ข้ามไปเนื้อหา

กาลไภรวมนเทียร (อุชเชน)

พิกัด: 23°13′05″N 75°46′07″E / 23.218174°N 75.768618°E / 23.218174; 75.768618
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กาลไภรวมนเทียร
काल भैरव मन्दिर
ศาสนา
ศาสนาศาสนาฮินดู
เขตอุชเชน
เทพกาลไภรวะ
ที่ตั้ง
ที่ตั้งไภรวครห์ อุชเชน
รัฐรัฐมัธยประเทศ
ประเทศอินเดีย
กาลไภรวมนเทียร (อุชเชน)ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย
กาลไภรวมนเทียร (อุชเชน)
ที่ตั้งในประเทศอินเดีย
พิกัดภูมิศาสตร์23°13′05″N 75°46′07″E / 23.218174°N 75.768618°E / 23.218174; 75.768618
ระดับความสูง481 m (1,578 ft)

กาลไภรวมนเทียร เป็นมนเทียรในนครอุชเชน รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นบูชาพระกาลไภรวะ เทพารักษ์ของนครอุชเชน[1] มนเทียรตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำศิปรา และเป็นหนึ่งในมนเทียรที่มีผู้เดินทางมามากที่สุดในนครด้วยจำนวนยอดเข้าชมหลายร้อยคนต่อวัน[2] มนเทียรนี้มีความพิเศษที่ธรรมเนียมการถวายสุราแก่เทพเจ้าองค์ประธานของมนเทียร[3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

มนเทียรหลังปัจจุบันสร้างขึ้นบนซากของมนเทียรเก่าของเดิมซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นโดยกษัตริย์นามว่า ภัทรเสน (Bhadrasen) ปรากฏกาากล่าวถึงมนเทียรนี้ใน อวันติขัณฑะ (Avanti Khanda) ในคัมภีร์ สกันทปุราณะ[4][2] มีการค้นพบมูรติพระศิวะ, พระปารวตี, พระวิษณุ และพระคเณศ จาสมัยปรมระ (ศตวรรษที่ 9-13) ในมนเทียร[5] ผนังภายในยังเคยประดับด้วยจิตรกรรมมัลวะซึ่งเลือนหายไปตามกาลเวลา[4]

สถาปัตยกรรมของมนเทียรหลังปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลมราฐา ตามมุขปาฐะท้องถิ่นบอกเล่าว่าเมื่อครั้นมราฐาพ่ายในสงครามที่ปานีปัฏครั้งที่สาม (ค.ศ. 1761) นายพลมราฐา มหัทจี ศินเฑ ถวายปครี (ผ้าโพกศีรษะ) ของตนแก่เทพเจ้า และสวดขอให้มีชัยชนะเพื่อฟื้นฟูมราฐาในอินเดียเหนือ หลังเขาประสบความสำเร็จได้ตามที่ขอ เขาจึงกลับมาบูรณะมนเทียรนี้[6]

เทพเจ้าองค์ประธาน

[แก้]

ตามชื่อ มนเทียรนี้มีพระกาลไภรวะ (หรือ พระกาลไภรพ) เป็นเทพเจ้าองค์ประธาน มูรติของพระกาลไภรวะในมนเทียรมีลักษณะเป็นใบหน้าในก้อนหินที่ประดับด้วยชั้นของผงกุงกุมะและสินทูร เศียรของเทพเจ้าทำมาจากโลหะเงิน ประดับด้วยผ้าโพกศีรษะแบบมราฐา ตามธรรมเนียมบอกเล่าถึงที่มาของมนเทียรหลังปัจจุบัน[6]

ธรรมเนียมการบูชาอัษฏไภรวะ ("พระไภรวะแปดพระองค์") เป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมไศวนิกาย พระกาลไภรวะถือเป็นเทพเจ้าอวค์ประธานในแปดองค์นี้ ธรรมเนียมการบูชาพระกาลไภรวะในอดีตเป็นที่นิยมเป็นพิเศษในสำนักกปาลิกา และ อโฆระ นครอุชเชนเป็นศูนย์กลางของทั้งสองสำนักนี้[4]

พระกาลไภรวะได้รัขการนับถือเป็นเทพารักษ์ของนครอุชเชน[1] และถือเป็นองค์เสนาบดีประจำนคร[7]

การถวายสุรา

[แก้]
นักบวชขณะเอียงชามตื้นบรรจุสุราของถวายเข้าในปากของเทวรูป

มนเทียรนี้มีธรรมเนียมการถวายสุราแด่พระกาลไภรวะ ในฐานะหนึ่งในห้าเครื่องถวายบูชาเชิงตันตระ หรือ ปัญจมการ อันประกอบด้วย มทยะ (สุรา), มางสะ (เนื้อ), มีนะ หรือ มัสยะ (ปลา), มุทรา (ธัญญาหาร) และ มิถุนะ (เพศสสัมพันธ์) ในอดีต เครื่องบูชาทั้งห้าประการข้าวต้นจะประกอบถวายแด่พระองค์ แต่ในปัจจุบันมีเพียงสุราเท่านั้นที่ยังคงถวายให้ อีกสี่เครื่องบูชานั้นถวายในรูปพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์แทน[3]

ร้านค้าด้านนอกของมนเทียรมีจำหน่ายตะกร้าของบูชาต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยมะพร้าว ดอกไม้ และสุราหนึ่งขวด[8] ในปี 2015 รัฐบาลรัฐมัธยประเทศเปิดร้านขายสุราด้านนอกมนเทียรเพื่อยืนยันว่าสาธุชนที่เดินทางมาจะไม่ต้องเผชิญปัญหาคนค้าสุราที่ไม่มีใบอนุญาต ร่านดังกล่าวขายทั้งสุราพื้นบ้าน และ สุราแบบฝรั่ง[9]

ทุก ๆ วันมีสาธุชนนำสุรามาถวายแก่เทพเจ้าหลายร้อยคน[2] โดยจะยื่นสุราในขวดแก่นักบวชซึ่งจะนำสุรานั้นเทลงในชามตื้น จากนั้นจึงประกอบพิธีสวดถวายเครื่องบูชา นำชามที่ใส่สุราสัมผัสกับปากของเทพเจ้าซึ่งมีรอยเป็นแถบ (slit) อยู่ จากนั้นจะเอียงชามเล็กน้อย สุราในชามก็จะไหลหายไป[3] สุราจะเหลือคืนกลับไปประมาณหนึ่งในสามของขวด ซึ่งจะนำกลับไปรับประทานต่อในฐานะประสาทัม[8]

นักบวชของมนเทียรและสาธุชนหลายคนเชื่อว่าด้านหลังรอยเป็นแถบที่ปากของเทพเจ้าไม่มีโพรงอยู่ข้างหลัง การที่สุราหายวับไปเมื่อเอียงชามนั้นคือการที่เทพเจ้าทรงดื่มสุราที่ถวายอย่างอัศจรรย์ กระนั้น มนเทียรไม่อนุญาตให้บุคคลใดก็ตาทำการตรวจสอบเทวรูป รวมถึงยังกล่าวอ้างว่าเฉพาะนักบวชของมนเทียรเท่านั้นที่สามารถกระทำการอัศจรรย์นี้ได้ บุคคลภายนอกหากมาทำการถวายสุราเช่นนี้จะไม่สามารถทำให้เทวรูป "กลืนสุรา" ได้แบบที่นักบวชทำ[3]

มีการคาดการณ์จำนวนสุราที่ถวายแด่เทพเจ้าอยู่ที่หลายร้อยลิตรต่อวัน กระนั้นทางมนเทียรไม่ได้มีการเผยแพร่จำนวนที่แน่ชัด[10] ในปี 2016 ระหว่างช่วงอุชไชนสิงหัสถะ รัฐบาลของรัฐสั่งห้ามการขายสุราในนครอุชเชนทั้งเดือน ยกเว้นเพียงร้านขาด้านหน้ามนเทียรนี้ที่จำหน่ายได้[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 V Guhan (24 February 2013). "Where Lord Shiva is guardian and ruler". Indian Express. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 29 September 2015.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Ujjain's Kalbhairav, the god to whom Hindu devotees offer liquor". India TV. 20 February 2013.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 N.K. Singh (31 July 1994). "One for the lord". India Today.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Temples". District Collector, Ujjain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2015. สืบค้นเมื่อ 28 September 2015.
  5. "Holy City – Ujjain". Kalidasa Akademi. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2016. สืบค้นเมื่อ 28 September 2015.
  6. 6.0 6.1 "ग्रहों की बाधाएं दूर करते है उज्जैन के कालभैरव" (ภาษาHindi). Aaj Tak. 17 January 2015.{{cite news}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  7. Diana L. Eck (2013). India: A Sacred Geography. Three Rivers Press. p. 238. ISBN 9780385531924.
  8. 8.0 8.1 Nilanjana Sengupta (12 November 2006). "When gods accept whisky". The Times of India.
  9. Milind Ghatwai (1 February 2015). "Ujjain: Nod to liquor outlets near Kal Bhairav temple". Indian Express.
  10. Sunil Magariya (1 February 2015). "MP: Ujjain Kal Bhairav temple to get dedicated liquor counters". Hindustan Times.
  11. Vinit and Ritesh Mishra (24 April 2016). "Liquor banned in Ujjain, but sales surge at Bhairav temple". Hindustan Times.