ข้ามไปเนื้อหา

การหลอกลวงตัวเอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การหลอกลวงตัวเอง[1] (อังกฤษ: Self-deception) เป็นกระบวนการปฏิเสธหรือให้เหตุผลแก้ต่างว่า หลักฐานหรือเหตุผลที่คัดค้านความคิดความเชื่อของตน ไม่อยู่ในประเด็นหรือไม่สำคัญ เป็นการที่ทำให้ตัวเองเชื่อเรื่องความจริง (หรือความไม่จริง) อย่างหนึ่ง โดยวิธีที่ไม่ปรากฏกับตนว่ากำลังหลอกตัวเอง[ต้องการอ้างอิง]

ปัญหาการนิยาม

[แก้]

มติส่วนใหญ่ว่าการหลอกตัวเองคืออะไรอย่างแน่นอนยังเป็นปัญหาสำหรับนักปรัชญาในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบแบบปฏิทรรศน์ และตัวอย่างสำคัญ ๆ แต่ไม่ชัดเจนของปรากฏการณ์ นอกจากนั้นแล้ว การหลอกลวงตัวเองยังมีมิติต่าง ๆ มากมาย เช่นมิติด้านญาณวิทยา จิตวิทยา เชาวน์ปัญญา บริบททางสังคม และศีลธรรม ดังนั้น คำนี้ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้น และบางครั้งก็อ้างว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นไปไม่ได้

ทฤษฎี

[แก้]

การวิเคราะห์

[แก้]

รูปแบบทั่วไปของปรากฏการณ์นี้ พุ่งความสนใจไปที่เรื่องการหลอกลวงผู้อื่น เช่น "นาย ก" ตั้งใจทำให้ "นาย ข" เชื่อในทฤษฎีบท p ทั้ง ๆ ที่รู้หรือเชื่อจริง ๆ ว่า ~p (คือว่า p ไม่เป็นความจริง) การหลอกลวงเช่นนี้เป็นเรื่องจงใจ และบังคับในตัวว่า คนหลอกต้องรู้หรือเชื่อว่า ~p ในขณะที่คนถูกหลอกต้องเชื่อว่า p ดังนั้น ในรูปแบบทั่วไปนี้ คนหลอกตัวเองจะต้อง (1) มีความเชื่อที่ขัดแย้งกัน (2) ตั้งใจทำให้ตัวเองถือเอาความเชื่อที่ตนรู้หรือเชื่อว่า ไม่เป็นจริง[2]

แต่กระบวนการหาเหตุผลแก้ต่างหรือเข้าข้างตนเองในบุคคล สามารถอำพรางความตั้งใจหลอกตนเองของตน นักวิชาการผู้หนึ่งแสดงว่า การหาเหตุผลเช่นนั้นในสถานการณ์บางอย่าง ทำให้ปรากฏการณ์หลอกตนเองเกิดขึ้นได้ เช่น เมื่อบุคคลหนึ่ง ผู้จริง ๆ ไม่เชื่อในตรรกบท p ตั้งใจพยายามให้ตนเชื่อหรือรักษาความเชื่อใน p โดยใช้เหตุผลต่าง ๆ และดังนั้นจึง ทำตัวเองให้เข้าใจผิดอย่างไม่ได้ตั้งใจ เป็นการเชื่อหรือรักษาความเชื่อเกี่ยวกับ p โดยใช้ความคิดแบบเอนเอียง จึงเป็นการหลอกตัวเองโดยวิธีที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นวิธีที่ไม่ต้องตั้งใจหลอกตนเองหรือมีความคิดไม่ซื่อสัตย์โดยต่างหาก[3]

จิตวิทยา

[แก้]

ปรากฏการณ์หลอกลวงตัวเองสร้างคำถามในเรื่องธรรมชาติของ "บุคคล" โดยเฉพาะในทางจิตวิทยาและในเรื่อง "ตน" (หรืออัตตา) ปฏิทรรศน์ที่อ้างว่าเป็นธรรมชาติของเรื่องนี้ มีเหตุจากความคิดที่ไม่สมเหตุผล แต่ก็มีผู้อ้างว่า ทุกคนไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีปรากฏการณ์นี้[4] นอกจากนั้นแล้ว การหาเหตุผลแก้ต่างหรือเข้าข้างตนเองยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยมากมายรวมทั้งการเข้าสังคม (socialization) ความเอนเอียงต่าง ๆ ของบุคคล ความกลัว และการกดเก็บทางประชาน (cognitive repression) และสามารถจัดเปลี่ยนได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทำให้มองสถานการณ์เชิงลบในแง่ดีเกินไป และสถานการณ์ที่ดีแย่เกินไป ดังนั้น การหาเหตุผลแก้ต่างเพียงแนวคิดเดียว ไม่สามารถสร้างความชัดเจนต่อกระบวนการหลอกตนเอง เพราะว่าการคิดหาเหตุผลเป็นรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนได้ในการทำงานทางจิต[5]

ปฏิทรรศน์ของการหลอกลวงตนเอง

[แก้]

นักปรัชญาผู้หนึ่งได้ให้แสงสว่างเกี่ยวกับความขัดแย้งกัน (หรือปฏิทรรศน์) ที่สำคัญของการหลอกลวงตนเอง ซึ่งมีสองอย่าง อย่างแรกเป็นเรื่องภาวะทางจิตของผู้หลอกตัวเอง และอย่างที่สองเป็นปฏิสัมพันธ์แบบพลวัตของการหลอกลวงตนเอง โดยมีชื่อบัญญัติว่า ปฏิทรรศน์สถิต (static paradox) และปฏิทรรศ์พลวัต (dynamic paradox) ตามลำดับ

นักปรัชญาผู้นั้นได้ให้ตัวอย่างของปฏิทรรศน์สถิตดังต่อไปนี้

ถ้านาย "ก" หลอกนาย "ข" ให้เชื่ออะไรบางอย่างว่า p เป็นเรื่องจริง และนาย ก ก็รู้หรือเชื่อจริง ๆ ว่า p เป็นเรื่องเท็จ ในขณะที่ทำให้นาย ข เชื่อว่า p เป็นเรื่องจริง และดังนั้น เมื่อนาย ก หลอก นาย ก เอง ให้เชื่อว่า p เป็นจริง เขาก็จะรู้หรือเชื่อจริง ๆ ว่า p เป็นเท็จ ในขณะที่ทำให้ตัวเองเชื่อว่า p เป็นเรื่องจริง ดังนั้น นาย ก ก็จะต้องเชื่อไปพร้อม ๆ กันว่า p เป็นเท็จ และว่า p เป็นจริงด้วย แล้วนี่จะเป็นไปได้อย่างไร[6]

และพรรณนา ปฏิทรรศน์พลวัตดังต่อไปนี้

โดยทั่วไปแล้ว นาย "ก" จะไม่สามารถใช้กลยุทธ์หลอกลวงนาย "ข" ได้ ถ้านาย ข รู้เจตนาหรือแผนของนาย ก ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน เมื่อนาย ก และ ข เป็นคนเดียวกัน ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องการหลอกตัวเอง การรู้เจตนาและกลยุทธ์ของตนเองดูเหมือนจะทำให้การหลอกตัวเองนั้นไม่มีผล และในด้านตรงกันข้าม ข้อเสนอว่า คนหลอกตัวเองมักจะใช้กลยุทธ์หลอกตัวเองอย่างสำเร็จผลโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรดูจะเป็นเรื่องน่าขัน เพราะว่า การดำเนินการตามแผนของบุคคลดูเหมือนจะต้องอาศัยความเข้าใจแผนและเป้าหมายของตนโดยทั่วไป และดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว บุคคลจะสามารถหลอกตัวเองโดยกลยุทธ์หลอกตัวเองได้หรือไม่[6]

ดังนั้น แบบจำลองเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาว่า บุคคลจะสามารถมีความเชื่อที่ขัดกันเองได้อย่างไร (ปฏิทรรศน์สถิต) และจะสามารถหลอกตัวเองได้อย่างไรโดยที่ไม่ทำให้เจตนาของตนไร้ประสิทธิผล (ปฏิทรรศน์พลวัต) การพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดแนวคิดแบ่งออกเป็นสองพวก แนวคิดหนึ่งธำรงว่า กรณีสำคัญที่เด่น ๆ ของการหลอกลวงตัวเองเป็นการทำ "โดยมีเจตนา" และอีกแนวคิดหนึ่งเป็นนัยตรงข้ามกับแนวคิดนั้น แนวคิดสองอย่างนี้เรียกว่า "พวกมีเจตนา" (intentionalist) และ "พวกไม่มีเจตนา" (non-intentionalist) ตามลำดับ[2]

พวกนักปรัชญาที่มีความเห็นแบบแรกมักจะตกลงกันได้ว่า การหลอกลวงตนเองเป็นการกระทำโดยเจตนา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่า จะต้องทำโดยมีความเชื่อขัดกันหรือไม่[2] เป็นแนวคิดที่รวมองค์ประกอบเกี่ยวกับการแบ่งเวลา (คือยืดเวลาออกเป็นเวลานาน ๆ เพิ่มโอกาสที่จะลืมว่าได้หลอกตัวเอง) หรือการแบ่งทางจิตภาพ (คือการมีด้านหรือฝ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับ "ตน")

โดยเปรียบเทียบกัน นักปรัชญาพวกที่สองมักจะเชื่อว่า แม้กรณีต่าง ๆ ของการหลอกลวงตนเองจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดโดยบังเอิญ แต่ก็เกิดจากความต้องการ ความวิตกกังวล และอารมณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับ p[2] ซึ่งเป็นแนวคิดที่แยกแยะการหลอกตัวเองจากความเข้าใจผิด[2] ยังมีคำถามและการโต้เถียงที่ยังไม่ยุติมากมายเกี่ยวปฏิทรรศน์ของการหลอกตัวเอง และทฤษฎีที่สามารถมีมติร่วมกันได้ก็ยังไม่ปรากฏ

ทฤษฎีของรอเบิร์ต ทริเวอร์

[แก้]

มีทฤษฎีว่า มนุษย์เสี่ยงต่อการหลอกตัวเองเพราะว่าคนโดยมากมีความติดข้องทางอารมณ์กับความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งบางเรื่องอาจจะไร้เหตุผล มีนักชีววิทยาวิวัฒนาการ เช่น ศ.ดร.รอเบิร์ต ทริเวอร์ ที่เสนอว่า[7] การหลอกตัวเองเป็นส่วนสำคัญของพฤติกรรมมนุษย์ และแม้ของสัตว์โดยทั่วไป คือ บุคคลจะหลอกตัวเองให้เชื่ออะไรบางอย่างที่ไม่จริง เพื่อจะให้สามารถยังให้คนอื่นเชื่อเรื่องนั้นได้ดีกว่า เพราะว่า เมื่อบุคคลยังให้ตัวเองเชื่อเรื่องที่ไม่จริง ก็จะสามารถซ่อนอาการหลอกลวงได้ดีกว่า

แนวคิดนี้มีมูลฐานจากเหตุผลเช่นนี้ คือ การหลอกลวงเป็นหลักอย่างหนึ่งของการสื่อสารในธรรมชาติ ทั้งในสปีชีส์เดียวกันและระหว่างสปีชีส์ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้เปรียบบุคคลอื่น เริ่มตั้งแต่การร้องตกใจจนถึงการร้องเลียนแบบ สัตว์ได้ใช้การหลอกลวงเพื่อการรอดชีวิต และสัตว์ที่สามารถรู้ว่าเป็นการหลอกลวงจะมีโอกาสสูงกว่าที่จะรอดชีวิต และดังนั้น การหลอกลวงตนเองจึงเป็นการอำพรางความตั้งใจหลอกลวงจากบุคคลอื่นที่จะรู้ได้ ดังที่ ดร.ทริเวอร์กล่าวว่า "ซ่อนความจริงจากตัวเพื่อที่จะซ่อนจากคนอื่น ๆ ได้ลึกยิ่งกว่า" ในมนุษย์ การสำนึกว่ากำลังหลอกผู้อื่นมักจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น จมูกบาน เหงื่อออก เสียงเปลี่ยน การขยับตา และการกะพริบตาเร็ว และดังนั้น ถ้าการหลอกลวงตนเองสามารถทำให้ตนเชื่อเรื่องบิดเบือนเอง บุคคลนั้นจะไม่ปรากฏอาการหลอกลวง และดังนั้นจะดูเหมือนพูดความจริง

การหลอกลวงตนเองสามารถทำเพื่อให้เหมือนเก่งกว่าหรือด้อยกว่าที่ตนเป็นจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลสามารถแสดงความมั่นใจเกินจริงเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม หรือแสดงความมั่นใจน้อยเกินจริงเพื่อที่จะเลี่ยงสัตว์ล่าหรือภัยอย่างอื่น ดังนั้น ถ้าบุคคลสามารถซ่อนความรู้สึกและเจตนาของตนได้ดี ก็จะสามารถหลอกผู้อื่นได้สำเร็จมากกว่า

แต่ก็สามารถอ้างได้ว่า ความสามารถในการหลอกลวงหรือหลอกลวงตัวเอง ไม่ใช่เป็นลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือก แต่เป็นผลข้างเคียงของลักษณะที่ทั่วไปยิ่งกว่านั้นคือ ความคิดเชิงนามธรรม (abstract thinking) ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบทางวิวัฒนาการหลายอย่างเช่น พฤติกรรมที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ และการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ แต่เนื่องจากว่า การโกหกเป็นพฤติกรรมทางนามธรรม กระบวนการทางจิตที่สร้างเรื่องเท็จ สามารถเกิดในสัตว์ที่สมองซับซ้อนเพียงพอที่จะให้เกิดความคิดเชิงนามธรรมได้เท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] การหลอกตัวเองเป็นการลดเรื่องที่ต้องคิด (หรือลดการประมวลข้อมูลในสมอง) ซึ่งก็คือ มันซับซ้อนน้อยกว่าที่บุคคลจะมีพฤติกรรมหรือคิดในรูปแบบที่แสดงว่าเป็นความจริง ถ้าบุคคลนั้นเชื่อว่าเรื่องนั้นเป็นจริง เพราะว่า สมองก็จะไม่ต้องคิดถึงเรื่องจริงและเรื่องเท็จเสมอ ๆ โดยเพียงแค่เชื่อว่า สิ่งที่เป็นเท็จเป็นเรื่องจริง

นัยที่เป็นผลของทฤษฎี

[แก้]

เพราะว่ามีการหลอกลวง ดังนั้นก็จะมีการคัดเลือกที่มีกำลังเพื่อความสามารถที่จะรู้ความหลอกลวงได้ ดังนั้น การหลอกลวงตนเองจึงได้วิวัฒนาการขึ้นเพื่อซ่อนอาการหลอกลวงจากคนอื่น ๆ การมีการหลอกลวงเอง เป็นตัวอธิบายการมีความสามารถแต่กำเนิดในการหลอกตัวเองเพื่อซ่อนอาการหลอกลวง ดังนั้น มนุษย์หลอกตัวเองเพื่อจะหลอกคนอื่นได้ดีกว่า และได้เปรียบต่อผู้อื่น ตั้งแต่ ดร.ทริเวอร์ได้เสนอทฤษฎีการหลอกตัวเองโดยเป็นการปรับตัวเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ก็ได้มีการถกเถียงกันเรื่อย ๆ มาว่า พฤติกรรมเช่นนี้มีมูลฐานทางพันธุกรรมหรือไม่

แม้ว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการหลอกลวงผู้อื่นและตัวเองว่าเป็นลักษณะแต่กำเนิดอาจจะเป็นจริง แต่ว่าก็ยังมีคำอธิบายอื่น ๆ มากมายเกี่ยวกับรูปแบบพฤติกรรมเช่นนี้ เช่น มันเป็นไปได้ว่าความสามารถในการหลอกตัวเองไม่ได้มีแต่กำเนิด แต่เป็นลักษณะที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลอาจจะเคยถูกจับได้ว่าโกหกปิดความจริง โดยมีจมูกบาน ซึ่งแสดงให้คนอื่นรู้ว่ากำลังโกหก ดังนั้นจึงไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ดังนั้น ในครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า บุคคลจะพยายามหลอกตัวเองว่าไม่มีข้อมูลที่เป็นเรื่องจริง เพื่อที่จะปิดบังการหลอกลวง ดังนั้น มนุษย์อาจจะสามารถเรียนรู้การหลอกตัวเอง

ตัวอย่าง

[แก้]

แม้ว่าคำศัพท์เองจะนิยามได้ยาก แต่ว่าตัวอย่างของการหลอกตัวเองในระดับต่าง ๆ มีมากมาย ตัวอย่างง่าย ๆ มีทั่วไปอย่างสามัญ เช่น คนติดสุราที่หลอกตัวเองว่าตนสามารถควบคุมการดื่มได้ สามีที่หลอกตัวเองว่าภรรยาไม่มีชู้ ผู้ร่วมงานขี้อิจฉาที่หลอกตัวเองว่า ผู้ร่วมงานประสบความสำเร็จในงานมากกว่าเพราะมีความทะเยอทะยานแบบไร้ปรานี ดร.ทริเวอร์และผู้ร่วมเขียนได้แสดงตัวอย่างที่ซับซ้อน โดยวิเคราะห์บทบาทการหลอกลวงตนเองของนักบิน ในเหตุการณ์เครื่องบินตกของสายการบินแอร์ฟลอริดาเที่ยวบิน 90 (Air Florida Flight 90)[8] ที่กัปตันผู้เป็นนักบินหลักเชื่อว่า ไม่มีอะไรผิดปกติทั้ง ๆ ที่ถูกท้วงโดยนักบินรอง

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "deception; deceit", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, การหลอกลวง
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "Self-Deception". Stanford Encyclopedia of Philosophy.
  3. McLaughlin, Brian P (1988). "2". Exploring the Possibility of Self-Deception in Belief. Perspectives on Self-Deception. University of California Press. ISBN 9780520061231. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  4. Rorty, Amélie Oksenberg (1988). "1". The Deceptive Self: Liars, Layers, and Lairs. Perspectives on Self-Deception. University of California Press. ISBN 9780520061231. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  5. Johnston, Mark (1988). "3". Self-Deception and the Nature of Mind. Perspectives on Self-Deception. University of California Press. ISBN 9780520061231. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 Mele, Alfred R (1998). Two Paradoxes of Self-Deception. Self-Deception and Paradoxes of Rationality. CSLI Publications. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  7. Trivers, Robert (2002). Natural Selection and Social Theory: Selected Papers of Robert Trivers. Oxford University Press US. ISBN 978-0-19-513062-1.
  8. Trivers, RL; Newton, HP (1982-11). "The crash of flight 90: doomed by self-deception" (PDF). Science Digest. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

หนังสือ

[แก้]
  • Hållén, Elinor (2011) . A Different Kind of Ignorance: Self-Deception as Flight from Self-Knowledge. Diss. Uppsala: Uppsala Universitet. ISBN 978-91-506-2206-5.
  • Leadership and Self Deception, by Arbinger Institute. Talks at length about self-deception and its implications for leaders - in personal and public life. ISBN 978-1-57675-977-6
  • Anatomy of Peace: Resolving the Heart of Conflict, by Arbinger Institute. ISBN 978-1-57675-334-7
  • McLaughlin, Brian P. & Amélie Oksenberg Rorty (eds.) (1988) . Perspectives on Self-Deception. California UP: Berkeley etc.
  • Trivers, R. (2011) . The Folly of Fools: The Logic of Deceit and Self-Deception in Human Life. Basic Books. ISBN 978-0-465-02755-2

วารสาร

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]