ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศกรีซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรีซ)
สาธารณรัฐเฮลเลนิก

Ελληνική Δημοκρατία (กรีก)
Ellinikí Dimokratía
คำขวัญΕλευθερία ή Θάνατος
เอเลฟเทริอาอิทานาทอส
("อิสรภาพหรือความตาย")
ที่ตั้งของ ประเทศกรีซ  (สีเขียวเข้ม)

– ในยุโรป  (สีเขียวอ่อน & สีเทาเข้ม)
– ในสหภาพยุโรป  (สีเขียวอ่อน)

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
เอเธนส์
37°58′N 23°43′E / 37.967°N 23.717°E / 37.967; 23.717
ภาษาราชการ
และภาษาประจำชาติ
กรีก
ศาสนา
(ค.ศ. 2017)
เดมะนิมชาวกรีก
การปกครองสาธารณรัฐรวมรัฐสภา
กาเตรีนา ซาเกลาโรปูลู
Kyriakos Mitsotakis
Konstantinos Tasoulas
สภานิติบัญญัติรัฐสภาเฮลเลนิก
ประวัติการสถาปนา
25 มีนาคม ค.ศ. 1821 (วันที่ของสงครามประกาศอิสรภาพกรีซแบบดั้งเดิม) 15 มกราคม ค.ศ. 1822 (วันที่ประกาศอย่างเป็นทางการ)
3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1830
11 มิถุนายน ค.ศ. 1975
พื้นที่
• รวม
131,957 ตารางกิโลเมตร (50,949 ตารางไมล์)[4] (อันดับที่ 95)
1.51 (ณ ค.ศ. 2015)[5]
ประชากร
• ค.ศ. 2020 ประมาณ
ลดลงเป็นกลาง 10,718,565[6] (อันดับที่ 85)
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2011
10,816,286[7]
82[8] ต่อตารางกิโลเมตร (212.4 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 98)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 339.668 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[9]
เพิ่มขึ้น 31,821 ดอลลาร์สหรัฐ[9]
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2021 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 211.645 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[9]
เพิ่มขึ้น 19,827 ดอลลาร์สหรัฐ[9]
จีนี (ค.ศ. 2020)Negative increase 31.4[10]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019)เพิ่มขึ้น 0.888[11]
สูงมาก · อันดับที่ 32
สกุลเงินยูโร () (EUR)
เขตเวลาUTC 02:00 (EET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC 03:00 (EEST)
รูปแบบวันที่วว-ดด-ปปปป (AD)
ขับรถด้านขวามือ
รหัสโทรศัพท์ 30
โดเมนบนสุด
  1. นอกจากนี้ยังใช้โดเมน .eu เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ

กรีซ (อังกฤษ: Greece; กรีก: Ελλάδα, อักษรโรมัน: Elládha, ออกเสียง [e̞ˈlaða]) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเฮลเลนิก[12] (อังกฤษ: Hellenic Republic; กรีก: Ελληνική Δημοκρατία, อักษรโรมัน: Ellinikí Dhimokratía [e̞ˌliniˈci ðimo̞kraˈtiˌa]) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตอนใต้สุดของคาบสมุทรบอลข่าน มีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศบัลแกเรีย มาซิโดเนีย และแอลเบเนีย มีพรมแดนทางตะวันออกติดกับประเทศตุรกี อยู่ติดทะเลอีเจียนทางด้านตะวันออก ติดทะเลไอโอเนียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านตะวันตกและใต้ มีประชากรราว 10.7 ล้านคน[13] มีเมืองหลวงคือกรุงเอเธนส์ซึ่งยังเป็นนครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมี เทสซาโลนีกี และ เพทรัสเป็นนครที่ใหญ่รองลงมา

ประเทศกรีซได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมตะวันตก และยังเป็นเป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตย, ปรัชญา, วรรณกรรมโบราณ, ประวัติศาสตร์นิพนธ์, รัฐศาสตร์, ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์, โรงละคร และการแข่งขันโอลิมปิก นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวกรีกอยู่รวมกันเป็นนครรัฐอิสระหลายแห่งเรียกว่า poleis (หมายถึงเมือง ในภาษากรีกโบราณ) ซึ่งทอดยาวจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลดำ พีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา ได้รวมดินแดนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเข้าด้วยกันในศตวรรษที่ 4 อเล็กซานเดอร์มหาราช โอรสของพระองค์สร้างชื่อด้วยการพิชิตโลกโบราณในระยะเวลาอันสั้น ตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงอินเดีย ก่อนจะเข้าสู่สมัยเฮลเลนิสต์ซึ่งวัฒนธรรมกรีกโบราณขยายอิทธิพลไปทั่ว ก่อนที่ดินแดนทั้งหมดจะถูกผนวกเข้ากับสาธารณรัฐโรมันในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช โดยกลายเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ในยุคจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรีซทั้งในด้านวัฒนธรรมและภาษา[14][15] คริสตจักรออร์โธดอกซ์ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ช่วยสร้างเอกลักษณ์ของยุคกรีกสมัยใหม่และถ่ายทอดวัฒนธรรมกรีกสู่อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ภายหลังสิ้นสุดสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ดินแดนของรัฐต่างๆ ได้ถูกสถาปนาขึ้นในพื้นที่บริเวณคาบสมุทร ทว่าดินแดนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยจักรวรรดิออตโตมันในช่วงกลางศตวรรษที่ 15

กรีซได้กลายสภาพเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ใน ค.ศ. 1830 หลังสิ้นสุดสงครามประกาศอิสรภาพ[16] ในช่วงศตวรรษแรกของการก่อตั้งราชอาณาจักรกรีซ ผู้ปกครองอาณาจักรแสวงหาการขยายดินแดนซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในระหว่างสงครามบอลข่านก่อนจะลงเอยด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับในสงครามสงครามกรีก-ตุรกี ค.ศ. 1919–1922 ซึ่งส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของอาณาจักรอีกหลายปี สาธารณรัฐเฮลเลนิกที่สองก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองรวมถึงการตั้งถิ่นฐานโดยผู้ลี้ภัยชาวตุรกี ระบอบเผด็จการกษัตริย์มีจุดเริ่มต้นใน ค.ศ. 1936 และครอบงำประเทศซึ่งตามมาด้วยการยึดครองกรีซของฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, สงครามกลางเมืองกรีซ และนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองใน ค.ศ. 1967 อย่างไรก็ตาม กรีซมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงระว่างทศวรรษ 1950–70 และกลายสภาพเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ระบอบประชาธิปไตยได้รับการฟื้นฟูใน ค.ศ. 1974 จากเหตุการณ์การรุกรานไซปรัสของตุรกี ซึ่งตามมาด้วยการก่อตั้งสาธารณรัฐกรีกที่สามมาถึงปัจจุบัน

ประเทศกรีซปกครองแบบสาธารณรัฐระบบรัฐสภา ถือเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นประเทศอำนาจปานกลาง โดยมีรายรับสูงและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร[17] เศรษฐกิจของประเทศมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนระดับภูมิภาคที่สำคัญ กรีซเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ, สมาชิกสหภาพยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน รวมทั้งเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ อาทิ สภายุโรป, เนโท, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, องค์การการค้าโลก และ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป กรีซมีเอกลักษณ์ในด้านมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง มีมรดกโลกโดยยูเนสโกจำนวน 19 แห่ง[18] รวมทั้งขึ้นชื่อในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการเดินเรือ[19] โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลกใน ค.ศ. 2023

ภูมิศาสตร์

[แก้]
ภูเขาโอลิมปัส

ประเทศกรีซประกอบด้วยแผ่นดินใหญ่ในทางทิศใต้ไปจนถึงแหลมบอลข่านและเกาะมากมายกว่า 3,000 เกาะ รวมทั้งเกาะครีต (Vrete) เกาะโรดส์ (Rhodes) เกาะไคออส (Chios) เกาะเลสบอส 7 (Euboea) และหมู่เกาะโดเดคะนีส (Dodecanese) และพวกไซแคลดิกทางทะเลอีเจียน ที่เหมือนกับชาวกรีกบนหมู่เกาะไอโอเนียน กรีซมีแนวชายฝั่งทะเลยาว 15,000 กิโลเมตร และเส้นแบ่งเขตแดน ยาว 1,160 กิโลเมตร

ราว ๆ 80% ของประเทศกรีซประกอบด้วยภูเขา และเนินเขา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรีซเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่มีภูเขามากที่สุด ทางตะวันตกของกรีซจะเป็นทะเลสาบและพื้นที่ชื้นแฉะพินดัส เป็นภูเขาทางตอนกลางซึ่งมีความสูงถึง 2,636 เมตร เมื่อพิจารณาดูแล้ว ภูเขาพินดัสอาจจะมีการขยายออกมาจากเทือกเขาดิแนริดได้ แนวเทือกเขาที่ต่อเนื่องกัน กลายเป็นแหลมเพโลพอนนีส เกาะคีทีรา (Kythera) และเกาะแอนติคีทีรา (Antikythera) พบที่จุดปลายของเกาะกรีก

ทางตอนกลางและทางตะวันตกของกรีซ เป็นที่สูงชัน มียอดเขาสูงที่แยกออก เป็นหุบเขาลึกมากมาย และมีลำธารระหว่างหุบเขาต่าง ๆ เช่น ช่องแคบ Meteora และ Vikos มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากแกรนด์แคนยอนในสหรัฐ

ยอดเขาโอลิมปัสเป็นจุดที่สูงที่สุดของกรีซ คือ 2,919 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทางตอนเหนือก็ยังมีเทือกเขาสูง ๆ อีก อย่าง Rhodope ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมาซิโดเนียและเทรซ พื้นที่นี้ถูกปกคลุมไปด้วย ป่าทึบเก่าแก่ขนาดใหญ่ เหมือนกับ Dadia ที่เป็นที่รู้จักกัน

ทางตะวันออกของกรีซเต็มไปด้วยทุ่งกว้างมากมาย คือตรงตอนกลางของมาซิโดเนียและเทรซ โวลอสและลาริสซา เป็น 2 เมืองใหญ่ ของทางตะวันออกของกรีซ

สภาพอากาศของกรีซ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เทือกเขาแอลป์ และ Temperate แบบแรก ภูมิประเทศแบบฝนตกในฤดูหนาว แห้งแล้งในฤดูร้อน อุณหภูมิไม่ค่อยสูง อย่างไรก็ตามก็มีหิมะตกบางในกรุงเอเธนส์ หมู่เกาะซิคละดิส หรือเกาะครีตมีสภาพอากาศหนาว เทือกเขาแอลป์ก่อตัวมาจากทางตะวันตกของกรีซ สภาพอากาศแบบสุดท้ายก่อตัวจากทางตอนกลางและทางมาซิโดเนียตะวันออก เทรซ Xanthi และ Evros เหนือ มีอากาศหนาว ชื้น ในฤดูหนาว และ แห้งแล้งในฤดูร้อน เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับกรุงเอเธนส์ที่ ตั้งอยู่ระหว่างสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน กับเทือกเขาแอลป์ ดังนั้นชานเมืองทางตอนใต้จะมีสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่ทางตอนเหนือมีสภาพอากาศแบบ เทือกเขาแอลป์

50% ของประเทศกรีซ ถูกปกคลุมไปด้วยป่า ที่มีพืชนานาชนิด จากเทือกเขาแอลป์ ป่าสนของทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ทะเลรอบ ๆ ประเทศกรีซ มีแมวน้ำ เต่าทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่หายากอาศัยอยู่ ในขณะที่ป่าของกรีซ เป็นที่บ้านหลังสุดท้ายของยุโรปตะวันตก ที่มีหมีสีน้ำตาล แมวป่า กวางโร แกะป่า สุนัขจิ้งจอก และหมูป่า

ประวัติศาสตร์

[แก้]
วิหารพาร์เธนอนในเอเธนส์

ยุคโบราณ

[แก้]

ในยุคสำริด 3,000-2,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นยุคที่อารยธรรมชนเผ่าไซแคลดิกและไมซีแนเอียนกำลังมีอิทธิพลรุ่งเรืองอยู่ในกรีซ แต่พอถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล อิทธิพลของวัฒนธรรมไซแคลดิกและไมซีแนเอียนก็ถึงกาลเสื่อมสลายลง เพราะถูกรุกรานโดยนักรบเผ่าดอเรียนที่รุกมาจากทางเหนือ อารยธรรมต่าง ๆ ในกรีซจึงเริ่มเข้าสู่ยุคมืด

ช่วงเวลา 800 ปีก่อนคริสตกาล เป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมกรีซเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง วัฒนธรรมและกิจการทหารของกรีซเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เมืองเอเธนส์ลัสปาต้าเป็นศูนย์กลางของอำนาจมหาอาณาจักรกรีซประกอบด้วยอิตาลีทางตอนใต้อันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ กรีซย่างก้าวเข้าสู่ยุคคลาสสิกหรือยุคทอง ในยุคนี้เองนักปราชญ์ชื่อ เพเรอคลิส ผู้ทำให้วิหารพาร์เธนอนเป็นที่รู้จักของชาวโลก โซโฟคลิสได้เขียนมหากาพย์อีดิปุสขึ้น และโสกราตีสหรือซาเครอทิส ได้เริ่มการสอนลูกศิษย์ชาวเอเธนส์ให้รู้จักวิชาตรรกวิทยาและหลักการของประชาธิปไตย ต่อมาไม่นานนักยุคทองของกรีซก็ถึงจุดเสื่อม แล้วกรีซก็เข้าสู่ยุคสงครามเปลโอปอนนีเซียน ซึ่งกองทหารอันเกรียงไกรของเปอร์เซียได้ยกกำลังเข้าบดขยี้ชาวเอเธนส์เสียจนย่อยยับ

ในขณะที่กองทัพเปอร์เซียกำลังรุกรานกรีซอย่างย่ามใจทางตอนเหนือ พระเจ้าฟิลิปแห่งอาณาจักรมาซิโดเนียกำลังไล่ตีเมืองเล็กเมืองน้อยรุกคืบเข้ามาใกล้กรีซทุกที แต่ทว่าความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้พิชิตในภูมิภาคนี้ของพระเจ้าฟิลิปก็ถูกบดบังรัศมีโดยโอรสของพระองค์เองคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้สามารถยาตราทัพไปถึงเอเชียไมเนอร์และอียิปต์ ซึ่งที่อียิปต์นี้เองพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นฟาโรห์ ผู้สร้างเมืองอเล็กซานเดรีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถยกทัพไปถึงเปอร์เซียและดินแดนส่วนที่เป็นอินเดียและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ในรัชสมัยของอาณาจักรมาซิโดเนียเรียกกันว่า ยุคเฮลเลนิสติก (Hellenistic Period) เพราะยุคนี้มีการผสมผสานปรัชญาและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของชนชั้นปกครองจนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ศิวิไลซ์ยิ่งขึ้น หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุ 33 ปีแล้ว มีกษัตริย์ปกครองกรีซสืบต่อมาอีก 3 รัชกาล

ครั้นถึงปีที่ 205 ก่อนคริสต์ศักราช อิทธิพลของโรมันแผ่ขยายเข้ารุกรานกรีซ และเมื่อถึงปี 146 ก่อนคริสตกาล กรีซกับมาซิโดเนียตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน หลังจากที่มีการแบ่งอาณาจักรโรมันเป็นอาณาจักรตะวันออกและตะวันตก กรีซได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไบแซนไทน์ และเมื่อเกิดสงครามครูเสดขึ้น อิทธิพลของอาณาจักรไบแซนไทน์ก็เสื่อมถอยเพราะถูกรุกรานโดยชาวเวนิส กาตาลา เจนัว แฟรงก์ และนอร์มัน

ยุคกลาง

[แก้]

ใน ค.ศ. 1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกพวกเติร์กยึดครอง และเมื่อถึง ค.ศ. 1500 ดินแดนของกรีซทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้อำนาจของเติร์ก ดินแดนที่เป็นกรีซในปัจจุบันแต่ก่อนเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือของยุโรปตอนกลางและเป็นที่ชุนนุมนักปราชญ์กับศิลปินของโลก เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านกรีกที่มีประเพณีและวัฒนธรรมของกรีกออร์ทอดอกซ์ ในการทำสงครามเพื่อกู้เอกราชจากเติร์ก กรีซได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากนักคิด นักเขียน และนักปรัชญา เช่น ไบรอน แชลเลย์ และเกอเธ อย่างไรก็ตามการต่อสู้ที่ขาดเอกภาพของกรีซ ทำให้ฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษ ตัดสินใจเข้ามาแทรกแซง หลังจากกรีซได้รับเอกราชแล้ว กลุ่มอำนาจในยุโรปมีความเห็นว่ากรีซควรมีการปกครองระบบกษัตริย์จึงได้จัดการให้กษัตริย์ออตโตแห่งบาวาเรีย เป็นกษัตริย์ปกครองกรีซใน ค.ศ. 1833 หลังจากนั้นกรีซก็มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์อีกหลายพระองค์ด้วยกัน จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงได้รับพระราชทานกฎหมายรัฐธรรมนูญให้กรีซใน ค.ศ. 1864 ทำให้กรีซมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ยุคใหม่

[แก้]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพกรีซอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และเข้ายึดครองเมืองเทรซ เมื่อสงครามโลกยุติ กรีซได้ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยปลดปล่อยเมืองสเมอร์นาของตุรกี (ปัจจุบันคืออิซมีร์) ให้ได้รับอิสรภาพ เพราะเมืองนี้มีประชาชนชาวกรีกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กองกำลังกรีกถูกต่อต้านอย่างแข็งแกร่งจากกองทัพของอตาเติร์ก ซึ่งได้เข่นฆ่าชาวกรีกในเมืองนั้นเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก ผลของสงครามนี้ทำให้มีการตกลงแลกเปลี่ยนพลเมืองของ 2 ประเทศกันใน ค.ศ. 1923 ประชากรกรีกเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีผู้อพยพชาวคริสเตียนมาอยู่ในกรีซมากถึง 1,300,000 คน ทำให้กรีซมีปัญหาด้านเศรษฐกิจตามมา คนเหล่านี้กระจายกันไปอยู่นอกเมือง ภายหลังมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานต่าง ๆ ขึ้นในกลุ่มพวกอพยพที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองรอบนอก และใน ค.ศ. 1936 พรรคคอมมิวนิสต์ในกรีซก็เติบโตและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการสนับสนุนของประชาชนทั่วประเทศ

ปี ค.ศ. 1936 นายพลเมเตอซัส ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นผู้ปกครองประเทศที่นิยมการปกครองแบบเผด็จการ ถึงแม้ว่าจะได้เห็นความเป็นไปในชะตากรรมของพวกนาซีเยอรมนี แต่ตัวเขาเองกลับกระทำการต่าง ๆ ที่ทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็นภาพจำลองของอาณาจักรไรน์ในกรีซ นายพลเมเตอซัสทำการต่อต้านไม่ยอมให้เยอรมนีกับอิตาลีเดินทัพผ่านกรีซ ถึงแม้ว่ากลุ่มสัมพันธมิตรจะเข้าช่วยกรีซแต่กรีซก็ต้องตกเป็นของเยอรมนีใน ค.ศ. 1941 เป็นผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดขึ้นในกรีซ และยุติลงใน ค.ศ. 1949 โดยฝ่ายนิยมกษัตริย์อ้างชัยชนะ

ในช่วงเวลานั้นสหรัฐกำลังเคร่งครัดในลัทธิทรูแมน รัฐบาลอเมริกันในขณะนั้น มีนโยบายให้เงินก้อนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลที่ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ แต่ความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะครองเมืองทำให้คณะทหารของกรีซทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อ ค.ศ. 1967[20] กล่าวกันว่าการปฏิวัติในกรีซเป็นผลมาจากการแทรกแซงทางการเมืองของหน่วยงานซีไอเอของสหรัฐที่เข้ามาปฏิบัติการในทวีปยุโรปกลุ่มทหารที่ครองอำนาจในกรัซทำตนมีอำนาจเหนือราษฎรและทำการกดขี่ข่มเหงประชาชน ยิ่งกว่านั้นคณะนายพลของทหารกรีซได้ทำการวางแผนลอบสังหารผู้นำของไซปรัสในขณะนั้น เป็นผลให้ตุรกีฉวยโอกาสเข้ารุกเข้ายึดครองตอนเหนือของไซปรัส ทำใหเหตุการณ์นี้เป็นข้อบาดหมางระหว่างกรีซกับตุรกีมาจนถึงทุกวันนี้

ใน ค.ศ. 1981 กรีซเข้าเป็นสมาชิกสมาคมสหภาพยุโรป พรรคสังคมนิยม PASOK นำโดยนายแอนเดรียส์ ปาปันเดรโอ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลให้สัญญาว่าจะจัดการให้สหรัฐย้ายฐานทัพอากาศออกไปจากกรีซและกรีซจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของนาโตแต่รัฐบาลทำไม่สำเร็จ สตรีชาวกรีซเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงประเพณีเรื่องสินสอดและเรียกร้องให้กฎหมายสนับสนุนการทำแท้งเสรีความไม่สงบในประเทศทำให้ปาปันเดรโอกับรัฐบาลของเขาเสียอำนาจการปกครองประเทศให้กับรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1989 การเลือกตั้งในกรีซเมื่อ ค.ศ. 1990 พรรคอนุรักษนิยมได้ที่นั่งมากที่สุดและได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศแต่ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งใหม่ใน ค.ศ. 1993 กรีซได้ปาปันเดรโอผู้นำเฒ่าของพรรคเสรีนิยมกลับมาครองอำนาจกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ท่านผู้นำถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ. 1996 หลังจากที่ท่านลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองกรีซได้ผู้นำคนใหม่ชื่อ คอสทาส สมิทิส ต่อมากรีซกับตุรกีขัดแย้งกันอย่างหนักจนใกล้จะระเบิดสงครามเมื่อผู้สื่อข่าวของตุรกีได้นำธงชาติกรีซมาย่ำยีเล่น สมิทิสได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีกรีซอีกครั้ง รัฐบาลใหม่ให้สัญญากับประชาชนว่าจะเร่งการนำประเทศเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอียู นายกรัฐมนตรีเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของอังกฤษตั้งแต่สมิทิสมีอำนาจในการบริหารประเทศเขามีนโยบายเห็นด้วยกับกลุ่มฝ่ายค้านพรรคประชาธิปไตยใหม่แทบทุกเรื่อง

การเมืองการปกครอง

[แก้]
อาคารรัฐสภากรีซ

กรีซมีการปกครองแบบสาธารณรัฐรัฐสภา หลังจากที่ประชาชนลงมติให้เลิกล้มการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1974 วันประกาศอิสรภาพของกรีซคือวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1821 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของกรีซประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1975 แก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 และเดือนเมษายน ค.ศ. 2001

ระบบกฎหมายของกรีซมีพื้นฐานมาจากหลักกฎหมายของโรมัน

กรีซมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา อยู่ตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีที่ได้มาจากการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี

สมาชิกนิติบัญญัติได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีจำนวน 300 ที่นั่ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

กรีซแบ่งการปกครองประเทศออกเป็น 13 ภูมิภาค (regions) มี 9 แคว้นบนพื้นแผ่นดินใหญ่ และ 4 แคว้นบนหมู่เกาะ* แคว้นต่าง ๆ จะแบ่งเป็นจังหวัด รวม 54 จังหวัด (prefectures - nomos)

  1. อัตติกะ (Attica)
  2. เซนทรัลกรีซ (Central Greece)
  3. เซนทรัลมาซิโดเนีย (Central Macedonia)
  4. ครีต (Crete)
  5. อีสต์มาซิโดเนียและเทรซ (East Macedonia and Thrace)
  6. อิไพรัส (Epirus)
  7. ไอโอเนียนไอแลนส์ (Ionian Islands)
  8. นอร์ทอีเจียน (North Aegean)
  9. เพโลพอนนีส (Peloponnese)
  10. เซาท์อีเจียน (South Aegean)
  11. เทสซาลี (Thessaly)
  12. เวสต์กรีซ (West Greece)
  13. เวสต์มาซิโดเนีย (West Macedonia)

แผนที่แสดงเขตการปกครองของกรีซ

นอกจากนี้ทางแถบมาซิโดเนีย ยังมี เขตปกครองตนเอง (autonomous region) ของสงฆ์หนึ่งแห่ง คือ เมานต์อะทอส (Mount Athos)

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

[แก้]
ความสัมพันธ์กรีซ – ไทย
Map indicating location of กรีซ and ไทย

กรีซ

ไทย
  • การทูต

ไทยและกรีซได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ในช่วงแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ดูแลประเทศกรีซในฐานะประเทศในเขตอาณา ต่อมา ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1985 มีหน้าที่ดูแลสาธารณรัฐมอลตาในฐานะประเทศในเขตอาณา และติดตามสถานการณ์ในเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (อดีตสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย) รวมทั้งดูแลความสัมพันธ์ไทย - นอร์ทมาซิโดเนีย อย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ มีสำนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำกรุงเอเธนส์ด้วย ในขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสำนักงานแรงงาน ณ กรุงเอเธนส์ได้ปิดลงก่อนหน้านี้ ส่วนกรีซได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1989 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศใกล้เคียง อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา และเปิดสำนักงานพาณิชย์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ปัจจุบัน นายชัยเลิศ ลิ้มสมบูรณ์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรีซ ส่วนเอกอัครราชทูตกรีซประจำประเทศไทยได้แก่นายนิโคลาออส ไกเมนากีส (H.E. Mr. Nikolaos Kaimenakis)

  • การค้าและเศรษฐกิจ

การค้ารวมระหว่างไทย-กรีซมีมูลค่าเฉลี่ย 272 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขฝ่ายไทยโดยเป็นค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น โดยไทยส่งออก 247 ล้านเหรียญสหรัฐ  นำเข้า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ  และได้เปรียบดุลการค้า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ในขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าประกอบด้วยผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผลไม้ และยารักษาโรค เป็นต้น สำหรับการลงทุนระหว่างกัน ยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปัจจุบัน

ในภาพรวม การนำเข้า - ส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับกรีซดำเนินไปด้วยดี โดยมักผ่านทางผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งบางครั้งพบอุปสรรคในการตรวจพบสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก และมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน เช่น ไม่ชำระเงิน จัดส่งสินค้าไม่ครบ / ล่าช้า / ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกรีซสามารถขยายตัวได้อีกมาก หากนักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความสนใจตลาด และศึกษาโอกาส ลู่ทาง และศักยภาพของกันและกันมากกว่าที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับโลก ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในตลาดกรีซ อาทิ

  1. รถบรรทุกเล็ก
  2. รถจักรยานยนต์ / อุปกรณ์  
  3. เครื่องปรับอากาศ / เครื่องทำความเย็น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มร้อนขึ้นในกรีซ 
  4. เสื้อผ้า/เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะที่ออกแบบสวยงาม / คุณภาพดี เพื่อสร้างความแตกต่างจากเสื้อผ้านำเข้าราคาถูก  
  5. เครื่องประดับ อัญมณี  
  6. สินค้าอาหาร / อาหารกระป๋อง (ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ฯลฯ) และ
  7. กลุ่มสินค้าที่เน้นการออกแบบในระดับราคาต่าง ๆ (เฟอร์นิเจอร์บ้าน / สำนักงาน อุปกรณ์ / ของประดับบ้าน ฯลฯ) เป็นต้น

นอกจากนี้  การลงทุน และประกอบธุรกิจร่วมระหว่างไทย - กรีซ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ควรศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากกรีซมีนักธุรกิจร่ำรวยจำนวนมาก ซึ่งนิยมนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ กอปรกับได้ชื่อว่า มีชั้นเชิงทางธุรกิจสูง และมีทักษะเรื่องการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศเพื่อนบ้านของกรีซ ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยสามารถหาหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เหมาะสมได้ ก็จะช่วยกระจายสินค้าไทยไปสู่ตลาดบอลข่าน ซึ่งไทยยังไม่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี

เศรษฐกิจ

[แก้]
ลักษณะทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกรีซ เรียงจากบนลงล่าง: การเกษตร, การค้าขายทางเรือ และ การท่องเที่ยวชายหาด
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 172.5 พันล้าน USD (2546) 201.1 พันล้าน USD (2545)
  • GDP Per Capita 16,223 USD (2546) 19,000 USD (2545)
  • อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.3 (2546) ร้อยละ 3.5 (2545)
  • อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.4 (2546) ร้อยละ 3.6 (2545)
  • อัตราการว่างงาน ร้อยละ 9.4 (2546) ร้อยละ 10.3 (2545)
  • ปริมาณการส่งออก 7.8 พันล้าน USD (2546) 12.6 พันล้าน USD (2545)
  • ปริมาณการนำเข้า 35.2 พันล้าน USD (2546) 31.4 พันล้าน USD (2545)
  • สินค้าส่งออกสำคัญ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคม
  • สินค้าเข้าสำคัญ เครื่องจักรอุตสาหกรรม อุปกรณ์ยานพาหนะ พลังงาน
  • ตลาดส่งออกสำคัญ อียู (44%) สหรัฐอเมริกา และบัลแกเรีย (5.7%) ไซปรัส (4.8%) FYROM (3.7%)
  • ตลาดนำเข้าสำคัญ อียู (50.8%) รัสเซีย (5.3%) ซาอุดิอาระเบีย (3.5%) สหรัฐอเมริกา (3.3%) อิหร่าน (3.2%)

ประชากรศาสตร์

[แก้]

เมืองใหญ่

[แก้]
กรุงเอเธนส์ มีประชากรอาศัยมากที่สุดในประเทศ

วัฒนธรรม

[แก้]

นักปรัชญา

[แก้]
รูปปั้นของเพลโตในกรุงเอเธนส์

นักปรัชญากรีซที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในฐานะ เสาหลักของปรัชญาตะวันตก มีอยู่ 3 คนคือ โสกราตีส เพลโต และอริสโตเติล

  • โสกราตีส เกิดที่กรุงเอเธนส์ เมื่อ 470 ปีก่อนคริสตกาล เคยได้เข้าร่วมในการทำสงครามเปลโอปอนนีเซียน หลังจากนั้นเขาอุทิศเป็นผู้สอนวิชาตรรกวิทยา “Know Thyself” ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ วิธีการสอนของโสกราตีสคือการตั้งคำถามและตอบ เมื่ออายุ 70 ปี โสกราตีสต้องโทษตามกฎหมายกรีซให้ดื่มยาพิษ
  • เพลโต เกิดที่กรุมเอเธนส์เมื่อ 428 ปี ก่อนคริสตกาล เขาเป็นลูกศิษย์ของโสกราตีสที่เคารพและเทิดทูนโสกราตีสมาก เพลโตได้ตั้งวิทยาลัยสอนวิชาวิทยาศาสตร์และปรัชญาขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงเอเธนส์เมื่อ 387 ปีก่อนคริสต์ศักราช ผลงานเขียนของเพลโตเป็นคำสอนรูปของบทสนทนาในหนังสือชื่อ The Republic ของเพลโต เพลโตแยกพลเมืองออกเป็น 3 กลุ่มคือ ประชาชน ทหาร และผู้ปกครองประเทศ เพลโตเป็นผู้ให้หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับอธิปไตยไว้อย่างชัดเจนว่า หญิงและ ชาย มีฐานะเท่าเทียมกันและจะต้องได้รับการศึกษาเหมือนกัน รัฐจะต้องจัดการแต่งงานให้ประชาชน เด็กแรกเกิดจะถูกแยกจากพ่อ แม่เพื่อประชาชนจะได้ไม่มีความผูกพันเป็นส่วนตัวเพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกในความเป็นเจ้าของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว
  • อริสโตเติล เกิดที่เมืองสตากิรา ภูมิภาคมาซีโดเนีย เมื่อ 384 ปีก่อนคริสตกาล เขาเดินทางไปเอเธนส์เพื่อศึกษาวิชาปรัชญาที่สำนักของเพลโตเมื่อ 367 ปีก่อนคริสตกาลและพำนักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 20 ปี จนกระทั่งเพลโตถึงแก่กรรม จึงเดินทางไปเผยแพร่คำสอนตามหลักปรัชญาของเพลโตในที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 10 ปี แล้วจึงตั้งสำนักศึกษาของเขาเองชื่อว่า The Lyceum นาน 12 ปี

อริสโตเติลเป็นนักคิดคนแรกที่ค้นพบวิชา ตรรกวิทยา โดยอาศัยข้อเท็จจริง 2 ข้อ สนับสนุนกันและกัน เช้น ความดีทุกอย่างควรสรรเสริญ และความกรุณาก็เป็นความดีอันหนึ่ง ฉะนั้นความกรุณาจึงควรได้รับการสรรเสริญด้วย เป็นต้น วรรณคดี

นักกวี

[แก้]

กวีสมัยโบราณที่ยิ่งใหญ่ของกรีซคือ โฮเมอร์กับ ฮีเสียดทั้ง 2 ท่านได้เขียนมหากาพย์ที่สำคัญ หลายเรื่อง และมหากาพย์เรื่องกรุงทรอยอยู่ด้วย นักเขียนนักค้นคว้าชื่อ เฮ็นริช ชีลมานน์ ได้ค้นคว้าเรื่องเมืองทรอย จนค้นพบว่ามีอยู่จริง ที่เมือง Hissarlik ทางตอนเหนือของตุรกีในอดีตกาล เมื่อพบเมืองทรอยแล้ว ชีลมานน์ขุดค้นพบประวัติศาสตร์ในยุคบรอนซ์ตามที่อ้างในมหากาพย์ของโฮเมอร์ต่อไป การขุดหาสมบัติในวรรณคดีของเขานำไปสู่การค้นพบ 3 นครสำคัญ ที่ได้ชื่อว่า กนกนคร ตามประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของโฮเมอร์นั่นคือ Mycenae, Tiryns และ Orchomenos ก่อนที่นักเขียนนักค้นคว้าคนสำคัญของโลกจะตายไป เขาได้เผยให้เห็นเค้าโครงรูปร่างของอาณาจักรมาซิเนียนให้ประจักษ์แก่ตาชาวโลก

นักค้นคว้า

[แก้]

นักค้นคว้าชื่อ อาร์เธอร์ อีแวนส์ค้นพบแหล่งอารยธรรมมิโนอัน และร่องรอยของอารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรไมนอส ซึ่งเป็นการยืนยันว่า โฮเมอร์ มหากวีเอกของโลกชาวกรีก ได้บันทึกเรื่องราวของยุคสมัยไว้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง มิได้เขียนขึ้นจากความคิดเพ้อฝันแต่อย่างใด

สถาปัตยกรรม

[แก้]
สนามกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ

กรีซมีชื่อเสียงทางเรื่องศิลปะเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นและสง่างามของเสาหินแบบวิหารพาร์เธนอน ที่ตกแต่งตรงส่วนบนของหัวเสาด้วยศิลปะแบบกรีกมี 3 แบบ คือ ดอริก, ไอโอนิก และคอรินเธียน จะเห็นเสาหินแบบกรีกเป็นส่วนตกแต่งด้านหน้าของอาคารสำคัญ ๆ และสิ่งก่อสร้างที่เป็นงานสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อของโลกตามเมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย สถานที่ทำงานสำคัญ ๆ ของประเทศที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ล้วนนำสถาปัตยกรรมศิลป์ของกรีซไปประยุคผสมผสาน ในการก่อสร้างเป็นการยอมรับในอารยธรรมที่รุ่งเรืองของกรีซโบราณและเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เคยเฟื่องฟูในอดีตของกรีซไปทุกมุมโลกนอกจาก งานสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกรีซที่เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว งานจิตรกรรมและประติมากรรมของกรีซยังเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง ๆ พยายามเสาะหามาเป็นสมบัติเก็บสะสมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงแม้งานศิลปะชั้นเยี่ยมของกรีซจะกลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศอื่นแต่กรีซก็ยังมีงานศิลปะโบราณอยู่ในประเทศอีกมาก

อาหาร

[แก้]
สลัดกรีก เสริ์ฟพร้อมเฟตาและมะกอกออลิฟ

อาหารของชาวกรีกสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนได้เป็นอย่างดี โดยผสมผสานวัตถุที่สดใหม่และมีความหลากหลาย ที่มีชื่อเสียงได้แก่ สลัดกรีกคลาสสิก ฟาโซลาดา สปานาโกปิตา และซูฟลากิ อาหารบางจานสามารถสืบย้อนไปถึงสมัยกรีกโบราณได้ เช่น สกอร์ดาเลีย (วอลนัท อัลมอนด์ กระเทียมบด และน้ำมันมะกอก) ซุปถั่วเลนทิล เรตซินา (ไวน์ขาวหรือไวน์โรเซ่ปิดผนึกด้วยเรซินสน) และพาสเทล (ลูกกวาดอบเมล็ดงาอบ) กับน้ำผึ้ง) ทั่วทั้งประเทศกรีซ ผู้คนมักเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารจานเล็ก ๆ เช่น meze กับน้ำจิ้มต่างๆ เช่น tzatziki ปลาหมึกย่าง และปลาตัวเล็ก เฟต้าชีส dolmades (ข้าว ลูกเกด และเมล็ดสนห่อด้วยใบเถา) ถั่วต่าง ๆ มะกอกและชีส และน้ำมันมะกอกเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารเกือบทุกชนิด

ดนตรี และ นาฎศิลป์

[แก้]

การละครยุคกรีก (250 ปีก่อน พ.ศ. – พ.ศ. 250)

[แก้]

ละครกรีกสันนิษฐานว่า ถือกำเนิดขึ้นประมาณ 800 – 700 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มจากการประกวดการร้องรำทำเพลงเป็นหมู่ (Choral dance) ซึ่งเรียกว่า ดิธีแรมบ์ (dithyramb) ในเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นและความอุดมสมบูรณ์ จากการร้องรำทำเพลงเป็นหมู่โดยกลุ่มคนที่เรียกว่า คอรัส (Chorus) ในการแสดงดิธีแรมบ์ ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การแสดงในรูปแบบของละคร กล่าวคือมีนักแสดงเดี่ยว ๆ แยกออกมาต่างหาก และทำการสนทนาโต้ตอบกับกลุ่มคอรัส ฉะนั้น แทนที่จะเป็นเพียงการร้องเพลงเล่าเรื่องจากพวกคอรัสตรง ๆ ก็เปลี่ยนเป็นการสนทนาระหว่างตัวละครกับกลุ่มคอรัส

ในปี 534 ก่อนคริสตกาล เริ่มมีการประกวดการแต่งบทและการจัดแสดงละครแทรเจดี นักการละครชื่อ เธสพิส (Thespis) เป็นผู้ชนะการประกวดครั้งแรกนี้ ละครของเธสพิสใช้นักแสดงเพียงคนเดียว เล่นทุกบทที่มีอยู่ในละครเรื่องนั้น โดยใช้การเปลี่ยนหน้ากาก เป็นการเปลี่ยนบทที่แสดง และมีคอรัสเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวเข้าด้วยกัน 500 ปีก่อนคริสตกาล ถือว่าเป็นยุคทองของการละครกรีก มีการประกวดเขียนบทละครและจัดการแสดงละครในด้านต่าง ๆ ทำให้การละครรุ่งเรืองมาก บทละครส่วนใหญ่ของกรีกที่เหลือมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นบทละครที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลนี่เอง ประเภทของละครกรีก

ละครกรีก ที่หลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ

  1. ละครแทรเจดี (Tragedy)

ละครแทรเจดีของกรีกแสดงให้เห็นชีวิตตัวละครตัวเอก ที่มีความน่ายกย่องสรรเสริญ แต่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจของชะตากรรมซึ่งเทพเจ้าเป็นผู้ลิขิต แม้ว่าในที่สุดจะต้องพ่ายแพ้และประสบหายนะ แต่เป็นความพ่ายแพ้ที่ดิ้นรนต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว เรื่องราวของละครกรีกยุคแรก ๆ เป็นการสรรเสริญและเล่าเรื่องราวเทพเจ้า โดยมักนำโครงเรื่องมาจากมหากาพย์อีเลียด (Iliad) และ โอดิสซี (Odyssey)

  1. ละครคอมเมดี (Comedy)

ละครคอมเมดีเป็นละครที่ให้ความรู้สึกตลกขบขัน เพราะความบกพร่องของมนุษย์ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ซึ่งเกี่ยวกับการเมือง สงครามและสันติภาพ ทัศนะเกี่ยวกับศิลปะในแง่ต่าง ๆ การโจมตีหรือเสียดสีตัวบุคคล ฯลฯ คอมเมดีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ มากกว่านำมาจากตำนานเช่นแทรเจดี

วันหยุด

[แก้]

กฎหมายของกรีซระบุว่าทุกวันอาทิตย์ถือเป็นวันหยุดราชการ และวันหยุดสาธารณะ โดยถือเป็นวันพักผ่อนของประชากรมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และยังมีวันหยุดสำคัญดังต่อไปนี้: วันชาติกรีก (25 มีนาคม), เทศกาลอีสเตอร์ (15 สิงหาคม), วันคริสต์มาส (25 ธันวาคม), วันแรงงาน (1 พฤษภาคม) และวันโอไฮ (28 ตุลาคม)

กีฬา

[แก้]
ฟุตบอลทีมชาติกรีซใน ค.ศ. 2013

กรีซเป็นประเทศต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิก โดยมีหลักฐานในบันทึกครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งจัดขึ้นที่ โอลิมเปีย และเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่มาแล้วสองครั้งใน โอลิมปิกฤดูร้อน 1896 ซึ่งเป็นโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก และล่าสุดในโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ขบวนพาเหรดนักกีฬาของกรีซมักได้รับเกียรติให้เดินขบวนเป็นชาติแรกในการแข่งขันโอลิมปิกทุกครั้ง ในฐานะที่เป็นชาติต้นกำเนิดของกีฬาดังกล่าว กรีซเป็น 1 ใน 4 ชาติที่ร่วมแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนทุกครั้ง และชนะเหรียญรางวัลรวม 110 เหรียญ (30 เหรียญทอง, 42 เหรียญเงิน และ 38 เหรียญทองแดง) อยู่ในอันดับที่ 32 จากการจัดอันดับจำนวนเหรียญรางวัลตลอดกาล ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาคือโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1896 ซึ่งคว้าไป 10 เหรียญทอง

ฟุตบอลทีมชาติกรีซ ขึ้นถึงอันดับ 8 ของโลกใน ค.ศ. 2011 และ 2008 และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการชนะการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2004 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในรายการการแข่งขันกีฬาที่มีผลการแข่งขันเหนือความคาดหมายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์[22] ซูเปอร์ลีกกรีซ ถือเป็นลีกสูงสุดของประเทศประกอบไปด้วยสมาชิก 14 สโมสร ทีมที่มีชื่อเสียงได้แก่ โอลิมเบียโกส, ปานาซีไนโกส และ อาเอกเอเธนส์

บาสเกตบอลชายของกรีซเป็นหนึ่งในทีมที่มีชื่อเสียงในยุโรป เคยขึ้นถึงอันดับ 4 ของโลกใน ค.ศ. 2012 และอันดับ 2 ของยุโรปในขณะนั้นชนะเลิศการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรป 2 สมัยใน ค.ศ. 1987 และ 2005 และทำอันดับติด 1 ใน 4 ในบาสเกตบอลชิงแชมป์โลก 3 ครั้ง กีฬาอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมได้แก่โปโลน้ำ วอลเลย์บอล และแฮนด์บอล

หมายเหตุ

[แก้]
  1. คริสตจักรแห่งกรีซเป็นที่ยอมรับโดยรัฐธรรมนูญของกรีก เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในกรีซ[1] และเป็นประเทศเดียวในโลกที่อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสนาประจำชาติอย่างชัดเจน[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [1] The Constitution of Greece: Section II Relations of Church and State: Article 3, Hellenic Resources network.
  2. Enyedi, Zsolt; Madeley, John T.S. (2 August 2004). Church and State in Contemporary Europe. Routledge. p. 228. ISBN 9781135761417. Both as a state church and as a national church, the Orthodox Church of Greece has a lot in common with Protestant state churches, and even with Catholicism in some countries.
  3. "Religious Belief and National Belonging in Central and Eastern Europe". Pew Research Center. 10 May 2017. สืบค้นเมื่อ 9 September 2017.
  4. "Country Comparison: Area". The World Factbook. Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-13. สืบค้นเมื่อ 7 January 2013.
  5. "Surface water and surface water change". Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
  6. "Statistics - ELSTAT". www.statistics.gr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-05. สืบค้นเมื่อ 30 April 2021.
  7. Απογραφή Πληθυσμού – Κατοικιών 2011. ΜΟΝΙΜΟΣ Πληθυσμός [Results of Population-Housing Census 2011 concerning the permanent population of the country] (ภาษากรีก). 20 March 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-11-24. สืบค้นเมื่อ 25 October 2016.
  8. "Announcement of the results of the 2011 Population Census for the Resident Population" (PDF). Hellenic Statistical Authority. 28 December 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 November 2013. สืบค้นเมื่อ 24 August 2013.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "World Economic Outlook Database: October 2021". Washington, D.C.: International Monetary Fund. 12 October 2021. สืบค้นเมื่อ 12 October 2021.
  10. "Income inequality, 2020". Piraeus: Hellenic Statistical Authority. 23 September 2021. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-29. สืบค้นเมื่อ 23 September 2021.
  11. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  12. "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  13. "Greece Population 2022 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
  14. Editors, History com. "Ancient Greece". HISTORY (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  15. "Greek History". ancient-greece.org.
  16. "War of Greek Independence | History, Facts, & Combatants | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  17. "Greece Economy: Population, Facts, GDP, Unemployment, Trade, Corruption". www.heritage.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-18. สืบค้นเมื่อ 2022-04-08.
  18. Centre, UNESCO World Heritage. "Greece - UNESCO World Heritage Convention". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  19. "ancient Greek civilization | History, Map, Culture, Politics, Religion, Achievements, & Facts | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  20. ศาสตรา โตอ่อน. "เหตุแห่งการรัฐประหารในกรีก ปี 1967 เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยสองขั้ว เอาและไม่เอารัฐประหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (HTML)เมื่อ 2011-10-03. สืบค้นเมื่อ 2011-10-02.
  21. "2011 census".
  22. "Greece win Euro 2004" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2004-07-04. สืบค้นเมื่อ 2022-04-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

รัฐบาล

[แก้]

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]
พาณิชย์