ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส

พิกัด: 17°20′N 62°45′W / 17.333°N 62.750°W / 17.333; -62.750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

17°20′N 62°45′W / 17.333°N 62.750°W / 17.333; -62.750

สหพันธรัฐเซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส

Federation of Saint Christopher and Nevis (อังกฤษ)
คำขวัญ"Country Above Self"
(ประเทศชาติอยู่เหนือกว่าตนเอง)
เพลงชาติ"โอแลนด์ออฟบิวที!"
(โอ้ดินแดนแห่งความงาม)
ที่ตั้งของเซนต์คิตส์และเนวิส
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
บาสแตร์
17°18′N 62°44′W / 17.300°N 62.733°W / 17.300; -62.733
ภาษาราชการอังกฤษ
ภาษาพื้นถิ่นครีโอลเซนต์คิตส์
กลุ่มชาติพันธุ์
(2001)[1]
ศาสนา
(2010)[2][3]
เดมะนิม
  • ชาวเซนต์คิตส์
  • ชาวเนวิส
การปกครองสหพันธรัฐ รัฐสภา
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
Marcella Liburd
Terrance Drew
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
เป็นเอกราช 
27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967
• ประกาศอิสรภาพ
19 กันยายน ค.ศ. 1983
พื้นที่
• รวม
261 ตารางกิโลเมตร (101 ตารางไมล์) (อันดับที่ 187)
น้อยมาก
ประชากร
• พ.ศ. 2560 ประมาณ
54,821[4] (อันดับที่ 213)
• สำมะโนประชากร 2011
46,204
164 ต่อตารางกิโลเมตร (424.8 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 64)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2019 (ประมาณ)
• รวม
1.758 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
31,095 ดอลลาร์สหรัฐ[5]
จีดีพี (ราคาตลาด) 2019 (ประมาณ)
• รวม
1.058 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
18,714 ดอลลาร์สหรัฐ[5]
เอชดีไอ (2019)เพิ่มขึ้น 0.779[6]
สูง · อันดับที่ 74
สกุลเงินดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (EC$) (XCD)
เขตเวลาUTC-4 (เวลามาตรฐานแอตแลนติก)
ขับรถด้านซ้าย
รหัสโทรศัพท์ 1 869
โดเมนบนสุด.kn
  1. หรือ "Saint Kitts and Nevis".

เซนต์คิตส์และเนวิส (อังกฤษ: Saint Kitts and Nevis) หรือชื่อทางการคือ สหพันธรัฐเซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส (Federation of Saint Christopher and Nevis)[7] เป็นประเทศที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในหมู่เกาะลีเวิร์ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเลสเซอร์แอนทิลลีส ในภูมิภาคเวสต์อินดีส แถบแคริบเบียน จัดเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในซีกโลกตะวันตกเมื่อวัดจากขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร

เซนต์คิตส์และเนวิสเป็นหนึ่งในประเทศเอกราชที่เป็นสมาชิกของราชอาณาจักรเครือจักรภพ โดยมีสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข ประกอบด้วยเกาะหลัก 2 เกาะคือเกาะเซนต์คิตส์ หรือ เซนต์คริสโตเฟอร์ และเกาะเนวิส มีเมืองหลวงและหน่วยงานของรัฐบาลส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเกาะเซนต์คิตส์ ที่มีขนาดใหญ่กว่า ส่วนเกาะที่เล็กกว่าคือเนวิส ตั้งอยู่ห่างจากเกาะเซนต์คิตส์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร

ตามประวัติศาสตร์แล้วประเทศเซนต์คิตส์และเนวิสเคยเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร มีชื่อว่าเซนต์คริสโตเฟอร์-เนวิส-แองกวิลลา ประกอบไปด้วยเกาะเซนต์คิตส์, เกาะเนวิส และ แองกวิลลา ต่อมาในปี ค.ศ.1980 แองกวิลลา ได้แยกตัวออกมาแต่ก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร จากนั้นในปี ค.ศ.1983 เกาะเซนต์คิตส์และเกาะเนวิส ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรและก่อตั้งขึ้นเป็นสหพันธรัฐเซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือรวมถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ใกล้กับแองกวิลลา (สหราชอาณาจักร) , เกาะซินต์เอิสตาซิยึส (เนเธอร์แลนด์), เกาะซาบา (เนเธอร์แลนด์) , แซ็ง-บาร์เตเลมี (ฝรั่งเศส) และ เกาะเซนต์มาร์ติน (ส่วนบนเป็นแซ็ง-มาร์แต็ง (ฝรั่งเศส) และส่วนล่างเป็น ประเทศซินต์มาร์เติน) ส่วนอาณาเขตทางด้านตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ใกล้เคียงกับประเทศแอนติกาและบาร์บูดา และทางตะวันออกเฉียงใต้อยู่ใกล้กับเกาะมอนต์เซอร์รัตของสหราชอาณาจักร

เซนต์คิตส์และเนวิสนับได้ว่าเป็นดินแดนแรกในแถบแคริบเบียนที่มีชาวยุโรปไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ โดยเกาะเซนต์คิตส์เป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษและฝรั่งเศสในแถบทะเลแคริบเบียน และได้รับฉายาว่า "มาตุภูมิแห่งอาณานิคมเวสต์อินดีส์"

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

เกาะเซนต์คิตส์ เดิมถูกชาวคาลินาโกซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองแถบทะเลแคริบเบียนตั้งชื่อให้ว่า "เลียมุยกา (Liamuiga)" แปลว่า "ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์" โดยชื่อ "เซนต์คิตส์" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นคำย่อของคำว่า "เซนต์คริสโตเฟอร์" ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งให้โดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส แต่ยังหาที่มาที่ไปและความหมายของการตั้งชื่อนี้ได้ไม่แน่ชัด

ข้อสันนิษฐานแรกกล่าวว่าเดิมที คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ตั้งชื่อให้เกาะนี้เป็นภาษาสเปนว่า "ซาน กริสโตบัล (San Cristóbal)" สื่อความหมายถึง นักบุญคริสโตเฟอร์ ซึ่งเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของนักเดินทาง ตามความเชื่อศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนสันนิษฐานที่สองกล่าวว่าความจริงแล้วโคลัมบัสตั้งใจจะตั้งชื่อให้เกาะนี้ว่า "ซาน ยาโก (San Yago, Saint James)" ซึ่งหมายถึง นักบุญเจมส์ ส่วน ซาน กริสโตบัล เป็นชื่อที่โคลัมบัสตั้งให้กับเกาะที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งปัจจุบันคือเกาะซาบา แต่สาเหตุที่ชื่อ ซาน กริสโตบัล ถูกนำมาใช้เรียกเกาะเซนต์คิตส์ แทนที่จะเป็น ซาบา เนื่องจากความผิดพลาดในการจัดทำแผนที่ในยุคโบราณ

ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามชื่อ "ซาน กริสโตบัล" ก็ได้ถูกนำมาเรียกเป็นชื่อเกาะแห่งนี้ และมีหลักฐานปรากฏอยู่บนเอกสารสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 17 ต่อมาชาวอังกฤษที่ไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ก็ได้แปลงชื่อเกาะจากภาษาสเปนให้เป็นสำเนียงอังกฤษว่า "เซนต์ คริสโตเฟอร์" และชื่อย่อของคริสโตเฟอร์ใช้คำว่า "คิต" เกาะนี้จึงมีชื่อว่าเซนต์คิตส์ มาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนเกาะเนวิส เดิมทีมีชื่อเรียกจากชาวพื้นเมืองแคริบเบียนว่า "อัวลี (Oualie)" ซึ่งหมายความว่า "ดินแดนที่มีสายน้ำอันสวยงาม" ต่อมาคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้ตั้งชื่อว่าเกาะนี้ว่า "เซนต์ มาร์ติน" เนื่องจากเขาค้นพบเกาะแห่งนี้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1493 ซึ่งเป็นวันนักบุญมาร์ติน ต่อมาชาวอังกฤษได้ตั้งชื่อภาษาสเปนให้ว่า "ดัลซีนา (Dulcena)" ส่วนคำว่า "เนวิส" ชาวอังกฤษย่อมาจากภาษาสเปนว่า "นวยส์ตรา เซญอรา เดอ ลาส นีเอเบส (Nuestra Señora de las Nieves)" หมายถึง "แม่พระแห่งหิมะ (Our Lady of the Snows)" ซึ่งเป็นสมัญญาที่ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกถวายให้แด่พระนางมารีย์พรหมจารี โดยชื่อเกาะเนวิสมีปรากฏเป็นเอกสารสำคัญครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 16

นอกจากนี้เกาะเนวิสยังมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเป็นสถานที่เกิดของ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐ และยังเป็นสถานที่ที่ พลเรือโท โฮราชิโอ เนลสัน ไวเคานต์เนลสันที่ 1 ซึ่งเป็นชาวบริติชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดหนึ่งร้อยลำดับ เคยใช้ชีวิตเมื่อครั้งยังเป็นกัปตันเรือในวัยหนุ่มโดยเขาได้พบรักและแต่งงานกับฟรานเซส นิสเบ็ต ที่เกาะนี้

ประวัติศาสตร์

[แก้]
การยึดครองเกาะเซนต์คิตส์โดยชาวสเปนในปี ค.ศ. 1629 นำโดยฟาดริก เดอ โตเลโด มาร์กีส ที่ 1 แห่ง บียานวยบา เดอ บัลดูเอซา

ในยุคน้ำแข็ง เกาะเซนต์คิตส์, เกาะเนวิส ,ซาบา และ เกาะซินต์เอิสตาซียึส เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน ก่อนที่ต่อมาแผ่นดินจะแยกออกเป็นเกาะ 4 เกาะที่อยู่ห่างกันออกไปในทะเลแคริบเบียน[8]

โดยชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราว 3,000 ปีก่อนบนเกาะเซนต์คิตส์ มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นชาวซิโบนี จากนั้นพวกอิกเนรีซึ่งเป็นชนกลุ่มนึงของชาวอาราวักได้ตามอพยพตามเข้ามาราวปี ค.ศ. 800 จนมีการขยายตัวของประชากรมากขึ้น ต่อมาชาวคาลินาโก ได้เข้ามารุกรานและทำสงครามในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1300 ก่อนจะขับไล่พวกอิกเนรีกลุ่มเดิมออกไปยังตอนเหนือของเกรตเตอร์แอนทิลลีส เมื่อยึดครองพื้นที่บนเกาะได้แล้วชาวคาลินาโกได้ตั้งชื่อให้กับเกาะนี้ว่า "เลียมุยกา (Liamuiga)" หมายถึงดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์

ในปี ค.ศ. 1493 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักสเปน ได้รับการบันทึกว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบดินแดนแห่งนี้ โดยเขาค้นพบเกาะแห่งนี้ระหว่างเดินเรือเมื่อวันที่ 11 และ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1493 และได้มีการตั้งชื่อเกาะให้เป็นภาษาสเปน

หลังจากการถูกค้นพบครั้งแรก เซอร์ ฟรานซิส เดรก นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอังกฤษได้เดินทางมาที่เกาะเซนต์คริสโตเฟอร์ในช่วงคริสต์มาส ของปี ค.ศ.1585 รวมถึง บาโธโลมิว กิลเบิร์ต ได้ล่องเรือมาที่เกาะเนวิส ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1603 ก่อนจะเดินทางไปที่เกาะเซนต์คริสโตเฟอร์ ในปี ค.ศ. 1607 นอกจากนี้ จอห์น สมิธ นักสำรวจคนสำคัญของอังกฤษ ยังได้เคยหยุดพักที่เกาะเนวิสเป็นเวลา 5 วัน ในระหว่างการสำรวจเวอร์จิเนีย โดยมีการจดบันทึกถึงสภาพแวดล้อมบนเกาะเนวิสว่า เป็นเกาะที่เต็มไปด้วยน้ำพุร้อน ที่สามารถรักษาโรคผิวหนังและเหมาะกับการฟื้นฟูร่างกายที่กำลังย่ำแย่

ในปี ค.ศ. 1620 ราล์ฟ เมริฟีลด์ และ เซอร์ โธมัส วอร์เนอร์ ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ให้เป็นผู้เดินทางมาก่อตั้งอาณานิคมแถบทะเลแคริบเบียนที่หมู่เกาะลีเวิร์ด โดยทั้งคู่ได้เดินทางมาถึงเกาะเซนต์คิตส์เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1623 พร้อมกับคณะผู้มาตั้งถิ่นฐานอีก 15 คน เมื่อมาถึงพวกเขาได้ทำข้อตกลงกับ "อูบูตู เตเกรแมนเต" หัวหน้าเผ่าชาวคาลินาโกซึ่งเป็นชนเผ่าที่ปกครองเกาะแห่งนี้อยู่แต่เดิมมากว่า 300 ปี และประกาศให้เป็นอาณานิคมแห่งแรกในแถบทะเลแคริบเบียนของราชอาณาจักรอังกฤษในปี ค.ศ. 1623 นอกจากนี้พวกเขายังได้พบกับชาวฝรั่งเศสที่ติดอยู่บนเกาะนี้อีก 3 คน ประกอบด้วยผู้อพยพจากกลุ่มอูเกอโนต์ (ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่อพยพลี้ภัยออกนอกฝรั่งเศส), โจรสลัด และ ผู้ที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเรือแตก ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1623 ได้เกิดพายุเฮอร์ริเคนที่เกาะเซนต์คิตส์ ทำให้ยาสูบชนิดแรกที่อังกฤษนำมาปลูกบนเกาะและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆได้รับความเสียหายทั้งหมดแต่ก็ยังประคับประคองให้อาณานิคมมีความเจริญและเติบโตขึ้นได้

ในปี ค.ศ. 1625 ปีแยร์ เบอแล็ง เดนอมบัก กัปตันเรือชาวฝรั่งเศสพร้อมลูกเรืออีก 40 คน ได้ล่าถอยจากการสู้กับเรือรบสัญชาติสเปนใกล้กับหมู่เกาะเคย์แมนที่กินระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยพวกเขาล่าถอยมาจนถึงเกาะเซนต์คิตส์ด้วยเรือบริแกนทีนติดอาวุธปืน 14 กระบอก จากนั้น เดนอมบัก ได้ทำการตกลงกับ เซอร์ โธมัส วอร์เนอร์ ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายอังกฤษเพื่อแบ่งพื้นที่บนเกาะกันฝ่ายละครึ่ง ต่อมาเดนอมบัก ได้กลับไปฝรั่งเศสเพื่อขออนุญาตจาก พระคาร์ดินัลดยุกแห่งรีเชอลีเยอ เพื่อจัดตั้งบริษัทพาณิชย์ขึ้นที่เกาะเซนต์คิตส์ เมื่อได้รับอนุญาต เดนอมบัก จึงจัดตั้งบริษัทพาณิชย์ แซง-คริสต็อฟ ขึ้น โดยมีการเกณฑ์ทาสชาวเซเนกัล มาที่เกาะเซนต์คิตส์เพื่อใช้แรงงาน ต่อมาจำนวนทาสที่อาศัยบนเกาะได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 500-600 คน

การแบ่งดินแดนระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสบนเกาะเซนต์คิตส์ด้านตะวันตก
การแบ่งดินแดนระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสบนเกาะเซนต์คิตส์ด้านตะวันออก

ปี ค.ศ. 1626 อังกฤษและฝรั่งเศสร่วมมือกันในการกวาดล้างและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวคาลินาโกที่เป็นประชากรเดิมบนเกาะ โดยมีชาวคาลินาโกถูกสังหารมากกว่า 2,000 คน รวมถึง "อูบูตู เตเกรแมนเต" หัวหน้าเผ่าชาวคาลินาโกผู้ปกครองเกาะที่ถูกสังหารขณะนอนหลับ ผู้หญิงที่มีหน้าตาดีบางส่วนจะถูกนำไปเป็นทาส[9] ส่วนพวกที่รอดพ้นจากการตกเป็นทาสและรอดชีวิตมาได้ถูกขับไล่และอพยพไปดอมินีกา

การเมือง

[แก้]

การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้พระราชอำนาจผ่านผู้สำเร็จราชการ

นิติบัญญัติ

[แก้]

สภานิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว มีสมาชิกสภาฯ 14 คน มีวาระ 5 ปี ฝ่ายบริหาร

บริหาร

[แก้]

ผู้สำเร็จราชการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาลและหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ ดร.เด็นซิล ดักลาส (Dr. Denzil Douglas) รับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538)

ตุลาการ

[แก้]

อำนาจในการพิจารณาไต่สวน อยู่ภายใต้อำนาจของศาลสูงสุดแคริบเบียนตะวันออก ("en:Eastern Caribbean Supreme Court") โดยมีผู้พิพากษา 1 คน ประจำอยู่ในเซนต์คิตส์


การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
Parishes of Saint Kitts and Nevis
Parishes of Saint Kitts and Nevis

เซนต์คิตส์และเนวิสแบ่งเป็น 14 เขตการปกครองส่วนท้องถิ่น (parishes) ได้แก่

เศรษฐกิจ

[แก้]
เมืองหลวง, กรุงบาสแตร์

ระบบเศรษฐกิจเสรี อุตสาหกรรมสำคัญ คือ การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการการเงิน (Offshore Banking) การผลิตน้ำตาล แม้ว่าจะประสบวาตภัยร้ายแรงหลายครั้ง แต่ก็มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติ เกษตร ร้อยละ 3.5อุตสาหกรรม ร้อยละ 25.8 บริการ ร้อยละ 70.7 สินค้าส่งออกที่สำคัญ เครื่องจักร อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้า ยาสูบ สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักร เครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร และเชื้อเพลิง ประเทศคู่ค้าสำคัญ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศในแคริบเบียน

เซนต์คิตส์และเนวิสพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการขยายตัวอย่างมากตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยในปี ค.ศ. 2009 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเซนต์คิตส์ 587,479 คน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 379,473 คนในปี 2007 เพิ่มขึ้นราว 40% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวลดลงในช่วงวิกฤตการเงินโลกและเพิ่งกลับมาไม่นาน จนถึงระดับก่อนการชน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจผ่านการเกษตร การท่องเที่ยว การผลิตที่เน้นการส่งออก และการธนาคารนอกชายฝั่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "CIA World Factbook- St Kitts and Nevis". www.cia.gov. สืบค้นเมื่อ 10 July 2019.
  2. "Population by Religious Belief, 2011". Department of Statistics, Ministry of Sustainable Development. สืบค้นเมื่อ 18 June 2021.
  3. "Religions in St Kitts And Nevis | PEW-GRF". www.globalreligiousfutures.org.
  4. "การประเมินประชากรโลก พ.ศ. 2560". ESA.UN.org (custom data acquired via website). United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division. สืบค้นเมื่อ 10 September 2017.
  5. 5.0 5.1 "Report for Selected Countries and Subjects". www.imf.org.
  6. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  7. "1983 Saint Kitts and Nevis Constitution". pdba.georgetown.edu. สืบค้นเมื่อ 30 August 2017.
  8. Hubbard, Vincent (2002). A History of St. Kitts. Macmillan Caribbean. p. 1. ISBN 9780333747605.
  9. Du Tertre (1667), I:6

ข้อมูล

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
แผนที่
การท่องเที่ยว