ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศเกาหลีใต้

พิกัด: 36°N 128°E / 36°N 128°E / 36; 128
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

36°N 128°E / 36°N 128°E / 36; 128

สาธารณรัฐเกาหลี

คำขวัญ
"홍익인간" (โดยพฤตินัย)
"Hongik Ingan"
"นำพาประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติอย่างทั่วถึง"[1]
เพลงชาติ
"애국가"
"แอกุกกา"
"เพลงรักชาติ"
ดินแดนที่ควบคุมโดยเกาหลีใต้เป็นสีเขียวเข้ม ดินแดนที่อ้างสิทธิแต่ไม่ได้ควบคุมเป็นสีเขียวอ่อน
ดินแดนที่ควบคุมโดยเกาหลีใต้เป็นสีเขียวเข้ม ดินแดนที่อ้างสิทธิแต่ไม่ได้ควบคุมเป็นสีเขียวอ่อน
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
กรุงโซล
37°33′N 126°58′E / 37.550°N 126.967°E / 37.550; 126.967
ภาษาราชการเกาหลี
ภาษามือเกาหลี[2]
กลุ่มชาติพันธุ์
(ค.ศ. 2019)[3]
ศาสนา
(ค.ศ. 2015)[4][5]
เดมะนิม
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบประธานาธิบดี
สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ
ยุน ซ็อก-ย็อล (หยุดปฏิบัติหน้าที่)
ฮัน ด็อก-ซู (รักษาการ)
ฮัน ด็อก-ซู
อู ว็อน-ชิก
คิม มย็อง-ซู
ยู นัม-ซอก
สภานิติบัญญัติสมัชชาแห่งชาติ
ก่อตั้ง
ประมาณศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช
1 มีนาคม ค.ศ. 1919
11 เมษายน ค.ศ. 1919
15 สิงหาคม ค.ศ. 1945
• การปกครองของสหรัฐในเกาหลีส่วนใต้ของเส้นขนานที่ 38
8 กันยายน ค.ศ. 1945
15 สิงหาคม ค.ศ. 1948
25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988
17 กันยายน ค.ศ. 1991
พื้นที่
• รวม
100,363 ตารางกิโลเมตร (38,750 ตารางไมล์) (อันดับที่ 107)
0.3 (301 ตารางกิโลเมตร)
ประชากร
• ค.ศ. 2023 ประมาณ
ลดลงเป็นกลาง 51,966,948 [6] (อันดับที่ 28)
507 ต่อตารางกิโลเมตร (1,313.1 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 13)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2023 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 2.924 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 14)
เพิ่มขึ้น 56,706 ดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 28)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2023 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 1.721 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 12)
เพิ่มขึ้น 33,393 ดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 33)
จีนี (ค.ศ. 2018)positive decrease 34.5[8]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021)เพิ่มขึ้น 0.925[9]
สูงมาก · อันดับที่ 19
สกุลเงินวอน (₩) (KRW)
เขตเวลาUTC 9 (เวลามาตรฐานเกาหลี)
รูปแบบวันที่
  • ปปปป년 ด월 ว일
  • ปปปป. ด. ว. (ค.ศ.)
ไฟบ้าน220 โวลต์–60 เฮิร์ซ
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์ 82
รหัส ISO 3166KR
โดเมนบนสุด
สาธารณรัฐเกาหลี
ชื่อเกาหลีใต้
ฮันกึล
ฮันจา
เกาหลีใต้
ชื่อเกาหลีเหนือ
โชซ็อนกึล
ฮันจา
ชื่อเกาหลีใต้
ฮันกึล
ฮันจา
เกาหลี
ชื่อเกาหลีเหนือ
โชซ็อนกึล
ฮันจา
ชื่อเกาหลีใต้
ฮันกึล
ฮันจา

เกาหลีใต้ (อังกฤษ: South Korea; เกาหลี한국; ฮันจา韓國) ในภาษาเกาหลีอ่านชื่อประเทศว่า ฮันกุก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเกาหลี (อังกฤษ: Republic of Korea; เกาหลี대한민국; ฮันจา大韓民國) บางครั้งจะใช้ชื่อว่า นัมฮัน (남한) ที่หมายถึง เกาหลีทางใต้ ส่วนชาวเกาหลีเหนือจะเรียกเกาหลีใต้ว่า นัมโชซ็อน (남조선) ที่หมายถึง โชซ็อนใต้ เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมครึ่งส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี พรมแดนทางเหนือติดกับประเทศเกาหลีเหนือซึ่งถูกคั่นด้วยเขตปลอดทหารเกาหลี ทางตะวันตกล้อมรอบด้วยทะเลเหลือง และมีประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้โดยมีทะเลญี่ปุ่นและช่องแคบเกาหลีกั้นไว้[10] รัฐบาลเกาหลีใต้ยังอ้างสิทธิอันชอบธรรมในการครอบครองดินแดนบริเวณคาบสมุทรและหมู่เกาะใกล้เคียงทั้งหมด เกาหลีใต้มีประชากรประมาณ 52 ล้านคน[11] กว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมืองหลวงและปริมณฑลซึ่งถือเป็นเขตมหานครมี่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก และยังเป็นที่ตั้งของกรุงโซลเมืองหลวงของประเทศ ในขณะที่เมืองสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ อินช็อน, ปูซาน และแทกู

คาบสมุทรเกาหลีมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าหนึ่งล้านปี โดยเริ่มมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ช่วงยุคหินเก่าตอนต้น ซึ่งพบหลักฐานในบันทึกของจีนเมื่อต้นศตวรรษที่ 7 ภายหลังจากการรวมสามราชอาณาจักรเกาหลีในปลายศตวรรษที่ 7 เกาหลีถูกปกครองโดยราชวงศ์โครยอ (ค.ศ. 918–1392) และราชวงศ์โชซ็อน (ค.ศ. 1392–1897) จักรวรรดิเกาหลีถูกผนวกเข้ากับจักรวรรดิญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1910[12] และการปกครองของญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลงหลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมา ประเทศเกาหลีได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่ บริเวณตอนเหนือซึ่งถูกครอบครองโดยสหภาพโซเวียตและทางใต้ที่ครอบครองโดยสหรัฐอเมริกา และภายหลังจากความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อรวมประเทศ ดินแดนทางใต้ได้กลายเป็นสาธารณรัฐเกาหลีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1948[13][14] ในขณะที่ดินแดนทางเหนือได้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)

ใน ค.ศ. 1950[15] การรุกรานของเกาหลีเหนือก่อให้เกิดสงครามเกาหลี[16] นำไปสู่การแทรกแซงของสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐซึ่งสนับสนุนเกาหลีใต้[17] ในขณะที่เกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียต[18] ก่อนจะมีการการลงนามสงบศึกใน ค.ศ. 1953 ในระหว่างสงครามมีประชาชนเสียชีวิตกว่าสามล้านราย และเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก สาธารณรัฐที่หนึ่งซึ่งปกครองโดยอี ซึง-มันถูกก่อตั้งขึ้นจากการถ่ายโอนอำนาจจากกองทัพสหรัฐ และถูกโค่นล้มจากการปฏิวัติเดือนเมษายนใน ค.ศ. 1960 ตามมาด้วยการก่อตั้งสาธารณรัฐที่สองแต่ไม่สามารถอยู่ได้นานเนื่องจากกระแสต่อต้าน ก่อให้เกิดรัฐประหาร 16 พฤษภาคมโดยไม่เสียเลือดเนื้อโดยพัก จ็อง-ฮี และเป็นจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่สาม ในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู และพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน" โดยเกาหลีใต้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยเติบโตเร็วที่สุดในโลก และแม้จะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่เกาหลีใต้ก็พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย โดยมีจุดเด่นในด้านการค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐที่สี่ภายใต้เผด็จการถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1972 และเป็นยุคเรืองอำนาจของพัก จ็อง-ฮี การปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทวีความรุนแรงขึ้น แม้ว่าพักจะถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 1979 แต่ระบอบเผด็จการยังดำเนินต่อไปภายใต้สาธารณรัฐที่ห้าโดยช็อน ดู-ฮวัน การต่อต้านเผด็จการรุนแรงยิ่งขึ้น นำสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญในชื่อการก่อการกำเริบควังจู การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยใน ค.ศ. 1987 ทำให้ระบอบเผด็จการยุติลง และนำสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐที่หกมาถึงปัจจุบัน เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าที่สุดในทวีปเอเชีย[19] และเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพสื่อในระดับสูง[20][21]

เกาหลีใต้เป็นรัฐเดี่ยวปกครองด้วยระบบประธานาธิบดีและระบบสภาเดียว ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาค มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 13 ของโลกตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และเป็นอันดับ 14 ตามอำนาจซื้อ เกาหลีใต้ยังมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดชาติหนึ่งของโลก[22][23][24] รวมทั้งมีโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพสูงจากการมีรถไฟความเร็วสูงระดับโลก และยังเป็นผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก เกาหลีใต้ยังมีแรงงานทักษะสูง รวมทั้งเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรมีการศึกษาสูงที่สุดในโลก[25] และยังมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกาหลีใต้ยังมีขนาดกองทัพที่ใหญ่และแข็งแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[26] นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เกาหลีใต้มีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมป๊อปที่มีอิทธิพลไปทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านดนตรี (เคป็อป) ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่ากระแสเกาหลี[27][28][29] เกาหลีใต้เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, กลุ่ม 20, กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และปารีสคลับ ปัจจุบันเกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก[30][31][32]

นิรุกติศาสตร์

[แก้ไขต้นฉบับ]

ชื่อประเทศ Korea มีที่มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยอาณาจักรโคกูรยอ ซึ่งเป็นมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกในยุคนั้น เรียกดินแดนบริเวณคาบสมุทรเกาหลีที่ตนเองปกครองว่า Goryeo (Koryo)[33][34] ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ราชวงศ์โครยอ ได้ปกครองประเทศต่อและเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาติอื่น ๆ และพ่อค้าชาวเปอร์เซียที่มาเยือนดินแดนแห่งนี้ได้ออกเสียงคำว่า Goryeo เป็น Korea[35] และใน ค.ศ. 1568 ชื่อประเทศเกาหลีได้ปรากฏอย่างเป็นทางการในแผนที่ของ เฟอร์เนา วาซ ดูราดู นักสำรวจชาวโปรตุเกส ในชื่อ "Conrai" ก่อนที่ ฌูเวา ไตไชรา อัลบือร์นัช จะเปลี่ยนกลับมาเป็น "Korea" อีกครั้งในปลายศตวรรษที่ 16 เพื่อให้ง่ายต่อการออกเสียง และชาติตะวันตกได้ใช้ชื่อ Korea เพื่อเรียกประเทศเกาหลีนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ราชวงศ์โชซ็อน ได้ปกครองประเทศต่อจากราชวงศ์โครยอ และตั้งชื่อดินแดนทั้งหมดว่า Joseon (โชซ็อน) ตามชื่อราชวงศ์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น Daehan Jeguk ใน ค.ศ. 1897 ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าโคจง โดยชื่อ Daehan มีที่มาจากคำว่า Samhan ซึ่งสื่อความหมายถึง สามราชอาณาจักรเกาหลี (จักรวรรดิโคกูรยอ, แพ็กเจ และชิลลา) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คนเกาหลีโดยทั่วไปยังเรียกประเทศตนเองว่าโชซ็อน แม้จะไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการในทางนิตินัย[36][37]

ต่อมา เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1910–1945 ตามสนธิสัญญาการรวมญี่ปุ่น-เกาหลี และภายหลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ดินแดนของเกาหลีได้ถูกแบ่งแยกใน ค.ศ. 1948[38] และภายหลังจากความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อรวมประเทศ ดินแดนทางใต้ได้รับการตั้งชื่อในภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า The Republic of Korea ซึ่งหมายถึง สาธารณรัฐเกาหลี

ภูมิศาสตร์

[แก้ไขต้นฉบับ]
บริเวณภูเขาเบ็คดู ซึ่งมีชื่อเรียกในความหมายโลกสวรรค์

เกาหลีใต้ครอบคลุมพื้นที่ทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งทอดยาวประมาณ 1,100 กม. (680 ไมล์) จากแผ่นดินใหญ่ในทวีปเอเชีย คาบสมุทรนี้ประกอบด้วยภูเขาที่ขนาบข้างด้วยทะเลเหลืองทางทิศตะวันตก และทะเลญี่ปุ่นทางทิศตะวันออก ปลายด้านใต้อยู่ที่ช่องแคบเกาหลีและทะเลจีนตะวันออก

แผ่นดินประเทศรวมทั้งหมู่เกาะทั้งหมดตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 33° ถึง 39°N และลองจิจูด 124° ถึง 130°E พื้นที่ทั้งหมดบริเวณนี้มีเนื้อที่ 100,032 ตารางกิโลเมตร (38,622.57 ตารางไมล์)[39] เกาหลีใต้แบ่งออกเป็นสี่ภูมิภาคหลัก: ภาคตะวันออกของเทือกเขาสูงและที่ราบชายฝั่งแคบ; ภาคตะวันตกของที่ราบชายฝั่งทะเลกว้าง แอ่งน้ำ และเนินเขา พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาและหุบเขา และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ครอบงำโดยแอ่งกว้างของแม่น้ำนักดง เกาหลีใต้เป็นที่ตั้งของป่าไม้สำคัญสามแห่ง ได้แก่ ป่าผลัดใบของเกาหลีกลาง ป่าผสมผสานแมนจูเรีย และป่าดิบชื้นของเกาหลีใต้

ภูมิประเทศของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ที่ราบลุ่มซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของพื้นที่ทั้งหมด[40]

บริเวณโดยรอบประเทศประกอบด้วยเกาะประมาณสามพันเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกและใต้ของเกาหลีใต้ เมืองเชจูอยู่ห่างจากชายฝั่งทางใต้ของเกาหลีใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร (62 ไมล์) ถือเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ 1,845 ตารางกิโลเมตร (712 ตารางไมล์) เชจูยังเป็นที่ตั้งของจุดที่สูงที่สุดของเกาหลีใต้: Hallasan ภูเขาไฟที่ดับแล้วสูงถึง 1,950 เมตร (6,400 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล เกาะทางตะวันออกสุดของเกาหลีใต้ ได้แก่ เกาะอุลลึงโด (Ulleungdo) และ เลียนคอร์ทร็อคส์ (Liancourt Rocks (Dokdo/Takeshima)) ในขณะที่ มาราโด (Marado) และ Socotra Rock เป็นเกาะที่อยู่ทางใต้สุดของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้มีอุทยานแห่งชาติ 20 แห่ง[41] และสถานที่ทางธรรมชาติยอดนิยม เช่น ทุ่งชาโบซอง อุทยานระบบนิเวศอ่าวซุนชอน และอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของจีริซาน

สภาพอากาศ

[แก้ไขต้นฉบับ]

เกาหลีใต้มีมีภูมิอากาศแบบทวีปชื้นและภูมิอากาศแบบกึ่งเขตร้อนชื้น และได้รับผลกระทบจากลมมรสุมเอเชียตะวันออก โดยมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในฤดูร้อนในช่วงฤดูฝนสั้น ๆ ที่เรียกว่า jangma (장마) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ฤดูหนาวอาจมีอากาศหนาวจัดโดยอุณหภูมิต่ำสุดจะลดลงต่ำกว่า -20 °C (-4 °F) ในเขตพื้นที่ภายในประเทศของประเทศ: ในกรุงโซล ช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยมกราคมคือ −7 ถึง 1 °C (19 ถึง 34 °F) ) และช่วงอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 22 ถึง 30 °C (72 ถึง 86 °F) ฤดูหนาวอุณหภูมิจะสูงขึ้นตามแนวชายฝั่งทางใต้และต่ำกว่ามากในบริเวณภูเขาภายใน ฤดูร้อนอาจร้อนและชื้นจนรู้สึกไม่สบาย โดยมีอุณหภูมิเกิน 30 °C (86 °F) ในหลายพื้นที่ของประเทศ เกาหลีใต้มีสี่ฤดูกาลที่แตกต่างกัน[42] ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิมักจะกินเวลาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม ฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกันยายน ฤดูใบไม้ร่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และฤดูหนาวตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม ทั้งสองฤดูถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวที่สุด[43]

ปริมาณน้ำฝนมีความเข้มข้นในช่วงฤดูร้อนของเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ชายฝั่งทางใต้อยู่ภายใต้พายุไต้ฝุ่นช่วงปลายฤดูร้อนซึ่งทำให้เกิดลมแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมในบางครั้ง ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยแตกต่างกันไปจาก 1,370 มิลลิเมตร (54 นิ้ว) ในกรุงโซลถึง 1,470 มิลลิเมตร (58 นิ้ว) ในปูซาน

ประวัติศาสตร์

[แก้ไขต้นฉบับ]

ยุคเผ่าและอาณาจักรโชซ็อนโบราณ

[แก้ไขต้นฉบับ]
อาณาจักรโชซ็อนโบราณ

ในยุคแรกดินแดนบนคาบสมุทรเกาหลีประกอบด้วยผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ เผ่าแรกที่ปรากฏคือเผ่าโชซ็อนโบราณ ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือ เรืองอำนาจในช่วงพ.ศ. 143 – 243 ส่วนเผ่าอื่นได้แก่เผ่าพูยอ อยู่บริเวณปากแม่น้ำซุงคารีทางแมนจูเรียเหนือ เผ่าโคกูรยออยู่ระหว่างแม่น้ำพมาก และแม่น้ำอัมนก เผ่าอกจออยู่บริเวณมณฑลฮัมกย็อง เผ่าทงเยอยู่บริเวณมณฑลคังว็อน และเผ่าสามฮั่นคือ มาฮั่น ชินฮั่น และพยอนฮั่น ที่อยู่บริเวณแม่น้ำฮั่นและแม่น้ำนักดง ทางภาคใต้ของคาบสมุทรเกาหลี[44]

ตำนานที่เป็นที่แพร่หลายในประเทศเกาหลีเล่าถึงกำเนิดของชนชาติตนว่า เจ้าชายฮวางวุง โอรสของเทพสูงสุดบนสวรรค์ลงมาสร้างเมืองที่ภูเขาแทแบ็ก ได้แต่งงานกับหญิงที่มีกำเนิดจากหมี มีโอรสชื่อตันกุน ต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรโชซ็อนโบราณ เมื่อ 1790 ปีก่อนพุทธศักราช[45]

ดินแดนคาบสมุทรเกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นจีนเมื่อ พ.ศ. 434 เมื่อจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หรือกวนอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นยกทัพเข้ายึดครองดินแดนของอาณาจักรโชซ็อนโบราณ และแบ่งเกาหลีเป็น 4 มณฑล คือ อาณาจักรนังนัง ชินบอน อิมดุน และฮย็อนโท อย่างไรก็ตาม จีนปกครองมณฑลนังนังอย่างจริงจังเพียงมณฑลเดียว มณฑลอื่น ๆ จึงค่อย ๆ แยกตัวเป็นเอกราช จน พ.ศ. 856 ชนเผ่าโคกูรยอเข้ายึดครองมณฑลนังนัง ขับไล่จีนออกไปได้สำเร็จ การตกเป็นเมืองขึ้นของจีนทำให้เกาหลีได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาก เช่นตัวอักษรและศาสนา (พุทธและขงจื๊อ)[46]

ยุคสามอาณาจักร

[แก้ไขต้นฉบับ]
ภาพเขียนสีสมัยอาณาจักรโคกูรยอ

ในยุคนี้คาบสมุทรเกาหลีถูกปกครองโดยสามอาณาจักรที่รุ่งเรืองนับพันปีบนคาบสมุทรเกาหลี[47] คือ

ยุคอาณาจักรเหนือใต้

[แก้ไขต้นฉบับ]
พระราชวังสมัยโบราณในเกาหลี

เมื่อสิ้นสุดสมัย 3 อาณาจักรนั้น อาณาจักรชิลลาถือว่าเป็นผู้มีชัยเหนืออาณาจักรอื่นบนคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด ในทางประวัติศาสตร์ถือว่ายุคสมัยนี้ อาณาจักรชิลลาเป็นผู้รวบรวมแผ่นดินเกาหลีให้เป็นผืนเดียวกันได้เป็นครั้งแรกนับแต่ยุคสมัยดึกดำบรรพ์เป็นต้นมา จึงเรียกว่า ยุคชิลลารวมอาณาจักร ช่วงยุคสมัยนี้นับจากปีที่อาณาจักรโคกูรยอและอาณาจักรแพ็กเจล่มสลายลงไปใน พ.ศ. 1211 และสืบเนื่องไปจนถึง พ.ศ. 1478 แต่ที่จริงแล้ว อาณาจักรชิลลาไม่ได้ครอบครองดินแดนทั้งหมดไว้ ที่ครอบคลุมได้ทั้งหมดนั้นเพียงดินแดนทางตอนใต้เท่านั้น แม้แต่ดินแดนของโคกูรยอเดิม ชิลลาก็ได้มาเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่เพียงที่ต้องยกคาบสมุทรเหลียวตงให้กับจีน แต่ดินแดนทางเหนือจรดไปถึงแมนจูเรียตกอยู่ในการควบคุมของอาณาจักรเกิดใหม่อีกอาณาจักรหนึ่ง ชื่อว่า อาณาจักรพัลแฮ หรือเรียกว่า ป๋อไห่ ในชื่อเรียกตามภาษาจีน ในยุคสมัยนี้ นักประวัติศาสตร์บางท่านจึงจัดว่าเป็นยุคอาณาจักรเหนือใต้ของเกาหลี

ยุคสามอาณาจักรหลัง

[แก้ไขต้นฉบับ]

หลังจากอาณาจักรพัลแฮถูกราชวงศ์เหลียวตีจนแตกนั้นประชาชนพากันอพยพลงใต้มาบริเวณอาณาจักรโคกุเรียวเดิม แล้วเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรพัลแฮ ก็สถาปนาอาณาจักรใหม่บริเวณอาณาจักรโคกุเรียวเดิม แล้วให้ชื่อว่า "อาณาจักรโคกูเรียวใหม่" แล้วสถาปนาตนเองป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้ากุงเย ส่วนชาวแพ็กเจที่อยู่ในอาณาจักรรวมชิลลาก็ได้ก่อกบฏต่ออาณาจักร มีหัวหน้าคือ คยอน ฮวอน แล้วไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณอาณาจักรแพ็กเจเดิม แล้วให้ชื่อว่า "อาณาจักรแพ็กเจใหม่" แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าคยอน ฮวอน แล้วทำการก่อกบฏต่ออาณาจักรรวมชิลลา ทำให้ชิลลาเกิดความระส่ำระส่าย จึงถือเป็นยุคสามอาณาจักรยุคหลัง

ยุคราชวงศ์โครยอ

[แก้ไขต้นฉบับ]

วังฮูมาสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แทโจแห่งราชวงศ์โคเรียวเมื่อ พ.ศ. 1486 อาณาจักรนี้เจริญสูงสุดในสมัยกษัตริย์มุนจง ยุคนี้เป็นยุคที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา มีการทำสงครามกับพวกญี่ปุ่นและมองโกล ถูกจีนควบคุมในสมัยราชวงศ์หยวน จนเมื่ออำนาจของราชวงศ์หยวนอ่อนแอลง อาณาจักรโครยอต้องพบกับปัญหาโจรสลัดญี่ปุ่นและการรุกรานของราชวงศ์หมิง ในที่สุดทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจมากขึ้นจนนำไปสู่การยึดอำนาจของนายพล อีซองกเย และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1935

ยุคราชวงศ์โชซ็อน

[แก้ไขต้นฉบับ]

นายพล ลี ซองเกสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แทโจแห่งราชวงศ์โชซ็อน ในสมัยนี้ส่งเสริมลัทธิขงจื๊อให้เป็นลัทธิประจำชาติและเริ่มลดอิทธิพลของพุทธศาสนา สมัยกษัตริย์เซจงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรฮันกึลขึ้นใช้แทนอักษรจีน

จักรวรรดิเกาหลี

[แก้ไขต้นฉบับ]

จักรวรรดิเกาหลี หรือ แทฮันเจกุก (อังกฤษ: The Greater Korean Empire ; เกาหลี: 대한제국, ฮันจา: 大韓帝國, MC: Daehan Jeguk, MR: Taehan Chekuk) คือราชอาณาจักรโชซ็อนที่ประกาศยกสถานะของรัฐจากราชอาณาจักรเป็นจักรวรรดิ ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าโกจง พร้อมกับการเปลี่ยนพระอิสริยยศจาก กษัตริย์ เป็น จักรพรรดิ โดยพระองค์มีพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิควางมูแห่งจักรวรรดิเกาหลี เพื่อให้ประเทศเอกราชจากจักรวรรดิชิง และยกสถานะของประเทศมีความเท่าเทียมกับจักรวรรดิชิง และ จักรวรรดิญี่ปุ่น แม้ว่าโดยพฤติการณ์แล้วสถานะของเกาหลีไม่ได้เข้าข่ายการเป็นจักรวรรดิเลยก็ตาม จนกระทั่งถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองในปี 1910

เกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น

[แก้ไขต้นฉบับ]

เมื่อ ค.ศ. 1910 ญี่ปุ่นได้ผนวกเกาหลีเป็นทาสของตนตามสนธิสัญญาการรวมญี่ปุ่น-เกาหลี ซึ่งสนธิสัญญานี้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย เพราะมีการลงนามของกษัตริย์เกาหลี[49] เกาหลีเป็นเมืองขึ้นจนกระทั่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามเมื่อ 15 สิงหาคม 1945

ในระหว่างการปกครองของญี่ปุ่น มีการสร้างระบบคมนาคมแบบตะวันตก ส่วนใหญ่ล้วนทำเพื่อประโยชน์ของชาวเกาหลี ญี่ปุ่นยกเลิกราชวงศ์โชซ็อน ยุบพระราชวัง ช่วยปรับปรุงระบบภาษี ให้ส่งข้าวจากเกาหลีไปช่วยญี่ปุ่น มีการใช้แรงงานทาสในการสร้างถนนและทำเหมืองแร่

หลังการสวรรคตของกษัตริย์โกจง (Gojong) เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 ด้วยยาพิษ ทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชทั่วประเทศ เมื่อ 1 มีนาคม 1918 ผลจากการลุกฮือขึ้นเรียกร้องเอกราชทำให้ชาวเกาหลีราว 7,000 คนถูกฆ่าโดยทหารและตำรวจญี่ปุ่น ชาวคริสต์เกาหลีจำนวนมากถูกฆ่าหรือเผาในโบสถ์ระหว่างการเรียกร้องเอกราชมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลีที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หลังจากการเคลื่อนไหว 1 มีนาคม เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น[50]

การลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ต่อไป เช่น การลุกฮือของนักศึกษาทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1929 จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อ ค.ศ. 1931 หลังจากเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นพยายามลบล้างความเป็นชาติของเกาหลี การสอนประวัติศาสตร์และภาษาเกาหลีในโรงเรียนถูกห้าม การแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเกาหลีถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชาวเกาหลีถูกบังคับให้มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น[51] สิ่งของมีค่าถุกนำออกจากเกาหลีไปยังญี่ปุ่น.[52] หนังสือพิมพ์ถูกห้ามตีพิมพ์ด้วยภาษาเกาหลี หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จำนวนมากถูกเผาทำลาย

ชาวเกาหลีจำนวนมากอพยพออกจากเกาหลีไปสู่แมนจูเรียและรัสเซีย ชาวเกาหลีในแมนจูเรียจัดตั้งขบวนการกู้เอกราชชื่อ "ทุงนิบกุน" (Dungnipgun) ขบวนการนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน ทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น กองทัพเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นกองทัพปลดปล่อยเกาหลี เมื่อราว ค.ศ. 1940 เคลื่อนไหวในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเกาหลีกว่าหมื่นคนเข้าร่วมในกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเกาหลีถูกบังคับให้ร่วมมือกับญี่ปุ่น ชายชาวเกาหลีถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพญี่ปุ่น[53] ผู้หญิงจากจีนและเกาหลีราว 200,000 คน ถูกส่งตัวไปเป็นนางบำเรอของทหารญี่ปุ่น[54]

การแบ่งแยกประเทศ

[แก้ไขต้นฉบับ]
ทหารปีนข้ามกำแพงทะเลในอินช็อน

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แนวโน้มของการแบ่งประเทศเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อ 8 กันยายน ค.ศ. 1943[55] เมื่อสหรัฐเข้าควบคุมภาคใต้ของคาบสมุทรเกาหลี และโซเวียตเข้าควบคุมภาคเหนือ โดยใช้เส้นขนาน (ละติจูด,เส้นรุ้ง) ที่ 38 องศาเป็นเส้นแบ่ง รัฐบาลชั่วคราวถูกยกเลิกเพราะสหรัฐเห็นว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ในครั้งแรกการแบ่งแยกนี้เป็นการชั่วคราว และจะให้เอกราชแก่เกาหลีเมื่อสี่ชาติมหาอำนาจคือ สหรัฐ สหภาพโซเวียต อังกฤษ และจีน จัดการปกครองในเกาหลีสำเร็จ[56]

ในการประชุมไคโรเมื่อ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 กำหนดให้เกาหลีเป็นชาติอิสระ และการประชุมล่าสุดที่ยัลตาในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 ตกลงให้เกาหลีเป็นรัฐในอารักขาของชาติมหาอำนาจสี่ชาติ ต่อมา 9 สิงหาคม 1945 โซเวียตยกทัพจากไซบีเรียเข้าสู่เกาหลีโดยไม่มีการต่อต้าน ญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อ 15 สิงหาคม 1945 ในเดือนธันวาคม มีการประชุมที่มอสโกเพื่อตกลงเกี่ยวกับอนาคตของเกาหลี โดยกำหนดให้เป็นรัฐในอารักขา 5 ปี และรวมส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐและโซเวียตเข้าด้วยกัน มีการประชุมกันอีกครั้งที่กรุงโซลแต่องค์การตั้งประเทศใหม่ยังไม่ลุล่วง เดือนกันยายน 1947 สหรัฐส่งปัญหาเกาหลีเข้าสู่สหประชาชาติเพื่อให้เกาหลีเป็นรัฐเดียวที่มีเอกภาพ แต่ผลจากสงครามเย็นทำให้สหรัฐวางแผนคุ้มกันเกาหลีเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดการแยกประเทศเมื่อ ค.ศ. 1948 เกิดเป็นสองประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจและการปกครองต่างกัน สหประชาชาติยอมรับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นตัวแทนเกาหลีในสหประชาชาติเพียงรัฐเดียวเมื่อ 12 ธันวาคม 1948 สงครามเกาหลีระเบิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 1950 เมื่อเกาหลีเหนือยกทัพข้ามเส้นขนานที่ 38 องศาบุกเข้าโจมตีเกาหลีใต้ เป็นการยุติความพยายามในขณะนั้นที่จะรวมประเทศทั้งสองอย่างสันติ สงครามดำเนินไปจนมีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ 27 กรกฎาคม 1953

ยุคเผด็จการหลังสงคราม (1960–1987)

[แก้ไขต้นฉบับ]
พิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพ ค.ศ. 1973 เพื่อยกย่องประธานาธิบดี พัก จ็อง-ฮี

ใน ค.ศ. 1960 เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนเมษายน จากความอ่อนแอของรัฐบาล อี ซึง-มัน เกิดวิกฤติการเมืองในประเทศ และนำไปสู่รัฐประหาร 16 พฤษภาคมโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ พัก จ็อง-ฮี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ เขากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยขยายการส่งออกด้วยกำไรมหาศาล แต่แลกมาด้วยการกดขี่ทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชน พักถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากการปกครองแบบเผด็จการ และใน ค.ศ. 1972 รัฐบาลของเขาได้ตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง โดยมีการระบุให้เขาสามารถลงสมัครเลือกตั้งได้อีกโดยไม่จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง หากก็นำมาซึ่งการพัฒนาสาธารณูปโภคในประเทศอย่างต่อเนื่อง พักได้พัฒนาระบบทางด่วนทั่วประเทศ[57] รวมทั้งสร้างระบบรถไฟใต้ดินในกรุงโซล ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในระบบรถไฟใต้ดินที่ทันสมัยที่สุดในโลกมาถึงปัจจุบัน[58] และรัฐบาลของเขายังวางรากฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปได้พัฒนาประเทศ ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 1979 รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 17 ปี

พลเอก ช็อน ดู-ฮวัน เป็นผู้นำรัฐประหารใน ค.ศ. 1979 และบังคับให้คณะรัฐมนตรีขยายกฎอัยการศึกไปทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยใช้บังคับกับเกาะเชจู กฎอัยการศึกขยายการปิดมหาวิทยาลัย การห้ามกิจกรรมทางการเมือง และระงับเสรีภาพสื่อ ก่อให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การประท้วงเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่เมืองควังจู และในที่สุดนำไปสู่ การก่อการกำเริบควังจู ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลี[59] ช็อน ดู-ฮวัน ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายฉุกเฉินป้องกันราชอาณาจักรเพื่อทำการตอบโต้ และตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 1980 และรัฐบาลของเขาปกครองเกาหลีใต้ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการจนถึงปี 1987 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ทรมานนักศึกษานามว่า พัก ยอง-ชุล จนเสียชีวิต[60] สมาคมนักบวชคาทอลิกเพื่อความยุติธรรม ได้เปิดเผยเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณชน ในที่สุด โน แท-อู อดีตบุคคลสำคัญในรัฐบาล ช็อน ดู-ฮวัน ประกาศปฏิญญา 6.29 นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป และเขาได้รับชัยชนะอย่างฉิวเฉียด ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 โดยในช่วงเวลานั้น กรุงโซลได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 1988 ได้รับการยกย่องว่าเป็นการพัฒนาภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ[61]

ยุคประชาธิปไตย (1997–ปัจจุบัน)

[แก้ไขต้นฉบับ]
นาย คิม แด-จุง ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของเกาหลีใต้ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพใน ค.ศ. 2000 ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันประชาธิปไตยในเกาหลีใต้และเอเชียตะวันออก ได้รับการยกย่องเป็น "เนลสัน แมนเดลา" ของทวีปเอเชีย[62]

เกาหลีใต้ได้รับคำเชิญให้เป็นสมาชิกสหประชาชาติใน ค.ศ. 1991 การเปลี่ยนผ่านการปกครองระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1997 ภายใต้การบริหารประเทศของ คิม แด-จุง ซึ่งชนะการเลือกตั้ง และเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1998 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เนื่องจากเขาเคยเป็นอดีตนักโทษทางการเมืองซึ่งเคยต้องคำพิพากษาประหารชีวิต (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำสั่งเนรเทศ) ในยุคเผด็จการทหาร

วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ส่งผลกระทบรุนแรง กระนั้น นายคิมได้พาประเทศผ่านวิกฤติไปได้ โดยได้รับคำแนะนำจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต่อมา เขาริเริ่มนโยบายซันไชน์ซึ่งเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ การประชุมระดับผู้นำของสองประเทศจัดขึ้นที่กรุงเปียงยาง ส่งผลให้คิม แด-จุง ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปลายปีนั้น[63] เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 ร่วมกับญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศในทวีปเอเชียได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นก็ตึงเครียดอีกครั้งสืบเนื่องจากการอ้างสิทธิ์ในอธิปไตยบริเวณเกาะเลียนคอร์ทร็อคส์ ต่อมา รัฐบาลอนุรักษ์นิยมนำโดย อี มย็อง-บัก ชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2007

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2010 เรือรบ ROKS Cheonan ของเกาหลีใต้ถูกจมโดยเรือรบเกาหลีเหนือ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 46 ราย ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน การระดมยิงย็อนพย็อง ระหว่างทหารเกาหลีเหนือกับกองกำลังเกาหลีใต้ได้ปะทุขึ้น มีพลเรือนเสียชีวิต 4 ราย การขาดการตอบโต้ของรัฐบาลเกาหลีและการเพิกเฉยของสหประชาชาติสร้างเกิดความโกรธเคืองในหมู่ประชาชนชาวเกาหลีใต้[64]

ใน ค.ศ. 2012 ได้มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลีใต้ โดย พัก กึน-ฮเย เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอเป็นบุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี พัก จ็อง-ฮี เธอบริหารประเทศด้วยนโยบานอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของพักถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตในวงกว้าง การติดสินบน และใช้อิทธิพลเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยเฉพาะ เช ซุนซิล ซึ่งมีความสนิทสนมกับ พัก กึน-ฮเย นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่[65] ตามมาด้วยการถอดถอน พัก กึน-ฮเย จากตำแหน่ง[66] โดยเธอถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอนจากการปฏิบัติหน้าที่โดยรัฐสภาและการรับรองโดยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ และนาย ฮวัง กโย-อัน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการในระหว่างรอการเลือกตั้งทั่วไป

มุน แจ-อิน จากพรรคประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 12 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 นโยบายสำคัญของเขาคือการพัฒนาความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ[67] เขาร่วมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 3 กับ คิม จ็อง อึน ในวันที่ 27 เมษายน 2018 ที่หมุ่บ้านปันมุนจอม ในเขตปลอดทหารเกาหลี และยังรักษาการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอย่างแข็งขัน และรัฐบาลของเขาประสบความสำเร็จในการนำเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 จัดขึ้นที่ พย็องชัง แต่การระบาดทั่วของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตั้งแต่ ค.ศ. 2020 และถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ ในปีเดียวกันนั้น เกาหลีใต้ยังได้รับการบันทึกว่ามีอัตราการเสียชีวิตของประชากรมากกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์[68]

ยุน ซ็อก-ย็อล จากพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 ด้วยคะแนนที่มากกว่าผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยแบบเฉียดฉิว และเข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 13 ในเดือนพฤษภาคม[69]

การเมืองการปกครอง

[แก้ไขต้นฉบับ]
อาคารรัฐสภาของเกาหลีใต้

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2491 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยเส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือ (มักเรียกว่าเส้นขนาน 38) โดยสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือ มีการปกครองระบอบสังคมนิยม ส่วนสหรัฐดูแลเกาหลีใต้ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 8 นครระดับจังหวัด (โซล ปูซาน อินช็อน แทกู ควังจู แทจ็อน อุลซัน เซจง)

รัฐธรรมนูญ

[แก้ไขต้นฉบับ]

เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีช็อน ดู-ฮวัน ต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลีฉบับปัจจุบันคือ ฉบับที่ ๑๐ มีทั้งสิ้น ๑๐ หมวด ๑๓๐ มาตรา ประกอบด้วย หมวด ๑ บททั่วไป (มาตรา ๑ - ๙) หมวด ๒ หน้าที่และสิทธิของพลเมือง (มาตรา ๑๐ - ๓๙) หมวด ๓ รัฐสภา (มาตรา ๔๐ - ๖๕) หมวด ๔ รัฐบาล แบ่งเป็น ส่วนที่ ๑ ประธานาธิบดี (มาตรา ๖๖ - ๘๕) ส่วนที่ ๒ ฝ่ายบริหาร (มาตรา๘๖ - ๙๓) ส่วนที่ ๓ องค์กรของรัฐบาล (มาตรา ๙๔ - ๙๖) ส่วนที่ ๔ ผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา ๙๗ - ๑๐๐) หมวด ๕ ศาล (มาตรา ๑๐๑ - ๑๑๐) หมวด ๖ ศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๑๑๑ - ๑๑๓) หมวด ๗ กรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา ๑๑๔ - ๑๑๖) หมวด ๘ การปกครองท้องถิ่น (มาตรา ๑๑๗ - ๑๑๘) หมวด ๙ เศรษฐกิจ (มาตรา ๑๑๙ - ๑๒๗) หมวด ๑๐ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๑๒๘ - ๑๓๐) (แก้ไขล่าสุดเมื่อ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ และประกาศใช้เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๘)[70]

ฝ่ายนิติบัญญัติ

[แก้ไขต้นฉบับ]

รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา (National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 300 คน โดยสมาชิกจำนวน 246 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และ สมาชิกจำนวน 54 คนมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ โดยประธานฯและรองประธานรัฐสภานั้น จะมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ซึ่งรัฐสภาชุดปัจจุบันคือสมัยที่ 20 มีนายชอง เซ กยุน เป็นประธานรัฐสภา รับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ และมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี นายชอง เซ กยุน เป็นสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรค Minjoo Party (พรรคฝ่ารัฐบาล) และเป็นสมาชิกรัฐสภาตั้งแต่สมัยที่ ๑๕ – ๒๐ จำนวนทั้งสิ้น ๖ สมัย และมีรองประธานรัฐสภาจำนวน ๒ คน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างละ ๑ คน อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของเกาหลีใต้กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาจำเป็นต้องถอนตัวออกจากการสังกัดพรรคการเมืองเป็นการชั่วคราว (ข้อมูล เมื่อ 17 กันยายน 2017)

ฝ่ายบริหาร

[แก้ไขต้นฉบับ]
ยุน ซ็อก-ย็อล ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
  • ประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง โดยมีวาระ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายอำนาจ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการ ศึก และมาตรการจำเป็นในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้แก่ ยุน ซ็อก-ย็อล ดำรงตั้งแหน่งตั้งวันที่ 10 พฤษภาคม 2022

ฝ่ายตุลาการ

[แก้ไขต้นฉบับ]

ประกอบไปด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน คำพิพากษาจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ (โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับการร้องขอจากศาลชั้นต้นหรือจากกลุ่มบุคคลที่ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าว) อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมายของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

สาธารณรัฐเกาหลีมีกระทรวง 17 กระทรวง[71] โดยแต่ละกระทรวงจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นหัวหน้า โดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และต้องรายงานงานต่าง ๆให้กับนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
ในบางกระทรวงอาจมีหน่วยงานเทียบเท่าในสังกัด ซึ่งจะทำงานขึ้นตรงต่อทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆและนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีด้วย

รายชื่อกระทรวง

[แก้ไขต้นฉบับ]
ลำดับที่ ชื่อกระทรวงภาษาไทย ชื่อกระทรวงภาษาอังกฤษ ชื่อกระทรวงภาษาเกาหลี อักษรย่อ
1 กระทรวงยุทธศาสตร์ และการคลัง Ministry of Strategy and Finance 기획재정부 MOSF
2 กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวางแผนอนาคต Ministry of Science, ICT and Future Planning 미래창조과학부 MSIP
3 กระทรวงศึกษาธิการ Ministry of Education 교육부 MOE
4 กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs 외교부 MOFA
5 กระทรวงรวมชาติ Ministry of Unification 통일부 MOU
6 กระทรวงยุติธรรม Ministry of Justice 법무부 MOJ
7 กระทรวงกลาโหม Ministry of National Defense 국방부 MND
8 กระทรวงความปลอดภัย และการบริการสาธารณะ Ministry of Security and Public Administration 안전행정부 MOSPA
9 กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว Ministry of Culture, Sports and Tourism 문화체육관광부 MCST
10 กระทรวงการเกษตร อาหาร และกิจการชนบท Ministry of Agriculture, Food and Rural Affairs 농림축산식품부 MAFRA
11 กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และพลังงาน Ministry of Trade, Industry and Energy 산업통상자원부 MOTIE
12 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ Ministry of Health and Welfare 보건복지부 MOHW
13 กระทรวงสิ่งแวดล้อม Ministry of Environment 환경부 ME
14 กระทรวงการจ้างงาน และแรงงาน Ministry of Employment and Labor 고용노동부 MOEL
15 กระทรวงความเสมอภาพทางเพศ และครอบครัว Ministry of Gender Equality and Family 여성가족부 MOGEF
16 กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคม Ministry of Land, Infrastructure and Transport 국토교통부 MOLIT
17 กระทรวงมหาสมุทรและประมง Ministry of Oceans and Fisheries 해양수산부 MOF

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้ไขต้นฉบับ]

ประเทศเกาหลีใต้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 จังหวัด (เกาหลี: ) 3 จังหวัดปกครองตนเองพิเศษ (เกาหลี: 특별자치도) 6 มหานคร (เกาหลี: 광역시) 1 นครพิเศษ (เกาหลี: 특별시) และ 1 นครปกครองตนเองพิเศษ (เกาหลี: 특별자치시)

แผนที่ รายชื่อ ฮันกึล ฮันจา ประชากร
นครพิเศษ
โซล (ซออุล) 서울특별시 서울特別市 9,794,304
มหานคร
ปูซาน (พูซัน) 부산광역시 釜山廣域市 3,635,389
แทกู 대구광역시 大邱廣域市 2,512,604
อินช็อน 인천광역시 仁川廣域市 2,628,000
ควังจู 광주광역시 光州廣域市 1,456,308
แทจ็อน 대전광역시 大田廣域市 1,442,857
อุลซัน 울산광역시 蔚山廣域市 1,087,958
นครปกครองตนเองพิเศษ
เซจง 세종특별자치시 世宗特別自治市 96,000
จังหวัด
คย็องกี 경기도 京畿道 10,415,399
ชุงช็องเหนือ 충청북도 忠淸北道 1,462,621
ชุงช็องใต้ 충청남도 忠淸南道 1,840,410
ช็อลลาใต้ 전라남도 全羅南道 1,994,287
คย็องซังเหนือ 경상북도 慶尙北道 2,775,890
คย็องซังใต้ 경상남도 慶尙南道 2,970,929
จังหวัดปกครองตนเองพิเศษ
คังว็อน 강원특별자치도 江原特別自治道 1,592,000
ช็อนบุก 전북특별자치도 全北特別自治道 1,890,669
เชจู 제주특별자치도 濟州特別自治道 560,000

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้ไขต้นฉบับ]
บัน คี-มูน (ซ้ายมือ) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ขณะเข้าพบ จอห์น เคร์รี อดีตสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐจากรัฐแมสซาชูเซตส์

เกาหลีใต้รักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอีก 188 ประเทศ และเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 1991 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ นายบัน คี-มูน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2016 นอกจากนี้ยังได้พัฒนาความเชื่อมโยงกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะสมาชิกอาเซียนบวกสาม ซึ่งเป็นคณะผู้สังเกตการณ์ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS)

ในเดือนพฤศจิกายน 2009 เกาหลีใต้เข้าร่วมคณะกรรมการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของ OECD ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อดีตประเทศผู้รับความช่วยเหลือเข้าร่วมกลุ่มในฐานะสมาชิกผู้บริจาค

เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G-20 ในกรุงโซลในเดือนพฤศจิกายน 2010 ซึ่งเป็นปีที่เกาหลีใต้และสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า เกาหลีใต้ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับแคนาดาและออสเตรเลียในปี 2014 และอีกฉบับกับนิวซีแลนด์ในปี 2015

เกาหลีเหนือ

[แก้ไขต้นฉบับ]

ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างอ้างอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เหนือบริเวณคาบสมุทรทั้งหมดและหมู่เกาะรอบนอก แม้จะมีความเป็นปฏิปักษ์ซึ่งกันและกัน แต่ความพยายามในการปรองดองยังคงดำเนินต่อไปนับตั้งแต่การแยกระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลี[72] บุคคลสำคัญทางการเมืองเช่น คิม คู ทำงานเพื่อปรองดองรัฐบาลทั้งสองแม้หลังสงครามเกาหลี ด้วยความเกลียดชังอันยาวนานหลังสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950 ถึง 1953 เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อแสวงหาสันติภาพ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2007 มูฮยอน และผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอิล ได้ลงนามในข้อตกลงแปดประเด็นในประเด็นสันติภาพถาวร การเจรจาระดับสูง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การต่ออายุบริการรถไฟ การเดินทางบนทางหลวงและทางอากาศ และการร่วมเชียร์กีฬาโอลิมปิก

เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนัก อันเนื่องมาจากความขัดแย้งตั้งแต่สมัยโบราณ[73] แต่ยังคงมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาหลายร้อยปี[74] โดยที่เกาหลีทำหน้าที่เปรียบเสมือนประตูการเดินทางสู่ทวีปเอเชียและญี่ปุ่น ประชากรเกาหลีส่วนมากยังคงฝังใจกับเหตุการณ์ที่บรรพบุรุษของตนถูกกระทำในศตวรรษที่ 20 จากเหตุการณ์การยึดครองเกาหลีของญี่ปุ่น ซึ่งคนเกาหลีโดยทั่วไปยังคงมีทัศนคติในแง่ลบต่อคนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของเกาหลีใต้ โดยมีปริมาณส่งออกกถึง 12% (46 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2016

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติก็ยังไม่สู้ดีนัก โดยไม่มีกิจกรรมทางการทูตระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการจนถึง ค.ศ. 1965 ทั้งสองชาติได้ร่วมลงนามใน สนธิสัญญาความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งคู่และลดความตึงเครียดในอดีต ซึ่งในช่วงสงครามโลกนั้นประชากรเกาหลีหลายแสนรายถูกเกณฑ์ไปรับใช้จักรวรรดิญี่ปุ่น โดยเพศชายจะถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน และเพศหญิงจะถูกใช้เพื่อระบายความต้องการทางเพศ[75][76][77][78]

จีนและรัสเซีย

[แก้ไขต้นฉบับ]
ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน และ ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูตินของรัสเซีย

ในอดีต จักรวรรดิเกาหลีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์จีน[79] และบางอาณาจักรของเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของสาขาจักรวรรดิจีน[80] ในปัจจุบัน ก่อนการก่อตัวของเกาหลีใต้ นักสู้อิสระของเกาหลีทำงานร่วมกับทหารจีนระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณรัฐประชาชนจีนยอมรับลัทธิเหมาในขณะที่เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา[81] จีนได้ช่วยเหลือเกาหลีเหนือด้วยกำลังคนและเสบียงระหว่างสงครามเกาหลี และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเกาหลีใต้และจีนเกือบจะยุติลงโดยสมบูรณ์ ก่อนที่เกาหลีใต้และจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1992 ทั้งสองประเทศพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีและยกเลิกการคว่ำบาตรทางการค้าที่มีอายุ 40 ปี และความสัมพันธ์เกาหลีใต้-จีนก็ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1992 สาธารณรัฐเกาหลียุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เนื่องจากมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งไม่รับรองอธิปไตยของไต้หวัน จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้[82] โดยสินค้าส่งออกกว่า 26% นั้นส่งไปเกาหลีใต้ในปี 2016 มูลค่า 124 พันล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของจีนด้วยมูลค่าการนำเข้า 93 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016

เกาหลีใต้และรัสเซียเข้าร่วมการเจรจา 6 ฝ่ายเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ฝ่ายบริหารของเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการบริโภคก๊าซธรรมชาติของเกาหลีใต้ แผนเหล่านี้รวมถึงการเปิดการเจรจาอีกครั้งเกี่ยวกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่มาจากรัสเซียและผ่านเกาหลีเหนือ ในเดือนมิถุนายน 2018 ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน กลายเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่ได้กล่าวปราศรัยในรัฐสภารัสเซีย โดยเขาและประธานาธิบดีปูตินยังร่วมลงนามในเอกสารจัดตั้งเขตการค้าเสรี[83]

สหภาพยุโรป

[แก้ไขต้นฉบับ]

สหภาพยุโรป (อียู) และเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าที่สำคัญ โดยได้เจรจาข้อตกลงการค้าเสรีมาเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว นับตั้งแต่เกาหลีใต้ถูกกำหนดให้เป็นหุ้นส่วนเขตกาค้าเสรี ซึ่งได้รับการอนุมัติในเดือนกันยายน 2010 และมีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2011 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 10 ของสหภาพยุโรป และสหภาพยุโรปได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเกาหลีใต้ การค้าของสหภาพยุโรปกับเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมเกิน 90 พันล้านยูโรในปี 2015 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 9.8% ระหว่างปี 2003 ถึง 2013[84]

สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1962 อย่างไรก็ตาม บริษัทในสหภาพยุโรปมีปัญหาสำคัญในการเข้าถึงและดำเนินการในตลาดเกาหลีใต้เนื่องจากมาตรฐานที่เข้มงวดและการทดสอบข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการมักสร้างอุปสรรคต่อการค้า ทั้งในการติดต่อกับเกาหลีใต้ตามเส้นทางปกติและผ่านเขตการค้าเสรีเกาหลี ซึ่งสหภาพยุโรปกำลังพยายามปรับปรุงสถานการณ์นี้

สหรัฐอเมริกา

[แก้ไขต้นฉบับ]
ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน เข้าพบประธานาธิบดี โจ ไบเดนทำเนียบขาว

เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง[85] เมื่อสหรัฐฯ ปกครองเกาหลีชั่วคราวเป็นเวลาสามปี (บริเวณส่วนใหญ่ในภาคใต้ โดยสหภาพโซเวียตมีส่วนร่วมในการปกครองเกาหลีเหนือ) เมื่อเริ่มสงครามเกาหลี กองกำลังสหรัฐฯ ถูกส่งไปเพื่อป้องกันการรุกรานจากเกาหลีเหนือทางใต้ และต่อมาได้ต่อสู้ในฐานะผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของกองทหารของสหประชาชาติ การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ มีความสำคัญในการป้องกันความพ่ายแพ้ของสาธารณรัฐเกาหลีจากกองกำลังทางเหนือ[86]

ดูบทความหลักที่: ความสัมพันธ์เกาหลีใต้–ไทย

เกาหลีใต้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยประเทศไทยสนับสนุนท่าทีของเกาหลีใต้ ในสังคมนานาชาติในฐานะประเทศพันธมิตรทางสงครามนับตั้งแต่การส่งกำลังช่วยรบในสงครามเกาหลี ในช่วงระหว่าง 7 พฤศจิกายน 2493 ถึง 17 กรกฎาคม 2496 ปัจุบันทั้งสองประเทศมีการพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมและวัฒนธรรม

[87] แต่ปัจจุบันกลับถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการเหยียดเชื้อชาติชองประชาชนเกินครึ่ง และการไม่ยอมรับผิด ซึ่งทั้งหมด ถูกปลุกปั่นและยั่วยุโดยหลักสูตรการศึกษาและสื่อเกือบทุกสำนักของเกาหลีใต้

และการตรวจคนเข้าเมืองที่ไม่เป็นธรรมสำหรับคนไทย ถึงแม้รัฐบาลพยายามปกปิดและหาข้ออ้างแก้ตัวก็ตาม

เรือรบของเกาหลีใต้

สืบเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดที่ยังไม่คลี่คลายกับเกาหลีเหนือ ได้กระตุ้นให้เกาหลีใต้จัดสรรงบประมาณกว่า 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม และกว่า 15% ของการใช้จ่ายทั้งหมดไปกับการใช้สอยด้านการทหาร เกาหลีใต้มีกำลังพลประจำการมากเป็นอันดับ 7 ของโลก (599,000 ในปี 2018) และจำนวนกองกำลังสำรองที่สูงที่สุดในโลก (3,100,000 ในปี 2018) และงบประมาณด้านการป้องกันประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ณ ปี 2019 เกาหลีใต้มีงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ 43.1 พันล้านดอลลาร์ กองทัพเกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นกำลังทหารที่ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับ 6 ของโลก ณ ปี 2020 โดยประกอบด้วยกองทัพบก (ROKA) กองทัพเรือ (ROKN) กองทัพอากาศ (ROKAF) และนาวิกโยธิน (ROKMC) และกองกำลังสำรอง[88] กองกำลังเหล่านี้จำนวนมากกระจุกตัวอยู่ใกล้เขตปลอดทหารเกาหลี ผู้ชายเกาหลีใต้ทุกคนต้องรับราชการทหารตามรัฐธรรมนูญ[89] โดยปกติแล้วเป็นระยะเวลา 18 เดือน[90]

นอกจากการรับราชการทหารตามภาคบังคับแล้วแล้ว ผู้ชายเกาหลีกว่า 1,800 คนจะได้รับเลือกเป็นประจำทุกปีเพื่อทำหน้าที่ในการมีส่วนร่วมในโครงการ KATUSA เพื่อซ้อมรบและเสริมกำลังร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2010 เกาหลีใต้ใช้จ่ายเงิน 1.68 ล้านล้านวอนในข้อตกลงแบ่งปันด้านกิจกรรมทางการทหารกับกองทัพสหรัฐฯ และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่กองกำลังสหรัฐฯ ในการประจำการที่เกาหลี นอกเหนือจากงบประมาณ 29.6 ล้านล้านวอนสำหรับกองทัพของตน

ในบางครั้ง เกาหลีใต้ได้ส่งกองกำลังไปต่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกองกำลังอเมริกัน ได้เข้าร่วมในความขัดแย้งที่สำคัญส่วนใหญ่ที่สหรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ส่งทหาร 325,517 นายไปสู้รบร่วมกับทหารอเมริกัน ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ และเวียดนามใต้ในสงครามเวียดนาม ด้วยกำลังสูงสุด 50,000 นาย ในปี 2004 เกาหลีใต้ส่งทหาร 3,300 นายไปช่วยคุ้มกันในอิรัก และเป็นผู้มีส่วนร่วมรายใหญ่อันดับสามในกองกำลังผสม รองจากสหรัฐฯ และอังกฤษเท่านั้น ตั้งแต่ปี 2001 เกาหลีใต้ได้ส่งกำลังทหาร 24,000 นายในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อสนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ตั้งแต่ปี 2007 มีการส่งกำลังทหารอีก 1,800 นายเพื่อเสริมกำลังกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในเลบานอน

เศรษฐกิจ

[แก้ไขต้นฉบับ]
เขตคังนัม หนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญในกรุงโซล

โครงสร้าง

[แก้ไขต้นฉบับ]

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจหลักในกลุ่ม 20 เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง แบรนด์ดังของเกาหลีใต้ เช่น แอลจี อีเลคทรอนิคส์ และ ซัมซุง มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่น ๆ[91]

การลงทุนด้านการศึกษาได้นำประเทศจากอัตราการไม่รู้หนังสือในอดีตไปสู่มหาอำนาจทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ[92] เศรษฐกิจของประเทศได้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะสูงและเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนมีการศึกษามากที่สุดในโลก[93] โดยมีประชากรส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 ถึงปลายทศวรรษ 1990 และยังคงเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่เติบโตเร็วที่สุดในทศวรรษ 2000 ร่วมกับฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน เศรษฐกิจเกาหลีใต้ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก และในปี 2014 เกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 5 และนำเข้ารายใหญ่อันดับ 7 ของโลก[94][95]

แม้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะมีศักยภาพในการเติบโตสูงและมีเสถียรภาพทางโครงสร้างที่ชัดเจน แต่ประเทศก็ยังได้รับความเสียหายจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในตลาดหุ้น เนื่องจากการสู้รบของเกาหลีเหนือในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตทางทหารอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลเสียต่อตลาดการเงินของเกาหลีใต้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศชื่นชมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ต่อวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยอ้างถึงหนี้ของรัฐที่ต่ำและทุนสำรองทางการคลังที่สูงซึ่งสามารถระดมได้อย่างรวดเร็วเพื่อจัดการกับเหตุฉุกเฉินทางการเงิน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่เศรษฐกิจของเกาหลีใต้สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นสามเท่าในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศที่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในช่วงวิกฤตการเงินโลกได้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6.2% ในปี 2010 (เติบโตเร็วที่สุดในรอบแปดปีหลังจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ 7.2% ในปี 2002) และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ[96]

การท่องเที่ยว

[แก้ไขต้นฉบับ]

ในปี 2016 นักท่องเที่ยวต่างชาติ 17 ล้านคนเดินทางมาเกาหลีใต้[97] หลายปีที่ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปและอเมริกา รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคนต่อปีภายในปี 2017[98]

การท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ได้รับแรงผลักดันจากหลายปัจจัย รวมถึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี เช่น เพลงป๊อปของเกาหลีใต้และละครโทรทัศน์ ที่รู้จักกันในชื่อคลื่นเกาหลี หรือ (Hallyu) ได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียตะวันออก สถาบันวิจัยฮุนไดรายงานว่ากระแสเกาหลีส่งผลกระทบโดยตรงในการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศผ่านความต้องการสินค้าและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออก ชาวจีนเป็นชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและทำการลงทุนในเกาหลีมากที่สุด[99] และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่านับตั้งแต่ปี 2001

การขนส่ง

[แก้ไขต้นฉบับ]
เครื่องบิน แอร์บัส เอ 380 ของสายการบินโคเรียนแอร์

เกาหลีใต้มีเครือข่ายการขนส่งที่ล้ำหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งประกอบด้วยรถไฟความเร็วสูง ทางหลวง เส้นทางรถประจำทาง บริการเรือข้ามฟาก และเส้นทางทางอากาศที่ตัดผ่านทั่วประเทศ Korea Expressway Corporation เป็นบริษัทใหญ่ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางด่วนและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบริการผู้โดยสาร

Korail เป็นบริษัทใหญ่ในการให้บริการรถไฟประจำทุกเมืองสำคัญในเกาหลีใต้ มีการเชื่อมต่อทางรถไฟสองสาย ได้แก่ สาย Gyeongui และ Donghae Bukbu ไปยังเกาหลีเหนือ และยังมี KTX เป็นผู้ให้บริการความเร็วสูงตามเส้นทาง Gyeongbu และ Honam เมืองใหญ่ ๆ เช่น โซล ปูซาน อินชอน แทกู แทจอน และกวางจู มีระบบขนส่งมวลชนในเมือง

ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้คือท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อน ซึ่งให้บริการผู้โดยสาร 58 ล้านคนในปี 2016[100] ท่าอากาศยานนานาชาติอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กิมโป ปูซาน และเชจู นอกจากนี้ยังมีสนามบินหลายแห่งที่สร้างขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายรัฐบาลแต่แทบจะไม่ได้ใช้เลย และยังมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกมากมายในประเทศ

สายการบินแห่งชาติ โคเรียนแอร์ ให้บริการผู้โดยสารกว่า 26,800,000 คน รวมถึงผู้โดยสารระหว่างประเทศเกือบ 19,000,000 คนในปี 2016 สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับสองได้แก่ เอเชียน่าแอร์ไลน์ ยังให้บริการทั้งเส้นทางในและต่างประเทศ สายการบินเกาหลีใต้ให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ 297 เส้นทาง สายการบินขนาดเล็ก เช่น เชจูแอร์ ให้บริการเส้นทางภายในประเทศด้วยค่าโดยสารที่ถูกกว่า

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

[แก้ไขต้นฉบับ]
จอโทรทัศน์สามมิติด้วยเทคโนโลยี OLED ซึ่งผลิตในเกาหลีใต้

การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเกาหลีใต้ในตอนแรกไม่ได้เกิดขึ้นมากนักเนื่องจากภาวะสงครามเกาหลี จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1960 ภายใต้การปกครองของ พัก จ็อง-ฮี เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตอย่างรวดเร็วจากอุตสาหกรรมและบริษัท Chaebol เช่น ซัมซุง และ แอลจี นับตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นอุตสาหกรรม เกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญกับบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐบาล บริษัทเกาหลีใต้ ซัมซุง และแอลจี อยู่ในอันดับที่หนึ่งและสามของบริษัทโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2012 ตามลำดับ[101] ประมาณ 90% ของชาวเกาหลีใต้มีโทรศัพท์มือถือ นอกเหนือจากการโทรออก/รับสายและการส่งข้อความแล้ว โทรศัพท์มือถือในประเทศยังนิยมใช้สำหรับการรับชม Digital Multimedia Broadcasting (DMB) หรือดูเว็บไซต์อย่างแพร่หลาย มีการขายโทรศัพท์ DMB มากกว่าหนึ่งล้านเครื่อง และผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายรายใหญ่สามราย SK Telecom, KT และ LG U ให้ความครอบคลุมในเมืองใหญ่ ๆ และพื้นที่อื่น ๆ เกาหลีใต้มีความเร็วในการดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตที่เร็วที่สุดในโลก[102] โดยมีความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ย 25.3 Mbit/s[103]

เกาหลีใต้เป็นประเทศอันดับหนึ่งในกลุ่ม OECD ที่มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุด[104] และได้รับการจัดอันดับให้เป็นชาติอันดับหนึ่งของโลกในการเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และวิทยาศาสตร์ในช่วงปี 2014-19[105][106][107]

ความปลอดภัยทางไซเบอร์

[แก้ไขต้นฉบับ]

หลังการโจมตีทางไซเบอร์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2013 โดยรัฐบาล สื่อ ข่าว สถานีโทรทัศน์ และเว็บไซต์ธนาคารถูกบุกรุก รัฐบาลแห่งชาติให้คำมั่นที่จะฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ใหม่ 5,000 คนภายในปี 2017 รัฐบาลเกาหลีใต้ตำหนิเกาหลีเหนือสำหรับการโจมตีเหล่านี้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2009, 2011 และ 2015 แต่คณะรัฐบาลกรุงเปียงยางปฏิเสธข้อกล่าวหา[108]

ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2013 ได้มีการประกาศการแข่งขันด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมและหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ ผู้ชนะได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 29 กันยายน และแบ่งเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 80 ล้านวอน (74,000 เหรียญสหรัฐ) รัฐบาลเกาหลีใต้ยังคงใช้แนวทางในวงกว้างในการกำกับดูแลเนื้อหาออนไลน์ที่เฉพาะเจาะจง และกำหนดระดับการเซ็นเซอร์อย่างมากในวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และในเว็บไซต์จำนวนมากที่รัฐบาลเห็นว่าล้มล้างหรือเป็นอันตรายต่อสังคม[109]

Naro 1 จรวดขนส่งลำแรกของเกาหลีใต้[110]

เกาหลีใต้ส่งดาวเทียม 10 ดวงตั้งแต่ปี 1992 ทั้งหมดใช้จรวดต่างประเทศและฐานยิงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ Arirang-1 ในปี 1999 และ Arirang-2 ในปี 2006 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านอวกาศกับรัสเซีย[111] Arirang-1 หายไปในอวกาศในปี 2008 หลังจากปฏิบัติการมา 9 ปี[112] ในเดือนเมษายน 2008 อี โซ-ย็อน กลายเป็นชาวเกาหลีคนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด TMA-12 ของรัสเซีย[113]

ในเดือนมิถุนายน 2009 ท่าอวกาศแห่งแรกของเกาหลีใต้ Naro Space Center สร้างเสร็จสมบูรณ์ที่จังหวัดช็อลลาใต้[114] แต่การเปิดตัวจรวดขนส่ง Naro-1 ในเดือนสิงหาคมเกิดความล้มเหลว ความพยายามครั้งที่สองในเดือนมิถุนายน 2010 ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน ก่อนจะสำเร็จในครั้งที่สามในเดือนมกราคม 2013 ประสบความสำเร็จ[115] รัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนา Naro-2 ภายในปี 2018

ความพยายามของเกาหลีใต้ในการสร้างยานยิงในอวกาศถูกทำลายเนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองที่ยืดเยื้อจากสหรัฐ ซึ่งได้ขัดขวางโครงการพัฒนาจรวดและขีปนาวุธของเกาหลีใต้มานานหลายทศวรรษ เนื่องจากเกรงว่าอาจมีการเชื่อมโยงกับขีปนาวุธทางการทหารที่เป็นความลับ เกาหลีใต้ได้ขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น รัสเซีย ผ่านพันธกรณีของ MTCR เพื่อเสริมเทคโนโลยีการสร้างจรวดในประเทศที่ถูกจำกัดซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่สหรัฐ

หุ่นยนต์

[แก้ไขต้นฉบับ]
หุ่นยนต์ Albert HUBO, พัฒนาโดยสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี สามารถแสดงท่าทางด้วยห้านิ้วแยกกัน[116]

วิทยาการหุ่นยนต์รวมอยู่ในรายการโครงการวิจัยและพัฒนาหลักระดับประเทศในเกาหลีตั้งแต่ปี 2003[117] ในปี 2009 รัฐบาลได้ประกาศแผนการสร้างสวนหุ่นยนต์ในอินช็อนและมาซานด้วยเงินทุนทั้งภาครัฐและเอกชน[118] ในปี 2005 สถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (KAIST) ได้พัฒนา HUBO หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เดินได้ตัวที่สองของโลก[119] ทีมงานในสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งเกาหลีได้พัฒนาแอนดรอยด์เกาหลีตัวแรก Ever-1 ในเดือนพฤษภาคม 2006 Ever-1 ประสบความสำเร็จด้วยโมเดลที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วยการเคลื่อนไหวและการมองเห็นที่ดีขึ้น แผนการสร้างหุ่นยนต์ช่วยสอนภาษาอังกฤษเพื่อชดเชยการขาดแคลนครูได้รับการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 โดยหุ่นยนต์จะถูกนำไปใช้กับเด็กก่อนวัยเรียนและโรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่ภายในปี 2013[120] วิทยาการหุ่นยนต์ยังรวมอยู่ในภาคความบันเทิงด้วย เทศกาลเกมหุ่นยนต์เกาหลีจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2004 เพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์[121]

เทคโนโลยีชีวภาพ

[แก้ไขต้นฉบับ]

ตั้งแต่ปี 1980 รัฐบาลเกาหลีได้ลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศ และภาคส่วนนี้คาดว่าจะเติบโตเป็น 6.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2010[122] ภาคการแพทย์มีส่วนสำคัญในการผลิต ซึ่งรวมถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบและยาปฏิชีวนะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ การวิจัยและพัฒนาด้านพันธุศาสตร์และการโคลนนิ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ด้วยการโคลนสุนัขที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกคือ Snuppy (ในปี 2005) และการโคลนหมาป่าสีเทาเพศเมียสองตัวที่ใกล้สูญพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลในปี 2007[123]

การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดช่องว่างที่สำคัญในการควบคุมจริยธรรม ดังที่ปรากฏโดยกรณีการประพฤติผิดของ ฮวาง วู-ซุค[124][125][126] ซึ่งฝ่าฝืนหลักจริยธรรมและสร้างความเสื่อมเสียแก่ประเทศ[b] ตั้งแต่ปลายปี 2020 SK Bioscience Inc. (ส่วนหนึ่งของ SK Group) ได้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสัดส่วนหลัก (หรือที่รู้จักในชื่อ COVID-19 Vaccine AstraZeneca) ภายใต้ใบอนุญาตจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และ แอสตร้าเซนเนก้าเพื่อจำหน่ายทั่วโลกผ่านโคแวกซ์ ภายใต้รับรองขององค์การอนามัยโลก ข้อตกลงล่าสุดกับ Novavax ได้ขยายการผลิตวัคซีนครั้งที่สองเป็น 40 ล้านโดสในปี 2022 ด้วยการลงทุน 450 ล้านดอลลาร์ในโรงงานในประเทศและต่างประเทศ[127]

สิ่งแวดล้อม

[แก้ไขต้นฉบับ]
คลองช็องกเยช็อนในกรุงโซล เป็นสถานที่นันทนาการสาธารณะที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

ในช่วง 20 ปีแรกหลังการแยกประเทศ รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้ใส่ใจการรักษาสิ่งแวดล้อมมากนัก การพัฒนาอุตสาหกรรมและผังเมืองโดยไม่ได้รับการตรวจสอบส่งผลให้เกิดการทำลายป่า และการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลายทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้[128] ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการเพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะเวลา 5 ปีมูลค่า 84 พันล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจบนพื้นที่สีเขียวเป็นการยกเครื่องเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างครอบคลุม[129] โดยใช้จีดีพีเกือบสองเปอร์เซ็นต์ของประเทศ รวมถึงความพยายามต่าง ๆ เช่น เครือข่ายจักรยานทั่วประเทศ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การลดยานพาหนะที่พึ่งพาน้ำมัน การสนับสนุนเวลาออมแสง และการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เช่น ไฟแอลอีดี ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแสงสว่าง ในอนาคตเกาหลีใต้ยังมีแผนที่จะลดการใช้พลังงานลดจากปัจจุบันถึง 10 เท่า

ในปี 2017 เกาหลีใต้เป็นผู้ปล่อยแก๊สคาร์บอนรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกและเป็นผู้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกต่อหัว ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เหลือศูนย์ในปี 2050

น้ำประปาของกรุงโซลเมืองหลวงของประเทศ สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยแม้ในที่สาธารณะ[130][131] รัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีความพยายามพัฒนาโครงการปลูกป่าทั่วประเทศ และโครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์อีกโครงการหนึ่งคือการฟื้นฟูคลองช็องกเยช็อน ซึ่งเป็นลำธารที่ไหลผ่านใจกลางกรุงโซลซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นสถานที่ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ โดยในปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกรุงโซล ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่งคือการจัดการคุณภาพอากาศ โดยที่ฝนกรด ซัลเฟอร์ออกไซด์ และฝุ่นยังเป็นปัญหาในปัจจุบัน[132] เกาหลีใต้มีคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ป่าไม้ปี 2019 ที่ 6.02/10 อยู่ในอันดับที่ 87 จาก 172 ประเทศทั่วโลก เกาหลีใต้ยังเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติฮัลลาซาน ตั้งอยู่ใจกลางเกาะเชจู เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเกาะ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก, อุทยานแห่งชาติซอรัคซาน และ อุทยานแห่งชาติบุคฮันซาน

เกาหลีใต้ให้การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากลจากการมีส่วนร่วมในอนุสัญญาสำคัญ ได้แก่:[133] พิธีสารว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต่อสนธิสัญญาแอนตาร์กติก, ระบบสนธิสัญญาแอนตาร์กติก, อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ, พิธีสารเกียวโต, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการกลายเป็นทะเลทราย, ไซเตส, อนุสัญญาว่าด้วยการแก้ไขสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ, อนุสัญญาบาเซล, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล, พิธีสารมอนทรีออล, อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ 1973 แก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ. 1978 และอนุสัญญาแรมซาร์

ในเดือนเมษายน 2016 สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่าประชากรของเกาหลีใต้จะอยู่ที่ประมาณ 50.8 ล้านคน โดยประชากรวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง เกาหลีใต้ขึ้นชื่อในเรื่องความหนาแน่นของประชากร ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 505 ต่อตารางกิโลเมตรในปี 2015 มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 10 เท่า เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสามของโลกในทางปฏิบัติ[134] เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เกษตรกรรม ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากการอพยพอย่างรวดเร็วจากชนบทในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 1970, 1980 และ 1990 กรุงโซลยังเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหลัก จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2005 โซลมีประชากร 10 ล้านคน เขตเมืองหลวงแห่งชาติโซลมีประชากร 24.5 ล้านคน (ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของเกาหลีใต้) ทำให้เป็นเขตมหานครที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เมืองใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ ปูซาน (3.5 ล้าน) อินชอน (3.0 ล้าน) แทกู (2.5 ล้าน) แดจอน (1.4 ล้าน) กวางจู (1.4 ล้าน) และอุลซาน (1.1 ล้าน)[135]

เกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในสังคมที่มีผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกันมากที่สุดในโลก โดยที่ชาวเกาหลีมีสัดส่วนประมาณ 96% ของประชากรทั้งหมด

จำนวนชาวต่างชาติได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา[136] ณ ปี 2016 เกาหลีใต้มีชาวต่างชาติ 1,413,758 คน คิดเป็น 2.75% ของประชากรรวม[137] อย่างไรก็ตาม หลายคนยังถือเป็นชาวเกาหลีโดยกำเนิดแต่มีสัญชาติต่างประเทศ เช่น ผู้อพยพจากประเทศจีน (PRC) คิดเป็น 56.5% ของชาวต่างชาติ แต่ประมาณ 70% ของพลเมืองจีนในเกาหลีเป็น Joseonjok (조선족) ซึ่งเป็นพลเมืองที่มีเชื้อชาติเกาหลี สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีระบุว่า ครูสอนภาษาอังกฤษประมาณ 43,000 คนจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษได้เข้ามาอาศัยอยู่ชั่วคราวในเกาหลี ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตของประชากรที่เกิดในต่างประเทศสูงที่สุด โดยมีชาวต่างประเทศประมาณ 30,000 คนได้รับสัญชาติเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2010

ศาสนาในประเทศเกาหลีใต้ (สำมะโน ค.ศ. 2015)[138][5]

  ไม่มีศาสนา (56.1%)
  พุทธ (15.5%)
  อื่น ๆ (0.8%)

ประเทศเกาหลีใต้ไม่มีศาสนาประจำชาติ และประชาชนมีอิสระในการนับถือศาสนา[139] ใน ค.ศ. 2005 ประชากรเกาหลีใต้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีศาสนา ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธหรือคริสต์ ต่อมาในปี 2007 มีการสำรวจสำมะโนประชากร พบว่าร้อยละ 29.2 นับถือศาสนาคริสต์ (ในจำนวนนี้เป็นโปรเตสแตนต์ร้อยละ 18.3 และคาทอลิกร้อยละ 10.9) รองลงมาคือร้อยละ 22.8 นับถือศาสนาพุทธ[140][141] ต่อมาในปี 2015 ผลการสำรวจสำมะโนครัวประชากรพบว่ามีประชากรที่ไม่นับถือศาสนามากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 56.9 นับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 27.6 (แบ่งเป็นโปรเตสแตนต์ร้อยละ 19.7 และคาทอลิกร้อยละ 7.9) และนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 15.5[138]

นอกจากนี้ยังศาสนิกของศาสนาอิสลาม ซึ่งเข้าสู่เกาหลีครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 7[142] รวมทั้งลัทธิเกิดใหม่อย่างลัทธิช็อนโด และลัทธิว็อนบุล ทั้งยังมีการปฏิบัติศาสนกิจในลัทธิเชมัน ลัทธิดั้งเดิมของเกาหลีก่อนรับศาสนาอื่น[143] ซึ่งนับถือเทพเจ้าผู้สร้างคือ ฮวันอิน (คือพระอินทร์ในพุทธศาสนา) ทั้งได้รับการนับถือในกลุ่มชาวคริสต์ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ด้วย[144]

โบสถ์คาทอลิกจ็อนดง

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีศาสนิกมากที่สุดในเกาหลีใต้ มีศาสนิกชนราว 13.7 ล้านคน[145] โดยประชากรราวสองในสามนิยมเข้าโบสถ์โปรเตสแตนต์ และประชากรร้อยละ 23 นิยมเข้าโบสถ์ของโรมันคาทอลิก อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1980 ศาสนิกชนเข้าโบสถ์โปรเตสแตนต์ลดลง เพราะการขยายตัวของนิกายโรมันคาทอลิก[146] แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีการส่งมิชชันนารีออกเผยแผ่ศาสนามากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ[147]

ศาสนาพุทธเข้ามามีบทบาทในเกาหลีตั้งแต่ พ.ศ. 915[148] จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2005 มีศาสนิกชนราว 10.7 ล้านคน[145][149] ปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ร้อยละ 90 นับถือนิกายโจ-กเย ซึ่งศาสนวัตถุของพุทธศาสนาจำนวนมากได้กลายเป็นสมบัติประจำชาติ ซึ่งตกทอดมาจากยุครัฐเหนือใต้ และยุคโครยอที่ศาสนาพุทธมีความเจริญจนถึงขีดสุด และภายหลังศาสนาพุทธได้อ่อนแอลงจากการปราบปรามของราชวงศ์โชซ็อนซึ่งนับถือลัทธิขงจื๊อ[150]

ศาสนาอิสลามเคยเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนเกาหลีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ในยุครัฐเหนือใต้[142] แต่ผู้สืบเชื้อสายได้หันไปนับถือศาสนาพุทธหรือเชมันแทน เนื่องจากเกาหลีขาดการติดต่อกับโลกอาหรับ[151] ปัจจุบันจากการเผยแผ่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีชาวมุสลิมสัญชาติเกาหลีใต้ราว 30,000-35,000 คน[152] ขณะที่อิสลามิกชนส่วนใหญ่ราว 100,000 คนในเกาหลีใต้เป็นแรงงานชาวต่างชาติ[153] อาทิ บังกลาเทศ และปากีสถาน[154]

ภาษาเกาหลีเป็นภาษาราชการของเกาหลีใต้ โดยมีการยืมคำจากภาษาจีนจำนวนมาก ภาษาเกาหลีใช้ระบบการเขียนของชนพื้นเมืองที่เรียกว่าฮันกึล สร้างขึ้นในปี 1446 โดยกษัตริย์เซจอง เพื่อเป็นทางเลือกที่สะดวกแก่ตัวอักขระฮันจาจีนคลาสสิกที่เรียนรู้ได้ยากและไม่เข้ากับภาษาเกาหลีสมัยใหม่ เกาหลีใต้ยังคงใช้อักขระภาษาจีนฮันจาในบางพื้นที่ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์และเอกสารทางกฎหมาย หรือสื่อทางราชการ

จากการที่มีระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า และมีการพัฒนามากที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย ส่งผลให้ประชากรวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยทำงานส่วนมากสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เช่นกัน นอกจากนี้ เด็กเกาหลีหลายคนยังเลือกเรียนภาษาจีนกลางหรือภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ 3[155] และตามสถานที่สาธารณะมักจะมีป้ายบริการหลายภาษา ทั้งภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนกลาง

การศึกษา

[แก้ไขต้นฉบับ]
มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล หนึ่งในสามสถาบันชั้นนำของเกาหลีใต้
ประตูหน้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล

รัฐบาลเกาหลีใต้ดูแลด้านการศึกษาของเด็กทุกคนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมปลายของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มีเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งรับอิทธิพลมาจากเครื่องแบบชาติตะวันตก เครื่องแบบของเด็กชายมักประกอบด้วยกางเกงขายาวและเสื้อเชิ้ตสีขาว และเด็กหญิงสวมกระโปรงและเสื้อเชิ้ตสีขาว (เฉพาะในโรงเรียนมัธยม) และเกาหลีใต้มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มเข้ามามากถึง 100,000 คน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา[156]

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีคะแนนความถนัดในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงที่สุดชาติหนึ่งในบรรดาเด็กนักเรียนชาวเอเชีย (519 คะแนนตามค่าเฉลี่ย OECD)[157] ซึ่งสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และแรงงานเกาหลีใต้ถือเป็นแรงงานที่มีการศึกษาสูงที่สุดชาติหนึ่งในทุกภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักในหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือเด็กส่วนมากมีความเครียดจากภาวะการแข่งขันที่สูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย[158] โดยมีการรายงานถึงการอ่านหนังสือและเรียนกวดวิชามากเกินไป[159] และยังนำไปสู่การฆ่าตัวตายในเด็กวัยเรียนเมื่อผิดหวังในการเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ สภาวการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า "Education fever"[160]

การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับชาวเกาหลีใต้ เนื่องจากความสำเร็จในการศึกษาเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและเป็นที่เชิดหน้าชูตาในสังคม และเป็นสิ่งจำเป็นในการปรับปรุงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม การสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นเครื่องหมายสูงสุดของศักดิ์ศรี สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม โอกาสการแต่งงาน การเลือกคู่ครอง และเส้นทางอาชีพที่มั่นคง การเข้าสู่สถาบันการศึกษาระดับสูงนำไปสู่งานที่ได้ค่าตอบแทนดี โดยเด็กจากสถาบันชั้นนำมักมีโอกาสเข้าทำงานกับองค์กรรัฐบาล ธนาคาร หรือกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ซัมซุง, ฮุนได หรือ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ ชีวิตของเด็กชาวเกาหลีใต้มักหมกมุ่นอยู่กับการศึกษา เนื่องจากแรงกดดันในการประสบความสำเร็จนั้นฝังรากลึกอยู่ในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมีค่านิยมในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำสามอันดับแรกในเกาหลีใต้[161] ซึ่งมักเรียกกันว่า "SKY" ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยเกาหลี และมหาวิทยาลัยยอนเซ[162][163][164]

เกาหลีใต้มีระบบการรักษาพยาบาลที่เป็นสากล[165] และดีที่สุดเป็นอันดับสองของโลกในปี 2019[166] แต่การฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาหลัก โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 10 ของโลกอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก[167][168][169] และเกาหลีใต้มีอัตราการป่วยโรคซึมเศร้าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก[170][171] การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ โรงพยาบาลในเกาหลีใต้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูงและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ยังมีจำนวนเตียงในโรงพยาบาลมากเป็นอันดับสองของกลุ่มประเทศ OECD เกาหลีใต้มีอายุเฉลี่ยของประชากรสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก (82.3 ปี)[172]

วัฒนธรรม

[แก้ไขต้นฉบับ]

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเกาหลีใต้นั้นเหมือนเกาหลีเหนือเกือบจะทุกประการ[173] แต่ทั้งสองชาติได้พัฒนารูปแบบวัฒนธรรมร่วมสมัยที่แตกต่างกันออกไปนับตั้งแต่การแบ่งแยกประเทศ ในอดีตนั้น วัฒนธรรมของเกาหลีได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน แต่ชาวเกาหลียุคก่อนก็ได้มีการประยุกต์เพื่อพัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากจีนมาถึงปัจจุบัน[174] แม้จะได้รับการวิจารณ์ว่าเกาหลีใต้ลอกวัฒนธรรมมาจากจีน[175][176] เกาหลีใต้มีแหล่งมรดกโลกที่รับรองโดยยูเนสโก 15 แห่ง (ปี 2021)[177] โดยแบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 13 แห่ง และทางธรรมชาติอีก 2 แห่ง[178] กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬาของเกาหลีใต้มีการกระตุ้นการตื่นตัวทางวัฒนธรรมแก่ประชาชนผ่านการศึกษา การรณรงค์ และการระดมทุนสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว[179]

การพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเขตเมืองเกาหลีใต้ได้นำการเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่วิถีชีวิตของชาวเกาหลียุคใหม่ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะกรุงโซล ผลการศึกษาของ Euromonitor ปี 2014 พบว่าชาวเกาหลีใต้เป็นชาติที่ดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดเป็นประจำทุกสัปดาห์เมื่อเทียบกับทุกประเทศในโลก[180][181][182][183][184] ชาวเกาหลีใต้ดื่มเหล้าโดยเฉลี่ย 13.7 ช็อตต่อสัปดาห์ และจากงานวิจัยระบุว่า พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของชาวเกาหลีมากเป็นสองเท่าหากเทียบกับชาวรัสเซีย และมากว่าชาวอเมริกันถึงสี่เท่า[185]

พระพุทธรูปในถ้ำซ็อกคูรัม

ศิลปะเกาหลีมีลักษณะเด่นหลายประการที่ทำให้เกิดแบบของตัวเอง ศิลปะเกาหลียกย่องธรรมชาติ และการใช้สีอ่อนและเรียบก็ปรากฏอยู่เสมอในภาพเขียน[186]และเครื่องปั้นแบบเกาหลี วัฒนธรรมงานหัตกรรมพื้นบ้านคือศิลปะที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี[187] งานไม้และเครื่องเขินของเกาหลีเป็นที่รู้จักกันดี โดยเน้นการออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอยและความเรียบง่าย สิ่งสะดุดตาในงานไม้เกาหลีคือศิลปะการประดับมุก งานหัตกรรมโลหะทำด้วยทอง ทำด้วยสำริด ทางด้านพระพุทธศาสนามีการสร้างพระพุทธรูปสำริด ระฆังวัดที่หล่อด้วยสำริด เอกลักษณ์ของระฆังเกาหลีคือรูปร่างการออกแบบและเสียง ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา เกาหลีเป็นประเทศที่เป็นที่ยอมรับในการพัฒนาศิลปะด้านนี้และเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงคือ ศิลาดล เป็นเครื่องเคลือบที่มีความสดใส ฝีมือประณีต นิยมเคลือบด้วยสีขาวซึ่งพัฒนาให้สวยงามในยุคโกเรียว เพื่อการอนุรักษ์สิ่งดีงามตั้งแต่อดีต ทางการเกาหลีได้จัดตั้งโครงการสมบัติประจำชาติเกาหลีใต้ขึ้น

ศิลปะของนักปราชญ์ เดิมรูปแบบตัวอักษรเกาหลีและญี่ปุ่นเป็นอักษรจีน ซึ่งเป็นตัวเขียนที่ยังใช้อยู่ในเอเชียตะวันออกร่วมพันปี แม้ว่าหลังจากที่เกาหลี ประดิษฐ์อักษรฮันกึล ใน ค.ศ. 1446 ตัวอักษรจีนยังคงใช้ในภาษาทางการ จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพราะว่าตัวอักษรจีนมีอยู่นับหมื่นตัว แต่ละตัวมีความแตกต่างกัน มีวิธีเขียนหลายแบบ หลายความหมาย การเรียนอ่านและการเขียนตัวอักษรจีนไม่ใชเรื่องง่าย ศิลปะการเขียนอักษรจีนได้เข้ามาในประเทศเกาหลีเมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว

การเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันเกาหลีเรียกว่า "บุดกึลซี" ต้องอาศัยปัจจัย 4 ของนักปราชญ์ ได้แก่ หมึก แท่งหินฝนหมึก พู่กันและกระดาษ ศิลปินเขียนพู่กันส่วนใหญ่มักเป็นทั้งนักปราชญ์และจิตรกร ศิลปินเหล่านี้อาจใช้พู่กันเล่มเดียวกันเขียนกลอนบรรยายภาพ ภาพวาดเกาหลี เป็นศิลปะที่มีธรรมเนียมนิยมของตนเองอย่างสมบูรณ์ จิตรกรรม ภาพจิตกรรมของเกาหลีมีมานานแล้ว สถาบันภาพวาดก่อตั้งขึ้นในยุคโกกุริวสถาบันแห่งนี้เน้นภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รูปแบบจิตรกรรมที่หลากหลายได้พัฒนาสืบต่อกันมาจนถึงสมัยโซชอน พร้อมนำรูปแบบศิลปะจีนแบบใหม่รวมทั้งเทคนิคการวาดภาพแบบตะวันตก มีการใช้สีสันสดใสในภาพที่วาดเกี่ยวกับศาสนานี้

สถาปัตยกรรม

[แก้ไขต้นฉบับ]
วัดพุลกุกซา ถือเป็นผลงานในยุคทองของพุทธศาสนาในอาณาจักรซิลลา และได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก

เนื่องจากประวัติศาสตร์อันวุ่นวายของเกาหลีใต้นับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงการแบ่งแยกประเทศ การก่อสร้างและการทำลายล้างสถาปัตยกรรมและทรัพยากรในประเทศจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดการผสมผสานรูปแบบและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ[188] สถาปัตยกรรมดั้งเดิมของเกาหลีมีความโดดเด่นด้วยความกลมกลืนกับธรรมชาติ สถาปนิกโบราณใช้ระบบดั้งเดิมซึ่งมีลักษณะเป็นหลังคามุงจากและพื้นทำความร้อนที่เรียกว่าออนโดล ผู้คนในชนชั้นสูงจะสร้างบ้านหลังใหญ่ด้วยหลังคากระเบื้องโค้งที่หรูหราพร้อมชายคายก สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมสามารถพบเห็นได้ในพระราชวังและวัดวาอาราม

สถาปัตยกรรมตะวันตกเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีเป็นครั้งแรกเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 โบสถ์ สำนักงานกฎหมายต่างประเทศ โรงเรียนและอาคารมหาวิทยาลัยถูกสร้างขึ้นในรูปแบบใหม่ เป็นผลมาจากการครอบครองเกาหลีโดยญี่ปุ่น ระบอบอาณานิคมได้เข้าแทรกแซงมรดกทางสถาปัตยกรรมของเกาหลีและได้กำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สไตล์ญี่ปุ่น ความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นและสงครามเกาหลีนำไปสู่การทำลายสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น

สถาปัตยกรรมเกาหลีเข้าสู่การพัฒนาในช่วงการฟื้นฟูหลังสงครามเกาหลี โดยผสมผสานแนวรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่[189] ด้วยแรงกระตุ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1970 และ 1980 การพัฒนาขื้นใหม่นี้ทำให้เห็นรูปแบบใหม่ในการออกแบบสถาปัตยกรรม ภายหลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซลในปี 1988 เกาหลีใต้ได้สร้างรูปแบบที่หลากหลายในภูมิทัศน์ทางสถาปัตยกรรม โดยเริ่มเปิดรับสถาปนิกต่างชาติเข้ามาโดยเฉพาะชาวตะวันตก[190] โดยผสมผสานปรัชญาดั้งเดิมของ "ความกลมกลืนกับธรรมชาติ" และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วที่ประเทศได้ประสบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เครื่องแต่งกายประจำชาติ

[แก้ไขต้นฉบับ]
ฮันบก ชุดประจำชาติของเกาหลีใต้

ชาวเกาหลีมีชุดประจำชาติตั้งแต่สมัยโบราณ เรียกว่า ฮันบก (ฮันหมายถึงชาวเกาหลี บกหมายถึงชุด รวมกันหมายถึงชุดของชาวเกาหลี) ฮันบกทั้งของผู้หญิงและผู้ชายมีลักษณะหลวม ๆ เพื่อความสะดวกสบายและคล่องแคล่วไม่ใช้กระดุมหรือตะขอ แต่จะใช้ผ้าผูกไว้แทน ชุดของผู้ชาย ข้างล่างประกอบด้วย "ปันซือ" แต่สมัยใหม่เรียกว่า "แพนที" ซึ่งหมายถึงกางเกงใน ชั้นนอกสวม "บาจี" เป็นกางเกงขายาวหลวม ๆรวบปลายขาไว้ด้วย "แทมิน" เป็นแถบผ้าใช้มัดขากางเกง"บันโซเม" เป็นเสื้อรัดรูปแขนสั้นไว้ข้างใน เสื้อนอกเรียกว่า "จอโกลี" เป็นเสื้อแขนยาวไม่มีปกไม่มีกระเป๋า

ชุดของผู้หญิง ประกอบด้วย "แพนที" หรือกระโปรงที่อยู่ข้างใน ข้างบนใช้ "ซ็อกชีมา" เป็นแถบผ้าขนาดใหญ่ ใช้มัดทรวงอกไว้แทนเสื้อยกทรง ข้างนอกสวม "ชีมา" เป็นกระโปรงยาวกรอมเท้า สวมเสื้อ "จอโกรี" เป็นเสื้อนอกแขนยาว ฮันบกเป็นภาพรวมศิลปะของเกาหลีที่สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนของเกาหลี ราวกับถนนสายแฟชั่นของปารีส ฮันบกชุดแต่งกายประจำชาติของเกาหลีทำจากผ้าสีสันสดใส เนื้อผ้าจะขึ้นอยู่กับโอกาสและวัยของผู้ใส่ เด็กหญิงหรือหญิงสาวจะสวมกระโปรงสีแดงเสื้อสีเหลือง จะเปลี่ยนเป็นกระโปรงสีแดง เสื้อสีเขียวเมื่อแต่งงานแล้ว ส่วนหญิงสูงอายุอาจเลือกสีสันต่าง ๆ ที่สดใส และเลือกใช้เนื้อผ้าได้หลากหลาย

ปัจจุบันชุดแต่งกายวัฒนธรรมเดิมจะใช้เฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่ตามถนนหนทาง และรถไฟใต้ดินจะยังคงเห็นผู้คนสวมใส่กันอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงสวมใส่ชุดฮันบกอยู่

วงการบันเทิง

[แก้ไขต้นฉบับ]

เกาหลีใต้ยังมีอุตสาหกรรมบันเทิงที่เฟื่องฟู[191] ซึ่งความบันเทิงของเกาหลีใต้ในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลง ได้สร้างรายได้ทางการเงินที่สำคัญให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า "กระแสเกาหลี" ได้กวาดล้างหลายประเทศทั่วเอเชีย ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอำนาจรายใหญ่ในฐานะผู้ส่งออกวัฒนธรรมป๊อปและความบันเทิง แข่งขันกับประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร[192][193]

ไซ ศิลปินชื่อดังเจ้าของเพลงคังนัมสไตล์

ในปี 1992 เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับกระแสความนิยมเพลงของเกาหลีใต้หรือที่เรียกว่า เคป็อป[194] เนื่องจากแนวเพลงได้ปรับปรุงตัวเองจากการผสมผสานองค์ประกอบของแนวเพลงยอดนิยมจากทั่วโลกเช่นตะวันตก ดนตรีป็อป, แจ๊ส, ลาติน, คลาสสิค, ฮิปฮอป, ริทึมและบลูส์, แดนซ์อิเล็กทรอนิกส์, เร้กเก้, คันทรี, โฟล์ค และร็อค ที่อยู่บนรากฐานของดนตรีเกาหลีดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แนวเพลงป๊อป ฮิปฮอป ริทึมแอนด์บลูส์ ร็อค โฟล์ค อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ได้กลายเป็นจุดเด่นในวงการเพลงเกาหลีใต้สมัยใหม่ ดาราและวงดนตรีเคป็อปเป็นที่รู้จักกันดีทั่วเอเชียและพบว่าชื่อเสียงระดับนานาชาติทำรายได้ส่งออกหลายล้านดอลลาร์ ศิลปินเคป๊อปจำนวนมากยังสามารถรักษาความนิยมในต่างประเทศได้โดยใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียออนไลน์ เช่น เว็บไซต์แบ่งปันวิดีโอ YouTube นักร้องชาวเกาหลีใต้ ไซ (PSY) กลายเป็นที่โด่งดังเมื่อเพลง "คังนัมสไตล์" ของเขาขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงระดับโลกในปี 2012[195][196]

วงเคป๊อปและเกิร์ลกรุปที่มีชื่อเสียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้แก่[197] บีทีเอส,[198] แบล็กพิงก์,[199] บิกแบง[200], เกิลส์เจเนอเรชัน[201], เอ็กโซ, ซูเปอร์จูเนียร์,[202] ก็อตเซเวน,[203] ชายนี และ 2PM'[204]

โทรทัศน์ และภาพยนตร์

[แก้ไขต้นฉบับ]
กง ยู (คง ชีช็อล), หนึ่งในนักแสดงที่มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้[205]

ตั้งแต่ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องชีริ เด็ดหัวใจยอดจารชน ในปี 1999 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีก็เริ่มเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภาพยนตร์ในประเทศมีส่วนแบ่งการตลาดที่โดดเด่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีอยู่ของโควตาจอที่กำหนดให้โรงภาพยนตร์ต้องฉายภาพยนตร์เกาหลีอย่างน้อย 73 วันต่อปี[206] ชนชั้นปรสิต (Parasite) ปี 2019 ของ พง จุน-โฮ กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์เกาหลีที่โด่งดังระดับโลก และเป็นภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกที่ได้รางวัลออสการ์ เช่นเดียวกับการเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม[207][208] และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในภาพยนตร์เอเชียที่ดีที่สุดตลอดกาล[209][210][211]

ละครโทรทัศน์เกาหลีได้รับความนิยมนอกประเทศเกาหลี และเป็นที่รู้จักในระดับสากล ละครหลายเรื่องมักจะเน้นเรื่องโรแมนติก เช่น เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา, หล่อน่ารักกับซูปเปอร์สตาร์น่าเลิฟ, จุ๊บหลอก ๆ อยากบอกว่ารัก, รักนี้ชั่วนิรันดร์, เพลงรักในสายลมหนาว และอีกมากมาย รวมถึงละครแนวอิงประวัติศาสตร์ก็มีกระแสตอบรับที่ดีหลายเรื่อง เช่น แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง ซึ่งสร้างกระแสนิยมอาหารเกาหลีไปทั่วเอเชียในช่วงที่ออกฉายรวมถึงในประเทศไทย ละครย้อนยุคแนวแฟนตาซี ตำนานจอมกษัตริย์เทพสวรรค์ ปลุกกระแสความสนใจด้านประวัติศาสตร์ในประเทศ รวมถึงละครแนวระทึกขวัญ/สยองขวัญอย่าง ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด

ซีรีส์ดรามาแนวเอาชีวิตรอด สควิดเกม เล่นลุ้นตาย โดย ฮวัง ดง-ฮย็อก ได้รับการชื่นชมจากนักวิจารณ์และได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างกว้างขวางจากการเปิดตัว กลายเป็นซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ในช่วงเปิดตัว และมีผู้ชมมากกว่า 142 ล้านครัวเรือนในช่วง 4 สัปดาห์แรกนับตั้งแต่เปิดตัว[212] นักแสดงเกาหลีมากมายมีชื่อเสียงระดับทวีปและมีผลงานที่ได้รับความนิยม เช่น กง ยู, อี มิน-โฮ, ฮย็อน บิน, ซง จุง-กี, ซอง เฮ เคียว, ไอยู, พัก มิน-ย็อง, ฮา จี-ว็อน และอีกมากมาย[213]

พีบิมบับ หนึ่งในอาหารที่ชึ้นชื่อที่สุดของเกาหลี

อาหารเกาหลี เป็นอาหารประจำชาติของชาวเกาหลี แต่เดิมเกาหลีเป็นประเทศเกษตรกรรม และเพาะปลูกข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่โบราณกาล[214] ในสมัยนี้อาหารเกาหลีจะเป็นตำหรับซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อ ปลา พร้อมด้วยผักต่าง ๆ และอาหารหมักดองต่าง เช่น กิมจิช็อดกัล (젓갈 - อาหารทะเลหมักเกลือ และท็อนจัง (된장 - ถั่วเหลืองหมักเหลว)) วัตถุดิบหลักทุกชนิดขึ้นชื่อในรสชาติและมีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารเกาหลีจะมีลักษณะเป็น หยิน-หยาง หลักคิดแบบ หยิน หยาง ตามการแพทย์แผนจีนนั้น ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้จะประกอบไปด้วยสองด้าน ซึ่งด้านทั้งสองจะอยู่ตรงข้ามกันแต่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับร่างกาย เช่น ชาวเกาหลีนิยมรับประทาน ซัมเกทัง หรือซุปไก่โสม เพื่อเรียกกำลังในช่วงฤดูร้อน หรือหากอากาศหนาว ร่างกายต้องการอาหารเพื่อทำให้อบอุ่น ต้องกิน “ชินซอลโล” หรือหม้อร้อนที่ประกอบด้วยเนื้อปลา ผัก หรือเต้าหู้[215]

จุดเด่นในการตั้งโต๊ะอาหารเกาหลีคืออาหารจานต่าง ๆ จะถูกนำมาจัดวางในคราวเดียวกัน โดยการปฏิบัติสืบทอดกันมา หากจะเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและญี่ปุ่น คนเกาหลีนิยมใช้ช้อนทานอาหารมากกว่าโดยเฉพาะเมื่อมีการเสิร์ฟน้ำซุป

อาหารเกาหลีที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือกิมจิ (เกาหลี: 김치, MC: Gimchi, MR: Kimch'i คิมชี) ซึ่งเป็นผักดองที่เป็นเอกลักษณ์ และพีบิมบับ หรือ "ข้าวยำเกาหลี" มีลักษณะเป็นข้าวสวยโรยหน้าด้วยผักที่ปรุงแล้วนิยมทานร่วมกับไข่ดาว น้ำพริก ไข่ลวก และเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ คลุกให้เข้ากัน รวมทั้ง ต็อกโบกี หรือ เค้กข้าว-ผัด ทำมาจากแป้งต๊อกเนื้อนุ่ม ผัดกับซอสรสเผ็ด ใส่เครื่องเคียงเพิ่มทั้งผัก เนื้อสัตว์ ออมุก ไข่ต้มและชีส

อาหารอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมได้แก่ อาหารปิ้งย่าง (เนื้อสัตว์และอาหารทะเลนำไปย่างทานกับน้ำจิ้มรสชาติต่าง ๆ), ไก่ทอด, เกี๊ยวซ่าเกาหลี, ข้าวผัดเกาหลี หัวไชเท้าดอง[216] และรามยอน (라면) หรือบะหมี่กึงสำเร็จรูปรสชาติต่าง ๆ โดยคนเกาหลีนิยมเติมผักและเนื้อสัตว์ลงไปด้วย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมของเกาหลี ได้แก่ โซจู มักกอลลี และบกบุนจาจู ชาวเกาหลีมีวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบที่เป็นเอกลักษณ์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกโดยใช้ตะเกียบโลหะ[217][218] ซึ่งมีหลักฐานการพบค้นพบในแหล่งโบราณคดีตั้งแต่สมัยโคกูรยอ

เทควันโด หนึ่งในกีฬายอดนิยมของเกาหลีใต้

เทควันโดเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดในเกาหลี ในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 และได้กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูง โดยกลายเป็นกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการในปี 2000[219] ศิลปะการป้องกันตัวอื่น ๆ ของเกาหลี ได้แก่ เทคคยอน ฮับกิโด ทังซูโด กุกซูลวอน คัมโด และซูบัก[220]

ฟุตบอลได้รับความนิยมมากเช่นกัน[221] โพลล่าสุดระบุว่าแฟนกีฬาชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ 41% ระบุตัวเองว่าเป็นแฟนฟุตบอล เกาหลีใต้มีลีกอาชีพที่มีชื่อเสียงได้แก่ เคลีก ทีมชาติเกาหลีใต้ถือเป็นทีมแรกในเอเชียที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย[222] ในฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งตนเองเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น[223] และผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกทุกสมัยนับตั้งแต่ปี 1986 และผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้ 2 ครั้ง (2002 และ 2010) และในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ทีมฟุตบอลเกาหลีใต้ได้เหรียญทองแดง

เบสบอลเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่เล่นกันอย่างแพร่หลาย โดยได้รับการเผยแพร่ในเกาหลีครั้งแรกใน ค.ศ. 1905 โดยผลสำรวจบางแหล่งอ้างว่าเบสบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศแซงหน้าฟุตบอลในปัจจุบัน การเข้าชมและราคาตั๋วสำหรับการแข่งขันเบสบอลอาชีพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ลีกเบสบอลมืออาชีพ (เคบีโอลีก) มีทั้งหมด 10 ทีม[224] ก่อตั้งขึ้นในปี 1982 เกาหลีใต้จบอันดับสามในเวิลด์เบสบอลคลาสสิกปี 2006 และอันดับสองในปี 2009[225] ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2010 ทีมเบสบอลเกาหลีคว้าเหรียญทอง[226] ผู้เล่นเกาหลีหลายคนยังมีโอกาสได้ไปเล่นในเมเจอร์ลีกเบสบอลของสหรัฐ

เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์มาสามสมัยในปี 1986 (โซล), 2002 (ปูซาน) และ 2014 (อินชอน) และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยฤดูหนาวในปี 1997, Asian Winter Games ในปี 1999 และ กีฬามหาวิทยาลัยโลกในปี 2003 และ 2015 ในปี 1988 เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโซล โดยจบอันดับ 4 ในตารางเหรียญรวมโดยทำผลงานโดดเด่นในการยิงธนู ยิงปืน เทเบิลเทนนิส แบดมินตัน สปีดสเก็ต แฮนด์บอล ฮ็อกกี้ มวยปล้ำ เบสบอล ยูโด เทควันโด และยกน้ำหนัก เกาหลีใต้ได้รับเหรียญรางวัลในโอลิมปิกฤดูหนาวมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2010 เกาหลีใต้อยู่ในอันดับห้าในการจัดอันดับเหรียญโดยรวม โดยมีความโดดเด่นในด้านสเก็ตความเร็วระยะสั้น สเก็ตเร็วและสเก็ตลีลาก็เป็นที่นิยมเช่นกัน และฮ็อกกี้น้ำแข็งเป็นกีฬาที่เกิดใหม่ โดยมี อันยัง ฮัลลา คว้าแชมป์เอเชียลีกครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2010[227] กรุงโซลเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันไตรกีฬาระดับสากล ซึ่งจัดโดยไตรกีฬาโลกในเดือนพฤษภาคม 2010 และการแข่งขันอีสปอร์ตได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นหลายปีที่ผ่านมา[228]

การเต้นรำพื้นบ้านแบบดั้งเดิมของเกาหลี

มีวันหยุดราชการอย่างเป็นทางการมากมายในเกาหลีใต้[229][230] หนึ่งในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวเกาหลีได้แก่ วันปีใหม่เกาหลีหรือ ซอลลัล โดยมีการเฉลิมฉลองในวันแรกของปฏิทินจันทรคติของเกาหลี[231] วันประกาศอิสรภาพของเกาหลีตรงกับวันที่ 1 มีนาคม[232] และเป็นการรำลึกถึงขบวนการวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1919 วันแห่งความทรงจำมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 6 มิถุนายน[233] และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติแก่ชายและหญิงที่เสียชีวิตในขบวนการเอกราชของเกาหลีใต้ วันรัฐธรรมนูญคือวันที่ 17 กรกฎาคม[234] และเป็นการเฉลิมฉลองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลี วันประกาศอิสรภาพคือ วันที่ 15 สิงหาคม[235] เป็นการเฉลิมฉลองการปลดปล่อยของเกาหลีจากจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี 1945 ทุกวันที่ 15 ของเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวเกาหลีจะเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งชาวเกาหลีจะไปเยี่ยมบ้านเกิดของบรรพบุรุษและรับประทานอาหารเกาหลีแบบดั้งเดิม วันที่ 1 ตุลาคม มีการเฉลิมฉลองวันกองทัพเพื่อเป็นเกียรติแก่กองกำลังทหารของเกาหลีใต้ วันที่ 3 ตุลาคม เป็นวันสถาปนาแห่งชาติ หรือเรียกว่า วันฮันกึล วันที่ 9 ตุลาคม เป็นวันที่ระลึกถึงการประดิษฐ์อักษรฮันกึล ซึ่งเป็นอักษรพื้นเมืองของภาษาเกาหลี

เชิงอรรถ

[แก้ไขต้นฉบับ]
  1. 19.7% นับถือโปรเตสแตนต์, 7.9% นับถือโรมันคาทอลิก
  2. เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2004 ศาสตราจารย์ ฮวาง วู-ซุก กระทำผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพขั้นร้ายแรง ด้วยการรับบริจาคเซลล์ไข่มนุษย์เพื่อการทดลอง และอ้างว่าสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดจากการโคลนนิ่งตัวอ่อนของมนุษย์ได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก พร้อมตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นดังกล่าวลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อดัง “ไซแอนซ์” ของสหรัฐฯ แต่ภายหลังปรากฏหลักฐานว่าเป็นเพียงการโกหก
  1. "A New Way of Seeing Country Social Responsibility" (PDF). Faculty of Philosophy and Social-Political Sciences: 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 September 2013. สืบค้นเมื่อ 16 January 2014.
  2. [시행 2016.8.4.] [법률 제13978호, 2016.2.3., 제정] [Enforcement 2016.8.4. Law No. 13978, enacted on February 3, 2016] (ภาษาเกาหลี). 2016. สืบค้นเมื่อ 26 July 2017.
  3. "Foreign population in Korea tops 2.5 million". koreatimes. February 24, 2020.
  4. Kim, Han-soo; Shon, Jin-seok (20 December 2016). 신자 수, 개신교 1위… "종교 없다" 56%. Chosun Ilbo. สืบค้นเมื่อ 2 July 2017.
  5. 5.0 5.1 Quinn, Joseph Peter (2019). "South Korea". ใน Demy, Timothy J.; Shaw, Jeffrey M. (บ.ก.). Religion and Contemporary Politics: A Global Encyclopedia. ABC-CLIO. p. 365. ISBN 978-1-4408-3933-7. สืบค้นเมื่อ 3 June 2020.
  6. Kosis 100대 지표.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "World Economic Outlook Database, October 2020". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 14 October 2020.
  8. Inequality - Income inequality - OECD Data. OECD. สืบค้นเมื่อ 17 July 2021.
  9. "Human Development Report 2020" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  10. "Korea - Geography and Maps | Goway Travel". www.goway.com.
  11. "South Korea Population (2021) - Worldometer". www.worldometers.info (ภาษาอังกฤษ).
  12. "20th CENTURY: Korea as a Colony of Japan, 1910-1945 | Central Themes and Key Points | Asia for Educators | Columbia University". afe.easia.columbia.edu.[ลิงก์เสีย]
  13. "US Enters the Korean Conflict". National Archives (ภาษาอังกฤษ). 2016-08-15.
  14. "Korea: A History Of The North-South Split". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
  15. "The Korean War, 1950-1953 - The Cold War, 1948-1960 - OCR A - GCSE History Revision - OCR A". BBC Bitesize (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  16. "Korean War | Eisenhower Presidential Library". www.eisenhowerlibrary.gov.
  17. "Korean War | National Army Museum". www.nam.ac.uk (ภาษาอังกฤษ).
  18. Sicard, Sarah (2020-06-25). "A brief history of the Korean War". Military Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  19. Service (KOCIS), Korean Culture and Information. "Transition to a Democracy and Transformation into an Economic Powerhouse : Korea.net : The official website of the Republic of Korea". www.korea.net.
  20. Kim & Chang - Hyun Ho Eun (2019-12-05). "Spotlight: free speech and media freedom in South Korea". Lexology (ภาษาอังกฤษ).
  21. "South Korea : Distinct improvement after a bad decade | Reporters without borders". RSF (ภาษาอังกฤษ).
  22. "South Korea Internet Speed | 2007-2017 Data | 2020-2021 Forecast | Historical | Chart". tradingeconomics.com.
  23. "Internet Speeds by Country - Fastest Internet In The World Map". www.fastmetrics.com.
  24. "South Korea's Mobile and Broadband Internet Speeds". Speedtest Global Index (ภาษาอังกฤษ).
  25. "South Korea: educational advancement rate by education level 2021". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  26. 오석민 (2021-01-16). "S. Korea's military strength 6th in world, N. Korea at 28th: report". Yonhap News Agency (ภาษาอังกฤษ).
  27. "The Global Impact of South Korean Popular Culture: Hallyu Unbound ed. by Valentina Marinescu". ResearchGate (ภาษาอังกฤษ).
  28. "'Korean Wave' of pop culture sweeps across Asia". www.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  29. Yong Jin, Dal (Fall 2012). "Hallyu 2.0: The New Korean Wave in the Creative Industry". International Institute Journal. 2 (1).
  30. Jr, Dudley L. Poston (2023-06-27). "South Korea has the lowest fertility rate in the world – and that doesn't bode well for its economy". The Conversation (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  31. "South Korea's World-Lowest Fertility Rate Set to Fall Further". TIME (ภาษาอังกฤษ). 2023-12-14.
  32. Sussman, Anna Louie (2023-03-21). "The Real Reason South Koreans Aren't Having Babies". The Atlantic (ภาษาอังกฤษ).
  33. Roberts, John Morris; Westad, Odd Arne (2013). The History of the World (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. ISBN 978-0-19-993676-2.
  34. Walker, Hugh Dyson (2012-11-20). East Asia: A New History (ภาษาอังกฤษ). AuthorHouse. ISBN 978-1-4772-6517-8.
  35. Grayson, James H. (2013-11-05). Korea - A Religious History (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-136-86925-9.
  36. 수정: 2017.08.30 19:58, 입력: 2017 08 30 09:13 (2017-08-30). "[이기환의 흔적의 역사] 국호논쟁의 전말…대한민국이냐 고려공화국이냐". www.khan.co.kr (ภาษาเกาหลี).
  37. 조선일보 (2020-08-04). "[이덕일 사랑] 대~한민국". 조선일보 (ภาษาเกาหลี).
  38. "Perspective | How Korea was divided and why the aftershocks still haunt us today". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
  39. "Wayback Machine". web.archive.org. 2004-09-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  40. "Wayback Machine". web.archive.org. 2004-09-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  41. "Korea National Park". english.knps.or.kr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  42. "South Korea climate: average weather, temperature, precipitation, when to go". www.climatestotravel.com.
  43. "Best time to visit South Korea | weather by month - climate - seasons | Selective Asia". www.selectiveasia.com.
  44. "South Korea — History and Culture". www.iexplore.com.
  45. "Korea Information - History". Korean Cultural Center New York (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  46. "Korean History and Political Geography". Asia Society (ภาษาอังกฤษ).
  47. "Three Kingdoms Period in Korea". World History Encyclopedia (ภาษาอังกฤษ).
  48. https://www.korea.net/AboutKorea/History/Three-Kingdoms-other-States
  49. Yi, Kodme; Kim, Hwajoong (2016-07-21). "The 'Nurses Ordinance' of Korea under Japanese Rule". Journal of Korean Community Nursing (ภาษาเกาหลี).
  50. "Korea - Korea under Japanese rule". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  51. 宮田 節子 [Miyata, Setsuko]. "創氏改名" [Creating Surnames and Changing Given Names}, 明石書店 [Akashi-shoten], 1992, al. ISBN 4-7503-0406-9
  52. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-23. สืบค้นเมื่อ 2015-08-17.
  53. 山脇 啓造 Yamawaki, Keizo. 近代日本と外国人労働者―1890年代後半と1920年代前半における中国人・朝鮮人労働者問題 Modern Japan and Foreign Laborers: Chinese and Korean Laborers in the late 1890s and early 1920s, 明石書店 Akashi-shoten, 1994, et al. ISBN 4-7503-0568-5
  54. http://archives.cnn.com/2001/WORLD/asiapcf/east/03/29/japan.comfort.women/index.html เก็บถาวร 2006-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน] [1] [2] เก็บถาวร 2007-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Comfort-Women.org เก็บถาวร 2009-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  55. Pruitt, Sarah. "Why Are North and South Korea Divided?". HISTORY (ภาษาอังกฤษ).
  56. "Korea - Division of Korea". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  57. "Subways : VisitKorea Subways". english.visitkorea.or.kr.
  58. Taylor, Kate. "I rode Seoul's famous subway system for a week to see if it's really the best in the world, and saw why New York will never catch up". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  59. "BBC News | ASIA-PACIFIC | Flashback: The Kwangju massacre". news.bbc.co.uk.
  60. "20 years later, father still seeks truth in son's death : National : News : The Hankyoreh". english.hani.co.kr.
  61. "Two Decedes After Seoul Olympics". koreatimes (ภาษาอังกฤษ). 2007-10-30.
  62. "Kim Dae-jung | Obituary". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2009-08-18.
  63. "The Nobel Peace Prize 2000". NobelPrize.org (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  64. "All publications". The Asia Foundation (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  65. Langan, Peter (2016-11-28). "How long will Seoul protests remain peaceful?". Asia Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  66. "South Korea's president is removed from office as court upholds her impeachment". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-03-09.
  67. "Four Strategies< Moon Jae-In's Policy on the Korean Peninsula< Policy Issues< 통일부_영문". www.unikorea.go.kr.
  68. Gladstone, Rick (2021-01-04). "As Birthrate Falls, South Korea's Population Declines, Posing Threat to Economy". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-12-29.
  69. "Who is South Korea's new president Yoon Suk-yeol?". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2022-05-10.
  70. "Government Ministry of Foreign Affairs, Republic of Korea". www.mofa.go.kr.
  71. "Ministries in Korea - Information about Korea - Nowak & Partner / Recruitment, Market Entry, Project Management". www.nowak-partner.com.
  72. "Can North Korea get the South to join its dispute with Japan over tiny islets in Asia?". Newsweek (ภาษาอังกฤษ). 2018-02-21.
  73. "South Korea and Japan's feud explained". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-12-02. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20.
  74. "Why Is Japan Hesitant to Improve Relations with South Korea?". thediplomat.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  75. "国民が知らない反日の実態 - 従軍慰安婦の正体". web.archive.org. 2012-07-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-12. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  76. "archive.ph". archive.ph.
  77. "Washington Coalition for Comfort Women Issues Inc". web.archive.org. 2010-05-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-02. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  78. "朝日新聞が日韓関係を破壊した 慰安婦についての大誤報を謝罪することが関係修復の条件 | JBpress (ジェイビープレス)". JBpress(日本ビジネスプレス) (ภาษาญี่ปุ่น).
  79. Korea Herald. (2004) Korea now, p. 31; excerpt, "The Chinese also insist that even though Goguryeo was part of Chinese domain, Silla and Baekje were states subjected to China's tributary system."
  80. Pratt, Keith L. (1999). Korea: a historical and cultural dictionary. p. 482
  81. Seth, Michael J. (2006). A concise history of Korea, p. 64, at Google Books; excerpt, "China found instead that its policy of using trade and cultural exchanges and offering legitimacy and prestige to the Silla monarchy was effective in keeping Silla safely in the tributary system. Indeed, the relationship that was worked out in the late seventh and early eighth centuries can be considered the beginning of the mature tributary relationship that would characterize Sino-Korean interchange most of the time until the late nineteenth century;"
  82. https://web.archive.org/web/20190409050138/https://atlas.media.mit.edu/en/profile/country/kor/
  83. https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-korea-russia-to-begin-preparations-for-fta-negotiations-moon
  84. "South Korea-EU - trade in goods - Statistics Explained". web.archive.org. 2017-09-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-23. สืบค้นเมื่อ 2021-09-20.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  85. "Timeline of U.S.-South Korean Relations". U.S. Embassy & Consulate in the Republic of Korea (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  86. https://sgp.fas.org/crs/row/IF10165.pdf
  87. https://overseas.mofa.go.kr/th-th/brd/m_3136/view.do?seq=702631&srchFr=&srchTo=&srchWord=&srchTp=&multi_itm_seq=0&itm_seq_1=0&itm_seq_2=0&company_cd=&company_nm=#:~:text=- ไทยเป็นประเทศสันถวไมตรีของ,เช่น ASEAN, ASEM, APEC เป็นต้น
  88. "Republic of Korea Military Guide". www.globalsecurity.org.
  89. "Military Service in Korea". 90 Day Korean® (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-09-12.
  90. "The Correct Understanding of the Millitary Service System - OVERVIEW - HOME". www.mma.go.kr.
  91. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  92. "South Korea Economy: Population, GDP, Inflation, Business, Trade, FDI, Corruption". www.heritage.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-25. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  93. "South Korea - Economic and social developments". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  94. "GDP per capita growth (annual %) | Data". data.worldbank.org.
  95. "South Korea - Economic Indicators". tradingeconomics.com.
  96. "South Korea". U.S. Department of State.
  97. "UNWTO Tourism Highlights: 2017 Edition | World Tourism Organization". Default Book Series (ภาษาอังกฤษ). doi:10.18111/9789284419029.
  98. Kolesnikov-Jessop, Sonia (2010-11-10). "South Korea Sets Its Sights on Foreign Tourists". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  99. "Hallyu fuels foreign investment in Korea". web.archive.org. 2015-01-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-20. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  100. "Surging Seoul: Traffic at Incheon Airport is booming. But can South Korea's Big Two airlines capitalize?". Airline Weekly (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  101. Wissam. "AME Info: Middle East & Gulf News". ameinfo.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  102. Galloway, Lindsey. "Five countries on the frontline of tech". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษ).
  103. "US ranked 26th in global Internet speed, South Korea number one - TechSpot News". web.archive.org. 2012-02-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  104. "Asia". Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).[ลิงก์เสีย]
  105. "These Are the World's Most Innovative Countries". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-01-22. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  106. Service (KOCIS), Korean Culture and Information. "Korea is the most innovative country: Bloomberg : Korea.net : The official website of the Republic of Korea". www.korea.net.
  107. "Bloomberg: Israel Is World's 5th Most Innovative Country, Ahead Of US, UK". NoCamels (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-02-04.
  108. Jun, Kwanwoo (2013-09-23). "Seoul Puts a Price on Cyberdefense". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
  109. https://apnews.com/article/3d14a9663b114644a36e123a7c7bf9b1
  110. "Naro-1". www.astronautix.com.
  111. "Korea, Russia Enter Full-Fledged Space Partnership". DefenceTalk (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  112. "South Korea Confirms Contact With Satellite Lost". www.spacedaily.com.
  113. "The Times & The Sunday Times". www.thetimes.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  114. "S. Korea Completes Work on Naro Space Center". koreatimes (ภาษาอังกฤษ). 2009-06-10.
  115. "First S Korean astronaut launches" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2008-04-08. สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
  116. "Albert HUBO". Hanson Robotics (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  117. "Special Report: [Business Opportunities] R&D". Ministry of Knowledge Economy. 3 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2012. สืบค้นเมื่อ 15 July 2009.
  118. "Robot parks, a world first". koreajoongangdaily.joins.com (ภาษาอังกฤษ).
  119. published, Bill Christensen (2006-05-08). "Android Has Human-Like Skin and Expressions". livescience.com (ภาษาอังกฤษ).
  120. "South Korean Robot English Teachers Are Go". Popular Science (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-03-18.
  121. "Bio | Biography | Actor | Shaina Twain at Bio2008.org" (PDF). web.archive.org. 2011-09-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-11-18.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  122. "Bio | Biography | Actor | Shaina Twain at Bio2008.org" (PDF). web.archive.org. 2011-09-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-11-18.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  123. "Discovery Channel :: News - Animals :: Endangered Wolf Cloned in South Korea". web.archive.org. 2010-01-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-09. สืบค้นเมื่อ 2021-11-18.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  124. "Hwang Woo-suk's Use of Human Eggs for Research 2002-2005 | The Embryo Project Encyclopedia". embryo.asu.edu (ภาษาอังกฤษ).
  125. Cyranoski, David (2009-10-01). "Woo Suk Hwang convicted, but not of fraud". Nature (ภาษาอังกฤษ). 461 (7268): 1181–1181. doi:10.1038/4611181a. ISSN 1476-4687.
  126. "Hwang Woo-Suk | South Korean scientist | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  127. "With $900M IPO, SK Bioscience has big plans for manufacturing expansion—even beyond COVID-19 vaccines". FiercePharma (ภาษาอังกฤษ).
  128. "Greentech Media | South Korea Boosts Renewable-Energy Investments by 60%". web.archive.org. 2008-12-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-16. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  129. "CNN Video Experience | CNN". www.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  130. "Seoul Metropolitan Government - "A Clean, Attractive & Global City, Seoul!"". web.archive.org. 2009-02-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-15. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  131. "NewsWorld .SEPTEMBER 2006". web.archive.org. 2007-09-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  132. "Korea Air Pollution Problems". web.archive.org. 2010-03-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-24. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  133. "Party Groupings". web.archive.org. 2013-06-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-28. สืบค้นเมื่อ 2021-11-01.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  134. "KOSIS KOrean Statistical Information Service". kosis.kr.
  135. "South Korea - Population". countrystudies.us.
  136. "สำเนาที่เก็บถาวร". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-01. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  137. "The Chosun Ilbo (English Edition): Daily News from Korea - More Than 1 Million Foreigners Live in Korea". web.archive.org. 2009-09-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  138. 138.0 138.1 South Korea National Statistical Office's 19th Population and Housing Census (2015): "Religion organizations' statistics". Retrieved 20 December 2016
  139. "Constitution of the Republic of Korea". Constitutional Court of Korea. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-23. สืบค้นเมื่อ June 26, 2009.
  140. "Korea.net: The official website of the Republic of Korea – Religion". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-06. สืบค้นเมื่อ 2019-12-15. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  141. "International Religious Freedom Report 2008 – Korea, Republic of". U.S. Department of State. Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor. January 22, 2009. สืบค้นเมื่อ January 31, 2010.
  142. 142.0 142.1 Grayson, James Huntley (2002). Korea: A Religious History. Routledge. p. 195. ISBN 0-7007-1605-X.
  143. Religion in Korea, Asia Info Organization
  144. Colin Whittaker, Korea Miracle (book), Eastbourne, 1988, p. 63.
  145. 145.0 145.1 Agence France-Presse (January 31, 2009). "S. Korea president faces protests from Buddhists". The Straits Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-05. สืบค้นเมื่อ January 31, 2009.
  146. Kim, Andrew Eungi (2000). "Christianity, Shamanism, and Modernization in South Korea". CBS Interactive. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ February 13, 2009.
  147. Moll, Rob (March 1, 2009). "Missions Incredible". Christianity Today. Christianity Today International. สืบค้นเมื่อ February 17, 2009.
  148. "Buddhism in Korea". Korean Buddhism Magazine, Seoul. 1997. สืบค้นเมื่อ February 17, 2009.
  149. "International Religious Freedom Report 2008 – Korea, Republic of". United States Department of State. September 19, 2009. สืบค้นเมื่อ February 17, 2009.
  150. "BBC – Korean Zen Buddhism". Bbc.co.uk. October 2, 2002. สืบค้นเมื่อ April 25, 2010.
  151. "Islamic Korea - Pravda.Ru". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-06. สืบค้นเมื่อ 2012-12-28.
  152. Bae Ji-sook (2007-08-10). "Life is Very Hard for Korean Muslims". The Korea Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-22. สืบค้นเมื่อ 2019-12-15.
  153. "Islam takes root and blooms". Islamawareness.net. November 22, 2002. สืบค้นเมื่อ April 25, 2010.
  154. "Korea's Muslims Mark Ramadan". The Chosun Ilbo. Seoul. September 11, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-13. สืบค้นเมื่อ March 4, 2012. {{cite news}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  155. "Chinese, Second-most Popular Foreign Language at Schools in South Korea". www.china.org.cn.
  156. "education-blog.net". web.archive.org. 2019-03-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  157. "OECD Better Life Index". web.archive.org. 2016-05-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-31. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  158. "Save Our Schools Australia: South Korea's Education Success Has a Dark Side". web.archive.org. 2016-11-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-18. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  159. "The overeducated generation - University World News". web.archive.org. 2016-11-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-18. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  160. Ripley, Amanda (2011-09-25). "Teacher, Leave Those Kids Alone". Time (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0040-781X. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-11. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  161. "High performance, high pressure in South Korea's education system". ICEF Monitor - Market intelligence for international student recruitment (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2014-01-23.
  162. "What are the top SKY universities and why does everyone want to get there?". world.uz (ภาษาอังกฤษ).
  163. says, Akbota Abdurakhman (2021-03-20). "KoreabyMe". KoreabyMe (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  164. "Study in South Korea". Top Universities (ภาษาอังกฤษ).
  165. "Health at a Glance 2015: OECD Indicators | READ online". oecd-ilibrary.org.
  166. "Revealed: Countries With The Best Health Care Systems, 2021". CEOWORLD magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-04-27.
  167. Why South Korea has high suicide rates, สืบค้นเมื่อ 2021-09-15
  168. "GHO | By category | Suicide rate estimates, age-standardized - Estimates by country". WHO.
  169. "Korea's hidden problem: Suicidal defectors". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-11-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  170. "South Korea: seniors with depression by gender 2017". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  171. Welle (www.dw.com), Deutsche. "South Korea's soaring suicide, self-harm rates pinned on pandemic | DW | 15.09.2020". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  172. "South Korea Population 2021 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
  173. Lee, Ji-Young. "5 answers to basic questions you might have about North and South Korea". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  174. "South Korea's cultural spats with China are growing more intense". The Economist. 2021-06-03. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  175. "South Korea accuses China of trying to steal its staple cuisine kimchi". Stuff (ภาษาอังกฤษ). 2020-11-30.
  176. "'Stealing our culture': South Koreans upset after China claims kimchi as its own". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2020-12-01.
  177. Service (KOCIS), Korean Culture and Information. "UNESCO Heritage in Korea : Korea.net : The official website of the Republic of Korea". www.korea.net.
  178. Centre, UNESCO World Heritage. "Republic of Korea". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  179. "Ministry of Culture & Tourism Republic of Korea : MCT". web.archive.org. 2005-12-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-24. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  180. "Drinking Culture in Korea". 90 Day Korean® (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-02-06.
  181. Gooch, Steve Chao,Liz. "The country with the world's worst drink problem". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
  182. xReasons (2019-05-27). "8 Reasons Why South Koreans Drink More than Anyone". Medium (ภาษาอังกฤษ).
  183. "South Koreans have drunk more frequently during the pandemic". The Drinks Business (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-03-18.
  184. "Topic: Alcoholic beverages in South Korea". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  185. "South Koreans drink twice as much liquor as Russians and more than four times as much as Americans – Quartz". web.archive.org. 2014-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-08. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  186. Service (KOCIS), Korean Culture and Information. "Traditional Arts : Korea.net : The official website of the Republic of Korea". www.korea.net.
  187. Planet, Lonely. "Arts in Seoul, South Korea". Lonely Planet (ภาษาอังกฤษ).
  188. "Modern Period of Korean Architecture". www.asianinfo.org.
  189. "Korean Contemporary Architecture". www.asianinfo.org.
  190. "Wayback Machine". web.archive.org. 2011-04-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  191. Laurie, Timothy (2016), "Toward a Gendered Aesthetics of K-Pop", Global Glam and Popular Music : Style and Spectacle from the 1970s to the 2000s: 214–231
  192. https://www.bbc.com/culture/article/20190529-how-did-k-pop-conquer-the-world
  193. JungBong., Choi (2014). K-pop - The International Rise of the Korean Music Industry. Maliangkay, Roald. Hoboken: Taylor and Francis. pp. 66–80. ISBN 9781317681809. OCLC 890981690.
  194. Service (KOCIS), Korean Culture and Information. "Hallyu (Korean Wave) : Korea.net : The official website of the Republic of Korea". www.korea.net.
  195. "PSY". Billboard.
  196. CNN, By Madison Park. "'Gangnam Style' dominates UK chart". CNN.
  197. Nast, Condé (2021-04-20). "Here's why K pop is breaking the internet, and the 16 best Korean pop bands you should know". Glamour UK (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  198. "BTS: Who are they and how did they become so successful? - CBBC Newsround" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-09-20.
  199. Nast, Condé (2020-05-14). "How Blackpink Became The Biggest K-Pop Girl Band On The Planet". British Vogue (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  200. Bui, Hoai-Tran. "BIGBANG: The biggest boy band in the world you probably haven't heard of". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  201. "9 ways Girls' Generation redefined K-pop since 'Into The New World'". 9 ways Girls' Generation redefined K-pop since 'Into The New World' | Bandwagon | Music media championing and spotlighting music in Asia. (ภาษาอังกฤษ). 2020-08-05.
  202. "Super Junior Songs That Made Them The K-Pop Icons They Are Today". HELLOKPOP (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-12-01.
  203. IWMBuzz (2021-05-25). "How GOT7 The Famous K-pop Band Was Formed: Know Here". IWMBuzz (ภาษาอังกฤษ).
  204. "KPop Groups - Most popular bands and artists of all time". 90 Day Korean® (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-05-25.
  205. "Sort by Popularity - Most Popular Movies and TV Shows With Gong Yoo". IMDb.
  206. "USTR: S.Korea's Screen Quota Hinders Market Access". rki.kbs.co.kr (ภาษาอังกฤษ).
  207. "Oscars 2020: South Korea's Parasite makes history by winning best picture". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-02-10. สืบค้นเมื่อ 2022-01-12.
  208. "Parasite's Best Picture Oscar Is Historic. Is This the Beginning of a New Era in Film?". Time (ภาษาอังกฤษ).
  209. Shamsian, Jacob. "'Parasite' is an Oscar winner for the ages — and it isn't even director Bong Joon Ho's best movie". Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  210. Lee, Gina Echevarria, Nathaniel. "What makes 'Parasite' so shocking is the twist that happens in a 10-minute sequence". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  211. Ewing, Jeff. "Why 'Parasite' Is The Best Picture Of The Year". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  212. Tassi, Paul. "'Squid Game' Is Now Netflix's Most Popular Show Ever, And It's Not Even Close". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  213. https://www.90daykorean.com/best-korean-actors/
  214. "วัฒนธรรมอาหารเกาหลี". jpjctn27. 2016-02-18.
  215. "ประวัติอาหารเกาหลี". Food. 2018-06-25.
  216. CNN, By Violet Kim. "Korean food: 40 best dishes we can't live without". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  217. "Why do Koreans use metal chopsticks? | Garland Magazine". garlandmag.com (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).[ลิงก์เสีย]
  218. "All About Korean Chopsticks". everythingchopsticks.com.
  219. "WTF World Taekwondo Federation". web.archive.org. 2010-01-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  220. "Wayback Machine". web.archive.org. 2011-07-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  221. Min-sik, Yoon (2013-10-25). "Baseball comes roaring back to Seoul". The Korea Herald (ภาษาอังกฤษ).
  222. "South Korea's World Cup dream is over, but the party goes on". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2002-06-26.
  223. "2002 Korea Japan FIFA Football World Cup History, Winners, Runners-Up". NDTVSports.com (ภาษาอังกฤษ).
  224. "KBO". eng.koreabaseball.com.
  225. "South Korea national baseball team". Academic Dictionaries and Encyclopedias (ภาษาอังกฤษ).
  226. "South Korea takes Olympics baseball gold". LA Times Blogs - Olympics Blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2008-08-23.
  227. "ASIA LEAGUE ICE HOCKEY". www.alhockey.com.
  228. Jin, Dal Yong (2010). Korea's Online Gaming Empire. The MIT Press. p. 59. ISBN 978-0-262-01476-2.
  229. "Public Holidays : VisitKorea". english.visitkorea.or.kr.
  230. Service (KOCIS), Korean Culture and Information. "Festivals, Celebrations, and Holidays : Korea.net : The official website of the Republic of Korea". www.korea.net.
  231. "Korean New Year around the world in 2022". Office Holidays (ภาษาอังกฤษ).
  232. "March First Movement | Korean history". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  233. "Memorial Day in South Korea". www.timeanddate.com (ภาษาอังกฤษ).
  234. "Constitution Day in South Korea". www.timeanddate.com (ภาษาอังกฤษ).
  235. "Liberation Day - August 15". National Today (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-15.

อ่านเพิ่ม

[แก้ไขต้นฉบับ]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้ไขต้นฉบับ]