กบฏหือฉง
กบฏหือฉง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามยุคสิ้นราชวงศ์ฮั่น | |||||||
กบฏก่อการในเมืองห้อยเขในพื้นที่ทางตะวันนออกของมณฑลยังจิ๋ว | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชวงศ์ฮั่น | รัฐเยฺว่ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
จาง หมิน เฉิน อิ๋น อิ่น ตฺวาน ซุนเกี๋ยน |
หือฉง † สฺวี่ เชิง † จฺวี คาง † | ||||||
หน่วยที่เกี่ยวข้อง | |||||||
กองทัพหลวงของของราชวงศ์ฮั่น รวมถึงกองทหารอาสาท้องถิ่น | กองกำลังของลัทธิและชนเผ่า |
กบฏหือฉง เป็นการก่อกบฏระหว่างปี ค.ศ. 172 ถึง 174 เมื่อผู้นำลัทธิชื่อหือฉง (สฺวี่ ชาง) ได้ก่อการจลาจลครั้งใหญ่ต่อต้านราชวงศ์ฮั่นของจีนในเมืองห้อยเข (ไคว่จี) หือฉงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิพร้อมกับประกาศฟื้นฟูรัฐเยฺว่โบราณ หือฉงกับผู้ติดตามประสบความสำเร็จในขั้นต้นและยึดได้พื้นที่โดยมากของเมืองห้อยเข ราชสำนักราชวงศ์ฮั่นจึงแต่งตั้งให้จาง หมินเป็นแม่ทัพของกองกำลังท้องถิ่นที่อยู่ฝ่ายราชสำนักและระดมทหารจากทั่วมณฑลยังจิ๋ว (หยางโจว) ในที่สุดเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ. 174 พวกกบฏก็ถูกปราบปรามราบคาบ
แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
[แก้]กบฏหือฉงถูกกล่าวถึงในหลายแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ได้แก่ โฮ่วฮั่นชู, สามก๊กจี่, จือจื้อทงเจี้ยน และ ตงกฺวานฮั่นจี้ แหล่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการกบฏ และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายแง่มุม รวมถึงเรื่องชื่อและตำแหน่งผู้นำกลุ่มกบฏ ความแตกต่างบางอย่างสามารถปรับเข้าหากันได้ โดยชื่อผู้นำกลุ่มบกฏที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ "หือฉง" หรือชื่อภาษาจีนกลางว่า "สฺวี่ ชาง" (許昌) เนื่องจากชื่อนี้มีความเกี่ยวข้องกับคำทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนราชวงศ์ตามที่ระบุในจั่วจฺว้าน[1] ในช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หลายคนเชื่อคำทำนายที่อ้างว่าจะมีคนผู้หนึ่งที่มีชื่อหรือมีหรือเกี่ยวข้องกับชื่อ "สฺวี่ชาง" จะเป็นผู้ล้มล้างราชวงศ์ฮั่น นักจีนวิทยาเรฟ เดอ เครสพิกนี[2] แย้งว่าหัวหน้ากบฏอาจอาศัยใช้ชื่อของตนเป็นข้ออ้างในการก่อกบฏ หรือาจจะถึงกับตั้งชื่อตนว่า "สฺวี่ ชาง" (หือฉง) เพื่อให้เข้ากับคำทำนาย[1]
ภูมิหลัง
[แก้]ราชวงศ์ฮั่นของจีนเผชิญกับภาวะยุ่งเหยิงที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษที่ 160 และ 170 เนื่องจากราชสำนักมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นเหล่าและมีฉ้อราษฎร์บังหลวงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อำนาจในระดับภูมิภาคได้รับผลกระทบจากความพ่ายแพ้ในการรบที่ชายแดนทางเหนือ ตลอดจนความตึงเครียดของเหล่าชนชั้นสูงในท้องถิ่นทั่วทั้งจักรวรรดิ แม้จะประสบปัญหาเหล่านี้ จักรวรรดิฮั่นก็ยังคงค่อนข้างมีเสถียรภาพ[1] แม้ว่าขบวนการลัทธิจะเผยแพร่ออกไปยังคนหมู่มากที่แสวงหาความอยู่รอดจากโรคระบาดและความอดอยาก ภูมิภาคบริเวณแม่น้ำแยงซีตอนล่างเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของลัทธินอกรีตที่ต่อต้านอุดมการณ์ของรัฐตามคติลัทธิขงจื๊อ ลัทธินอกรีตจำนวนมากให้คำมั่นว่าจะให้การรักษาโรคระบาดและให้ศาสตร์ลึกลับ[1][3] ลัทธิท้องถิ่นหนึ่งนำโดยชายชื่อหือฉง (สฺวี่ ชาง)[1][3] ซึ่งอ้างว่าตนมีพลังเหนือธรรมชาติ[3] ผู้ติดตามของหือฉงอาจเป็นทั้งชาวจีนฮั่นและชาวเผ่าเยฺว่[3]
การก่อกบฏ
[แก้]หือฉงก่อการจลาจลที่อำเภอโกวจาง (句章縣 โกวจางเซี่ยน; ภายในนครหนิงปัวในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 172[3] ตั้งตนเองเป็น "พระเจ้ายังเป๋ง" (陽明皇帝 หยางหมิงหฺวังตี้) และแต่งตั้งสฺวี่ เชิง (許生) ผู้บิดาเป็น "อ๋องแห่งเยฺว่" (越王) ฟื้นคืนรัฐเยฺว่โบราณ[1][4] ที่ล่มสลายในศตวรรษที่ 4 หรือ 3 ก่อนคริสตกาล[5][a] จากข้อมูลในแหล่งข้อมูลปฐมภูมิบางส่วน หือฉงมีน้องชายหรือลูกชายชื่อสฺวี่ เจา/สฺวี่ เฉา (許昭/許韶) ที่ได้รับตำแหน่งเช่นกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจริง ๆ แล้วสฺวี่ เจา/สฺวี เฉาอาจเป็นอีกชื่อหนึ่งของหือฉง[4] นอกจากตระกูลสฺวี่แล้ว ยังมีหัวหน้าชนเผ่าท้องถิ่นชื่อจฺวี คาง (苴康) ทำหน้าที่เป็นแกนนำกลุ่มกบฏ [4] เชื่อกันว่ากลุ่มกบฏมีแรงจูงใจจากความเชื่อ แม้ว่านักจีนวิทยา Werner Eichhorn คาดการณ์ว่าการกบฏครั้งนี้เป็นกบฏของชาวเยฺว่ที่มีความคิดชาตินิยมก่อกบฏต่อต้านชาวจีนฮั่น ในทางตรงกันข้าม เรฟ เดอ เครสพิกนีมองว่าแรงจูงใจด้านชาตินิยมไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้อง[3]
กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นของอิ่น ตฺวาน (尹端) เจ้าเมืองห้อยเขปราบปรามกบฏไม่สำเร็จ[4] ทำให้พวกกบฏรุกเข้ามาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองห้อยเข[4] สมาชิกคนหนึ่งของชนชั้นสูงท้องถิ่นชื่อซุนเกี๋ยน เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับคำสั่งจากราชสำนักให้ระดมทหาร ซุนเกี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองพัน รวบรวมทหารอาสาได้ประมาณ 1,000 นาย ซุนเกี๋ยนและกองกำลังของซุนเกี๋ยนมีผลงานโดดเด่นในการรบกับพวกกบฏ[2][3]
แม้ฝ่ายผู้ภักดีราชสำนักในเมืองห้อยเขจะสู้สุดกำลัง แต่พวกกบฏก็ประสบความสำเร็จอย่างมากถึงขนาดเข้าบุกเมืองอื่น ๆ[2] ราชสำนักจึงแต่งตั้งให้ขุนนางจาง หมิน (臧旻) เป็นข้าหลวงมณฑลยังจิ๋วเพื่อจัดการกับปัญหานี้[4] มีการระดมกองกำลังทหารจากทั้งมณฑล[4] โดยเฉิน อิ๋น (陳夤) เจ้าเมืองตันเอี๋ยง (ตันหยาง) ได้กลายมาเป็นแม่ทัพร่วมคนสำคัญร่วมกับจาง หมิน[4] ในปี ค.ศ. 173 เจ้าหน้าที่ปกครองของมณฑลยังจิ๋วได้รายงานเรื่องที่อิ่น ตฺวานเจ้าเมืองห้อยเขปราบกบฏไม่สำเร็จ แต่จูฮีเสมียนของอิ่น ตฺวานติดสินบนเจ้าหน้าที่ในเมืองหลวงลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง) ทำให้อิ่น ตฺวานรับโทษเพียงจำคุกแทนที่จะถูกประหารชีวิต[4]
กองทัพของจาง หมินและเฉิน อิ๋นปราบปรามกบฏได้สำเร็จในปลายปี ค.ศ. 174[1][4] สังหารหือฉง[4] สฺวี่ เชิง[4] และจฺวี คาง[4]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]จาง หมินได้รับบำเหน็จจากการปราบกบฏได้สำเร็จโดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตันเอี๋ยง[4] จาง หมินยังได้เสนอความชอบของซุนเกี๋ยนที่มีผลงานดีเด่นในการรบ ซุนเกี๋ยนจึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายอำเภอในเมืองกองเหลง (กวั่งหลิง) และภายหลังไปรับราชการที่สองอำเภอในเมืองแห้ฝือ (เซี่ยพี) ซุนเกี๋ยนได้มีผู้ติดตามมากขึ้นทำให้ซุนเกี๋ยนขึ้นมาเป็นผู้มีชื่อเสียง[2][4][3]
การที่จูฮีติดสินบนเพื่อช่วยชีวิตอิ่น ตฺวานยังไม่เป็นที่รู้กันในตอนแรก ภายหลังจูฮีจะเป็นขุนนางผู้มีชื่อเสียง และรับราชการกับราชสำนักฮั่นอย่างซื่อสัตย์จนกระทั่งราชวงศ์ฮั่นหมดอำนาจในสงครามกลางเมือง[4]
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เชื่อว่ารัฐเยฺว่ล้มสลายจากการยกทัพบุกของรัฐฉู่เมื่อราว 333 ปีก่อนคริสตกาล ยังไรก็ตามก็มีความเป็นไปได้ว่ารัฐเยฺว่ในฐานะรัฐตกค้างหรือรัฐอันธพาลยังคงอยู่ถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล[6]
อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- Brindley, Erica Fox (2015). Ancient China and the Yue: Perceptions and Identities on the Southern Frontier, c.400 BCE-50 CE. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-08478-0.
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23-220 AD). Leiden, Boston: Brill. ISBN 9789004156050.
- de Crespigny, Rafe (2016). Fire over Luoyang: A History of the Later Han Dynasty 23-220 AD. Leiden, Boston: Brill. ISBN 9789004324916.
- de Crespigny, Rafe (2010). Imperial Warlord: A Biography of Cao Cao 155-220 AD. Leiden, Boston: Brill. ISBN 9789004185227.
- de Crespigny, Rafe (2018) [1st pub. 1990]. Generals of the South: the foundation and early history of the Three Kingdoms state of Wu (PDF) (Internet (2nd) ed.).