ข้ามไปเนื้อหา

ปลาจิ้มฟันจระเข้เขียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาจิ้มฟันจระเข้เขียว
สถานะการอนุรักษ์

ไม่มีข้อมูล  (IUCN 2.3)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Syngnathiformes
วงศ์: Syngnathidae
วงศ์ย่อย: Syngnathinae
สกุล: Syngnathoides
Bleeker, 1851
สปีชีส์: S.  biaculeatus
ชื่อทวินาม
Syngnathoides biaculeatus
(Bloch, 1785)
ชื่อพ้อง
  • Sygnathoides biaculeatus (Bloch, 1785) [อนุกรมวิธานผิดพลาด]

ปลาจิ้มฟันจระเข้เขียว หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ท้องคม (อังกฤษ: Alligator pipefish, Horned pipefish, Twobarbel pipefish, Spiraltail pipefish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Syngnathoides biaculeatus) เป็นปลากระดูกแข็งชนิดหนึ่ง จำพวกปลาจิ้มฟันจระเข้ (Syngnathinae)

จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Syngnathoides[2]

ลำตัวเป็นปล้อง 15-18 ปล้อง มีปล้องส่วนหาง 40-45 ปล้อง ทั้งสันส่วนบนและส่วนล่างต่อเนื่องกับสันของส่วนหางที่อยู่ในแนวเดียวกัน ส่วนท้ายของสันด้านข้างลำตัวโค้งขึ้นสู่ด้านหลังและสิ้นสุดใกล้กับฐานครีบหลัง ลำตัวแบนจากบนลงล่าง ส่วนกลางของลำตัวกว้างที่สุด ปลายหัวตามแนวกลางมีสันแข็งไม่สูงและขอบเรียบ สันแข็งบริเวณท้ายทอยมักมีหนามแหลม ๆ เล็ก ๆ บนขอบ จุดกำเนิดของครีบหลังอยู่ตรงปล้องลำตัว ไม่มีครีบหาง ปลายหางสามารถม้วนงอได้ มีสีลำตัวสีเขียวจนถึงสีน้ำตาลหรือสีเทา และมีแต้มสีเข้มที่ไม่แน่นอนตางกันไปตามแต่ละตัว

มีความยาวเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามกอสาหร่ายและหญ้าทะเล โดยมักจะเอาส่วนหางเกาะเกี่ยวกับใบของพืชเหล่านี้ไม่ให้ไหลไปกับกระแสน้ำ แล้วตั้งตัวเป็นมุมฉากเพื่อหลีกเลี่ยงศัตรูผู้ล่าและดักจับแพลงก์ตอนสัตว์กินเป็นอาหาร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ในน่านน้ำไทยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

ปัจจุบัน เป็นปลาที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามตามตู้ปลาหรือในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก IUCN
  2. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. ปลาทะเลที่เพาะพันธุ์ได้ในประเทศไทย ตอนจบ, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ หน้า 139 คอลัมน์ Blue Planet นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 22 ปีที่ 2: เมษายน 2012

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Syngnathoides biaculeatus ที่วิกิสปีชีส์