ข้ามไปเนื้อหา

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (อังกฤษ: actuary) หรือ แอคชัวรี คือนักธุรกิจมืออาชีพซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์เพื่อประเมิน วิเคราะห์ และคาดการณ์ ผลกระทบทางด้านการเงินของความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆในธุรกิจ

ความสามารถ

[แก้]

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย(actuary-แอคชัวรี) สามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดล(Models) คาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) อาจจะพยากรณ์ในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์ในอนาคต บางครั้งพวกเขาถูกเรียกว่า "นักวิศวกรการเงิน" หรือ "นักคณิตศาสตร์เพื่อสังคม" เพราะความสามารถทางธุรกิจและความสามารถทางการวิเคราะห์ อันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางธุรกิจและสังคมที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ความสามารถของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ที่กล่าวมาได้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งยวดสำหรับธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยใช้พื้นฐานของหลักการทางคณิตศาสตร์ สถิติประยุกต์ เศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์จุลภาค ทฤษฎีการเงิน ทฤษฎีดอกเบี้ย การโมเดลความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ การสร้างสมการถดถอย หรือแม้กระทั่งวิชาที่ว่าด้วยธุรกิจประเภทต่างๆ ที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary-แอคชัวรี) ต้องเอาไปใช้ประยุกต์ เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจประกันกลุ่ม ธุรกิจประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ การจัดการความเสี่ยงในด้านการเงิน การประกันต่อ และการจัดการกองทุนบำเน็จบำนาญ เป็นต้น

บทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuary-แอคชัวรี)

[แก้]

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันภัย สถาบันการเงินต่างๆ ธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือแม้กระทั่งการเป็นที่ปรึกษาอิสระ ถือได้ว่าเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นสูง และมีอิสระในการเป็นเจ้านายตนเอง ปัจจุบันงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมประกันภัย นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการคิดรูปแบบกรมธรรม์ต่างๆ กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท นอกจากนี้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยยังคอยดูแลเงินกองทุนของบริษัทให้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนให้คำแนะนำด้านการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งเปรียบเทียบได้ว่าเป็นมันสมองของบริษัท

วิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuary-แอคชัวรี)

[แก้]

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นวิชาชีพที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงและมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนตามความสามารถของตน รวมทั้งเป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นอาชีพระดับหัวกะทิและมีสถานะที่สูงในสายตาของวิชาชีพอื่นๆทางการเงิน ในปี 2556 และหลายๆปีที่ผ่านมาอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย(actuary-แอคชัวรี) ติดอันดับในกลุ่ม "อาชีพที่ดีที่สุด" ของการสำรวจจากแหล่งต่างๆ เช่น Career Cast [1] และ Career-advice [2] ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการจัดอันดับคำนึงถึง รายได้, สภาพแวดล้อม, ความก้าวหน้า, ความมั่นคง และความเครียดในการทำงาน นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นที่ต้องการทั่วโลกเพราะความสามารถรอบด้านของพวกเขา และกำลังเคลื่อนที่จากคนทำงานเบื้องหลังมายังตำแหน่งบริหารมากขึ้น วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่มีจริยธรรม พร้อมด้วยมาตรฐานของความประพฤติ, ความซื่อตรง, ความสามารถ และการตัดสินใจอย่างมืออาชีพ ซึ่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีต่อบริษัทที่ทำงานอยู่และต่อลูกค้าของพวกเขา

เนื่องจากนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก จึงทำให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้รับผลตอบแทนเป็นรายได้ที่สูง[3] ทั้งนี้เรื่องของเงินเดือนและความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถจากการสอบจนได้รับคุณวุฒิเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ในการที่จะได้รับคุณวุฒิเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย(actuary-แอคชัวรี) จำเป็นต้องสอบผ่านข้อสอบวิชาชีพหลายวิชาของสมาคมคณิตศาสตร์ประกันภัยที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เช่น คณิตศาสตร์การเงิน, ทฤษฎีความเสี่ยงและความน่าจะเป็น, ทฤษฎีดอกเบี้ย, ทฤษฎีความน่าเชื่อถือและการแจกแจงการสูญเสีย และอื่นๆ เป็นต้น

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทย

[แก้]

จากพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2551[4] และ พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2551[5] ในหมวด4/1 (นักคณิตศาสตร์ประกันภัย) ตามมาตรา78/1 และ มาตรา83/1 ตามลำดับ กำหนดว่า "รายงานการคำนวณความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทต้องผ่านการรับรองโดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย" ซึ่งตามพระราชบัญญัติฯ และ ประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ) ได้กำหนดข้อบังคับในการที่จะได้รับ ใบอนุญาตวิชาชีพเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย นั้นต้อง “สำเร็จการศึกษาทางคณิตศาสตร์ประกันภัยตามหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าและสอบผ่านวิชาที่ คปภ.ประกาศกำหนดจากสถาบันการศึกษาที่ ก.พ. รับรอง และปฏิบัติงานด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือสถิติที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยที่ คปภ. ประกาศกำหนดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี” หรือ “เป็นสมาชิกระดับเฟลโล(Fellow) ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ คปภ. ประกาศกำหนด”[6]

ซึ่งหมายถึงบริษัทประกันต่างๆจะต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเซ็นต์รับรอง ดังนั้นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นวิชาชีพจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก และปัจจุบันก็ต้องอาศัยการจ้างงานนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นวิชาชีพต่างชาติอยู่บางส่วน เนื่องจากมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชาวไทยระดับนี้อยู่น้อย

ระดับคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

[แก้]

คุณวุฒิ (designation) ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นแบ่งออกได้หลายระดับและหลายประเภท ตามที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นๆสามารถสอบผ่านการวัดระดับความรู้จากสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยต่างๆ โดยแต่ละสมาคมจะจัดการสอบวัดผลในแต่ละระดับขึ้นทุกปีตามศูนย์สอบในเมืองใหญ่ๆ ของแต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสมาคมวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยแต่ละแห่งนั้นจะมีกำหนดชื่อเรียกคุณวุฒิดังกล่าวแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น

  • FCAS = Fellow of the Casualty Actuarial Society (USA)
  • ACAS = Associate of the Casualty Actuarial Society (USA)
  • FSA = Fellow of the Society of Actuaries (USA)
  • ASA = Associate of the Society of Actuaries (USA)
  • FIA = Fellow of the Institute of Actuaries (UK)
  • AIA = Associate of the Institute of Actuaries (UK)
  • FCIA = Fellow of the Canadian Institute of Actuaries
  • FIAA = Fellowship of Institute of Actuaries of Australia

ซึ่งคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยตามที่ได้รับรองตามมาตรฐานจากสมาคมวิชาชีพนั้น โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับแอสโซซิเอท (Associateship) และระดับเฟลโล (Fellowship) โดยเกณฑ์ที่จะต้องผ่านการสอบวัดผล ในระดับ"เฟลโล"นั้นจะมีมากกว่าระดับ"แอสโซซิเอท" ตัวอย่างเช่น ระดับแอสโซซิเอทของ CAS หรือที่เรียกว่า ACAS จะต้องผ่านการสอบวัดผลรวมทั้งสิ้น 7 วิชาหลัก ในขณะที่ระดับเฟลโลของ CAS หรือ FCAS ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด จะต้องผ่านการสอบวัดผลเพิ่มอีก 2 วิชาหลัก โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและสามารถทำงานได้ทั่วโลก จะต้องผ่านการสอบเพื่อรับรองมาตรฐานจากสมาคมชั้นนำด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ตามสายงานด้านประกันภัยที่ตนเองสนใจหรือประกอบอาชีพในด้านนั้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาจะมีการจัดสอบเพื่อรับรองมาตรฐานวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้แก่ การสอบกับ CAS (Casualty Actuarial Society) ซึ่งเป็นสมาคมสำหรับนักคณิตศาสตร์"ด้านประกันวินาศภัย" หรือ การสอบกับ SOA (Society of Actuaries) ซึ่งเป็นสมาคมสำหรับนักคณิตศาสตร์"ด้านประกันชีวิต" เป็นต้น โดยการสอบนี้สามารถทำควบคู่ไปได้ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ และสามารถสอบเพื่อรับรองมาตรฐานนี้ได้โดยผ่านศูนย์สอบที่มีอยู่ในประเทศไทย รายละเอียดในการสอบต่างๆ ของ CAS และ SOA สามารถดูได้จากเว็บไซต์ http://www.casact.org/ และ http://www.soa.org/ ตามลำดับ[7]


การก้าวสู่อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (To Be an Actuary)

[แก้]

ผู้ที่จะก้าวเข้าสู่สายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (actuary) นั้น ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ เนื่องจากงานที่ทำต้องเกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ รวมทั้งยังต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเป็นอย่างดี มีความกระตือรือร้น รักความก้าวหน้า มีเหตุผล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสารดี และมีความสามารถในการตัดสินใจ

การเตรียมตัวที่ดีที่สุดเพื่อเข้าสู่สายอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ ในระดับปริญญาควรเลือกเรียนวิชาเอกทางด้านประกันภัย คณิตศาสตร์ หรือ สถิติ โดยมีวิชาโททางด้านบริหารธุรกิจ หรือเศรษฐศาสตร์ การเตรียมตัวที่ดีในด้านการศึกษานั้น ถือเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในอนาคต ซึ่งนอกจากการศึกษาในระดับปริญญาแล้ว การเตรียมตัวเพื่อเข้าสอบรับรองคุณวุฒิมาตรฐานสากลในสายงานอาชีพนี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิตามมาตรฐานสากลสามารถทำงานได้ทั่วโลก โดยจะต้องผ่านการสอบจากสมาคมด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยชั้นนำ ตามสายงานประกันภัยที่ตนเองสนใจหรือประกอบอาชีพในด้านนั้น เช่น ด้านประกันวินาศภัย หรือ ด้านประกันชีวิต ซึ่งการสอบนี้สามารถทำควบคู่ระหว่างที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือทำงานอยู่ได้

เหตุผลในการก้าวสู่อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย

[แก้]
  • คุณต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพหนึ่ง ที่ไม่ใช่แพทย์ นักกฎหมาย หรือนักบัญชี
  • คุณไม่ต้องการศึกษาต่อในระบบมหาวิทยาลัยหลังจากจบเป็นบัณฑิตแล้ว
  • คุณอยากมีรายได้ในขณะศึกษาเพื่อสอบก้าวสู่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคุณวุฒิระดับโลก
  • คุณเป็นคนที่ขยัน สามารถศึกษาด้วยตนเอง มีเป้าหมาย เก่งคณิตศาสตร์ และรอบรู้ด้านธุรกิจ
  • คุณต้องการอาชีพที่ไม่หยุดนิ่งและท้าทาย เป็นกลุ่มอาชีพที่ดีที่สุดในด้านสภาพแวดล้อม รายได้ ความก้าวหน้า ความมั่นคง และความเครียดในการทำงานน้อย
  • คุณต้องการอาชีพที่คุณควบคุมได้ ความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับความสามารถจริงๆของคุณ
  • คุณต้องการอาชีพที่เปิดโอกาสมากมาย ที่จะให้คุณนำทักษะที่มีไปปรับใช้ในหลากหลายธุรกิจ
  • คุณต้องการอาชีพที่มีความมั่นคง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบ
  • คุณต้องการเลือกงานที่มีข้อเสนอที่โดดเด่น
  • คุณต้องการเงินเดือนสูงๆ และผลตอบแทนดีๆ

ศึกษาข้อมูลอ้างอิงจาก: http://www.beanactuary.org/

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""The Best Jobs of 2013" by CareerCast". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-05. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
  2. ""Best Careers for Right Now " by Career-advice". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-30. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
  3. "สุดยอดมนุษย์เงินเดือนแห่งยุค "นักคณิตศาสตร์ประกันภัย"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-31. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
  4. ""พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย" พ.ศ.2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-25. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
  5. ""พระราชบัญญัติประกันชีวิต" พ.ศ.2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-05. สืบค้นเมื่อ 2014-06-18.
  6. "ประกาศนายทะเบียนเรื่องกำหนดหลักสูตร วิชา การฎิบัติงานฯ ของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย"; คปภ., พ.ศ.2554[ลิงก์เสีย]
  7. ""การสอบรับรองมาตรฐานวิชาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย", The Society of Actuaries of Thailand". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.