ข้ามไปเนื้อหา

จูลีแอนน์ มัวร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จูเลียน มัวร์)
จูลีแอนน์ มัวร์
เกิดจูลี แอนน์ สมิธ
(1960-12-03) ธันวาคม 3, 1960 (64 ปี)
เมืองเฟย์เอตต์วิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา, สหรัฐอเมริกา
สัญชาติ
การศึกษามหาวิทยาลัยบอสตัน (ศป.บ.)
อาชีพนักแสดง โปรดิวเซอร์
ปีปฏิบัติงาน1984–ปัจจุบัน
คู่สมรส
  • จอห์น กูลด์ รูบิน (สมรส 1986; หย่า 1995)
  • บาร์ท ฟรอยด์ลิช (สมรส 2003)
บุตร2

จูลี แอนน์ สมิธ (อังกฤษ: Julie Anne Smith;เกิดวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1960) หรือชื่อในการแสดงคือ จูลีแอนน์ มัวร์ (อังกฤษ: Julianne Moore, จากการนำชื่อแม่คือ แอนน์ มาต่อท้ายชื่อจริงของเธอ และตามด้วยชื่อกลางของพ่อคือ มัวร์) เป็นนักแสดงชาวอเมริกันสกอตแลนด์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว 5 ครั้ง โดยเธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากเรื่อง อลิซ ไม่ลืม (ค.ศ. 2014) และได้รับรางวัลเอมมี 2 ครั้ง (ทั้งรางวัลเดย์ไทม์เอมมี และ รางวัลไพรม์ไทม์เอมมี) รวมทั้งยังเคยได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลแบฟตาและรางวัลแซกอวอร์ดส์

หลังจากเธอจบการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาการละคร จากมหาวิทยาลัยบอสตัน เธอก็เริ่มมีผลงานการแสดงในละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางสถานีเอบีซีและซีบีเอส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984–1988 โดยเธอได้รับรางวัลเดย์ไทม์เอมมี สาขานักแสดงหญิงบทไร้เดียงสายอดเยี่ยม (Outstanding Ingenue) ประเภทซีรีย์ดรามา ในปี ค.ศ. 1988 จากละครชุดเรื่อง แอสเดอะเวิลด์เทินส์ และได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกกับค่ายพาราเมาต์พิกเจอส์ใน อาถรรพ์ ตำนานมรณะ (ค.ศ. 1990) ตามมาด้วยการรับบทตัวประกอบและนักแสดงสมทบในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆเช่น มือคู่นี้ เลี้ยงเป็นเลี้ยงตาย (ค.ศ. 1992), มาดอนน่า ร้อนปกติที่ไม่ปกติ, เบนนี่ กับ จูน คู่หัวใจพรหมลิขิต และ ขึ้นทำเนียบจับตาย (ค.ศ. 1993) จนกระทั่งเธอเริ่มมีชื่อเสียงจากการรับบทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกใน วานยา ออน โฟตีเซคันด์ สตรีท (ค.ศ. 1994) ที่สร้างจากบทละครเรื่อง"ลุงวานยา" ของอันตอน เชคอฟ และได้แสดงนำใน เซฟ ไม่ตายก็เหมือนตาย (ค.ศ. 1995) รวมถึงแสดงนำคู่กับฮิว แกรนต์ใน รักน้องต้องป่องได้ (ค.ศ. 1995) และการรับบทเป็น "ดร.ซาราห์ ฮาร์ดิง" ใน เดอะ ลอสต์ เวิล์ด จูราสสิค พาร์ค (ค.ศ. 1997)

โดยในระหว่างช่วงกลางยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงช่วงต้นยุคคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นช่วงที่เธอประสบความสำเร็จมากที่สุดโดยในช่วงดังกล่าวเธอได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 4 ครั้ง จากเรื่อง บูกี้ไนท์ (ค.ศ. 1997), สุดทางรัก (ค.ศ. 1999), สวรรค์ลิขิตพิศวาส (ค.ศ. 2002) และ ลิขิตชีวิตเหนือกาลเวลา (ค.ศ. 2002) นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเรื่องอื่นๆเช่น เดอะ บิ๊ก เลโบสกี (ค.ศ. 1998), เทพบุตรแม็กโนเลีย (ค.ศ. 1999), อำมหิตลั่นโลก (ค.ศ. 2001), พลิกวิกฤต ขีดชะตาโลก (ค.ศ. 2006), ชายโสด หัวใจไม่ลืมนาย (ค.ศ. 2009), เดอะ คิดส์ อาร์ ออลล์ ไรต์ (ค.ศ. 2010) และ โง่เซ่อบ้า เพราะว่าความรัก (ค.ศ. 2011) จากนั้นเธอได้รับรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ จากการรับบทเป็น แซราห์ เพลิน ในภาพยนตร์เรื่อง เกมเชนจ์ ทางช่องเอชบีโอ (ค.ศ. 2012) ซึ่งนับเป็นการได้รับรางวัลเอมมีเป็นครั้งที่ 2 ของเธอ

ในปี ค.ศ. 2014 เธอจะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่ 5 จากการแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง อลิซ ไม่ลืม ที่เธอต้องรับบทเป็น "อลิซ ฮาวแลนด์" ผู้หญิงที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งการแสดงของเธอได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลก ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม โดยนับเป็นการได้รับรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกของเธอ หลังจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งหมด 5 ครั้ง พร้อมกันนี้เธอยังได้รับรางวัลแบฟตา,รางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลแซกอวอร์ดส์ ก่อนที่ผลงานต่อมาของเธอในเรื่อง มายาวิปลาส ที่ออกฉายในปีเดียวกันยังคงได้รับกระแสชื่นชมและทำให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์กาน นอกจากนี้เธอยังเป็นส่วนหนึ่งของชุดภาพยนตร์ เกมล่าเกม โดยเธอรับบทเป็น "ประธานาธิบดีหญิง อัลมา คอยน์" ใน เกมล่าเกม: ม็อกกิ้งเจย์ ภาค 1–2 (2014–2015)

จูลีแอนน์ มัวร์ เคยถูกนิตยสารไทม์จัดอันดับให้อยู่ใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ประจำปี 2020 และ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รวมชื่อของเธอให้เป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 โดยเธอมีบุตร 2 คนกับ บาร์ท ฟรอยด์ลิช ผู้กำกับและผู้เขียนบทที่อายุน้อยกว่าเธอ 10 ปี

วัยเด็ก

[แก้]

จูลีแอนน์ มัวร์ มีชื่อจริงว่า จูลี แอนน์ สมิธ เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1960[1] ในฟอร์ต แบรกก์ ซึ่งเป็นฐานทัพของกองทัพน้อยส่งกำลังทางอากาศที่ 18 ของกองทัพบกสหรัฐ ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยเธอเป็นลูกคนโตจากจำนวน 3 คน ของ พันเอกปีเตอร์ มัวร์ สมิธ อดีตทหารพลร่ม ซึ่งต่อได้เป็นนายทหารพระธรรมนูญ[2][3] และ นางแอนน์ เลิฟ สมิธ[4] นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ชาวสกอตแลนด์[5] ทำให้เธอถือสองสัญชาติทั้งอเมริกันจากพ่อที่เป็นนายทหารของกองทัพสหรัฐและบริติชจากแม่ผู้ให้กำเนิดที่เป็นชาวสกอตแลนด์[6]

ในวัยเด็กเธอต้องย้ายที่อยู่บ่อยๆเนื่องจากอาชีพราชการทหารของพ่อที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในรัฐต่างๆ เช่นรัฐแอละแบมา, รัฐจอร์เจีย, รัฐเท็กซัส, รัฐเนแบรสกา, รัฐอะแลสกา, รัฐนิวยอร์ก, รัฐเวอร์จิเนีย รวมถึงประเทศปานามา ทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียนในชั้นมัธยมถึง 9 ครั้ง จนกระทั่งเธออายุ 16 ปี เธอต้องย้ายไปเรียนต่อที่ต่างประเทศโดยย้ายจากรัฐเวอร์จิเนียไปเรียนต่อที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีตะวันตก เธอมีงานอดิเรกคือการอ่านหนังสือส่งผลให้เธอมีผลการเรียนดี และมีความคิดจะเป็นหมอ ต่อมาเธอเริ่มหันมาสนใจในการแสดงละคร โดยเริ่มจากการแสดงละครเวทีที่โรงเรียน ซึ่งเธอได้แสดงในละครเวทีเรื่อง ตาร์ตุฟหรือผู้แอบอ้าง ที่สร้างจากบทประพันธ์ของมอลีแยร์ และได้แสดงในละครโศกนาฏกรรมเรื่อง มีเดีย โดยยูริพิดีส

ด้วยคำแนะนำจากครูชาวอังกฤษของเธอที่โรงเรียนทำให้หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม เธอจึงอยากเป็นนักแสดงละครเวที พ่อและแม่ของเธอจึงให้เธอกลับสหรัฐอเมริกาเพื่อไปเรียนต่อในสาขาการแสดง ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตส์ จนจบศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต ในปี ค.ศ. 1983

อาชีพนักแสดง

[แก้]

(1985–1993)

[แก้]

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอย้ายไปที่นครนิวยอร์กและทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ[7] และสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมกองทุนนักแสดง ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของกลุ่มนักแสดงละครเวที โดยเธอลงทะเบียนชื่อทางการแสดงว่า จูลีแอนน์ มัวร์ อันเกิดจากการนำชื่อของแม่เธอคือ แอนน์ มาต่อท้ายชื่อจริงของเธอที่ชื่อ จูลี เป็น จูลีแอนน์ และนำชื่อกลางของพ่อเธอคือ มัวร์ มาต่อหลังชื่อเธอกับแม่ เป็น จูลีแอนน์ มัวร์

จูลีแอนน์ มัวร์ เริ่มต้นจากการแสดงละครบรอดเวย์ขนาดเล็ก จนมีโอกาสได้แสดงในละครโทรทัศน์ที่ออกอากาศทางสถานีเอบีซีเรื่อง เดอะ เอดจ์ ออฟ ไนท์ ในปี ค.ศ. 1984 และเริ่มได้รับความสนใจจากวงการบันเทิงสหรัฐเมื่อเธอได้แสดงในละครโทรทัศน์ของสถานีซีบีเอสเรื่อง แอส เดอะ เวิลด์ เทินส์ (ค.ศ. 1985–1988) ซึ่งเธอรับบทเป็น "แฟรนนี ฮิวจ์" ต่อจากเทอรี ฟานเดนบอช นักแสดงหญิงที่เคยแสดงบทนี้ไว้ในปี 1983–84 การแสดงของเธอได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ละครโทรทัศน์ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลเดย์ไทม์เอมมี ในปี ค.ศ. 1988 โดยถือเป็นการได้รับรางวัลเอมมีเป็นครั้งแรกของเธอ[8][9] นอกจากนี้เธอยังมีผลงานละครชุดของสถานีซีบีเอสเรื่อง ไฟริษยา (ค.ศ. 1987) ที่สร้างจากนวนิยายของจูดิธ ครานท์ซ

หลังจากที่เธอหมดสัญญากับละครโทรทัศน์เรื่อง แอส เดอะ เวิลด์ เทินส์ เธอได้กลับไปแสดงละครเวทีในปี ค.ศ. 1988 ที่โรงละครกัทรี เมืองมินนีแอโพลิส ในเรื่อง แฮมเลต ที่สร้างจากบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยเธอรับบทเป็น "โอฟีเลีย" จนกระทั่งเธอมีโอกาสได้แสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในเรื่องอาถรรพ์ ตำนานมรณะ (ค.ศ. 1990) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทุนต่ำของค่ายพาราเมาต์พิกเจอส์ และมีผลงานภาพยนตร์ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ช่องเอชบีโอเรื่อง นักสืบแห่งโลกมนต์ดำ (ค.ศ. 1991)

ในปี 1992 เธอแสดงเป็นตัวละครสมทบที่มีบทเด่นในภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง มือคู่นี้ เลี้ยงเป็นเลี้ยงตาย ที่นำแสดงโดยแอนนาเบลลา โชรา โดยตัวภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทางรายได้ เมื่อสามารถทำรายได้ทั่วโลกถึง 140 ล้านดอลลาร์ จากทุนสร้างเพียง 12 ล้านดอลลาร์ และเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นลำดับที่ 9 ของปี 1992 ส่งผลให้เธอเริ่มมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์อเมริกัน และมีผลงานการแสดงบทสมทบในภาพยนตร์กระแสหลักของปี ค.ศ. 1993 ถึง 3 เรื่อง ได้แก่ มาดอนน่า ร้อนปกติที่ไม่ปกติ (นำแสดงโดย มาดอนนา และ วิลเลม เดโฟ), เบนนี่ กับ จูน คู่หัวใจพรหมลิขิต (นำแสดงโดย จอห์นนี เดปป์), ขึ้นทำเนียบจับตาย (นำแสดงโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด และ ทอมมี ลี โจนส์) รวมถึงแสดงในภาพยนตร์อิสระเรื่อง ชอตคัตส์ ที่ทำให้เธอได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ ที่มอบให้กับทีมนักแสดง และได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลอินดิเพนเดนต์สปิริตอะวอดส์ในสาขา นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็น 1 ใน 3 ภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้เธอมากที่ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 นอกเหนือจาก วานยา ออน โฟร์ตี้เซคันด์ สตรีท และ เซฟ ไม่ตายก็เหมือนตาย

(1994–1997)

[แก้]

จากความโดดเด่นของเธอในภาพยนตร์เรื่อง ชอตคัตส์ ทำให้เธอได้รับบทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกใน วานยา ออน โฟร์ตีเซคันด์ สตรีท ที่สร้างจากนวนิยายเรื่อง "ลุงวานยา" ของ อันตอน เชคอฟ

ผลงานด้านการแสดง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Summerscale, Kate (October 13, 2007). "Julianne Moore: beneath the skin". The Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 26, 2013. สืบค้นเมื่อ August 26, 2013.
  2. Mackenzie, Suzie (February 1, 2003). "The Hidden Star". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 18, 2013. สืบค้นเมื่อ August 26, 2013.
  3. Cochrane, Kira (October 28, 2010). "Julianne Moore: 'I'm going to cry. Sorry'". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 20, 2011. สืบค้นเมื่อ July 15, 2012.
  4. "Anne Love Smith Obituary". The Washington Post. May 3, 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 27, 2015. สืบค้นเมื่อ January 15, 2015.
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ fabulous
  6. Rees, Jasper (July 24, 2010). "Q&A: Actress Julianne Moore". The Arts Desk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 17, 2013. สืบค้นเมื่อ February 19, 2013.
  7. Burkeman, Oliver (August 26, 2006). "Unravelling Julianne". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 18, 2009. สืบค้นเมื่อ May 10, 2009.
  8. "Julianne Moore confirmed for appearance on 'As the World Turns'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 7, 2013. สืบค้นเมื่อ October 2, 2013.
  9. Waldman, Alison (April 2, 2010). "Julianne Moore Returns to 'As the World Turns' on Monday". AOL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2013. สืบค้นเมื่อ April 2, 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]