ติโบร์ ซอมูแอลี
ติโบร์ ซอมูแอลี | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 27 ธันวาคม ค.ศ. 1890 ญีแร็จฮาซอ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี |
เสียชีวิต | สิงหาคม 2, 1919 วีเนอร์นอยชตัท ออสเตรีย | (28 ปี)
เชื้อชาติ | ฮังการี |
พรรคการเมือง | MSZDP |
คู่สมรส | โยลาน ซิลาจี |
บุพการี | ลอโยช ซอมูเอลี แซซีลียา ฟอร์ก็อช |
ติโบร์ ซอมูแอลี (ฮังการี: Szamuely Tibor; 27 ธันวาคม ค.ศ. 1890 – 2 สิงหาคม ค.ศ. 1919) เป็นนักการเมืองและนักข่าวชาวฮังการี ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรองกรรมการราษฎรฝ่ายสงคราม และเป็นกรรมการราษฎรฝ่ายศึกษาธิการในสมัยสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี
ชีวิตช่วงต้น
[แก้]เขาเกิดในญีแร็จฮาซอ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฮังการี ซอมูแอลีเป็นบุตรคนโตจากพี่น้องทั้งห้าคนในตระกูลชาวยิว หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขาประกอบอาชีพเป็นนักข่าวและเข้าสู่แวดวงทางการเมืองในฐานะสมาชิกของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมฮังการี
อาชีพทางการเมือง
[แก้]ต่อมาซอมูแอลีเข้าเป็นทหารเกณฑ์และร่วมต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยใน ค.ศ. 1915 เขาถูกจับเป็นเชลยศึกในรัสเซีย แต่แล้วหลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคมเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1917 เขาจึงได้รับการปล่อยตัว จากนั้นซอมูแอลีจึงเริ่มสนใจในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ณ กรุงมอสโก เขาก่อตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ร่วมกันกับเบ-ลอ กุน ซึ่งเส่วนใหญ่เป็นเชลยศึกชาวฮังการี หลายคนรวมถึงซอมูแอลีและกุนเข้าร่วมกองทัพแดงของโซเวียตและต่อสู้ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย
เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 เขาพำนักอยู่ในมอสโก ซึ่งเขาปฏิบัติงานร่วมกับกุนเพื่อจัดกลุ่มเชลยศึกชาวฮังการีที่สนับสนุนการปฏิวัติรัสเซีย เขายังเป็นสมาชิกคณะกรรมการส่วนกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบเชลยศึกอีกด้วย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานกลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายเชลยศึกชาวฮังการี ในระหว่างวันที่ 14-18 เมษายน ซอมูแอลีมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1918 เขาตีพิมพ์หนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์ Socialist Revolution ร่วมกับเบ-ลอ กุน จากเหตุการณ์ที่เชลยศึกชาวฮังการีจำนวนมากปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกองกำลังแดงของรัสเซีย เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ฮังการีหลายคนถูกประหารชีวิต
ต่อมาซอมูแอลีเดินทางไปยังเยอรมนีและในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 เขามีส่วนร่วมในก่อตั้งสันนิบาตสปาร์ตาคิสท์ ร่วมกับคาร์ล ลีพคเน็ชท์ และโรซา ลุคเซิมบวร์ค เขาเดินทางกลับสู่บูดาเปสต์เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1919 เขาเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เขาถูกเนรเทศ แต่ยังคงดําเนินกิจกรรมของเขาในคณะกรรมการส่วนกลางที่ถูกเนรเทศ เช่น การมีส่วนร่วมในองค์กรในกองกําลังกึ่งทหารของพรรค[1]
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1919 เกิดการรัฐประหารโดยสมาชิกคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลผสมและได้จัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีภายใต้การนำของเบ-ลอ กุน ซอมูแอลีจึงกลายเป็นนักการเมืองที่โดดเด่นในรัฐบาลชุดใหม่นี้ เขาได้รับการแต่งตั้งในหลายตำแหน่ง แต่จากนั้นเขาจึงเป็นกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการทหาร เขาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ "ความน่าสะพรึงกลัวแดง" ในฮังการี กองกำลังของซอมูแอลีมีชื่อว่า "เลนินบอยส์" หรือ "ยุวชนเลนิน" ซึ่งกองกำลังเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น และการปราบปรามผู้ต่อต้านการปฏิวัติและไม่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ กิจกรรมของเลนินบอยส์มีความคล้ายคลึงกับกองกําลังกึ่งทหารอื่น ๆ เช่น กองกำลังแดงในบัญชาของโยแฌ็ฟ แชร์นี ซึ่งกองกำลังนี้ตระเวนกำลังไปทั่วประเทศโดยใช้รถไฟหุ้มเกราะ[2]
เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1919 ซอมูแอลีกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการปราบปรามทางการเมือง ณ เมืองเจอร์ ความว่า "อำนาจตกอยู่ในมือของพวกเราแล้ว ผู้ที่ประสงค์ให้ระบอบการปกครองเก่ากลับมาจะต้องถูกแขวนไว้อย่างไร้ความปราณี เราต้องกัดคอของบุคคลดังกล่าว ชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพฮังการีไม่ได้ทําให้เราต้องเสียสละครั้งใหญ่จนถึงตอนนี้ แต่ตอนนี้สถานการณ์ต้องการให้เลือดไหล เราต้องไม่กลัวเลือด เลือดคือเหล็ก มันทําให้หัวใจของเราแข็งแกร่งขึ้น มันทําให้กําปั้นของชนชั้นกรรมาชีพแข็งแกร่งขึ้น เลือดจะทําให้เรามีพลัง เลือดจะนําเราไปสู่โลกที่แท้จริงของคอมมูน เราจะกําจัดชนชั้นนายทุนทั้งหมด ถ้าเราต้องทํา!"[i]
ศาลปฏิวัติตัดสินประหารชีวิตผู้ถูกควบคุมตัวเป็นจำนวนตั้งแต่ 370 ถึง 587 คน[4] และตามแหล่งข้อมูลอื่นมามีการคาดคะเนจำนวนไว้เป็น 590 คน[5]
ปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 ซอมูแอลีเดินทางเยือนมอสโกโดยเครื่องบินเพื่อรณรงค์สำหรับการปฏิวัติโลกร่วมกับเลนิน เมื่อซอมูแอลีมีอำนาจมากขึ้นในศาลปฏิวัติ ทำให้กุนเริ่มรู้สึกไม่สบายใจและกลัวว่าเขาจะมีอํานาจมากกว่ารัฐบาล พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมซึ่งเป็นสมาชิกของสภาปกครองปฏิวัติได้ผลักดันให้ควบคุมซอมูแอลีและแชร์นี และวิลโมช เบิฮ์ม กรรมการราษฎรฝ่ายกิจการทหารจึงสั่งยุบกองกำลังกึ่งทหารและศาลปฏิวัติในช่วงปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1919 อย่างไรก็ตาม ซอมูแอลีไม่ปฏิบัติตาม รวมถึงยังคงดําเนินกิจกรรมของศาลในโซลโนกและต่อมาในออโบญ เขาวางแผนที่จะลอบสังหารเบิฮ์ม แต่ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919 สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีได้สิ้นสุดลงหลังจากสงครามฮังการี–โรมาเนีย และซอมูแอลีถูกบังคับให้ลี้ภัย[6][7]
ปัจฉิมวัย
[แก้]สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีดำรงอยู่เป็นเวลาหกเดือนจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1919 กุนถูกเนรเทศขณะที่กองทหารโรมาเนียบุกครองบูดาเปสต์ ซอมูแอลีสามารถหลบหนีการตอบโต้ของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ความน่าสะพรึงกลังขาว" เขาเดินทางไปออสเตรียโดยรถของเขาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 191 แต่หลังจากข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย เขาก็ถูกจับโดยทางการออสเตรีย ทั้งทางการฮังการีและออสเตรียรายงานว่า ซอมูแอลีกระทำการอัตวินิบาตกรรมในขณะที่พรรคพวกคอมมิวนิสต์พาตัวเขาข้ามพรมแดน[8] ภรรยาของกุนเขียนบันทึกความทรงจําของเธอว่า ซอมูแอลีกล่าวกับเธอถึงแผนการฆ่าตัวตายของเขาหากเขาถูกจับและแสดงปืนที่ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าของเขาให้เธอดู[9] อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และบางคนเชื่อว่าเขาถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่รักษาชายแดน
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แปลจาก "Power has fallen into our hands. Those who wish the old regime to return, must be hung without mercy. We must bite the throat of such individuals. The victory of the Hungarian Proletariat has not cost us major sacrifices so far. But now the situation demands that blood must flow. We must not be afraid of blood. Blood is steel: it strengthens our hearts, it strengthens the fist of the Proletariat. Blood will make us powerful. Blood will lead us to the true world of the Commune. We will exterminate the entire bourgeoisie if we have to!"[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Szamuely Tibor" (ภาษาฮังการี). สืบค้นเมื่อ December 9, 2021.
- ↑ Magyar katolikus lexikon: Lenin-fiúk
- ↑ Cseh Géza: Vörös és fehér terror Szolnokon, Rubicon Történelmi Magazin, 2011/2. szám
- ↑ Sorensen: "Did Hungary Become Fascist?"; see Leslie Eliason - Lene Bogh Sorensen: Fascism, Liberalism, and Social Democracy in Central Europe: Past and Present, Aarhus Universitetsforlag, 2002, ISBN 87-7288-719-2
- ↑ Tibor Hajdu. The Hungarian Soviet Republic. Studia Historica. Vol. 131. Academiae Scientiarum Hungaricae. Budapest, 1979
- ↑ Konok Péter: Az erôszak kérdései 1919–1920-ban, 76–77.
- ↑ Komoróczy Géza: Zsidók a Tanácsköztársaságban, Szombat.org
- ↑ 1919. augusztus 2. szombat/Samuely Tibor elvtárs menekülése és öngyilkossága, Valtozast.hu
- ↑ 1919. augusztus 1. péntek/Részletek Kun Béláné visszaemlékezéseiből, Valtozast.hu
บรรณานุกรม
[แก้]- Tibor Szamuely Alarm! - ausgewählte Reden und Aufsätze (Berlin. 1959).
- András Simor: Így élt Szamuely Tibor, Móra Könyvkiadó. (Budapest, 1978)