ทรานซอกเซียนา
ทรานซอกเซียนา (อังกฤษ: Transoxiana) หรือ ทรานซอกเซเนีย (Transoxania) เป็นภูมิภาคและอารยธรรมในเอเชียกลาง ตั้งอยู่บริเวณตะวันออกของอุซเบกิสถาน ตะวันตกของทาจิกิสถาน ทางใต้ของคาซัคสถาน บางส่วนของเติร์กเมนิสถานและทางใต้ของคีร์กีซสถาน ทรานซอกเซียนาในทางภูมิศาสตร์คือภูมิภาคระหว่างแม่น้ำอามูดาร์ยาที่อยู่ทางใต้กับแม่น้ำซีร์ดาร์ยาที่อยู่ทางเหนือ[1] ทรานซอกเซียนาเป็นภาษาละติน หมายถึง ดินแดนที่อยู่พ้นแม่น้ำออกซุส[1] (ชื่อละตินของแม่น้ำอามูดาร์ยา)
ทรานซอกเซียนาสามารถแบ่งออกเป็นสี่ภูมิภาคย่อยตามภูมิศาสตร์ การเมืองและสังคม ได้แก่ โตคาริสถานบริเวณแม่น้ำออกซุสตอนบน ล้อมรอบด้วยเทือกเขาฮิซาร์ทางเหนือและเทือกเขาฮินดูกูชทางตะวันออกและใต้ ซอกเดียหรือซอกเดียนาบริเวณแม่น้ำออกซุสตอนกลางและรอบ ๆ แม่น้ำซาราฟชอน ฆวอแรซม์หรือคอรัสเมียบริเวณแม่น้ำออกซุสตอนล่างก่อนไหลลงทะเลอารัล และดินแดนเหนือเทือกเขาฮิซาร์ รอบ ๆ แม่น้ำจาซาร์ตีส (แม่น้ำซีร์ดาร์ยาปัจจุบัน) รวมถึงเฌตืยซูว์และหุบเขาฟาร์ฆอนา[2]
ในอดีตทรานซอกเซียนารู้จักในภาษาเปอร์เซียว่า แฟรอรูด (Farā-rūd, เปอร์เซีย: فرارود – 'พ้นแม่น้ำ [อามู]') ฟารอรึด (Faro-rüd, ทาจิก: Фарорӯд) และวาราซรึด (Varaz-rüd, ทาจิก: Варазрӯд) กลุ่มชนอิหร่านโบราณเคยเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า ทูรอน (Turan, เปอร์เซีย: فرارود) ซึ่งเป็นชื่อที่พบใน ชอฮ์นอเม มหากาพย์ประจำชนชาติเปอร์เซีย[3] ด้านจีนเรียกภูมิภาคนี้ว่า เหอจง (จีน: 河中地区) ขณะที่ภาษาอาหรับเรียกทรานซอกเซียนาว่า มาฮ์วะรออ์อันนัฮร (อาหรับ: ما وراء النهر) ซึ่งคำนี้ผ่านเข้าสู่วรรณกรรมเปอร์เซียและคงอยู่จนถึงช่วงหลังมองโกล[4]
ทรานซอกเซียนาเคยเป็นเซทระพี (จังหวัด) หนึ่งของจักรวรรดิอะคีเมนิดในชื่อซอกเดีย อันเป็นคำที่โลกเปอร์เซียยุคคลาสสิคใช้เพื่อแยกกับตัวจักรวรรดิเปอร์เซียเอง โดยเฉพาะจังหวัดโฆรอซอนทางตะวันออกเฉียงเหนือ[5] แม้ว่า "โฆรอซอน" จะเป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัยจักรวรรดิซาเซเนียน[6] แต่นักประวัติศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับมีแนวโน้มจะใช้คำว่า "โฆรอซอน" เพื่อหมายความถึงดินแดนที่กว้างกว่านั้น ซึ่งอาจรวมถึงทรานซอกเซียนาด้วย[7][8] ทั้งนี้บริเวณที่เรียกว่า ฆวอแรซม์ ซอกเดียนา ชากานิยันและฆุตตัลตั้งอยู่ทางใต้ของทรานซอกเซียนา ขณะที่ชอช ออสรุชานาและฟาร์ฆอนาตั้งอยู่ทางเหนือ[9]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ชื่อ "ทรานซอกเซียนา" เข้าสู่โลกตะวันตกหลังอเล็กซานเดอร์มหาราชบุกครองภูมิภาคนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ต่อมาผู้สืบทอดของอเล็กซานเดอร์ก่อตั้งอาณาจักรกรีก-แบกเตรียซึ่งเผยแพร่วัฒนธรรมกรีกในทรานซอกเซียนาต่อไปอีกกว่าสองร้อยปี ถึงกระนั้นนครไอฮานจูมซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของอัฟกานิสถานยังคงเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวที่พบวัฒนธรรมสมัยเฮลเลนิสต์[10] หลังจากนั้นจักรวรรดิพาร์เธีย จักรวรรดิกุษาณะและจักรวรรดิซาเซเนียนเข้ามาปกครอง ทรานซอกเซียนาในสมัยซาเซเนียนมักถูกเรียกว่า ซอกเดีย ซึ่งเป็นชื่อที่ซาเซเนียนรับมาจากจักรวรรดิอะคีเมนิด และใช้เพื่อแยกกับแบกเตรียที่อยู่ใกล้เคียง ทรานซอกเซียนาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่มั่งคั่งจากเส้นทางสายไหมในช่วงที่ซาเซเนียนปกครอง ก่อนจะเสียให้แก่พวกเฮฟทาไลต์เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 และกลับมาอยู่ใต้อำนาจซาเซเนียนอีกครั้งในปี ค.ศ. 565
ศาสนาหลักดั้งเดิมของทรานซอกเซียนาคือศาสนาโซโรอัสเตอร์[9] ก่อนจะกลายเป็นศาสนาอิสลามเมื่อรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูนเอาชนะจักรวรรดิซาเซเนียนในปี ค.ศ. 651 ตามด้วยรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์และอับบาซียะฮ์พิชิตทรานซอกเซียนาระหว่าง ค.ศ. 673–751 ผู้คนในทรานซอกเซียนาพูดภาษาซอกเดีย อันเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาอิหร่านและอาศัยอยู่ในนครรัฐที่กระจัดกระจายในสมัยอิสลามช่วงแรก[11]
ในปี ค.ศ. 1219 เจงกิส ข่าน ผู้สถาปนาจักรวรรดิมองโกลรุกรานทรานซอกเซียนาระหว่างการศึกกับจักรวรรดิฆวอแรซม์ หลังจากนั้นพระองค์มอบดินแดนเอเชียกลางตะวันตกที่พิชิตได้ให้แก่ชากาทาย ข่าน โอรสองค์ที่สองซึ่งสถาปนาจักรวรรดิข่านชากาทายในปี ค.ศ. 1225 นับตั้งแต่ ค.ศ. 1363 จักรวรรดิข่านชากาทายค่อย ๆ สูญเสียทรานซอกเซียนาให้แก่จักรวรรดิเตมือร์[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Transoxania (historical region, Asia)". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-11-10.
- ↑ Kennedy 2007, pp. 228–232.
- ↑ Sabloff, Paula L.W. (2011). Mapping Mongolia: Situating Mongolia in the World from Geologic Time to the Present. Philadelphia: University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology. p. 62. ISBN 978-1934536186. OCLC 794700604.
- ↑ C. Edmund Bosworth, (2002), 'CENTRAL ASIA iv. In the Islamic Period up to the Mongols' Encyclopaedia Iranica (online)
- ↑ Svat Soucek, A History of Inner Asia, Cambridge University Press, 2000, p.4
- ↑ "Khorāsān". britannica.com. Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 14 November 2018.
- ↑ C. Edmund Bosworth, (2002), 'CENTRAL ASIA iv. In the Islamic Period up to the Mongols' Encyclopaedia Iranica "In early Islamic times Persians tended to identify all the lands to the northeast of Khorasan and lying beyond the Oxus with the region of Turan, which in the Šāh-nāma of Ferdowsī is regarded as the land allotted to Ferēdūn's son Tūr... At the outset, however, those nearby parts of Central Asia with which the Arabs were familiar were often subsumed into the vast and ill-defined province of Khorasan, embracing all lands to the east of Ray, Jebāl, and Fārs". (online)
- ↑ C. Edmund Bosworth, (2011), 'MĀ WARĀʾ AL-NAHR' Encyclopaedia Iranica "It was defined by the early Arabic historians and geographers as the lands under Muslim control lying to the north of the middle and upper Oxus or Āmu Daryā, in contrast to Iran proper and its eastern province of Khorasan, sometimes called Mā dun al-nahr (lit. "what lies this side of the river"), although from the perspective of Arab historians writing in distant Iraq, the term "Khorasan" might extend to all lands beyond the Oxus, including Khwarazm and Transoxiana." (online)
- ↑ 9.0 9.1 Dickens 2018, pp. 1531–1532.
- ↑ Rachel Mairs, The Hellenistic Far East
- ↑ Cook, Michael (2015). "The centrality of Islamic civilization". ใน Kedar, Benjamin Z.; Wiesner-Hanks, Merry E. (บ.ก.). The Cambridge World History (Vol. V): Expanding Webs of Exchange and Conflict, 500 CE–1500 CE. Cambridge University Press. p. 401. ISBN 978-0-521-19074-9.
- ↑ Grousset 1970, p. 411-416.