“มาคุยที่บ้านเราดีกว่า” ศาสตราจารย์ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ บอกผมแบบนั้น เมื่อเรานัดกันผ่านข้อความข้ามทวีป
ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก อยากให้ผมเรียกเขาว่า โหน่ง ไม่ต้องประดับตำแหน่งวิชาการให้รุงรัง เพราะไม่อยากให้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเล่าเข้าถึงยาก (เหมือนย่อหน้าถัดไป)
เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมของครัวเรือนและธุรกิจ ระบบการเงิน นโยบายสาธารณะ และการพัฒนาเศรษฐกิจ
(เรื่องที่เขาเล่ามันง่ายเหมือนย่อหน้านี้) โหน่งเป็นเจ้าของรายการพอดแคสต์ คอลัมน์ และพ็อกเกตบุ๊กเล่มใหม่ล่าสุดของ The Cloud ในชื่อเดียวกันทั้งหมดว่า Business Family รวมบทเรียนจากครอบครัวธุรกิจที่ทำธุรกิจครอบครัวทั่วโลก
ถึงจะสอนหนังสือที่สหรัฐอเมริกาแต่งานวิจัยชิ้นแรกของโหน่งหลังเรียนจบกลับเป็นการศึกษาพฤติกรรมของครอบครัวธุรกิจในประเทศไทย บทความเรื่อง Mixing Family with Business: A Study of Thai Business Groups and the Families Behind Them ของเขาได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก ความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจครอบครัวของทั้งเทศและไทยของเขาถือว่าอยู่แถวหน้า
บ้านของโหน่งอยู่แถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รั้วบ้านเต็มไปด้วยไม้เลื้อยที่ตั้งใจปลูกจนครึ้มแน่น เปิดประตูเข้ามาด้านในก็เต็มไปด้วยต้นไม้ บ้านของเขาเป็นเรือนสีขาวยกพื้นสูงขึ้นไปใช้ชีวิตบนชั้น 2 เหมือนเรือนไทยโบราณแบบเรือนหมู่ มีห้องทำงานขนาดใหญ่มาก มีเรือนนอนขนาดรองลงมาแยกออกมาต่างหาก และมีครัวน้อย ๆ กลางลานบ้านเจาะช่องให้ต้นการบูรลอดขึ้นมาเป็นร่มเงาให้ทั้งลาน โหน่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนนี้ ส่วนชั้นล่างเป็นห้องพักแม่บ้านที่อยู่กับครอบครัวเขามาตั้งแต่โหน่งเกิด
ผมได้รับเชิญมาที่บ้านหลังนี้ด้วยโควตาบรรณาธิการและเพื่อนร่วมคณะที่รู้จักกันมา 29 ปี
“เราไม่เคยชวนใครมาคุยที่บ้าน เพราะเรามีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง แล้วก็ไม่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องส่วนตัว แต่ครั้งนี้ถ้าอยากรู้จักตัวตนเรา ก็ต้องมาที่บ้าน เห็นบ้านเราก็จะรู้ว่าความชอบเราเป็นแบบไหน” โหน่งเล่าขณะพาเดินชมบ้านก่อนจะเริ่มสัมภาษณ์
โหน่งสร้างบ้านหลังนี้ประมาณ 10 ปีก่อน ในวัยที่ชีวิตตกผลึกแล้วในระดับหนึ่ง มันจึงสะท้อนความเป็นเขาได้ในหลายมุม ทั้งความชอบของเก่า ชอบประวัติศาสตร์ ชอบหนังสือ ชั้นหนังสือที่กินพื้นที่เต็มหลายผนังของเขาส่วนใหญ่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ แล้วโหน่งก็ชอบธรรมชาติ เขาปลูกต้นไม้เยอะมาก เพื่อให้มองจากหน้าต่างออกมาไม่ว่าจะบานไหนก็จะได้เห็นต้นไม้
“บ้านเราที่สหรัฐฯ เป็นคอนโดแบบอินดัสเทรียล ลอฟต์เลย พอทำบ้านที่เมืองไทยก็อยากเป็นอีกอารมณ์ เป็นบ้านแบบเมืองร้อน มีพื้นที่โล่ง รับลม มีต้นไม้เยอะ ๆ ซึ่งคอนโดที่สหรัฐฯ ทำไม่ได้ เวลาอยู่ต่างที่กันจะได้มีแรงบันดาลใจคนละแบบ” โหน่งเปิดประตูชวนผมเข้ามานั่งคุยในห้องทำงาน
เขากลับมาถึงเมืองไทยเมื่อวาน เมื่อเช้ามีประชุมออนไลน์ พอบ่ายก็นัดคุยกับผมแบบที่ไม่มีอาการเจ็ตแล็ก
“เราโตมาในครอบครัวนักวิชาการ และโตมากับต้นไม้” โหน่งเริ่มเล่าถึงตัวตนของเขา พ่อของเขาเป็นอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช แม่ของเขาก็เรียนจบด้านเกษตร แต่ข้ามสายไปทำงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ก็วกกลับมาดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พ่อและแม่ของโหน่งจบปริญญาเอก และให้ความสำคัญมากกับการศึกษาของลูก ๆ พี่สาวเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็จบปริญญาเอกและเป็นอาจารย์ ส่วนพี่เขยที่เป็นหมอก็ยังจบปริญญาเอกและเป็นอาจารย์ด้วย
“เราอยากเป็นอาจารย์ตั้งแต่เด็ก ไม่เคยอยากทำอาชีพอื่นเลย ตอนเด็กตามพ่อไปสอน ไปนั่งดูพ่อสอนอยู่หลังห้อง ชอบอาชีพนี้มาก”
ผมรู้จักโหน่งครั้งแรกตอนเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเข้ามาเป็นที่ 1 ของรุ่น และจบเป็นที่ 1 ของรุ่นเช่นกัน เป้าหมายของเขาในตอนนั้นคือการเป็นอาจารย์ที่คณะ เขาจึงเลือกเรียนต่อปริญญาเอกที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา หนึ่งในคณะเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลก
โหน่งเลือกเรียนด้านการเงินกับการพัฒนาเศรษฐกิจ พอเรียนจบก็ตั้งใจว่าจะกลับมาสอนหนังสือที่เมืองไทย แต่อาจารย์ที่ปรึกษาชวนให้สมัครงานที่สหรัฐฯ เขาเลยลองยื่นใบสมัครไป แล้วก็มีหลายมหาวิทยาลัยตอบรับ สุดท้ายด็อกเตอร์ป้ายแดงเลยเลือกเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก โดยตั้งใจว่าจะใช้เวลาหาประสบการณ์แค่ 2 ปี แต่เวลาก็ผ่านไปไวเหลือเกิน เขาต่อเวลาหาประสบการณ์เพิ่มอีก 2 ปี 2 ปี และ 2 ปี จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 21
“สิ่งที่มหาวิทยาลัยคาดหวังจากเรามี 3 อย่าง งานวิจัย งานสอน และงานบริหาร งานวิจัยเป็นอันดับ 1 แต่พอเป็นมหาวิทยาลัยรัฐก็ต้องเน้นสอนด้วย คุณภาพการสอนต้องดี ลูกศิษย์ส่วนใหญ่เป็นคนแคลิฟอร์เนีย เพราะจ่ายค่าเทอมถูกกว่า นักเรียนจึงเป็นหนึ่งใน Stakeholder ของมหาวิทยาลัย อาจารย์ต้องรับผิดชอบคุณภาพการสอนที่สูง เป็นวัฒนธรรมการสอนที่เราชอบ”
อาจารย์โหน่งขยายความว่าการสอนที่นั่นไม่มีการแคนเซิลคลาสหรือเลื่อนคลาสถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ถ้าจะสอนชดเชยก็มีกฎว่าห้ามบังคับให้นักเรียนมาเรียน เพราะเขาอาจติดทำงานอื่นหรือต้องดูแลครอบครัว เนื้อหาที่สอนวันนั้นก็ห้ามออกข้อสอบ แล้วเนื้อหาที่จะสอนในคาบต่อไปก็ห้ามเป็นเนื้อหาที่ต่อเนื่องจากวันที่สอนเพิ่ม ไม่อย่างนั้นเด็กที่ขาดเรียนจะเสียเปรียบ ต้องปกป้องสิทธินักเรียน เพราะการแคนเซิลคลาสไม่ใช่ความผิดของเด็ก
“เวลามีคนติดต่อไปร่วมงานประชุมสัมมนาที่ดีมาก แต่ถ้าติดสอนก็ตอบปฏิเสธแบบอัตโนมัติทันที มันเป็นจรรยาบรรณของอาจารย์ที่เราชอบ”
วิชาที่โหน่งสอนมีทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ส่วนเวลาอื่น ๆ ก็ต้องทำวิจัยและงานบริหาร
“ข้อดีของการเป็นอาจารย์คือได้ทำวิจัยและสอนในเรื่องที่เราสนใจ มีความคล่องตัวระดับหนึ่งว่าจะทำงานเยอะ ๆ ช่วงไหน จะพักผ่อนช่วงไหน แต่ข้อเสียคือเวลาพักผ่อนมันไม่เคยได้พักจริง ๆ เพราะงานวิจัยคือการคิด อยู่ที่ไหนก็ใช้ความคิดได้ ไม่ต้องอยู่ในออฟฟิศ เวลาไปเที่ยวพักผ่อนก็ต้องพยายามฝึกตัวเองให้หยุดคิดบ้าง จะได้พักจริง ๆ
“ตอนสอนหนังสือใหม่ ๆ เราไม่มีประสบการณ์การทำงานจริงเลย อายุน้อย ลูกศิษย์บางคนอายุมากกว่าเรา บางคนเคยทำงานในธุรกิจใหญ่ ๆ ความมั่นใจเรามีน้อย เรื่องทางปฏิบัติเราไม่มีทางรู้เท่าเขา ตอนสอนเลยเน้นเรื่องทางทฤษฎีที่เรามีมากกว่าเขา แต่มันควรจะมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เรารู้ว่าเรามีจุดอ่อน ก็ต้องพยายามหาประสบการณ์จากนอกวงวิชาการควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”
การสอนหนังสือของเขาก็ไม่ธรรมดา เพราะเขาเปลี่ยนวิชาแสนน่าเบื่ออย่าง Accounting and Finance for Policymaker ให้นักเรียนที่ไม่ได้อยากจบไปทำธุรกิจสนใจได้ เพียงแค่เปรียบเทียบว่าบัญชีคือภาษาในสังคมธุรกิจ ถ้าอยากคุยกับภาคเอกชนก็ต้องอ่านตัวเลขรู้เรื่อง เขาทำให้นัก (ที่ไม่อยาก) เรียนหันมาสนใจเรียน เพราะรู้ว่าจะได้อะไรจากการเรียน จนได้ผลประเมินดีเยี่ยม และข้อความจากเด็ก ๆ ว่าอาจารย์โหน่งใส่ใจผู้เรียน
ผมสงสัยว่าเขาถนัดประเด็นไหนที่สุด
“เราเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Household as Corporate Firm ชื่อนี้เป็นคำอธิบายงานทั้งหมดของเราได้ดี เรามองว่าครัวเรือนกับธุรกิจคือหน่วยเดียวกัน พฤติกรรมจะแยกกันเหมือนในตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นไม่ได้ อย่างเกษตรกรเขาไม่ได้แยกเงินที่ซื้ออาหารกับซื้อปุ๋ยออกจากกัน แม้แต่กลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว ก็มีข้อจำกัดทางธุรกิจที่เกิดจากเรื่องครอบครัว
ตอนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเราทำเรื่องกลุ่มทุนในประเทศไทย แต่เมื่อมองลงไปในกลุ่มทุนแต่ละแห่ง จะเห็นว่าที่เราบอกว่ากลุ่มนี้เป็นของตระกูลนั้นตระกูลนี้ มันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนในตระกูลจะเป็นเนื้อเดียวกัน งานวิจัยถัดไปของเราเลยเสนอว่าไม่ควรมองครอบครัวธุรกิจว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ละคนในครอบครัวมีความต้องการที่หลายหลาก ถ้าจะเข้าใจการตัดสินใจของธุรกิจได้ก็ต้องเข้าใจความหลายหลากในครอบครัวก่อน วิชาแรกที่เราสอน คือพฤติกรรมธุรกิจ (Organization Behaviors) ดึงงานวิจัยมาใช้สอนด้วย
อีกเรื่องที่เขาสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องเศรษฐกิจเอเชีย
“เราเลือกทำงานที่ซานดิเอโกเพราะที่นี่สนใจเอเชีย บางที่ไม่ได้สนใจเรื่องเชิงพื้นที่เท่ากับประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่ที่นี่สนใจเอเชียแล้วให้เราทำวิจัยเรื่องเอเชียในมุมที่เราสนใจ ซึ่งเราสนใจเรื่องประเทศเพื่อนบ้านมาตั้งแต่ยังเด็กแล้ว” อาจารย์ผู้ได้รับฉายาว่า ‘มิสเตอร์เอเชีย’ อธิบาย
“เราชอบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เวลามีคนมาชวนทำอะไร ถ้าทำแล้วเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เราไม่ค่อยจะปฏิเสธนะ” โหน่งเผยเคล็ดลับการชวนเขาทำงาน
พ.ศ. 2557 ธนาคารแห่งประเทศไทยติดต่อโหน่งเพื่อให้เขาร่วมก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพราะเขาเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชาวไทยที่ทำวิจัยอย่างจริงจังอยู่ต่างประเทศและมีเครือข่ายนักวิจัยนานาชาติ เมื่อรับงานนี้โหน่งจึงได้เดินทางกลับประเทศไทยบ่อยขึ้น จนเขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องกลับมาทำงานประจำที่ไทยเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตในบ้านเกิดก็ได้
ในช่วงวัย 40 นิด ๆ ขณะที่เขากำลังเบื่องานที่สหรัฐอเมริกา จะเรียกว่าเป็นวิกฤตวัยกลางคนก็ได้ แบงก์ชาติก็ชวนเขามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ วาระ 2 ปี ซึ่งเท่ากับระยะเวลาที่ลาจากมหาวิทยาลัยได้ โหน่งเลยคว้าโอกาสนี้เพื่อบินกลับมาทำงานที่ไทยช่วง พ.ศ. 2562 – 2564 ซึ่งตรงกับช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เขาได้ประสบการณ์เยอะมาก เพราะได้อยู่ในองค์กรที่ทำเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจพอดี
โหน่งยังรักงานสอน พอหมดวาระเขาเลยกลับไปเป็นอาจารย์ตามเดิม แต่ยังรับตำแหน่งที่ปรึกษาที่แบงก์ชาติ
“อีกเรื่องที่มีคนมาชวนแล้วเราใช้เวลากับมันเยอะมาก ซึ่งเราคิดไม่ผิดที่ทำนะ คือหนังสือ Business Family” โหน่งพูดถึงผลงานชิ้นล่าสุด
ผมเจอโหน่งในงานทายาทรุ่นสองของ The Cloud
คราวนั้น เราคุยกันว่าอยากชวนเขามาทำพอดแคสต์เรื่องธุรกิจครอบครัว
“ทีมงานมาคุยแล้วเสนอว่าทำสัก 6 ตอน ตอนละหัวข้อ แต่สุดท้ายพอลองทำแล้วมันเหมือนเลกเชอร์มาก น่าเบื่อ เราพูดเองยังเบื่อแล้วใครจะมาฟัง เลยปรับเป็นมีเคสครอบครัวประกอบ 2 – 3 ตัวอย่าง แต่ก็ต้องลงรายละเอียดว่าเขามีพ่อแม่พี่น้องกี่คน มีเรื่องมีราวอะไรกันบ้าง เรื่องมันเลยยาวเกินไปอีก สุดท้ายเลยปรับให้เหลือตอนละครอบครัว พอทีมงานเห็นสคริปต์ที่เราทำ เขาก็ขอไปลงเป็นคอลัมน์ด้วย ทำไปทำมาก็เขียนเป็นคอลัมน์จนได้ 30 ตอน 30 ครอบครัว สำหรับทำเป็นหนังสือ ถ้ารู้ว่าต้องเขียน 30 ตอนตั้งแต่แรก เราคงปฏิเสธไปแล้ว” โหน่งหัวเราะ
โหน่งเล่าว่าเคสที่อยู่ในเล่มส่วนหนึ่งเป็นเคสครอบครัวคลาสสิกที่ใช้เรียนกันทั่วไป แต่เคสอีกจำนวนมากในเล่มโหน่งตั้งใจไปค้นหามา บางเคสก็เลือกจากแบรนด์ดังที่คนไทยคุ้นเคยแล้วค่อยไปหาเรื่องราวของบ้านที่อยู่เบื้องหลัง
หากใครได้อ่านคอลัมน์นี้จะพบว่าเรื่องเล่าของโหน่งไม่เหมือนตำราเรียนเสียทีเดียว เพราะมันเต็มไปด้วยสีสันและความแสบสันต์แบบละครหลังข่าว
“เราไม่ได้ตั้งใจแต่งเรื่องให้เป็นแบบนั้นนะ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นจริง เขาทะเลาะกันจริง” โหน่งหัวเราะ
“งานวิจัยของเรามีสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน คือทุกอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจของคน เช่น บริษัทเองไม่มีชีวิต ไม่มีสมอง ตัดสินใจไม่ได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตัดสินใจโดยคน ธุรกิจครอบครัวก็ตัดสินใจโดยคนในครอบครัวธุรกิจ เราเลยใช้คำว่า ครอบครัวธุรกิจ แทนที่จะเป็นธุรกิจครอบครัว”
โหน่งบอกว่านี่คือหนังสือที่ครอบครัวธุรกิจควรอ่านร่วมกันทั้งบ้าน อ่านแล้วก็อยากให้ เอ๊ะ! ว่าเราทำแบบนั้นหรือไม่ได้ทำแบบนั้นหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นลูก ส่วนผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ได้มีธุรกิจของตัวเองก็ยังอ่านได้อย่างสนุก จะได้เห็นว่าความสำเร็จหลายอย่างไม่ใช่ว่าจะได้มาโดยง่าย และธุรกิจครอบครัวหลายแห่งที่คนภายนอกรู้สึกว่าประสบความสำเร็จร่ำรวย แต่จริง ๆ แล้วครอบครัวกลับไม่ได้อบอุ่นมีความสุข
“เอาไปใช้เรียนได้นะ แต่ละบทเราสรุปเป็นหนึ่งบทเรียนให้เรียนรู้ แต่เรื่องราวของแต่ละครอบครัวมันถอดบทเรียนได้เยอะมาก ถ้าเอาไปเรียนในคลาสก็ชวนกันถกเถียงในประเด็นอื่น ๆ ได้อีก เราอยากให้เค้นบทเรียนออกมาให้ได้มากกว่านี้”
พอถามถึงว่าทำไมไม่เขียนถึงบทเรียนของครอบครัวธุรกิจไทยที่เขาทำวิจัยมา โหน่งก็ตอบว่า “เราอยากให้หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมบทเรียนที่น่าทำตามและควรหลีกเลี่ยง ถ้าพูดถึงบทเรียนที่ควรหลีกเลี่ยงก็ต้องมีจำเลย สังคมไทยมันแคบ ครอบครัวธุรกิจไทยมันใกล้ตัวมากเกินไป ไปเขียนเรื่องครอบครัวต่างประเทศสะดวกใจกว่า”
พอเขียนหนังสือจบ โหน่งก็เตรียมเป็นวิทยากรรับเชิญให้คอร์สพิเศษ The Cloud School : Business Family
“เราจะไม่สอนตามหนังสือ Business Family นะ ในหนังสือเป็นเคสบริษัทระดับนานาชาติ แต่แทบทุกเรื่องก็ประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเทศ ทุกขนาดธุรกิจ สิ่งที่เราอยากทำคือนำบทเรียนจากหนังสือเล่มนี้มารวมกับจุดแข็งของ The Cloud ที่มีองค์ความรู้เยอะมากเรื่องธุรกิจครอบครัวไทย ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เราจะเอาเคสเหล่านั้นมาถอดเป็นบทเรียนให้เป็นระบบ แล้วเอามาถกกันในคลาส”
ส่วนจะเปิดรับสมัครเมื่อไหร่ ติดตามได้ใน The Cloud
โหน่งบอกว่า เขียนเรื่องครอบครัวเจ้าของแบรนด์ดังของโลกมา 30 ตอน มันเต็มอิ่มแล้ว เลยขอพักคอลัมน์ชั่วคราว แต่แฟนคอลัมน์ไม่ต้องเสียใจ เพราะเขามีไอเดียคอลัมน์ชุดใหม่แล้ว
“เราอยากเขียนเรื่องครอบครัวธุรกิจของเอเชีย อาจจะเป็นแบรนด์ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรรู้จัก รู้ไหมว่าใครคือธุรกิจครอบครัวใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย คือนี่ประเทศใกล้บ้านนะ ประเทศใหญ่มากด้วย มีโอกาสทางธุรกิจเยอะ ถ้าเราจะไปทำธุรกิจที่นั่น เราก็ควรรู้ว่าผู้เล่นรายใหญ่คือใคร รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ด้วย เราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน สิ่งหนึ่งที่เราควรทำคือรู้จักเพื่อนบ้านของเราให้มากขึ้น เราอยากเขียนเรื่องนี้”
ส่วนเขาจะกลับมาเขียนเมื่อไหร่ ต้องติดตามกันต่อไป
ในฐานะเพื่อนร่วมคณะ ผมอยากรู้ว่าเขายังฝันจะกลับไปเป็นอาจารย์ที่คณะอีกไหม
“ไม่” โหน่งตอบทันที เขาว่าถ้าเป็นอาจารย์รับเชิญน่ะยินดี แต่ถ้าสอนทั้งเทอมแบบต้องตรวจข้อสอบด้วยคงไม่ไหว “เราชอบสอนหนังสือมาก ถ้าให้เลิกสอนต้องคิดหนัก แต่การสอนทั้งเทอมมันต้องเตรียมตัวมาก” ที่สหรัฐฯ ถ้าเป็นคลาสใหญ่ค่อนข้างมีมาตรฐาน มีผู้ช่วยสอนช่วยดูให้ ส่วนคลาสเล็ก ๆ เราไม่ให้นักเรียนทำข้อสอบเลย เราให้นักเรียนเลือกหัวข้อเขียนรายงานเอง เขาจะวิเคราะห์ได้ดีกว่าหัวข้อที่เรายื่นให้เพราะเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เรามองการสอนเป็นการสื่อสาร 2 ทาง เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากรายงานของนักเรียนตลอด ตรวจงานเลยไม่เบื่อ ทำให้เราสอนได้เรื่อย ๆ ไม่หยุด”
โหน่งย้ำอีกครั้งว่าเขารักงานสอน
“ความรู้และประสบการณ์ชีวิต ถ้าไม่เล่าต่อให้คนอื่นมันก็ตายไปกับเรา ถ้าเล่าต่อได้มันก็ยังอยู่ หนังสือเล่มนี้ บางบทเราใช้เวลาค้นข้อมูลเยอะมาก คนอ่านจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาค้นเอง” นั่นคือข้อดีอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้
“สำหรับเรา งานสอนกับงานเขียนเหมือนกันตรงที่มันคือการถ่ายทอด”
และเป็นชีวิตของโหน่ง
ประโยคนี้เขาไม่ได้พูด แต่ผมสรุปเองจากการได้มาเยือนบ้านเพื่อนรัก