ผีของเปปเปอร์
ผีของเปปเปอร์ (อังกฤษ: Pepper's ghost) เป็นเทคนิคภาพลวงตาที่ใช้ในโรงละคร โรงภาพยนตร์ สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ โทรทัศน์ และคอนเสิร์ต ภาพลวงตาแสดงโดยสะท้อนภาพของวัตถุนอกเวทีเพื่อให้ดูเหมือนว่าวัตถุนั้นอยู่ต่อหน้าผู้ชม[1]
เทคนิคนี้ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ (ค.ศ. 1821–1900) ซึ่งเริ่มทำการสาธิตในโรงละครใน ค.ศ. 1862[2] สิ่งนี้นำมาซึ่งกระแสความนิยมระดับนานาชาติสำหรับบทละครแนวผีซึ่งใช้เทคนิคที่แปลกใหม่นี้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860 และหลายทศวรรษต่อมา
เทคนิคภาพลวงตานี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อจุดประสงค์ด้านความบันเทิงและการประชาสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้รวมถึงมายากล "หญิงสาวกับกอริลลา" ที่มักพบแสดงร่วมอยู่ในการแสดงของคณะละครสัตว์ยุคเก่า[3] หรือการปรากฏตัวของ "ผี" ที่คฤหาสน์ผีสิง และ "นางฟ้าสีน้ำเงิน" ในเครื่องเล่น Pinocchio's Daring Journey ในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย เครื่องบอกบท (Teleprompter) เป็นการประยุกต์ใช้งานในสมัยใหม่ของเทคนิคนี้ การสร้างภาพลวงตานี้ถูกใช้เพื่อแสดงภาพขนาดเท่าตัวจริงของเคท มอสส์ ที่งานแสดงการเดินแบบสำหรับคอลเลกชัน The Widows of Culloden ของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีนใน ค.ศ. 2006[4]
ในคริสต์ทศวรรษ 2010 มีการใช้เทคนิคนี้เพื่อทำให้ศิลปินเสมือนจริงปรากฏตัวบนเวทีในคอนเสิร์ต "แสดงสด" ตัวอย่างได้แก่ เอลวิส เพรสลีย์ ทูพัค ชาเคอร์ และไมเคิล แจ็กสัน โดยมักถูกอธิบายอย่างผิด ๆ ว่าเป็นเทคนิค "ฮอโลแกรม"[5][6] อุปกรณ์เพื่อแสดงเทคนิคดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องฉายภาพ เครื่องเซิร์ฟเวอร์สำหรับประมวลผลสื่อ และแผ่นฟิล์มแบบพิเศษที่ขึงในพื้นที่ใช้แสดงภาพ[7] การติดตั้งอาจเป็นแบบทำขึ้นเฉพาะงาน หรือใช้ระบบที่มีผู้ผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เช่น Cheoptics360 หรือ Musion Eyeliner
อุปกรณ์อีกแบบหนึ่งได้รับการออกแบบโดยใช้พีระมิดพลาสติกใส และหน้าจอสมาร์ทโฟน เพื่อสร้างภาพลวงตาของวัตถุ 3 มิติ[7]
เทคนิค
[แก้]ภาพลวงตาหลักสร้างโดยใช้เวทีที่จัดไว้เป็นพิเศษโดยแบ่งพื้นที่เป็นสองห้อง ห้องหนึ่งผู้ชมสามารถมองเห็นได้ และห้องที่สอง (บางครั้งเรียกว่า "ห้องสีฟ้า") ที่ซ่อนอยู่ด้านข้าง แผ่นกระจกใส (หรือเพล็กซิกลาส หรือฟิล์มพลาสติก) วางไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งในห้องหลักในมุมที่สะท้อนภาพจากห้องสีฟ้าไปยังผู้ชม โดยทั่วไปจะจัดห้องสีฟ้าไว้ที่ด้านหนึ่งของเวที และแผ่นกระจกบนเวทีจะวางทำมุมกับแกนแนวตั้งที่ 45 องศา[3] ต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อทำให้กระจกมองไม่เห็นมากที่สุด โดยปกติแล้วจะซ่อนขอบด้านล่างโดยใช้ลวดลายบนพื้น และจัดการให้แสงไม่สะท้อนออกมา แผ่นกระจกจับแสงสะท้อนจากนักแสดงที่จัดแสงให้สว่างในพื้นที่ที่ซ่อนจากผู้ชม โดยที่ไม่สังเกตเห็นแผ่นกระจกผู้ชมจะเข้าใจผิดคิดว่าภาพสะท้อนนี้เป็นร่างผีที่อยู่ท่ามกลางนักแสดงบนเวที การจัดแสงของนักแสดงในบริเวณที่ซ่อนอยู่สามารถปรับให้ค่อย ๆ สว่างขึ้นหรือจางลงเพื่อทำให้ภาพผีค่อย ๆ เลือนหายไปจากการมองเห็น
เมื่อแสงไฟสว่างในห้องหลักและมืดในห้องสีฟ้า ภาพที่สะท้อนจะไม่สามารถมองเห็นได้ เมื่อแสงในห้องสีฟ้าเพิ่มขึ้น มักจะมีการหรี่แสงของห้องหลักเพื่อทำให้ผลของเทคนิคเด่นชัดขึ้น แสงสะท้อนจะมองเห็นได้และวัตถุในห้องสีฟ้าที่ซ่อนอยู่ จะดูเหมือนปรากฏขึ้นจากอากาศธาตุในพื้นที่ที่ผู้ชมมองเห็น รูปแบบอื่นที่พบได้บ่อยจะใช้ห้องสีฟ้า 2 ห้อง ห้องหนึ่งอยู่ด้านหลังกระจกในห้องหลัก และอีกห้องหนึ่งอยู่ด้านข้าง เนื้อหาของห้องสามารถสลับระหว่างสถานะ 'มองเห็นได้' และ 'มองไม่เห็น' ได้โดยการปรับแสงในห้องนั้น[3]
ห้องที่ซ่อนอยู่อาจเป็นภาพสะท้อนกลับด้านของห้องหลัก เพื่อให้ภาพที่สะท้อนนั้นตรงกับเค้าโครงของห้องหลักทุกประการ วิธีการนี้มีประโยชน์ในการทำให้วัตถุดูเหมือนปรากฏขึ้นหรือหายไป ภาพลวงตานี้ยังสามารถใช้เพื่อทำให้วัตถุหรือบุคคลซึ่งสะท้อนในกระจกเงาดูเหมือนเปลี่ยนรูปไปเป็นอีกวัตถุหนึ่ง (หรือกลับกัน) นี่คือหลักการเบื้องหลังของมายากล "หญิงสาวกับกอริลลา" ที่พบในการแสดงโชว์ละครสัตว์ยุคเก่า รูปแบบอื่น เช่น ห้องที่ซ่อนอยู่อาจทาสีดำโดยมีเพียงวัตถุสีอ่อนเท่านั้น ในกรณีนี้ เมื่อมีแสงส่องเข้ามาในห้อง วัตถุที่เป็นสีอ่อนจะสะท้อนแสงนั้นอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงปรากฏเป็นภาพผีและโปร่งแสงบนบานกระจก (ที่มองไม่เห็น) ในห้องที่ผู้ชมมองเห็นได้ สามารถใช้เพื่อทำให้วัตถุดูเหมือนลอยอยู่ในอวกาศ
ประเภทของละครที่ใช้ภาพลวงตาซึ่งจอห์น เฮนรี เปปเปอร์ เป็นผู้บุกเบิกและจัดแสดงซ้ำ ๆ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1860 คือละครสั้นที่มีการแสดงผีซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงคนอื่น ๆ[8][9] รายการที่เป็นที่นิยมในยุคแรก ๆ แสดงให้เห็นนักแสดงคนหนึ่งพยายามใช้ดาบต่อสู้กับผีที่ไม่มีตัวตน[10] ในการออกแบบท่าเต้นของนักแสดงคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผี เปปเปอร์ใช้เครื่องหมายที่ซ่อนบนพื้นเวทีสำหรับตำแหน่งที่พวกเขาควรวางเท้า เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถมองเห็นตำแหน่งที่ชัดเจนของภาพผีได้[11] หนังสือของเปปเปอร์ ใน ค.ศ. 1860 มีคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับความลับของละครเวทีของเขา และมีการเปิดเผยในเอกสารร่วมกับ เฮนรี เดิกส์ (Henry Dircks) ผู้ประดิษฐ์ร่วมใน ค.ศ. 1863 เพื่อจดสิทธิบัตรเทคนิคภาพลวงตาผีนี้[12]
โดยหลักการแล้วพื้นที่ที่ซ่อนอยู่จะอยู่ด้านล่างของส่วนที่มองเห็นได้ของเวที แต่ในการจัดฉากแบบอื่น ๆ สามารถให้พื้นที่ซ่อนอยู่ด้านบน หรือที่ใช้กันโดยทั่วไปจะติดกับพื้นที่ที่ผู้ชมมองเห็นได้[13] ขนาดอาจเล็กลงมาก เช่นใช้สำหรับการแสดงถ้ามองขนาดเล็ก แม้กระทั่งเป็นของเล่นแบบถือด้วยมือ[14] ในการจัดการฉากแบบเริ่มต้นของเปปเปอร์มีเป้าหมายให้สามารถมองเห็นภาพผีได้จากทุกที่ทั่วโรงละคร
สามารถสร้างเทคนิคพิเศษมากมายผ่านเทคนิคนี้ เนื่องจากแผ่นกระจกใสสะท้อนแสงน้อยกว่ากระจกเงา จึงไม่สะท้อนวัตถุสีดำด้านซึ่งอยู่ในบริเวณที่ซ่อนจากผู้ชม ดังนั้นบางครั้งจึงใช้นักแสดงชุดดำที่มองไม่เห็นในพื้นที่ซ่อนเพื่อควบคุมวัตถุที่มีแสงจ้าและมีสีอ่อน ซึ่งอาจดูเหมือนลอยอยู่ในอากาศได้ การแสดงภาพลวงตาผีในที่สาธารณะครั้งแรกของเปปเปอร์ ใช้โครงกระดูกนั่งอยู่ในผ้าห่อศพสีขาวซึ่งถูกควบคุมโดยนักแสดงที่มองไม่เห็นในชุดคลุมกำมะหยี่สีดำ[15] นักแสดงในที่ซ่อนถูกโรยผงสีขาวบนศีรษะเพื่อสะท้อนแสงแต่เสื้อผ้าของพวกเขาเป็นสีดำด้าน ซึ่งภาพจะปรากฏเป็นศีรษะที่ไม่มีร่างได้เมื่อมีแสงสว่างจ้าและสะท้อนจากฉากกระจกใสที่ตั้งทำมุม[16]
เทคนิคผีของเปปเปอร์ สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้นักแสดงปรากฏตัวขึ้นจากที่ไหนก็ได้หรือหายไปในพื้นที่ว่างเปล่า บางครั้งเปปเปอร์จะทักทายผู้ชมด้วยการปรากฎตัวขึ้นกลางเวทีอย่างกะทันหัน[17] ภาพลวงตายังสามารถเปลี่ยนวัตถุหรือบุคคลหนึ่งให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น ในบางครั้งเปปเปอร์แขวนตะกร้าส้มไว้บนเวทีซึ่งต่อมาก็ "เปลี่ยน" เป็นขวดแยมผิวส้ม[17]
ความบันเทิงอื่น ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์ เช่น การแสดงตัวละครที่บินรอบฉากหลังของโรงละครที่วาดเป็นท้องฟ้า นักแสดงที่ซ่อนอยู่ซึ่งนอนอยู่หน้าแสงไฟบนโต๊ะสีดำด้านที่หมุนได้ สวมเครื่องแต่งกายที่มีเกล็ดโลหะเพื่อเพิ่มการสะท้อนแสงบนฉากกระจกที่ซ่อนอยู่[18] สิ่งนี้เป็นเค้าลางของเทคนิคพิเศษของภาพยนตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ประวัติ
[แก้]ผู้บุกเบิก
[แก้]จัมบัตติสตา เดลลา ปอร์ตา (Giambattista della Porta) นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการชาวเนเปิลในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจากนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มากมาย ผลงานของเขาใน ค.ศ. 1589 Magia Naturalis (มายากลธรรมชาติ) ได้รวมคำอธิบายของภาพลวงตาชื่อ "เราอาจเห็นสิ่งต่าง ๆ ในห้องโดยที่ไม่ได้อยู่ในนั้นได้อย่างไร" ซึ่งเป็นคำอธิบายแรกที่ทราบซึ่งเกี่ยวกับเทคนิคพิเศษแบบเดียวกับผีของเปปเปอร์[19]
คำอธิบายของปอร์ตาจากฉบับแปลภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1658 (หน้า 370) มีดังต่อไปนี้
ให้มีห้องที่ไม่มีแสงอื่นส่องเข้ามา เว้นแต่ทางประตูหรือหน้าต่างที่ผู้ชมมองเข้ามา ขอให้หน้าต่างทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นกระจกเหมือนที่เราเคยทำเพื่อป้องกันความหนาวเย็น แต่ให้ขัดเงาเสียส่วนหนึ่ง คืออาจมีกระจกเงาอยู่ทั้งสองด้าน คนดูต้องมองเข้าไป ส่วนที่เหลือไม่ต้องทำอะไร ให้วางรูปภาพไว้ตรงหน้าต่างนี้ รูปปั้นหินอ่อน และอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เพราะสิ่งที่อยู่ภายนอกดูเหมือนจะอยู่ภายใน และสิ่งที่อยู่ข้างหลังผู้ชมเขาจะคิดว่าอยู่ตรงกลางบ้าน ไกลจากกระจกด้านใน เมื่อยืนมองจากภายนอกเข้าไป ชัดเจนและแน่นอนว่า เขาจะคิดว่าเขาไม่เห็นอะไรนอกจากความจริง แต่เพื่อไม่ให้ทราบถึงการทำขึ้น ให้ทำส่วนนั้นในที่ซึ่งประดับไว้เพื่อผู้ชมจะไม่เห็นเช่น ถ้าอยู่เหนือศีรษะให้มีวัสดุบุอยู่ระหว่างส่วนนั้น และถ้าผู้ทำมีความแยบยล ก็เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ชมจะคิดว่าเขาถูกหลอก
ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางสำหรับหารายได้จากความบันเทิงบนเวทีท่ามกลางการโต้แย้ง ข้อพิพาทด้านสิทธิบัตร และการดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตรของผู้จดทะเบียนเทคนิคนี้ ประเภทของความบันเทิงที่ได้รับความนิยมคือการสาธิตทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่บนเวที การจำลองปรากฏการณ์คล้ายผีผ่านเทคโนโลยีทางแสงที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้เหมาะสมอย่างยิ่ง[20] การแสดง "Phantasmagoria" ซึ่งจำลองปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติก็เป็นความบันเทิงที่ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ มีการใช้เทคนิคตะเกียงวิเศษที่ซับซ้อนมาก เช่นเทคนิคที่สมบูรณ์แบบของ เอเตียน-กัสปาร์ รอแบร์ (Étienne-Gaspard Robert) หรือชื่อทางการแสดง โรแบร์ซอน (Robertson) ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ในปารีส มีการใช้เครื่องฉายหลายเครื่อง เครื่องฉายภาพเคลื่อนที่ และการฉายภาพบนกระจกและควัน สำหรับเทคนิคภาพลวงตาใหม่ที่ต่อมามีชื่อว่าผีของเปปเปอร์ นำเสนอวิธีการสร้างภาพผีที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยใช้การสะท้อนกลับไม่ใช่การฉายภาพ
การอ้างว่าเป็นผู้ใช้เทคนิคภาพลวงตาใหม่ในโรงภาพยนตร์เป็นคนแรกมาจากนักมายากลละครเวทีชาวดัตช์ เฮนริก โยเซฟ ดนเกิล (Henrik Joseph Donckel) ซึ่งโด่งดังในฝรั่งเศสภายใต้ชื่อบนเวทีว่า อองรี โรแบง (Henri Robin) โรแบงกล่าวว่าเขาใช้เวลาสองปีในการพัฒนาภาพลวงตาก่อนที่จะลองใช้ใน ค.ศ. 1847 ระหว่างการแสดงมายากลและเรื่องเหนือธรรมชาติบนเวทีที่แสดงเป็นประจำในเมืองลียง อย่างไรก็ตาม เขาพบว่าการแสดงเทคนิคพิเศษภาพผีในช่วงต้นนี้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเพียงเล็กน้อย เขาเขียนว่า: "ภาพลวงตาผีล้มเหลวในการบรรลุผล ซึ่งข้าพเจ้าได้ปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา" ข้อบกพร่องของเทคนิคดั้งเดิมของเขา "ทำให้ข้าพเจ้าลำบากใจมาก ข้าพเจ้าพบว่าตัวเองถูกบีบให้เลิกใช้ไประยะหนึ่ง"[21]
ในขณะที่โรแบงมีชื่อเสียงในเวลาต่อมาจากการนำเทคนิคผีของเปปเปอร์ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ และมีความซับซ้อนมากมาย ที่โรงละครของเขาเองในปารีส การแสดงดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 1863 หลังจากที่จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ ได้แสดงวิธีการแสดงภาพลวงตาของเขาเองที่สถาบันโพลีเทคนิคลอนดอน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1862[20] ฌอง-ยูจีน โรแบร์-ฮูแด็ง (Jean-Eugene Robert-Houdin) ปรมาจารย์ด้านละครเวทีชาวฝรั่งเศสร่วมสมัย ยกย่องการแสดงของโรแบงและการแสดงภาพผีอื่น ๆ ในปารีส ค.ศ. 1863 ว่าเป็น "นักลอกเลียนแบบ" นวัตกรรมของเปปเปอร์[22] จิม สไตน์เมเยอร์ (Jim Steinmeyer) ผู้ตรวจพิจารณาด้านเทคนิคและประวัติศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับเทคนิคผีของเปปเปอร์ ได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของคำกล่าวอ้างของโรแบงสำหรับการแสดงของเขาใน ค.ศ. 1847[23] อะไรก็ตามที่โรแบงทำในปี 1847 ในชื่อของเขาเอง มันไม่ได้สร้างอะไรที่เหมือนกับเทคนิคบนเวทีที่เปปเปอร์และต่อมาโรแบงได้ใช้เอง ซึ่งสร้างความประหลาดใจและตื่นเต้นให้กับผู้ชมในช่วงปี 1863
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1852 ศิลปิน ปิแยร์ เซแก็ง ได้จดสิทธิบัตรของเล่นพกพาสำหรับเด็กคล้ายการแสดงถ้ำมองในฝรั่งเศส ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า "โพลิโอสโคป (polyoscope)"[24] สิ่งนี้ใช้ภาพลวงตาแบบเดียวกันโดยอิงจากภาพสะท้อน ซึ่งอีกสิบปีต่อมาเปปเปอร์และเดิกส์ ได้จดสิทธิบัตรในอังกฤษภายใต้ชื่อของพวกเขา แม้ว่าการสร้างภาพลวงตาภายในกล่องเล็ก ๆ จะแตกต่างจากการแสดงภาพลวงตาบนเวทีอย่างเห็นได้ชัด แต่สิทธิบัตรของเซแก็งในปี 1852 ก็นำไปสู่การเอาชนะความพยายามของเปปเปอร์ในปี 1863 ในการควบคุมและอนุญาตการใช้เทคนิค "ผีของเปปเปอร์" ในฝรั่งเศสและในอังกฤษ[22]
เปปเปอร์อธิบายถึงโพลิสโคปของเซแก็ง:
"มันประกอบด้วยกล่องที่มีแผ่นกระจกเล็ก ๆ วางทำมุม 45 องศา และมันสะท้อนโต๊ะที่ซ่อนอยู่ มีหุ่นพลาสติก วิญญาณที่ปรากฏอยู่ด้านหลังกระจก และวัยรุ่นคนไหนที่ครอบครอง ของเล่นจะเชิญชวนให้เพื่อน ๆ นำมันออกมาจากกล่อง ซึ่งมันจะละลายอยู่ในมือของพวกเขาแล้วเลือนหายไป”[14]
ใน ค.ศ. 1863 อองรี โรแบง ยืนยันว่ากล้องโพลีสโคปของเซแก็ง ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงภาพลวงตาบนเวทีในรุ่นดั้งเดิมของเขาเอง ซึ่งเซแก็ง ได้เห็นขณะวาดภาพสไลด์ของตะเกียงวิเศษสำหรับการแสดงส่วนอื่นของโรแบง[23]
เดิกส์และเปปเปอร์
[แก้]เฮนรี เดิกส์ เป็นวิศวกรชาวอังกฤษและนักประดิษฐ์เชิงปฏิบัติการ ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1858 เขาพยายามค้นหาโรงละครซึ่งจะนำเทคนิคทางภาพของเขาไปใช้ในละครแนวใหม่ที่น่าตื่นเต้นโดยมีการแสดงการปรากฏตัวซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงบนเวที[25] เขาสร้างแบบจำลองที่คล้ายการแสดงถ้ำมองซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสะท้อนบนฉากกระจกสามารถสร้างภาพลวงตาได้อย่างไร[26] นอกจากนี้ เขายังเสนอบทละครชุดหนึ่งที่มีเทคนิคพิเศษภาพผี ซึ่งอุปกรณ์ของเขาสามารถใช้งานได้และสร้างภาพลวงตาที่ซับซ้อน เช่น การแปลงร่าง สามารถทำสำเร็จได้ด้วยเทคนิคนี้[27] แต่ในแง่ของการใช้เทคนิคในโรงละคร ดูเหมือนเดิกส์ไม่สามารถคิดนอกเหนือไปจากการปรับปรุงโรงละครให้คล้ายกับแบบจำลองคล้ายการแสดงถ้ำมองของเขาได้ เขาสร้างงานออกแบบสำหรับโรงละครซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง โดยต้องสร้างหอประชุมขึ้นใหม่เพื่อจัดแสดงภาพลวงตาซึ่งเป็นไปไม่ได้[28] โรงละครที่เขาเสนองานต่างไม่สนใจ ในการเสนอแบบเพื่อดึงดูดความสนใจอีกครั้งเขาได้โฆษณาแบบจำลองของเขาเพื่อขาย และในปลายปี 1862 ผู้ผลิตแบบจำลองได้เชิญจอห์น เฮนรี เปปเปอร์ มาดูแบบจำลอง[29]
จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รอบรู้หลายด้าน เป็นทั้งนักการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่ชาญฉลาด มีสำนึกสาธารณะ และเป็นนักโฆษณา[30] ใน ค.ศ. 1854 เขาได้กลายเป็นผู้อำนวยการและดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวของ รอยัลโปลีเทคนิค (Royal Polytechnic) ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์[31] โรงเรียนโปลีเทคนิคเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษาและการแสดงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่สนใจต่อสาธารณะ[30]
หลังจากได้เห็นแบบจำลองการแสดงถ้ำมองของเดิกส์ในปี 1862 เปปเปอร์ก็คิดพลิกแพลงอย่างแยบยลโดยการเพิ่มแผ่นกระจกทำมุมและแผ่นปิดหลุมออเคสตรา โรงละครหรือห้องโถงเกือบทุกแห่งสามารถทำให้ผู้ชมจำนวนมากมองเห็นภาพลวงตาได้[32] การแสดงต่อสาธารณะครั้งแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1862 เป็นฉากจากเรื่อง The Haunted Man ของชาลส์ ดิกคินส์ ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ชมและนักข่าว[33] ข้อตกลงระหว่าง เปปเปอร์และเดิกส์ เกิดขึ้นโดยพวกเขาร่วมกันจดสิทธิบัตรภาพลวงตา เดิกส์ตกลงที่จะสละส่วนแบ่งกำไรจากความพึงพอใจที่ได้เห็นแนวคิดของเขาดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ[34] พวกเขาได้รับสิทธิบัตรฉบับชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1863 และได้รับอนุมัติสิทธิบัตรในเดือนตุลาคมของปีนั้น
ก่อนที่เดิกส์จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเปปเปอร์ครบหนึ่งปี เดิกส์ได้ตีพิมพ์หนังสือซึ่งกล่าวหาว่าเปปเปอร์วางแผนที่จะสร้างการรับรู้ถึงชื่อของเปปเปอร์เพียงคนเดียวในผลงานที่สร้างร่วมกัน[35] จากข้อมูลของเดิกส์ในขณะที่เปปเปอร์ ให้ความสำคัญกับการให้เครดิตเดิกส์ในการสื่อสารใด ๆ ต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ แต่ทุกสิ่งที่เข้าถึงประชาชนทั่วไป เช่น รายงานในหนังสือพิมพ์ โฆษณา และโปสเตอร์ละคร ล้วนกล่าวถึงเปปเปอร์เพียงผู้เดียว เมื่อใดก็ตามที่เดิกส์บ่น เขากล่าวว่าเปปเปอร์ จะตำหนินักข่าวหรือผู้จัดการโรงละครที่ประมาท อย่างไรก็ตาม การละเว้นการให้เครดิตเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเดิกส์เชื่อว่าเปปเปอร์จงใจพยายามแก้ไขให้มีแต่ชื่อของเขาเพียงคนเดียวในความคิดของประชาชนทั่วไป[36] ส่วนใหญ่ของหนังสือขนาด 106 หน้าของเดิกส์เรื่อง The Ghost ประกอบไปด้วยการกล่าวหาดังกล่าว พร้อมตัวอย่างอย่างละเอียดว่าเปปเปอร์ซ่อนชื่อของเดิกส์ไว้อย่างไร[35]
บทความก่อนหน้านี้ในปี 1863 ของ Spectator ได้นำเสนอความร่วมมือของ เดิกส์/เปปเปอร์ ดังนี้:
“ผีที่น่าชื่นชมนี้เป็นลูกหลานของบิดาทั้งสอง… สำหรับคุณเดิกส์ถือเป็นเกียรติที่ได้ประดิษฐ์เขาขึ้นมา…. และศาสตราจารย์เปปเปอร์มีความชอบจากการปรับปรุงเขาให้ดีขึ้น ทำให้เขาเหมาะสมสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับโลก และแม้กระทั่งสั่งสอนเขาสำหรับการแสดงบนเวที"[37]
ความนิยม
[แก้]บทละครสั้นที่ใช้ภาพลวงตาผีแบบใหม่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เปปเปอร์จัดแสดงการสาธิตที่น่าทึ่งและสร้างผลกำไรมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงละครสำหรับการบรรยายของรอยัลโปลีเทคนิคในลอนดอน[38] ช่วงปลายปี 1863 ชื่อเสียงของภาพลวงตาได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางจากการแสดงละครที่มีผีเป็นศูนย์กลาง ในสถานที่หลายแห่งในลอนดอน แมนเชสเตอร์ กลาสโกว์ ปารีส และนิวยอร์ก[39] และได้รับพระบรมราชินูปถัมภ์[40] มีแม้กระทั่งการขาดแคลนแผ่นกระจกเนื่องจากความต้องการฉากแก้วของโรงละคร[41] เพลงยอดนิยมเพลงหนึ่งของปี 1863 มีเนื้อร้องที่ยกย่อง "Patent Ghost":[40]
At Music Halls, Theatres too,
This 'Patent Ghost' they show.
The Goblin novelty to view,
Some thousands nightly go.
จากรายการบัญชีของเขา เปปเปอร์ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับผลกำไรทั้งหมด สร้างรายได้จำนวนมากจากสิทธิบัตร[42] เขาจัดให้มีการแสดงของตัวเองและให้สิทธิ์โดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ประกอบการรายอื่น ในอังกฤษในตอนแรกเขาประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องผู้ลอกเลียนแบบที่ไม่ได้รับอนุญาต ขัดขวางผู้อื่นด้วยการคุกคามทางกฎหมาย และเอาชนะคดีในศาลในเดือนกันยายน ค.ศ. 1863 ในคดีกับเจ้าของหอแสดงดนตรีที่คัดค้านสิทธิบัตร[43] อย่างไรก็ตาม ขณะอยู่ในปารีสในฤดูร้อนปี 1863 เพื่อช่วยเหลือการแสดงที่มีลิขสิทธิ์ เปปเปอร์ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถหยุด อองรี โรแบง และผู้อื่นอีกหลายคนที่กำลังแสดงโดยไม่มีใบอนุญาตได้ โรแบงประสบความสำเร็จในการอ้างถึงสิทธิบัตรกล้องโพลิโอสโคปที่มีอยู่แล้วของเซแก็ง ซึ่งเปปเปอร์ไม่รู้เรื่องนี้เลย[44] ในช่วงสี่ปีถัดมา โรแบงได้พัฒนางานภาพลวงตาในปารีสที่น่าประทับใจและเป็นต้นฉบับ รายการของโรแบงที่มีชื่อเสียงรายการหนึ่งบรรยายภาพของปากานีนี นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ที่กำลังมีปัญหาในการหลับโดยนักไวโอลินผี ซึ่งปรากฏตัวและหายตัวไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า[23]
ในช่วงสองทศวรรษต่อมา การแสดงโดยใช้ภาพลวงตาได้แพร่หลายไปยังหลายประเทศ ใน ค.ศ. 1877 มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา[45] ในสหราชอาณาจักร ผู้สร้างละครเวทีใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์ ออกแสดงตามเขตนอกเมืองใหญ่ นักแสดงเดินทางโดยนำฉากกระจกของตนเองไปด้วยและกลายเป็นที่รู้จักในนาม "บริษัทโอเปราสเปกตรัม"[9] มีบริษัทโรงละครที่มีความเชี่ยวชาญประมาณสิบแห่งในอังกฤษ การแสดงโดยทั่วไปจะประกอบด้วยบทละครจำนวนมากที่มีผีเป็นศูนย์กลางของโครงเรื่อง เช่น การดัดแปลงเพลง A Christmas Carol ของชาลส์ ดิกคินส์ โดยตามด้วยการ์ตูนสั้นที่ใช้เทคนิคภาพลวงตาผี บริษัทอย่างเช่น The Original Pepper's Ghost and Spectral Opera Company มีละครแนวผี 11 เรื่องในชุดการแสดงของตน[9] อีกบริษัทหนึ่งในเพียงช่วงปีเดียวคือ ค.ศ. 1877 ทำการแสดงในสถานที่ต่าง ๆ 30 แห่งในอังกฤษ โดยปกติแต่ละที่จะแสดงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แต่บางครั้งก็นานถึงหกสัปดาห์[9] อย่างไรก็ตาม ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890 ความแปลกใหม่ได้จืดจางไปและความนิยมในโรงละครดังกล่าวก็ลดลงอย่างมาก[9] แต่เทคนิคผีของเปปเปอร์ก็ยังคงมีการใช้งานอยู่ในเครื่องเล่นเพื่อความบันเทิงที่โลดโผนเช่น "dark ride" หรือ "ghost train" ในงานแสดงสินค้าและสวนสนุกสมัยใหม่ มีบันทึกเรื่องราวโดยละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้ชมในความบันเทิงที่น่ากลัวสองรายการ ซึ่งทั้งคู่ใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์ในการแสดง Tavern of the Dead ที่จัดขึ้นที่ปารีสและนิวยอร์ก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890[46]
ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1860 "ผีของเปปเปอร์" ได้กลายเป็นคำสากลสำหรับภาพลวงตาที่เกิดจากการสะท้อนบนฉากกระจกที่ไม่มีใครสังเกตเห็นฉาก มีการใช้เป็นประจำกับภาพลวงตาทุกแบบ ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างพบได้ทั่วไปในการจัดแสดง การแสดงถ้ำมอง และการติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ และสวนสนุกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์เฉพาะทางแสงในการแสดงสมัยใหม่เหล่านี้มักเป็นไปตามการออกแบบก่อนหน้าของเซแก็ง หรือเดิกส์ มากกว่าการดัดแปลงเฉพาะสำหรับโรงละครซึ่งทำให้ชื่อของเปปเปอร์ถูกนำมาใช้เรียกเทคนิคนี้อย่างยาวนาน[47]
การใช้งานในยุคใหม่
[แก้]ระบบ
[แก้]มีระบบที่มีลิขสิทธิ์หลายระบบที่สร้างเทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ เช่น "Musion Eyeliner" จะใช้ฟิล์มเคลือบโลหะบาง ๆ ติดตั้งไว้ด้านหน้าเวทีโดยทำมุม 45 องศาเข้าหาผู้ชม ช่องด้านล่างฉากจะเป็นภาพที่สว่างจากหน้าจอแอลอีดี หรือภาพจากโปรเจ็กเตอร์กำลังสูง เมื่อมองจากมุมมองของผู้ชม ภาพที่สะท้อนจะปรากฏเหมือนอยู่บนเวที ส่วนระบบ "Cheoptics360" ของบริษัทแรมโบล (Ramboll)[48] แสดงภาพเคลื่อนไหว 3 มิติแบบหมุนหรือลำดับภาพวีดิทัศน์พิเศษภายในพีระมิดโปร่งใสสี่ด้าน[49] ระบบนี้มักใช้สำหรับกิจกรรมการค้าปลีกและการจัดนิทรรศการ[50]
สวนสนุก
[แก้]การนำเทคนิคภาพลวงตานี้ไปใช้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสามารถพบได้ที่เครื่องเล่น The Haunted Mansion และ Phantom Manor ในสวนสนุกดิสนีย์หลายแห่ง ซึ่งมีฉากยาว 90 ฟุต (27 เมตร) มีเทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์หลายแบบรวมอยู่ในฉากเดียว ผู้ชมจะเดินทางไปตามชั้นลอยที่ยกสูง มองผ่านบานกระจกสูง 30 ฟุต (9.1 เมตร) เข้าไปในห้องบอลรูมที่ว่างเปล่า ภาพผีซึ่งเป็นหุ่นจำลองที่มีกลไก (Animatronic) เคลื่อนไหวในห้องสีดำที่ซ่อนอยู่ใต้และเหนือชั้นลอย เทคนิคขั้นสูงของภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ยังถูกใช้ในเครื่องเล่น The Twilight Zone Tower of Terror อีกด้วย
เครื่องเล่น Turbidite Manor ที่ผู้ชมเดินผ่านได้ในแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐ ใช้เทคนิคคลาสสิกรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นวิญญาณต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งสามารถชมได้ในระยะใกล้มากขึ้น The House at Haunted Hill สถานที่ท่องเที่ยวฮาโลวีนในวูดแลนด์ฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้รูปแบบที่คล้ายกันในหน้าต่างด้านหน้าเพื่อแสดงตัวละครจากโครงเรื่อง
เครื่องเล่น Hogwarts Express ที่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ รัฐฟลอริดา ใช้เทคนิคภาพลวงตาผีของเปปเปอร์ เพื่อให้ผู้ชมที่เข้าสู่ "ชานชาลา 9 3⁄4" ดูเหมือนหายไปในกำแพงอิฐเมื่อมองจากผู้ที่ต่อคิวอยู่ด้านหลัง
พิพิธภัณฑ์
[แก้]พิพิธภัณฑ์จัดแสดงโดยใช้เทคนิคผีของเปปเปอร์มากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้เข้าชม ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เจมส์ การ์เดนเนอร์ ได้ออกแบบศิลปการจัดวาง Changing Office ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ลอนดอน ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานในแบบคริสต์ทศวรรษ 1970 ที่เปลี่ยนเป็นสำนักงานในแบบทศวรรษ 1870 ขณะที่ผู้ชมเฝ้าดู
ตัวอย่างใหม่ ๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ สามารถพบได้ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหราชอาณาจักรและยุโรป ตัวอย่างเช่น ภาพลวงตาของ แอนนี แม็กคลาวด์ (Annie McLeod) ที่แหล่งมรดกโลก นิวลานาร์ก, ภาพลวงตาของ จอห์น แม็กเอนโร ที่พิพิธภัณฑ์ลอนเทนนิสวิมเบิลดัน ซึ่งเปิดในสถานที่ใหม่เมื่อ ค.ศ. 2006 และภาพลวงตาของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในพิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในเปิดแสดงใน ค.ศ. 2007[51]
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 ภาพลวงตาด้วยเทคนิคนี้ขนาดเท่าตัวจริงของเชน วาร์น ถูกเปิดที่พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติในเมลเบิร์น ออสเตรเลีย[52]
อีกตัวอย่างหนึ่งสามารถพบได้ที่ Our Planet Center ในแคสตรีส์ เซนต์ลูเซีย ซึ่งเปิดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 โดยเป็นภาพลวงตาที่ประกอบด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ขนาดเท่าพระองค์จริงและผู้สำเร็จราชการของเซนต์ลูเซีย ปรากฏบนเวทีเพื่อสนทนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ[53]
โทรทัศน์และภาพยนตร์
[แก้]เครื่องอ่านบท (teleprompter) เป็นการนำเทคนิคผีของเปปเปอร์ มาใช้ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ โดยการสะท้อนบทพูดหรือลำดับของรายการ มักใช้สำหรับการถ่ายทอดสดเช่น รายการข่าว
ในภาพยนตร์เรื่องโดดเดี่ยวผู้น่ารัก (Home Alone) ในปี 1990 มีการใช้เทคนิคนี้เพื่อแสดงให้แฮร์รีเห็นศีรษะของเขาลุกเป็นไฟ อันเป็นผลมาจากคบเพลิงจากสถานการณ์การบุกรุกบ้านที่เลวร้าย ซึ่งเทคนิคการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer-generated imagery, CGI) ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ต้องการได้[54] ภาพยนตร์เรื่องเจมส์ บอนด์ ตอน 007 เพชรพยัคฆราช (Diamonds are Forever) มีภาพมายากลหญิงสาวกับกอริลลาที่ใช้เทคนิคนี้ในฉากหนึ่ง[3]
คอนเสิร์ต
[แก้]ภาพลวงตาที่สร้างจากเทคนิคผีของเปปเปอร์ ถูกนำมาใช้ในการแสดงคอนเสิร์ต โดยในการนำเสนอทางการตลาดมักใช้คำแบบไม่ถูกต้องว่า "ฮอโลแกรม"[6]
ในงานประกาศผลรางวัลแกรมมี ปี 2006 เทคนิคผีของเปปเปอร์ ถูกนำมาใช้เพื่อฉายภาพของมาดอนนา กับสมาชิกเสมือนจริงของวงกอริลลาซ (Gorillaz) บนเวทีในการแสดงสด ระบบประกอบด้วยเครื่องฉาย (ปกติเป็นชนิดดีแอลพี (DLP) หรือจอแสดงผลแอลอีดี) ที่มีความละเอียด 1280×1024 หรือสูงกว่า และความสว่างอย่างน้อย 5,000 ลูเมน[55]
ระหว่างการแสดงของ ดร. เดร และสนูป ด็อกก์ ในเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ ปี 2012 มีการฉายภาพของทูพัค ชาเคอร์ แร็ปเปอร์ผู้ล่วงลับ มาปรากฏตัวและแสดงเพลง "Hail Mary" และ "2 of Amerikaz Most Wanted"[6][56][57][58]
วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2013 ในการแสดงรอบที่ 19 ของทัวร์คอนเสิร์ตของ เจย์ โจว นักร้องเพลงแมนโดป็อป ที่ไทเปอารีนา (台北小巨蛋) ไต้หวัน มีช่วงการแสดงพิเศษขับร้องเพลงคู่กับภาพของเติ้ง ลี่จวิน ศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวจีน ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น 18 ปี โดยได้แสดงเพลง 你怎么说,紅塵客棧 และ 千里之外[59][60]
ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ระหว่างงานประกาศผลรางวัลบิลบอร์ดมิวสิกอะวอดส์ ภาพลวงตาของศิลปินผู้ล่วงลับ ไมเคิล แจ็กสัน และคณะนักเต้นรวมถึงฉากทั้งหมดถูกฉายขึ้นบนเวทีสำหรับการแสดงเพลง สเลฟทูเดอะริทึม (Slave to the Rhythm)[61][62] จากอัลบั้ม เอ็กซ์สเคป (Xscape) ซึ่งเผยแพร่หลังมรณกรรมของเขา[63][64]
สุนทรพจน์ทางการเมือง
[แก้]บริษัท Nchant 3D ออกอากาศสดสุนทรพจน์ความยาว 55 นาทีของนเรนทระ โมที ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐคุชราตในขณะนั้น ไปยังสถานที่ 53 แห่งทั่วรัฐคุชราตในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ระหว่างการเลือกตั้งรัฐสภา[65][66][67] ในเดือนเมษายน 2014 ได้มีการฉายภาพของโมที อีกครั้งในสถานที่ 88 แห่งทั่วอินเดีย[68]
ในปี 2014 เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน นายกรัฐมนตรีตุรกีในขณะนั้น กล่าวสุนทรพจน์ผ่านการใช้เทคนิคนี้ในเมืองอิซมีร์[5]
ใน ค.ศ. 2017 ฌ็อง-ลุก เมล็องชง (Jean-Luc Mélenchon) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวสุนทรพจน์โดยใช้เทคนิคภาพลวงตานี้ในการหาเสียงที่เมืองโอแบวีลีเย[69]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Science of Pepper's Ghost illusion". cosmosmagazine.com (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 13 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2023.
- ↑ "Timeline for the history of the University of Westminster". University of Westminster. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤษภาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2009.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Nickell, Joe (2005). Secrets of the Sideshows. University Press of Kentucky. p. 288-291. ISBN 978-0-8131-2358-5.
- ↑ Bethune, Kate (2015). "Encyclopedia of Collections: The Widows of Culloden". The Museum of Savage Beauty. Victoria and Albert Museum. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2022.
- ↑ 5.0 5.1 O'Reilly, Quinton (29 มกราคม 2014). "Explainer: Did the Turkish PM actually give a speech via hologram?". TheJournal.ie. Journal Media Ltd. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 "Holographic Projection". AV Concepts.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013.
- ↑ 7.0 7.1 "Interactive "holographic" tabletop platform Holus heads to Kickstarter". www.gizmag.com. 10 มิถุนายน 2015.
- ↑ Pepper, pp. 29, 30
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Burdekin, Russell (2015) 'Pepper's Ghost at the Opera', Theatre Notebook, Vol 69, Issue 3, pp. 152–164
- ↑ Dircks, p. 25
- ↑ Pepper, p. 11
- ↑ Pepper, pp. 6–12
- ↑ Hopkins, pp. 58, 59
- ↑ 14.0 14.1 Pepper, p. 24
- ↑ Pepper, p. 29
- ↑ Hopkins, p. 60
- ↑ 17.0 17.1 'Professor Pepper'The Mercury. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2012.
- ↑ Hopkins, pp. 60, 61
- ↑ "Australian Web Archive". webarchive.nla.gov.au. 23 สิงหาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2004. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2013.
- ↑ 20.0 20.1 Lachapelle, Sofie (2015) Conjuring Science: A History of Scientific Entertainment and Stage Magic in Modern France. New York: Palgrave Macmillan, pp. 11–35
- ↑ Histoire des Projections Lumineuses website
- ↑ 22.0 22.1 Robert-Houdin, pp. 93–95
- ↑ 23.0 23.1 23.2 Steinmeyer, Hiding the Elephant, p. 41–42
- ↑ Robert-Houdin, Jean-Eugene (1885) Magie et Physique Amusante. Paris: Calmann Levy p. 112
- ↑ Dircks, p. 37
- ↑ Dircks, p. 46
- ↑ Dircks, pp. 65–70
- ↑ Dircks, p. 55
- ↑ Steinmeyer, Hiding the Elephant, p. 26
- ↑ 30.0 30.1 Steinmeyer, Hiding the Elephant, pp. 26–28
- ↑ Secord, J.A. (2002) 'Quick and magical shaper of science'. Science, Vol. 297, Issue 5587, pp. 1648–1649
- ↑ Pepper, p. 3
- ↑ Dircks, p. 6
- ↑ Dircks, p. 7
- ↑ 35.0 35.1 Dircks, pp. 1–23 & 71–102
- ↑ Dircks, pp. 10–11 & 17–20
- ↑ 'The Patent Ghost', The Mercury, 21 กรกฎาคม 1863
- ↑ Pepper, p. 35
- ↑ Dircks, p. 24
- ↑ 40.0 40.1 Dircks, p. 26
- ↑ Dircks, pp. 22–23
- ↑ Pepper, p. 12
- ↑ Pepper, pp. 30–34
- ↑ Pepper, pp. 24–25
- ↑ Steinmeyer, Hiding the Elephant, p. 40
- ↑ Hopkins, p. 54
- ↑ Gbur, Gregory J. (2016) 'Dircks and Pepper: a Tale of Two Ghosts' Skulls in the Stars website, final page
- ↑ "Cheoptics360: the future of 3D video is here". Engadget. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2013.
- ↑ "Cheoptics360 - What's inside?". viZoo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2020.
- ↑ "Cheoptics 360". Fractal Systems. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013.
- ↑ "Meet Sir Alex – the hologram". Manchester United. 19 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2015.
- ↑ "Shane Warne – Cricket Found Me". National Sports Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2015.
- ↑ "Breakthrough environmental conservation visitor attraction opens". St Lucia Now.org. 20 มิถุนายน 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2015.
- ↑ Siegel, Alan (16 พฤศจิกายน 2015). "Home Alone Hit Theaters 25 Years Ago. Here's How They Filmed Its Bonkers Finale". Slate.
- ↑ Johnson, David. "Peppaz Ghost". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 เมษายน 2012. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2012.
- ↑ Jauregai, Andres (16 เมษายน 2012). "Tupac hologram: AV concepts brings late rapper to life at Coachella". The Huffington Post. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2012.
- ↑ Anderson, Kyle. "Tupac lives (as a hologram) at Coachella!". Entertainment Weekly. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2012.
- ↑ Rowell, David (10 กรกฎาคม 2021). "The Spectacular, Strange Rise of Music Holograms". The Washington Post Magazine. washingtonpost.com. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2021.
- ↑ "เมื่อ "เติ้ง ลี่จวิน" ร้องเพลงคู่กับ "เจย์ โชว" (ชมคลิป)". ผู้จัดการออนไลน์. 8 กันยายน 2013.
- ↑ Pai Wang (December 2020). "Disembodied Performance, Embodied Archive: Reviving Teresa Teng in Hologram". The Journal of Popular Culture. Wiley Periodicals. 53 (6): 1435–1455. doi:10.1111/jpcu.12968. eISSN 1540-5931.
- ↑ Marco della Cava (22 พฤษภาคม 2014). "Meet the conjurers of Michael Jackson's ghost". usatoday.com. USA Today. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2021.
"It's not a hologram," says Pulse Executive Chairman John Textor, sitting in the room where the Jackson effect was crafted with Patterson and visual effects supervisor Stephen Rosenbaum, who worked on Avatar.
- ↑ Kim Lachance Shandrow (2 กรกฎาคม 2014). "Smoke and Mirrors: Why We Aren't Seeing More Digital Zombies Like Michael Jackson". nbcnews.com. NBC News. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2021.
Pulse Evolution Corporation, a Port St. Lucie, Fla.-based digital human animation and production startup launched last October
- ↑ Giardina, Carolyn (21 พฤษภาคม 2014). "Why Billboard Music Awards' Michael Jackson Can't Be Called a 'Hologram'". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014.
- ↑ Vincent, Peter (21 พฤษภาคม 2014). "Michael Jackson not a hologram at Billboard Music Awards 2014". สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2014.
- ↑ "Modi's 3-D show enters Guinness Book". The Indian Express. 15 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2013.
- ↑ "Shri Modi's 3D Interaction enters Guinness World Records". Narendra Modi.in. 14 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2013.
- ↑ "Modi's 3D speeches during 2012 polls enter Guiness [sic] Book". Hindustan Times. 14 มีนาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2014. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2013.
- ↑ "India Elections: Narendra Modi leads with massive hologram campaign A". tvmix.com. 12 เมษายน 2014.
- ↑ "L'hologramme de Mélenchon : et surgit un fantôme". France Culture. 6 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2021.
บรรณานุกรม
[แก้]- Pepper, John Henry (1890). The True History of the Ghost. London: Cassell & Co.
- Steinmeyer, Jim (1999). Discovering Invisibility. London.
- Steinmeyer, Jim (2003). Hiding the Elephant. New York: Carroll & Graf. ISBN 978-0-7867-1226-7.
- Steinmeyer, Jim (1999). The Science Behind the Ghost. London.
- Surrell, Jason (2003). The Haunted Mansion: From the Magic Kingdom to the Movies. New York: Disney Editions. ISBN 978-1-4231-1895-4.
- Porta, John Baptist (2003). Natural Magick. Sioux Falls, SD: NuVision Publications. ISBN 978-1-59547-238-0.
- Gbur, Gregory J. (2016). Dircks and Pepper: a Tale of Two Ghosts. Skulls in the Stars.
- Hopkins, Albert A. (1897). Magic, Stage Illusions, Special Effects and Trick Photography. New York: Dover Publications.
- Dircks, Henry (1863). The Ghost, London: E & F.N. Spon.
- Robert-Houdin, Jean-Eugene (1881). The Secrets of Stage Conjuring. London: George Routledge.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- J. A. Secord (6 กันยายน 2002), "Quick and Magical Shaper of Science", Science
- Paul Burns (ตุลาคม 1999), "Chapter Ten: 1860–1869", The History of the Discovery of Cinematography