ข้ามไปเนื้อหา

นิติภาวะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อายุนิติภาวะ (2022):
  21 ปี
  20 ปี
  19 ปี
  18 ปี*
  17 ปี
  16 ปี
* อายุนิติภาวะคือ 16 ปี เฉพาะในสกอตแลนด์ แต่ 18 ปี เฉพาะในสหราชอาณาจักร เวลส์ และนอร์ทไอร์แลนด์

นิติภาวะ (อังกฤษ: majority, full age หรือ lawful age; ละติน: sui juris) คือ ภาวะที่บุคคลเป็นผู้มีความสามารถใช้สิทธิทำนิติกรรมตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง การบรรลุนิติภาวะย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วแต่กรณี

ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เรียก "ผู้เยาว์" (อังกฤษ: minor) ซึ่งกฎหมายจำกัดความสามารถเอาไว้ โดยพิจารณาสรุปว่าผู้เยาว์ทั่วไปแล้วมีปรกติเป็นเด็กไม่อาจบริหารสติปัญญาได้ดีเท่าผู้ใหญ่ได้ จึงจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิไว้ให้มีผู้ที่เรียก "ผู้แทนโดยชอบธรรม" (อังกฤษ: legal representative หรือ statutory agent) เป็นผู้ตัดสินใจใช้สิทธิแทน จนกว่าผู้เยาว์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีความสามารถในการใช้สิทธิได้เต็มเปี่ยม เว้นแต่เขาจะกลายเป็นคนวิกลจริต (อังกฤษ: person of unsound mind), คนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: incompetent person) หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: quasi-incompetent person)

การบรรลุนิติภาวะโดยทั่วไป

[แก้]

ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะเมื่อใดนั้น หลักเกณฑ์ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ตามกฎหมายโรมันโบราณ ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุได้ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ตามเกณฑ์การแบ่งอายุดังต่อไปนี้[1]

1. ช่วงทารก (ละติน: infantes) - อายุตั้งแต่เกิดจนถึงเจ็ดปี ทำนิติกรรมใด ๆ ไม่ได้เลย

2. ช่วงพาลก (ละติน: impuberes infantia majores) - อายุตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบสองปีสำหรับเด็กหญิง และถึงสิบสี่ปีสำหรับเด็กชาย ทำนิติกรรมได้โดยความยินยอมของผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งเรียกว่า "ทิวเทอร์" (ละติน: tutor) เว้นแต่เป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์มีแต่ได้กับได้ก็สามารถกระทำได้เลย

3. ช่วงวัยแรกรุ่น (ละติน: puberes) - อายุตั้งแต่สิบสี่หรือสิบสองปีถึงยี่สิบห้าปี ทำนิติกรรมได้อย่างช่วงพาลก แต่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะเรียกว่า "เคียวเรเทอร์" (ละติน: curator)

ต่อมาในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 กฎหมายในประเทศต่าง ๆ ส่วนมากกำหนดให้บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุได้ยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยม จะบรรลุเมื่ออายุสิบแปดปีบริบูรณ์ ซึ่งในราวพุทธทศวรรษที่ 251 เป็นต้นมา ภาคพื้นยุโรปก็ทยอยเปลี่ยนมาเป็นบรรลุที่อายุสิบแปดปี ขณะที่ประเทศออสเตรียบรรลุที่สิบเก้าปี ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ยี่สิบปี และประเทศบราซิลกับทั้งประเทศอาร์เจนตินาที่ยี่สิบเอ็ดปี[2]

สำหรับประเทศไทยซึ่งใช้ ป.พ.พ. อันลอกเลียนมาจากประมวลกฎหมายแพ่งแห่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือ "ซีวิลเกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Zivilgesetzbuch) นั้น ผู้เยาว์จึงบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์เยี่ยงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย ม.19 ป.พ.พ. ว่า "บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์"

การบรรลุนิติภาวะเหตุสมรส

[แก้]
"ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้น ได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448"
ม.20 ป.พ.พ.
"การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรส ก่อนนั้นได้"
ม.1448 ป.พ.พ.
"เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส เพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืน มาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509"
ม.1503 ป.พ.พ.

นอกจากการบรรลุนิติภาวะเพราะมีอายุถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้เยาว์ยังสามารถบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสอีกด้วย แม้เมื่อสมรสนั้นจะมีอายุไม่ถึงเกณฑ์บรรลุนิติภาวะก็ตาม

ตามกฎหมายไทยแล้วกำหนดว่า ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรสที่เป็นไปตามบทบัญญัติ ม.1448 ป.พ.พ. และตาม ม.1448 ป.พ.พ. นั้น การสมรสเกิดขึ้นได้สองกรณีด้วยกัน คือ

1. เมื่อผู้จะสมรสกันมีอายุได้สิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และบิดาและมารดาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีที่อีกฝ่ายหาตัวไม่แล้วก็ดี หรือผู้ปกครองในกรณีที่บิดาและมารดาไม่มีอำนาจปกครองบุตรแล้วก็ดี หรือผู้รับบุตรบุญธรรมก็ดี ได้ให้ความยินยอมแล้ว ทั้งนี้ หากผู้เยาว์เมื่ออายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์สมรสกัน แม้มิได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวก็ตาม ก็จะบรรลุนิติภาวะโดยอัตโนมัติ

2. เมื่อศาลอนุญาตให้สมรสกันได้เพราะมีเหตุควรสมรส แม้คู่สมรสจะมีอายุยังไม่ถึงสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ก็ตาม เหตุควรสมรส เช่น ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุสิบหกปี เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศาลจะไม่อนุญาตให้มีการสมรสกับผู้มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี เพราะโดยนิตินัยแล้วขัดกับ ม.279 ป.อ.

ผู้เยาว์ที่บรรลุนิติภาวะเพราะได้ทำการสมรสตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมาการสมรสสิ้นสุดลงในระหว่างที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์บรรลุนิติภาวะก็ไม่ต้องกลับไปเป็นผู้เยาว์อีก

ในกรณีที่การสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะเพราะเป็นไปโดยฝ่าฝืน ม.1448 ป.พ.พ. เช่นว่า ผู้เยาว์อายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีสมรสกัน หรือศาลมิได้อนุญาตให้สมรสกันในกรณีที่อายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปี เป็นต้น และต่อมาหากศาลสั่งให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะขณะคู่สมรสยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผลจะต่างไปจากกรณีก่อน เพราะในโมฆกรรม คู่กรณีจะกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นจะเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อการสมรสของผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะขณะผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้เยาว์ที่เป็นคู่สมรสนั้นก็จะกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนได้สมรสกัน กล่าวคือมิได้บรรลุนิติภาวะอีก ทั้งนี้ ในการฝ่าฝืน ม.1448 ป.พ.พ. ดังกล่าว หากฝ่ายหญิงเกิดตั้งครรภ์ขึ้นก่อนคดีความจะมาถึงศาล ศาลจะสั่งให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะมิได้ เพราะกฎหมายไทยถือว่าการสมรสนั้นสมบูรณ์แล้ว และให้สมบูรณ์ย้อนหลังไปถึงวันที่สมรสกัน ซึ่งผู้เยาว์ที่สมรสกันตามกรณีหลังนี้บรรลุภาวะนับแต่วันที่สมรสกันนั้น

อายุที่บรรลุนิติภาวะเรียงตามประเทศ

[แก้]

ต่อไปนี้เป็นรายการอายุที่บรรลุนิติภาวะ ตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศหรือเขตการปกครองกำหนดไว้

ประเทศ
(เรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ)
อายุที่บรรลุนิติภาวะ
(ปี)
อัฟกานิสถาน 18
แอลเบเนีย 18
แอลจีเรีย 19
อาร์เจนตินา 18
อาร์มีเนีย 18
แองโกลา 18
อาเซอร์ไบจาน 18
บาฮามาส 18
บาห์เรน 21
บาร์เบโดส 18
เบลารุส 18
เบลเยียม 18
ภูฏาน 18
โบลิเวีย 18
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา 18
บราซิล 18
บรูไน 18
บัลแกเรีย 18
บุรุนดี 18
กัมพูชา 16
แคเมอรูน 21
แคนาดา [3]
- รัฐแอลเบอร์ตา, รัฐซัสแคตเชวัน, รัฐแมนิโทบา, รัฐออนแทรีโอ, รัฐเกแบ็ก และรัฐพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์
- รัฐบริติชโคลัมเบีย, รัฐโนวาสโกเชีย, รัฐนิวบรันสวิก, รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์, ดินแดนยูคอน, ดินแดนนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ และดินแดนนูนาวุต

- 18
- 19
ชาด 21
ชิลี 18 (ชาย), 15 (หญิง)
จีน 18
ไต้หวัน 18
โคลอมเบีย 18
คอสตาริกา 18
โกตดิวัวร์ 18
โครเอเชีย 21
คิวบา 16
ไซปรัส 18
สาธารณรัฐเช็ก 18
เดนมาร์ก (รวมถึงหมู่เกาะแฟโรและดินแดนกรีนแลนด์) 18
จิบูตี 18
สาธารณรัฐโดมินิกัน 18
ดอมินีกา 18
เอกวาดอร์ 18
อียิปต์ 21
เอลซัลวาดอร์ 25 (ชาย), 17 (หญิง)
เอสโตเนีย 18
ฟิจิ 18
ฟินแลนด์ 18
ฝรั่งเศส 18
กาบอง 18
เยอรมนี 18
กรีซ 18
กานา 18
ยิบรอลตาร์ (ดินแดนอาณานิคมอังกฤษ) 18
กัวเตมาลา 18
เกิร์นซีย์, ดินแดนอาณานิคมอังกฤษ 18
กินี 18
กายอานา 18
เฮติ 18
ฮอนดูรัส 21
ฮ่องกง, เขตบริหารพิเศษ 18
ฮังการี 18
ไอซ์แลนด์ 18
อินเดีย 18
อินโดนีเซีย 16
อิหร่าน 16
ไอร์แลนด์ 18
อิตาลี 18
อิสราเอล 18
จาเมกา 18
ญี่ปุ่น 18
เจอร์ซีย์ 18
เคนยา 18
เกาหลี, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน 17
เกาหลี, สาธารณรัฐ 19
คีร์กีซสถาน 16
ลาว 18
ลัตเวีย 18
เลบานอน 18
เลโซโท 21
ลิกเตนสไตน์ 18
ลิทัวเนีย 18
ลักเซมเบิร์ก 18
มาเก๊า, เขตบริหารพิเศษ 18
มาซิโดเนียเหนือ 18
มาดากัสการ์ 21
มาเลเซีย 18
มอลตา 18
เกาะแมน (ดินแดนอาณานิคมอังกฤษ) 14 (ชาย), 18 (หญิง)
มอริเตเนีย 18
มอริเชียส 18
เม็กซิโก 18
มอลโดวา 18
โมนาโก 18
มอนเตเนโกร 18
พม่า 16
นามิเบีย 21
เนปาล 18
เนเธอร์แลนด์ 18
นิวซีแลนด์ 20
นอร์เวย์ 18
โอมาน 18
ปากีสถาน 18
ปานามา 18
ปารากวัย 18
เปรู 18
ฟิลิปปินส์ 18
โปแลนด์ 18
โปรตุเกส 18
เปอร์โตริโก 21
กาตาร์ 18
โรมาเนีย 18
รัสเซีย 18
รวันดา 18
เซนต์คิตส์และเนวิส 18
ซาอุดีอาระเบีย 18
เซเนกัล 18
เซอร์เบีย 18
เซเชลส์ 18
สิงคโปร์ 21
สโลวาเกีย 18
สโลวีเนีย 18
แอฟริกาใต้ 18
สเปน 18
ซูดาน 18
สวาซิแลนด์ 21
สวีเดน 18
สวิตเซอร์แลนด์ 18
ซีเรีย 18
ทาจิกิสถาน 17
แทนซาเนีย 18
ไทย 20
ตรินิแดดและโตเบโก 18
ตูนีเซีย 18
ตุรกี 18
เติร์กเมนิสถาน 16
ยูเครน 18
สหราชอาณาจักร
- อังกฤษ, ไอร์แลนด์เหนือ และ เวลส์
- สกอตแลนด์

- 18
- 16
สหรัฐอเมริกา
- ในท้องที่อื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ถัดจากนี้
- ดินแดนอเมริกันซามัว
- รัฐเนแบรสกา และ รัฐแอละแบมา
- รัฐมิสซิสซิปปี

- 18
- 14
- 19
- 21
อุรุกวัย 18
อุซเบกิสถาน 16[4]
เวเนซุเอลา 18
เวียดนาม 16
เยเมน 16
ซิมบับเว 18
รายการนี้ปรับปรุง ณ วันที่ 1 เมษายน 2565

ผู้เยาว์

[แก้]

ผู้เยาว์ (อังกฤษ: adolescent, child, infant, minor, nonage หรือ person of infancy) คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือยังมีอายุไม่ถึงที่กฎหมายกำหนด หรือยังมิได้บรรลุนิติภาวะโดยประการอื่น เช่น โดยการสมรส

ตราบใดที่บุคคลยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะมีความสามารถกระทำการต่าง ๆ ตามกฎหมายโดยจำกัด ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำลงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายต่อเมื่อผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบุคคลที่เรียก "ผู้แทนโดยชอบธรรม" (อังกฤษ: legal representative หรือ statutory agent) ซึ่งได้แก่ "ผู้ใช้อำนาจปกครอง" (อังกฤษ: parent) คือ บิดามารดาทั้งสองคน หรือมารดาในกรณีที่บิดามิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือถูกศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรเสีย ส่วนมารดานั้นเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ, หรือ "ผู้ปกครอง" (อังกฤษ: guardian) ในกรณีที่บิดาและมารดาหาตัวมิได้แล้ว หรือถูกศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรเสีย นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำลงโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว ตกเป็นโมฆียะ

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Rudolf Sohm, 1884 : 44.
  2. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2550 : 47.
  3. Susan Munroe, 2009 : Online.
  4. Interpol, 2006 : Online.

อ้างอิง

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]

ภาษาต่างประเทศ

[แก้]
  • Interpol. (2006, September). "National Laws : Legislation of Interpol member states on sexual offences against children." [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 4 June 2009).
  • Konrad Zweigert & Hain Kötz.
    • (1984). Einführung in die Rechtsvergleichung. (2.Aufl.). Tuebingen : Mohr & Siebeck.
    • (1988). An Introduction to Comparative Law. Tony Weir (translator). (Third Edition). Oxford : Clarendon Press.
  • Rudolf Sohm. (1884). Institution des Roemischen Rechts. Leipzig : Duncher & Humflot.
  • Susan Munroe. (2009). "Age of majority". About.com. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 4 June 2009).