ข้ามไปเนื้อหา

ซอสามสาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซอสามสาย
ซอสามสายที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน
เครื่องสาย
ประเภท
เครื่องดนตรีที่เกี่ยวข้อง

ซอสามสาย หรือ ซอสายฟ้าฟาด เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเครื่องดนตรีที่ใช้คันชักในการสี และมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นซอที่มีสามสายดังชื่อ ซอสามสายนับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงมโหรี ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวงเคียงคู่กับนักร้อง

ประวัติ

[แก้]

ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า

“….ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็ก ๆ น่าเกลียดมาก มีสามสายเรียกว่า “ซอ” ….”

ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกัน และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้[1]

จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้านต่าง ๆ เช่น ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง อีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้[2]

ลักษณะของซอสามสาย

[แก้]

ซอสามสาย แบ่งตามขนาดออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ซอสามสาย เป็นซอสามสายขนาดดั้งเดิม
  • ซอสามสายหลีบ มีขนาดเล็กกว่าซอสามสาย[3]

ส่วนต่าง ๆ ของซอสามสาย

[แก้]
ส่วนต่าง ๆ ของซอสามสาย จากปรัชญาติการะของ อุดม อรุณรัตน์
  1. ทวนบน เป็นส่วนบนสุดของคันซอ คว้านด้านในให้เป็นโพรงโดยตลอด ด้านบนสุดมีรูปร่างเป็นทรงเทริด ทวนบนนี้ เจาะรูด้านข้างสำหรับใส่ลูกบิด 3 ลูก ด้านหน้าตรงปลายทวนตอนล่าง เจาะรูสำหรับร้อยสายซอ ที่สอดออกมาจากรัดอก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อกซอ ทวนบนนี้ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับท่ออากาศ (Air column) ให้เสียงที่เกิดจากกะโหลกเป็นความถี่ของเสียง แล้วลอดผ่านออกมาทางทวนบนนี้ได้
  2. ทวนล่าง คือส่วนของซอที่ต่อลงมาจากทวนบน ทำเป็นรูปทรงกระบอก และประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เช่นลงยาตะทอง ลงถมปัด ประดับมุก หรืออย่างอื่น เป็นการเพิ่มความวิจิตรงดงาม และเรียกทวนล่างนี้ว่า ทวนเงิน ทวนทอง ทวนมุก ทวนลงยา เป็นต้น ทวนล่างนี้สวมยึดไว้กับทวนบน และเป็นที่สำหรับผูก รัดอก เพื่อบังคับให้สายซอทั้ง 3 เส้นติดอยู่กับทวน นอกจากนั้นทวนล่าง ยังทำหน้าที่เป็นตำแหน่งสำหรับกดนิ้ว ลงบนสายในตำแหน่งต่าง ๆ
  3. พรมบน คือส่วนที่ต่อจากทวนล่างลงมา ส่วนบนกลึงเป็นลูกแก้ว ส่วนตอนล่างทำเป็นรูปปากช้างเพื่อประกบกับกะโหลกซอ
  4. พรมล่าง คือส่วนที่ต่อจากกะโหลกซอลงมาข้างล่าง ส่วนที่ประกบกับกะโหลกซอทำเป็นรูปปากช้าง เช่นเดียวกับส่วนล่างของพรมบน ตรงกลางของพรมล่างเจาะรูด้านบนเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ร้อย หนวดพราหมณ์ เพื่อคล้องกับสายซอทั้งสามสายและเหนี่ยวรั้งให้ตึง ตรงส่วนปลายสุดของพรมล่างกลึงเป็น เกลียวเจดีย์ และตอนปลายสุดเลี่ยมด้วย ทองคำ หรือ ทองเหลืองเป็นยอดแหลม เพื่อที่จะปักกับพื้นได้ สะดวกยิ่งขึ้น คันซอสามสายทั้ง 4 ท่อนนี้จะมีลักษณะกลวงตลอด ยกเว้นพรมล่างตอนที่เป็นเกลียวเจดีย์เท่านั้นที่เป็นส่วนที่ตัน เพราะต้องการ ความแข็งแรง ในขณะปักสีเวลาบรรเลง และคันซอทั้ง 4 ท่อนนี้ จะสวมไว้กับแกนที่สอดไว้กับ กะโหลกซอ
  5. ถ่วงหน้า ถ่วงหน้าของซอสามสาย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ติดอยู่ตรงหน้าซอที่ตำแหน่งมุมบนซ้ายมือของผู้สี เพื่อควบคุมความถี่ของเสียง ทำให้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น ทั้งนี้ตำแหน่งที่ติดอาจจะขยับแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการสะท้อนของเสียงภายในของกะโหลกซอและตำแหน่งการวางหย่องของซอด้วย
  6. หย่อง ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้โมก แกะให้เป็นลักษณะคู้ ปลายทั้งสองของหย่องคว้านเป็นเบ้าขนมครกเพื่อทำให้เสียง ที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังหน้าซอมีความกังวานมากยิ่งขึ้น
  7. คันสี (คันชัก) คันสีของซอสามสาย ประกอบด้วยไม้และหางม้า คันสีนั้นเหลาเป็นรูปคันศร ส่วนใหญ่ทำจากไม้ชิงชันเพราะเป็นไม้เนื้อแข็งมีความคงทนและไม่แตกหักง่าย (ราคาไม่แพง) หรือบางครั้งอาจจะใช้ไม้แก้วเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนสีเหลืองนวล (นิยมใช้คู่กับซองาช้างหรือซอไม้แก้ว) เป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบากว่าไม้ชิงชันช่วยผ่อนแรงมือที่ถือคันชักได้

เสียงของซอสามสาย

[แก้]
  • สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล (ซึ่งเวลาสีจะสีคู่กับสายกลาง) และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใช้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลา, ใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโด, ใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง)
  • สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร (ซึ่งเวลาสีจะสีคู่กับสายทุ้ม) และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มี, ใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟา, ใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล
  • สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โด, ใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ การดนตรีที่กรุงสยาม เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช". นิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม. 8 สิงหาคม 2558 – โดยทาง Facebook.
  2. "ดนตรีไทย". มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-04. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซอสามสาย" (PDF). โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.). สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. ไพศาล อินทวงศ์. "ซอสามสาย". ดนตรีไทย.คอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2551. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]