แม้ไม่ใช่คอกาแฟ ฉันเชื่อว่าคุณน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของ ‘อาข่า อ่ามา’ แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดย ‘ลี-อายุ จือปา’ หนุ่มชาวอาข่า เพื่อขายกาแฟคุณภาพระดับโลกให้ผู้บริโภค และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอาข่าผู้ผลิตในเวลาเดียวกัน
หลังถือกำเนิดและเติบโตมาหลายปี อาข่า อ่ามาได้ฤกษ์เปิด Akha Ama Living Factory บนพื้นที่ขนาด 5 ไร่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่ถือเป็น ‘บ้าน’ หลังแรกที่เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเช่าพื้นที่ใครอื่น
โรงคั่วและร้านกาแฟ-นี่คงเป็นนิยามง่ายที่สุดของสถานที่นี้
แต่หลังฟังลีและทีมสถาปนิก ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ ผู้อยู่เบื้องหลังเล่าวิธีคิด ฉันก็รู้ว่าที่นี่ไม่ใช่โรงคั่วหรือคาเฟ่ทั่วไป
“เราอยากมีบ้านของตัวเอง” ลีเริ่มต้นเล่าจุดกำเนิด และบอกว่าเห็นภาพบ้านหลังนี้ในฐานะพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวกาแฟเพื่อสังคมที่ชื่อ อาข่า อ่ามา ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
สิ่งที่ลีอยากเล่าคือ องค์ความรู้เรื่องกาแฟ กระบวนการทำที่บ่งบอกว่าอาข่า อ่ามา ไม่ใช่แค่กาแฟที่ซื้อมาขายไป แต่ใส่ใจทุกขั้นตอนผลิต ความเป็นท้องถิ่นซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กาแฟทุกเมล็ดเสมอมา และเรื่องของกิจการเพื่อสังคมซึ่งถือเป็นแก่นสำคัญของแบรนด์
ลึกซึ้งกว่านั้น ลีอยากให้ Akha Ama Living Factory สะท้อนความเชื่อของอาข่า อ่ามา เรื่อง `การอยู่ร่วมกัน’ ไม่ว่าจะเป็นวิถีเกษตรของชาวอาข่าที่ไม่ได้ปลูกกาแฟเพียงอย่างเดียวและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่า หรือแม้แต่วิถีชีวิตคนเมืองที่ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่นรายรอบอย่างสังคมและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ลีเองก็รู้ตัวว่าเขาไม่อาจเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในใจเป็นรูปธรรมเองได้ เจ้าของแบรนด์กาแฟชาวอาข่าจึงเสาะหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จนพบ ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ ที่ทำงานออกแบบและวางผังพื้นที่โดยใส่ใจแง่มุมทางสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ
“ความประทับใจแรกคือ เราถามลีว่าทำไมมาซื้อที่นี่ ลีบอกว่าเพราะมีต้นฉำฉา นี่นายตัดสินใจง่ายขนาดนี้เลยเหรอ” ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอย้อนเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
แต่แน่นอน คำตอบนั้นสะท้อนรสนิยมที่ตรงกัน และพวกเขาก็กลายมาเป็นผู้ร่วมสร้างบ้านหลังนี้
ชาวใจบ้านบอกฉันว่า วิธีการทำงานของสตูดิโอไม่ได้เริ่มจากหาสไตล์ถูกใจ แต่เริ่มจากหาสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘ชีวิต’ ซึ่งอยู่ในพื้นที่นั้นมาก่อน ตั้งแต่ต้นไม้จนถึงสภาพแวดล้อมเดิม แล้วออกแบบอาคารและวางผังเข้าไปให้กลมกลืน
พื้นที่สร้าง Akha Ama Living Factory มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ย้อนไปในอดีต บริเวณนี้คือพื้นที่ป่าซึ่งเชื่อมต่อกับภูเขา เป็นที่ให้กำเนิดลำเหมืองหรือสายน้ำไปหล่อเลี้ยงผืนนาและชุมชนใกล้เคียง ระหว่างเตรียมออกแบบอาคาร ชาวใจบ้านจึงลงมือปลูกต้นไม้ท้องถิ่นคืนให้พื้นที่ไปล่วงหน้า ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวต้นกาแฟซึ่งเติบโตเชื่อมโยงอยู่กับผืนป่าที่มีต้นไม้นานาชนิด (ต้นไม้ที่ปลูกยังช่วยเป็นร่มเงาให้ต้นโกโก้ซึ่งลีอยากปลูกด้วย) และขุดสระน้ำใหญ่เชื่อมโยงกับลำเหมืองที่มีอยู่
ส่วนเรื่องโครงสร้างของ Akha Ama Living Factory ลีและชาวใจบ้านตั้งใจให้ใต้ร่มเงาต้นฉำฉากลายเป็นส่วนคาเฟ่ซึ่งเน้นให้คนได้ปฏิสัมพันธ์กับต้นไม้ ส่วนระเบียงรอบๆ จึงออกแบบให้คนนั่งโดยหันหน้าเข้าหาต้นไม้สูงใหญ่เก่าแก่นี้ และแทนที่จะปล่อยพื้นที่ตรงกลางเป็นหลุมปลูกไม้พุ่มเตี้ยๆ ก็เปลี่ยนเป็นนำตาข่ายมาขึงรอบๆ ให้เด็กปีนป่ายเล่น
เมื่อเดินเลยคาเฟ่แสนน่านั่งไป จะพบอาคารหลักที่ตั้งใจก่อสร้างโดยอุดหนุนวัสดุท้องถิ่น นั่นคืออิฐมอญทำมือแสนสวยที่ชาวบ้านผลิตกันยาวนานถึง 4 รุ่น เมื่อนำมาผสมกับไม้เก่าที่อบอวลด้วยร่องรอยอดีต ก็กลายเป็นการรวมตัวของสิ่งใหม่และเก่าอย่างลงตัว
ถ้าผลักประตูเข้าด้านใน จะพบพื้นที่คาเฟ่ในอาคาร ซึ่งเปรียบเหมือนห้องรับแขกซึ่งคนมานั่งจิบกาแฟได้อย่างสบายใจ และได้เรียนรู้ สัมผัสจิตวิญญานการผลิตกาแฟแบบอาข่า อ่ามาเต็มที่ เพราะมีการออกแบบให้บริเวณนี้เห็นโรงคั่วและกระบวนการผลิตกาแฟที่ด้านหลังชัดเจน
แล้วเมื่อก้าวขึ้นสู่ชั้นสอง ก็จะเจอห้องทำงานของลีและพื้นที่เอนกประสงค์ สูงขึ้นไปกว่านั้นคือดาดฟ้าโปร่งโล่งที่มีต้นไม้เขียวสวย
หากลองสังเกต จะพบว่า Akha Ama Living Factory เต็มไปด้วยพื้นที่ว่างมากมาย นั่นเพราะลีและชาวใจบ้านอยากให้ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เพื่อการพูดคุย และส่งต่อความรู้ผ่านกิจกรรมอย่างเวิร์กช็อปซึ่งไม่ได้จำกัดหัวข้อไว้แค่กาแฟ แต่ยังเปิดกว้างสำหรับหัวข้ออื่น เช่น การทำกิจการเพื่อสังคม
“ช่วงหลังเมื่อพวกโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทเยอะ เราไม่ค่อยมีเวิร์กช็อป มีการนัดพบที่คนมาเจอกัน คนจะคุยกันผ่านออนไลน์ แต่เมื่อการพบกันหายไป องค์ความรู้ต่างๆ ก็ไม่ได้รับการถ่ายทอด ถึงพยายามทำผ่านสื่อออนไลน์ก็ได้แค่สารที่อาจจะสั้น ไม่ลึกซึ้ง และไม่ได้เกิดความสัมพันธ์ต่อกัน” ลีอธิบาย
สิ่งน่าสนใจในบ้านอาข่า อ่ามา ไม่หมดเพียงเท่านี้ ห่างออกไปจากตัวอาคารหลัก เราจะพบโรงครัวไว้ทำอาหารแบบ Slow Food เพราะลีเป็นหนึ่งในสมาชิกของชาว Slow Food Youth Network Thailand หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนเรื่องอาหารอร่อย มีคุณภาพ และยั่งยืน
หากเดินสำรวจต่อไปยังส่วนหลังสุดของบ้านขนาด 5 ไร่ เราจะพบผืนป่าซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ เผื่อทำกิจกรรมอย่างการแคมปิ้งกลางธรรมชาติ (ชาวใจบ้านเล่าว่ามีกระต่ายป่ามาอยู่ร่วมบ้านเลยทีเดียว)
นอกจากนั้น ยังมีสิ่งดีงามที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทุกคน จนถึงระบบการจัดการที่ตั้งใจรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การดักไขมัน บำบัดน้ำ และเน้นใช้แสงธรรมชาติในอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน
ความพิเศษอีกอย่างคือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหรือชาวชุมชน ตี๋บอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว การสร้างตึกในเชียงใหม่มักเกิดขึ้นโดยคนในย่านไม่รู้มาก่อน ทำให้พวกเขาไม่มีความสุข แถมยังไม่มีการพูดคุยเกิดขึ้น ขณะที่ตอนสร้างบ้านหลังนี้ ชาวบ้านก็กังวลว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน ทีมใจบ้านจึงเข้าไปชี้แจงในที่ประชุมหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเข้าใจรวมถึงเห็นการปลูกต้นไม้ ความสัมพันธ์ก็ราบรื่น
สิ่งเหล่านี้คือรายละเอียดและวิธีคิดในบ้านหลังใหม่ของอาข่า อ่ามา พื้นที่ซึ่งลีอยากให้ผู้คนได้มาศึกษา ต่อยอดความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องแนวคิดเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม
“สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเราไม่ได้วางไว้ตอบคำถามทุกอย่าง แต่ทำให้เกิดข้อสงสัย เกิดไอเดีย มีคนรุ่นใหม่โทรมาหา เขียนมาหาผมทุกวันว่า เขาไม่รู้จะเริ่มทำฝันให้เป็นจริงได้ยังไง ผมคิดว่าน่าจะใช้พื้นที่ตรงนี้ในการสื่อสาร เขามาแล้วอาจได้คำตอบกลับไปโดยที่ผมหรือทีมใจบ้านไม่ต้องพูดก็ได้” ชายหนุ่มผู้ก่อตั้งอาข่า อ่ามา ตั้งแต่อายุไม่ถึง 25 ปีบอกเล่าสิ่งที่คิด
และขณะที่คนทั่วไปได้เรียนรู้ วิธีการสร้าง Akha Ama Living Factory ซึ่งเปิดกว้างทางความคิดและเกื้อหนุนท้องถิ่น ก็ช่วยให้คนร่วมสร้างบ้านได้เติบโตไปพร้อมกัน ตั้งแต่ชาวใจบ้านสตูดิโอ ผู้รับเหมา จนถึงช่างทำอิฐมอญ
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ Akha Ama Living Factory ก้าวไปไกลเกินคำว่าโรงคั่วหรือร้านกาแฟ
แต่บางที, ลีอาจไม่ได้สนใจคำนิยาม เขาเพียงปลูกสิ่งที่อาข่า อ่ามา และตัวเองเชื่อมั่นให้มีชีวิตขึ้นบนผืนดิน