27 มิถุนายน 2020
86 K

ร้านกะเพราตาแป๊ะ ร้านอาหารเล็กๆ ย่านอโศก-ประสานมิตรที่เคยถูกพูดถึงในโลกโซเชียลเรื่องใช้พริกที่เผ็ดอันดับต้นๆ ในโลกอย่าง Carolina Reaper มาผัดกะเพรา จนส่งนักรีวิวผู้สมัครใจทดลองเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว

นอกเหนือจากความเผ็ด ผมว่าสไตล์การผัดกะเพราหมูแบบแห้งๆ กรุบกรอบที่ผิวนอก แต่ยังกักความชุ่มฉ่ำ เก็บกลิ่นและรสไว้ในเนื้อได้ดี 

กะเพราตาแป๊ะต้องคลุกกับข้าวเม็ดมันสวย เหยาะน้ำปลาพริกที่ปรุงไว้แบบพอเหมาะกับกะเพราของเขาอีกนิด 

คิดแล้วก็กลืนน้ำลาย ต่อให้หน้าตาจะคล้ายกะเพราอีกเป็นร้อยเป็นพันจาน แต่ผมก็อยากบอกว่าสไตล์แบบนี้ไม่เหมือนกะเพราของร้านไหน ของดีแบบนี้ไม่มีฟลุก ผัดกะเพราอร่อยจานนี้ถูกคิดมาไว้หมดแล้ว มันต้องดูที่รายละเอียด

ตาแป๊ะ

แป๊ะ-วรกฤต​ สกุลเลี่ยว เป็นกะเพราเลิฟเวอร์ตัวยงคนหนึ่ง เท่าที่ผมเคยคุยกับกะเพราเลิฟเวอร์มา

แป๊ะเป็นเจ้าของร้าน และไม่ใช่ชายจีนแก่ๆ สูงวัยอย่างที่คิด หนุ่มรูปร่างสูงโย่งดูเป็นมิตรเล่าเรื่องตัวเองให้ฟังนิดหน่อย ผสมกับเสียงตะหลิวเสียงกระทะที่ดังโช้งเช้งมาจากในครัว 

บ้านของเขาล้มละลายในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แป๊ะเลือกเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เหตุผลว่าค่าเทอมถูกที่สุด ณ ตอนนั้น และทำงานหาเงินไปด้วยบางส่วน จนเรียนจบกลับมากรุงเทพฯ ทำงานเป็นวิศวกรก็ยังคงหารายได้เสริม 

แป๊ะเคยขายลูกชิ้นทอด กระเพาะปลา เขาพบว่าการขายอาหารรายได้ดี และพบความสุขในการอยู่กับไอร้อนของน้ำมัน จนถึงขั้นลาออกจากงานวิศวกรมาขายอาหารอย่างเดียว แป๊ะเคยรับเสื้อผ้ามาขายที่ตลาดนัด ทำครีมก็เคยทำมาแล้ว แต่แข่งกับดาราไม่ไหว สุดท้ายก็พบว่าธุรกิจอาหารเท่านั้นที่เขาน่าจะถนัด

สู่วงการกะเพรา

เขามีเป้าหมายใหญ่ขึ้น เขาอยากทำอาหารขายได้ทั่วประเทศ จึงใช้ความพยายามหลายครั้งติดต่อบริษัทต่างๆ เพื่อลองเสนอตัวทำอาหารส่งขาย จนได้โอกาสจากผู้ลงทุนใหญ่เจ้าหนึ่ง

แป๊ะถือเป็นมือใหม่ในการทำอาหารแบบอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ต้องหาความรู้จากเอกสารต่างๆ มาอ่านเอง และลงมือทำเป็นร้อยๆ เมนูไปเสนอในระยะเวลา 1 ปี 

ผลออกมาคือไม่ผ่านสักเมนู 

แต่เขาบอกว่า สิ่งที่ได้กลับมาคือการได้เรียนรู้เรื่องวัตถุดิบและการปรุงอาหารมากกว่าร้อยเมนูนั่นแหละ

ในที่สุดแป๊ะก็ผ่านการทดสอบของคณะกรรมการ แป๊ะต้องทำผัดกะเพราพร้อมทานวันละหลายพันชุดส่งขายทั่วประเทศ 

“ตื่นมาก็เจอแต่ใบกะเพรา” เขาบอก

การทำผัดกะเพราในปริมาณมาก ทำให้แป๊ะเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ของอาหารเมนูนี้

“มันจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ที่ใบกะเพรา เวลาผัดกะเพราปริมาณมาก ตามขั้นตอนปกติ น้ำจากวัตถุดิบอื่นๆ จะออกมาเยอะ แล้วพอผัดไป ก็เหมือนเอาน้ำไปต้มกะเพรา พอเอาน้ำไปดึงน้ำมัน น้ำมันมันก็ไม่ออกมา ผมเลยต้องออกแบบขั้นตอนใหม่ ที่ต้องดึงน้ำมันออกมาจากใบกะเพราให้ได้ก่อนเพื่อให้มันมีกลิ่นหอม แล้วค่อยเอามาปรุงทีหลัง”

แป๊ะเรียนรู้แทบจะทุกวัตถุดิบอย่างละเอียด สัดส่วนเนื้อหมูและมันหมู ความเผ็ดของพริก หรือแม้แต่ค่าความหวานของน้ำตาล แป๊ะบอกว่า น้ำตาลจากโรงงานที่ซื้อมาก็หวานไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของอ้อยช่วงนั้นด้วย สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อรสชาติผัดกะเพราทั้งสิ้น

ผมคิดว่าคนที่หมกมุ่นอยู่กับผัดกะเพราทุกวันมาตลอด 6 ปี จะเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แปลกนัก

วัตถุดิบคือรสชาติ

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้แป๊ะอยากทำร้านขายกะเพราอีกสไตล์หนึ่ง ต่างจากกะเพราเพื่อคนส่วนใหญ่ มาเป็นกะเพราเพื่อตัวเขาเอง 

“ผัดกะเพราที่ทำมาตลอด 6 ปีเป็นรสผัดกะเพราสำหรับคนส่วนใหญ่ เป็นแบบที่เข้าใจง่าย กินแล้วก็รู้เลยว่าเป็นกะเพรา แต่ผมเป็นคนชอบกินอะไรร่วนๆ แห้งๆ แบบที่ต้องคลุกกับข้าวหมาดๆ คิดมาตลอดว่าอยากทำกะเพราแห้งๆ แต่ข้างในหมูยังฉ่ำๆ ได้รสของวัตถุดิบที่ใส่ลงไป เลยออกแบบผัดกะเพราแบบที่ตัวเองอยากกิน

“ช่วงหนึ่งผมเคยทำคาเฟ่กับเพื่อน เพื่อนทำขนม ส่วนผมเป็นบาริสต้า ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากตอนนั้น มีเชฟชาวไต้หวันที่สนิทกันสอนผมเรื่องรสชาติไว้ว่า หลักการของรสชาติคือคุณต้องบอกได้ว่าสิ่งที่คุณจะใส่ลงไปนั้นใส่ไปเพื่ออะไร ผมเลยจำที่เขาสอนเอาไว้

“ผมใส่กระเทียมเพื่อให้มีกลิ่นของกระเทียม พริกต้องมีกลิ่นของพริก หมูหรือกะเพราต้องมีกลิ่นของมัน ไม่ใช่ผัดทุกอย่างแล้วเอาซอสมาปรุงให้อร่อยเพราะซอส แบบนั้นมันก็เป็นรสชาติของซอส เขาบอกว่า วัตถุดิบคือรสชาติ และอีกสิ่งที่สำคัญมากก็คือวิธีการเอารสชาติออกมาจากวัตถุดิบให้ได้ 

“ตั้งแต่ตอนนั้นผมก็เริ่มลงลึกถึงรายละเอียดแต่ละวัตถุดิบ” แป๊ะเล่า

กะเพราของแป๊ะประกอบด้วยเครื่องไม่กี่อย่าง แต่ที่มาของเครื่องแต่ละอย่างผ่านการออกแบบของเขามาแล้วทั้งสิ้น 

เขานั่งเล่าเรื่องผัดกะเพราของเขาให้ผมฟังอย่างเอาจริงเอาจัง แบบที่รู้สึกได้ถึงความเป็นคนคลั่งไคล้ผัดกะเพราตัวจริง

พริกที่มากกว่าเผ็ด

“ผมซื้อพริกห้าสิบหกสิบชนิดมาเล่นเกมจับคู่กัน เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องมี Carolina Reaper ในร้าน เพราะผมซื้อมาลองด้วย ชิมทุกแบบ เอาอันนั้นมาผสมอันนี้ ได้รสยังไง ได้กลิ่นยังไง อันนี้กินแล้วเผ็ดทันทีเลยเว้ย อีกอันหนึ่งค่อยๆ มา อีกอันหนึ่งมาเผ็ดตอนท้ายๆ ชิมแล้วพยายามหาคาแรกเตอร์ของมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มาจากตอนที่ทำกาแฟเลย

“คนคิดว่าใส่พริกต้องเผ็ด ใส่เข้าไปเยอะๆ มันจะได้เผ็ด แต่ผมใส่เพราะคาแรกเตอร์ของมัน ผมจับพริกบวกกันไปบวกกันมา สุดท้ายแล้วก็ได้มาห้าชนิด เป็นพริกแดงจินดาที่กินปุ๊บเผ็ดปั๊บ พริกขี้หนูสวนเขียวเผ็ดแสบๆ แต่ได้ความหอม สองตัวนี้ทำงานก่อนเพื่อน จะเผ็ดทันทีที่กิน แล้วก็พริกแห้งแดง ซึ่งผมเอาไปคั่วน้ำมันก่อน ให้มีกลิ่นที่เผ็ดร้อน และให้น้ำมันเกาะคอเพื่อรสชาติจะอยู่กับเราไปพักหนึ่ง จะมาท้ายๆ พริกไทยดำป่นที่ให้ความหอมกับความร้อน จะอยู่ท้ายๆ และอยู่นาน 

“สุดท้ายคือพริกชี้ฟ้าเหลือง คนมักคิดว่าพริกชี้ฟ้าใส่เพื่อสวยงาม แต่จริงๆ แล้วมีความหวานอยู่ในพริกด้วยนะ มันจะผสานความเผ็ดของแต่ละอันเข้าด้วยกัน กินทั้งหมดเข้าไปมันจะเผ็ดๆ ร้อนแบบเหงื่อออก”

กะเพราต้องเด็ด

“ผมอยากได้กะเพราดีๆ หอมๆ แบบที่เคยกินตอนเด็กๆ เลยโพสต์ถามไปตรงๆ เลยว่า ใครรู้จักแหล่งกะเพราที่ยังมีกลิ่นชัดๆ บ้าง แล้วก็มีคนตอบกลับมา ไกลถึงแม่ฮ่องสอนผมก็ไปนะ 

“สุดท้ายมาจบที่ป้าคนหนึ่งที่อ่างทอง แกปลูกพืชผักสวนครัวในป่ารกร้างหลังบ้านขาย ต้นกะเพราแดงป่ามันก็ขึ้นของมันตรงนั้น แกบอกว่า ไม่ได้ปลูก มันขึ้นอยู่แล้ว แกก็เด็ดมาขาย 

“เวลาได้ของดีมา ผมโคตรดีใจเลย เหมือนเด็กได้หุ่นยนต์ใหม่ อยากจะเอาไปอวดเพื่อน 

“ส่วนกระเทียมผมใช้กระเทียมไทย กระเทียมมันให้ความเผ็ดด้วยนะ และที่สำคัญคือ ให้ความนัว ผมไม่ได้ถึงกับตามล่าหากระเทียมแบบใบกะเพราหรือพริก เพราะผมคิดว่าความต่างของกระเทียมไม่ชัดเจนมาก กระเทียมดีๆ เลยก็มีแต่แพงเกินไป ราคามันก็จะสูงขึ้น แต่ผมสบายใจที่ขายแค่จานละหกสิบบาท บางอย่างถ้าทำให้ราคาต้นทุนมากเกินผมก็ไม่เอา”

ซอสไว้แค่เชื่อมรส

“ผมจะเลี่ยงใช้ซอสให้น้อยที่สุด น้ำปลาผมยังไม่ใช้เลยเพราะกลิ่นมันแรง พอใส่ไปปุ๊บมันกลบทุกกลิ่นวัตถุดิบที่ดีๆ หมดเลย ผมใส่น้ำมันหอยฮ่องกงนิดหน่อยให้รสชาติไม่แบนเกินไป ไม่งั้นมันจะมีแต่รสและกลิ่นเครื่องเทศ แต่จะขาดความกลมกล่อม วัตถุดิบหลักๆ ไม่มีตัวไหนให้ความกลมกล่อมเลย ผมต้องพึ่งพวกซอส น้ำตาลก็ใช้น้ำตาลธรรมชาติปลายช้อน ไม่ได้เน้นให้หวาน แต่ให้มันเชื่อมรสชาติทั้งหมดเข้าด้วยกัน และใส่ซีอิ๊วขาวเพื่อเอารสเค็ม แต่เป็นเค็มแบบบางๆ

“กะเพราของตาแป๊ะจะออกแบบให้รสกลมๆ แต่มีรสกระเทียม รสพริก และรสกะเพรา ออกมา”

เห็นหมูๆ ก็ไม่หมู

จากประสบการณ์ที่แป๊ะทำกะเพราพร้อมทานในปริมาณมาก ทำให้เข้าใจเรื่องเนื้อหมู แป๊ะบอกว่า ตอนที่ทำกะเพราล็อตใหญ่ๆ เนื้อหมูเป็นปัญหามาก ถ้าใช้เจ้าเล็กๆ คุณภาพของเนื้อหมูจะแกว่ง บางทีเหนียวบ้าง บางทีก็มีกระดูกปนมาด้วย บางทีก็ใส่มันมาเยอะ ผัดทีน้ำมันลอยท่วม สัดส่วนของหมูมีผลกับกะเพราที่เขาตั้งใจจะทำออกมามาก เขาจึงต้องเบลนด์สัดส่วนของหมูกับมันหมูเอง เพื่อให้ได้เทกซ์เจอร์ที่ต้องการ ถ้ามีมันเยอะเกินก็จะเลี่ยน แต่ถ้าน้อยก็จะแห้งเกินไปไม่ฉ่ำ 

“ผมใช้น้ำมันจากหมูดึงน้ำมันจากพริกออกมา แล้วผัดให้มันเคลือบหมูอีกที แต่ถ้าน้ำมันหมูเยอะเกินไป มันมีส่วนที่เคลือบหมูบ้าง แต่ส่วนอื่นก็จะออกมาเป็นน้ำในผัดกะเพรา กลายเป็นว่ามันดึงรสชาติมาอยู่ที่น้ำหมด แต่ที่ผมต้องการคือให้รสมันอยู่ในหมูเลย”

จังหวะการผัด

กะเพราของแต่ละคนวัตถุดิบน่าจะต่างกันไม่มาก แต่สิ่งหลักที่ทำให้กะเพราแตกต่างคือวิธีการผัด กะเพราตาแป๊ะมีวิธีการและลำดับการผัดที่เกิดจากการออกแบบ รวมถึงการฝึกฝนเพื่อให้ได้อย่างที่คิดไว้ 

“ผมต้องฝึกผัดแห้ง จังหวะไหนใส่อะไร จังหวะไหนเร่งไฟ จังหวะไหนเบาไฟ จังหวะไหนต้องคั่ว แล้วต้องคั่วยังไง คั่วหมูให้แห้งมันยาก ผมลองทุกวิธี ใส่หมูพร้อมเครื่องแล้วผัดมันก็ไม่ได้อย่างที่คิดเอาไว้ ก็เลยลองเอาหมูมารวนในน้ำมัน เหมือนทอดกับน้ำมัน พอเริ่มเหลืองทองก็ยกพักไว้ แล้วค่อยมาผัดเครื่อง พอผัดเครื่องไปสักพักค่อยเอาหมูใส่ลงไปผัดอีกที มันเลยใช้เวลา 

“บางคนบอกผมว่า แค่กะเพราหมูทำไมทำนานจังวะ แต่พอกินก็รู้ว่ามันไม่มีวิธีลัดกว่านี้แล้ว ผมก็อยากเร็ว ไม่อยากให้ลูกค้ารอนานหรอก แต่มันไม่ได้แบบที่ผมอยากจะได้”

ที่แป๊ะเล่ามาทั้งหมดนั้นแค่กะเพราหมู แต่แป๊ะบอกว่า ทุกอย่างจะผัดแบบกะเพราหมูไม่ได้ ปลาหมึกต้องมีน้ำขลุกขลิกนิดหน่อยแค่เกือบแห้ง ถ้าเอาปลาหมึกไปคั่วแบบหมูน้ำมันออกไปหมด เทกซ์เจอร์ที่ปลาหมึกควรมีก็จะหายไป หรืออีกเมนูโปรดของผมคือ ‘กะเพราหมูบะช่อ’ แป๊ะจะปั้นหมูบะช่อปรุงรสก้อนใหญ่เอาไปผัดกะเพรา และยากมากที่จะให้หมูดูดซับน้ำเข้าไปในเนื้อ เขาเลยต้องออกแบบให้มันมีน้ำนิดหน่อย 

ส่วน ‘กะเพราเนื้อสับ’ อีกเมนูเด็ดในร้าน ก็รวนแห้งไม่ได้ เพราะเนื้อหดเร็วมาก จะผัดแค่พอสุกเท่านั้นแล้วค่อยยกขึ้นพัก แต่แป๊ะจะมีเครื่องปรุงบางอย่างเฉพาะกะเพราเนื้อ เขาเลือกใส่ลงไปตอนผัดเพื่อกระตุ้นกลิ่นขึ้นมา

รสเปรี้ยวที่ไม่มีในผัดกะเพรา

“ต้มฟักไก่ตุ๋นมะนาวดองกับหมูสับต้มบ๊วย ผมคิดจากว่าพอกินกะเพราต้องมีน้ำแกง มันจะได้คล่องคอขึ้น ถ้าอยากได้คลีนๆ ก็ไก่ตุ๋นมะนาวดอง แต่ถ้าอยากได้เข้มข้น จัดจ้าน เนื้อๆ เน้นๆ ก็ต้มบ๊วยหมูสับ ที่ผมเลือกสองอย่างนี้ก็เพราะว่ามันเข้ากันได้ดีกับกะเพรา ผมเลือกซุปรสเปรี้ยวซึ่งเป็นรสที่ไม่มีในผัดกะเพรา จะเลือกซุปที่เค็มอยู่แล้วก็ไม่ได้ เพราะรสของกะเพรามันเค็มนำ ซุปช่วยล้างน้ำมันในปากได้ดี ล้างลิ้นด้วยความเปรี้ยวให้กลับไปกินกะเพราต่อได้”

ราคา

หากเทียบกับกาแฟ อาจจะเรียกได้ว่าแป๊ะกำลังทำกะเพราแบบสเปเชียลตี้ คือกะเพราที่มีรสชาติซับซ้อน และรู้ที่มาต้นทางของวัตถุดิบที่อยู่ในกะเพราได้เกือบทั้งหมด ตอนแรกผมเข้าใจว่าเลือกใช้วัตถุดิบละเอียดขนาดนี้ ราคาต่อจานสูงมาก แต่กะเพราตาแป๊ะไม่แพงอย่างที่คิด 

กะเพราหมูสับราคา 60 บาท ส่วนกะเพราเนื้อสับ 70 บาท 

“เพราะผมเกิดมาจากอาหารราคาแบบนี้ ผมจึงอยากขายราคาแค่นี้ รู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะขายหกสิบถึงเจ็ดสิบบาท 

“ผมทำร้านนี้แบบเชี่ยวชาญกับกะเพราจริงๆ พูดได้เลยว่าผมอยู่กับกะเพราอย่างเดียวมาหลายปี เพราะฉะนั้น ผมจึงออกแบบกะเพราที่แตกต่างจากคนอื่นในราคาที่โอเคได้ 

“แต่ทำกะเพราแบบเดียวไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป ความคิดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโลกมันหมุนตลอดเวลา ต้องดูว่าเทรนด์คนกินเป็นยังไง การที่ผมมีประสบการณ์ทำมานานไม่ได้หมายความว่าวันข้างหน้ามันจะอยู่รอด มันต้องมีการปรับตัว มากน้อยอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องพัฒนา 

“ตอนนี้วงการกะเพราคนเต็มไปหมดเลย พัฒนาเยอะมาก ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคนขายกะเพราเพิ่มขึ้น ผมก็ได้เห็นเมนูใหม่ๆ ที่หลายคนคิดขึ้นมาซึ่งดีมาก มีตัวตนที่ชัดเจน น่าจะช่วยพัฒนา ช่วยยกระดับกะเพราได้อีกเยอะ เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว มันเกือบหมดยุคที่ขายของเหมือนกันจะเป็นคู่แข่งกันแล้ว 

“อาหารมันเป็นปัจเจกมาก คนนี้ชอบ คนนั้นไม่ชอบ แค่ทำให้เป็นแบบของตัวเองก็พอ”

เนื้อดรายเอจ (Dry-aged)

สิ่งที่ดูแปลกปลอม ไม่ค่อยเข้ากับร้านกะเพราเล็กๆ นี้ คือตู้ Dry-aged ที่ตั้งอยู่ในร้าน ด้านในเป็นเนื้อชิ้นจากแหล่งต่างๆ ดูเป็นเนื้อคุณภาพที่คัดสรรมาแล้ว ถูกผึ่งแห้งในตู้ควบคุมอุณหภูมิ 

“ผมเห็นว่าเนื้อดรายเอจมันอยู่แต่ในร้านแพงๆ ราคาเกือบพัน ผมอยากทำเนื้อดีๆ เลยศึกษาหาข้อมูล 

“เวลาผมทำอะไรผมก็อยากทำให้ดีไปเลย ผมชอบกินเนื้อ มีกะเพราเนื้อ ผมก็ลองศึกษาหาข้อมูลเรื่องเนื้อดรายเอจดู ให้คนเข้าถึงเนื้อบ่มนี้ง่ายขึ้น”

ดรายเอจ (Dry-aged) คือการบ่มตามธรรมชาติ เนื้อวัวสดจะเหนียว วิธีการบ่มในปัจจัยที่พอเหมาะจึงทำให้เนื้อนุ่มขึ้น เป็นการเอาน้ำออกจากเนื้อ เมื่อน้ำออกมาบางส่วน เนื้อก็จะเข้มข้นขึ้น กลิ่นและรสชัดขึ้น บางครั้งเนื้อดรายเอจก็มักมีกลิ่นหมักๆ ที่ดี ในเนื้อบางชนิดถ้ามีสัดส่วนไขมันมาก ก็จะมีรสชาตินมๆ ติดมาด้วย

“ถ้าหั่นชิ้นใหญ่หน่อย จะได้ความนุ่มที่มากกว่าเนื้อสดๆ แต่ถ้าสับผสมกับมันเนื้อ กลิ่นมันจะชัดขึ้นมาก” แป๊ะแนะนำก่อนที่จะถามว่าอยากให้หั่นแบบไหนเพื่อนำไปผัดกะเพรา 

‘กะเพราเนื้อดรายเอจ’ ที่ผมเลือก คือแบบเนื้อสับ แป๊ะจะแยกมันเนื้อ กับเนื้อแดงให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ ก่อนจะนำมาผัดรวมกัน และจะปรุงเบาบางกว่ากะเพราแบบอื่นๆ เพราะแป๊ะต้องการเน้นกลิ่นและรสชาติของเนื้อที่บ่มมา 45 วันก่อนพร้อมนำเอามาผัดกะเพรา

“ตอนนี้ผมกำลังหมกมุ่นเรื่องนี้มาก เป็นเรื่องใหม่ของผม บางคนถามว่าทำไมไม่ซื้อเนื้อดรายเอจมาผัดเลย ผมไม่ได้แค่อยากขาย แต่ผมอยากรู้ ผมอยากทำตั้งแต่แรกเลย เหมือนที่ผมต้องไปเสาะหาใบกะเพรา เพราะผมอยากรู้ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง 

“มันสนุกตอนที่ผมเล่าให้ลูกค้าฟัง ผมได้บอกว่า กาแฟที่ผมเสิร์ฟมันมาจากไหน รสเป็นอย่างไร ตอนเป็นบาริสต้าผมชอบที่จะทำอะไรแบบนี้ มันสนุกมากกว่า 

“ผมคิดว่าในชีวิตมันควรมีอะไรอย่างนี้ระหว่างทาง ควรจะลงลึก มีความสุขกับตัวเรา แค่นี้ก็พอแล้ว 

“เพราะผมชอบ เผลอๆ ทำมาอาจจะไม่มีใครกิน แต่ก็ไม่เป็นไร ผมเอาความสุขของผมเป็นตัวตั้งแล้วทำ ตอนแรกที่เริ่มขายของ ผมทำโดยเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ประสบการณ์มันสอน เพราะผมมัวคิดแต่กำไรขาดทุน เลยไม่ได้โฟกัสที่จะใส่ทุกอย่างลงไปในสิ่งที่ทำ 

“ตอนนี้ผมสนุกมาก คนบอกว่า แค่กะเพราหมูจานเดียวทำไมต้องคิดเยอะขนาดนี้ แต่พอผมใส่ทุกอย่างกับมันเต็มที่ ผลคือลูกค้ารับสิ่งที่ผมอยากสื่อสารได้อย่างเต็มที่จริงๆ” 


กะเพราตาแป๊ะ

ซอยประสานมิตร (ตรงข้ามประสานมิตร พลาซ่า)

เปิด-ปิด : 10.00 – 20.30 น. (หยุดวันอาทิตย์)

Facebook : กะเพราตาแป๊ะ

Line ID @kapraotapae

โทรศัพท์ : 06 5396 5291

Writer & Photographer

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2