ปูมะพร้าว
ปูมะพร้าว ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคนีโอจีน–ปัจจุบัน, 23–00Ma | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์ขาปล้อง Arthropoda |
ไฟลัมย่อย: | Crustacea Crustacea |
ชั้น: | Malacostraca Malacostraca |
อันดับ: | Decapoda Decapoda |
อันดับย่อย: | Pleocyemata Pleocyemata |
อันดับฐาน: | อันดับฐานปูไม่แท้จริง Anomura |
วงศ์: | วงศ์ปูเสฉวนบก Coenobitidae Leach, 1816 |
สกุล: | Birgus Birgus (Linnaeus, 1767)[2] |
สปีชีส์: | Birgus latro |
ชื่อทวินาม | |
Birgus latro (Linnaeus, 1767)[2] | |
ปูมะพร้าวอาศัยอยู่ที่ชายฝั่งส่วนใหญ่ในพื้นที่สีน้ำเงิน; จุดสีแดงคือที่ออยู่อาศัยหลัก และจุดสีเหลืองคือที่อยู่อาศัยรอง | |
ชื่อพ้อง[3] | |
ปูมะพร้าว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Birgus latro) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมอาร์โธรพอด เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน และเป็นสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนบก กิตติศัพท์ที่ว่าปูมะพร้าวสามารถเจาะลูกมะพร้าวด้วยก้ามอันทรงพลังนั้นเป็นที่รู้จักกันดี ในบางครั้งปูมะพร้าวถูกเรียกว่า ปูนักปล้น หรือ หัวขโมยปาล์ม ทั้งนี้เนื่องจากปูมะพร้าวมักจะขโมยข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ส่องประกาย อย่างเช่นหม้อหรือถ้วยสแตนเลส บางคนเรียกปูมะพร้าวว่า ปูเสฉวนบก แต่อันที่จริงนอกจากปูมะพร้าวแล้ว ยังมีปูชนิดอื่นอีกที่จัดได้ว่าเป็นปูเสฉวนบกเช่นกัน นอกจากนี้ ปูมะพร้าวอาจมีชื่อเรียกต่างกันไปอีกในแต่ละที่ เช่น ที่เกาะกวม เรียกปูมะพร้าวว่า อายูยู
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]ขนาดตัวของปูมะพร้าวนั้นหลากหลาย ตัวเต็มวัยของปูมะพร้าวสามารถเจริญเติบโตจนมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม และความยาวของลำตัว 40 เซนติเมตร แต่ถ้านับรวมช่วงขาแล้วจะยาวถึง 1 เมตรได้ทีเดียว โดยทั่วไปตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีรายงานว่ามีการพบปูมะพร้าวที่หนักถึง 17 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัว 1 เมตร ซึ่งเป็นที่เชื่อว่านี่คือขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ของสัตว์ขาปล้องที่อยู่บนบก ปูมะพร้าวมีอายุประมาณ 30-60 ปี
ลำตัวของปูมะพร้าวก็เหมือนกับสัตว์ทศบาททั่วไป คือประกอบด้วยส่วนหัวอก (เซฟาโลโทแรกซ์) และส่วนท้อง ที่มี 10 ขา ขาคู่หน้าสุดของปูมะพร้าวเป็นก้ามขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเจาะลูกมะพร้าว และสามารถยกน้ำหนักได้ถึง 29 กิโลกรัม ขาอีกสามคู่ถัดมามีลักษณะคล้ายแหนบ ใช้สำหรับเดินและปีนป่าย (ปูมะพร้าวสามารถใช้ขาทั้งสามคู่นี้ไต่ต้นมะพร้าวได้สูงถึง 6 เมตร) ส่วนขาคู่สุดท้ายนั้นเล็กมาก ใช้สำหรับทำความสะอาดอวัยวะหายใจ ขาคู่นี้มักจะอยู่ในกระดองตรงช่องที่บรรจุอวัยวะหายใจ
แม้ปูมะพร้าวจะวิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน แต่มีเพียงตัวอ่อนของปูมะพร้าวเท่านั้นที่ต้องการเปลือกหอยมาปกป้องส่วนท้อง ตัวเต็มวัยของปูมะพร้าวสามารถสร้างส่วนท้องที่แข็งแรงขึ้นได้ด้วยไคติน และชอล์ค เปลือกแข็งที่ส่วนท้องนี้ช่วยป้องกันอันตรายและลดการเสียน้ำบนพื้นดิน ปูมะพร้าวจะลอกคราบเปลือกแข็งนี้ทุก ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1 ปี) การลอกคราบครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วัน โดยช่วงที่ลอกคราบเสร็จใหม่ ๆ ส่วนท้องของปูมะพร้าวจะอ่อนแอ และต้องการการป้องกัน
ปูมะพร้าวมีอวัยวะพิเศษสำหรับหายใจ เรียกว่า branchiostegal lung อวัยวะนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นครึ่งเหงือกครึ่งปอด ตั้งอยู่ด้านหลังของส่วนหัวอก มีเนื้อเยื่อคล้ายเหงือก แต่เนื้อเยื่อนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากในอากาศ ไม่ใช่ในน้ำ ปูมะพร้าวมีเหงือกอยู่เหมือนกัน แต่เหงือกนี้ก็ไม่สามารถรับออกซิเจนได้มากนัก จึงไม่มีประโยชน์อะไร เหงือกนี้น่าจะเป็นสิ่งหลงเหลือจากวิวัฒนาการมากกว่า ปูมะพร้าวจึงว่ายน้ำไม่เป็น และอาจจะจมน้ำตายได้ถ้าอยู่ในน้ำนาน ๆ
อาหารการกิน
[แก้]อาหารหลักของปูมะพร้าวคือผลไม้ โดยเฉพาะมะพร้าว อย่างไรก็ดี อะไรอย่างอื่นที่เป็นชีวภาพ ปูมะพร้าวสามารถกินได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ใบไม้ ผลไม้เน่า ไข่เต่า ซากสัตว์ และเปลือกของสัตว์อื่น ๆ ปูมะพร้าวอาจกินสัตว์อื่นเป็น ๆ ที่เคลื่อนไหวช้า เช่น เต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกจากไข่ เป็นต้น บ่อยครั้ง ปูมะพร้าวชอบที่จะขโมยอาหารจากปูมะพร้าวตัวอื่น และเอาอาหารลงไปกินในรูของมัน
ปูมะพร้าวชอบปีนต้นไม้เพื่อหาอาหาร นอกจากนั้นยังเพื่อหลบร้อนและหลีกภัย บางคนเชื่อว่าปูมะพร้าวตัดลูกมะพร้าวจากต้นแล้วลงมากินที่พื้น แต่นักชีววิทยาชาวเยอรมัน โฮลเกอร์ รัมพ์ฟ บอกว่าปูมะพร้าวไม่ได้ฉลาดพอที่จะคิดแผนการได้ถึงขนาดนั้น มันเพียงบังเอิญทำลูกมะพร้าวหล่นตอนที่จะกินลูกมะพร้าวบนต้นเท่านั้นเอง
การกระจายตัว
[แก้]ปูมะพร้าวสามารถพบได้ที่หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะคริสต์มาสในมหาสมุทรอินเดียนับได้ว่าเป็นแหล่งอาศัยของปูมะพร้าวที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด หมู่เกาะคุกในมหาสมุทรแปซิฟิกก็นับว่ามีปูมะพร้าวจำนวนมากไม่แพ้กัน นอกจากนี้ปูมะพร้าวยังพบได้ที่อื่นอีก เช่น ในเซเชลส์ เป็นต้น การกระจายตัวของปูมะพร้าวสามารถแสดงคร่าว ๆ ได้ดังรูปด้านขวามือ
ลักษณะสีของปูมะพร้าวจะต่างกันไปตามแต่ละเกาะ ตั้งแต่สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาล เนื่องจากปูมะพร้าวว่ายน้ำได้เฉพาะช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น และช่วงที่ตัวอ่อนของปูมะพร้าวมีระยะเวลาเพียง 28 วัน จึงสันนิษฐานว่าการกระจายของปูมะพร้าวจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่งที่อยู่ไกล ๆ น่าจะเป็นด้วยวิธีเกาะขอนไม้ หรือสิ่งอื่นที่ลอยได้ มากกว่าจะว่ายน้ำไป
การกระจายตัวในรูปพบว่ามีช่องว่างที่ช่วงเกาะบอร์เนียว และปาปัวนิวกินี คาดว่าที่ไม่มีปูมะพร้าวอยู่บนเกาะเหล่านี้เป็นเพราะปูมะพร้าวถูกมนุษย์จับกินหมดแล้วนั่นเอง
ปูมะพร้าวในประเทศไทย
[แก้]ในปี พ.ศ. 2542 เรือสำรวจแหล่งปลาทูน่าในทะเลสากลของกรมประมง เมื่อเดินทางไปสำรวจมหาสมุทรอินเดียแล้ว ได้นำปูมะพร้าวจำนวน 23 ตัว จากอีลเดอลาซงป์ซียง ประเทศเซเชลส์ กลับมาประเทศไทยด้วย โดยเป็นตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 19 ตัว ซึ่งตอนนี้เลี้ยงไว้ที่สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต[4]
ในปลายปี พ.ศ. 2557 มีรายงานการพบปูมะพร้าวคู่แม่ลูก 3 ตัวด้วยกัน ที่เกาะสี่ ภายในหมู่เกาะสิมิลัน นับเป็นการกลับมาอีกครั้งของปูมะพร้าวในรอบนับ 10 ปี บ่งบอกว่ามีการแพร่ขยายพันธุ์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการอนุรักษ์ธรรมชาติ[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Cumberlidge, N. (2020). "Birgus latro". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T2811A126813586. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-2.RLTS.T2811A126813586.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
- ↑ McLaughlin, Patsy (2010). McLaughlin, P. (บ.ก.). "Birgus latro (Linnaeus, 1767)". World Paguroidea database. World Register of Marine Species. สืบค้นเมื่อ March 3, 2011.(Linnaeus, 1767)&rft.date=2010&rft.au=McLaughlin, Patsy&rft_id=http://www.marinespecies.org/aphia.php?p=taxdetails&id=208668&rfr_id=info:sid/th.wikipedia.org:ปูมะพร้าว" class="Z3988">
- ↑ McLaughlin, Patsy A.; Komai, Tomoyuki; Lemaitre, Rafael; Rahayu, Dwi Listyo (2010). Low, Martyn E. Y.; Tan, S. H. (บ.ก.). "Part I – Lithodoidea, Lomisoidea, and Paguroidea" (PDF). Zootaxa. Annotated checklist of anomuran decapod crustaceans of the world (exclusive of the Kiwaoidea and families Chirostylidae and Galatheidae of the Galatheoidea). Suppl. 23: 5–107. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-22.
- ↑ talaythai.com การกลับมาของ...ปูมะพร้าว เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- ↑ เรื่องเล่าเช้านี้ พบปูมะพร้าวขนาดยักษ์ใกล้สูญพันธ์ที่สิมิลัน (09 ธ.ค.57) จากเรื่องเล่าเช้านี้