ที่นั่งส่วนขยาย
ที่นั่งส่วนขยาย (อังกฤษ: Overhang seat) คือจำนวนที่นั่งเพิ่มเติมที่พรรคการเมืองสามารถชนะได้ในระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (MMP) ซึ่งมีต้นกำเนิดที่ประเทศเยอรมนี โดยเมื่อจำนวนสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคต่อคะแนนรวมทั้งหมดนั้นน้อยกว่าจำนวนผู้แทนที่ชนะในแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ที่มา
[แก้]ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (MMP) พรรคการเมืองจะสามารถได้ที่นั่งในสภานิติบัญญัติตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับต่อคะแนนเสียงรวมทั้งหมด หากพรรคการเมืองใดมีจำนวนผู้แทนพึงมีจำนวนสิบที่นั่งและมีผู้ชนะในแบบแบ่งเขตทั้งหมด 7 คน พรรคการเมืองนี้จะได้รับที่นั่งเพิ่มจากบัญชีรายชื่อจำนวนสามที่นั่งเพื่อให้เท่ากับจำนวนสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรค ซึ่งจะสามารถกระทำได้หากพรรคการเมืองใดมีจำนวนผู้แทนพึงมีไม่น้อยกว่าจำนวนผู้แทนที่ชนะในแบบแบ่งเขต ตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองหนึ่งมีจำนวนผู้แทนพึงมีห้าคนแต่ชนะในแบบแบ่งเขตถึงหกเขต ที่นั่งในแบบแบ่งเขตที่นั่งที่หกนี้คือที่นั่งส่วนขยาย โดยที่นั่งส่วนขยายนั้นอาจเป็นผลมาจากผลลัพธ์จากความไม่เป็นสัดส่วนของคะแนนเสียงในแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง[1]
กลไกในการได้รับที่นั่งส่วนขยายเพิ่ม
[แก้]กลไกสองอย่างที่เมื่อใช้ร่วมกันแล้วจะสามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งส่วนขยายได้แก่[2]
- ชนะเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตให้มาก
- ลดคะแนนเสียงพรรคการเมือง ซึ่งจะลดจำนวนที่นั่งพึงมีในสภาของพรรคที่จะได้รับ
ในหลายประเทศนั้นประเด็นเรื่องที่นั่งส่วนขยายนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากพรรคการเมืองใดที่สามารถเอาชนะที่นั่งในแบบแบ่งเขตมักจะได้รับคะแนนเสียงพรรคจำนวนมากเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามยังมีบางกรณีที่อาจทำให้เกิดที่นั่งส่วนขยายได้ง่าย
- พรรคการเมืองใหญ่จำนวนน้อย พรรคการเมืองเล็กจำนวนมาก เมื่อมีพรรคการเมืองหลักเพียงพรรคเดียวหรือสองพรรค แต่มีพรรคเล็กจำนวนมากจะทำให้จำนวนผู้แทนพึงมีเป็นสัดส่วนที่มาก แต่ไม่สามารถเอาชนะที่นั่งในแบบแบ่งเขตได้เลย จึงทำให้พรรคใหญ่มักจะได้รับที่นั่งส่วนขยายไป
- ผลการเลือกตั้งที่คล้ายกันในแบบแบ่งเขต หากพรรคการเมืองหนึ่งเอาชนะในแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เกือบทั้งหมดด้วยคะแนนนำเพียงน้อยจะทำให้มีโอกาสเกิดอาณัติส่วนขยายได้หากพรรคการเมืองอื่นเอาชนะไปในเขตเลือกตั้งอื่นๆ ในคะแนนนำเพียงน้อยแบบเดียวกัน ดังนั้นหากผลต่างของคะแนนของผู้ชนะมีความใกล้เคียงกันมากจะทำให้มีโอกาสเกิดที่นั่งส่วนขยายได้
- จำนวนที่นั่งของผู้แทนแบบเขตเลือกตั้งมีมากเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนที่นั่งทั้งหมด หากมีการจัดสรรจำนวนที่นั่งให้ผู้แทนแบบแบ่งเขตมากเกินไป ที่นั่งที่เหลือนั้นจะมีน้อยเกินไปสำหรับการจัดการให้ผลการเลือกตั้งมีความเป็นสัดส่วนได้
- ขนาดของเขตเลือกตั้งที่ไม่เท่ากัน ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีขนาดเล็กด้วยคะแนนเสียงนำเพียงน้อยนั้นจะไม่สามารถมีคะแนนเสียงเพียงพอสำหรับที่นั่งของตนภายใต้หลักของการเลือกตั้งระบบสัดส่วน
- จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยในบางเขต ซึ่งจะให้ผลลัพธ์เดียวกันกับเขตเลือกตั้งที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์และความชอบต่อพรรคการเมืองนั้นอาจมีความสัมพันธ์กัน เช่น เขตเมืองกับเขตชนบท เป็นต้น
- จำนวนที่นั่งน้อยเกินสำหรับการจัดสรร ยิ่งมีจำนวนเขตเลือกตั้งมากขึ้นเท่าใด ยิ่งจะทำให้มีเหตุผลต่างๆ กันที่ที่นั่งส่วนขยายจะมาทำให้สัดส่วนระหว่างพรรคการเมืองมีความสมดุลขึ้น ตัวอย่างในเยอรมนีภายหลังการเลือกตั้งสภาบุนเดสทากในปีค.ศ. 2013 เหตุผลหลักของที่นั่งส่วนขยายนั้นมีเพื่อชดเชยที่นั่งในแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในระดับรัฐแทนที่จะเป็นในระดับสหพันธ์เท่านั้น
- ผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมในท้องถิ่นมาก ในบางกรณีที่นักการเมืองคนใดมีกลุ่มผู้สนับสนุนมากในเขตเลือกตั้งของตน แต่สังกัดพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับความนิยมแม้แต่ในเขตเลือกตั้งของตัวเองก็ตาม ผู้สมัครรายนี้จะได้รับเลือกจากคุณสมบัติส่วนบุคคล แต่พรรคการเมืองที่สังกัดนั้นจะไม่ได้รับคะแนนเสียงเพียงพอสำหรับที่นั่งของผู้สมัครรายนี้ได้ ในกรณีของผู้สมัครอิสระนั้นปกติแล้วจะได้รับการรับรอง แต่เนื่องจากไม่ได้สังกัดพรรคและดังนั้นจึงไม่สามารถชนะการเลือกตั้งภายใต้ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อได้ อย่างไรก็ตามในบางประเทศ อาทิเช่น นิวซีแลนด์ มีกฏหมายพิเศษสำหรับนักการเมืองอิสระ ซึ่งยอมให้เว้นการคำนวนความเป็นสัดส่วนของผู้สมัครอิสระที่ชนะการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขต
- พรรคการเมืองท้องถิ่น พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในภูมิภาคในภูมิภาคหนึ่งอาจชนะที่นั่งจำนวนมากในแบบแบ่งเขตในภูมิภาคนั้นโดยมักจะไม่ได้คะแนนพรรคการเมืองจำนวนมากในระดับชาติ พรรคการเมืองที่เน้นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์หรือศาสนาอาจมีผลลัพธ์แบบเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการจัดสรรที่นั่งพิเศษให้กับบุคคลในกลุ่มนี้
- การลงคะแนนเชิงกลยุทธ์ ผู้ลงคะแนนในประเทศอย่างเยอรมนีสามารถออกเสียงลงคะแนนได้คนละสองเสียงและไม่จำเป็นจะต้องเป็นพรรคการเมืองเดียวกัน โดยผู้ลงคะแนนอาจสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งในบัญชีรายชื่อแต่ลงคะแนนเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตจากอีกพรรคการเมืองหนึ่งได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพรรคการเมืองนั้นไม่มีผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ผู้ลงคะแนนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือพรรคการเมืองมีผู้สมัครลงแต่มีโอกาสชนะน้อยมาก พรรคการเมืองใดที่ชนะเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตได้จำนวนมากแต่ทำให้ผู้ลงคะแนนเลือกลงคะแนนให้บัญชีรายชื่อพรรคน้อยลงจะช่วยทำให้พรรคนั้นได้ที่นั่งส่วนขยาย
- พรรคการเมืองนอมินี
การจัดการกับที่นั่งส่วนขยาย
[แก้]วิธีการจัดการกับที่นั่งส่วนขยายมีสี่วิธีหลัก ประกอบด้วย
- เก็บจำนวนที่นั่งส่วนเกินโดยตัดออกจากจำนวนผู้แทนพึงมีจากพรรคการเมืองอื่น - โดยพรรคการเมืองจะสามารถเก็บที่นั่งส่วนขยายเหล่านี้ได้ และจำนวนที่นั่งบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่นจะถูกปรับลดลงตามเพื่อให้จำนวนผู้แทนในสภาเท่าเดิม ซึ่งหมายความพรรคการเมืองที่ได้รับที่นั่งส่วนขยายจะมีจำนวนผู้แทนรวมมากกว่าจำนวนผู้แทนพึงมี และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็จะมีจำนวนผู้แทนน้อยกว่าจำนวนพึงมี
- ยินยอมให้มีส่วนขยาย - ในกรณีนี้พรรคการเมืองสามารถเก็บที่นั่งส่วนขยายที่ชนะการเลือกตั้งมาได้ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นจะได้รับเช่นเดียวกัน โดยหมายความพรรคการเมืองใดที่มีที่นั่งส่วนขยายจะได้รับที่นั่งรวมมากจากจำนวนผู้แทนพึงมี
- รัฐสภานิวซีแลนด์ใช้ระบบนี้ โดยมีการเพิ่มที่นั่งเพิ่มจำนวนหนึ่งที่นั่งในการเลือกตั้งปีค.ศ. 2005 และ 2011 และเพิ่มสองที่นั่งในปีค.ศ. 2008 ระบบนี้ยังใช้ในสภาบุนเดิสทาคของเยอรมนีจนถึงปีค.ศ. 2013 จนเปลี่ยนเป็นระบบชดเชยแบบสมบูรณ์ (ดูตัวเลือกที่ 3 ด้านล่าง)
- พรรคการเมืองอื่นๆ อาจได้รับที่นั่งเพิ่มจากบัญชีรายชื่อ (บางครั้งเรียกว่า "ที่นั่งดุล") ไปด้วยเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ โดยจะทำให้เก็บความเป็นสัดส่วนของที่นั่งระหว่างพรรคการเมืองตามผลการเลือกตั้ง โดยจะทำให้สภามีขนาดใหญ่ขึ้นตามจำนวนที่นั่งส่วนขยายกับที่นั่งดุลอื่นๆ รวมกัน ระบบนี้จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นสัดส่วนน้อยกว่าการชดเชยแบบสมบูรณ์ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้รับที่นั่งส่วนขยายนั้นยังคงมีที่นั่งเพิ่มแบบ "โบนัส" เกินกว่าจำนวนผู้แทนพึงมีตามสัดส่วนคะแนนเสียงทั้งประเทศ ในบางกรณีมีการกำหนดเพดานจำนวนที่นั่งเพิ่มเพื่อป้องกันไม่ให้สภามีขนาดใหญ่เกิน
- ชดเชยที่นั่งแบบสมบูรณ์ - คล้ายกับตัวเลือก 1 อย่างไรก็ตาม ในระบบนี้พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่มีที่นั่งส่วนขยายจะได้รับการชดเชยด้วยโดยการให้ที่นั่งเพิ่มเติม "โบนัส" จากจำนวนผู้แทนพึงมีเพื่อปรับให้ผลลัพธ์เป็นสัดส่วนเท่ากันสำหรับทุกพรรคการเมือง โดยที่นั่งโบนัสเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อชดเชยกับที่นั่งส่วนขยาย ในเยอรมนีเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้สำหรับสภาบุนเดิสทาคในปีค.ศ. 2013 เป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญกลางเยอรมนีวินิจฉัยว่าแบบเดิมนั้นขัดรัฐธรรมนูญ (เนื่องจากสามารถทำให้คะแนนเสียงลบนั้นมีผลต่อจำนวนที่นั่งในพรรคการเมืองซึ่งขัดแย้งต่อเจตจำนงค์ของผู้ลงคะแนน)
- ไม่ให้ที่นั่งส่วนขยาย - พรรคการเมืองไม่สามารถเก็บที่นั่งส่วนขยายไว้ได้ ซึ่งจะถูกปรับลดจำนวนที่นั่งของพรรคการเมืองนั้นจนเท่ากับจำนวนผู้แทนพึงมี ระบบนี้ทำให้เกิดคำถามว่าจะตัดที่นั่งจากเขตเลือกตั้งใดออก ซึ่งเมื่อได้เกณฑ์ชัดเจนแล้ว จึงสามารถกำหนดได้ว่าจะต้องตัดผู้แทนเขตใดออก ระบบนี้เคยใช้งานในสภาบาวาเรียจนถึงปีค.ศ. 1966 ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยที่สุดจะต้องถูกตัดออก และในการเลือกตั้งปีค.ศ. 1954 ที่นั่งส่วนขยายจำนวนสองที่นั่งไม่ได้รับการอนุมัติ
ตัวอย่าง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Reasons for overhang seats". www.wahlrecht.de. สืบค้นเมื่อ 14 June 2021.
- ↑ "Handling Overhang Seats". www.wahlrecht.de. สืบค้นเมื่อ 14 June 2021.