจากหนองคายเข้าเขตพระนครในยุคนั้น ชาวลาวล้านช้างที่ถูกต้อนมาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ต่างได้ทำริ้วขบวนแห่ต้อนรับ จัดทำพานบายศรีและเครื่องบูชาเพื่อบูชาพระเสริม จากหลักฐานในชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบุว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระเสริมจากเมืองหนองคายไปประดิษฐานยังพระบวรราชวัง ตั้งพระทัยว่าจะประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดบวรสถานสุทธาวาสดังความในพระราชหัตถเลขาว่า

"...แลการในแผ่นดินปัตยุบันนี้ พระเสิมนั้นวังน่าท่านไปรับมา เมื่อท่านจะไปรับฤาเมื่อรับมาเข้าวัง ท่านก็ไม่ได้บอกกล่าวให้ฉันรู้ด้วยเลย ฉันไปออกสุทไธสวรรย์เห็นพวกลาวแห่ปราสาทขี้ผึ้งไป ฉันให้ไปถาม เขาบอกว่าจะไปบูชาพระในพระบวรราชวัง จึงได้ไต่ถามพ่อกลาง ๆ บอกว่าพระเสิมรับมาแต่เมืองหนองคาย

แลภายหลังได้ยินคนเปนอันมากเล่าฤาว่า ลาวชื่นชมยินดีนับถือแห่แหนขึ้นไปบูชาทุกวัน ฉันจึงคิดว่าพระใหญ่มีชื่อคนนับถือมากเข้ามาในบ้านในเมือง ฉันเปนผู้ใหญ่ในแผ่นดินจะนิ่งเฉยเสียไม่ไปทำบุญบูชาไม่ควร ฉันจึงได้ขึ้นไปบูชาแล้วนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า แลมีละครดอกไม้ฉลองคราวหนึ่ง เมื่อนั้นวังหน้าท่านบอกฉันว่า พระเสิมนั้น  เชิญมาจะเปนพระประธานในวัดบวรสถานสุทธาวาศ..."

๒๔)


ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้อัญเชิญพระเสริมจากพระบวรราชวัง ไปประดิษฐานยังพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหารตราบจนถึงทุกวันนี้

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ว่า เป็นพระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ และทรงสันนิษฐานเรื่องการสร้างเป็น 2 ประการ คือ อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใดทางตะวันออกของอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาตกอยู่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือช่างลาวพุงขาว

อ้างอิง

[แก้]