14 มีนาคม 2023
5 K

เข็มนาฬิกาสถานีรถไฟบอกเวลา 5 โมงครึ่ง 

ทุกอย่างในเย็นวันศุกร์ล้วนดำเนินไปอย่างปกติ อากาศประเทศไทยยังคงร้อนระอุ แสงแดดยังกระทบกับรางเหล็กเดินรถ เสียงเครื่องยนต์โดยสารและเสียงประกาศรถไฟออกชานชาลาก็ยังคงดังสลับกันไปมา แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือจำนวนผู้โดยสารในสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่ดูบางตากว่าเมื่อก่อน

แฮม-วันวิสข์ เนียมปาน ไขข้อสงสัยให้ว่า เพราะผู้คนย้ายไปเดินทางที่สถานีกลางบางซื่อกันหมด

แล้วทำไมคำพูดของเขาจึงน่าเชื่อถือ

หนึ่ง แฮมเป็นคนรักรถไฟ สอง แฮมเป็นเจ้าของเพจ ‘ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน’ ที่มีคนติดตามกว่า 2.3 แสน สาม แฮมทำงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย และ สี่ แฮมเป็นเจ้าของคอลัมน์ Along the Railroad ประจำ The Cloud ที่แนะนำการท่องเที่ยว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แม้กระทั่งการสังเกตรถไฟในแง่มุมต่าง ๆ จนไม่แปลกใจที่ใครหลายคนจะบอกว่าเขาเนิร์ด

นี่คือเรื่องราวของเด็กน้อยที่ผูกพันกับรถไฟตั้งแต่ถูกพ่ออุ้มผ่านหน้าต่างเพื่อจองที่นั่ง สู่ชายหนุ่มผู้เชื่อว่าตัวเองจะตายก่อนรถไฟ เพราะเขาทำทุกอย่างเพื่อต่อลมหายใจให้เพื่อนสนิทมีชีวิต

ชานชะลอ

เห็นในไบโอเฟซบุ๊กคุณเขียนไว้ว่า ชอบเดิน

ใช่ ทุกคนจะคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่น่าเดิน ทุกวันนี้เราก็ยังคิด 

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานหลาย ๆ อย่างทำให้เราไม่อยากเดินไปในที่ที่ร้อน เอือด เหนื่อย แต่เราเคยลองอยู่ครั้งหนึ่ง เดินจากที่ทำงานย่านหัวลำโพงกลับบ้านแถวประตูน้ำ อ้าว ก็ทำได้นี่ จนกลายเป็นช่วงหน้าหนาว เราเดินในกรุงเทพฯ ได้ทั้งวันเลย ถ่ายรูป เที่ยว กิน แทบจะไม่ต้องขึ้นรถเมล์ แล้วบางครั้งไอ้การเดินของเรามันดันไปเจอมุมสวย ๆ แปลก ๆ ลับ ๆ ที่คนไม่เคยเจอมาก่อน คือการเปิดประสบการณ์ เหมือนกับการนั่งรถไฟ บางคนอาจไปเชียงใหม่ด้วยการนั่งเครื่องบินไป แค่ Take Off จากต้นทางแล้วไป Landing ที่ปลายทาง โอเค เห็นเมฆ จบ แต่ถ้านั่งรถไฟ เราจะได้เห็นอะไรที่เครื่องบินไม่ได้เห็น

ชอบชีวิตสโลว์ไลฟ์เหรอ

ไม่ได้ชอบสโลว์ไลฟ์ สังเกตว่าเราจะเดินและพูดเร็วมาก แต่ถ้าอยากปล่อยฟรี เราก็จะให้ตัวเองไหลไปตามจังหวะที่ควรเป็น เพราะการรีบมากเกินไปทำให้เราเหนื่อยและอาจจะพลาดอะไรบางอย่าง 

แล้วคนที่ชอบทำอะไรเร็ว ๆ ตอนนั่งรถไฟช่วงแรก ๆ เคยมีความคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงสักทีไหม

ไม่เป็น เพราะเราเป็นคนชอบเดินทาง คนอื่นอาจจะรู้สึกว่าฉันอยากไปถึงปลายทางให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้ไปเที่ยว แต่สำหรับเรา เราเริ่มต้นการเที่ยวตั้งแต่วินาทีที่เดินทางมาถึงสถานีรถไฟหรือสถานีขนส่งแล้ว

จำได้ไหมว่าเมื่อไหร่ที่คุณไม่ใช่แค่ชอบ แต่เริ่มขับเคลื่อนและพยายามเปลี่ยนแปลงรถไฟด้วย

ตอนช่วง พ.ศ. 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่ รถไฟเป็นหนทางเดียวที่เดินทางได้เพราะถนนน้ำท่วม ไปไหนมาไหนไม่ได้ ตอนนั้นน่ะที่คนเริ่มเห็นความสำคัญ รถไฟมีสถานะเป็นแค่ฮีโร่ แล้วพอน้ำลดปั๊บ คนก็กลับไปที่เดิม เลยทำให้คิดได้ว่าเราชอบรถไฟอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องทำยังไงก็ได้ให้รถไฟกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในประเทศนี้ อย่างที่มันเคยเป็นในช่วงที่รถไฟเพิ่งอุแว้ ๆ เกิดมา

จากรถไฟเคยเป็นตัวเลือกแรก แล้วพอมีสายการบิน ขับรถง่ายขึ้น การเดินทางแข่งกันอย่างดุเดือดมาก รถไฟกลายเป็นตัวเลือกท้าย ๆ เลย ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่พ่อแม่เรายังเด็ก ๆ รถไฟคือเพื่อนของเขา 

เราเริ่มมาตกตะกอนดูว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ชอบรถไฟหรอก สิ่งที่อยากทำที่สุด คืออยากทำให้รถไฟกลับมาเป็นเพื่อนสนิทของคนอีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อไหร่ที่กลับมาเป็นเพื่อนสนิทของคนได้ ก็จะสร้างแรงกระเพื่อมให้รถไฟพัฒนาอย่างถูกที่ถูกทางได้ 

เล่าให้ฟังหน่อยว่าการนั่งรถไฟในสมัยนั้นสนุกขนาดไหน

ยุคที่เราอยู่สมัยประถม เป็นยุคที่ตั๋วเครื่องบินราคาแพงมาก แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว รถไฟเลยแน่นมาก ยิ่งช่วงเทศกาลนะ ใช้คำว่าหัวลำโพงแตก 

แล้วเราสนุกกับการดูรถไฟยาว ๆ เป็นเพื่อนตัวยาวที่เวลาเรานั่งตู้สุดท้ายแล้วรถไฟเข้าโค้ง เราจะนับตั้งแต่หัวเลยว่านั่งอยู่ตู้ที่เท่าไหร่ แล้วรถไฟทั้งขบวนยาวกี่ตู้ มหัศจรรย์มากที่ไม่เคยต่ำกว่า 10 ตู้เลย สูงสุด 23 ตู้และเต็มทุกตู้ แม้กระทั่งหลังคาก็มีคนขึ้น

ห๊า

ใช่ เมื่อก่อนเขานั่งรถไฟบนหลังคา แล้วเวลาที่คนแน่นมาก ๆ พอรถไฟเคลื่อนเข้ามาในชานชาลาปั๊บ สิ่งแรกที่พ่อทำคืออุ้มเราผ่านหน้าต่างเข้าไปนั่งจองที่ (หัวเราะ) ถึงสถานีบ้านภาชี พ่อจะต้องซื้อไอศกรีมมาให้ลูกกิน นั่งอ่านหนังสือขายหัวเราะไปเรื่อย ไอ้ลูกก็นั่งดูวิว ดูรถไฟวิ่งสวนมา

หันกลับมาปัจจุบัน ยาวสุดตอนนี้คือ 13 ตู้ เราแค่รู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนเรา เขาไม่ได้เป็นที่รักขนาดนั้นแล้วเหรอ เรายังเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งที่เขาได้รับการตบให้เข้าที่เข้าทาง เขาจะกลับมาเป็นความหวังและจะกลับมาเป็นเพื่อนรักของใครอีกหลาย ๆ คน แค่ตอนนี้เขาหลงทางแล้วยังตุปัดตุเป๋อยู่เท่านั้นเอง

ดูเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในสังคมไทยไหม

ยากไหมไม่รู้ แต่เกิดขึ้นได้จริง

ในแวดวงรถไฟ จะสังเกตได้ว่ารถไฟพัดลมเยอะมาก มีชุดความคิดที่เกิดขึ้นมาตลอดว่า อะไรก็ตามที่มีแอร์เป็นสิ่งที่พรีเมียม มองกลับไปดูรถเมล์ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นรถเมล์แอร์เมื่อไหร่ เราจะต้องจ่ายในอีกราคาหนึ่ง โอเค เราเข้าใจว่ามันเป็นการซื้อความสะดวก แต่คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมทุกคนถึงไม่มีสิทธิ์ได้รับความสะดวกนั้นอย่างเท่าเทียมกันล่ะ

เห็นด้วย

นั่นคือสิ่งที่เราต้องปรับมุมมองใหม่ ไม่ใช่แค่จากคนใช้บริการ อาจจะต้องมองไปถึงระดับคนวางกลยุทธ์หรือแม้กระทั่งสภาพสังคม 

ถ้าเราทำรถไฟที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานของรัฐให้ทุกคนเข้าถึงความสะดวกสบายอย่างเท่าเทียมกันได้ หนึ่งเลย เราจะได้รับการปรับอากาศที่ทำให้คุณภาพชีวิตการเดินทางดีขึ้น แน่นอน นั่งรถไฟไม่เร็วอยู่แล้ว มันใช้เวลานาน เราคงไม่บำเพ็ญทุกรกิริยานั่งบนรถไฟชั้น 3 พัดลม สอง เป็นเรื่องของสุขอนามัย ถ้ายังนั่งรถไฟในสภาพไม่โอเค ก็มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ และสาม มีระบบดูแลความปลอดภัยและระบบการให้ข้อมูลที่ดีขึ้น แค่ 3 สิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนรายได้น้อยหรือรายได้มาก ทุกคนก็จะเข้าถึงรถไฟได้อย่างเท่าเทียมกัน 

รถไฟขบวนแห่งความฝัน

ชีวิตที่เติบโตมาโดยมีรถไฟเป็นเพื่อนสนิทเป็นยังไง

ทั้งรักและเกลียด มันเหมือนเพื่อนสนิทเราจริง ๆ โห นัด 9 โมงมา 10 โมง โกรธนะ แต่สุดท้ายเราก็ขาดเขาไม่ได้ เป็นความรู้สึกแบบ Love-hate Relationship 

ยอมรับว่าบางครั้งก็เคืองรถไฟเหมือนกันที่ไม่ได้ดั่งใจเรา แต่พอสนิทกันมาก ๆ เราตัดมันไม่ขาด เราโกรธ แต่โกรธนานไม่ได้ เราจะต้องง้อเขา บางครั้งเขาก็ง้อเรา ถ้าใครมีเพื่อนสนิทสักคนหนึ่งที่เลิกคบกันไม่ได้จะเข้าใจความรู้สึกนี้ เพื่อนสนิทที่อยู่กับเราในทุก ๆ ช่วงชีวิต ไปหาหมอก็ไปเป็นเพื่อน ไปกินข้าวก็ไปด้วยกัน เวลาทุกข์เราจะนึกถึงเขาคนแรก เวลาเหนื่อยจากงาน เสียใจจากอะไรบางอย่าง หรือทะเลาะกับที่บ้าน สิ่งแรกที่เรามุ่งหน้าไปคือสถานีรถไฟ แล้วเขาก็รู้ด้วยว่าเราไปอยู่ที่ไหน

สถานีไหน

เราจะไปอยู่สถานีบางซื่อ เพราะเมื่อก่อนสถานีนี้เป็นพื้นที่โล่ง ๆ เลย เราชอบดูรถไฟวิ่งผ่านมาผ่านไปหลาย ๆ ขบวน เป็นเซฟโซนสำหรับเรา

แต่คนอื่นมองมันเป็นแค่เครื่องจักร รถไฟเยียวยาอะไรคุณ

เขาไม่เคยด่าเรา เขาด่ากรณีเดียวคือเดินมาใกล้ชานชาลามากเกินไปแล้วเขาเปิดหวูดเตือน 

โอเค เขามี Negative Experience ให้ แต่ไม่เคยโต้ตอบแบบทำร้ายจิตใจเรา เออ ว่าไป สารภาพเลย เคยหงุดหงิดอะไรมาก ๆ แล้วไปยืนบ่นต่อหน้ารถไฟด้วย (หัวเราะ)

เขาเป็นผู้ฟังที่ดี ต่อให้เราบ่นไปขนาดไหน เราเชื่อว่าเขาฟังเว้ย แต่การแสดงออกของเขามันไม่ใช่การโอบกอด ไม่ใช่การบอกว่าแกทำดีแล้ว แต่คือการบอกว่าไปซื้อตั๋ว ขึ้นมานั่งฉัน แล้วฉันจะพาแกไปพ้นทุกข์เอง 

ทุกข์คือไม่ไหวแล้ว สมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธคือรถไฟ มรรคคือการนั่งรถไฟ จบ กลับมาแฮปปี้มีความสุข รถไฟเป็นเหมือนพาวเวอร์แบงก์

เคยโดนว่าไหมที่คบเขาเป็นเพื่อน

เคย เคยโดนบอกว่ารถไฟมีอะไรให้ชอบ แล้วเมื่อก่อนคุณครูจะถามว่าอยากทำงานอะไร คนนี้เป็นทหารครับ คนนี้เป็นหมอครับ ส่วนเรา “อยากทำงานรถไฟครับ” คำถามแรกของครูที่พูดมาคือ “ไปโบกธงเหรอ ไปวิ่งตามรถไฟเหรอ” เฮ้ย แล้วคนขับรถไฟ นายสถานีรถไฟ มันดูด้อยขนาดนั้นเลยเหรอ คุณไม่เคารพอาชีพและความฝันของคนอื่นเลย หรือเป็นเพราะคนไทยคิดว่าอะไรก็ตามที่เป็นรถไฟไม่ดี 

ความคิดที่จะทำอาชีพเกี่ยวกับรถไฟเกิดขึ้นตอนไหน

ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากอยากขับรถไฟ โตมาก็อะไรก็ได้ขอให้มาอยู่ที่นี่พอ ตอนนั้นจบเอกภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าการจบเอกอังกฤษจะทำให้ทำทุกอย่างของรถไฟได้

อะไรทำให้คนคนหนึ่งเลือกเรียนปริญญาตรีเพราะอยากทำงานการรถไฟตั้งแต่มัธยม

แพสชันเราแรงมาก แรงจนทุกคนบอกว่า แพสชันมันกินไม่ได้นะ นี่ไง ทำให้เห็นแล้วไงว่ามันกินได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีแพสชันแต่คุณไม่ฝึกสกิลล์ ไม่หาโอกาส แพสชันกินไม่ได้แน่นอน

ปัญหาในประเทศตอนนี้ คือเราดันสร้างชาติจากแพสชันไม่ได้ เราดันไปสร้างชาติจากอะไรก็ตามที่เป็นที่นิยมของสังคมและมีหน้ามีตา เด็กที่มีแพสชันเรื่องรถไฟกลับไม่ได้รับการสนับสนุนเพราะมันเป็นสิ่งที่ดูแปลกในประเทศ

อาชีพคนขับรถไฟกับอาชีพนายสถานีรถไฟเป็นอาชีพที่มีเกียรติมากในประเทศญี่ปุ่น เคยเจอรูปหนึ่งในทวิตเตอร์ เป็นแม่คนหนึ่งพาลูกซึ่งน่าจะเป็นเด็กประถมซื้อตั๋ว Visitor เข้าไปดูชินคันเซ็น แล้วคนขับชินคันเซ็นลงมาคุยกับน้อง เอาหมวกคนขับสวมให้ เขาส่งมอบสิ่งที่เขาเป็นให้กับเด็กคนนี้ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งเด็กคนนี้จะเป็นแบบเขา 

คุณมีพนักงานหรือคนขับรถไฟในความทรงจำแบบนั้นไหม

มี

วันนั้นนั่งรถไฟจากสถานีพหลโยธินไปสถานีตะพานหินกับแม่ แล้วพี่คนนั้นเขาทำงานอยู่แขวงปากน้ำโพ เขาเห็นว่าเรานั่งรถไฟไม่เหมือนคนอื่น เรามองว่ารถจักรอะไร นับว่ามีกี่ตู้ แล้วก็จดโน้ตเอาไว้ด้วยว่าขบวนนี้ผ่านสถานีนี้ตอนกี่โมง

เขาเลยถามว่าชอบรถไฟเหรอ เราบอกว่าชอบมาก ๆ แม่ก็มาช่วยสมทบว่า “ลูกชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว โอ๊ย เนี่ย นั่งรถไฟกลับบ้านนะ ไม่หลับไม่นอน กลางคืนก็ฟังเสียงรถไฟ” เขาเลยบอกว่า “งั้นเอาอย่างนี้ เดี๋ยวพี่ให้แมนนวลเล่มหนึ่ง สำหรับพนักงานขับรถที่เอาไว้บอกว่าสถานีนี้ รถไฟขบวนนี้ จอดกี่โมง วิ่งผ่านกี่โมง” 

หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ สมุดกำหนดเวลาเดินรถสายเหนือฉบับสมบูรณ์ก็ถูกส่งมาที่บ้าน เราตั้งต้นจากหนังสือเล่มนี้

สถานีปลายทาง

แล้วคุณมาเปิดเพจ ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน ได้ยังไง

วันที่เปิดเพจคือวันที่คุณยายป่วยเข้าโรงพยาบาล เรานั่งเครียดแล้วก็คุยกับเพื่อนสนิท ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม มันบอกว่าเราเป็นคนที่เล่าเรื่องสนุกนะ เปิดเพจสิ จนกระทั่งผ่านไปสักระยะหนึ่ง คนอยากนั่งรถไฟนะ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เราเลยเขียนกระทู้ในพันทิป How to นั่งรถไฟ ตรงไหนดี ตรงไหนไม่ดี มีวิธีจองยังไง กลายเป็นกระทู้แนะนำจนต้องทำกระทู้ที่ 2 ก็เลยลองเปิดเพจ แล้วก็เล่าในแบบของเรา 

โห ตอนแรกเล่าเหมือน Encyclopedia เราเลยเอาไอ้สิ่งที่พูดมาปรับให้กลายเป็นตัวหนังสือ มีคำที่ตลก ๆ ที่เป็นสำนวนของเราอยู่ในงานเขียน ทำให้คนเขาจับต้องได้และรู้สึกว่ากำลังคุยกับใครสักคนอยู่ เวลามีคนด่ารถไฟ กูโดนด่าไปด้วยเฉยเลย 

เหมือนเป็นร่างทรงเหรอ

เราเหมือนกุญแจรถที่เสียบคาไว้ ใครจะพาไปไหนก็ได้ (หัวเราะ)

เราเป็นตัวแทนหมู่บ้านของคนนั่งรถไฟที่จะเอาความไม่ชอบและความชอบส่งไปให้การรถไฟได้รับรู้ แล้วเราก็เป็นตัวแทนหมู่บ้านของรถไฟที่ไม่มีชีวิตสำหรับคนอื่น แต่เขามีชีวิตสำหรับเรา Delivery ในสิ่งที่เขาพูดกับคนในประเทศไม่ได้ เอามาเล่าให้ฟัง เป็นย่าบาหยันระหว่างคนกับรถไฟ

แล้วอะไรทำให้คุณกลายมาเป็นคอลัมนิสต์ของ The Cloud

ได้รู้จักกับพี่ก้องโดยบังเอิญ… เพราะรถไฟอีกแล้วครับท่านผู้ชม

เผอิญว่าวันนั้นพี่ก้องเปิดตัวหนังสือ ทางรถไฟสายดาวตก แล้วเอาจริง ๆ นะ เมื่อก่อนสนใจแค่รถไฟไทยอย่างเดียว เราพลีกายให้รถไฟประเทศญี่ปุ่นเพราะหนังสือพี่ก้อง

เราว่าการเขียนเพจ ต้องเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทำความรู้จักกับรถไฟต่างประเทศ เพื่อที่จะเอาข้อมูลที่หลากหลายมาเล่า เลยหลวมตัวไปนั่งฟัง แล้วก็หลวมตัวซื้อหนังสือมา 2 เล่ม (หัวเราะ) จนกระทั่งอ่านจบ 

เชี่ย รถไฟญี่ปุ่นแม่งเจ๋งเหมือนกันว่ะ ถ้ารถไฟไทยทำแบบนี้ได้ก็คงจะดีมาก เขาใส่ใจใน Densha Otaku

นั่นคือ

คือคนชอบรถไฟ 

ถ้าเมื่อไหร่ที่ Densha Otaku มีคอมเมนต์ไปถึงบริษัทรถไฟ เขายิ่งต้องใส่ใจ เพราะนอกจากเป็น Loyalty แล้ว เขายังเป็นคนใช้บริการ และเป็นคนที่เห็นในมุมที่บริษัทรถไฟไม่เคยเห็น

แล้วคุณเป็น Densha Otaku รึเปล่า

เราวางตัวเองว่าเป็น Densha Otaku 

คนถึงมาร้องเรียนกับคุณไง

เออ (หัวเราะ) สนามอารมณ์ 

อะไรคือเสน่ห์ของรถไฟไทยที่ทำให้คุณหลงรักขนาดนี้

เราว่าเป็นเรื่องชีวิตกับประสบการณ์บนรถไฟที่โคตรดีไปเลยกับโคตรแย่ไปเลย 

ในขณะที่เรากำลังเบื่อหน่ายกับการเดินทาง เราอาจจะมองเห็นนกฝูงใหญ่บินตอนรถไฟวิ่งผ่าน จนต้องเหลียวหันไปมองแล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย ในขณะที่เราไม่อยากคุยกับใคร แต่พอป้าที่นั่งตรงข้ามเริ่มคุยกับเรา เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะคุยกับเขา แล้วสักพักหนึ่งมันก็กลายเป็นบทสนทนาที่ต่อยอดไปจนกระทั่งแบ่งอาหารให้กัน เราอาจนั่งรถไฟไปเฉย ๆ เห็นคนที่โบกมือให้จากข้างล่าง แล้วเราก็โบกมือตอบกลับโดยไม่รู้ตัวก็ได้

รู้สึกยังไงที่คนไปเที่ยวตามที่คุณเขียน

ดีใจมาก (ลากเสียง) ที่เราสร้างแพสชันให้เขาได้ ดีใจมากที่เราสร้างวัฒนธรรมรถไฟให้เกิดขึ้นได้บ้างเล็กน้อยก็ยังดี และเราก็เชื่อว่าเขาจะเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ในการทำให้มี Densha Otaku เพิ่มขึ้นในประเทศ

ตอนนี้ดีใจมากที่เจอพ่อแม่แล้วเขาบอกว่า ลูกชอบรถไฟมาก อยากมานั่งคุยกับพี่แฮม รู้สึกเหมือน Paper Planes ที่มีแฟนคลับฟันน้ำนม มันสร้างแรงบันดาลใจมาก เพราะตอนเด็ก ๆ แฮมไม่เคยได้รับสิ่งนี้จากผู้ใหญ่ในประเทศนี้เหมือนกัน แฮมสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง แล้วผู้ใหญ่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้มีเพียงแค่คนในครอบครัวเท่านั้น ถึงแม้ว่าช่วงหนึ่งที่บ้านจะโมโหและโกรธมาก 

มีช่วงนั้นด้วยเหรอ

มี ทะเลาะกับที่บ้านแรงมาก เพราะเรากลับบ้านดึก ชอบไปนั่งดูรถไฟ เขาเป็นห่วง เพราะเติบโตมาในชุมชนที่มีความเสี่ยงด้านการใช้ชีวิต แต่ว่ารอดมาได้เพราะคนในครอบครัว 

ย่าพาไปซื้อของที่ตลาดนัดสถานีรถไฟทุกเสาร์-อาทิตย์ ป้าพาไปนั่งรถไฟวันหยุด แม่กับพ่อพานั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปบ้านยายที่พิจิตร ยายและตาพาซ้อนท้ายจักรยานจากบ้านไปสถานีรถไฟ ยายให้เราไปใส่บาตรหน้าบ้านเพื่อให้ได้ไปดูรถไฟวิ่งผ่าน น้าสาวให้กำลังใจทุกครั้ง น้าเขยบอกว่า ถ้าชอบอะไรชอบไปให้สุด 

ถ้าปราศจากการสนับสนุนจากครอบครัว คิดว่าจะมีวันนี้ไหม

ไม่มี (ตอบทันที) ไม่มีแน่นอน ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าพ่อกับแม่และคนในครอบครัวทุก ๆ คนที่กล่าวไปไม่ยื่นโอกาสให้ในวันนั้น เรายังไม่รู้เลยว่าจะไปทำอาชีพอะไร 

เพราะเรามองไม่เห็นอนาคตของตัวเองในจุดที่ไม่ได้ชอบรถไฟเลย คนอื่นอาจเดินตามความฝันบนถนน แต่เราเดินตามความฝันของเราบนรางรถไฟ

แต่อยากจะบอกกับคนอ่านด้วยนะครับว่า อย่าไปเดินบนรางรถไฟนะ มันอันตราย (หัวเราะ) อยากสร้าง Safety Awareness เอาไว้ด้วย ผมแค่เปรียบเปรยเฉย ๆ นะครับ

แล้วอะไรคือความฝันของคุณ

อะไรก็ได้ที่ทำให้คนหันกลับมานั่งรถไฟ ทำให้รถไฟไม่กลายเป็นความผิดหวังของทุกคน 

อาจจะมองดูว่า โห ยูโทเปียมากเลย ทุกคนบอกว่าเราเพ้อฝัน แม้กระทั่งคนที่ทำงานก็พูด คำถามต่อมาคือ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา อะไรบ้างวะที่ไม่ได้เกิดจากความเพ้อฝันและจินตนาการ 

เราอยากทำให้ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์กับความเพ้อฝันมาอยู่ด้วยกัน ทำให้รถไฟดี ทุกคนแฮปปี้ที่จะนั่ง แล้วก็ช่วยกันพัฒนากันไปเรื่อย ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพราะรถไฟไทยเจริญจากใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ มันต้องทั้งองคาพยพ

ถ้าให้ออกแบบรถไฟในฝันของนายแฮมมึนจะเป็นยังไง

ถ้าจริงจังเลย เราอยากให้ทุกคนในประเทศเข้าถึงความสะดวกสบายของรถไฟได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นรถปรับอากาศ มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ มีระบบ Information ที่ดี และมีการเดินทางที่ปลอดภัย 

ส่วนความเพ้อฝัน คืออยากทำให้รถไฟกลายเป็นพื้นที่ที่คนเอ็นจอยจะนั่ง ตู้เสบียงอาจไม่ใช่แค่ที่ขายกะเพราไก่ แต่มีบาร์ให้เราไปสั่งเครื่องดื่มนั่งคุยกัน มีคนให้บริการเป็นเนิร์ดรถไฟที่ขายเส้นทางอื่น ๆ ได้ เหมือนพนักงานทุกคนเป็นไกด์

ขบวนรถไฟนำเที่ยวที่เด็กทุกคนจะมีความสุขเมื่อได้มาขึ้น นี่คือรถไฟในฝันของเรา

ช่วยบอกคนที่ไม่เคยขึ้นรถไฟหน่อยว่าเขาพลาดอะไรไป

อยากรู้ต้องลอง 

ขนาดเวลาเราไปต่างประเทศ อาหารพื้นบ้านที่ไม่เคยกิน เรายังลองเลย เราไม่บอกนะว่ารถไฟมันดี ทุกคนต้องมานั่งเอง เราไม่ชอบฮาร์ดเซลล์ (หัวเราะ)

ทุกคนต้องเรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์ เราแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ไม่ต้องคาดหวังว่าเราจะต้องดีทะลุเพดาน แค่ไม่ร่วงลงมาจนไม่มีวันที่จะตะกายกลับขึ้นไปก็พอ

ขอรถไฟ 1 สายที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ไม่ชอบรถไฟไปตลอดกาล

รถไฟตู้นอน เราไม่คิดว่าการนอนบนรถไฟเป็นการเสียเวลา อยากให้ลองปล่อยใจไปกับมัน

หนึ่ง รถไฟทุกสายในประเทศมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เราจะไม่บอกว่าสายไหนดี ถ้าคุณชอบภูเขาคุณก็ไปสายเหนือ ถ้าคุณชอบกินก็ไปสายใต้ ยิ่งไปสายอีสานคุณก็จะเจอความแซ่บของอาหาร 

สอง วิวสองข้างทาง ลองเปรียบว่าหน้าต่างรถไฟคือกรอบรูปหนึ่งที่ศิลปะในกรอบรูปนั้นเปลี่ยนไปตามสถานที่ที่รถไฟไปอยู่ ถ้าเรามีความสุขกับการเสพภาพในหอศิลป์ เราอาจมีความสุขกับการเสพวิวที่อยู่นอกหน้าต่างรถไฟก็ได้ 

สาม รถไฟเป็นยานพาหนะเดียวที่ทำ Ice Breaking ให้เราคุยกับคนข้าง ๆ ได้ตลอดทางทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แม้กระทั่งการแบ่งปันอาหาร แบ่งปันประสบการณ์ คุณอาจได้เพื่อนใหม่บนรถไฟ แล้วคุณก็็อาจได้เพื่อนเก่าที่ชื่อว่ารถไฟกลับมาเป็นเพื่อนใหม่อีกครั้งหนึ่งก็ได้

เวลาที่คุณพูดถึงรถไฟ มีประกายวิ้ง ๆ สะท้อนออกมาจากแววตาเลยนะ

ทุกคนชอบพูดคำนี้ ไม่ว่าจะเหนื่อยขนาดไหน แต่พอพูดถึงรถไฟ เราเหมือนกินสปอนเซอร์ไปประมาณ 3 ขวด

คุณบอกว่ามีรถไฟเป็นเพื่อนสนิท ถ้าให้เขียนเฟรนด์ชิปถึงเพื่อนคนนี้ในวันที่ต้องจากลากัน จะเขียนถึงรถไฟว่าอะไร

(หยุดคิด) 

เราว่าเราอาจจะไปก่อนเขา เขาจะอยู่ต่อไป เราตายก่อนเขาแน่นอน แต่เขาจงมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่เราให้ไป เขาจะเอาไปใช้ในอนาคตวันที่เราไม่อยู่ 

บางทีมองหน้าต่างรถไฟก็เหมือนเรามองตาเขา เราคงเขียนบอกเขาว่า “ในวันนี้แกอาจจะไม่ใช่คนที่ดีที่สุด แต่ในวันหน้าและวันต่อ ๆ ไป แกต้องเป็นคนที่ดีที่สุดให้ได้ เราเชื่อมั่นว่าแกจะทำได้เว้ย แม้ในวันที่เราจะไม่อยู่แล้วก็ตาม”

ทุกคนต้องตายจากกัน เราก็ต้องตายจากรถไฟ เราก็ต้องตายจากพ่อแม่ เราก็ต้องตายจากคนที่เรารัก แต่สุดท้ายแล้ว ความทรงจำที่ดีก็จะยังอยู่ ในวันที่คนที่รักเขามากที่สุดคนหนึ่งไม่อยู่แล้ว เชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนที่จะมอบความรักอย่างที่เรามีให้กับเขาได้เหมือนกัน และเราก็เชื่อว่าสักวันหนึ่ง เขาจะกลับมาเป็นที่รักของทุกคน

ไม่คิดว่าจะมีคนที่อยากอยู่กับรถไฟตั้งแต่เกิดยันตาย

เราจะอยู่ยันตาย และคอลัมน์ Along the Railroad ก็เป็นอีกตัวต่อลมหายใจในปัจจุบันของเรา

ถ้าวันไหนหยุดเขียน มีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก ไม่มีเรื่องจะเขียนแล้ว เพราะรถไฟไม่สามารถสร้างเรื่องให้เราเขียนได้ นั่นคือวันที่รถไฟตาย ประเด็นที่ 2 คือ เราคงเหนื่อยมาก ๆ จนถอดใจจากรถไฟไปแล้ว

เหมือนสิ่งที่คุณทำมาทั้งหมดเป็นการต่อชีวิตให้เพื่อนสนิท

ใช่ พูดตรง ๆ เลย เราแค่อยากต่อชีวิตให้เขา อยากให้คนที่อ่านบทความของเราหรือคนที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้รู้สึกว่าเรามีความพยายามที่จะต่อชีวิตของเขาอยู่ ลองมานั่งรถไฟ ต่อลมหายใจให้เขากันดูนะ แล้วถ้ามีคอมเมนต์อะไรก็ไปบอกที่สายด่วน 1690 เขารอรับอยู่เด้อ (หัวเราะ)

Writers

มานิตา สุนทรพจน์

เด็กสาวชาวอุทัย ผู้นมัสการให้แด่สายผลิตงานสร้างสรรค์ และผู้ฝากความสุขอนันต์ไว้บนพุงแมวและชาเขียว

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์