คอมพิวเตอร์แอนิเมชัน
คอมพิวเตอร์แอนิเมชัน (Computer animation) คือการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์โดยอาศัยเครื่องมือ ที่สร้างจากแนวคิดทางคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ช่วยในการสร้าง ดัดแปลง และให้แสงและเงาเฟรมตลอดจนการประมวลผลการเคลื่อนที่ต่าง ๆ โดยเครื่องมือที่ว่าประกอบด้วยฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ที่สร้างขึ้นจาก ระเบียบวิธี ขั้นตอนวิธี หลักการ กฎ หรือ การคำนวณต่าง ๆ เช่น
- เฟรมหลัก (Keyframing) การใช้หลักการสร้างการเคลื่อนไหวโดยกำหนดภาพหรือเฟรมหลักของการเคลื่อนที่แล้วคำนวณหรือวาดภาพหรือส่วนที่อยู่ระหว่างสองภาพ
- การประมาณค่าในช่วง (Interpolation) การคำนวณค่ากลางระหว่างสองค่าที่กำหนดให้
- จลนพลศาสตร์ (Kinematics) หรือการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือตัวละคร โดยไม่คำนึงถึงแรงที่กระทำ โดยอาศัยการแทนตัวละคร หรือ วัตถุด้วย กระดูกหรือโครงสร้างที่เป็นแกนกลางเชื่อมต่อกันด้วยข้อต่อ และมีการกำหนดค่ามุมหรือตำแหน่งที่ข้อต่อนั้น
- การจับภาพการเคลื่อนไหว (Motion capture) การใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ในการจับการเคลื่อนไหวเป็นข้อมูลดิจิทัล
- การประมวลผลการเคลื่อนไหว (Motion processing) การแก้ไข เพิ่ม ลด เปลี่ยนแปลงข้อมูลดิจิทัลของการเคลื่อนไหว
- การเคลื่อนไหวฝูงชน (Crowd animation) การกำหนดการเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวละครจำนวนมากเพื่อลดภาระของผู้ใช้หรือแอนิเมเตอร์
- พลศาสตร์ (Dynamics) วิธีทางกลศาสตร์ในการกำหนดความสัมพันธ์ของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวโดยอาศัยกฎทางฟิสิกส์เข้ามาอธิบายและหาคำตอบของตำแหน่งของภาพเคลื่อนไหว เช่น ระบบอนุภาค สปริง สมการนาเวียร์-สโตกส์ เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1970 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการสร้างภาพเคลื่อนไหว เป็นวิธีที่สามารถสร้างภาพที่สมจริงขึ้น ซับซ้อนขึ้น หรือ ต้นทุนต่ำกว่าการสร้างภาพด้วยมือ เช่น ในภาพยนตร์การ์ตูน หรือหนังภาพยนตร์อย่าง สตาร์วอร์ หรือจูราสติกพาร์ก มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกส์ช่วยสร้างภาพที่อยู่ในจินตการของคนเรานั้น ออกมาให้เห็นได้อย่างสวยงามและสมจริง นอกเหนือจากนั้นประโยชน์ของ การสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ มีทั้งใน การจำลองทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การจราจรคมนาคมการบิน สถาปัตยกรรม การวิจัยดำเนินงาน เกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยภาพยนตร์ที่ใช้คอมพิวเตอร์แอนิเมชันเข้ามาใช้เป็นเรื่องแรกของประเทศไทยคือ ปักษาวายุ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนการ์ตูนคือ ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชันในขณะที่ภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของไทยคือ การ์ตูนสุดสาครของปยุต เงากระจ่างฉบับ ปีพ.ศ. 2522[1]