ซินเบ้ง
ซินเบ้ง (ซิน ผิง) 辛評 | |
---|---|
เกิด | ไม่ทราบ นครยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนาน |
เสียชีวิต | ไม่ทราบ |
ชื่ออื่น | จ้งจื้อ (仲治) |
อาชีพ | ขุนนาง |
ญาติ | ซินผี (น้องชาย) |
ซินเบ้ง หรือ ซินเป๋ง[a] (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 190-ค.ศ. 204) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซิน ผิง (จีน: 辛評) ชื่อรอง จ้งจื้อ (จีน: 仲治) เป็นขุนนางชาวจีนที่รับใช้ขุนศึกฮันฮก อ้วนเสี้ยว และอ้วนถำในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[2]
ประวัติ
[แก้]ซินเบ้งเป็นชาวอำเภอหยางจ๋าย (陽翟縣 หยางจ๋ายเซี่ยน) เมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณนครยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนาน[3] บรรพบุรุษของซินเบ้งแท้จริงแล้วเป็นชาวเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น; ปัจจุบันคือบริเวณนครติ้งซี มณฑลกานซู่) แต่ย้ายถิ่นไปเมืองเองฉวนในช่วงศักราชเจี้ยนอู่ (建武; ค.ศ. 25-56) ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นกองบู๊ (漢光武帝 ฮั่นกวังอู่ตี้) ในช่วงต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[4]
ซินเบ้งเริ่มทำงานในฐานะที่ปรึกษาของขุนศึกฮันฮกผู้ปกครองมณฑลกิจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ตั้งแต่ ค.ศ. 189 ถึง ค.ศ. 191 ในปี ค.ศ. 191 ซินเบ้งพร้อมด้วยซุนซิมและกัวเต๋าโน้มน้าวให้ฮันฮกยอมมอบอำนาจปกครองมณฑลกิจิ๋วให้อ้วนเสี้ยวที่เป็นขุนศึกอีกคน โดยกล่าวว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมกว่าในการป้องกันกิจิ๋วจากการบุกของกองซุนจ้านที่เป็นขุนศึกอริ[5] ต่อมาซินเบ้งจึงกลายเป็นขุนนางผู้รับใช้อ้วนเสี้ยว ซินเบ้งพาซินผีที่เป็นน้องชายมาเป็นขุนนางของอ้วนเสี้ยวด้วย[6]
ในปี ค.ศ. 200 อ้วนเสี้ยวรบกับโจโฉในยุทธการที่กัวต๋อ ระหว่างยุทธการ บุตรชายสองคนของสิมโพยที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวถูกทัพของโจโฉจับตัวไป เมิ่ง ไต้ (孟岱) ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของอ้วนเสี้ยวไม่ถูกกันกับสิมโพย จึงขอให้เจียวกี๋ (蔣奇 เจี่ยง ฉี) ที่เป็นเพื่อนนายทหารนำข้อความไปส่งถึงอ้วนเสี้ยวว่า "สิมโพยมีพฤติกรรมเผด็จการและได้การสนับสนุนอย่างมากจากเครือญา่ติ บัดนี้บุตรชายสองคนของสิมโพมถูกข้าศึกจับตัวไป สิมโพยอาจจะคิดแปรพักตร์ไปเข้าด้วยข้าศึกเพื่อช่วยบุตรชาย" ซินเบ้งและกัวเต๋าที่เป็นเพื่อนขุนนางเห็นด้วยกับเมิ่ง ไต้ อ้วนเสี้ยวจึงตั้งให้เมิ่ง ไต้เป็นผู้ดูแลการทัพคนใหม่และสั่งให้ไปแทนที่สิมโพยในฐานะขุนนางผู้รักษาฐานที่มั่นในเมืองเงียบกุ๋น (ปัจจุบันคือนครหานตาน มณฑลเหอเป่ย์)[7]
ในปี ค.ศ. 202 สองปีหลังการพ่ายแพ้ยับเยินในยุทธการที่กัวต๋อ อ้วนเสี้ยวเสียชีิวตโดยไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าบุตรชายคนใดจะสืบทอดอำนาจต่อจากตน การแย่งชิงการเป็นผู้สืบทอดอำนาจจึงเกิดขึ้นระหว่างบุตรชายสองคนของอ้วนเสี้ยวคืออ้วนถำและอ้วนซง ผู้ติดตามของอ้วนเสี้ยวก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยสิมโพยและฮองกี๋สนับสนุนอ้วนซงและช่วยเหลือในการเข้าคุมอำนาจในเมืองเงียบกุ๋น อีกฝ่ายหนึ่งนำโดยซินเบ้งและกัวเต๋า สนับสนุนอ้วนถำซึ่งฐานกำลังในอำเภอเพงงวนก๋วน (平原縣 ผิงยฺเหวียนเซี่ยน) จากนั้นสองพี่น้องแซ่อ้วนก็ทำศึกรบกันเอง[8][9]
ในปี ค.ศ. 203 เมื่ออ้วนซงโจมตีอ้วนถำที่อำเภอเพงงวนก๋วน กัวเต๋าแนะนำอ้วนถำให้สงบศึกกับโจโฉและเป็นพันธมิตรกับโจโฉในการโต้ตอบอ้วนซง หลังจากที่อ้วนถำตกลงอย่างไม่เต็มใจ กัวเต๋าจึงเสนอให้ซินผีน้องชายของซินเบ้งเป็นตัวแทนของอ้วนถำไปพบกับโจโฉ[10][11] ซินผีทำภารกิจสำเร็จ สามารถโน้มน้าวให้โจโฉช่วยเหลืออ้วนถำ จากนั้นโจโฉจึงนำทัพไปยังลิหยง (黎陽 หลีหยาง; ปัจจุบันคืออำเภอซฺวิ่น มณฑลเหอหนาน)[12]
ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอ้วนซงและอ้วนถำเป็นครั้งแรก ซินผีน้องชายของซินเบ้งติดตามอ้วนถำไปอำเภอเพงงวนก๋วน แต่ทิ้งสมาชิกครอบครัวไว้ในฐานกำลังของอ้วนซงที่เงียบกุ๋น ภายหลังอ้วนซงมีคำสั่งให้จับกุมคนในตระกูลซินและนำตัวไปขังคุก ต่อมาในปี ค.ศ. 204[8] โจโฉนำทัพเข้าโจมตีอ้วนซงในยุทธการที่เงียบกุ๋น เมื่อทัพโจโฉฝ่าแนวป้องกันของเมืองเงียบกุ๋นมาได้ สิมโพยซึ่งรับผิดชอบป้องกันเงียบกุ๋นกล่าวโทษซินผีว่าเป็นผู้ทำให้ตระกูลอ้วนล่มจม จึงสั่งคนให้ประหารชีวิตเหล่าคนในตระกูลซินในคุก หลังเงียบกุ๋นตกเป็นของทัพโจโฉ ซินผีซึงเวลานั้นอยู่กับโจโฉรีบไปที่คุกเพื่อปลดปล่อยครอบครัวของตนแต่ไม่ทันกาลเพราะคนในครอบครัวทั้งหมดเสียชีวิตไปแล้ว[13]
ไม่ทราบแน่ชัดว่าซินเบ้งถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัวหรือไม่ และไม่มีการกล่าวถึงซินเบ้งเพิ่มเติมในบันทึกประวัติศาสตร์อีก
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 6[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ("ฮันฮกแจ้งในหนังสืออ้วนเสี้ยวแล้วจึงปรึกษากับซุนซิมซินเป๋งว่า กองซุนจ้านจะยกมาตีเมืองเรานี้ จะคิดประการใด") "สามก๊ก ตอนที่ ๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 28, 2023.
- ↑ de Crespigny (2007), p. 897.
- ↑ (辛毗字佐治,潁川陽翟人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
- ↑ (其先建武中,自隴西東遷。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
- ↑ Sima (1084), vol. 60.
- ↑ (毗隨兄評從袁紹。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
- ↑ (官渡之敗,審配二子為曹操所禽。孟岱與配有隙,因蔣奇言於紹曰:「配在位專政,族大兵強,且二子在南,必懷反畔。」郭圖、辛評亦為然。紹遂以岱為監軍,代配守鄴。) โฮฺ่วฮั่นชู เล่มทืี่ 74 (บรรพ 1).
- ↑ 8.0 8.1 Sima (1084), vol. 64.
- ↑ (英雄記曰:審配任用,與紀不睦,辛評、郭圖皆比於譚。) อรรถาธิบายจากอิงสฺยงจี้ใน โฮฺ่วฮั่นชู เล่มที่ 74 (บรรพ 1).
- ↑ (及袁尚攻兄譚於平原,譚使毗詣太祖求和。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
- ↑ (英雄記曰:譚、尚戰於外門,譚軍敗奔北。郭圖說譚曰:「今將軍國小兵少,糧匱勢弱,顯甫之來,久則不敵。愚以為可呼曹公來擊顯甫。曹公至,必先攻鄴,顯甫還救。將軍引兵而西,自鄴以北皆可虜得。若顯甫軍破,其兵奔亡,又可斂取以拒曹公。曹公遠僑而來,糧餉不繼,必自逃去。比此之際,趙國以北皆我之有,亦足與曹公為對矣。不然,不諧。」譚始不納,後遂從之。問圖:「誰可使?」圖荅:「辛佐治可。」譚遂遣毗詣太祖。) อรรถาธิบายจากอิงสฺยงจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
- ↑ (太祖曰:「善。」乃許譚平,次于黎陽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
- ↑ (先賢行狀曰: ... 初,譚之去,皆呼辛毗、郭圖家得出,而辛評家獨被收。及配兄子開城門內兵,時配在城東南角樓上,望見太祖兵入,忿辛、郭壞敗兾州,乃遣人馳詣鄴獄,指殺仲治家。是時,辛毗在軍,聞門開,馳走詣獄,欲解其兄家,兄家已死。) อรรถาธิบายจากเซียนเสียนสิงจฺว้างในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 6.