พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย)
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย) | |
---|---|
ไฟล์:พระปทุมเทวาภิบาล(บุญมา).jpg อนุสาวรีย์พระประทุมเทวาภิบาล บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานคุ้มเจ้าเมืองหนองคาย | |
เจ้าเมืองหนองคาย | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2370 – พ.ศ. 2395 | |
ก่อนหน้า | จัดตั้งตำแหน่ง |
ถัดไป | พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เสียชีวิต | 20 มีนาคม พ.ศ. 2395 |
บุตร | พระปทุมเทวาภิบาล (เคน ณ หนองคาย) |
บุพการี |
|
พระปทุมเทวาภิบาล (ถึงอสัญกรรม 20 มีนาคม พ.ศ. 2395) หรือ บุญมา ณ หนองคาย เป็นเจ้าเมืองหนองคายคนแรก อดีตบรรดาศักดิ์ที่ ท้าวสุวอธรรมา กรมการเมืองยโสธร (เมืองยศสุนทร) ต่อมาเลื่อนยศในตำแหน่งคณะอาญาสี่เมืองยโสธรเป็นที่ พระอุปฮาต เป็นต้นสกุลพระราชทาน ณ หนองคาย
พระประวัติ
[แก้]ตระกูล
[แก้]พระปทุมเทวาภิบาล มีนามเดิมว่า ท้าวบุญมา เป็นบุตรชายพระอุปฮาด (ท้าวแพง) อุปฮาด (อุปราช) เมืองยโสธร ท้าวบุญมาเป็นนัดดา (หลานปู่) ในพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช ต้นสกุล ณ อุบล และพระวิไชยสุริยวงษขัติยราช (ท้าวฝ่ายหน้า) เจ้าประเทศราชผู้ครองนครจำปาศักดิ์ องค์ที่ ๓ และเป็นปนัดดา (เหลน) พระตาแห่งนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน สืบเชื้อสายเจ้าอุปราชนองจากราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระอุปฮาตเมืองยโสธร
[แก้]ท้าวบุญมา มีตำแหน่งเป็นที่ ท้าวสุวอธรรมา กรมการเมืองยโสธร ผู้ช่วยราชการพระสุนทรราชวงศา (สิงห์) เจ้าเมืองยโสธร ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกผู้พี่ของท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ภายหลังจากพระอุปฮาด (แพง) ผู้เป็นบิดาถึงแก่อนิจกรรมลง ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระอุปฮาดเมืองยโสธรแทนตำแหน่งของบิดา
เลื่อนเป็นเจ้าเมืองหนองคาย
[แก้]ในปี พ.ศ. ๒๓๗๐ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้ยกทัพลงมาตีเมืองนครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาขอกำลังจากกองทัพฝ่ายสยามเข้าไปช่วย กองทัพของเจ้าอนุวงศ์พ่ายกองทัพสยามจึงหนีไปพึ่งญวน โดยครั้งนั้นกองทัพสยามยังไม่ได้รื้อทำลายเมืองเวียงจันทน์ลง สยามเกรงว่าเจ้าอนุวงศ์จะนำทัพญวนกลับเข้ามาตั้งตัวได้อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) จึงเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองลาวอีสานไปตีเมืองเวียงจันทน์อีกครั้ง โดยครั้งนั้นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร สั่งให้พระอุปฮาด (บุญมา) และราชบุตร (เคน) บุตรชายของพระอุปฮาด คุมกำลังพลเมืองยโสธรเข้าร่วมกองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีด้วย แต่เมื่อกองทัพสยามยกไปถึงเมืองเวียงจันทน์ได้ต้องกลอุบายศึกของเจ้าอนุวงศ์ เป็นเหตุให้สยามเข้าใจว่าพระองค์จะเข้ามาสวามิภักดิ์ รุ่งขึ้นเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์ได้ยกกำลังเข้าโจมตีกองข้าหลวงของพระพิชัยสงครามและทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งตั้งทัพอยู่เมืองพานพร้าว (เมืองพันพร้าว) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงยังไม่ข้ามไปเวียงจันทน์เห็นกำลังทัพเมืองเวียงจันทน์ตามมาไล่ฆ่าฟันถึงชายหาดหน้าเมืองก็ทราบว่าเกิดเหตุร้าย และพิจารณาเห็นว่าทัพเมืองเวียงจันทน์และญวนมีมากกว่าทัพสยามจึงถอนกำลังกลับลงไปยังเมืองยโสธร
เจ้าอนุวงศ์โปรดฯ ให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) นำกำลังพลข้ามตามมาและปะทะกับทัพไทยที่บ้านบกหวานเกิดการต่อสู้กันถึงขั้นตะลุมบอน แม่ทัพทั้งสองฝ่ายได้รบกันตัวต่อตัวจนถึงขั้นบาดเจ็บ กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิง สิงหเสนี) พ่ายแพ้ ฝ่ายทัพเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ล่าถอยด้วยต้องกระสุนปืนของฝ่ายสยาม สยามเห็นดังนั้นจึงได้เร่งติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเมืองพันพร้าว ปรากฏว่ากองทัพลาวข้ามแม่น้ำโขงไปแล้วและเจ้าอนุวงศ์ก็เสด็จหนีไปยังเมืองพวน การรบครั้งนั้นปรากฏว่าพระอุปฮาด (บุญมา) เมืองยโสธร และราชบุตร (เคน) บุตรชายพระอุปฮาด (บุญมา) มีความดีความชอบมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหนองค่ายอันเป็นที่ตั้งทัพนั้นขึ้นเป็น เมืองหนองคาย ตามนามโบราณของเมืองเก่าซึ่งมีชื่อปรากฏมาแต่เดิมในคัมภีร์อุรังธาตุเทศนาว่า เมืองหล้าหนองคาย หรือ เมืองลาหนองคาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้พระอุปฮาด (บุญมา) อาญาสี่เมืองยโสธรเป็นที่ พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย มอบพระราชอำนาจให้ปกครองหัวเมืองลาวใหญ่น้อยที่เคยขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์แทนเมืองเวียงจันทน์ที่ถูกทำลายไป ยกฐานะเมืองหนองคายเป็นหัวเมืองอาญาสี่ขึ้นกับกรุงเทพ[1] ต่อมาภายหลังถูกยกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก ในการณ์นี้ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งราชบุตร (เคน) เป็นที่ อุปฮาดเมืองหนองคายด้วย
ผลงาน
[แก้]ตั้งเมืองหนองคาย
[แก้]บริเวณที่ตั้งของตัวอำเภอเมืองหนองคายในปัจจุบัน ครั้งอดีตเป็นชุมชนโบราณและเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กนามว่า บ้านไผ่ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนในเขตการปกครองของเมืองเวียงคุกหรือเวียงคุคำซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญขนาดใหญ่ของราชอาณาจักรล้านช้างในทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เมื่อกองทัพสยามยกทัพมาต่อสู้กับกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๔๗๑ และตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายพานพร้าว เขตเมืองพันพร้าว ฝั่งตรงข้ามกับนครเวียงจันทน์ ภายหลังจากสยามหลงกลทัพของเจ้าอนุวงศ์จึงละทิ้งค่ายพานพร้าวมาตั้งมั่นที่ ค่ายบกหวาน ซึ่งห่างจากค่ายพานพร้าวมาทางใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ภายหลังเมื่อสยามรบชนะทัพเจ้าอนุวงศ์จึงมีการตั้งเมืองใหม่บริเวณค่ายบกหวานแทนที่เมืองเวียงจันทน์เดิม ซี่งกองทัพไทยได้ทำลายจนไม่เหลือสภาพให้เป็นที่ตั้งมั่นของชาวลาวล้านช้างได้อีกต่อไป สยามเห็นว่าค่ายบกหวานเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการย้ายฐานการปกครองจากเมืองเวียงจันทน์มายังชัยภูมิแห่งใหม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำลายราชวงศ์เวียงจันทน์และทำลายเมืองเวียงจันทน์ลงแล้ว พระองค์ทรงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ว่าที่สมุหนายกมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นแทนที่เมืองเวียงจันทน์ในคราวนั้นด้วย สันนิษฐานว่า โหราจารย์ฝ่ายสยามได้ผูกศัพท์นามเมืองเป็นฤกษ์ชัยโดยใช้ชื่อค่ายบกหวานใกล้บ้านไผ่เป็นนิมิตนามเมือง ค่ายบกหวานเป็นสถานที่ไม่ติดแม่น้ำ ทหารจึงต้องอาศัยน้ำจากหนองบึงค่ายมาอุปโภคบริโภค สันนิษฐานว่าหนองบึงนั้นคงเรียกกันในคราวนั้นว่า บึงค่าย หรือ หนองค่าย ด้วยเป็นสถานที่ตั้งค่ายของกองทัพสยามวึ่งใช้รบชนะทัพเวียงจันทน์ถึงสองครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ และ พ.ศ. ๒๓๗๑ สยามจึงตั้งนามเมืองใหม่แห่งนี้ว่า เมืองหนองค่าย ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น เมืองหนองคาย สยามได้ใช้รูปดอกบัวซึ่งเป็นไม้พุทธอาสน์หรืออาสนะพระพุทธเจ้าและเป็นไม้น้ำตามนิมิตชื่อเมืองหนองค่ายมาเป็นตราประจำเมือง ส่วนราชทินนามของเจ้าเมืองที่ พระปทุมเทวาภิบาล นั้นแปลว่า ดอกบัวที่มีเทวดารักษาอยู่ สันนิษฐานว่า เป็นราชทินนามที่ตั้งให้พ้องกับราชทินนามเจ้าเมืองอุบลราชธานี และให้พ้องกับนามเมืองหนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองบรรพบุรุษของพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา)
เมื่อสยามยกบ้านไผ่ขึ้นเป็นเมืองหนองคายริมแม่น้ำโขงฝั่งขวาแล้ว ได้ตั้งค่ายกองทหารส่วนหน้าอยู่บริเวณศาลากลางหลังที่ ๑ และ ๒ เดิม ปัจจุบันมีถนนสายหนึ่งของตัวเมืองเรียกว่า ถนนท่าค่าย สืบมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เมืองหนองคายทำหน้าที่ปกครองหัวเมืองลาวล้านช้างทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขงแทนเมืองเวียงจันทน์ ราษฎรของเมืองหนองคายส่วนใหญ่คือชาวลาวเวียงจันทน์ ต่อมาเมืองหนองคายถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองเอก ๑ ใน ๑๕ หัวเมือง รวมเมืองขึ้น ๕๒ หัวเมือง หลังสิ้นสุดสงครามเจ้าอนุวงศ์และหลังการทำลายราชวงศ์เวียงจันทน์ลงแล้ว เมืองหนองคายนับว่ามีบทบาททางการเมืองการปกครองมากที่สุดเมืองหนึ่งในหัวเมืองฝ่ายลาวอีสาน และเป็นที่มั่นด่านหน้าของกองทัพสยามในการทำสงครามกับญวนอีก ๑๕ ปี คือ ใน พ.ศ. ๒๓๗๑-๒๓๘๖ ภายหลังจักรพรรดิมินมางของญวนได้พยายามเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนอาณาจักรล้านช้างและอาณาจักรกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพรบญวนจนถึงเมืองไซ่ง่อน โดยมีเมืองหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ช่วยสกัดทัพด้านนี้แทน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าราษฎรเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ต่างระส่ำระสายเพราะบ้านเมืองกลายเป็นสมรภูมิ จึงทรงมีพระบรมราโชบายให้เจ้าเมืองพาราษฎรอพยพมายังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยพระราชทานที่ทำกินและสืบตระกูลได้ จึงปรากฏว่ามีชาวเมืองพวนจากแคว้นเชียงขวางและชาวญวนอพยพมาอยู่ฝั่งเมืองหนองคายมากขึ้น[2]
สร้างวัดโพธิ์ชัย
[แก้]ภายหลังการสิ้นสงครามเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ กองทัพสยามได้ชิงเอาพระเสริมและพระใสมาประดิษฐานไว้ที่เมืองหนองคาย พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายก็เอาธุระในการเคารพบูชาตามสมควรเนื่องจากบรรพบุรุษแห่งราชวงศืเวียงจันทน์ของพระองค์เป็นผู้สร้าง และประกอบกับบ้านเมืองสมัยนั้นยังอยู่ในภาวะสงคราม ดังจะปรากฏว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๒-๒๓๗๖ นั้นมีการยกกองทัพมาผ่านและแวะพักที่เมืองหนองคายหลายครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นที่วัดหอก่อง กล่าวคือ เกิดแผ่นดินไหวทำให้เกิดเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ต่อหน้าพระเสริม ดังปรากฏในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ฉบับที่ ๒ ว่า
"ศักราชได้ ๑๙๘ ปีฮวยสัน เดือน ๖ ขึ้นแปดค่ำ วันเสาร์ มื้อเต่าสี ยามกองแลง (ประมาณบ่าย ๓ โมงเศษ) แผ่นดินยะ (แยก) ณ วัดหอก่อง ตรงหน้าพระเสริมแล"
การเกิดเหตุอัศจรรย์ดังกล่าวทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันของชาวเมืองและขุนนางข้าราชการไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นอาเพศบ้านเมืองจะทุกข์ร้อน บ้างก็ว่าเป็นลางบอกเหตุว่าพระเสริมต้องการเสด็จไปวัดอื่น บ้างก็ว่าวัดหอก่องเป็นวัดเล็กไม่เหมาะสมที่จะนำพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ทรงสร้างมาประดิษฐานไว้ในที่แคบๆ เช่นนี้ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ผู้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองหนองคายจึงได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็มีมติว่าจะต้องหาสถานที่เพื่อสร้างเป็นวัดใหญ่ และอัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐานอยู่ซึ่งสถานที่ดังกล่าวก็คือ วัดผีผิว วัดผีผิวเป็นวัดร้างที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งอดีต ภายในประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ลาวโบราณที่งดงาม และไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ดังนั้น จึงมีมติในการบูรณะวัดผีผิวและเปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดโพธิ์ชัย เมื่อกรมเมืองหนองคายมีมติดังกล่าวแล้ว พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ผู้เป็นเจ้าเมืองก็ได้นำความเข้าปรึกษากับท่านญาครูหลักคำผู้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่สุดของเมืองหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคาย จึงเป็นประธานฝ่ายฆราวาสโดยมีท่านญาคูหลักคำเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทำการยกวัดโพธิ์ชัย คือการยกฐานะจากวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา พร้อมกับบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุและสามเณรขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๒ ดังปรากฏในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ว่า
"ศักราชได้ ๒๐๑ ปีกัดไค้ เจ้าเมืองหนองคาย (ยก) วัดโพไซย เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ วันเสาร์แล"
เมื่อทำการบูรณะและยกวัดเสร็จแล้ว พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ได้นิมนต์ท่านญาคูหลักคำมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย และได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระเสริมจากวัดหอก่องมาประดิษฐานที่สิม (พระอุโบสถ) วัดโพธิ์ชัย แต่นั้นมาวัดโพธิ์ชัยก็กลายมาเป็นวัดหลวงประจำเมืองหนองคาย เนื่องจากเจ้าเมืองเป็นผู้สร้างหรือบูรณะขึ้น อนึ่ง ภายหลังจากประกอบพิธียกวัดโพธิ์ชัยและอัญเชิญพระเสิมมาประดิษฐานยังวัดโพธิ์ชัยแล้ว ถัดจากนั้นมาอีก ๑๓ วัน คือ วันที่ ๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญคือเกิดสุริยุปราคาขึ้น
หลัง พ.ศ. ๒๓๘๒ เป็นต้นมา พระเสิมและพระใสก็ได้รับการเคารพบูชาจากชาวเมืองหนองคายรวมถึงขุนนางข้าราชการจากกรุงเทพมหานครที่ได้เดินทางมาราชการที่เมืองหนองคายเป็นนิจ สมัยนั้นวัดโพธิ์ชัยมีท่านญาคูหลักคำเป็นเจ้าอาวาสก็ดำเนินการปกครองและพัฒนาวัดตามสมควร โดยได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากท่านเจ้าเมืองคือพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ทำให้วัดได้รับความเจริญมาตามลำดับ[3] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะได้พระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดบวรสถานมงคลหรือวัดพระแก้ววังหน้าที่ทรงให้สร้างขึ้นที่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ทรงทราบว่ามีพระพุทธรูปล้านช้างที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงมีพระรับสั่งให้อัญเชิญมาตั้งตั้งครั้งสงครามปราบกบฎเวียงจันทน์แต่ยังคงค้างอยู่ที่เมืองหนองคาย ในปีพ.ศ. ๒๓๙๙ พระองค์ทรงมีพระบวราชโองการให้ขุนวรราชธานี และเจ้าเหม็น (โอรสเจ้าอนุวงศ์)เป็นข้าหลวงขึ้นมาอัญเชิญพระเสริมจากเมืองหนองคายไปกรุงเทพฯ ดังปรากฏในพงศาวดารย่อฯ ความตอนหนึ่งว่า
"เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ มื้อเต่าเส็ด ขุนวรธานีแลเจ้าเหม็น เปนข้าหลวงมาเอาพระเสิมยกจากเมืองหนองคายไปไทยก็ปีนั้น"
และเมื่อขุนวรธานีและเจ้าเหม็น เป็นข้าหลวงอัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัยลงไปยังกรุงเทพฯ ขุนวรธานีจะอัญเชิญพระใสไปพร้อมกับพระเสริมด้วย แต่เกิดปาฏิหาริย์ โดยพราหมณ์ผู้อัญเชิญนั้นไม่สามารถขับเกวียนนำพระใสไปได้ แม้จะใช้กำลังคนหรืออ้อนวอนอย่างไรก็ตาม จนในที่สุดเกวียนได้หักลง เมื่อหาเกวียนใหม่มาแทนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้อีก จึงปรึกษาตกลงกันว่าให้อัญเชิญพระใสมาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแทนพระเสริม ดังนั้นหลวงพ่อพระใสจึงประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยจนถึงปัจจุบัน
ถึงเเก่กรรม
[แก้]พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคาย ครองเมืองหนองคายได้ ๒๕ ปี ก็ถึงเเก่กรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๕ เวลาประมาณ ๓ โมงเช้า ชาวเมืองได้พากันจัดงานบำเพ็ญพระกุศลถวายแด่พระองค์และเก็บพระศพของพระองค์ไว้รอจัดงานและสร้างพระเมรุฌาปนกิจ ต่อมากรมการเมืองและชาวเมืองหนองคายได้ทำการฌาปนกิจพระศพพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานการขอพระราชทานเพลิงและหีบศิลาหน้าเพลิงจากพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามแต่ประการใด
บุตร
[แก้]๑. พระยาวุฒาธิคุณ (ท้าวเคน) ผู้สำเร็จราชการเมืองหนองคาย คนที่ ๓
๒. พระวิชิตหงษ์พิไสย (ท้าวขัติยะ) เจ้าเมืองทุรคมหงษ์สถิตย์ คนที่ ๑
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย) | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ยังไม่พบหลักฐานทางราชการว่าเมืองหนองคายเคยเป็นหัวเมืองประเทศราช
- ↑ "พงศาวดารเมืองหนองคาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2015-06-13.
- ↑ "ประวัติวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-26. สืบค้นเมื่อ 2015-06-13.
ก่อนหน้า | พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา ณ หนองคาย) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เริ่มตั้งเมืองหนองคาย | เจ้าเมืองหนองคาย (พ.ศ. 2370 - พ.ศ. 2395) |
พระปทุมเทวาภิบาล (ราชบุตร) |