อาชีพทางเลือกทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีคุณภาพของที่ดินที่ดีและมีทรัพยากรน้ำอย่างเพียงพอ แต่แนวโน้มของอุณหภูมิสูงที่เพิ่มขึ้นและยาวนานขึ้นรวมถึงการขยับเลื่อนของฤดูกาลและมีสภาวะความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น นํามาซึ่งการเสื่อมถอยของทรัพยากรการเกษตร การจัดทําฐานข้อมูลสําหรับการวิเคราะห์อาชีพทางเลือกเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหัวข้อของการศึกษานี้ จังหวัดน่านถูกเลือกเป็นพื้นที่ศึกษาเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สําคัญของประเทศ อาชีพด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนจังหวัดน่านแต่ละท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรและประกอบด้วยอาชีพอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ผ่านบทความนี้ไปพร้อมๆกัน
“Sandbox” นวัตกรรมแห่งการรักษาป่าต้นน้ำ
สภาพปัญหาที่สําคัญในจังหวัดน่าน คือ ปัญหาทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน เนื่องจากต้องอาศัยทรัพยากรดังกล่าวสําหรับประกอบอาชีพ ดังนั้นหากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ได้เช่นกัน สํานักงานจังหวัดน่านได้ รายงานสภาพปัญหาที่สําคัญของจังหวัดไว้ในปี 2558 ดังนี้
1) การบุกรุกทําลายป่าไม้เพื่อทําไร่ข้าวโพด
2) หมอกควันไฟป่า อุทกภัย และดินโคลนถล่ม
3) การกัดเซาะพังทลาย การชะล้างหน้าดิน
4) การขาดแคลนพื้นที่ทําการเกษตรในพื้นราบ
5) ความยากจนของประชาชน และชุมชนบนพื้นที่สูง
6) คุณภาพชีวิต และอัตราการเพิ่มของประชากรบนพื้นที่สูง
7) การเคลื่อนย้ายแรงงาน เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่มีอาชีพมั่นคงขาดที่ดินทํากิน
8) มีการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรสูง
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดทําโครงการเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำแห่งนี้ด้วยการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และแนวทางประชารัฐที่เรียกว่า “Sandbox” ซึ่งบริหารจัดการพื้นที่ในภาพรวมโดยการทดลองที่ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ มีจินตนาการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพอย่างไม่มีข้อจํากัด เป้าหมายเบื้องต้นที่จะใช้กับ Nan Sandbox ครั้งนี้คือ 72-18-10 หรือการจัดสรรที่ดินป่าในจังหวัดน่านหลังการปฏิรูป คือ 72% ของพื้นที่ จะต้องคงความเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่ และ 18% ของพื้นที่จะต้องกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่อนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ โดยประชาชนทํามาหากินในพื้นที่ได้ ส่วนอีก 10% ที่เหลือ เป็นพื้นที่ที่ยอมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
กระบวนการเฟ้นหา “อาชีพอัตลักษณ์” ของชุมชนจังหวัดน่าน
งานศึกษานี้ เป็นการศึกษาเพื่อจัดทำเมนูอาชีพทางเลือกเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่จังหวัดน่าน โดยอาชีพนั้นต้องสร้างรายได้ ผลตอบแทนสูงพอสมควรและใช้พื้นที่จํากัดได้ เพื่อตอบโจทย์พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจํากัดของจังหวัดน่าน โดยเริ่มจาก ส่วนที่1 ศึกษาสถานการณ์ของพื้นที่ด้านกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตร เศรษฐกิจ และสังคม ของจังหวัดน่าน จากนั้นทำการรวบรวบ คัดเลือกและจัดจําแนกอาชีพเกษตร โดยพิจารณา จุดเด่น โอกาสของอาชีพเดิมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อาชีพในพื้นที่จังหวัดน่านที่มีศักยภาพและมีความต้องการของตลาด อาชีพที่มีโอกาสพัฒนา ส่วนที่2 วิเคราะห์และประเมินศักยภาพเชิงพื้นที่ โอกาส และความเสี่ยงของแต่ละทรัพยากรเกษตร (ดิน น้ำ ป่า) สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์ที่ดินรวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง ปัญหาที่สําคัญ แผนที่เขตการเกษตรที่เหมาะสม(Zoning)ที่สามารถแสดงการผลิตพืชทางเลือกที่เหมาะสม(โอกาส)และไม่เหมาะสม(ความเสี่ยง) ของพื้นที่ในแต่ละตําบลของจังหวัดน่านอีกทั้งยังต้องรวบรวม วิเคราะห์บริบทชุมชนทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจเลือกอาชีพฯของเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นและแต่ละช่วงเวลา(ฤดูกาลเพาะปลูก) ซึ่งสามารถนํามาแบ่ง ตามโซนพื้นที่ในจังหวัดได้ 3 โซนคือ โซนเหนือ มีทั้งหมด 7 อําเภอ คือ อําเภอเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง สองแคว เชียงกลาง ปัว บ่อเกลือ และอําเภอท่าวัง โซนกลางได้แก่ อําเภอสันติสุข บ้านหลวง อําเภอเมือง ภูเพียงและอําเภอแม่จริม รวมเป็น 5 อําเภอ โซนล่างประกอบด้วย 3 อําเภอคือ อําเภอเวียงสา นาน้อย และนาหมื่น
ผลการประเมินศักยภาพการปลูกพืชของแต่ละกลุ่มอาชีพ
หลังจากการนําข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาวิเคราะห์ร่วมกันผลการรวบรวมและวิเคราะหข้อมูลที่ได้รับจากการวิจัย พบว่าอาชีพที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ หรือ อาชีพที่มีความเหมาะสมในแง่มุมต่างๆ สามารถจําแนกอาชีพเกษตรดังกล่าวได้เป็น 4 กลุ่มตามข้อจํากัด ในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 อาชีพเกษตรเพื่อสร้างรายได้ ได้แก่ ยางพารา ยาสูบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง มะม่วง และเงาะ ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ป่าสงวนร้อยละ 10 และส่งเสริมปลูกในพื้นที่ราบลุ่มน้ำชั้น 3 4 5 หรือในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ได้ กลุ่มที่ 2 อาชีพเกษตรพึ่งพิงป่า ได้แก่ กาแฟอราบิก้า ไผ่ ลูกชิด (ต๋าว) และมะแขว่น พืชในกลุ่มนี้เป็นทางเลือกสําหรับพื้นที่ป่าสงวนร้อยละ 18 ที่จะต้องนํากลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่อนุญาตให้ปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ กลุ่มที่ 3 กลุ่มอาชีพเสริมรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ ผึ้ง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มอาชีพที่มีโอกาสพัฒนาได้แก่ พืชผักสวนครัว ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โกโก้ อาโวคาโด้ ส้มสีทอง พริกเมล็ดพันธุ์ ข้าวเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ผัก
ซึ่งจะขอยกตัวอย่างอาชีพของแต่ละกลุ่มอาชีพ ดังนี้
1.ตัวอย่างกลุ่มอาชีพเกษตรเพื่อสร้างรายได้ คือ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
– ผลการประเมินความเหมาะสมทางกายภาพ พบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมมากสําหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แก่ อําเภอปัว เชียงกลาง บ้านหลวง เมือง และภูเพียง คิดเป็นร้อยละ 62.28, 55.44, 47.53, 37.34 และ36.44 ของ พื้นที่โซนที่สามารถปลูกพืชรายได้และโซนพื้นที่อยู่กับป่าแต่ละอําเภอตามลําดับ สําหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหมาะสมน้อยได้แก่ อําเภอเฉลิมพระเกียรติ สองแคว และบ่อเกลือ คิดเป็นร้อยละ 98.21, 93.38 และ 89.07 ของพื้นที่โซนที่สามารถปลูกพืชรายได้และโซนพื้นที่อยู่กับป่าแต่ละอําเภอตามลําดับ
– ผลการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าเกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพดได้ปริมาณเฉลี่ย 776 กก./ไร่ และขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ราคาเฉลี่ย6.15บาท/กก. รวมเป็นรายได้จากการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4,769.80 บาท/ไร่ ซึ่งมีผลตอบแทนขาดทุนเป็นเงิน -5,948.67 บาท/ไร่ ถึงแม้ว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของจังหวัดน่าน (617 กก./ไร่) แต่เนื่องจากราคาขายที่ตกต่ำลงจึงทําให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำและขาดแคลนแหล่งน้ำ(ใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว) จึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาคือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนหรือการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเป็นพืชอื่นที่เข้ากับบริบททางกายภาพของพื้นที่ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตสามารถทําได้โดยการพัฒนาพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งจากการคํานวณพบว่าหากสามารถผลิตได้ 1,082 กก./ไร่ ก็จะทําให้ต้นทุนพอดีกับรายรับ
2. ตัวอย่างกลุ่มอาชีพเกษตรอยู่กับป่า คือ การปลูกมะแขว่น*
– ผลการประเมินความเหมาะสมทางกายภาพ พบว่า เกษตรกรจะปลูกมะแขว่นสลับกับพืชสวนป่า คือปลูกร่วมกับพืชอื่นเพื่อเพิ่มรายได้ สามารถเจริญเติบโตได้ในระดับความสูง 800-1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทําเลต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น มีความชื้นสูง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพกลางแจ้ง ไม่ต้องการน้ำมาก ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี สามารถปลูกตามไหล่เขาหรือพื้นที่สูงชัน มีการขยายพันธุ์มะแขว่นโดยวิธีเพาะเมล็ด ต้นมะแขว่นอายุ 3-5 ปี จะให้ผลผลิต 1-5 กก./ต้น อายุ 6-10 ปี จะให้ผลผลิต 10-15 กก./ต้น ตอนอายุ 11-15 ปี จะให้ ผลผลิต 30-35 กก./ต้น และอายุ 21-25 ปีจะให้ผลผลิตถึง 50 กก./ต้น
– ผลการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคา 50-70 บาท/กก. ขึ้นกับลักษณะของสีและกลิ่นของมะแขว่นแห้ง กรมส่งเสริมการเกษตรได้รายงานว่าในปี 2558 จังหวัดน่านมีเกษตรกรผู้ปลูกมะแขว่นจํานวน 738 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูก 3,661 ไร่ มีพื้นที่ที่ให้ผลผลิต 1,684 ไร่ (ระบบจัดเก็บและรายงานข้อมูลภาวะการผลิตพืชรายเดือนระดับตําบล(รต.)กรมส่งเสริมการเกษตร,2558) ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกมะแขว่นในพื้นที่โซนอยู่กับป่าจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการจําหน่ายผลผลิต และเป็นการปรับปรุงสภาพนิเวศน์ของพื้นที่เกษตรให้กลับคืนสู่ธรรมชาติได้
*มะแขว่นเป็นพืชเครื่องเทศหนึ่งที่พบมากในทางภาคเหนือ เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดน่าน มีความต้องการบริโภคพอสมควร ผลผลิตมะแขว่นนั้นได้มาทั้งจากการเก็บในป่าและการปลูกที่แพร่หลายในพื้นที่ตอนบนของจังหวัดน่าน
3. ตัวอย่างกลุ่มอาชีพเสริมรายได้จากปศุสัตว์/แมลงหรือประมง คือ การผลิตผึ้งและการผลิตน้ำผึ้ง
– ผลการประเมินความเหมาะสมทางกายภาพ พบว่า อาชีพการเลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของเกษตรกรจังหวัดน่าน เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดน่านมีการทําสวนผลไม้หลายชนิดที่สามารถเป็นพืชอาหารผึ้งได้มากหมาย หลายชนิดในรอบปี เช่น ลําไย ลิ้นจี่ ยางพารา ทานตะวัน งา เงาะ เป็นต้น ซึ่งน้ำผึ้งที่ได้รับความนิยมบริโภคและทํารายได้ในตลาดภายในประเทศมากที่สุด คือ น้ำผึ้งจากดอกลําไย รองลงมาคือ สาบเสือ ลิ้นจี่ และทานตะวัน นอกจากนี้การเลี้ยงผึ้งยังมีผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น นมผึ้ง (Royal Jelly) เกสรผึ้ง ไขผึ้ง พันธุ์ผึ้ง ยางไม้ เป็นต้น ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่านได้ลงทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในรูปแบบของ ฟาร์มผึ้งทั้งหมด 55 ราย โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง อ.เวียงสา และ อ.ท่าวังผา (ศูนย์ส่งเสริม เทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ กรมวิชาการเกษตร, 2552) คิดเป็นจํานวนรังทั้งหมด 6,370 รัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก (1-100 รัง)
– ผลการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนในการค้าน้ำผึ้งของพ่อค้าขายส่งและพ่อค้าขายปลีกพบว่าพ่อค้าขายปลีกมีผลตอบแทนในการค้า(58.23 บาท/กก.) มากกว่าพ่อค้าขายส่ง(15.07 บาท/กก.) คิดเป็น 2.86 เท่า เพราะสามารถขายน้ำผึ้งได้ราคาสูงกว่ากิโลกรัมละ 35.67 บาท คิดเป็นร้อยละ 39.93 แต่ต้องใช้เวลาจําหน่ายนาน เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำผึ้งยังมีน้อย เพราะน้ำผึ้งเป็นอาหารเสริมบำรุงสุขภาพจะมีการบริโภคเฉพาะผู้บริโภคตามกลุ่มอายุที่รู้ถึงคุณประโยชน์ของการบริโภคน้ำผึ้งเท่านั้น ประกอบกับน้ำผึ้งคุณภาพดีจะมีราคาแพง และผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยมั่นใจในการซื้อน้ำผึ้งเพื่อบริโภคเนื่องจากกลัวการปลอมปนของน้ำผึ้ง การเลี้ยงผึ้งเพื่อเป็นอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวน ผลไม้จะสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ได้เป็นอย่างดี การเลี้ยงผึ้งไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด เกษตรกรจะใช้เวลากับผึ้งน้อยมาก สัปดาห์ละ 2-3 ชั่วโมง ผึ้งจะออกหาน้ำหวานเอง 2-3 สัปดาห์ เกษตรกรก็สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อรัง ราคาน้ำผึ้งโดยทั่วไปกิโลกรัมละ 200-250 บาท(ส่วนวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์และประมง,สํานักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร) (สํานักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่)
4. ตัวอย่างกลุ่มอาชีพเกษตรอื่นๆที่มีโอกาสพัฒนา คือ การผลิตอะโวกาโด้
– ผลการประเมินความเหมาะสมทางกายภาพ พบว่า สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสําหรับการปลูกอะโวกาโด้ คือ มีปริมาณน้ำฝนอย่างน้อย ประมาณ 700-1,000 มิลลิเมตร หากขาดน้ำ อาโวกาโด้จะสลัดใบร่วงทันที โดยเฉพาะช่วงดอกบาน เป็นช่วงที่ต้องการน้ำมาก ถ้าฝนไม่ตกควรมีการใช้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง ดินควรเป็นดินที่ระบายน้ำดี อุดมสมบูรณ์ หน้าดินลึก และพื้นที่ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง ควรมีความสูงจากระดับนํ้าทะเล 300-1,000 เมตร แต่หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานจะทําให้ผลมีขนาดเล็กลง
ซึ่งอะโวกาโด้ ถือเป็นผลไม้ที่เป็นกระแสอาหารสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น จัดเป็นผลไม้เมืองหนาวชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเนื้อผลของอโวคาโด้จะมีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวประมาณ 4-20% ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายช่วยลดปริมาณคลอเรสตรอรอล (Cholesterol) ชนิดแอลดีเอล (Low density lipoprotein : LDL) ซึ่งเป็นส่วนที่ส่งผลเสียต่อร่างกายและเพิ่มปริมาณคลอเรสเตอรอลชนิดแอ็ชดีแอล (High density lipoprotein : HDL) ในเลือดที่เป็นผลดีต่อร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ผลการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ในพื้นที่ขยายผลโครงการหลวงจังหวัดน่าน โดยพันธุ์ที่ส่งเสริมได้แก่พันธ์แฮส (Hass) ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 9-10 เดือนสําหรับพื้นที่ปลูกอาโวกาโด้ในจังหวัดน่านในปี 2559 มีเพียง 53 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 44 ไร่ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 727 กก./ ไร่ ซึ่งถือว่ายังให้ผลผลิตในเกณฑ์ที่ต่ำ (สํานักงานเกษตรจังหวัดน่าน อ้างโดยสํานักงานสถิติจังหวัด น่าน, 2560)
การส่งเสริมหรือเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอาโวกาโด้ ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีโอกาสทางการตลาดสูงนั้น สามารถปลูกได้ในพื้นที่น่านโซนเหนือ ที่มีความเหมาะสมในแง่ของสภาพอากาศ กล่าวคือ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีและสามารถปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นอื่นๆใน สภาพพื้นที่ป่าได้ อีกทั้งอะโวกาโด้เป็นไม้ผลยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ มีใบเขียวตลอดปีซึ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสําหรับพื้นที่ 18% ของพื้นที่ป่าสงวนที่จะต้องนํากลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่อนุญาตให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ ตามเงื่อนไขการใช้จัดสรรพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกของโครงการ Nan Sandbox
สําหรับการจัดทําเมนูอาชีพทางเลือกเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่จังหวัดน่าน โดยอาชีพนั้นต้องสร้างรายได้ผลตอบแทนสูงพอสมควรและใช้พื้นที่จํากัดได้ เพื่อตอบโจทย์พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจํากัดของจังหวัดน่าน ตามเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินของ Nan Sandbox ซึ่งโครงการได้ รวบรวบ คัดเลือก และจัดจําแนกอาชีพเกษตรโดยพิจารณาจุดเด่น โอกาสของอาชีพเดิมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร อาชีพในพื้นที่จังหวัดน่านที่มีศักยภาพและมีความต้องการของตลาดอาชีพที่มีโอกาสพัฒนา ซึ่งเคยมีแต่ด้วยข้อจํากัดบางประการทําให้เกษตรกรไม่ทําการเพาะปลูกต่อไปได้ อาชีพที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ หรืออาชีพที่มีความเหมาะสมในแง่มุมต่างๆ และหากเกษตรกรที่เป็นเจ้าของพื้นที่สามารถบริหารจัดการเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชปลูกเดิม หรือเลือกพืชปลูกที่มีโอกาสทางการตลาดและมีความเหมาะสมทางกายภาพก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรภายใต้พื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจํากัดได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจากโครงการวิจัย “การพัฒนาเมนูอาชีพทางเลือกด้านการเกษตรสําหรับชุมชน จังหวัดน่าน หัวหน้าโครงการ : วาสนา วิรุญรัตน์ |