ปิออตร์ บากราตีออน
พลเอก เจ้าชาย ปิออตร์ บากราตีออน | |
---|---|
ชื่อเล่น | "เทพประจำกองทัพ"[1] |
เกิด | 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1765 คีซลยาร์,[2] แคว้นอัสตราฮัน จักรวรรดิรัสเซีย |
เสียชีวิต | 24 กันยายน [ตามปฎิทินเก่า: 12 กันยายน] 1812 (47 ปี) ซีมา จักรวรรดิรัสเซีย |
รับใช้ | จักรวรรดิรัสเซีย |
แผนก/ | กองทัพบก |
ประจำการ | 1782–1812 |
ชั้นยศ | พลเอกทหารราบ |
การยุทธ์ | สงครามรัสเซีย–เซอร์แคสเซีย สงครามรัสเซีย-ตุรกี (ค.ศ. 1787–1792) สงครามฟินแลนด์ สงครามรัสเซีย-ตุรกี (ค.ศ. 1806–1812) สงครามนโปเลียน |
ปิออตร์ อีวาโนวิช บากราตีออน (รัสเซีย: Пьотър Иванович Багратион, Pyotr Ivanovich Bagration) บ้างเรียก เจ้าชายบากราตีออน เป็นนายพลของจักรวรรดิรัสเซียและเป็นเจ้าชายชาวจอร์เจียโดยกำเนิด เขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญในช่วงสงครามนโปเลียน
ปิออตร์ บากราตีออน เป็นสมาชิกราชวงศ์บากราตีออนซึ่งปกครองจอร์เจีย เขาเป็นโอรสของเจ้าชายอีวาน พันเอกในกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย ปิออตร์เข้ารับราชการทหารรัสเซียในปี 1782 และมีส่วนร่วมในสงครามรัสเซีย–เซอร์แคสเซียเป็นเวลาสองปี จากนั้นเขาในยศพันโทมีส่วนร่วมในสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันในปี 1788 และมีส่วนร่วมในการปราบการลุกฮือของชาวโปแลนด์ในปี 1794 และเข้ายึดกรุงวอร์ซอร์
พลตรีบากราตีออนมีส่วนร่วมในการทัพอิตาลีและการทัพสวิสเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสในปี 1799 โดยปฏิบัติหน้าที่ภายใต้จอมพลอะเลคซันดร์ ซูโวรอฟ ภายหลังการทัพครั้งนี้ เขาได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชายของจักรวรรดิรัสเซีย ต่อมารัสเซียก็เข้าร่วมทำสงครามต่อต้านนโปเลียนในปี 1805 บากราตีออนประสบความสำเร็จในการป้องกันแนวรบในยุทธการที่เชินกราเบินในเดือนพฤศจิกายน 1805 ซึ่งเปิดโอกาสให้ทหารรัสเซียร่นถอยไปสนธิกำลังกับทัพหลักของจอมพลมีฮาอิล คูตูซอฟ แต่เดือนถัดมา กองทัพผสมออสเตรีย−รัสเซียพ่ายแพ้อย่างหนักในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ ในศึกนี้ พลโทบรากราทิออนทำหน้าที่ป้องกันปีกขวาและต้องรับมือกับกำลังทหารฝรั่งเศสภายใต้จอมพลฌ็อง ลาน
ต่อมา พลโทบากราตีออนเป็นผู้บัญชาการทหารรัสเซียในสงครามฟินแลนด์ (1808–1809) เพื่อต่อต้านสวีเดน และได้ออกศึกอีกครั้งในสงครามต่อต้านพวกออตโตมันที่แม่น้ำดานูบ ในช่วงต้น เขาทำหน้าที่ป้องกันได้อย่างดี และได้รับเลื่อนยศเป็นเป็นพลเอกทหารราบ แต่แล้วทัพของเขาไม่ได้รับกำลังบำรุงอย่างเพียงพอและขาดแคลนที่พักอาศัยในฤดูหนาว เขาเกรงว่าตนเองอาจจะเสียกำลังทหารถึงครึ่งหนึ่ง จึงขัดพระบัญชาโดยการเคลื่อนกำลังข้ามไปตั้งที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำ ซาร์อเล็กซานเดอร์ทรงพิโรธและปลดเขาในเดือนมีนาคม 1810
ในช่วงการรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศสในปี 1812 บากราตีออนถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการที่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพที่ 2 อันเป็นหนึ่งในสองกำลังหลักของกองทัพรัสเซีย โดยได้ทำหน้าที่ระวังหลัง แต่กองทัพรัสเซียพ่ายแพ้และเสียหายหนักในสโมเลนสค์เมื่อเดือนสิงหาคม 1812 บากราตีออนจึงทูลเสนอจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 1 ให้ใช้กลยุทธ์ผลาญภพในการต่อต้านการรุกของฝรั่งเศส ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์ต่อมา บากราตีออนได้รับบาดเจ็บหนักในยุทธการที่โบโรดีโน และเสียชีวิตในครึ่งเดือนถัดมา
นโปเลียนเคยกล่าวถึงบากราตีออนไว้ว่า "รัสเซียไม่มีแม่ทัพที่ดี เว้นแต่เพียงบากราตีออน"[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Mikaberidze (2009), Ch. XIII: Bagration – "God of an Army" .
- ↑ Pluchart (1835), pp. 60—61
- ↑ Mikaberidze (2000), Ch. 2.