ให้ทายว่าในเวิ้งทรงวาดและเยาวราช ตึกไหนเป็นร้านชำ FLVR Studio ของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา
เราขอทายว่าเป็นอาคารที่มีประตูสีเขียวเด่นอยู่ตรงหน้าล้านเปอร์เซ็นต์
โอนัดเราที่นี่เพื่อพูดคุยในฐานะเจ้าของคอลัมน์ ‘วัตถุปลายตา’ ซึ่งสร้างสีสันให้กับ The Cloud มานาน และในฐานะนักเล่าเรื่องผู้ใช้เรื่องสร้างงานออกแบบ
โอคือนักออกแบบทั้งชีวิต นิตยสาร The Business Times ของสิงคโปร์เคยยกให้เขาเป็น 1 ใน 5 นักออกแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าจับตา และยังเคยร่วมออกแบบให้กับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Dior, Cartier, Hermès, COMME des GARÇONS
เขาไม่ได้ทำงานดัง ๆ เหล่านี้จากการเปิดตำราออกแบบเล่มไหน แต่ใช้ชีวิตเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างงาน
แล้วชีวิตของเขาถูกออกแบบมาอย่างไร
โอจะเล่าให้ฟัง
01
ชีวิต (นัก) ออกแบบ
ในร้านชำ FLVR Studio เต็มไปด้วยสีเขียว
ตั้งแต่ประตูร้าน ผนังด้านใน ชั้นวาง แก้วน้ำที่เขาส่งให้เราดื่ม แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นรูปปั้นครุฑลอยตัวแบบราชการไทยที่ทาสีเขียวเข้มทั้งองค์ติดอยู่กับผนัง
สิ่งของทุกชิ้นไม่ใช่ของที่ไปซื้อมาจากร้านปกติ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นงานออกแบบของเขาทั้งนั้น
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยว งานออกแบบของโอยังมีอีกมาก เช่น Cheap Ass Elites ตะกร้าตลาดที่แปลงโฉมเป็นเก้าอี้หรู Sawaddee Lamp หรือ นางไหว้ โคมไฟจากหุ่นไม้แกะสลักรูปหญิงยืนไหว้ตามร้านนวด มีงานออกแบบให้กับแบรนด์ไทย ๆ ที่เราอาจรู้จักกันก็อย่างกระเป๋านักเรียน JACOB หรือชิ้นงานล่าสุดกับการออกแบบร้านข้าวต้มรวยมิตร ร้านอาหารในเครือสุพรรณิการ์
เขานิยามตัวเองเป็นชาวนนทบุเรี่ยน เรียนสายวิทย์-คณิตในโรงเรียนรัฐกางเกงสีกากี เป็นอดีตหัวหน้าห้อง สนใจงานออกแบบและศิลปะ ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และกระเบื้อง ไม่เชื่อเรื่องผีสาง มองการดื่มเหล้าเป็นสุนทรียภาพ และมีกลุ่มแชตเพื่อนสนิทที่ชื่อ บางแคร์ ส่วนหนึ่งของชีวิตโอที่เขาเขียนเป็นเสมือนอัตชีวประวัติของตัวเองแทรกอยู่ในเกือบทุกบทความของคอลัมน์
ปัจจุบันเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นผู้ก่อตั้ง 56thStudio สตูดิโอออกแบบที่ตอนนี้ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน เหนือหัวของเรา
โอเริ่มตามหาตัวเองด้วยการเรียนสาขาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่ชีวิตนักออกแบบจะเริ่มต้นขึ้นจริงจัง หลังจากที่เขาได้ทุนไปเรียนหลักสูตร Storytelling ที่ Konstfack University of Arts, Crafts and Design เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อ 15 ปีก่อน
“ชีวิตนักออกแบบเริ่มต้นจริง ๆ ตอนได้ทุนไปเรียนสวีเดน เราเริ่มรู้สึกว่าศาสตร์ของการออกแบบ คือการเล่าเรื่อง และเป็นสิ่งที่ปรุงได้สนุก เราจบมาพร้อมกับงานจบชิ้นแรก คือ Cheap Ass Elites ตะกร้าที่นำมาหั่นเป็นเก้าอี้ แล้วดันได้ไปลงนิตยสารต่างประเทศ ก็ทึกทักเอาเองว่างานชิ้นนี้ทำให้คนรู้จักเรา” โอเล่า
“หลักสูตรที่เราไปเรียนเก๋มาก เราออกแบบวิธีนำเสนอเรื่องได้ แล้วแต่ความถนัดว่าคุณถือทักษะอะไรมา เป็นเหมือนโรงเรียนในหนัง X-Men เลย”
โอชอบคิดว่าตัวเองเป็นเป็ด ชอบความรู้ที่หลากหลาย สิ่งนี้มีประโยชน์เมื่อต้องเรียนวิชาการเล่าเรื่อง เพราะเราจะออกแบบวิธีเล่าเรื่องได้ล้านวิธี โดยไม่ยึดติดกับกรอบแบบใด
การไปเรียนที่สวีเดนยังมีส่วนบ่มเพาะตัวตนและการมองโลกของเขาด้วย
สวีเดน ประเทศที่ทุกอย่างเท่าเทียมและมีระเบียบ รถเมล์ที่มาตรงเวลา กรอบที่ว่านี้ทั้งดีและไม่ดี ไม่ว่าอย่างไร โอคิดว่ามันแตกต่างและไม่เคยเห็นในบ้านเกิดที่เติบโตและคุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก
“เอกลักษณ์ของความเป็นไทย คือการเป็นประเทศที่ไม่มีระเบียบนี่แหละ ทุกอย่างไม่เท่ากัน มีความเหลื่อมล้ำ เราเลยขโมยเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาเป็นเอกลักษณ์ให้งานออกแบบของตัวเอง” โอเล่า
เราจึงได้เห็นเขาเอาตะกร้าตลาดมาสร้างเป็นเก้าอี้ หุ่นไม้ต้อนรับมาเป็นโคมไฟ กระเป๋า JACOB โฉมใหม่ หรืองานชิ้นอื่น ๆ ที่เหมือนมีใบหน้าของโอติดเป็นโลโก้
“เราอาจเป็นคนแรก ๆ ที่พยายามเถิดเทิงกับความเป็นไทยแบบบ้าน ๆ เหมือนหมาที่ฉี่รดดินแดนเพื่อไม่ให้หมาในซอยอื่นมายุ่ง หมาซอยอื่นเข้ามายากนิดหนึ่ง” โอเปรียบตัวเอง
นี่คืองานออกแบบที่ศรัณย์คิดว่ามีความหมายที่สุดสำหรับเขา
“งานที่มีความหมายสำหรับผม คือสิ่งที่ผมได้ทำเป็นคนแรก”
02
วัตถุปลายตา 1.0
“เราไม่ได้เริ่มงาน จากการบอกว่าวันนี้จะออกแบบอะไร แต่เริ่มว่าวันนี้มีอะไรอยากเล่า”
โอยกตัวอย่างปัญหารถติดในกรุงเทพฯ เขาเจอทุกวัน อยากเล่าเรื่องนี้ โอเล่าเป็นเรื่องบนผ้าทอที่มีลายเป็นภาพรถยนต์ต่อกัน
งาน นางไหว้ เกิดจากการตั้งคำถามต่อรัฐที่ใช้งบประมาณซื้อของไร้คุณภาพมาประดับพื้นที่สาธารณะ
“เราเลยไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักออกแบบ เพราะจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราทำคือเรื่อง ไม่ใช่ของ” โอกล่าวต่อ
เราชวนคุยเรื่องคอลัมน์วัตถุปลายตา ใน The Cloud โอเล่าย้อนว่าเขาได้รับการชักชวนเมื่อ 7 ปีก่อน บทความแรกเขาเขียนถึงทิชชูสีชมพูที่หลายคนคุ้นเคย ตามมาด้วยบทความเรื่องข้าวของอีกมาก ตั้งแต่ม้าหินอ่อน แตงโม ตะเกียบ เก้าอี้ไม้ที่เราคุ้นตาในคาเฟ่ เป็ดยางสีเหลือง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผี ความรัก ธงสีรุ้ง เจ้าหญิงดิสนีย์ จนถึงของเล่นผู้ใหญ่ เขาก็เคยหยิบมาเล่า
เนื้อหาในคอลัมน์พูดถึงที่มาทางประวัติศาสตร์ของวัตถุ โอเล่าติดตลกว่าพยายามเลือกสิ่งที่อาจารย์เอนก นาวิกมูล ไม่ได้เขียน วัตถุส่วนใหญ่ที่นำมาเล่าก็ตรงตามชื่อ เป็นวัตถุปลายตาของใครหลายคน แต่สำหรับโอแล้วกลับกัน
“มันไม่ปลายตาของเรานะ มันอยู่กลางเรตินา (จอประสาทตา) ของเราเลย แต่อาจจะปลายตาคนอื่น เพราะเราชอบของที่คนอื่นเขาไม่ชอบ” โอพูด
นิสัยสนใจข้าวของนอกสายตาของโอต้องเล่าย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน สมัยที่เขายังเป็นเด็กชายศรัณย์ เขาชอบของที่คนอื่นไม่สนใจ ด้วยความเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้ เขาจึงขุดเรื่องเหล่านี้มาเล่า
นอกจากเนื้อหาของข้าวของปลายตาแต่ละชิ้น เรายังจะได้พบกับเนื้อหาของชีวิตโอที่สอดแทรกไปมาจนดูเป็นไดอารีชีวิตของเขาไปในตัว แย่งซีนของอย่างขำ ๆ ซึ่งดูจะเป็นตัวตนเขามาก เพราะเมื่อเราได้มาคุยกับเขาในวันนี้ จึงรู้ว่างานเขียนในคอลัมน์เขาเป็นอย่างไร ตัวจริงเขาก็เป็นอย่างนั้น ไม่ต่างกันสักนิด
แต่ทั้งหมดคือวัตถุปลายตาเวอร์ชัน 1.0 ซึ่งจบลงไปเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน ก่อนที่ภาคต่อจะกลับมาเกิดใหม่ในเวอร์ชัน 2.0 ที่เขานิยาม
03
ภาคต่อ
เป็นไปได้หรือไม่ว่า โอกาสที่ผมแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ กับผู้อ่าน The Cloud ผ่านคอลัมน์เล็ก ๆ นี้ ก็น่าจะชี้นำ สาดส่องสว่างให้เห็นอะไรบางอย่างที่แตกต่างและเปี่ยมแรงบันดาลใจให้กับโลกใบนี้ได้มากกว่าที่มันเคยมีมา
ศรัณย์เขียนสิ่งนี้ทิ้งท้ายเอาไว้ในบทความตอนหนึ่ง ก่อนจะหายหน้าหายตาไปจากคอลัมน์เกือบ 3 ปี ขณะที่ชีวิตนักใช้เรื่องสร้างงานออกแบบยังดำเนินอยู่ตลอดเวลา
ถ้านั่งรถผ่านหรือเดินเล่นสำรวจถนนบำรุงเมือง ย่านเสาชิงช้า จะพบกับตึกแถวเก่าช่วงหนึ่งที่หน้าร้านติดภาพคนพร้อมกระเป๋านักเรียนทรงคุ้นตาจนเต็มผนัง ซึ่งแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ที่ขายพระและเครื่องสังฆภัณฑ์ นี่คือร้านกระเป๋านักเรียนศรีภัณฑ์ยาค้อบ (JACOB) และเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่โอเข้าไปมีส่วนสำคัญ เปลี่ยนภาพจำเดิมให้กับแบรนด์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผ่านงานไทย ๆ แบบศรัณย์ เย็นฯ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เขาไม่ได้เขียนหนังสือหลายปี
โอเล่าว่าเหตุผลหนึ่งที่เขากลับมาเขียน คือวัตถุปลายตาเป็นพื้นที่แห่งการดีท็อกซ์จากงานประจำในฐานะนักออกแบบ โดยเขาเลือกเขียนเรื่องกระเป๋านักเรียน JACOB เป็นปฐมฤกษ์ในคอลัมน์วัตถุปลายตา เวอร์ชัน 2.0 จากที่เป็นวัตถุปลายตาของเขาอยู่แล้ว แต่มันลงไปเป็นวัตถุปลายมือของเขาด้วย
“บทความเก่า ๆ จะเขียนที่เป็นกระแสทันสถานการณ์ แต่ตอนนี้จะไม่เกี่ยวกับกระแสอีกต่อไป แต่จะเป็นสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวัน”
โอเล่าว่าบทความเวอร์ชันเก่า ต้องใช้เวลาเตรียมข้อมูลอยู่มาก หากให้ทำแบบนั้นต่อไปเรื่อย ๆ เขาอาจไม่สนุกกับมัน เขาจึงปรับเปลี่ยนมาเขียนในเรื่องงานออกแบบที่เขาคลุกคลีอยู่ทุกวัน
ข้อดีที่ตกแก่เจ้าของคอลัมน์ คือการไม่ต้องเสียเวลาแบกหนังสือมาเปิดหาข้อมูลเยอะ ๆ แต่มากกว่านั้น คือประโยชน์ที่จะตกแก่ผู้อ่าน เพราะสิ่งที่โอจะเขียนให้เราอ่านหลังจากนี้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่เขาทำร่วมกับแบรนด์ที่เราคุ้นตา
“เราได้เห็นข้อมูลที่อินไซต์จริง ๆ คนอื่นก็เล่าไม่ได้ เพราะว่ามันเล่าผ่านคนที่ทำงาน” โอกล่าว
หลังจากปล่อยบทความแนวใหม่ชิ้นแรกออกมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 เดือนถัดมาเป็นบทความข้าวต้มรวยมิตร ซึ่งก็คืออีกหนึ่งในงานออกแบบร้านของเขาเช่นกัน
แม้วัตถุปลายตาจะเปลี่ยน แต่สีสันชีวิตที่เขาชอบเขียนแทรกอยู่ในบทความยังคงอยู่ และคราวนี้เขาบอกว่าจะใส่ทั้งประสบการณ์และชีวิตเข้าไปแบบจัดเต็มกว่าเดิม
หลังจากนี้ ถ้าเราเริ่มเห็นโอทำงานออกแบบกับแบรนด์ไหน ก็เดาเอาไว้ได้เลยว่าเราอาจจะได้อ่านสิ่งนั้นในคอลัมน์วัตถุปลายตาด้วยเช่นกัน
ถ้าตอนนี้ให้เลือกเล่าวัตถุที่อยู่ใกล้มือมากที่สุด จะเล่าเรื่องอะไร – เราถามเขาเป็นคำถามท้าย ๆ
“ไม่ตอนนี้ได้มั้ย อยู่ตรงนี้ได้มั้ย” เขาพูดพร้อมนิ้วที่ชี้ขึ้นไปบนฝ้าเพดานผ่านไปถึงห้องที่อยู่ด้านบน
ก่อนเขาจะพาเดินขึ้นบันไดไปบนชั้น 2 ของร้าน ซึ่งเป็นสตูดิโอและสถานที่เก็บกรุสะสมของเขา ยกกองหนังสือโป๊วาบหวิวยุค 60 มาให้เราดู แล้วชวนให้เราสนใจหนังสือเล่มหนึ่งในกองชื่อเล่มว่า เฟี้ยว พร้อมฟอนต์ทรงเก๋
“ดูคำว่าเฟี้ยวไว้นะครับ” เขาพูดก่อนที่อีกสักครู่จะออกไปหยิบอะไรบางอย่างมาให้เราดู
เฟี้ยว ฟอนต์เดิมที่อยู่บนหน้าปกหนังสือโป๊ ไปปรากฏอีกทีบนกระเป๋าไม้สาน ซึ่งเป็นงานที่เขาออกแบบ
แค่กระเป๋าสานที่เขายกออกมาให้เราดูแค่ใบเดียว ก็สรุปรวบชีวิตของโอให้เราเห็นได้อย่างแจ่มแจ้ง
วัตถุปลายตาที่เขาเลือกหยิบมาเล่าเป็นวัตถุที่เราและใครหลาย ๆ คนปรายตา แต่สำหรับเขาแล้วไม่ใช่
มันเป็นมากกว่าวัตถุ มากกว่าการเล่าเรื่อง แต่คือชีวิตในทุก ๆ วันของเขา และนั่นทำให้โอไม่เหมือนใคร