ข้ามไปเนื้อหา

เดอะเฮก

พิกัด: 52°5′N 4°19′E / 52.083°N 4.317°E / 52.083; 4.317
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรุงเฮก)
เดอะเฮก

เด็นฮาค
เมือง
สคราเฟินฮาเคอ
The Hague skyscrapers seen from the 'Plein', with statue of William the Silent
The Hague skyscrapers seen from the 'Plein', with statue of William the Silent
ธงของเดอะเฮก
ธง
ตราราชการของเดอะเฮก
ตราอาร์ม
สมญา: 
Residentiestad (Residential City), Hofstad (Court city)
ที่ตั้งของเดอะเฮก
พิกัด: 52°5′N 4°19′E / 52.083°N 4.317°E / 52.083; 4.317
ประเทศเนเธอร์แลนด์
จังหวัดจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์
พื้นที่(2006)
 • เมือง98.20 ตร.กม. (37.92 ตร.ไมล์)
 • พื้นดิน82.66 ตร.กม. (31.92 ตร.ไมล์)
 • พื้นน้ำ15.54 ตร.กม. (6.00 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (กุมภาพันธ์ 2560)
 • เมือง510,909 คน
 • ความหนาแน่น5,894 คน/ตร.กม. (15,270 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง1,022,256 คน
 • รวมปริมณฑล1,406,000 คน
 • Randstad6,659,300
 • DemonymHagenaar or Hagenees
 Source: [1].
เขตเวลาUTC 1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC 2 (CEST)

เดอะเฮก[1] หรือ กรุงเฮก[2][3] (อังกฤษ: The Hague, ดัตช์: Den Haag เด็นฮาค) หรือชื่อทางการภาษาดัตช์คือ สคราเฟินฮาเคอ (ดัตช์: 's-Gravenhage) เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นที่ตั้งของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกซึ่งตั้งอยู่ที่วังสันติ (สร้างจากเงินบริจาคโดยแอนดรูว์ คาร์เนกี ชาวอเมริกัน) เดอะเฮกมีประชากร 544,766 คน (พฤศจิกายน ค.ศ. 2019)[4] จึงเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของเนเธอร์แลนด์รองจากอัมสเตอร์ดัมและรอตเทอร์ดาม ส่วนเขตมหานครรอตเทอร์ดาม-เดอะเฮกเป็นบริเวณที่มีประชากร 2.7 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับ 13 ของสหภาพยุโรป และเป็นเขตมหานครที่มีประชากรมากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ เดอะเฮกตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศเนเธอร์แลนด์

เดอะเฮกเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ รัฐสภาเนเธอร์แลนด์ ศาลฎีกาเนเธอร์แลนด์ และคณะกรรมาธิการรัฐเนเธอร์แลนด์ แต่เมืองหลวงตามรัฐธรรมของเนเธอร์แลนด์คือกรุงอัมสเตอร์ดัม[5] สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ พระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมาทรงประทับอยู่ที่เดอะเฮก[6] นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานทูตของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย

สำนักงานใหญ่ของบริษัทหลายแห่งตั้งอยู่ที่เดอะเฮกเช่น รอยัลดัตช์เชลล์และยูนิลีเวอร์ เดอะเฮกยังเป็นนครแห่งระบบยุติธรรมเนื่องจากเป็นที่ตั้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลอาญาระหว่างประเทศและยูโรโปล มีองค์กรระหว่างประเทศตั้งอยู่มากถึง 200 องค์กร[7]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

แม้ไม่ปรากฏชัดว่าจุดเริ่มต้นของเดอะเฮกคือเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าเดอะเฮกก่อตั้งขึ้นโดยเคานต์แห่งฮอลแลนด์องค์ท้ายๆ เคานต์ฟลอริสที่ 4 เริ่มซื้อคฤหาสน์สองหลังแรกก่อนจะซื้อหลังที่สามจากสตรีนามว่า เมเลินดิส ในปี ค.ศ. 1229 โดยตั้งใจจะต่อเติมคฤหาสน์ให้เป็นปราสาทที่ใหญ่โตแต่กลับเสียชีวิตไปก่อนในปี ค.ศ. 1234[8] เคานต์วิลเลียมที่ 2 บุตรชายและผู้ครองเคาน์ตีฮอลแลนด์ต่อได้อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ ต่อมาเมื่อได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวโรมันในปี ค.ศ. 1248 ได้กลับมาที่เดอะเฮกเพื่อว่าจ้างให้ช่างก่อสร้างเปลี่ยนโฉมคฤหาสน์ให้เป็นวังหลวง (regale palacium) ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า บินเนินโฮฟ (แปลว่า คฤหาสน์ใน ที่ต่อมากลายเป็นที่ทำการของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) เคานต์วิลเลียมที่ 2 เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1256 ก่อนที่วังจะสร้างสำเร็จ ตึกริเดอร์ซาลอันเป็นส่วนหนึ่งของวังยังมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบันด้วยการเป็นสถานที่พระราชทานพระราชดำรัสประจำปีของพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์[9][10]

บินเนินโฮฟ เมื่อ ค.ศ. 1625

เคานต์แห่งฮอลแลนด์อาศัยอยู่ที่เดอะเฮกและว่าราชการมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ส่วนหมู่บ้านรอบๆบินเนินเฮฟเริ่มปรากฏในชื่อ ดีฮาค (Die Haghe) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1242 เติบโตเรื่อยมาในยุคกลางแต่ไม่ได้ถูกยกฐานะเป็นเมือง จนกระทั่งเคาน์ตีฮอลแลนด์และเซลันด์ตกเป็นของราชวงศ์บูร์กอญเมื่อปี ค.ศ. 1432 ราชวงศ์ได้แต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์หรือเจ้าผู้ครองสถานมาปกครองดินแดนที่เรียกรวมกันว่ารัฐฮอลแลนด์และเว็สท์ฟรีสลันด์ อย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางอำนาจการปกครองอยู่ที่เมืองสำคัญทางใต้ เช่น บรัสเซลส์และเมเคอเลิน มากกว่า ซึ่งต่อมาดินแดนแถบนี้กลายกลายเป็นดินแดนที่เรียกว่าเนเธอร์แลนด์ของเบอร์กันดี[11]

ในช่วงสงครามแปดสิบปี อันเป็นสงครามประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์จากการปกครองของสเปน กองทัพสเปนเข้ายึดครองเดอะเฮกได้โดยง่ายเนื่องจากเมืองปราศจากกำแพงเมือง ชาวฮอลแลนด์จึงได้ย้ายศูนย์ราชการไปที่เมืองเดลฟท์ชั่วคราวและมีแผนจะทำลายเดอะเฮกลงอย่างราบคาบแต่เจ้าชายวิลเลิมแห่งออเรนจ์ ผู้นำในการปฏิวัติครั้งนั้นห้ามปรามไว้ก่อน และเดอะเฮกกลับมาอยู่ภายใต้กลุ่มปฏิวัติอีกครั้ง ต่อมา ค.ศ. 1588 เดอะเฮกกลายมาเป็นที่ตั้งของรัฐบาลและรัฐสภาของสาธารณรัฐดัตช์[12]

ศาลากลางเก่าของเดอะเฮก ราว ค.ศ. 1900

ราชอาณาจักรฮอลแลนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนเมื่อปี ค.ศ. 1806[13] แต่เมื่อสงครามนโปเลียนสงบ เบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ได้รวมประเทศกันอีกครั้งหนึ่งก่อตั้งเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นรัฐกันชนกับฝรั่งเศสตามมติของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. 1815 ผลคือบรัสเซลส์และอัมสเตอร์ดัมผลัดกันเป็นเมืองหลวงทุกๆ 2 ปีโดยรัฐบาลยังอยู่ที่เดอะเฮก ต่อมาเบลเยียมประกาศเอกราชขอแยกตัวออกจากเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1830 อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองหลวงเดียวของประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่รัฐบาลยังอยู่ที่กรุงเฮกเช่นเดิม

เมื่อรัฐบาลเริ่มมีบทบาทสำคัญในสังคมเนเธอร์แลนด์หลังปี ค.ศ. 1850 เดอะเฮกจึงเริ่มขยายตัว มีการก่อสร้างถนนหลายสายและอาคารหลายหลังเพื่อรองรับข้าราชการที่มาทำงานในเดอะเฮก รวมถึงชาวดัตช์โพ้นทะเลที่เกษียณจากการทำงานในดินแดนอาณานิคมหมู่เกาะอินเดียตะวันออก

เดอะเฮกได้รับความเสียหายอย่างหนักในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนาซีเยอรมนีเข้าโจมตีและยึดครอง ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองถูกกวาดต้อนไปใช้แรงงานและเสียชีวิตที่ค่ายกักกันจำนวนาก นอกจากนี้เยอรมนียังสร้างกำแพงแห่งแอตแลนติกเพื่อป้องกันการโจมตีริมฝั่งจากกองกำลังสัมพันธมิตร เป็นผลให้หลายพื้นที่ของเมืองถูกทำลายลงเพื่อสร้างแนวป้องกันทางทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1945 กองทัพอากาศอังกฤษปฏิบัติการโจมตีทางอากาศผิดพลาด คลาดเคลื่อนมาทำลายพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมือง อาคารสำคัญได้รับความเสียหายอย่างหนัก[14] ชาวเมืองเสียชีวิต 511 คน[15]

หลังสงครามสงบ เฮกกลายเป็นเมืองใหญ่ของเนเธอร์แลนด์และของยุโรปอีกครั้ง เมืองขยายตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายถูกบูรณะซ่อมแซม จำนวนประชากรเติบโตจนเกิน 600,000 คนในปี ค.ศ. 1965 การย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่นี้ทำให้ชนชั้นกลางย้ายออกไปอยู่ในเมืองรอบนอกอย่างโฟร์บืร์ค เลดสเคินดัม ไรส์ไวค์ และซูเทอร์เมร์เป็นจำนวนมาก กลายเป็นลักษณะเมืองใจกลางที่เป็นย่านคนจนรายล้อมด้วยเมืองรอบนอกเป็นย่านคนรวย ดังนั้นเมื่อทางการมีแผนจะรวมเอาเทศบาลรอบนอกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเดอะเฮกจึงถูกคัดค้านอย่างหนัก และเขตเมืองขยายเพิ่มขึ้นสำเร็จในทศวรรษที่ 1990

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล เล่ม 1 (อักษร A-L), พิมพ์ครั้งที่ 1, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550
  2. "ประเทศเนเธอร์แลนด์ : กรุงเฮก". กระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย. 1 เมษายน 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-12. สืบค้นเมื่อ 2013-08-10.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  3. "สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก. 1 เมษายน 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-31. สืบค้นเมื่อ 2012-03-31.
  4. https://opendata.cbs.nl/statline/#/CBS/nl/dataset/37230ned/table?fromstatweb
  5. Daum, Andreas (2005). Berlin – Washington, 1800–2000 Capital Cities, Cultural Representation, and National Identities. Cambridge University Press. pp. 13, 38. ISBN 0521841178. Amsterdam is the statuary capital of the Netherlands, while the Dutch government resides in De Hague. (sic) (p. 13) The Dutch seat of government is The Hague but its capital is bustling Amsterdam, the national cultural centre. (p. 38)
  6. Huis ten Bosch Palace at "The Official Website of the Dutch Royal House in English", maintained by the Netherlands Government Information Service.
  7. "Internationale organisaties in Den Haag". Gemeente Den Haag (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 3 February 2019.
  8. "De geschiedenis van den Haag: graaf Floris IV". Geschiedenis van Den Haag (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 16 June 2018.
  9. "Den Haag en graaf Willem II". Geschiedenis van Den Haag (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 16 June 2018.
  10. "Het Binnenhof: ontstaat". Geschiedenis van Den Haag (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 16 June 2018.
  11. "Geschiedenis van Den Haag". Geschiedenis van Zuid-Holland (ภาษาดัตช์). สืบค้นเมื่อ 16 June 2018.
  12. "De allerkortste geschiedenis van Den Haag". Merkboek Den Haag (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-16. สืบค้นเมื่อ 16 June 2018.
  13. "A short history of The Hague". Denhaag.nl. 28 November 2011. สืบค้นเมื่อ 9 April 2014.
  14. Stichting Ons Erfdeel (1998). The Low Countries: arts and society in Flanders and the Netherlands, a yearbook. Vol. 9. Flemish-Netherlands Foundation. p. 113.
  15. (ในภาษาดัตช์) Bombardement Bezuidenhout 3 maart '45 Voor velen stortte in luttele minuten de wereld in elkaar เก็บถาวร 2013-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Amigoe di Curacao, 4 March 1965