กำพล วัชรพล
กำพล วัชรพล | |
---|---|
ภาพถ่ายขนาดใหญ่ของนายกำพล วัชรพล ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ | |
เกิด | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2462 จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 (76 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
นามปากกา | วัชรพล |
อาชีพ | นักเขียน, นักข่าว, นักหนังสือพิมพ์, ทหารเรือ |
สัญชาติ | ไทย |
ช่วงปีที่ทำงาน | พ.ศ. 2477 - 2539 |
คู่สมรส | ประณีตศิลป์ วัชรพล |
บุตร | 3 คน |
กำพล วัชรพล (27 ธันวาคม พ.ศ. 2462 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539) ชื่อเล่น ป๊ะ เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เสียงอ่างทอง, ข่าวภาพ, มูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคนแรก
ประวัติ
[แก้]กำพล วัชรพล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2462 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม ที่กระท่อมหลังคามุงจาก หลังวัดดอนไก่ดี ริมคลองภาษีเจริญ ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายหลี (บิดา) และนางทองเพียร (มารดา) มีชื่อเดิมว่า แตงกวย ยิ้มละมัย[1] และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น นิพนธ์ ตามนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม[2] มีพี่ร่วมมารดา 3 คน คือ นกแก้ว ทรัพย์สมบูรณ์ (ญ), สยม จงใจหาญ (ช) (ชื่อเดิม บุ้นเหลียน) และวิมล ยิ้มละมัย (ช) (ชื่อเดิม บุ้นฮก)
กำพลจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดดอนไก่ดี และไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ เนื่องจากมารดามีอาชีพค้าข้าวเรือเร่ จำเป็นต้องพาลูกขึ้นเรือล่องไปตามแม่น้ำสายต่าง ๆ คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง และใช้ชีวิตส่วนมากบนเรือ
การทำงาน
[แก้]ราวปี พ.ศ. 2477 เมื่ออายุได้ 15 ปี กำพลเริ่มต้นการทำงานของตนเอง โดยเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารเรือเมล์ปล่องเขียว วิ่งระหว่างประตูน้ำอ่างทอง ถึงประตูน้ำภาษีเจริญ ระหว่างนั้นได้คบหาเป็นเพื่อนสนิทกับวสันต์ ชูสกุล ต่อมาเมื่อกำพลสอบเป็นนายท้ายเรือได้ ก็เข้าเป็นนายท้ายเรือ “พันธุ์ทิพย์” โดยมีวสันต์เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร
เมื่อปี พ.ศ. 2483 กำพลเข้ารับราชการทหารเรือ โดยเริ่มจากเข้าศึกษาที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาบรรจุเข้าประจำเรือหลวงสีชัง นอกจากนี้ กำพลยังเข้าร่วมรบในราชการสงครามใหญ่ 2 ครั้งคือ สงครามอินโดจีนในกรณีพิพาทระหว่างเขตแดนของไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส และสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่สอง) ในยุทธภูมิครั้งหลังนี้ ส่งผลให้กำพลได้รับพระราชทาน “เหรียญชัยสมรภูมิ” เหรียญกล้าหาญ และเลื่อนยศขึ้นเป็นจ่าโท จากนั้นกำพลลาออกจากราชการในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เมื่ออายุ 28 ปี
กำพลได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[3]
งานหนังสือพิมพ์
[แก้]ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 กำพลเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลักไทย ในสมัยที่เลิศ อัศเวศน์เป็นบรรณาธิการ อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างนั้นก็เป็นพนักงานหาโฆษณาไปพร้อมกันด้วย ต่อมากำพลชักชวนเลิศและวสันต์ ออกหนังสือฉบับพิเศษชื่อ “นรกใต้ดินไทย” ที่เลิศเขียนขึ้นเป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์หลักไทย โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2,000 บาท จากทุนส่วนตัวร่วมกับการหยิบยืม เมื่อพิมพ์จำหน่ายหักกลบลบหนี้แล้ว แบ่งเงินกันเป็นสามส่วน ยังมีเหลือไว้เป็นกองกลางอีก 6,000 บาท จากนั้นกำพลปรึกษากับเลิศและวสันต์ว่า น่าจะออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สักฉบับหนึ่ง จึงไปจดทะเบียนหนังสือพิมพ์กับกองบังคับการตำรวจสันติบาล ใช้ชื่อว่า “ข่าวภาพ” รายสัปดาห์ โดยใช้ตราเป็นรูปกล้องถ่ายภาพ สายฟ้าและฟันเฟืองซ้อนกันอยู่ในวงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ที่กำพลเป็นเจ้าของตลอดมา
อุปสมบท
[แก้]ในระหว่างทำหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” รายวัน กำพลเข้าอุปสมบทที่วัดลาดบัวขาว ถนนตก กรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายให้ประณีตศิลป์ผู้เป็นภรรยา และวสันต์ร่วมกันบริหาร โดยเมื่อลาสิกขาบทแล้ว ก็กลับมาบริหารหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” ต่อไป[4]
ต่อมาเมื่อเกิดกบฏแมนฮัตตันขึ้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2494 มีพิธีส่งมอบเรือขุดสันดอนแมนฮัตตันจากอุปทูตสหรัฐอเมริกา โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ท่าวรดิษฐ แต่แล้วทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เข้าจี้นำลงเรือเร็วไปควบคุมตัวไว้ที่เรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งลอยลำอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนหน้ากองทัพเรือ รุ่งขึ้นเวลา 10.00 น.เศษ กำพลและเลิศเช่าเรือสำปั้นจากท่าปากคลองตลาด โดยกำพลเป็นฝีพายเรือมุ่งหน้าไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา หมายจะได้สัมภาษณ์จอมพล ป.และให้เลิศเป็นช่างภาพ
เกียรติยศ
[แก้]- ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516, สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2520 และสมาชิกวุฒิสภา 3 สมัยติดต่อกัน
- ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2533
- ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้นที่ 1
- หนังสือ “เปเปอร์ ไทเกอร์ส” (Paper Tigers) ที่เขียนโดยนิโคลัส โคลริดจ์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ กล่าวชื่นชมกำพลไว้ในบทความเรื่อง “25 คนหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก พร้อมวิถีทางแห่งชัยชนะ”
- หนังสือ “ฮู’ส ฮู อิน เดอะ เวิร์ลด์” (Who’s Who in the World) ที่จัดพิมพ์โดยบริษัทคิงส์พอร์ท รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ฉบับปี ค.ศ. 1976-1977 นำประวัติของกำพลไปตีพิมพ์ พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรในนามคณะกรรมการการพิมพ์มาร์ควิสอีกด้วย
- นิตยสาร “อินเวสเตอร์” ภาษาอังกฤษรายเดือน ฉบับประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2512 กล่าวยกย่องกำพลในบทความเศรษฐกิจเรื่อง “กำพล วัชรพล : ลอร์ด ทอมสัน แห่งประเทศไทย”
- มูลนิธิหนังสือพิมพ์แห่งเอเชีย ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ เชิญกำพลเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหาร
- รถยนต์เชฟโรเลตรุ่นอิมพาลาเปิดประทุน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เนื่องจากใช้เป็นพาหนะสำหรับนางงามที่ได้รับตำแหน่งสูงสุด หรือนักกีฬาที่ได้รับเหรียญรางวัล ในการตระเวนเฉลิมฉลองทั่วกรุงเทพมหานคร อาทิ อาภัสรา หงสกุล, พเยาว์ พูนธรัตน์, สมรักษ์ คำสิงห์, วิชัย ราชานนท์ เป็นต้น
ครอบครัว
[แก้]กำพลสมรสกับคุณหญิงประณีตศิลป์ (สกุลเดิม: ทุมมานนท์) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2493 มีบุตรธิดารวม 3 คน คือยิ่งลักษณ์, สราวุธ และอินทิรา (ญ) นอกจากนี้ กำพลยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่นอีก 5 คน คือฟูศักดิ์ (ช), นำพร (ญ), เกรียงศักดิ์ (ช), พีระพงษ์ (ช) และเพ็ชรากรณ์ (ญ)
อนิจกรรม
[แก้]เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2538 กำพลมีอาการอึดอัดแน่นท้อง จึงเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โดยแพทย์ตรวจพบเนื้องอกที่ไต และเข้าผ่าตัดมะเร็งนี้สองครั้ง แต่อาการกลับทรุดลงตามลำดับ จนถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 01.45 น. วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ขณะมีอายุ 76 ปี 1 เดือน 25 วัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[5]
- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[6]
- พ.ศ. 2536 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[7]
- พ.ศ. 2512 – เหรียญกาชาดสรรเสริญ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ชื่อที่ไม่จารึกในอนุสาวรีย์". ไทยรัฐ. 25 December 2014. สืบค้นเมื่อ 26 December 2014.
- ↑ "วิชาของผู้ชนะ". ไทยรัฐ. 25 December 2015. สืบค้นเมื่อ 22 December 2015.
- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ หนังสือเรื่อง "ผู้นำธุรกิจ" โดย อันธิกา กองแก้ว เมษายน 2539
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๕ ข หน้า ๙๐, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๗
- ประวัติ กำพล วัชรพล จาก เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- ชาวไทยที่ได้รับการฉลองวาระครบรอบโดยยูเนสโก
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2462
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2539
- บุคคลจากอำเภอกระทุ่มแบน
- ทหารเรือชาวไทย
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- นักเขียนชาวไทย
- นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย
- บรรณาธิการหนังสือพิมพ์
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- สกุลวัชรพล
- เสียชีวิตจากมะเร็ง
- ทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง
- ชาวไทยเชื้อสายจีน
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์